ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ว่าด้วยพาดหัวข่าวเรื่อง ศรีสะเกษ เปิดอนุสาวรีย์ตากะจะเจ้าเมืองคนแรกให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2561

          ตามที่ได้มีพาดหัวข่าวเรื่อง ศรีสะเกษ เปิดอนุสาวรีย์ตากะจะเจ้าเมืองคนแรกให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้ โดยนักข่าวชื่อ ชยงค์ มณีพันธุ์เจริญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2561 .[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก : https://www.77jowo.com/contents/o1/108332. (วันที่ค้นข้อมูล : 22 ตุลาคม 2561). ความว่า…(ให้ติดตามอ่านดูในลิงก์ 

          ทีมงานฝ่ายวิชาการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ขอเรียนชี้แจงข้อสงสัย และตอบคำถามนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ดังนี้
  
ข้อสงสัย และข้อสังเกต
 1. "...จัดงานรอบสระสี่เหลี่ยมดงลำดวน  สระน้ำโบราณของบ้านดวนใหญ่  ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองแห่งแรกของ จ.ศรีสะเกษ"   จริงหรือ ?

เฉลย เมืองศรีสะเกษ ตั้งขึ้นหลังเมืองขุขันธ์ในยุคตากะจะสร้างบ้านแปลงเมือง จากบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน จนได้รับโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองขุขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2306 ซึ่งเมืองศรีสะเกษตั้งขึ้นภายหลังเมืองขุขันธ์ เป็นระยะเวลา 19 ปีกล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ. 2325 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโนนสามขา สระกำแพง ขึ้นเป็น “เมืองศีร์ษะเกษ” ซึ่งนี่ก็คือที่ตั้งเมืองแห่งแรกของ จ.ศรีสะเกษ จริงๆ ไม่ใช่ที่ รอบสระสี่เหลี่ยมดงลำดวน สระน้ำโบราณของบ้านดวนใหญ่ และโปรดเกล้าฯให้พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น บุตรตากะจะ) ปลัดเมืองขุขันธ์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เป็นท่านแรกในราชทินนามใหม่ว่า “พระรัตนวงศา” ว่าราชการขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา  

2. “...โดยมีชาวบ้านดวนใหญ่แต่งกายด้วยชุดเขมรโบราณอย่างสวยงามมาร่วมพิธีในครั้งนี้…”

เฉลย ชาวบ้านดวนใหญ่ สามารถแต่งกายด้วยชุดเขมรได้ แต่ชาวบ้านบ้านดวนใหญ่ หมู่ 2 และชาวบ้านใน ต.ดวนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ นั้น ประกอบด้วยชนชาติพันธุ์ลาวส่วนใหญ่ ถ้าจะให้ดีควรแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนตนเอง คือ ชนชาติพันธุ์ลาว… ครับ

3. บ้านดวนใหญ่ในอดีตเป็นที่ตั้งแห่งแรกของเมืองศรีสะเกษ ที่บ้านสระสี่เหลี่ยมดงลำดวน  โดยมีพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือตากะจะเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษคนแรก ก่อนที่จะย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่ อ.ขุขันธ์ และได้ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ในปัจจุบันนี้ ...จริงหรือ?  
     
เฉลย เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ท่านแรกคือ พระรัตนวงศา (ท้าวอุ่น)  ซึ่งทำเนียบ เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ที่สืบต่อกันมาตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จำนวน 5 ท่าน  ดังนี้ 
     ท่านที่ 1 พระรัตนวงศา (ท้าวอุ่น)  พ.ศ. 2325 – 2328
     ท่านที่ 2 พระพิเศษภักดี (ท้าวชม ) พ.ศ. 2328 – 2368
     ท่านที่ 3 พระวิเศษภักดี  (ท้าวบุญจันทร์ ) พ.ศ. 2368 - 2424
     ท่านที่ 4 พระวิเศษภักดี  (ท้าวโท ) พ.ศ. 2424 – 2440
     ท่านที่ 5 พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า ) พ.ศ.  2440 –2447


เมืองขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2321 ย้ายมาจากวังหิน...จริงหรือ ?

เฉลย เมื่อปี พ.ศ. 2321 ก่อนการตั้งเมืองศีร์ษะเกษ(ในปี พ.ศ. 2325)  หลังจาก “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” (ตากะจะ)  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 1 ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว หลวงปราบก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ได้รับบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่ง  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2  ปกครองเมืองขุขันธ์สืบต่อต่อมา  อีกทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวอุ่นซึ่งเป็นบุตร “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน”(ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 1 ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์  ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๒ ” (หลวงปราบ หรือ เชียงขันธ์ )  ได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณจุดที่ตั้งหลักเมืองและเมืองขุขันธ์เดิมไม่เหมาะที่จะพัฒนาให้รุ่งเรืองได้  อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามที่เจ้าเมืองท่านที่ 1 คือ หลวงแก้วสุวรรณ หรือตากะจะได้ตั้งปณิธานเอาไว้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ว่าต้องการที่จะเลื่อนจุดที่ตั้งหลักเมืองและเมืองขุขันธ์อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๒ ” (หลวงปราบ หรือ เชียงขันธ์ ) จึงได้ทำพิธีและดำเนินการเลื่อนที่ตั้งเมืองขุขันธ์และหลักเมืองจากที่ตั้งเดิม คือ เลื่อนจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังที่ตั้งแห่งใหม่บริเวณหนองแตระ มีหลักฐานคือ การฝังหลักเมือง  ณ  มุมวัดกลาง อำเภอขุขันธ์ ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน 

เมืองขุขันธ์ เคยได้ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ในปัจจุบันนี้ ...จริงหรือ ?


เฉลย เมืองขุขันธ์ปรากฎนามและความเป็นเมืองมาตั้งแต่ยุคขอมโบราณ ณ บริบทที่ตั้งเดิมมานานกว่า 981 ปีมาแล้ว(ถ้านับจาก พ.ศ. 2561นี้ ย้อนอดีตกลับไป) 
จารึกโบราณกล่าวถึงเมืองขุขันธ์ในอดีต เมื่อ พ.ศ. 1580​ (พร้อมคำแปล 2ภาษา)


      และต่อมา...
- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์

- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ย้ายเฉพาะศาลากลางเมืองขุขันธ์ จากที่ตั้งเดิม(อำเภอเมืองขุขันธ์) ไปตั้งบริเวณศาลากลางเมืองศีร์ษะเกษ แต่ยังคงใช้ชื่อ ศาลากลางเมืองขุขันธ์ ส่วนพื้นที่อำเภอเมืองขุขันธ์ยังอยู่ที่ตั้งเดิม

- ปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ยุบเมืองศรีสะเกษและเมืองเดชอุดม โดยให้อำเภอที่ขึ้นกับเมืองทั้งสองไปขึ้นกับเมืองขุขันธ์

- ปี พุทธศักราช ๒๔๕๙ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดขุขันธ์

- ปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองขุขันธ์ เป็น อำเภอห้วยเหนือ 

- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดศีร์ษะเกษ เปลี่ยนชื่อ อำเภอห้วยเหนือ เป็นชื่อ อำเภอขุขันธ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


คุณเชื่อหรือไม่ ? จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งง่ายมาก  

           กล่าว คือ เมื่อปี พ.ศ. 2481 เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดศีร์ษะเกษ (11 พ.ย. 2481) โดย พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 ดู มาตรา 3 ซึ่งเน้นเปลี่ยนชื่อเพียงจังหวัดเดียว คือจากชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็น จังหวัดศรีสะเกษ  
         ดังนั้น จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบันเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2481 นี่เอง (ถ้าเปรียบเป็นคนก็จะเป็นผู้สูงอายุ ที่เพิ่งมีอายุได้ 80 ปี นับถึงปี พ.ศ. 2561 นี้) ตามไปดูรายละเอียด พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 ที่ลิงก์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/A/658.PDF



4. “...เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของตากะจะ ...ในบางพื้นที่ /บางหมู่บ้าน/ตำบล สามารถสร้างอนุเสาวรีย์ตากะจะไว้เคารพกราบไหว้ได้ แต่อย่าบิดเบือนประวัติศาสตร์...ครับ

เอกสารอ้างอิง
- การตั้งเมืองศีร์ษะเกษ(พ.ศ. 2325)และยุบเมืองศีร์ษะเกษ(พ.ศ. 2450) ที่ลิงก์ http://www.mueangkhukhanculturalcouncil.org/2014/08/2325-2450.html

- เหตุการณ์สำคัญในยุค “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่ง  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2(พ.ศ. 2321 - 2325) ที่ลิงก์ http://www.mueangkhukhanculturalcouncil.org/2014/07/blog-post_91.html

- พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 ดู มาตรา 3 ซึ่งเน้นเปลี่ยนชื่อเพียงจังหวัดเดียว คือจากชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็น จังหวัดศรีสะเกษ  ที่ลิงก์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/A/658.PDF

- ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังหิน(๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐) ที่ลิงก์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/D/045/1752.PDF

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้อำนาจผู้นำเปลี่ยนแปลงอักขระวิธีไทย ช่วง พ.ศ. 2485 - 2487

พ.ศ. ๒๔๘๕ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัถมนตรี ใช้อำนาจผู้นำเปลี่ยนแปลงอักขระวิธีภาษาไทย(1) โดยตัดตัวอักษรที่มีเสียงซ้ำออกไป ๑๓ ตัว ตัดสระออกไป ๕ ตัว ประกาศให้เป็นตัวหนังสือของทางราชการ และเลิกใช้เมื่อหมดอำนาจในปี พ.ศ. ๒๔๘๗(2)

ตัวอย่างอักขระวิธีภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไป คือป้ายสถานีตำหรวดภูธรจังหวัดสรีสะเกส
ระหว่าง พ.ศ. 2485-2487 ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัถมนตรี
  

ภาพสถานีตำรวจภูธรอำเภอขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2510
ภายหลัง พ.ศ. 2478 อักขระวิธีภาษาไทยก็เข้าสู่รูปแบบปัจจุบัน
ดังที่ทุกท่านได้เห็นในป้าย สถานีตำรวจภูธรอำเภอขุขันธ์ บนภาพนี้
เอกสารอ้างอิง :
(1) ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย 28 พรึสภาคม 2485 คลิก
(2) วาทิน ศานติ์ สันติ.ภาษาศาสตร์ : พัฒนาการอักษรไทย จากเริ่มต้นสู่วิบัติ.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก : https://www.gotoknow.org/posts/449330.(วันที่ค้นข้อมูล : 17 ตุลาคม 2561).

เอกสารอ้างอิง(เพิ่มเติม) :
"ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงอักสรไทย" (ใน ภาษาไทย). ราชกิจจานุเบกษา. 29 พฤษภาคม 2485. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561คลิก

ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงอักสรไทย ราชกิจจานุเบกสา ตอนที่ ๓๕ เล่ม ๕๙ หน้า ๑๑๓๗ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๕. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561คลิก

# "ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องไห้ไช้พจนานุกรมตัวสกดแบบไหม่เปนหลักการเขียนหนังสือไทย" (ใน ภาษาไทย). ราชกิจจานุเบกษา. 14 กรกฎาคม 2485. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561 คลิก

# "ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการไช้เลขสากลเปนเลขไทย" (ใน ภาษาไทย). ราชกิจจานุเบกษา. 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485.สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561. คลิก

# "ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย และการไช้เลขสากลเปนเลขไทย" (ใน ภาษาไทย). ราชกิจจานุเบกษา. 9 พฤศจิกายน 2487. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561คลิก

# "ประกาสแต่งตั้งที่ปรึกสาราชการแผ่นดิน" (ใน ภาษาไทย). ราชกิจจานุเบกษา. ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๗. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561. คลิก


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย