-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

แผนที่ประเทศสยามเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2436 พร้อมกับการเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 อันเป็นช่วงที่สยามสูญเสียประเทศราชของตนให้แก่ฝรั่งเศส

          การเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของลัทธิอาณานิคมตะวันตก ก่อให้เกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่สําคัญต่อภูมิภาคนี้ คือ การก่อกําเนิดของรัฐแบบใหม่ ซึ่งลัทธิอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นในภาวะหรือยุคสมัยที่เรียกว่า “สมัยใหม่” (Modern)ความเป็นสมัยใหม่ของโลกตะวันตก ทําให้ลัทธิอาณานิคมกระทบต่อดินแดนที่ต้องตกเป็นอาณานิคมอย่างมาก โดยสร้างหรือปกครองอาณานิคมบนฐานคติของรัฐแบบใหม่ที่เป็นแบบทางโลก รัฐแบบใหม่หรือรัฐสมัยใหม่ จึงเป็นรัฐที่มีอํานาจเหนือดินแดนที่มีเขตแดนชัดเจน ใช้เขตแดนธรรมชาติเพื่อกําหนดเป็นเขตแดนอํานาจของรัฐ ในขณะเดียวกัน ก็สถาปนาอํานาจการปกครองจากอํานาจที่ศูนย์กลางเหนือพื้นที่หรือดินแดนนั้น(1)

          รัฐสมัยใหม่ (Modern States) จึงถือกําเนิดขึ้นจากเงื่อนไขสําคัญ 2 ประการ ซึ่งช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างแยกขาดออกจากกันไม่ได้ คือ ประการแรก เมื่อมองจากภายในรัฐสมัยใหม่ต้องอาศัยพื้นฐานการรวมศูนยอํานาจปกครองของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ และประการที่สอง เมื่อมองจากภายนอก หรือมองในแง่ความสัมพันธ์ระหวางรัฐในสังคมโลก รัฐสมัยใหม่ตองอาศัยระบบระหว่างรัฐ (The interstate system) เป็นพื้นฐานรับรองการดํารงอยู่ของรัฐ ซึ่งเดวิด เฮลด์(David Held) เสนอวา รัฐสมัยใหม่ทั้งปวงคือรัฐชาติ และนิยามชัดเจนว่า รัฐสมัยใหม่เป็นกลไกทางการเมืองที่แยกหลุดออกจากทั้งผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง กลไกทางการเมืองดังกลาวนี้มีอํานาจสูงสุดโดยนิตินัยเหนือประชาชนในอาณาบริเวณที่มีขอบเขตชัดเจน กลไกนี้อ้างว่าตนผูกขาดอํานาจบังคับและตนได้รับความสนับสนุนหรือความภักดีจากพลเมืองด้วย(2)  โดยรัฐสมัยใหม่จะต้องมีแบบแผนอุดมคติ (Ideal Type) หรือคุณสมบัติพื้นฐาน 4 ประการคือ 1.ต้องมีประชากรจํานวนหนึ่ง 2.มีดินแดน อาณาเขต เป็นหลักแหล่งแน่นอน 3.มีรัฐบาล หรือองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ 4.มีอํานาจอธิปไตยเป็นอํานาจสูงสุดของตนอย่างอิสระไม่ขึ้นต่อผู้อื่น(3)



          ความสํานึกในคําว่า “รัฐ” (State) ตามจารีตทางภูมิปัญญาของสังคมตะวันตก เริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศสยามในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายโจเซฟ บัลเลสเตียร์ (Joseph  Ballestier) ทูตชาวอเมริกันเข้ามายังพระนครเมื่อปี พ.ศ. 2393 โดยจดหมายเหตุทางฝ่ายไทยจดไว้ว่าเขาผู้นี้เป็น “ราชทูตรับใช้แต่เจ้าแผ่นดิน อเมริกันทั้ง 30 เมืองที่เข้ากันเปน เมืองเดียว จะได้ถือราชสาส์นมาถึงเมืองต่างๆ ที่อยู่ส่วนพิภพอาเซียตะวันออกเฉียงใต้มีมหานครศรีอยุธยาเปนต้น”(4)  คําว่า “STATES” ในชื่อประเทศสหรัฐฯ ได้รับการถ่ายทอด หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เมือง” ซึ่งในขณะนั้นสยามยังไม่เกิดความคิดที่จะถ่าย คําว่า “STATE” ด้วย

          คำว่า “รัฐ” จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า “STATE” จึงเริ่มเขามามีบทบาทอย่างเป็นทางการในชีวิตทางการเมืองของสยามเป็นครั้งแรก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตรา “พระราชบัญญัติเคานซิลออฟสเตต” ขึ้นในปี พ.ศ. 2417 แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็บอกคําแปลไว้ดวยในตัวเองที่เรียกว่า “สเตต“ นั้น หมายถึง “แผนดิน” นั่นเอง(5) แต่ก็ตองรอเวลาอีก 20 ปีที่คำว่า “รัฐ” จึงจะเข้ามาเป็นคําแปลของคําว่า “STATE” กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรา “พระราชบัญญัติรัฐมนตรี” ออกมา ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติเคานซิลออฟสเตตให้สมบูรณ์ขึ้นนั่นเอง(6) และจากจุดนี้เป็นต้นมา คำว่า รัฐ” ที่เราพูดถึงกันเสมอในปัจจุบันจึงเป็นรัฐที่มีพื้นฐานมาจากมรดกทางการเมืองของสังคมตะวันตก(7)

         ในขณะที่ความคิดเรื่อง “รัฐ” กําลังเริ่มก่อตัวขึ้นในสังคมสยามนั้น แนวคิดเรื่องเส้นเขตแดนก็ถือเป็นสํานึกของรัฐแบบสมัยใหม่อีกอย่างหนึ่ง ที่เริ่มปรากฏขึ้นในความคิดของชนชั้นนําด้วยเช่นกัน โดยพบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความคิดและพยายามที่จะแสดงตัวตน และรูปร่างของสยามในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงด้วยการว่าจ้างชาวอังกฤษให้เข้ามาสํารวจและทําแผนที่ ไปพร้อมๆ กับที่ฝรั่งเศสกําลังสํารวจตามลําแม่น้ำโขงในขณะนั้นด้วย(8) ใน
ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงพยายามค้นหาพระราชอาณาเขตสยามในเชิงดินแดนตามระบบภูมิศาสตร์แบบตะวันตก ด้วยการระบุที่ตั้งอันแน่นอน ซึ่งเป็นลักษณะความคิดที่ไม่เคยปรากฏขึ้นในรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน นั่นคือความคิดในเรื่องการกําหนดเส้นแบ่งแดนที่มีความชัดเจนในระดับองศาลิบดาบนพื้นดินทะลุขึ้นไปเหนือห้วงอวกาศ(9)

           “พระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่ละติจุด 14 องศา 19 ลิปดาเหนือ และลองจิจูด 100 องศา 37 ลิปดา ทางตะวันออกของเมืองกรีนิช ยังมีนครอื่นๆ อีกไม่ไกลนักที่ชาวกัมพูชาได้ครอบครองด้วยเช่นกัน แต่สถานที่ตั้งแน่นอนหรือ ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของ
นครเหล่านี้ยังไม่ทราบได้”(10)

          ความพยายามของชนชั้นนํา ที่จะแสดงตําแหน่งที่ตั้งของสยามบนโลกแห่งความเป็นจริงตามแนวความคิดเรื่องเขตแดนของการเมืองแบบตะวันตก ที่นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับลัทธิอาณานิคมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของสยามอันเป็นผลจากการติดต่อแลกเปลี่ยนวิทยาการกับชาติตะวันตกที่มีมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย  แม้ในช่วงก่อนหน้านี้ ชนชั้นนําสยามจะมีความพยายามที่จะแสดงตัวตนของตนผ่านการทําแผนที่ แต่ความพยายามดังกล่าวกลับไม่เป็นผล จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2436 เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 อันเป็นช่วงที่สยามสูญเสียประเทศราชของตนให้แก่ฝรั่งเศสและในขณะเดียวกันก็เป็นเวลาที่ภูมิกายา หรือตัวตนทางกายภาพของสยามอุบัติขึ้น แม้ในช่วงเวลาดังกล่าว สยามเองก็กําลังอยู่ในกระบวนการทําให้ทันสมัย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สยามหลังปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) มิได้เหมือนกับสยามก่อนหน้านั้นอีกต่อไป แม้กระทั่งในความคิดของผู้ปกครองสยามเอง พวกเขาดําเนินภารกิจของตนต่อ แต่เป็นไปในสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม(11) ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ชนชั้นนําสยามต้องเสียดินแดนที่เคยเชื่อว่าเป็นมรดกของตนที่สืบมาจากรัฐจารีตไปด้วย

           กรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในปี ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เกิดขึ้นจากการที่ฝรั่งเศสอ้างว่า ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นของญวนและเขมรมาก่อน เมื่อญวนและเขมรตกไป เป็นของฝรั่งเศสแล้ว ดินแดนดังกล่าวก็จะต้องตกเป็นของญวนและเขมรด้วย  ฝ่ายไทยไม่ยอม เพราะถือว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ไทยปกครองมาช้านาหลายแผ่นดินแล้ว ทางฝรั่งเศสก็จะเอาให้ได้ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น โดยฝรั่งเศสได้ส่งกําลังทหารทั้งฝรั่งเศสปนแขกมอรอคโค และทหารญวน ทหารเขมรบุกรุกขึ้นมาตามลําแม่น้ำโขง และรบกันหนักที่แก่งหลี่ผี กรณีพิพาทดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนี้ ยุติลงตามสัญญาสงบศึกไทยกับฝรั่งเศสฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ.112 คือไทยยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทําให้หัวเมืองขึ้นจําปาศักดิ์ทั้งหมดที่อยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตะวันออกก็ตกไปอยู่ในการบํารุงของฝรั่งเศส คงเหลือแต่ตัวเมืองนครจําปาศักดิ์และเมืองขึ้นนครจําปาศักดิ์ที่อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเท่านั้น(12)

         การเผชิญหน้ากันระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 จบลงด้วยการทําสนธิสัญญาในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) และต่อมาสยามก็ได้ทําสนธิสัญญากับฝรั่งเศสอีกหลายครั้งในครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ.2450) ทําให้สยามต้องยอมสละอํานาจเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ําโขงทั้งหมด รวมทั้งหลวงพระบางและจําปาศักดิ์(13) ซึ่งการเข้ามาของลัทธิอาณานิคมดังกล่าวได้นําไปสู่แนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อลักษณะการปกครองว่า “...เมื่อมีอยู่ก็ต้องปกครองรักษาให้ได้สิทธิขาดจริงๆ ถ้าปกครองไม่ได้สิทธิขาดแล้ว ไม่มีเสียดีกว่า”(14) ซึ่งพระราชดำริดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อสภาพของรัฐสยามที่เกิดขึ้น ได้ก่อให้เกิดความมุ่งหวังที่จะรวบอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อความเบ็ดเสร็จ และเด็ดขาดทางอํานาจของสยามในการปกครอง โดยมีจุดมุ่งหมายในการควบคุมดินแดนหัวเมืองต่างๆ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสยามโดยตรง พร้อมๆ กับการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการกําหนดเขตแดนประเทศลาวและสยามตามสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) และ 1904 (พ.ศ. 2447) นับแต่นั้นมา ชะตากรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ตกอยู่กับประเทศสยามโดยสิ้นเชิง หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ การแสวงหาอัตลักษณ์ร่วมของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องพิจารณาอยู่ในบริบทของรัฐไทยเท่านั้น(15)

FOOTNOTE :

(1) ฉลอง สุนทราวาณิชย์, “รัชกาลที่ 5 กับลัทธิอาณานิคมและสยาม,” ใน รัชกาลที่ 5 : สยามกับอุษาคเนย์และชมพูทวีป:เอกสารสรุปการสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี (พ.ศ. 2369-2546), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อรอนงค์ ทิพย์พิมล,บรรณาธิการ.(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), หน์า 271.


(2) David Held, “The Development of the Modern State” in Formations of Modernity, eds. Hall Stuart and Gieben Bram (Cambridge: Polity, 1992), p. 87. อางถึงใน สมเกียรติ วันทะนะ, “กําเนิดรัฐสมัยใหม,” วารสารสังคมศาสตรและ มนุษยศาสตร34,1 (มกราคม-มิถุนายน 2551): 167.

(3) สมบัติ จันทรวงศ์, “ศาสนากับการเมือง : ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยอุดมการณ์และวิเทโศบายของพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกฯ” ,รัฐศาสตร์สาร 14,3-15,1 (กันยายน 2531-เมษายน 2532): 22; สมเกียรติ วันทะนะ, “เมืองไทยยุคใหม่: สัมพันธภาพระหว่างรัฐกับประวัติศาสตร์สํานึก” ใน อยู่เมืองไทย, สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์,บรรณาธิการ. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530), หน้า 72-73.


(4) จดหมายเหตุเรื่องทูตอเมริกันเข้ามาในรัชกาลที่ 3 เมื่อปีจอ พ.ศ. 2393 (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2466),หน้า 19. อ้างถึงใน สมเกียรติ วันทะนะ, “รัฐไทย : นามธรรมและรูปธรรม ” รัฐศาสตร์สาร 14,3 (กันยายน 2531-เมษายน 2532): หน้า 193.


(5) ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตํารา

สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 20-27. อ้างถึงใน สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 193.

(6) เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 14 กฎหมาย ร.ศ. 112-113 (พระนคร, 2478), หน้า 213-220. อ้างถึง
ใน สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 193-194.

(7) เรื่องเดียวกัน, หน้า 194.

(8) เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, พระราชพงศาวดารรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4,พิมพ์ครั้งที่ 6(กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง
แอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด, 2548), หน้า 231.

(9) ทวีศักดิ์ เผือกสม, อินโดนีเซีย รายา: รัฐจารีต สู่ “ชาติ” ในจินตนาการ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2547), หน้า 17.

(10) พงศาวดารสยามอย่างย่อ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ,แปลโดย วินัย พงศ์ศรีเพียร ใน ความยอกย้อนของอดีต พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ พลตรีหม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี(กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., 2537), หน้า 74. อ้างถึง
ใน โดม ไกรปกรณ์, “ตําราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4-5 (พ.ศ. 2394-2453),” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2542), หน้า 117.

(11) Thongchai Winichakul, Siam Mapped : A History of the Geo-body of A Nation(Honolulu: University of Hawaii
Press, 1994), p. 142.

(12) เติม วิภาคพจนกิจ,ประวัติศาสตร์อีสาน,พิมพ์ครั้งที่ 4(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,
2546), หน้า 74.

(13) พงศาวดารเมืองเวียงจันท์” , ปริวรรตโดย จารุวรรณ ธรรมวัตร ใน แลลอดพงศาวดารลาว(มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ม.ป.ป.), หน้า 25.

(14) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระราชดํารัสทรงในที่ประชุมเสนาบดีเรื่องทําหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
กับอังกฤษ ร.ศ. 128” , ศิลปากร 3 (กันยายน 2519): 69. อ้างถึงใน เตือนใจ ไชยศิลป์, “ล้านนาในการรับรู้ของชนชั้นปกครอง
สยาม พ.ศ. 2435-2475,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
2536), หน้า 102.

(15) ชาร์ลส์ เอฟ คายส์, แนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย, แปลโดย รัตนา โตสกุล (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยสังคม
อนุภาคลุ่มน้ำโขง, 2546), หน้า 53.

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

การพ่ายแพ้สงครามครั้งแรกของพม่า ใน พ.ศ. 2368

          จากความสําเร็จของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ทําให้การค้าและอุตสาหกรรมเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆ ในยุโรปจึงได้ขยายตลาดการค้าของตนออกไป และเพื่อความมั่นคงของตลาดการค้าและแหล่งวัตถุดิบจึงได้เข้าครอบครองดินแดนต่างๆ เป็นอาณานิคม จักรวรรดินิยมตะวันตกได้เริ่มเข้าคุกคามเอเชียตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 24 หรือในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี  การพ่ายแพ้สงครามกับอังกฤษครั้งแรกของพม่า ใน พ.ศ. 2368 เป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยให้แก่สยาม เพราะพม่าและสยามมียุทธวิธีในการรบแบบเดียวกัน การพ่ายแพ้ของพม่าทําให้ชนชั้นนําสยามตระหนักถึงประสิทธิภาพของกองทัพอังกฤษมากขึ้น ดังนั้น เมื่ออังกฤษส่งเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) มาทําสัญญาในปี พ.ศ. 2369 จึงได้รับความร่วมมือจากสยามเป็นอย่างดี

          สืบเนื่องจากการพยายามขยายอำนาจของอังกฤษ กองทัพอังกฤษได้เข้าทำสงครามกับพม่าในปี พ.ศ. 2367 สงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2367–2369) ยุติลงโดยอังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ฝ่ายพม่าจำต้องทำสนธิสัญญายันดาโบกับอังกฤษ ทำให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนอัสสัม, มณีปุระ, ยะไข่ และตะนาวศรีไป ซึ่งอังกฤษก็เริ่มต้นตักตวงทรัพยากรต่าง ๆ ของพม่านับแต่นั้นเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับวัตถุดิบที่จะป้อนสู่สิงคโปร์ สร้างความแค้นเคืองให้กับทางพม่าเป็นอย่างมาก
          
           กษัตริย์องค์ต่อมาจึงทรงยกเลิกสนธิสัญญายันดาโบ และทำการโจมตีผลประโยชน์ของฝ่ายอังกฤษทั้งต่อบุคคลและเรือ เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งก็จบลงโดยชัยชนะเป็นของอังกฤษอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสงครามครั้งนี้อังกฤษได้ผนวกดินแดนทางใต้เข้าไว้กับตน โดยเรียกดินแดนดังกล่าวใหม่ว่า พม่าตอนล่าง สงครามครั้งนี้ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในพม่า เริ่มต้นด้วยการเข้ายึดอำนาจโดยพระเจ้ามินดง (ครองราชย์ พ.ศ. 2396–2421) จากพระเจ้าพุกามแมง (ครองราชย์ พ.ศ. 2389–2396) ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี พระเจ้ามินดงพยายามพัฒนาประเทศพม่าเพื่อต่อต้านการรุกรานของอังกฤษ พระองค์ได้สถาปนามัณฑะเลย์ ซึ่งยากต่อการรุกรานจากภายนอกขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการรุกรานจากอังกฤษได้
       
           
รัชสมัยต่อมา พระเจ้าธีบอ (ครองราชย์ พ.ศ. 2421–2428) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดง ทรงมีบารมีไม่พอพระทัย และไม่สามารถควบคุมราชอาณาจักรได้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไปทั่วในบริเวณชายแดน ในที่สุดพระองค์ได้ตัดสินพระทัยยกเลิกสนธิสัญญากับอังกฤษที่พระเจ้ามินดงได้ทรงกระทำไว้ และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สามในปี พ.ศ. 2428 ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้อังกฤษสามารถเข้าครอบครองดินแดนประเทศพม่าส่วนที่เหลือเอาไว้ได้ทั้งหมด  และทำให้พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2429 และระยะก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย และต่อมาประเทศพม่าได้รับเอกราชใน พ.ศ.2491(หรือตรงกับค.ศ. 1948) ช่วงต้นปกครองแบบชาติประชาธิปไตย และหลังรัฐประหารใน พ.ศ.2505 (หรือตรงกับค.ศ. 1962) เป็นการปกครองแบบเผด็จการทหาร แม้เผด็จการทหารสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2554 (หรือตรงกับ ค.ศ. 2011) แต่ผู้นำพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นอดีตนายทหาร

เอกสารอ้างอิง : 
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.2561.ประเทศพม่า. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศพม่า#cite_ref-34.(28 กันยายน 2561).

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

อำมาตตรี พระวิเศษชัยชาญ ( ชอุ่ม อมัตติรัตน์ ) ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ท่านที่ 2 (พ.ศ. 2463 - 2465)

อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๖๗
อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ
(พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๖๗)
          สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำของประชุมปกรณัมภาคที่ ๔ เรื่องเวตาลปกรณัม พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๘ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร  ความว่า


          " พระยาวิเศษไชยชาญ ต ม. จ ช. ร จ พ. นามเดิมฉอุ่ม นามสกุลอมัติรัตน์ เกิดเมื่อวันอังคารเดือนยี่แรม ๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๖ มกราคม ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เปนบุตรพระพิมูลภักดี อ่ำ มารดาชื่อเอี่ยม บ้านเดิมอยู่เมืองพิไชยเก่า เรียนอักขรสมัยในสำนักบิดา แลพระครูวิเชียรปัญญามหามุนี วัดมหาธาตุเมืองพิไชยเก่า แรกเข้ารับราชการอยู่กับเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร์) เมื่อยังเปนพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ได้เปนเสมียนไปรับราชการณเมืองหลวงพระบาง เมื่อครั้งเจ้าพระยาสุรสีห์เปนข้าหลวงใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ครั้นเมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ได้เปนข้าหลวงเทศาภิบาลแรกจัดการมณฑลพิษณุโลก ได้มารับราชการเปนเสมียนอยู่ในข้าหลวงเทศาภิบาลด้วย ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับ จนได้เปนผู้ช่วยข้าหลวงมหาดไทยมณฑลพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงสำเริงนฤปการ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ ย้ายไปเปนนายอำเภอเมืองพิจิตร์อยู่ ๑ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงกลับมาเปนข้าหลวงมหาดไทยมณฑลพิษณุโลก ประจวบสมัยที่กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งให้มีนักเรียนปกครองขึ้นตามมณฑล หลวงสำเริงนฤปการได้รับเลือกให้เปนผู้สอนนักเรียนปกครองด้วย ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้พระราชทานสัญญาบัตร์เลื่อนขึ้นเปนพระสำเริงนฤปการ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เลื่อนตำแหน่งเปนปลัดมณฑลพิษณุโลก ในปีนี้เกิดผู้ร้ายเงี้ยวขึ้นที่เมืองแพร่ กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ไปกำกับราชการเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลกและจัดพาหนะกระสุนดินดำส่งลำเลียงกองทัพที่ขึ้นไปปราบปรามเงี้ยวณเมืองแพร่จนสงบ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ เปนบำเหน็จความชอบ

          พระสำเริงนฤปการเปนผู้ชำนาญในการปกครองถึงได้เปนอาจารย์สอนนักเรียนดังกล่าวมา ทางราชการจึงเลือกส่งไปประจำราชการในมณฑลและจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่งจนตลอดเวลารับราชการ คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ไปเปนผู้ว่าราชการเมืองอุไทยธานี พ.ศ. ๒๔๕๐ เปนปลัดมณฑลชุมพร พ.ศ. ๒๔๕๒ เปนผู้ว่าราชการเมืองชุมพร ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้พระราชทานยศเปนอำมาตย์เอก พ.ศ. ๒๔๕๖ กลับมาเปนผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานสัญญษบัตร์เลื่อนขึ้นเปนพระยาวิเศษไชยชาญ พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ ย้ายไปเปนผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามเลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ มาเปนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ ป่วยเปนไข้มาลาเรีย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ นี้ คำนวณอายุได้ ๕๑ ปี.

         พระยาวิเศษไชยชาญรับราชการอยู่เปนเวลา ๓๑ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่ ๑๓ บาท ถึง ๖๐๐ บาทเปนที่สุด นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา แลเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิ์อิกปลายประการ สิ้นประวัติพระยาวิเศษไชยชาญเพียงนี้ "



เอกสารอ้างอิง :
ประชุมปกรณัมภาคที่ ๔ เรื่องเวตาลปกรณัม พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๘ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

ประชุมปกรณัมภาคที่ ๔ เรื่องเวตาลปกรณัม

ปฏิทินจันทรคติไทย และปีนักษัตรไทย

เดือนจันทรคติไทย : เดือนอ้าย(๑) , เดือนยี่(๒) , เดือนสาม(๓) , เดือนสี่(๔) , เดือนห้า(๕) , เดือนหก(๖) , เดือนเจ็ด(๗) , เดือนแปด(๘) , เดือนแปดหลัง(๘๘) , เดือนเก้า(๙) , เดือนสิบ(๑๐) , เดือนสิบเอ็ด(๑๑) , เดือนสิบสอง(๑๒) และในปีอธิกมาส จะมีเดือนแปดหลัง(๘๘) , 

ปกติมาส ปกติวาร : เป็นปีปกติ เดือนคู่(เดือน ๒, ๔, ๖, ๘, ๑๐, ๑๒) มีข้างขึ้นและข้างแรม 15 วัน และเดือนคี่(เดือน ๑, ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑) มีข้างขึ้น 15 วัน ส่วนข้างแรมมี 14 วัน (รอบปีจันทรคติรวม 354 วัน)

ปกติมาส อธิกวาร : เป็นปีปกติ แต่เดือนเจ็ด(๗) จะมีข้างแรม 15 วัน (รอบปีจันทรคติรวม 355 วัน) 

อธิกมาส ปกติวาร : เป็นปีปกติ แต่เพิ่มเดือนแปดสองหน(๘๘) เพิ่มวัน 30 วัน (รอบปีจันทรคติรวม 384 วัน) 

ปกติสุรทิน จำนวนวันใน 1 ปี มี 365 วัน ตามรอบสุริยคติ (เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน) 

อธิกสุรทิน จำนวนวันใน 1 ปี มี 366 วัน ตามรอบสุริยคติ(เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน) 

วันพระ : ขึ้น ๘ ค่ำ , ขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ) , แรม ๘ ค่ำ , แรม ๑๕ ค่ำ หากเดือนใดเป็นเดือนขาด หรือเดือนคี่ (เดือน ๑, ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑) ให้ถือเอาแรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันพระ 

รอบวันทางจันทรคติไทย นับตามเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นจริง หรือประมาณ เวลา 06:00น. ถึง 05:59น.

หมายเหตุ
   1) ก่อนปี พ.ศ.2456 ประเทศไทยยังใช้ปฏิทินจันทรคติเป็นหลัก ชื่อเดือน มกราคม-ธันวาคม ยังไม่มีใช้ ผู้คนยุคนั้นจะรู้จักปฏิทินวันแรมค่ำ เดือนอ้ายยี่ ปีชวด ฉลู ฯ หรือจดจำวันเกิดตามปฏิทินจันทรคติ เช่น เกิดวันศุกร์ เดือนยี่ ปีกุน เท่านั้น  หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มใช้วันเดือนปีสุริยคติตามสากล ปฏิทินจันทรคติไทยก็ลดบทบาทลงจนเกือบจะหายไป ยังคงเหลือใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น ทางโหราศาสตร์ พิธีกรรม ศาสนา วัฒนธรรม ส่วนอื่นๆ จะใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากลเกือบทั้งหมด ดังนั้น หากจะใช้ปฏิทินในทางโหราศาสตร์ พิธีกรรม หรือ วันสำคัญทางพุทธศาสนา ก็ควรเข้าใจหลักปฏิทินจันทรคติแบบเก่า เปรียบเทียบวันเวลาที่ถูกต้องก่อนใช้

   2) วันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามคติพราหมณ์-ฮินดู และใช้จนถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) พ.ศ.2432 ซึ่งตรงพอดีกับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 (รัตนโกสินทร์ศก. 108) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็น วันที่ 1 เมษายน แทน และใช้จนถึง พ.ศ.2483 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยตามสากลประเทศ จากวันที่ 1 เมษายน เป็น วันที่ 1 มกราคม โดยเริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นต้นมา , ในปี พ.ศ.2483 ถ้านับถึงเปลี่ยนปีใหม่ เลือนวันจาก 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ปรับปีใหม่เร็วขึ้น จำนวนเดือนในปฏิทินไทยจึงหายไป 3 เดือน ดังนั้นในปี พ.ศ.2483 หากนับช่วงเวลาจะมี 9 เดือน โดยวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม พ.ศ.2483 ไม่มีอยู่ในปฏิทินไทยที่ใช้จริง แต่ตามปฏิทินสากล ซึ่งตรงกับปี ค.ศ.1940 ช่วงเวลาในปฏิทินดังกล่าวใช้ตามปรกติ 

3) ปีนักษัตรไทย การเปลี่ยนปีนักษัตรไทยมีหลายแบบ เช่น เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ตามปฏิทินหลวง เป็นแบบที่ใช้ในการบันทึกสูติบัตรปัจจุบัน (แนวทางปฏิบัติตาม หนังสือเวียนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.1/ว4 ออกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539) , เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามคติพราหมณ์-ฮินดู , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันเถลิงศก ช่วงวันที่ 15-17 เมษายน , เปลี่ยนปีนักษัตรใน วันสังขารล่อง หรือ วันสงกรานต์ ตามแบบทางภาคเหนือ , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินของ อ.ทองเจือ อ่างแก้ว , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน ตามปฏิทินของ อ.เทพย์ สาริกบุตร , ปีนักษัตรจีน โหราศาสตร์จีนจะเปลี่ยนปีนักษัตรในวันสารทลิบชุน(立春) ซึ่งเป็นสารทแรกของปีเริ่มต้นนักษัตรใหม่ ขวบปีใหม่ ตามกฎเกณฑ์ปฏิทินโหราศาสตร์จีนโบราณ ก่อนที่คณะปฏิวัติปกครองสถาปนาสาธารณรัฐจีน (พ.ศ.2455) มีประกาศเปลี่ยนแปลงปฏิทินใหม่ ดู ปฏิทินโหราศาสตร์จีน และบางตำราใช้วันตรุษจีนเป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร

จะใช้ปีนักษัตรแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ทำอะไร เช่น บันทึกสูติบัตร จะใช้ปีนักษัตรตามปฏิทินหลวง เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) , พยากรณ์ทางโหราศาสตร์ต่างๆของไทย จะใช้ปีนักษัตรตามคติพราหมณ์-ฮินดู เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) , พยากรณ์โหราศาสตร์จีน ดูดวงจีนโป๊ยหยี่สี่เถี่ยว(八字四柱) ดูหลักปี ปีชง ปีฮะ จะใช้ปีนักษัตรจีนตามปฏิทินโหราศาสตร์จีน เป็นต้น

Reference : มายโหรา.คอม.2561.แปลง/เปรียบเทียบ ปฏิทินสุริยคติ - จันทรคติ. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.myhora.com/ปฏิทิน/ตรวจสอบวันเดือนปี-สุริยคติ-จันทรคติ.aspx .(24 กันยายน 2561)

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

บทประชาสัมพันธ์ งานบุญประเพณีแซนโฎนตา สารทแห่งความกตัญญูชาวเมืองขุขันธ์ ปี พ.ศ. 2561 ครบรอบเมืองขุขันธ์ 981 ปี

         "จังหวัดศรีสะเกษ โดยอำเภอขุขันธ์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ และประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์ ขอเชิญชวนพ่อแม่พี่น้อง ร่วมงานประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองขุขันธ์ ที่เรียกว่า งานบุญประเพณีแซนโฎนตา สารทแห่งความกตัญญูของชาวเมืองขุขันธ์ อันเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมทีดีงามของท้องถิ่นชาวอีสานใต้ ที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ
         อำเภอขุขันธ์ จัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 2 - 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2561 ณ บริเวณ ลานอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน และสนามหน้าที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ 

         ปีนี้ เราจัดยิ่งใหญ่กว่าทุกๆปี ชมศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเมืองขุขันธ์ การออกร้านของส่วนราชการ และกลุ่มเครือข่าย OTOP จังหวัดศรีสะเกษ และเชิญชมการประกวดต็วงมงคล ที่มีอัตลักษณ์รากเหง้าจาก 276 หมู่บ้าน

        ในงานฯ วันที่ 2 - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เชิญชมและเชียร์ ให้กำลังใจนักร้อง นักเต้น ในการประกวดร้องเพลงประกอบหางเครื่องของท้องที่และท้องถิ่น เพื่อจัดหารายได้ช่วยเหลือสาธารณะประโยชน์ของชาวอำเภอขุขันธ์

        วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เชิญชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นพื้นบ้าน จากหมู่บ้าน ตำบล และโรงเรียนต่างๆ ตลอดทั้งวัน และในภาคกลางคืน ชมการซ้อมใหญ่ แสง สี เสียงตำนานความเป็นมาของเมืองขุขันธ์ 

        วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เชิญชมขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ยิ่งใหญ่ และร่วมพิธีแซนโฎนตาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองขุขันธ์ และที่พิเศษอย่างยิ่ง ปีนี้ ในภาคค่ำระหว่างเวลา 18 นาฬิกา เป็นต้นไป ขอเชิญชมการแสดงแสง สี เสียงอันยิ่งใหญ่ตระการตา ตำนานความเป็นมาของเมืองขุขันธ์ ครบรอบ 981ปี ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอขุขันธ์

        อย่าลืม...! วันที่ 2 - 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2561 กลับบ้านเรา...มาร่วมงานบุญประเพณีแซนโฎนตา สารทแห่งความกตัญญูของชาวเมืองขุขันธ์ โดยพร้อมเพรียงกันที่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ"


อำเภอขุขันธ์ ขอขอบคุณ :
เสียงพากย์
...นายเรวัตร  อสิพงษ์  ครูโรงเรียนขุขันธ์ 

ภาพถ่ายสวยๆจากตากล้องมืออาชีพ
...นายบูรณะ โพธิ์อุดม  โทร.091-0202679

ไฟล์ภาพป้ายประชาสัมพันธ์  
...นายสุริยา พรมชาติ  โทร.081-9975259

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย