ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๔ ( พระสังฆะบุรี หรือ ทองด้วง- พุทธศักราช ๒๓๗๑ - ๒๓๙๓)

พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๔
(
พระสังฆะบุรี หรือ ทองด้วง- พุทธศักราช ๒๓๗๑ - ๒๓๙๓)

 

“พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน”เดิมชื่อ (ท้าวด้วง)  หรือพระสังฆะบุรีเป็นบุตร เจ้าเมืองสังขะ คือ พระยาสังฆะบุรี ( หรือ เซียงฆะ เป็นหัวหน้าเขมรป่าดงร่วมกับคณะนำจับพญาช้างเผือกส่งกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2302 เมื่อตากะจะได้รับโปรดเกล้าฯ  ให้รับบรรดาศักดิ์เป็น " หลวงแก้วสุวรรณ"  เชียงฆะได้รับโปรดเกล้าฯ  บรรดาศักดิ์เป็น "หลวงเพชร"  หัวหน้านายกองว่าราชการดูแลบ้านอัจจะปะนึง (สังฆะ) ภายหลังยกฐานะเป็นเมืองสังขะทรงโปรดเกล้า ฯ  ให้หลวงเพชรเป็น "พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ  เจ้าเมืองสังขะ") 

ภายหลังจากที่กองทัพกรุงเทพ ฯ  ปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2371 เมืองขุขันธ์ในขณะนั้นตำแหน่งเจ้าเมืองได้ว่างลง  จึงได้รับโปรดเกล้าฯ  ให้มารับตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ราชทินนามประจำตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ว่า พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน นับเป็น เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 4   ภายหลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ ให้มารับตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 4 แล้วได้ทูลขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้  “พระไชย”(ท้าวใน) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม ตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์  ให้พระสะเทื้อน (นวน)  เป็น พระแก้วมนตรี ตำแหน่งยกบัตรเมืองขุขันธ์ ให้ท้าวหล้า บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (หลวงปราบ) เป็นพระมหาดเล็ก ทั้งหมดที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าที่ปกครองบริหารราชการเมืองขุขันธ์ต่อไป  

ในปี พ.ศ. 2376 กองทัพญวนได้ยกทัพเข้ามาในเขตเมืองเขมร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพจากส่วนกลาง ยกทัพไปทำศึกสงครามกับญวน การทำศึกสงครามในครั้งนี้ทรงมีบัญชารับสั่งให้เจ้าเมืองขุขันธ์ ส่งกำลังทหารไปช่วยรบจำนวน 1,500 คน โดยให้ทัพจากเมืองขุขันธ์ร่วมกับทัพจากส่วนกลางรวมพล ณ บริเวณวัดไทยเทพนิมิตร โดยมีหลวงเทพรักษา เป็นผู้บัญชาการในครั้งนี้ 

ในปี พ.ศ. 2379 ยังอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเมืองขุขันธ์ได้ยกฐานะเป็นเมืองทำราชการมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว มีประชากรในการปกครองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน และสะดวกต่อการปกครองบังคับบัญชามากขึ้น พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ออกไปราชการที่เมืองขุขันธ์  จัดทำบัญชีลูกไพร่พลเขมรป่าดงทั้งหมด โดยเจ้าเมืองขุขันธ์ได้ให้ความร่วมมือทำบัญชีชายฉกรรจ์ในครั้งนี้อย่างเต็มกำลังด้วยตนเองอีกด้วย นับว่าเป็นการทำสำมโนครัวประชากรเป็นครั้งแรกของเมืองขุขันธ์ ในฐานะที่เป็นเมือง  หัวเมืองชั้นนอก และอยู่ห่างไกลเมืองราชธานี  

ปี พ.ศ. 2386 ได้เกิดกรณีพิพาท ระหว่างไทยกับญวนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัว   ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี) นำทัพยกพลไปทำศึกกับญวน   ในการทำสงครามกับญวนในครั้งนี้ ได้มีรับสั่งให้ กองทัพจากเมืองขุขันธ์ ส่งไพร่พลจำนวน 4,000 คน จากเมืองศรีสะเกษ จำนวน 3,300 คน เข้าร่วมกองทัพจากส่วนกลางร่วมรบทำศึกกับญวน 

การแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนตั้งเป็นเมืองเดชอุดม

ในปี พ.ศ. 2388 ตรงกับรัชกาลที่ 3 พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) เจ้าเมืองศรีสะเกษ  ท่านที่ 2 ถึงแก่อนิจกรรมจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์)  เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษท่านที่  3
ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนี้ที่หลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย และหลวงอภัย เห็นว่า   เมืองขุขันธ์  ยังมีอาณาเขตที่กว้างขวางอยู่มาก อีกทั้งไม่ประสงค์ที่จะอยู่ภายในการปกครองของเมืองขุขันธ์  ได้ทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนขอตั้งเป็น  เมืองใหม่ โดยได้ขออพยพไพร่พลจำนวน 600 คน และที่เป็นครอบครัวอีกจำนวนหนึ่งไปตั้งบ้านลำโดมใหญ่เป็นเมืองเดชอุดม พระองค์ทรงอนุญาต และทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงธิเบศร์      เป็นพระศรีสุระ ตำแหน่งเจ้าเมืองเดชอุดม  ทำราชการขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา เช่นเดียวกับเมืองศรีสะเกษ  

ในปี พ.ศ. 2388 นี้เช่นเดียวกัน พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 4  ได้ทูลขอให้โปรดเกล้าฯตั้ง บ้านไพรตระหนัก ขึ้นเป็นเมืองมโนไพร และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หลวงภักดีจำนงค์ (ท้าวพรหม) เสมียนตราจากเมืองขุขันธ์ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมโนไพร และยังได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ เป็นข้าหลวงไปทำการแบ่งปันเขตแดนระหว่างเมืองขุขันธ์กับเมืองจำปาสัก ให้เป็นเขตแดนเมืองมโนไพร (ปัจจุบันที่ตั้งเมืองมโนไพรอยูในอาณาเขตประเทศกัมพูชา ) 

ปี พ.ศ. 2393 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 4 ได้ถึงแก่อนิจกรรม (สรุปแล้ว เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 4 อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์  22  ปี)  จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวใน) ขึ้นดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์  ในราชทินนาม  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เป็นท่านที่  5 



ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย