-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วันเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2558 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

           วันเข้าพรรษา ปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 สำหรับประวัติวันเข้าพรรษา ความสำคัญของวันเข้าพรรษา หมายถึงอะไร เรามาเรียนรู้กัน
วันเข้าพรรษา

           "วันเข้าพรรษา" เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" นั่นเอง

ประวัติวันเข้าพรรษา

           "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา"



           ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระ  คือ เมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่า พรรษาขาด

           สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่
           1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
           2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
           3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
           4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้           นอกจากนี้  หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ รูป ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้ 




           ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...

           อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง 

           นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล โดยการเอารังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็น ศอก  แล้วเอาเทียนเล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา หรือ อีกวิธีหนึ่งก็คือ ต้มขึ้ผึ้งให้เพียงพอแล้วร่วมกันตักน้ำขี้ผึ้งเหลวเทลงแบบพิมพ์สังกะสีจนเต็ม แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำ ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา ไปถวายบูชาพระต่อไป 

แบบพิมพ์สังกะสีสำหรับหล่อต้นเทียน

ภาพในอดีตการแห่เทียนพรรษาในวันเข้าพรรษา

           การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า–เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป-เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงส์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ประดุจแสงสว่างของดวงเทียน

           ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปถวายบูชาพระ  บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม เรียกว่า "ประเพณีแห่เทียนพรรษา" หรือบางแห่งเรียกว่า "ประเพณีถวายเทียนพรรษา" โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว 

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา ได้แก่
           1. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
           2. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร
           3. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
           4. อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  

วันอาสาฬหบูชา ปี พ.ศ. 2562 นี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

           สำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน คงทราบกันดีกว่า ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน นั่นคือ "วันอาสาฬหบูชา" ซึ่งในปี 2562 นี้ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม (ขึ้น 15 คํ่า เดือน 8) แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบความเป็นมาเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาเท่าใดนัก ดังนั้นวันนี้เรามีประวัติวันอาสาฬหบูชามาฝากกัน

           ทั้งนี้ คำว่า "อาสาฬหบูชา" สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งจะประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งที่สำคัญในเดือน 8 ซึ่ง
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี

            วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี 

            ทั้งนี้   พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ

            สำหรับใจความสำคัญของการปฐมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ
           1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
           การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค

           การสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค


           ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
           1) สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง 
           2) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
           3) สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
           4) สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
           5) สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
           6) สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
           7) สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
           8) สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน


            2. อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
               1) ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
               2) สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
               3) นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
               4) มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น

กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา

           พิธีกรรมโดยทั่วไปที่นิยมกระทำในวันนี้ คือ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ ในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยเรา ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตในยุคที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างนี้...

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- dhammathai.org
- คลังปัญญาไทย

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สรุปและรายงานยอดกองบุญผ้าป่ามหากุศล ภาพรวมของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ณ วัดปรือคัน ตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘

         อำเภอขุขันธ์ ขออนุโมทนา ขอบพระคุณ สายธารศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนคนดีทุกๆคณะที่มาร่วมทำบุญในโครงการทอดผ้าปามหากุศล เพื่อถวายตู้ยาสามัญประจำวัดพร้อมเวชภัณฑ์ เพื่อพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖๓ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี 

         กราบนมัสการขอบพระคุณ พระรัตนากรวิสุทธิ์ รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ประธานฝ่ายสงฆ์ พระครูพิศิษฏ์ธรรมานุศาสก์ เจ้าคณะอำเภอขุขันธ์ พระเถรานุเถระ เจ้าคณะตำบล เจ้าอธิการวัด ที่พักสงฆ์ทุกแห่ง พร้อมทั้งคณะสงฆ์ทุกรูปที่มาร่วมทำบุญผ้าป่ามหากุศลในครั้งนี้

         ขออนุโมทนา นายสมศักดิ์ นิสัยสม นายอำเภอขุขันธ์ หน.ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมพี่น้องพุทธศาสนิกชน จากทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และทุกท่านที่ได้มาร่วมทอดผ้าปามหากุศล เพื่อถวายตู้ยาสามัญประจำวัดฯในครั้งนี้

         ขออานิสงส์แห่งบุญทานการกุศล ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก คุณบารมีทั้งหลาย จงมาอภิบาลคุ้มครองผองภัย ให้ท่านและครอบครัว บริวาร ญาติมิตร จงประสพแต่ความสุข ความเจริญ ให้พ้นจากสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย สรรพเคราะห์เสนียดจัญไรอย่าได้มาแผ้วพาล ให้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาน ธนสารสมบูรณ์พูลผล ตลอดทั่วทุกคน-ทุกท่านเทอญ


ออกแบบระบบประมวลผลโดย นายสุเพียร คำวงศ์ สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ที่มาของคำว่า กระโพ กระโพธิ์ ที่เป็นชื่อหมู่บ้านตำบลแถบจังหวัดอีกสานใต้มีที่มาอย่างไร ?

          วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม  2558 ผู้เขียนได้มีโอกาสแวะธุระไปที่วัดบ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ หมู่ที่ 6 ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ  เกิดคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับที่มาของชื่อ “หมู่บ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ?
หม้อปั้นดินเผา ที่นำมาประดับโดยรอบกำแพงวัด
บ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ  หมู่ที่ 6 ตำบลดองกำเม็ด 
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

           ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเล่าว่า “หมู่บ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ” เป็นชุมชนโบราณที่มีมาพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของเมืองขุขันธ์ในอดีต และเป็นที่อาศัยของบรรพชนเผ่ากวย หรือชาวกูยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปั้นหม้อดิน ซึ่งในภาษาขแมร์เรียกชนกลุ่มนี้ว่า កួយឆ្នាំងដី/กวย*-ชนัง-เด็ย*/ หรือ កួយឆ្នាំង/กวย*-ชนัง/​ ซึ่งปัจจุบันลูกหลานชาวกวยกลุ่มนี้ก็ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านนี้ของบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน 
          คำว่า กระโพ(ក្រៈពោ)หรือในปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น กระโพธิ์ เป็นคำในภาษากวยถิ่นไทย ที่ชาวบ้านใช้เรียกชื่อของต้นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งที่ มีผลสามารถเก็บมาทานได้ รสชาดเปรี้ยวพอประมาณถึงเปรียวมาก ตรงกับคำภาษาไทย คือต้นตะคร้อ หรือต้นค้อ(Ceylon oak) ตรงกับภาษาขแมร์ในกัมพูชาว่า ពង្រ ( ន. ) อ่านว่า /ปง-โร/ ภาษาเขมรถิ่นไทยแถบอีสานใต้ เรียก ប៉ាន់រួ อ่านว่า /ปัน-รัว/ 


          มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ หมู่บ้าน ตำบลที่มีชื่อขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่า "กระโพ" "กระโพธิ์" ในพื้นที่แถบจังหวัดอีสานใต้  สันนิษฐานว่า ส่วนใหญอาจจะเป็นหมู่บ้านที่เคยมีชนเผ่ากูยอาศัยอยู่มาก่อน   แล้วตอนหลังได้อพยพออกไปในภายหลัง หรือมีชนเผ่ากวย อาศัยร่วมกันเป็นจำนวนมาก  หรือพื้นที่ตรงนั้นเคยมีต้นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งที่ชาวกูยเรียกว่า "ต้นกระโพธิ์" ขึ้นชุกชุมเป็นจำนวนมาก...เช่น หมู่บ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ  ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ ,หมู่บ้านเกาะกระโพธิ์  หมู่บ้านบึงกระโพธิ์   ในอำเภอปรางค์กู่ , ตำบลกระโพ  อำเภอท่าตูม  จังหวัดสุรินทร์ , กวยบ้านปรือคันเรียกบ้านนาค้อ ตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า "ซรก-ซแร-กระโพ" เป็นต้น

         สำหรับสรรพคุณของตะคร้อ ต้นค้อ ปงโร  ปันรัว  กระโพ  หรือกระโพธิ์ นั้นเขาว่ามีหลายข้อให้ตามไปดูที่เวปฯนี้เลยครับ  http://frynn.com/ตะคร้อ/  

ขอบคุณข้อมูลภาพจาก เวปฯ http://frynn.com/


คำว่า ส่วย ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นวาทะกรรมในอดีต

         ความหมายของคำว่า "ส่วย" ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นวาทะกรรมที่มีมาตั้งแต่ในอดีต หมายถึง กลุ่มชนเผ่าหลายเผ่าในพื้นภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้ในอดีต(อย่างน้อยก็ 4 ชนเผ่าขึ้นไป ได้แก่ ชนเผ่าเขมร กวย ข่า ลาว กุลา ฯลฯ)ที่ต้องส่งส่วยหรือถวายเครื่องราชบรรณาการให้ทางการในสมัยโบราณ เรียกรวมๆว่า "พวกส่วยต่อมาทางการสมัยกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกชนเผ่าแถบอีสานใต้เหล่านี้แบบเหมารวมรวมทั้งทุกชนเผ่าว่า "เขมรป่าดง" ในที่สุด  และต่อมาเมื่อ 60 - 80 ปีที่ผ่านมา คำว่า "ส่วย" เป็นคำที่คนไทอีสานถิ่นอื่นๆหรือจังหวัดอื่นๆในภาคอีสานมักนิยมเรียกเรียก ชนชาติพันธุ์ลาวในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดแถบอีสานใต้ว่า "ส่วย" ทั้งที่จริงๆเขาก็เป็นไทอีสานเช่นเดียวกัน เพราะสำเนียงพูดของชนชาติพันธุ์ลาวแถบอีสานใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดศรีสะเกษมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนคนไทอีสานถิ่นอื่นๆในภาคอีสาน(ลองฟังสำเนียงพูดจาก เพลง หนุ่มศรีสะเกษ ด้านล่าง) และทำให้ชนชาติพันธุ์ลาวในศรีสะเกษไม่พอใจ และพยายามสร้างวาทะกรรมต่อ โดยพยายามโยนและยัดเยียดคำว่า "ส่วย" ให้กับชนชาติพันธุ์อื่นๆในจังหวัดเดียวกัน โดยเฉพาะนักวิชาการชนชาติพันธุ์ลาวในจังหวัดศรีสะเกษ พยายามใช้ครอบงำเพื่อเรียก ชื่อชนชาติพันธุ์กูย กวยในศรีสะเกษว่า "ส่วย" แทนในที่สุด เช่น มักจะพยายามครอบงำว่า ชนเผ่าไทศรีสะเกษ ประกอบด้วย 4 ชนเผ่า ได้แก่ ลาว เขมร ส่วยและเยอ ฯลฯ เป็นต้น โดยที่ชาวกูย กวยบางหมู่บ้านไม่ได้ฉุกคิดและเฉลียวใจว่าตัวเองถูกยัดเยียดต่อมาอีกที ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมและเป็นความผิดมหันต์ที่ไม่ควรให้อภัยอย่างยิ่ง
ตัวอย่างเสียงพูดภาษากูย ของชนชาติพันธุ์กูย
ที่บ้านตะดอบ  ตำบลตะดอบ อำเภอเมือง  จังหวัดศรีสะเกษ
ขบวนเกวียน, จังหวัดขุขันธ์* ปี ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479) 
ช่างภาพ Pendleton, Robert Larimore ภาพจาก UWM Libraries



ลองฟัง...สำเนียงพูดของชนชาติพันธุ์ลาวในศรีสะเกษมีลักษณะพิเศษ
ไม่เหมือนคนไทอีสานถิ่นอื่นๆในภาคอีสาน  จนทำให้คนไทอีสานถิ่นอื่นๆหรือจังหวัดอื่นๆ
ในภาคอีสานเมื่อ 60-80 ปีที่ผ่านมา มักนิยมเรียกชนชาติพันธุ์ลาวในศรีสะเกษว่า
 "ส่วย" ในที่สุด ทั้งที่จริงๆเขาก็เป็นไทอีสานเช่นเดียวกัน

        และหลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงไทยกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976 (ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ-ครั้งที่ 2 แห่งกรุงศรียุธยา เริ่มครองราชพ.ศ.1967 -สิ้นสุดราชกาล พ.ศ.1991 )มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมพระอัยการอาญาหวงห้ามหญิงไทยแต่งงานกับคนต่างด้าว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในช่วงนั้นคนต่างชาติเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาคงมีการตั้งถิ่นฐานครอบครัวและคลังสินค้ากันในกรุงศรีอยุธยา   จึงเป็นไปได้ที่อาจจะมีหญิงไทยแต่งงานกับคนต่างด้าวบ้าง ด้วยความเป็นห่วงว่าหญิงไทยจะเอาความลับเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองไปแจ้งให้กับสามีคนต่างด้าวทราบ  และเกรงว่าหญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างด้าวและบุตรที่เกิดในภายหลังจะเข้ารีตไปนับถือศาสนาอื่น  จึงมีตรากฎหมายเพิ่มเติมขึ้นมาว่า...
หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงไทย
แต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976
         เมื่อ พ.ศ. 2062 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ. 2034 - 2072) ทรงจัดให้มีการจัดระเบียบกองทัพ และแต่งตำราพิชัยสงคราม โปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำบัญชีกำลังพล เพื่อเกณฑ์พลเมืองเข้ารับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยกำหนดให้ไพร่ที่เป็นชาย อายุตั้งแต่ 18 - 60 ปี ต้องเข้ารับราชการทหาร ยกเว้นผู้ที่มีบุตรชายแล้วเข้ารับราชการ ตั้งแต่สามคนขึ้น ผู้เป็นบิดาจึงพ้นหน้าที่รับราชการทหาร(6) สำหรับชายที่มีอายุ 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนทหารเพื่อเข้ารับการฝึกหัดทหาร เรียกว่า ไพร่สม เมื่ออายุ 20 ปี จึงเรียกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการเรียกว่าไพร่หลวง  ส่วนพวกที่ไม่สามารถมารับราชการทหารได้ ก็ต้องมีของมาให้ราชการเป็นการชดเชยเรียกว่า ไพร่ส่วย (ซึ่งคำนี้ก็มิได้มีความเกี่ยวข้อง หรือมีความหมายความถึงชนชาติพันธุ์กูยแต่อย่างใดเลย)

ฟังคนสูงวัยให้พรลูกหลานเป็น ภาษากูยปรือใหญ่ โดยคุณพ่อเชื่อม ปรือปรัง บ้านนิคมเขต 8 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้พรลูกหลานเป็นภาษากูยปรือใหญ่ อันเป็นภาษาเก่าแก่ภาษาหนึ่งของชนชาติพันธุ์กูยโบราณนี้ในแถบอีสานใต้ติดเทือกเขาพนมดงรัก
​กูยปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
កួយកោះពឺត หรือ កួយព្រៃធំ ស្រុកគោកខណ្ឌ ខេត្តស៊ីសៈកេត
Kuay Prue Yai, Khukhan District, Sisaket Province.
         คำว่า "ส่วย" พบกล่าวถึงมาก โดยเฉพาะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ระบบเศรษฐกิจการส่งออกมีความสัมพันธ์กับการขยายอํานาจเข้าสู่บริเวณอีสานในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เพื่อจัดการและหาทรัพยากรต่างๆ ป้อนสู่ตลาดในระบบของการค้าแบบส่งออก   ข้อมูลจากการส่งส่วยและบรรณาการที่ทำให้เราได้ทราบเกี่ยวกับทรัพยากรที่สําคัญในท้องถิ่นสมัยนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลิตผลจากธรรมชาติจําพวกของป่าต่างๆ เช่น งาช้าง นอแรด น้ำรัก ขี้ผึ้ง โดยสิ่งของเหล่านี้จะเป็นหน้าที่ของหัวเมืองใหญ่เป็นผู้รวบรวมส่ง เช่น เมืองนครพนม เมืองพวน เมืองคําเกิด ต้องรวบรวมส่งไปยังเวียงจันทน์ แล้วเวียงจันทน์จะรวบรวมส่งลงไปยังกรุงเทพฯ อีกทีหนึ่ง(1) ส่วยที่กรุงเทพฯ เรียกเก็บจึงมีความสัมพันธ์กับการค้าต่างประเทศในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อย่างมาก โดยเฉพาะส่วยเร่วในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีมากขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของการค้าสําเภา เพราะผลเร่วเป็นสิ่งที่ชนชั้นนําสยามใช้เป็นสินค้าสําหรับตอบแทนพ่อค้าพานิช นายสลุปกําปั่น และบรรทุกสําเภาออกไปจําหน่าย ณ เมืองจีนเสมออยู่ทุกปีมิได้ขาด(2) รวมถึงประเทศตะวันออกอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ญวน อินเดีย ลังกา ฟิลิปปินส์ ชวา มลายู และเปอร์เซีย ที่สยามได้ค่าผ่านเมืองท่าต่างๆ ของประเทศเหล่านั้น(3)

       ดังนั้น "ส่วย" จึงมีความสําคัญต่อการค้าสําเภาและรายได้ของราชสํานักกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน หากเมื่อใดมีการขาดหรือค้างส่งส่วยกรุงเทพฯ จะมอบหมายให้เมืองใหญ่ในบริเวณนั้นติดตามทวงเร่งรัดสิ่งของต่างๆ เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพรหมวงษาอุปหาตเมืองอุบลราชธานีได้มีใบบอกส่งส่วยผลเร่ว งาช้าง น้ำรัก ให้เมืองนครราชสีมาจัดบรรทุกโคลงไปส่งยังกรุงเทพพระมหานคร(4) เป็นต้น   เกี่ยวกับเส้นทางในอีสานตั้งแต่เมืองที่ส่งส่วยผู้นําส่วยมา เวลาที่ออกจากเมืองต่างๆ ที่หยุดพัก แล้วออกจากเมืองเมื่อใด โดยเฉพาะเมืองที่เป็นท่าพักสองสาย คือ สายแรกทางบกผ่านเมืองนครราชสีมา และสระบุรี  สายที่สอง ทางน้ำผ่านเมืองกบิลบุรี และปราจีน เมืองที่เป็นจุดแวะพักเหล่านี้จะต้องส่งใบบอกถึงรายละเอียดต่างๆ ไปยังกรุงเทพฯ อันประกอบด้วย ชื่อเมืองที่มาแวะพัก มาถึงเมื่อใด จัดเตรียมอะไรไว้ให้ ชั่งน้ําหนักส่วยได้เท่าไร เก็บภาษีอะไรบ้าง ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น  ซึ่งการมีใบบอกมาเป็นระยะๆ เช่นนี้ ก็ยังมีประโยชน์ต่อกรุงเทพฯ ในแง่ของการใช้ท้องถิ่นตรวจสอบซึ่งกันและกันอีกทางหนึ่งด้วย(5)

           ภาพแผนที่แบ่งเขตแดนฝรั่งเศส -สยาม พ.ศ. 2424 (ค.ศ.1881) สมัย ร.5 ในยุคที่ขุขันธ์ สุรินทร์ สังขะ  ขณะที่ยังมีสถานะเป็นเมือง แสดงให้เห็นที่อาศัยดั้งเดิมของชนชาติพันธุ์ต่างๆได้ละเอียดดีมาก โดยเฉพาะในแผนที่ฝรั่งเศส ในช่วง พ.ศ.2424 นี้ แถบพื้นที่ 3 เมืองนี้ ฝรั่งเศสใช้ข้อความว่า KOUYS เพื่อบอกว่ายุคที่เดินทางสำรวจทำแผนที่นั้น พบมีชนชาติพันธุ์กูย/กวย อาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก

     
ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับอีสาน ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2433 เห็นได้ชัดว่าทั้งสองพื้นที่มีความสัมพันธ์ต่อกันผ่านระบบของการเกณฑ์ส่วย และบรรณาการเท่านั้น สยามไม่ได้มีอํานาจเบ็ดเสร็จ และสมบูรณ์เหนือพื้นที่บริเวณอีสาน หากแต่อํานาจของสยาม มีในบริเวณอีสานได้โดยผ่านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองจากส่วนกลาง กับเจ้าเมือง กรมการ หรือเจ้าประเทศราชเพียงเท่านั้น ความคิดของชนชั้นนําสยามที่มีต่อพื้นที่อีสานจึงถูกจํากัดอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของอํานาจการปกครองดังกล่าว   ต่อมาในช่วงหลังปี พ.ศ. 2433 - พ.ศ.2475 เป็นช่วงที่สยามได้ก้าวสู่การเป็นรัฐสยามใหม่ ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ จึงมีลักษณะที่สอดคล้องกับการดึงอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน การเดินทางในบริเวณอีสานของชนชั้นนําสยาม ถูกบอกเล่า และตีพิมพ์เพื่อแลกเปลี่ยนกันในหมู่ชนชั้นนําอย่างแพร่หลายผ่านวารสารต่างๆ อาทิ วชิรญาณวิเศษ เทศาภิบาล วิทยาจารย์  รวมไปถึงการให้เจ้านายท้องถิ่นเขียนและส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ อีกเป็นจํานวนมากแสดงถึงความสนใจในเรื่องอีสานของชนชั้นนําสยามที่มีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 

        สำหรับคำที่ใช้เรียกชนชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเองคือ กูย หรือ กวย  เป็นคำนาม เมื่ออยู่โดดๆ ไม่ได้แปลว่า คน หรือ ใคร เพียงเท่านั้น แต่หมายถึง ชื่อเรียกชนชาติพันธุ์เก่าแก่ชนชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งมีอารยธรรมอันดีงามร่วมกันกับชนเผ่าอื่นในดินแดนสุวรรณภูมิ เช่นชาวกูยในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นๆแถบอีสานใต้ในปัจจุบัน และในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาและลาว ก็ยังพบชนชาติพันธุ์นี้อาศัอยู่กันเป็นจำนวนมากหลายหมู่บ้านตำบล และนอกจากนี้ คำว่า กูย ยังหมายรวมถึง ภาษากูย อีกด้วย ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดคุยสื่อสารกันในชีวิตประจำวันที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ตัวอย่างเสียงพูดภาษากูย ของชนชาติพันธุ์กูย ที่จังหวัดพระวิหาร
(សូមអញ្ជើញស្តាប់សំឡេងនិយាយភាសាកួយរបស់ជនជាតិកួយ នៅខេត្តព្រះវិហារ)


 ข้อมูลชาติพันธุ์วิทยา ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์(21 ตุลาคม 2561) 

      ข้อเสนอแนะ เห็นควรใช้ว่า กูย หรือ กวย เป็นคำที่ชนเผ่านี้เรียกชื่อชนเผ่าเขาเอง ซึ่งก็พอจะรับได้ ซึ่งตรงกับชื่อชนเผ่านี้มากกว่าคำว่ายัดเยียดคำว่า "ส่วย"เพื่อใช้เรียกชนชาติพันธุ์นี้ และจากการสืบค้นในเอกสารอื่นๆ พบว่า ในภาษาเขมรเรียกว่า កួយ (អក្សរសព្ទខ្មែរ: /កួយ/) อ่านว่า /กวย/ หรือ /กูย/ ในภาษาละตินเขียนว่า kuoy(អក្សរសព្ទឡាតាំង: /kuoy/) อักษรสัทศาสตร์สากล(IPA)เขียนว่า / kuəy / และในภาษาอังกฤษ นักวิชาการด้านชาติพันธุ์พบใช้ 5 คำดังนี้  Koui or Kouy , Kuay, Kuy ,kui แปลว่า people live primarily in Southeast Asia, including the countries Thailand, Laos and Cambodia. และในฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ก็ใช้คำว่า กูย หรือกวย ซึ่งเป็นชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนกูย หรือกวยในอีสานใต้บ้านเราใช้เรียกตนเอง อีกด้วย


ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย
โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) เรียกว่า  กูย หรือ กวย 

      ทำไมต้องเรียกชื่อชนเผ่าว่า "กูย" หรือ "กวย" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ 

   1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี ต้องการจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งทราบกันดีแล้วว่าเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์ 

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร เช่น คำว่า “ลัวะ” ถูกใช้ในความหมายที่ครอบคลุมกลุ่มชนที่มีอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมแตกต่างกัน (รวม ลเวือะ ลัวะ และปลังเข้าด้วยกัน) 

    แต่ทว่า...หากพวกท่านยังต้องการ(ยัดเยียด)ให้ประชาชนชาวกวย/กูย ในอำเภอหรือจังหวัดของท่านเป็นส่วยต่อไป...ก็จงเรียกกันต่อไปเถอะ...เราจะขอบันทึกชื่อท่านไว้ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ยังเข้าใจผิด...และยัดเยียดคำว่า"ส่วย" ให้ชนชาติพันธุ์กลุ่มนี้...ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงแล้ว ทุกชนชาติพันธุ์ในภาคอีสานบ้านเราต่างประสบกับวาทะกรรมนี้ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีตนานมากว่า 250 ปีแล้ว...เหมือนๆกับที่เราควรเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “เจ๊ก” สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนไม่ว่าแต้จิ๋ว กวางตุ้ง แคะ ฮกเกี้ยน ไหหลำ หรือหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “ญวน” สำหรับคนเวียดนาม หรือคำว่า “แม้ว” สำหรับ “ม้ง” ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น

REFERENCE :
(1) หอสมุดแห่งชาติ,หมู่จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 1 จ.ศ. 1144 เลขที่ 7 ก สําเนาศุภอักษรเมืองเวียงจันทน์ . อ้างถึงใน ธีรชัย บุญมาธรรม, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหัวเมืองกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2336-2450, หน้า 34.
(2) หอสมุดแห่งชาติ, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1026 เลขที่ 184 เรื่องสารตราเรื่องขุนอินอํานาจ ขุนศรีสุระฯ ยื่นเรื่องราวเลกไพร่หลวงอพยพหลบหนี, อ้างถึงใน อุศนา นาศรีเคน, อีสานในการรับรู้และทัศนะของผู้ปกครองกรุงเทพฯ ตั้งแต่หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369 ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475, หน้า 101.
(3) วราภรณ์ ทิวานนท์, “การค้าสําเภาของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชา
ประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522), หน้า 38-39.

(4) วราภรณ์ ทิวานนท์, “การค้าสําเภาของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522), หน้า 38-39.

(5) อุศนา นาศรีเคน,อีสานในการรับรู้และทัศนะของผู้ปกครองกรุงเทพฯ ตั้งแต่หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369 ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475, หน้า 66-67.

(6) https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระรามาธิบดีที่_2

- "The Kuy People of Laos". Southeast Asian Peoples Research Center. Retrieved October 8, 2013.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/ethnic_classification.php
- https://www.wikidata.org/wiki/Q4444914
- https://en.wikipedia.org/wiki/Kuy_people

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พื้นที่ของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ด้านทิศใต้สุดติดกับชายแดนไทย-กัมพูชาหรือไม่ ?

             ภายหลังที่ได้ร่วมถวายราชสักการะ ถวายราชสดุดี วางพานพุ่มเงิน-พานพุ่มทอง เพื่อแสดงความจงรักภักดี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในวันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ บริเวณหน้าอาคารอเนกประสงค์โครงการทับทิมสยาม ๐๖ หมู่บ้านทับทิมสยาม ๐๖ ตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เรียบร้อยแล้ว ท่านยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้พาคณะส่วนราชการนำโดย นายสมศักดิ์ นิสัยสม นายอำเภอขุขันธ์ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต.ปรือใหญ่และทีมงานเจ้าหน้าที่ อบต.ปรือใหญ่ แวะตรวจพื้นที่ป่าสุดชายแดนอำเภอขุขันธ์ด้านทิศใต้ ณ ผามรกต ซึ่งอยู่หางจากชายแดนประเทศกัมพูชา โดยประมาณ 9 กิโลเมตรกว่าๆ ตรงกับชายแดนของอำเภอត្រពាំងប្រាសាទ(Trapeang Prasat District) จังหวัดឱត្តរមានជ័យ(Oddar Meanchey Province)  ประเทศพระราชอาณาจักรกัมพูชา 

...อาจจะมีหลายท่านตั้งคำถามว่าอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ติดชายแดนไทย-กัมพูชาหรือไม่ ? ขอตอบว่า...ไม่ติด เพราะมีพื้นที่ของอำเภอขุนหาญ และอำเภอภูสิงห์โอบล้อมอยู่...จึงทำให้อำเภอขุขันธ์ ไม่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา เพียงแต่พื้นที่ด้านทิศใต้สุดนั้นอยู่ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา...เท่านั้นเอง



ขอบคุณภาพถ่ายประวัติศาสตร์จาก... https://www.facebook.com/khukhunsrisaket.unicycle ที่อนุเคราะห์มาให้ ครับ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย