-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

นายหอม พฤกษา ปราชญ์ชาวบ้านด้านศาสนพิธี อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

นายหอม พฤกษา
ปราชญ์ชาวบ้านด้านศาสนพิธี
1. ประวัติส่วนตัว
ชื่อ นายหอม พฤกษา
วันเดือนปีเกิด 17 สิงหาคม 2482 อายุ 75 ปี
ภูมิลำเนา 229/1 หมู่ 14 ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 33140 โทรศัพท์ 0-4567-1261
อาชีพ ข้าราชการบำนาญ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

2. ประวัติการศึกษา
- พ.ศ. 2538 ปริญญาตรี สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
- พ.ศ. 2519 พิเศษมัธยม (พ.ม.) ศึกษาด้วยตนเอง
- พ.ศ. 2515 พิเศษวิชาการศึกษา (พ.กศ.) ศึกษาด้วยตนเอง
- พ.ศ. 2511 มศ.4 โรงเรียนมหาพุทธาราม จังหวัดศรีสะเกษ
- พ.ศ. 2510 มศ.3 โรงเรียนมหาพุทธาราม จังหวัดศรีสะเกษ
- พ.ศ. 2488 ป.4 โรงเรียนบ้านเจ้าทุ่ง ตำบลธาตุ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
- พ.ศ. 2503 นักธรรมชั้นเอก สำนักวัดมหาพุทธาราม จังหวัดศรีสะเกษ
- พ.ศ. 2501 นักธรรมชั้นโท สำนักวัดบ้านสำโรงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
- พ.ศ. 2500 นักธรรมชั้นตรี สำนักวัดบ้านโนน ตำบลแข้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

3. ประวัติครอบครัว
ด้านครอบครัวได้สมรสกับ นางแบะ พฤกษา(ศรีระสา) เมื่อปี พ.ศ. 2517 มีบุตร-ธิดา 3 คน คือ
    3.1 พระภิกษุธนศักดิ์ พฤกษา อายุ 39 ปี
       - ปริญญาตรี สาขาสุขศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
       - ปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
       - ปัจจุบัน จำพรรษา ณ วัดบ้านเพียนาม อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
    3.2 นางสาวผกามาส พฤกษา อายุ 38 ปี
       - ปริญญาโท สาขาสถิติและการวิจัยทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
       - ปริญญาตรี สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
       - ปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
       - ปัจจุบัน ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการ โรงเรียนวัดราชผาติการาม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
    3.3 นายธีรศักดิ์ พฤกษา อายุ 34 ปี
       - ปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
       - ปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
       - ปัจจุบัน ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านสวาย อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

4. ประวัติการทำงาน
       - 1 สิงหาคม 2516 เริ่มรับราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
       - 1 มกราคม 2521 ข้าราชการครู รักษาการครูใหญ่โรงเรียนบ้านนกยูง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
       - พ.ศ.2524 ข้าราชการครู รักษาการครูใหญ่โรงเรียนบ้านตาดม อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
       - พ.ศ.2530 ข้าราชการครู โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
       - พ.ศ.2542-ปัจจุบัน เกษียณอายุราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
5. ประวัติด้านการช่วยเหลือชุมชนและสังคม  
         นายหอม พฤกษา มีความภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชนและสังคม โดยการใช้วิชาความรู้ที่มีในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ
         - ประกอบพิธียกเสาเอกวัด ยกเสาเอกอาคารราชการ ยกเสาเอกบ้านของประชาชน
         - ประกอบพิธีตั้งศาลพระพรหม ตั้งศาลพระภูมิ
         - ประกอบพิธีบวงสรวงในงานทุกประเภท
         - ประกอบพิธีสู่ขวัญนาคในการบรรพชาและอุปสมบท สู่ขวัญในงานมงคลอื่นๆ เช่น งานมงคลสมรส งานขึ้นบ้านใหม่
         - เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่พระภิกษุสามเณร นักเรียนและประชาชนทั่วไปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา แนวการปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองที่ดี เช่นเป็นวิทยากรอบรมพระนวกะ อำเภอขุขันธ์-อำเภอภูสิงห์ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีและติดตามพระธรรมทูตทุกปี
         - ประกอบพิธีสู่ขวัญเพื่อเรียกขวัญบุคคลสำคัญที่เข้ารับตำแหน่ง หรือเป็นแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเยียน ออกพื้นที่ตรวจราชการในเขตพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง เช่น
         1) พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ณ ที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
         2) นายจิโรจน์ โชติพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ณ ที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
         3) พระเทพวรมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ณ วัดสุพรรณรัตน์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
         4) นายสุนาย ลาดคำกรุง อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ณ วัดบ้านชำแระกลาง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
         5) นายสวัสดิ์ สืบสายพรหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
         6) นายบุญโชติ จันทรสุพัฒน์ อดีตศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ ณ โรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
         7) นายเพชร ดาษดา อดีตผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ณ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
         8) นายวณีชย์ ฤทธิ์เดช อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ณ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
         9) นายดวน ขอร่ม อดีตหัวหน้าการการประถมศึกษาอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
         10) อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ณ โรงแรมเกษสิริ ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
         11) คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ณ ภัตตาคารมิตรภาพ ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
         12) ผศ.เสริมพงศ์ หงส์พันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และคณะ ณ โรงเรียนบ้านบกประชาสามัคคี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

6. ผลงานที่ภาคภูมิใจและรางวัลที่ได้รับ
       6.1 รับพระราชทาน เข็มเชิดชูเกียรติ “ครูอาวุโส” จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ.2542
       6.2 จำลองพิธีสู่ขวัญงานแต่งงาน ถวายงานในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ณ วัดบ้านลำภู ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.2550
       6.3 รับโล่เกียรติยศ “ผู้บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา” จากสมเด็จพระพุฒาจารย์ หัวหน้าคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
       6.1 รับโล่เกียรติยศ “ผู้บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา” จาก นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
       6.5 รับเกียรติบัตร “ผู้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี” โครงการวัฒนธรรมสายใยชุมชน ปี พ.ศ.2551
       6.6 รับเกียรติบัตร “ครูผู้สอนจริยธรรมดีเด่น ลำดับ 1” สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
       6.7 รับเกียรติบัตร “พราหมณ์ดีเด่น ลำดับ 1” การประกวดพราหมณ์และการประกอบพิธี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ
       6.8 รับเกียรติบัตร “พ่อตัวอย่าง จังหวัดศรีสะเกษ” รับมอบจากนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
       
7. แนวความคิดในการเลี้ยงบุตร-ธิดา
นายหอม พฤกษาได้ยึดเอาหลักธรรมคำสั่งสอนตามหลักพระพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงดูบุตร-ธิดา ดังนี้
        7.1 เลี้ยงลูกถูกธรรม ท่านถือเอาใจความง่ายๆ ก็คือ การเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องนั่นเอง เมื่อเราเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องแล้ว ทั้งตัวเราและลูกก็จะไม่มีปัญหาหรือเมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นมาไม่ว่ากรณีใดๆ เราก็สามารถจะเอาธรรมะเข้าไปแก้ไขได้ ฉะนั้นพ่อแม่ที่รักลูกและอยากจะเห็นลูกความเจริญทั้งอายุ ร่างกาย อายุสมองและอายุวิญญาณ(คุณธรรม) ก็ควรที่จะให้ความสนใจในการเลี้ยงลูกโดยถูกธรรม
         7.2 อย่าสอนลูกให้ขี้เกียจ ท่านจะพยายามปลูกฝังให้ลูกทุกคนเป็นคนขยัน ขยันเรียนและขยันในการประกอบอาชีพ ทำการงานสิ่งใดก็ตามให้ทำด้วยความตั้งใจ โดยมอบบทบาทและสอนหน้าที่ให้แก่ลูกทุกคน เช่น ทุกเช้าลูกทุกคนก็จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อช่วยในภารกิจอาชีพของครอบครัว คือการขายข้าวแกงที่ตลาดในตอนเช้าของทุกวัน
         7.3 อย่าเลี้ยงลูกให้เป็นไข่ในหิน การเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ส่วนมากแล้วลูกจะเสียมากกว่าดี การเลี้ยงลูกอย่างไข่ในหินจะมีส่วนเสียอยู่ 2 จุดใหญ่ คือ การเห็นแก่ตัว และการเลี้ยงไม่รู้จักโต การขัดใจลูกในสิ่งที่ควรขัด และการตามใจลูกในสิ่งที่ควรตามใจ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ที่ดีควรนำมาใช้ในการเลี้ยงลูก ดังนั้น การเลี้ยงลูกที่ถูกต้องจะต้องอย่าให้ลูกเปราะบางจนเกินไปเหมือนไข่ในหิน อย่าเลี้ยงลูกให้เห็นแก่ตัว ต้องเลี้ยงลูกให้โตไปตามวัย อย่าให้กินยากอยู่ยาก อย่าให้ลูกกลัวในสิ่งที่ไร้สาระ ควรสอนให้ลูกมีเหตุผล มีการรับผิดชอบตัวเอง และยอมรับความจริง
         7.4 จงเป็นตัวอย่างที่แก่ลูก ตัวอย่างที่ดีย่อมดีกว่าการสั่งสอน และการสั่งสอนลูกที่ดี ก็คือ พ่อแม่ผู้สอนจะต้องทำตามที่สอนลูกได้ด้วย ข้าพเจ้าจะมุ่งเน้นให้ลูกทุกคนเห็นสภาพความเป็นจริง ปฏิบัติให้เขาเห็นบ่อยๆจนเป็นนิสัย เช่น
         - มีความรักต่อสถาบันชาติ สั่งสอนให้ลูกทุกคนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย วีรกรรมของบรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังปลูกฝังความรักชาติโดยการนำลูกๆ ไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
         - ศรัทธาในศาสนา ท่านได้ปลูกฝังให้เป็นคนรักการทำบุญ เข้าวัดฟังธรรมโดยการนำลูกๆ ไปทำบุญที่วัดตามกาลอันควรเป็นประจำ ปลูกฝังความมีคุณธรรมจริยธรรม มีเมตตากรุณา ไม่เอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่น ปัจจุบันบุตรชายคนโตได้อุปสมบทได้ 10 พรรษาจำพรรษากับท่านพระราชกิตติรังสี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ วัดบ้านเพียนาม อำเภอเมืองฯ จังหวัดศรีสะเกษ
         - จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านได้ปลูกฝังให้ลูกทุกคนรักเทิดทูล จงรักภักดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในพระกรณียกิจที่มีค่ายิ่งสำหรับปวงชนชาวไทย
         7.5 จงให้มรดกวิชาแก่ลูก ท่านสนับสนุนให้บุตรหลานได้ศึกษาจนสุดกำลังความสามารถที่เขาจะสามารถศึกษาได้เพราะเห็นว่า มรดกใดก็ไม่สำคัญเท่ากับมีวิชาความรู้ติดตัว จนลูกทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาและมีหน้าที่การงานที่มั่นคง

ขอบคุณสำหรับที่มา: Facebook : I-Nong Pruksa. (2018). Retrieved December 14, 2021, from Facebook.com website: https://www.facebook.com/photo/?fbid=686445581393306&set=gm.646171928771400

วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557

ปราสาทตาเล็ง(Prasat Taleng) หรือ ប្រាសាទតាលេង

 

      ปราสาทตาเล็ง ប្រាសាទតាលេង (Prasat Taleng) หรือปราสาทบ้านลุมพุก(Prasat Banlumpuk) ช่วงก่อนที่บ้านปราสาท หมู่ที่ 1 ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันจะได้รับการพัฒนาและยกระดับเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง(อพป.) ปราสาทตาเล็ง เป็นที่รู้จักในนาม "ปราสาทบ้านลุมพุก" สาเหตุที่เรียกกันเช่นนั้นเพราะ คนสมัยก่อน เมื่อได้มีการสัญจรไปมาหาสู่กัน หรือพบปะกันต่างหมู่บ้านก็มักจะทักทายและถามไถ่กันว่า ท่าน...มาจากไหน ? คนบ้านปราสาทก็จะตอบว่าอยู่บ้านปราสาท ถ้ามีผู้ไม่เข้าใจว่าอยู่บริเวณไหน เพราะสมัยนั้นคำว่า "บ้านปราสาท" มีหลายหมู่บ้าน ก็มักจะถามต่อไปว่า ปราสาทไหน ? ผู้ตอบก็จะเอาชื่อตำบล หรือชื่อหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเป็นสร้อยต่อท้ายชื่อหมู่บ้าน เช่น ปราสาทบ้านลุ่มพุก เป็นต้น ซึ่งบ้านลุมพุก นั้นเป็นบ้านเก่าแก่ที่มีพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทหลังนี้และเป็นศูนย์กลางของตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 
   ต่อมา เมื่อปี 2532 พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของตำบลกันทรารมย์ ได้ถูกแยกออกและตั้งเป็นตำบลใหม่ โดยนำชื่อบ้านปราสาท(เดิมบริเวณบ้านปราสาท เป็นหมู่ที่ 6 ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัศรีสะเกษ)  มาตั้งเป็นชื่อตำบลด้วย เรียกว่า "ตำบลปราสาท" และบ้านปราสาท หมู่ที่ 1 ขณะนั้นได้ได้รับการพัฒนาและยกระดับเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง(อพป.) และมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก คณะกรรมการหมู่บ้านได้มีการรื้อฟื้นประวัติของหมู่บ้านและเริ่มจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจึงได้ทราบว่า ผู้ที่มาก่อตั้งหมู่บ้านปราสาทคนแรก ชื่อว่า ตาเล็ง ดังนั้น เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติแก่ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านท่านแรก จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกของปราสาทบ้านปราสาท หรือ ปราสาทบ้านลุมพุก เป็นชื่อเรียกใหม่ว่า "ปราสาทตาเล็ง" ตั้งแต่นั้นมา

ที่ตั้ง
            บ้านปราสาท  หมู่ที่  1  ตำบลปราสาท  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  บริเวณรุ้ง(Longtitude)ที่  14  องศา  43  ลิปดา  40  ฟิลิปดา เหนือ  แวง(Latitude)ที่  104  องศา  01  ลิปดา  20  ฟิลิปดาตะวันออก  พิกัด 48 PUB  951283  แผนที่ทหาร  มาตรส่วน  1 : 50,000  พิมพ์ครั้งที่  2- RTSD  ลำดับชุด  L  7071  ระวาง  5838  III


พิกัดGPS ของปราสาทตาเล็ง บน Google Map 
คือ 14°43'45.7"N 104°01'18.2"E หรือ 
14.729363, 104.021714

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
            ปรางค์เป็นปรางค์รูปเดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยศิลาทรายเสริมด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนศิลาแลง  มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก  กรอบประตูหินทรายทั้งสองข้างสลักเป็นตัวหงส์กำลังร่อนอยู่ในลายพันธุ์พฤกษา  เหนือบัวหัวเสาสลักเป็นมกรคายนาคห้าเศียร  ส่วนยอดของปรางค์พังทลาย  เรือนผนังปราสาทเหลือเพียงบางส่วน  พบชิ้นส่วนฐานปฏิมากรรม  หน้าบัน  และทับหลัง  ตกร่วมอยู่   4   ชิ้น  ทับหลังที่ประตูด้านทิศตะวันออก สลักเป็นเกียรติมุขหรือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง  มีพวงอุบะและลายใบไม้ม้วนอยู่เหนือเกียรติมุขสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังด้านทิศใต้ สลักเป็นรูปพระยมทรงมหิงสา  อยู่เหนือเกียรติมุข  ทับหลังด้านทิศตะวันตกสลักเป็นรูปพระพิรุณทรงหงส์อยู่เกียรติมุข  ทับหลังด้านทิศเหนือ  สลักเป็นรูปพระอีสานทรงโค ? แนวศิลาแลงปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตก  สันนิษฐานว่าเป็นขอบโคปุระ  ส่วนคูน้ำสภาพตื้นเขินล้อม   3   ด้าน เว้นทางเดินทางตะวันออก และจากโคปุระ จากทางด้านตะวันออก  มีแนวคันดินลักษณะคล้ายถนนตัดตรงสู่บาราย(สระน้ำ)ขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกเป็นภาษาเขมรว่า หนองละเบิก​ (คำว่า ละเบิก หรือรากศัพท์ภาษาเขมรใบลานเมืองขุขันธ์เขียนได้ว่า ល្បើក แปลว่า ระยะทางไม่ไกลเท่าไรนัก เดินด้วยเท้าไปพอได้ออกกำลังและได้เหงือเล็กน้อย ราวๆ 100 - 200 เมตรก็ถึงหนองน้ำนั้น)


ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก
กรอบประตูหินทรายทั้งสองข้างสลักเป็นตัวหงส์
กำลังร่อนอยู่ในลายพันธุ์พฤกษา

เหนือบัวหัวเสาสลักเป็นมกรคายนาคห้าเศียร

ส่วนยอดของปรางค์พังทลาย
เรือนผนังปราสาทเหลือเพียงบางส่วน
พบชิ้นส่วนฐานปฏิมากรรม  หน้าบัน
และทับหลัง  ตกร่วมอยู่  4  ชิ้น

ทับหลังที่ประตูด้านทิศตะวันออก สลักเป็นเกียรติมุข
หรือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง
มีพวงอุบะ และลายใบไม้ม้วน
อยู่เหนือเกียรติมุขสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

ทับหลังด้านทิศใต้ สลักเป็นรูปพระยมทรงมหิงสา
อยู่เหนือเกียรติมุข

ทับหลังด้านทิศตะวันตก  สลักเป็นรูปพระพิรุณทรงหงส์
อยู่เ
กียรติมุข

ทับหลังด้านทิศเหนือ  สลักเป็นรูปพระอีสานทรงโค 


ฐานปฏิมากรรม 

ส่วนคูน้ำสภาพตื้นเขินล้อม   3   ด้าน 
เว้นทางเดินทางตะวันออก

แนวศิลาแลงปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าเป็นขอบโคปุระ

จากโคปุระ จากทางด้านตะวันออก
มีแนวคันดินลักษณะคล้ายถนน
ตัดตรงสู่สระน้ำขนาดใหญ่
บาราย(สระน้ำ)โบราณขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียก หนองละเบิก(ត្រពាំងល្បើក​​​  อ่านเป็นภาษาเขมรถิ่นเมืองขุขันธ์ได้ว่า
/ตรอเปี็ยง-ลเบิก trɑː:-pĕəŋ-ləbaək /

อายุสมัย
      ราวพุทธศตวรรษที่  16 – 17  (ราวพ.ศ.1560  -1630)

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
      ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  99  ตอนที่  172 ง วันที่  8  พฤศจิกายน  2525

การประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน
      ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 172 ง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2525 เนื้อที่  3  ไร่  2  งาน  53  ตารางวา


              จากลักษณะทางศิลปกรรมที่ปรากฏ  กล่าวได้ว่า ปราสาทตาเล็ง  สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวน  มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖  -  ๑๗ โบราณสถาน  แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ  และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 99 ตอนที่ 172 วันที่ 18  พฤศจิกายน  2525  เนื้อที่ประมาณ  3  ไร่  2 งาน  53 ตารางวา  

               เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่ห้องประชุม อบต.ปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง การขุดศึกษาทางโบราณคดีปราสาทตาเล็ง โดยสำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ร่วมกับ อบต.ปราสาท ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้อนุมัติแล้ว และได้มอบหมายให้ นางสุกัญญา เบานิด ตำแหน่งนักโบราณคดีชำนาญการ และนายวสันต์ เทพสุริยานนท์ ตำแหน่งนักโบราณคดีชำนาญการ เป็นผู้ดำเนินงานขุดศึกษาทางโบราณคดีที่ปราสาทตาเล็งร่วมกับ อบต.ปราสาท และทีมงานชาวบ้านจิตอาสาจากทุกหมู่บ้านในสังกัดตำบลปราสาท เพื่อการออกแบบอนุรักษ์ โบราณสถานปราสาทตาเล็ง โดยลงมือดำเนินงานภาคนามในระหว่างเดือนธันวาคม 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ด้วยงบประมาณสนับสนุนจาก อบต.ปราสาท จำนวน 100,000บาท 

              
               สำหรับในปัจจุบัน ปราสาทตาเล็ง อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานศิลปากรที่  10 นครราชสีมา โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  จะได้มีโครงการอนุรักษ์และพัฒนาส่งเสริม เผยแพร่ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมของศาสนสถานแห่งนี้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

เอกสารอ้างอิง :     
     ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  99  ตอนที่  172 ง วันที่  8  พฤศจิกายน  2525
     ประเสริฐ   ศรีสุวรรณ์.ปราสาทตาเล็ง.ศรีสะเกษ.โรงเรียนบ้านคลองเพชรสวาย,19 กรกฎาคม 2556.
     สนั่น โสริยาตร.ด้วยสำนึกรักบ้านเกิ.ศรีสะเกษ.โรงเรียนบ้านสกุล,14 เมษายน 2557.
     สำลี ศรปัญญา.รวมศาสนสถานโบราณในจังหวัดศรีสะเกษ.ศรีสะเกษ : วิทยาการพิมพ์-ออฟเซท,2544.


วีดิทัศน์ประมวลภาพกิจกรรมโครงการสืบสานวัฒนธรรม 
น้อมนำกตัญญผู้สูงอายุตำบลปราสาท ปี 2557
(14 เม.ย. 2557)


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย