ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562

การจัดโต๊ะหมู่บูชา เป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างหนึ่ง

           การจัดโต๊ะหมู่บูชาเป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างหนึ่ง ได้ปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนซึมซับเป็นวัฒนธรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีสงฆ์ ทั้งในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการทั่วไป วัตถุประสงค์ของการจัดโต๊ะหมู่บูชาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชาสักการะตามคติของชาวพุทธ ซึ่งมีการจัดในรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ทรงคุณค่ายิ่ง สมควรได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดให้ยั่งยืนต่อไป


การจัดโต๊ะหมู่บูชา
     โต๊ะหมู่บูชา คือ กลุ่มหรือชุดของโต๊ะที่ใช้ตั้งพระพุทธรูป หรือ
สิ่งอันเป็นที่เคารพสักการะ เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ หรือพระบรมรูปหล่อของพระมหากษัตริย์ พระฉายาลักษณ์ หรือพระสาทิสลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ หรือรูปของบรรพบุรุษ ประกอบด้วยเครื่องบูชา อันเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพอย่างสูงของผู้ที่สักการะ และเป็นการแสดงถึงความกตัญญูที่พึงมีต่อผู้มีอุปการคุณ  ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่มีคุณค่ายิ่งของสังคมไทย



ประวัติความเป็นมา
          ความเป็นมาเกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “อธิบายเครื่องบูชา” ได้ทรงกล่าวถึงม้าหมู่ไว้ดังนี้
          “เครื่องบูชาชนิดนี้ เป็นอย่างไทยแกมจีนนั้น เพราะความคิดที่จัดเครื่องบูชาเป็นความคิดไทย แต่กระบวนการที่จัดเอาอย่างมาจากที่จีนเขาจัดตั้งเครื่องแต่งเรือน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ลายฮ่อ” ซึ่งจีนชอบเขียนฉาก และเขียนเป็นลายแจกันและเครื่องถ้วยชามอย่างอื่น จีนเรียกว่า“ลายปักโก๊” เป็นของที่ได้เห็นกันมาในประเทศนี้เห็นจะช้านานแล้ว แต่ตามเรื่องตำนานปรากฏว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างสวนชวาที่ในพระบรมมหาราชวัง (ตรงบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) ครั้งนั้น ประจวบเวลาราชทูตไทยออกไปเมืองปักกิ่ง ไปได้เครื่องตั้งแต่งเรือน
อย่างจีนเข้ามาจัดแต่งพระตำหนักที่ในสวนชวา เป็นเหตุให้เกิดนิยมกันขึ้น เป็นที่แรกว่า เป็นของงามน่าดูถึงไปผูกเป็นลายเขียนผนังโบสถ์ แต่คิดดัดแปลงไปให้เป็นเครื่องพุทธบูชา ยังมีปรากฏอยู่ทุกวันนี้ที่พระอุโบสถวัดราชโอรส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ อยู่ในรัชกาลที่ ๒ แล้ว เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต ต้นสกุล กัลยาณมิตร) เอาอย่างมาเขียนฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร ซึ่งสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น เป็นต้น สันนิษฐานว่า แม้ในชั้นนั้นก็ยังไม่เกิดเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ มาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริโดยอนุโลมตามลายฮ่อ ซึ่งเขียนผนังโบสถ์ดังกล่าวมาแล้ว ให้สร้างม้าหมู่ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระเชตุพน เป็นม้าหมู่ใหญ่ ๑๑ ตัว และทรงพระราชดำริให้สร้างม้าหมู่ขนาดน้อย มีม้าสำหรับตั้งเครื่องบูชาหมู่ละ ๔ ตัว ตั้งประจำพระวิหารทิศสันนิษฐานว่า เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่เกิดขึ้นด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งฉลองวัดพระเชตุพนเป็นเดิมแล้วผู้อื่นนิยมก็เอาแบบอย่างทำกันต่อมาจนทุกวันนี้


           เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ที่ใช้เวลามีการงาน ใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปประกอบเครื่องบูชา เช่น ในงานทำบุญเรือนเป็นต้น ก็มีใช้แต่เป็นอย่างเครื่องประดับ เช่น ตั้งที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่องานระดูหนาวเป็นต้นก็มี ถ้าใช้ตั้งพระพุทธรูปต้องถือว่า ที่ตั้งพระเป็นสำคัญ คือ จะตั้งอย่างไรให้เป็นสง่างาม เหลือที่ตั้งพระเท่าใด จึงจัดเครื่องบูชาเข้าประกอบ คือ เชิงเทียน และเครื่องปักดอกไม้เป็นต้น ถ้าตั้งม้าหมู่เครื่องบูชาเป็นอย่างเครื่องประดับ  โดยเฉพาะมีการประกวดกัน มีเครื่องกำหนดสำหรับการตัดสินว่า ดีหรือเลว
ด้วยหลักดังอธิบายต่อไปนี้ คือ

          ๑. ความสะอาดเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่ง ถึงตัวม้าหมู่และเครื่องตั้งเครื่องประดับจะดีปานใด ถ้าปล่อยให้เปื้อนเปรอะสกกะปรก ก็อาจถูกตัดสินเป็นตกไม่ได้รางวัล เพราะเป็นความผิดของเจ้าของ


          ๒. ตัวม้าหมู่นั้นควรใช้ของทำประเทศนี้ ถ้ายิ่งฝีมือทำประณีต และความคิดประกอบม้าสูงต่ำให้ได้ทรวดทรงงามเพียงใด ก็นับว่าดีขึ้นเพียงนั้น  ม้าหมู่ที่ทำมาขายแต่เมืองจีนไม่นับเข้าองค์สำหรับตัดสินให้รางวัล เพราะเป็นของมีขายในท้องตลาดดาษดื่นนับด้วยร้อย หาวิเศษไม่


           ๓. เครื่องบูชาที่ตั้งบนม้าหมู่จะใช้เครื่องแก้วหรือเครื่องถ้วย
เครื่องโลหะหรือทำด้วยสิ่งอันใดก็ได้กำหนดเลือกว่า ดีนั้น คือ เป็นของหายากสามารถหาของประเภทเดียวกันได้หมด ยกตัวอย่าง ดังเช่นว่า ถ้าใช้เครื่องแก้วเจียระไน หนามขนุน ก็ให้เป็นเครื่องแก้วเจียระไน หนามขนุนทั้งสิ้น หรือใช้เครื่องแก้วแดง ก็ให้เป็นเครื่องแก้วแดงทั้งสิ้น ดังนี้เป็นตัวอย่าง สิ่งของที่ตั้งไม่ขัดกับเครื่องบูชา ยกตัวอย่างข้อห้ามดังเอาชามอ่างสำหรับล้างหน้ามาตั้ง หรือเอาคณฑีที่เขาทำสำหรับใส่สุรามาใช้ปักดอกไม้ ดังนี้ เป็นต้น นับว่าขัดกับเครื่องบูชาอย่างยิ่ง แต่กำหนดเหล่านี้มีการผันผ่อนให้บ้าง เช่น บางทีคุมของที่หายาก ยกตัวอย่าง ดังคุมเครื่องแก้วเจียระไนอย่างกะหลาป๋า หาเชิงเทียนแก้วอย่างนั้นไม่มี จะใช้อย่างอื่นแทนก็ไม่ติเตียน
เพราะพ้นวิสัยซึ่งจะหาได้ ถ้าว่าโดยย่อเครื่องตั้งม้าหมู่นั้น ถ้าเป็นของหายากและได้ครบทั้งชุดหรือโดยมากนับว่าดี


          ๔. กระบวนจัดตั้งของบนม้าหมู่เครื่องบูชานั้น ต้องจัดให้เห็นสง่างามแก่ตา คือ ได้ช่องไฟและแลเห็นของเล็กของใหญ่ได้ถนัด แม้ในเวลากลางคืนก็ให้แสงไฟเทียนที่จัดตั้ง อาจส่องกระจ่างทั่วทั้งหมู่ม้า จึงนับว่า ดี ยังของซึ่งจัดในเครื่องบูชามีดอกไม้เป็นต้น ยิ่งจัดให้ประณีตงดงามก็ยิ่งดี


         ๕. สิ่งของสำหรับจัดตั้งเครื่องบูชาม้าหมู่นั้นของที่เป็นหลักจะขาดไม่ได้ก็คือ เทียน ธูป ดอกไม้ ๓ อย่างนี้ นอกนั้นเห็นอันใดเป็นของสมควรดังเช่นผลไม้เป็นต้นจะใช้ด้วยก็ได้ แต่มีข้อห้ามตามตำราหลวงมิให้ใช้ดอกหรือผลไม้ ซึ่งสาธุชนมักรังเกียจกลิ่น ยกตัวอย่างดังเช่น ผลฝรั่ง ผลมะม่วงผลจันทน์ ที่สุกงอมนั้นเป็นต้น”*


         จากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเครื่องบูชาดังกล่าว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การจัดโต๊ะหมู่บูชา เริ่มมีมาแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น สืบเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างม้าหมู่ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นม้าหมู่ขนาดใหญ่ และม้าหมู่ขนาดน้อย ที่ตั้งประจำวิหารทิศ แต่ยังไม่มีโต๊ะตัวล่างที่เป็นฐานรองรับม้าหมู่ ซึ่งเป็นการจัดแปลงโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนมาเป็นอย่างไทย และต่อมามีผู้นิยมจัดโต๊ะเครื่องบูชาม้าหมู่เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และมีโต๊ะประกอบเป็นที่ตั้งเครื่องบูชา
ในการทำบุญโอกาสต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ และของเจ้านายผู้ใหญ่ในสมัยนั้น 


           ในช่วงระยะเวลาที่ถือว่าได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชามากที่สุดยุคหนึ่ง ก็คือ ในการจัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าภาษี นายอากร พ่อค้า จัดโต๊ะเครื่องบูชาเข้าไปตั้งเป็นเครื่องประดับ จำนวน ๑๐๐ โต๊ะ ซึ่งเป็นปฐมเหตุที่ให้มีความนิยมในการประกวดโต๊ะเครื่องบูชา ดังนั้น ในการบำเพ็ญกุศลคล้ายวันประสูติของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายผู้ใหญ่ หรืองานทำบุญวันคล้ายวันเกิดของผู้มีบรรดาศักดิ์ มักจะมีการประกวดโต๊ะหมู่บูชาและการจัดเครื่องบูชา  เมื่อของผู้ใดดีก็จะมีรางวัลพระราชทานหรือมอบให้ เมื่อมีผู้นิยมในการประกวดม้าหมู่ ก็ย่อมมีการดูแลรักษาเครื่องบูชาให้คงอยู่ครบชุด มีการจัดแปลงในการสร้างม้าหมู่บูชาให้มีความวิจิตรสวยงาม อันเป็นการแสดงถึง
ภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างของนายช่างไทย อันเป็นการพัฒนาการจัดสร้างโต๊ะหมู่บูชาของนายช่างไทย ดังที่ได้พระนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับข้อกำหนดการพิจารณาม้าหมู่หรือโต๊ะหมู่ของคณะผู้จัดการประกวดในสมัยนั้นข้อหนึ่ง  คือ “ตัวม้าหมู่นั้นควรใช้ของทำประเทศนี้ ถ้ายิ่งฝีมือการทำประณีต และความคิดประกอบม้าสูงต่ำให้ได้ทรวดทรงงดงาม ก็ยิ่งถือเป็นการทำด้วยการมีความคิดริเริ่มจัดแปลงให้สวยงามเหมาะสมได้สัดส่วน ผู้เป็นเจ้าของโต๊ะหมู่ชุดนั้นก็เป็นผู้สมแก่รางวัล” ที่เป็นดังนี้ก็เพราะต้องการส่งเสริมให้ช่างไม้ไทย ได้มีความคิดในการจัดแปลงและสร้างม้าหมู่อันเป็นการแสดงออกถึงศิลปะ
และฝีมือเชิงช่างของนายช่างไทยที่มีลักษณะอันอ่อนช้อยและสวยงามซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นวัฒนธรรมทางด้านศิลปะของสังคมไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ในการคิดลวดลายเป็นแบบเฉพาะของตนเอง ซึ่งต่อมามีการจัดสร้างโต๊ะตัวล่างเพื่อเป็นฐานสำหรับรองรับม้าหมู่เพื่อให้มีความสะดวกในการจัดตั้ง เนื่องจากเมื่อนำม้าหมู่ไปจัดตั้งในสถานที่ทำบุญบางแห่งซึ่งมีพื้นที่ไม่เสมอกัน ก็จะต้องจัดหาวัสดุมารองรับที่ฐานของม้าหมู่แต่ละตัวเพื่อให้มีความเสมอกันและสวยงามซึ่งทำได้ยาก เมื่อมีโต๊ะตัวล่างสำหรับตั้งเป็นฐานไว้รองรับกลุ่มโต๊ะหมู่หรือม้าหมู่แล้ว สามารถทำให้ตั้งโต๊ะหมู่ได้ง่าย เกิดความเด่นและมีความสวยงามเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาด้านความคิดในการจัดสร้างโต๊ะหมู่ของนายช่างไม้ของไทย


           การจัดโต๊ะหมู่บูชา ถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันสำคัญประการหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งได้มีการปฏิบัติสืบทอดและสืบสานกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น พระราชประเพณี หรือพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือประเพณีต่าง ๆ ของสังคมไทย จึงได้มีการจัดโต๊ะหมู่บูชาในการประกอบพิธีต่าง ๆ อันเป็นการแสดงออกถึงการบูชาต่อสิ่งอันเป็นที่เคารพสักการะอันสูงยิ่งตามที่บรรพบุรุษได้กระทำเป็นแบบอย่างไว้ด้วยความกตัญญูกตเวทีในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ


วัตถุประสงค์ของการจัดโต๊ะหมู่บูชา
           การจัดโต๊ะหมู่บูชา เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมทั้งตั้งเครื่องบูชาตามคตินิยมของชาวพุทธตามที่ปรากฏในพุทธประวัติว่า  เมื่อพุทธบริษัทมีความประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด มักจะนิมนต์พระสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาเป็นประธานสงฆ์ในงานกุศลนั้น ๆ ดังนั้น เพื่อให้มีความสมบูรณ์ในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ตามคตินิยมดังกล่าว ในการจัดงานที่เกี่ยวกับศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนา  พุทธศาสนิกชนจึงนิยมอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานเป็นนิมิตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพิธีนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ พุทธศาสนิกชนจึงได้มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชาและอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชาโต๊ะสูงสุดแถวกลาง พร้อมทั้งตั้งเครื่องบูชาที่โต๊ะในลำดับที่รองลงมาตามความเหมาะสม ซึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม ได้ให้ความหมายของ “รัตนะ” ว่า

          “เพราะพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสิ่งที่ควรกระทำความยำเกรงให้เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนิกชน เพราะมีค่ามาก เพราะชั่งไม่ได้ เพราะเห็นได้ยาก  เพราะสั่งสมได้เฉพาะคนดี ถ้าไม่เคารพนับถือยำเกรงก็ไม่เป็นรัตนะ ถ้าทำมักง่ายกับพระรัตนตรัยก็ไม่เป็นรัตนตรัย ถ้าคนพาลคนชั่วนับถือก็ไม่เป็นรัตนะ”**

           ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยำเกรงในพระรัตนตรัยดังกล่าว บรรพบุรุษของเราที่มีความเคารพในพระรัตนตรัยแต่โบราณ จึงได้ปฏิบัติสืบกันมา  เมื่อมีพิธีการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นศาสนพิธีหรือการประกอบพิธีที่ต้องการความเป็นสิริมงคล ได้มีการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาในพิธีการนั้น ๆ เป็นประเพณีสืบต่อกันมา  ไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี รัฐพิธี หรือราษฎร์พิธี ทั้งงานพิธีทำบุญที่เป็นงานมงคลและงานอวมงคล ล้วนนิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อมีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน ควรจัดสถานที่ที่ประดิษฐานให้เหมาะสมและมีความสง่างาม บรรพบุรุษไทยจึงได้มีการพัฒนาและจัดแปลงจากม้าหมู่มาเป็นโต๊ะหมู่บูชาเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและให้มี
ความสวยงาม ซึ่งต่อมาการจัดโต๊ะหมู่บูชาถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติไทย และเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและแนวคิดในการแสดงออกถึงความเคารพสักการะต่อสิ่งอันเป็นที่เคารพนับถือแห่งตนของบรรพบุรุษไทย  ซึ่งลักษณะการตั้งโต๊ะหมู่นั้นได้พัฒนาจากการจัดตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ในงานพิธีทางพระพุทธศาสนา  ต่อมามีการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาเพื่อวัตถุประสงค์อื่น แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปด้วยความเคารพสักการะในสิ่งที่นำมาประดิษฐานบนโต๊ะหมู่ทั้งสิ้น

ความสำคัญของโต๊ะหมู่บูชา***

           ปัจจุบันในพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ในพระราชพิธี รัฐพิธี หรือราษฎร์พิธี   ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคลก็ตาม นิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั้งสิ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมเครื่องบูชาตามคตินิยมของชาวพุทธ ดังนั้น โต๊ะหมู่บูชาจึงมีความสำคัญในแง่ของการเสริมแรงศรัทธา  และสร้างความเชื่อมั่นของบุคคล ในหนังสือ “โต๊ะหมู่บูชา” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุทัศนีย์ บุญโญภาส จำแนกความสำคัญของโต๊ะหมู่บูชาไว้หลายประการ คือ
          ๑. เป็นสัญลักษณ์เตือนพุทธศาสนิกชน (ทั้งในกลุ่มของพระสงฆ์และฆราวาส) ให้มีจิตสำนึกและเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เนื่องจากการจัดโต๊ะหมู่บูชาที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาต้องอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนโต๊ะหมู่ตรงกลางที่สูงที่สุด เสมือนหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ตลอดเวลาและเป็นประธานในพิธีด้วย เป็นการย้ำเตือนให้พุทธศาสนิกชนซาบซึ้งถึงพระปัญญาของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง


          ๒. เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการถวายความจงรักภักดี ความเคารพบูชาในพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ โต๊ะหมู่บูชาที่จัดตั้งเครื่องสักการบูชา ดังเช่น การจัดโต๊ะหมู่บูชาในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือแห่งตน


          ๓. เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงวัฒนธรรมและประเพณีไทยที่มีมายาวนานไม่ว่าจะเป็นลวดลาย การแกะสลัก ลงรักปิดทอง และการฝังมุกของชุดโต๊ะหมู่บูชาเป็นลวดลายวิจิตรสวยงาม หรือการจัดตกแต่งพานพุ่มบูชา พระรัตนตรัย พานพุ่มเฉลิมพระเกียรติ และการจัดแจกันดอกไม้แบบไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทย ศิลปะการประดิษฐ์ดอกไม้แบบไทย ซึ่งมีความประณีตงดงาม

การจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา
           ในปัจจุบัน นิยมจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
              ๑. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาในพิธีทางพระพุทธศาสนา
              ๒. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาในพิธีถวายพระพร
              ๓. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาในพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือของพระราชทาน
              ๔. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาในการรับเสด็จฯ หรือตามเส้นทางเสด็จฯ
              ๕. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาในพิธีถวายสักการะเนื่องในวันสำคัญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
              ๖. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาในการประชุมหรือสัมมนา
              ๗. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาเพื่อการประกวด


           อนึ่ง สำหรับการจัดสถานที่บูชาที่บ้าน จะเป็นการจัดสถานที่บูชาไม่เป็นพิธีการมากนัก แต่ควรจะมีสถานที่บูชาพระไว้ในบ้านในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ซึ่งบางบ้านจะใช้สถานที่บูชาพระที่มีลักษณะเป็นหิ้งพระ (คือการใช้เหล็กหรือไม้ที่มีลักษณะมุมฉากติดกับฝาผนังและมีพื้นด้านบน แล้วนำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้บนหิ้ง พร้อมด้วยเครื่องบูชาหลัก ได้แก่ ดอกไม้ ธูป และเทียน) แต่บ้านที่มีสถานที่กว้างพอก็ควรใช้โต๊ะหมู่บูชา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมด้วยเครื่องบูชา ชุดโต๊ะหมู่บูชาที่นิยมใช้ เป็นโต๊ะหมู่สำหรับบูชาพระในบ้าน คือ โต๊ะหมู่ ๕ และหมู่ ๗
           

            รายละเอียดเพิ่มเติม / ดาวน์โหลดคู่มือการจัดโต๊ะหมู่บูชา  คลิก

----------------------
*กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ. อธิบายเครื่องบูชา, อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพพระราชภัทราจาร (เปล่ง กุวโม), พิมพ์ที่ บริษัท จี.เอ. กราฟิค จำกัด, ๒๕๓๕.(๒๓-๒๕)


**สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร). หัวใจพระรัตนตรัย, สามัญสำนึก รำลึกพระคุณ,พิมพ์ที่ ห.จ.ก.รุ่งเรืองสาสน์, กรุงเทพมหานคร, ๒๕๒๘. (๒๘-๒๙)

***ประภาส แก้วสวรรค์. การจัดโต๊ะหมู่บูชา, กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์,โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, กรุงเทพมหานคร, ๒๕๕๑

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2562

ความหมาย ความสำคัญ ความเป็นมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

           เมื่อวันที่ 1 มกราคม​​ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ชาวไทยได้รับข่าวดีอันเป็นมหามงคลรับปีใหม่ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 นับเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของคนไทย และอาจจะเป็นเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตของหลายคนที่จะได้อยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ความหมาย : สถาปนากษัตริย์อย่างเป็นทางการ
            “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เป็นการประกอบพระราชพิธีสถาปนาพระมหากษัตริย์ หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์มาก่อนหน้านั้นแล้ว

             ดร.นนทพร อยู่มั่งมี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ว่า นามของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คำสำคัญ คือ “อภิเษก” และ “รดน้ำ” เดิมทีคำนี้มิได้หมายถึงการรดน้ำเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน แต่มีความหมายเพียงการรดน้ำเท่านั้น แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยกลับมีการบัญญัติให้เป็นราชาศัพท์เฉพาะ

พิธีบรมราชาภิเษกอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ มีการกำหนดวาระและโอกาสไว้ 5 ประการ เรียก “ปัญจราชาภิเษก” ได้แก่

1.อินทราภิเษก หมายถึง การรดน้ำเพื่อเป็นพระอินทร์อันแสดงถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ที่มีความยิ่งใหญ่ คือ พระราชาธิราช 4

2.โภดาภิเษก คือ ผู้ที่จะได้เป็นพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเชื้อสายตระกูลพราหมณ์มหาศาล เป็นตระกูลมหาเศรษฐี มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ พร้อมทั้งมียศ มีบริวาร พรั่งพร้อม นอกจากนี้ ยังเป็นผู้รู้จักในราชธรรมตราชูธรรม และทศกุศล อันจะเป็นประโยชน์ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร

3.ปราบดาภิเษก คือ ผู้ที่อยู่ในตระกูลกษัตริย์ขัตติยราช มีฤทธิ์อำนาจและความสามารถในการสู้รบชนะข้าศึกศัตรูได้ครอบครองบ้านเมืองและทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะกล้ำกรายหรือทำอันตรายได้ อย่างไรก็ดี คำว่าปราบดาภิเษกไม่ได้มีความหมายถึงการรบชนะผู้อื่นเพื่อขึ้นครองราชสมบัติเสมอไป แต่ยังหมายถึงการรดน้ำเพื่อขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับคำว่าราชาภิเษกอีกด้วย

4.ราชาภิเษก คือ การขึ้นเป็นกษัตริย์ของพระราชโอรส เมื่อพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระชราแล้ว บรรดาพระญาติพระวงศ์เห็นสมควรจะยกพระราชโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์จึงให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้น

5.อภิเษกหรืออภิเสก คือ การที่พระราชบิดา พระราชมารดา หาหญิงที่มีตระกูลเสมอกันมาอภิเษกสมรสกับพระราชโอรส ซึ่งหญิงนั้นอาจจะมีเชื้อสายกษัตริย์ในแว่นแคว้นอื่น ๆ ที่มีวงศ์ตระกูลดี ซึ่งเป็นสวัสดิชาติ

           ส่วนจุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พระราชพิธีที่แสดงความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์ตามที่กําหนดในโบราณราชประเพณี เป็นแบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ความสำคัญ : ประกาศสถานภาพสูงสุดด้านการปกครองในราชอาณาจักร


                การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีความสำคัญด้วยนัยที่เป็นพระราชพิธีที่ประกอบขึ้นเพื่อประกาศสถานภาพความเป็นพระมหากษัตริย์ให้สาธารณชนได้ทราบโดยทั่วกัน ดังที่ ดร.นนทพร อยู่มั่งมี เขียนไว้ว่า การขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์จำเป็นที่จะต้องมีการประกาศสถานภาพความเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ให้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และเหล่าราษฎรภายใต้พระราชอำนาจ และยังรวมถึงรัฐหรือเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจ และยังรวมถึงรัฐหรือเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบขัณฑสีมาได้รับทราบ ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งมีเนื้อหาอันแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจแห่งสถานภาพที่สูงสุดด้านการปกครองในราชอาณาจักร

ความเป็นมา : อิทธิพลจากอินเดียสู่ราชสำนักสยาม

          ดร.นนทพร อยู่มั่งมี เขียนไว้ว่า พิธีบรมราชาภิเษกในไทยสันนิษฐานว่ารับรูปแบบมาจากพิธีราชสูยะของอินเดีย ซึ่งมีการประกอบพิธี 3 อย่าง คือ การอภิเษกหรืออินทราภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติ โดยจะประกอบพิธีขึ้นในพระราชมณเฑียร หรือท้องพระโรง

           ในพื้นที่ราชอาณาจักรไทย พบหลักฐานเบื้องต้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 บริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการอภิเษกเพื่อขึ้นครองราชสมบัติของเจ้าชายจิตรเสน เพื่อปกครองรัฐซึ่งสันนิษฐานว่าคืออาณาจักรเจินละ ซึ่งมีดินแดนส่วนหนึ่งอยู่ที่ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

           การประกอบพระราชพิธีดังกล่าวยังปรากฏหลักฐานสืบเนื่องในอาณาจักรสุโขทัยเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 สมัยพระยาลือไทยราช มีการมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในการอภิเษก ได้แก่ มกุฎ หรือพระมหาพิชัยมงกุฎฉัตร และพระแสงขรรค์ชัยศรี

          จวบจนสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานถึงขั้นตอนการพระราชพิธีแบบย่นย่อในคำให้การชาวกรุงเก่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 โดยมีรายละเอียดและลำดับของพระราชพิธี ดังนี้

          1.เครื่องราชูปโภคที่ใช้ในพระราชพิธี เช่น ตั่งไม้มะเดื่อ พระที่นั่งภัทรบิฐ

          2.เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ พัดวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาท

          3.การประกอบพระราชพิธี เช่น การเป่าสังข์ การตีกลองอินทเภรี และการประโคมเครื่องดุริยางค์

          4.ราชบัลลังก์ปูลาดด้วยหนังพระยาราชสีห์ ซึ่งต่อมาได้ใช้แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณแทน

          5.พระสุพรรณบัฏที่จารึกอันมีการประดับกรอบด้วยอัญมณี โดยประดิษฐานอยู่บนพานทอง

         6.การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตรา

         7.การสมโภชพระนคร

        8.เมื่อเสด็จการพระราชพิธีแล้วจะทรงสร้างพระพุทธรูป เงินพดด้วง งดเว้นไม่เก็บส่วยเงินอากร 3 ปี กับทั้งทรงปล่อยนักโทษด้วย

          ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง ให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 การเสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งนั้น เรียกว่า ปราบดาภิเษก ถือว่า การพระราชพิธียังไม่สมบูรณ์ เมื่อทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง รวบรวมรูปแบบการพระราชพิธี สร้างเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ สำหรับพระนครแล้ว พ.ศ. 2328 จึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์

          การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนั้น เป็นแบบแผนที่ถือปฏิบัติมาในรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่การสรงมรุธาภิเษก คือ ทรงรับน้ำอภิเษกโดยพระราชครูพราหมณ์ ด้วยเชื่อในคติว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพที่อุบัติมาเพื่อขจัดทุกข์เข็ญอาณาประชาราษฎร์ ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ให้มีความร่มเย็นและทรงบำรุงอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์

          รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีสัมพันธไมตรีกับประเทศยุโรป ทรงรับคติการวมพระมหาพิชัยมงกุฏในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างราชสำนักยุโรป นอกจากนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพระราชพิธีสงฆ์ ดังนั้นน้ำอภิเษกจึงมีทั้งน้ำพระพุทธมนต์และน้ำพระเทพมนต์ และกำหนดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกประจำปี เรียกว่าวันฉัตรมงคล ถือปฏิบัติต่อมาในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนการพระราชพิธีบ้าง ตามความเหมาะสมในแต่ละสมัย

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างย่นย่อ ตัดทอนพิธีการหลายประการ คงไว้เฉพาะที่จำเป็น กำหนดการพระราชพิธี 3 วันคือ วันที่ 3-5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 การประกอบพระราชพิธีในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 นี้เอง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่เราชาวไทยได้ยินคุ้นหูมานานเกือบ 70 ปี

REFERENCE :
-ประชาชาติธุรกิจ.2562.ความหมาย ความสำคัญ ความเป็นมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.prachachat.net/d-life/news-275179.(13 มกราคม 2562)

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

คำว่า "กำพงจาม" ที่ถูกต้องคือ "กำพงจำ" (พ.ศ. 2467/ ค.ศ.1924)

           ในตอนหนึ่งของพระราชนิพนธ์นิราศนครวัด ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2467/ค.ศ.1924 ความตอนหนึ่งในหน้า 100 พระองค์ท่านได้อธิบายถึงชื่อ กำปงจาม ความว่า  “...ที่แปลกันว่า “ท่าของพวกจาม” นั้นผิด พวกจามอยู่ข้างใต้ลงไปมาก หาได้มาเกี่ยวข้องถึงที่ตรงนี้ไม่ ที่ถูกต้องนั้นคือ “กำปงจำ” หมายความว่า ท่าเป็นที่หยุด (คำว่า จำ ในที่นี้หมายความตรงกับที่เราใช้ว่า เรือนจำ หรือ จำพระวัสสา)...


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย