-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปราสาททามจาน(ปราสาทบ้านสมอ)

ปราสาททามจาน เป็นศาสนสถานที่สร้างด้วยศิลาแลง มีรูปแบบแผนผังแบบโบราณสถานที่เรียกกันว่า "อโรคยศาลา" หรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล 1 ใน 102 แห่งซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7(ครองราชย์ ราวช่วง พ.ศ.1724 - พ.ศ.1761) ทรงโปรดให้สร้างขึ้น มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 เช่นเดียวกับโบราณสถานรูปแบบเดียวกันอีกหลายแห่งที่พบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย 
ภาพมุมกว้างของปราสาททามจาน ถ่ายจากด้านทิศตะวันตก
โดย สุเพียร  คำวงศ์ สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
(16 พ.ค. 2558 เวลา 17.29 น.)


พิกัดGPS ของปราสาททามจาน บน Google Map
คือ 14°49'03.6"N 104°06'36.3"E หรือ 14.817667, 104.110083
          องค์ประกอบของโบราณสถาน ประกอบด้วย ปราสาทประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบรรณาลัยอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วซึ่งมีโคปุระ(ซุ้มประตู) ทางทิศตะวันออก โดยมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีชาลา(ทางเดิน)ทอดไปสู่บาราย(สระน้ำขนาดใหญ่)อยู่ทางด้านนอกกำแพงทางทิศตะวันออก

บรรณาลัยที่ตั้งทางอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้
หันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน
กำแพงแก้วสร้างด้วยหินศิลาแลง ล้อมรอบปราสาททามจาน
สระน้ำขนาดเล็กอยู่นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประสาทประธาน
ชาลา(ทางเดิน)ทอดไปสู่บาราย(สระน้ำขนาดใหญ่)
ซึ่งอยู่ทางด้านนอกกำแพงออกไปทางทิศตะวันออก

          กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาททามจานเป็นโบราณสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478 และเล่มที่ 99 ตอนที่ 130 วันที่ 14 กันยายน 2525 กำหนดพื้นที่โบราณสถานประมาณ 4 ไร่ 81 ตารางวา
ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาททามจาน โดยกรมศิลปากร
          ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ได้ขุดค้นศึกษาทางโบราณคดี พบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ศิลาจารึก และรูปเคารพต่างๆ พร้อมได้บูรณะซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. 2552 - 2555



หมายเหตุ - สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นำมาบันทึกข้อมูลไว้ที่เวปฯสภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์ เพราะปราสาทแห่งนี้เคยอยู่ในพื้นที่ของเมืองขุขันธ์(ก่อน พ.ศ. 2459)ในอดีต เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ค้นคว้าศึกษาต่อไป
                  - พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประสูติราว พ.ศ. 1668 หรือ ราว ค.ศ.1125 ครองราชย์ ราวช่วง พ.ศ.1724 - พ.ศ.1761 หรือ ค.ศ. 1181-1218 และสวรรคตราว พ.ศ.1761 หรือ ค.ศ. 1218 

ที่มา : - สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โทร.045-312856
           - http://km.wikipedia.org/wiki/ជយវម៌្មទី៨


วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พืชมงคล ปี 58 พระโคกิน 'หญ้า' น้ำบริบูรณ์พอควร


            พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปีนี้ เสี่ยงทาย 'พระโค' กิน 'หญ้า' น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ขณะที่พระยาแรกนาหยิบได้ผ้าสี่คืบ พยากรณ์ว่า ‘น้ำมาก นาที่ดอนได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
            เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2558 พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2558 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้มีบรรดาข้าราชการ ประชาชน เกษตรกร ทยอยเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
            สำหรับฤกษ์ไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.19 – 08.59 น. มี นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.ฑิฆัมพร สุทธิฤทธิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมการข้าว และ น.ส.จารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร
            เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.อมรรัตน์ แขวงโสภา นักวิชาการเงินและบัญชี ชำนาญการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และว่าที่ร้อยตรีหญิง ณฐมน อยู่เล่ห์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ชำนาญการ กรมชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม
            ขณะที่กรมปศุสัตว์ได้คัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ พระโคแรกนา 1 คู่ ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคเลิศ พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูน
            เมล็ดพันธุ์ข้าววันพืชมงคล 2558 ใช้พันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2558 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มาใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประจำปี 2558 พันธุ์ข้าวทั้งหมด 11 พันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 8 พันธุ์ (ปทุมธานี 1, สังข์หยดพัทลุง, ขาวดอกมะลิ 105, กข 49, กข 41, กข 31, กข 47, กข 6) ข้าวไร่ 3 พันธุ์ (ดอกพะยอม, ซิวแม่จัน และข้าวลืมผัว) เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้ามาในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,695 กิโลกรัม จัดเป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชนผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามประเพณีนิยม
            ส่วนการเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ มีอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกพระยาแรกนา จะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้น เป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ
            ช่วงที่ 2 หลังจากการไถหว่าน ซึ่งจะเป็นการไถดะและไถกลบแล้ว จะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์
            ปรากฏว่า พระยาแรกนาปีนี้ หยิบผ้าได้ 4 คืบ จากนั้นหลังการไถหว่าน ซึ่งเป็นการไถดะและไถกลบแล้ว พราหมณ์ได้เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค ปรากฏว่าพระโคกินหญ้า โหรหลวงได้ให้คำพยากรณ์ ว่า เสี่ยงผ้านุ่งปีนี้ ได้ผ้าสี่คืบ น้ำจะมาก นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ การเสี่ยงทายกระโคกินเลี้ยงปีนี้ พระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
            ขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศ ได้ถือฤกษ์ดีในช่วงเช้าวันพืชมงคล หรือวันหว่านไถ ไถหว่านเมล็ดพันธุ์ เป็นการเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก โดยชาวนาในพื้นที่ ต.ห้วยถั่วเหนือ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ได้พากันลงไปในที่นาที่ไถเตรียมไว้แล้ว เพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงแปลงนา เนื่องจากเชื่อว่าเป็นวันที่ฤกษ์งามยามดีในการเริ่มต้นปลูก หากได้ปลูกข้าวในวันนี้ ข้าวที่ได้จะเจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ ไร้ศัตรูพืชรบกวน ขายผลผลิตได้ราคาดี และมีฝนตกเพียงพอในการทำนา ชาวนาในทุกพื้นที่จึงเร่งหว่านข้าวให้ครบทุกแปลงนากันตลอดทั้งวันเลยทีเดียว

ขอบคุณที่มา :  ไทยรัฐออนไลน์ 13 พ.ค. 2558 10:16 น. http://www.thairath.co.th/content/498467

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย