ในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ที่น่าสนใจ แต่มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นชาวอำเภอขุขันธ์มากนัก อยู่บริเวณใกล้ๆ ใจกลางเมืองขุขันธ์ อาจจะกล่าวได้ว่า Unseen Khukhan ก็ว่าได้ คือ วัดกลาง ขุขันธ์ (Wat Klang Khukhan)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhKPvE6D5OEYpmk-2EAAWCnDZKlunF1Si8tnZf5yPwBOMVU6u75FyKGmPS93Dg2VKX4aCDjBNaPxdIyKT-s4DBcT3dWNjd9smOglv95LmZvdMExUoCZz74WOfCTtZHTRJFYWcdTQyLrzNFIhraALfpBqWlcoU7zxrh_W2uPLERRZOp2Eiv4vIa9A7Qk-uV7/s16000/IMG20240413163119-EDIT.jpg)
วัดกลาง ขุขันธ์ ริเริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2429 โดยพระยาบำรุงปุระจันต์ (จันดี) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองขุขันธ์ ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นพระรัตนโกศา ปลัดเมืองขุขันธ์ (พ่อตาของเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9) พร้อมด้วยเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 คือพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ขุขันธิน - พุทธศักราช 2426- 2440) พร้อมด้วย กรมการเมืองและราษฏร เห็นว่า วัดสะอาง ซึ่งเป็นที่ของพระหลักคำอุด (เจ้าคณะเมืองขุขันธ์) ที่ว่าราชการเมืองขุขันธ์เดิมในสมัยเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 3 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวบุญจันทร์ - พุทธศักราช 2327 - 2326) และบริเวณ วัดบกจันทรนคร ที่เคยเป็นวัดประจำเมือง และเคยใช้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา อยู่ห่างไกลย่านชุมชนไปมาและติดต่อลำบาก จึงเห็นพ้องต้องกันว่า สถานที่บริเวณแห่งใหม่นี้ อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดและหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งต่างอยู่รอบเมืองในขณะนั้น ถ้าได้สร้างเป็นวัดประจำเมืองก็จะเป็นผลดียิ่ง จึงได้พร้อมใจกันอาราธนา พระครูธรรมจินดามหามุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองขุขันธ์ (สมัยยังเป็นพระหลักคำอุด) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระยาบำรุงปุระจันต์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ก็ได้เกณฑ์นักโทษถางป่าบริเวณนั้น แล้วสร้างเสนาสนะขึ้น เรียกว่า "วัดกลาง" และอุโบสถ โดยบริเวณที่ตั้งอุโบสถวัดกลาง อำเภอขุขันธ์ ได้สร้างคร่อมทับปราสาทขอมโบราณอันเป็นศูนย์กลางหลักของเมืองขุขันธ์ที่ชื่อว่า ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ว่า พื้นตั้งของอุโบสถวัดกลางในอดีต จะมีลักษณะเป็นเนินสูง นั่นเอง
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางราชการในขณะนั้น ก็ได้ถือเอาวัดนี้เป็นวัดประจำเมือง และเป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแทนวัดบกจันทร์นคร วัดแห่งนี้จึงเป็นเป็นวัดใหญ่และมีความเจริญรุ่งเรืองกว่าวัดอื่น ๆ ในยุคสมัยนั้น
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjIGdDDboNZ284A_XLla3mgA3ckASj3EHmQGtBth2zz2RO8KJT07wBQ0xMwJHbQG-7NEP-z5J-2Co85A8sO9cjib_BSdKjNytnSFP0B59-EpN48s9fus_fH5lyJJfWwGlbzlfpxzKpq9eYgxbAEtnra4UyhSRVvjUumKceRH4rHXrv8lTdK_X2HwmswUrXA/s16000/2024-07-16_05-46-54.jpg) |
พระครูโสภิตธรรมขันธ์ (เอี้ยง ภคคุโณ) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง |
ในปัจจุบัน บริเวณวัดกลาง ก็ยังเป็นเป็นที่ตั้งของโรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร และบุตรหลานที่อยู่ในอำเภอขุขันธ์ และอำเภอใกล้เคียงอีกด้วย
สำหรับจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ณ บริเวณวัดกลาง ขุขันธ์ ซึ่งเป็นชาวอำเภอขุขันธ์มากนัก หรือ Unseen Khukhan at Wat Klang ก็คือ บรรดารูปปูนปั้นที่อยู่บริเวณด้านหน้าอุโบสถทั้งหลาย โดย พระครูโสภิตธรรมขันธ์ (หลวงตาเอี้ยง) อดีตเจ้าอาวาสวัดกลาง ขุขันธ์ (อัมรินทราวาส) และอดีตเจ้าคณะอำเภอขุขันธ์ ท่านได้สร้างอุโบสถวัดกลาง ขุขันธ์หลังใหม่ขึ้น (ซึ่งก็คืออุโบสถหลังที่เห็นในภาพปัจจุบัน) ท่านจึงได้ให้ปั้นรูปเหล่านี้ ส่งต่อเรื่องราวเมืองขุขันธ์ในอดีตสู่อนุชนชาวเมืองขุขันธ์รุ่นหลัง เพื่อเกิดความภาคภูมิใจต่อไป ได้แก่
1. รูปปั้นของบุรุษท่านั่งบนหลังช้างศึกที่มีการผูกเครื่องรางของขลัง ประเจียด ตะกรุดพิสมรที่คอช้าง ในมือถือปืนคาบศิลา
นี้คือ รูปปั้นของเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปาน หรือปัญญา ขุขันธิน - พุทธศักราช 2426- 2440) ในอิริยาบทกำลังนั่งช้างนำคณะ เริ่มต้นออกเดินทาง เมื่อปี พ.ศ. 2467 ณ เวลาอันเป็นฤกษ์ยามดีตั้งแต่เช้าตรู่สู่เขตเมืองศีร์ษะเกษ ทันที เพื่อไปปราบ เสือยง ขุนโจรแห่งเมืองศรีสะเกษ หรือภาษาขอมขุขันธ์บ้านเรายุคนั้น เรียกว่า តង្ខោវយ៉ុង ตังเคายง เป็นหลานของพระวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศรีสะเกษ ท่านที่ 5 เคยรับราชการ แต่ถูกให้ออกจากราชการ จึงได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์เรียนเวทย์มนต์คาถาอาคมทางไสยศาสตร์จากอาจารย์ ในเขตพื้นที่เมืองขุขันธ์ เมื่อมีเวทย์มนต์คาถาแก่กล้าแล้วก็ได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าโจรซ่องสุม ผู้คนมีบริวารมากมาย มีช้าง ม้า เป็นพาหนะออกปล้นฆ่า จนถูกจับในคดีฆ่าคนตายและถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต โดยส่งไปจำคุกอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี แต่จำคุกได้ไม่นานก็ได้ใช้วิชาเวทย์มนต์ทางไสยศาสตร์สามารถรูดโซ่แหกคุกหนีออกมาจากเมืองอุบลได้แล้วก็มารวบรวมสมัครพรรคพวกออกปล้นฆ่าชาวบ้านอย่างหนักขึ้นกว่าเดิม สร้างความเกรงกลัวให้กับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ของเมืองศรีสะเกษและเจ้าหน้าที่จากเมืองอุบลต้องร่วมมือช่วยกันปราบปรามแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งและจับเสือยงได้ จึงได้มีหนังสือถึง พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปาน หรือปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 ให้ช่วยปราบเสือยง เพราะเจ้าเมืองศรีสะเกษทราบดีว่าผู้ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้าเหนือกว่าพอที่จะต่อกรกับเสือยงได้ คงไม่มีใครนอกจากเจ้าเมืองขุขันธ์ เมื่อมีการร้องขอ เจ้าเมืองขุขันธ์ จึงตอบรับที่จะช่วย เพราะเสือยง ได้ปล้นฆ่าข้ามเข้ามาในเขตแดนเมืองขุขันธ์ เช่นกัน โดยเจ้าเมืองขุขันธ์ได้เชิญเหล่าบรรดาพระอาจารย์จากเมืองขุขันธ์ช่วยอีกแรงหนึ่ง เพราะเจ้าเมืองขุขันธ์ก็พอทราบกิตติศัพท์ความเก่งกล้าทางวิชาอาคมของเสือยงเป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องปราบให้ได้ เพื่อความไม่ประมาท เจ้าเมืองขุขันธ์ได้เชิญอาจารย์ทางไสยศาสตร์ของเมืองขุขันธ์ รวมทั้งอาจารย์ที่เสือยงเคยเป็นศิษย์ด้วย โดยได้กระทำกรรมพิธีคัดเรียกวิชาอาคมออกจากร่างของเสือยงเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน เมื่อเหล่าอาจารย์ผู้ร่วมกรรมพิธีมีความแน่ใจแล้วว่าวิชาอาคมถูกคัดออกจากร่างเสือยงจนหมดสิ้นแล้ว เจ้าเมืองขุขันธ์จึงให้อาจารย์หาฤกษ์ยามเพื่อออกไปปราบเสือยงทันที ในที่สุดกองกำลังเจ้าเมืองขุขันธ์ เดินทางเข้าเขตแดนเมืองศรีสะเกษ ก็ได้เกิดการเผชิญหน้ากับกองโจรเสือยง ณ ทางทิศตะวันตกของบ้านดวนใหญ่ ในเวลาพลบค่ำใกล้จะมืดพอดี ( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ได้ร้องบอกให้ เสือยงมอบตัว โทษหนักก็จะได้เบาลง แต่เสือยงไม่ฟังเสียงได้สั่งสมุนโจรยิงเข้าใส่เจ้าเมืองขุขันธ์ ทันที เสียงปืนดังกึกก้องไปทั่วบริเวณแถบนั้นเป็นเวลาไม่นานนักเสียงปืนก็เงียบสงบลง โดยที่ฝ่ายเจ้าเมืองขุขันธ์และกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและอันตรายใด ๆ เลย และเมื่อเสียงปืนจากกลุ่มโจรเสือยงสงบลงแล้ว เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 จึงร้องบอกเสือยงอีกครั้งว่า ยิงพอแล้วหรือยัง ถ้ายิงพอแล้วก็ให้มอบตัว แต่ก็ไม่มีเสียงตอบจากกลุ่มเสือยง พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 เกรงว่าเสือยง จะหลบหนีไปได้ จึงตัดสินใจใช้อาวุธปืนคู่กายชื่อ ปืนคาบศิลา ยิงใส่เสือยง พร้อมทั้งสั่งกองกำลังระดมยิงอาวุธใส่กลุ่มเสือยงทันที พอสิ้นเสียงปืนคาบศิลาของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 9 แล้ว ร่างของเสือยงก็ร่วงตกจากคอช้างเสียชีวิตทันที ทำให้สมุนโจรของเสือยงที่ยังมีรอดชีวิตอยู่ตกตะลึงแตกตื่นวิ่งหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทางอย่างไม่คิดชีวิต ส่วนศพของเสือยงได้ส่งมอบให้เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ตัดศีรษะแล้วแห่ประจานรอบเมืองและเสียบประจาน ณ สี่แยกไปเมืองขุขันธ์ จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เรื่องราวและความโหดร้ายของเสือยงผู้มากด้วยเวทย์มนต์คาถาอาคมเข้มขลังแห่งเมืองศีร์ษะเกษ ต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือ ของ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 นี้เอง
2. รูปปั้นฤษี ด้านหลังช้างเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 ในอดีตย้อนหลังตั้งแต่เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 ขึ้นไปถึงเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกในยุคปลายกรุงศรีอยูยา และยุคสมัยก่อนหน้านั้น ในพื้นที่แถบอีสานใต้ โดยเฉพาะในเมืองขุขันธ์ เคยมีฤษี ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือ เนื่องจากมีความรู้และความบำเพ็ญเพียรทางจิตวิญญาณสูง ในภาษาขอมขุขันธ์บ้านเรา เรียกว่า តាបស ตาเบาะฮฺ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านในอำเภอขุขันธ์ แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า บ้านตาเบ๊าะ หมู่ที่ 3 ตำบลปรือใหญ่ นั่นเอง สันนิษฐานว่า รูปปั้นฤษี ด้านหลังช้างเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 คือ รูปปั้นฤษีท้าวบุญจันทร์ เป็นบุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 8 และเป็นน้องชายของ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ขุขันธิน ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 มีตำแหน่งราชการเป็นกรมการเมือง ปฏิบัติหน้าที่ราชการช่วยเจ้าเมืองขุขันธ์ ผู้เป็นพี่ชายมาโดยตลอด
แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการปกครองในรูปแบบเทศาภิบาล กล่าวคือ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น คือ สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ตรากฎกระทรวง ชื่อ ข้อบังคับเรื่องเปลี่ยนชื่อ มณฑลทั้ง 4 มณฑล และมีผลให้ยุบเมืองบางเมืองเป็นอำเภอ ยุบรวมเมืองเล็ก ๆ หลายเมืองเป็นเมืองเดียวกัน ซึ่งผลการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จึงทำให้ผู้เคยมีอำนาจและตำแหน่งต้องเสียตำแหน่งและเสียอำนาจ ส่วนบางคนผู้เคยมีตำแหน่งอยู่แล้วก็ยังได้ตำแหน่งและอำนาจที่สูงขึ้น จึงมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นผู้เสียประโยชน์จึงไม่พอใจและก่อความไม่สงบขึ้นทั่วไป ในภาคพื้นแถบมณฑลอิสาน ที่เรียกว่า “กบฎผีบุญ” และท้าวบุญจันทร์ น้องชายเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ ในยุคนั้น ท้าวบุญจันทร์เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยไมตรี ใจกว้าง ใจบุญ โอบอ้อมอารี ฉลาด กล้าหาญ มีน้ำใจ คราใดที่ทางราชการบริหารราชการส่อไปในทางเอารัดเอาเปรียบ ข่มเหงรังแกประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายส่วนมากดูจะเห็นใจราษฎร ทำให้ทางราชการมองว่า ปลุกปั่น สนับสนุนราษฎร ให้เรียกร้องอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) ที่มีตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองบริเวณขุขันธ์ในขณะนั้น ซึ่งสูงกว่าเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท้าวปัญญา ผู้เป็นบุตรเขย) และเป็นพี่ชายของท้าวบุญจันทร์ จึงทำให้ท้าวบุญจันทร์และกรมการเมืองหลายคนไม่พอใจข้าหลวงฯ คือ พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี ) บ่อยครั้งจึงเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่จะมีการแต่งตั้งนายอำเภอกันทรลักษ์คนใหม่ เจ้าเมืองขุขันธ์ (ท้าวปัญญา) ซึ่งเป็นพี่ชายท้าวบุญจันทร์ โดยความเห็นชอบและได้รับการสนับสนุนจากกรมการเมืองหลายคน เจ้าเมืองขุขันธ์ (ท้าวปัญญา) จึงได้เสนอต่อข้าหลวงกำกับบริเวณ คือพระยาบำรุงบุระประจันต์ เพื่อเสนอเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง ท้าวบุญจันทร์เป็นนายอำเภอกันทรลักษ์ แต่พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี ) ข้าหลวง ไม่เห็นด้วย และได้เสนอบุคคลอื่นซึ่งเป็นของฝ่าย พระยาบำรุงบุระประจันต์ สนับสนุนให้ทรงโปรดเกล้าฯ เป็นนายอำเภอกันทรลักษ์แทน กลายเป็นเรื่องขัดแย้งอย่างรุนแรง ความจริงนายอำเภอกันทรลักษ์คนเดิมที่ถึงแก่อนิจกรรมก็คือ พี่ชายของ ท้าวบุญจันทร์ และเจ้าเมืองขุขันธ์ก็เป็นพี่ชาย ท้าวบุญจันทร์ก็น่าจะมีความชอบธรรมในการเสนอให้ทรงโปรดเกล้าฯ ในตำแหน่งนายอำเภอกันทรลักษ์ แต่กลับมิได้รับการเสนอ และกลับถูกกล่าวหาและถูกใส่ร้ายว่าจะก่อการไม่สงบขึ้นเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูง ทำให้ท้าวบุญจันทร์ ไม่พอใจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม จากน้ำผึ้งหยดเดียวกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ทำให้อำนาจในการปกครองเมืองขุขันธ์ ขณะนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วย และสนับสนุนข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์ กับอีกฝ่ายคือ ฝ่ายเจ้าเมืองขุขันธ์ คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 แต่ความขัดแย้งจะไม่แสดงออกถึงขั้นแตกหัก เพราะทั้ง 2 ท่านมีศักดิ์เป็นพ่อตาและบุตรเขยจึงต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
ส่วนท้าวบุญจันทร์ และกรมการเมืองอีกกลุ่มไม่เห็นด้วยกับพระยำบำรุงฯ จึงรับไม่ได้ อีกทั้งเพื่อความปลอดภัยในชีวิต จึงได้พาผู้ที่ศรัทธาและสนับสนุนตนเองหนีออกจากเมืองขุขันธ์ ไปอยู่อาศัยที่เขาภูฝ้าย (บริเวณอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน ) และต่อมาอีกไม่นาน เมื่อชาวขุขันธ์ทราบข่าวว่าท้าวบุญจันทร์ได้หนีออกจากเมืองขุขันธ์ ไปพำนักอยู่ที่เขาภูฝ้าย ด้วยความรักและศรัทธาในตัวท้าวบุญจันทร์ จึงทยอยหลั่งไหลกันไปที่เขาภูฝ้าย ซึ่งต่างก็อ้างว่าไปทำบุญประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อไม่ให้ทางการเกิดความสงสัย บางคนเมื่อไปร่วมทำบุญบนภูฝ้ายแล้วไม่ยอมกลับตัดสินใจสมทบอาศัยอยู่กับท้าวบุญจันทร์ ทำให้มีผู้คนอยู่ร่วมกับท้าวบุญจันทร์มากขึ้น ๆ ทำให้พื้นที่พักอาศัยบนเขาภูฝ้ายคับแคบลงและขาดความอุดมสมบูรณ์ ท้าวบุญจันทร์ จึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายสมัครพรรคพวกไปพำนักอยู่ ณ เขาซำปีกา
ในปี พ.ศ. 2443 พระยาบำรุงฯ ได้สั่งให้ทหารเมืองขุขันธ์ออกไปปราบกลุ่มท้าวบุญจันทร์ บนเขาซำปีกา อยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ถึงแม้จะมีการวางแผนออกปราบปรามกลุ่มท้าวบุญจันทร์แตละครั้ง พระยาบำรุงฯ จะปิดเป็นความลับ มิให้พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 9 ได้ล่วงรู้แผนใด ๆ เลย แต่พระยาขุขันธ์ฯ ท่านก็พอจะล่วงรู้ได้ว่า จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เนื่องจากทหารยังเกรงใจท้าวบุญจันทร์ ผู้เป็นอดีตเจ้านายเก่า และเป็นน้องพระยาขุขันธ์ ท่านที่ 9 ด้วย อีกทั้งทหารเกรงกลัวและขยาดต่อคำล่ำลือในความเก่งกล้าด้านคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ของท้าวบุญจันทร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเดินทางไปถึงที่มั่นของท้าวบุญจันทร์ ต่างก็หวาดกลัวไม่กล้าที่จะเผชิญหน้า เกิดขวัญเสียต่างก็วิ่งหนีเอาตัวรอดไปทุกครั้ง ทำให้ไม่สามารถทำอะไร ท้าวบุญจันทร์ได้ ก็ยิ่งทำให้สมัครพรรคพวก ของท้าวบุญจันทร์เกิดความมั่นใจและศรัทธาในตัวท้าวบุญจันทร์มากขึ้น
ต่อมา พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองบริเวณขุขันธ์ จึงได้ทำรายงานไปยังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ทราบว่า ที่เมืองขุขันธ์มีกบฎผีบุญขึ้น มีผู้คนเข้าร่วมเป็นสมัครพรรคพวกพร้อมอาวุธเป็นจำนวนมาก ยากต่อการปราบปรามได้ จำเป็นต้องขอกำลังทหารจากหน่วยเหนือมาช่วยปราบ ดังนั้น พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลอิสาน ได้ทูลขอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ทรงทราบ ได้มีการประชุมเสนาบดีที่กรุงเทพฯ มีมติส่งกองทหารจากเมืองนครราชสีมาอีกจำนวน 200 คน โดยมีร้อยโทหวั่น ร้อยตรีเจริญ และร้อยตรีอิน คุมกองกำลังทหารหนึ่งกองร้อย พร้อมอาวุธเดินทางเข้าสู่เมืองขุขันธ์ โดยหยุดรวมพลวางแผนโดยใช้บริเวณวัดไทยเทพนิมิตร เป็นฐานที่มั่นรวมกองกำลังทั้งทหารพลเรือนที่ยกไปปราบ ครั้งนี้ จำนวน 800 คน ในขณะที่ทหารจากส่วนกลางและจากเมืองนครราชสีมาไม่เคยชินต่อภูมิประเทศของภูเขาซำปีกา ซึ่งเป็นที่มั่นของกลุ่มท้าวบุญจันทร์ ดังนั้น การปราบปรามเพื่อจับกุมท้าวบุญจันทร์และสมัครพรรคพวกจึงทำได้ไม่สำเร็จ กองทหารต้องล่าถอยกลับ เพื่อวางแผนในการเข้าปราบปรามต่อไปอีกหลายครั้ง จนในที่สุดก็สำเร็จ เพราะมีหนึ่งในผู้คนที่เข้าร่วมเป็นสมัครพรรคพวกของท้าวบุญจันทร์ ที่หน้าตาเหมือนท้าวบุญจันทร์ ได้อาสาปลอมตัวเป็นท้าวบุญจันทร์ นำกำลังออกเผชิญหน้ากับทางการ เพื่อให้ท้าวบุญจันทร์ตัวจริงได้หลบหนีออกไปบวชเป็นฤษี เพื่อบำเพ็ญเพียรสงบทางจิตวิญญาณ และต่อมาทางการจึงได้สั่งให้ทหารเข้าโจมตีด้วยอาวุธทุกชนิดที่เตรียมมา ทำให้ไพร่พลฝ่ายท้าวบุญจันทร์(ตัวแทน) ที่มีน้อยกว่าอยู่แล้วต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากที่เหลือเกิดขวัญเสียยอมแพ้ต้องหนีเอาตัวรอด ส่วนท้าวบุญจันทร์ (ตัวแทน)ได้ถูกกระสุนที่แขนอาการสาหัสไม่ยอมหลบหนี จึงถูกทหารจับตัวไว้ได้ พระยาบำรุงฯ จึงสั่งให้ทหารตัดเอาศีรษะของท้าวบุญจันทร์ นำกลับไปที่เมืองขุขันธ์ แล้วทำการแห่ไปรอบเมืองแล้วจึงได้เสียบประจานไว้ที่ทางสี่แพร่ง หน้าสถานีตำรวจในขณะนั้น (ทิศตะวันตกโรงเรียนขุขันธ์ ในปัจจุบัน)
ผลพวงจากการปราบปรามกบฎท้าวบุญจันทร์ในครั้งนั้น ทำให้ประชาชนชาวขุขันธ์ส่วนหนึ่งไม่พอใจในการกระทำการอย่างรุนแรงของทางการ โดยการนำของพระยาบำรุงฯ ข้าหลวงประจำเมืองบริเวณขุขันธ์ จึงทำให้ในเวลาต่อมาเกิดเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นในเมืองขุขันธ์ มีการก่อความไม่สงบ มีการทำลายและเผาสถานที่ราชการ มีการลอบฆ่าฝ่ายปกครองเป็นเนือง ๆ จนต้องใช้กองกำลังทหารจากส่วนกลางช่วยรักษาความสงบภายในเมืองขุขันธ์อยู่อีกเป็นเวลาแรมปี และทำให้ พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองบริเวณขุขันธ์ เกิดความไม่มั่นใจในความมั่นคงในการบริหารราชการปกครองเมืองขุขันธ์ อยู่ ณ ที่เมืองขุขันธ์เดิม ในราวปลายปี พ.ศ. 2449 จึงได้ตัดสินใจที่จะย้ายเฉพาะศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ จากตำบลห้วยเหนือ ไปตั้ง ณ ตำบลเมืองเหนือ และทำการย้ายได้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2450 โดยพระเจ้าอยู่หัว ร.5 โปรดเกล้าฯให้ยุบเมืองศรีสะเกษ เมืองเดชอุดม รวมเข้ากับเมืองขุขันธ์ รวมเรียกว่า “เมืองขุขันธ์” ส่วนที่เมืองขุขันธ์เดิม คงไว้ให้มีฐานะเป็นอำเภอเมือง เช่นเดิม แม้ว่าย้ายศาลาว่าราชการเมืองไปก็ยังใช้ชื่อ ศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ อยู่เช่นเดิม ตำแหน่ง ผู้ว่าก็ยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ เช่นเดิม โดย ร.5 ทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบำรุงบุระประจันต์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ แทนผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ท่านเดิมคือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นกรมการพิเศษเมืองขุขันธ์ และกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์ ในเวลาต่อมา(พ.ศ. 2450-2460) จึงได้สิ้นสุดในตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้วท่านได้กลับไปใช้ชีวิตที่อำเภอห้วยเหนือ จนมาถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2470
3. รูปปั้นแม่โพสพ ที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอขุขันธ์และในจังหวัดศรีสะเกษ มือซ้ายอุ้มประคองรวงข้าว และยกมือขวากำเคียวเกี่ยวข้าว นั่งบนกบนาตัวเขียวขนาดใหญ่ อยู่ด้านหน้าอุโบสถวัดกลาง ทางทิศอีสาน
“แม่โพสพ” หรือ “เจ้าแม่โพสพ” เป็นเทพีแห่งข้าวตามความเชื่อของคนไทยมาแต่โบราณ โดยเฉพาะชาวนาไทย มีความเชื่อว่าแม่โพสพจะบันดาลให้วิถีชีวิตของพวกเขาพออยู่พอกิน เป็นมิ่งขวัญของชาวนาในยุ้งฉาง ข้าวออกรวงงามสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียนแม่โพสพไม่ได้ผูกติดกับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ผูกพันกับช่วงเวลาในฤดูกาลทำนามากกว่า ชาวนาไทยจึงสามารถสักการะเซ่นไหว้ที่ใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นในผืนนาเมื่อทำขวัญข้าว หรือที่ยุ้งฉางของตนเองเมื่อขนข้าวขึ้นยุ้ง เป็นต้น
ชาวเมืองขุขันธ์ หรือชาวขอมขุขันธ์โบราณ เรียก “แม่โพสพ” ว่า នាងប្រពៃស្រព เนียงประเป็ยซรอบ ซึ่งชื่อเรียกนี้ พบในสมุดข่อยโบราณคือศาสราเฮาปลึงโสร๊ว โบราณของเมืองขุขันธ์ อายุกว่า 160 ปี ภายหลังจากเสร็จสิ้นจากฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวรวบรวมผลผลิตจากการทำนาของชาวบ้าน ชาวเมืองขุขันธ์ในอดีต ก็จะจัดให้มี พิธีบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) หรือตรงกับภาษาไทยว่า บุญประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก
ภาพ บุญปูนพนมโซร็ว ของชาวบ้านพุทธบริษัทในสังกัดวัดบ้านแขว
ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
จากการสอบถามและรวบรวมข้อมูลจากปราชญ์ผู้รู้ในหมู่บ้านหลายหมู่บ้านในอำเภอขุขันธ์ ท่านบอกว่า การทำบุญปูนพนมโซร็ว (បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) นี้ ตามที่ปู่ย่าตายายบ้านเราพาทำต่อๆกันมา อาจสรุปได้ว่ามีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ดังนี้ ประการที่ 1 ทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)นำไปจัดถวายอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่วัดวาอารามประจำหมู่บ้านหรือตำบลของตนเอง
ประการที่ 2 สำหรับนำมาสนับสนุนเป็นปัจจัยเสริมสร้างและซ่อมแซมวัดวาอาราม และสาธารณประโยชน์ร่วมกันของพุทธบริษัทในสังกัดวัด เป็นต้นว่า การซ่อมแซมถนนที่ชำรุด เป็นต้น![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiF1z3-lvf1GTAmjKMJcnLGDbJjLqOCmhXHLDR-pmSKcH7Z2yEgac2ZfHSHPJhySDB0n0Dr-nEth2QJ_gNSWYvvVVZ56dIDR1iLztUcj-DGudub0HJcmkbLdUkEmsAN3NqKGJjOS9oQNRk6/s640/25394763_1798448340452276_5248682544424790017_o.jpg)
ประการที่ 3 เพื่อระลึกถึงคุณพระแม่โพสพที่ได้เลี้ยงมนุษย์โลก และขอขมาโทษที่เราได้ฟาดตี เหยียบย่ำในการนวดข้าว หรือความพลาดพลั้งต่างๆทั้งที่เราเจตนาและเราไม่เจตนาต่อท่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้านในอำเภอขุขันธ์ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่และถูกส่งต่อสู่รุ่นลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ข้าวเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์มีบุญคุณต่อมนุษย์ และเชื่อว่าข้าวมีเทพธิดาที่ชื่อว่า แม่โพสพ ประจำอยู่ ซึ่งจะคอยพิทักษ์รักษาข้าวและดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของข้าวในนา ใครที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อข้าวก็จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง มีความสุขสมบูรณ์ ดังนั้น ชาวนาจะไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการไม่เคารพต่อแม่โพสพ หรือทำให้แม่โพสพเสียขวัญ ชาวนาจึงให้ความเคารพบูชาและกตัญญูรู้คุณแม่โพสพ โดยการทำพิธีต่าง ๆ ในแต่ละช่วงของการเพาะปลูก เพราะถ้าไม่ทำ อาจจะบันดาลให้ไม่มีข้าว และก่อเกิดความอดอยากได้
ประการที่ 4 เพื่อเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านพุทธบริษัทในหมู่บ้านและตำบล อันจะนำมาซึ่งความเข็มแข็ง และความสงบสุขในภาพรวมต่อไป
ในภาพนี้ คือ ภาพความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านที่มาร่วมกันทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)ที่วัด แต่ในบางหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีหลายคุ้มบ้านอาจแยกกันทำเป็นคุ้มก็ได้ สำหรับข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมาร่วมทำบุญ ส่วนใหญ่นำมาตามกำลังศรัทธาของแต่ละครอบครัว มิได้มีการกำหนดว่าต้องมากหรือน้อยเท่าใด แต่ก็อาจจะมีบ้าง บางหมู่บ้านที่มีการกำหนดปริมาณข้าวเปลือกที่จะนำมาร่วมกันทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) นอกจากนี้ ชาวบ้านเรา ยังได้ร่วมกันทำบุญด้วยการรวบรวมเงินกันเพื่อเป็นปัจจัยถวายทำนุบำรุงวัดและพระพุทธศาสนาอีกด้วย
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjYl44lTamKWhYqprYi52BokPqU9hMsoPo1br-JMtoZf4jE7FoGYm6EdbQXnsFB-HLaMwbmkLTwLoylNEzzDLlF6YdsflehvVs2kzt8w9Aa2hhKaock-MJZGN9o0InLePzsTgu2C4toDrdh/s640/25358481_1798448473785596_5952137582262016352_o.jpg)
ตามที่ได้มีโอกาสออกไปร่วมกิจกรรมทำบุญกับชาวบ้านหลายหมู่บ้าน พบว่า พิธีบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) บ้านเรา ไม่ค่อยมีพิธีรีตองอะไรยุ่งยากเท่าไรนัก ตอนเช้า ชาวบ้านพุทธบริษัทบ้านเรา ก็จะนำข้าวเปลือกมาเทกองรวมกัน หรือบรรจุใส่กระสอบนำมาวางกองลงในจุดหมายที่เดียวกันและพูนให้สูงขึ้นคล้ายภูเขา (ភ្នំ) หนึ่งลูก จึงเป็นที่มาและเรียกต่อๆกันมาว่า พนมโซร็ว(ភ្នំស្រូវ)
พอถึงเวลาตอนเย็น ชาวบ้านทุกหลังคาเรือน ก็จะส่งตัวแทนครอบครัวมาร่วมกันฟังพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และเมื่อเข้าสู่เช้าวันใหม่ถัดมา ชาวบ้านเราก็จะนำจังหันเช้ามาประเคนพระภิกษุสงฆ์ ฟังพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาฉลองศรัทธาบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) มีกิจกรรมทำบุญตักบาตรร่วมกัน และรับพรจากพระภิกษุสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคงในชีวิตต่อไป
เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้ว ก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว ซึ่งสมัยก่อน ชาวบ้านจะกระทำที่ลานนาหรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง และอัญเชิญขวัญข้าว และแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลในครอบครัว เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีจึงค่อยแยกย้ายกันกลับบ้าน
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgErgtG9iHh1yoSwLIbtud46ajqENW_LrHnbqe6_I_EPKoh5DXoNzoXPKqG15IV9l4Gp8hWYTho9JSXSBXoS8xKrXp1_uGqAf6zdMs-cOUX8Y8A2_eb52IQf79M3IktpE1GJfPCaRX-CrZS/s640/25358200_1798448387118938_8549657509571382032_o.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEh6KmQzDP5s0V1vcnohyphenhyphen_AzWTh2mi9BXRySiG4y-xnU6Znj94m8KF1lWAwwCxU3k8ZWC9JlXcU7CESYsNn_hoG9WVkFTg_wYJOefbwgJnSCtE9_Ej6WyIY45nC5kGQbY6hNxbT8n_vMdp5q/s640/25358250_1798448370452273_4250074014930584282_o.jpg)
4. รูปปั้นนางกวัก ที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอขุขันธ์และในจังหวัดศรีสะเกษ สวมเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแบบไทย นั่งพับเพียบ มือซ้ายวางลงแตะข้างลำตัวหรือวางบนตักถือถุงทรัพย์ ส่วนมือขวายกขึ้นระดับไหล่ทำท่ากวักมือ ที่แปลกแตกต่างจากนางกวักณ สถานที่แห่งอื่นๆคือ นั่งบนหลังเต่า อยู่ด้านหน้าอุโบสถวัดลาง ทางทิศอาคเนย์ นางกวัก เป็นเทพีแห่งโชคลาภตามความเชื่อของคนไทย ชาวเมืองขุขันธ์ หรือชาวขอมขุขันธ์โบราณ เรียกว่า នាងបក់នាងបោយ เนียงบ็อกเนียงโบย
สำหรับรูปลักษณ์ของนางกวัก เป็นรูปปั้นหญิงสวมเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแบบไทย นั่งพับเพียบ มือซ้ายวางลงแตะข้างลำตัวหรือวางบนตักถือถุงทรัพย์ ส่วนมือขวายกขึ้นระดับไหล่ทำท่ากวักมือ เชื่อว่าจะกวักเรียกทรัพย์เข้ามาให้ผู้ที่นับถือเคารพบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พ่อค้าแม่ขายชาวไทย เชื่อว่าจะเรียกลูกค้าเข้ามาอุดหนุนสินค้าในร้านทำมาค้าขายดีนักแลฯ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเทพีหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกโชคลาภในหลายประเทศทั่วโลก นั่นเอง
เรียบเรียงโดย : นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ,16 ตุลาคม 2567.