-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เมืองขุขันธ์กับเหตุการณ์ครบรอบ ๒๕๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๕๒...ปีแห่งมหามงคล...

       เหตุการณ์แรกคือ ครบรอบ ๒๕๐ ปี รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี (ทองด้วง) เสด็จตามพญาช้างเผือกมาที่เมือง ขุขันธ์ พ.ศ. ๒๓๐๒
       เหตุการณ์ที่ ๒ คือ ครบรอบ ๒๕๐ ปี เมืองขุขันธ์ปกครองในระบบราชการขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นนอก
       เหตุการณ์ที่ ๓ คือครบรอบ ๒๕๐ ปี ตากะจะได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงแก้วสุวรรณ” ตำแหน่งนายกอง
       เหตุการณ์ที่ ๔ คือครบรอบ ๒๕๐ ปี เชียงขันได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงปราบ” ตำแหน่งผู้ช่วยนายกอง
เหตุการณ์ที่ ๕ คือครบรอบ ๒๕๐ ปี การตั้งศาลหลักเมืองขุขันธ์ ( ปรับปรุงทำนุบำรุงใหม่ ๒๕๕๒)
       เหตุการณ์ที่ ๖ คือครบรอบ ๒๐๐ ปี พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( ทองด้วง) ทรงเสด็จสวรรคต (เห็นสมควรที่น่าจะสร้างอนุสรณ์สถานอนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ เมืองขุขันธ์ อีกด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญร่งเรืองแห่งเมืองขุขันธ์ สืบไป)
       ด้วยเหตุการณ์และเหตุผลดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงเห็นควรจัดทำบุญเฉลิมฉลอง ๒๕๕๒ ปี เมืองขุขันธ์ให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นเมืองประวัติศาสตร์เพื่อเตรียมการขอยกฐานะเป็นจังหวัดขุขันธ์ต่อไป

การชำระประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์

             ประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม เทศบาลตำบลห้วยเหนือ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 10 ท่าน ที่ประชุมร่วมพิจารณา เนื้อหาประวัติเมืองขุขันธ์ และประวัติเจ้าเมือง ฉบับที่ อาจารย์นิติภูมิ ขุขันธิน ร่างมาเสนอเป็นต้นฉบับ แก้ไข ขัดเกลา ศึกษาเพิ่มเติม และให้มีเอกสารอ้างอิง
             ประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลห้วยเหนือ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 12 ท่าน ได้ประชุมพิจารณาร่างประวัติเมือง ประวัติเจ้าเมือง และประวัติการสร้างที่มอบหมาย โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษาไทย เข้าร่วมประชุมพิจารณา ปรับปรุง แก้ไข การใช้สำนวนทางภาษาไทยให้สละสลวยถูกต้องตามหลักภาษา ก่อนนำเสนอนายอำเภอขุขันธ์ พิจารณาอนุญาตให้ไปบันทึกลงในแผ่นจารึก
             ประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม เทศบาลตำบลห้วยเหนือ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 15 ท่าน ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รู้และผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติเมืองขุขันธ์มาร่วมประชุมพิจารณา ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข เอกสารฉบับร่างที่คณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทย ร่วมกันประชุมพิจารณา ครั้งที่ 4/2548 และสรุปผลการประชุมพิจารณาและนำเสนอนายอำเภอเพื่อขออนุญาตจารึกลงในแผ่นศิลา จารึกบริเวณฐานอนุสาวรีย์
             ประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมเล็กที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 19 ท่าน มีนายอำเภอขุขันธ์เป็นประธานมนที่ประชุม ประธานเสนอให้ที่ปะชุมทบทวน ปรับปรุงเนื้อหาประวัติเจ้าเมืองให้ชัดเจนขึ้น ผลการประชุมได้เนื้อหาที่จะนำไปจารึกไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ทั้ง 2 ด้าน

ประวัติพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน( ตากะจะ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

             พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เดิมชื่อว่า ตากะจะ หรือตาไกร เป็นหัวหน้าชาวเขมรป่าดงบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน

             ปี พุทธศักราช ๒๓๐๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา พญาช้างเผือกมงคลแตกโรงหนีเข้าป่า ไปรวมอยู่กับโขลงช้างป่าในเทือกเขาพนมดงเร็ก ตากะจะหรือตาไกร และเชียงขัน พร้อมด้วยหัวหน้าชาวเขมรป่าดง รับอาสาตามจับพญาช้างเผือกได้และตามคณะนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยความชอบในครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ ตากะจะหรือตาไกร เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ตำแหน่งหัวหน้านายกองปกครองหมู่บ้าน
             ปีพุทธศักราช ๒๓๐๖ หลวงแก้วสุวรรณนำเครื่องบรรณาการถวายพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา ความชอบครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนขึ้นเป็น “เมืองขุขันธ์” โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้หลวงแก้วสุวรรณ เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์
             ปีพุทธศักราช ๒๓๑๙ – ๒๓๒๐ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ มีรับสั่งให้ พระยาจักรี ( ทองด้วง ) ไปทำศึกปราบกบฎกับเวียงจันทน์ พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ( ตากะจะ) และ”หลวงปราบ” ได้เกณฑ์กำลังไปช่วยรบอย่างเข้มแข็ง จนได้รับชัยชนะทุกครั้งมีความชอบจึงได้โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน“ นับได้ว่าเป็นบรรพบุรุษผู้สร้างเมืองขุขันธ์ เป็นต้นตระกูลเจ้าเมืองขุขันธ์และได้ถึงแก่ อนิจกรรมในปี พุทธศักราช ๒๓๒๑
             ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ นายกฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา นายอำเภอขุขันธ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยเหนือ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งในอำเภอขุขันธ์ พร้อมด้วยประชาชนชาวขุขันธ์ทุกหมู่เหล่า ด้วยความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณของทางราชการจาก นายถนอม ส่งเสริม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้พร้อมใจกันดำเนินการก่อสร้าง อนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ขึ้นโดยได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๑๙ น. สร้างเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๘

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ประวัติเมืองขุขันธ์ โดยสังเขป

เริ่มต้นที่ยุคเมืองมหานคร (Angkor អង្គរ) คลิก  
ณ ที่นี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา - รัตนโกสินทร์
            ในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณที่เป็นเขตจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ ในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่างๆ หลายชนเผ่าอาศัยอยู่รวมกัน ได้แก่ชนเผ่าเขมร กวย ลาว ฯลฯซึ่งเรียกโดยรวมว่า เขมรป่าดง มีชุมชนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็น เมืองขุขันธ์

"ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน" ในอดีต ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ปราสาทกุด"
เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม
  

             ปีพุทธศักราช ๒๓๐๒ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา พญาช้างเผือกได้แตกโรงไปอยู่รวมกับโขลงช้างป่าในเขตภูเขาพนมดงเร็ก จึงโปรดเกล้าฯให้ทหารเอกคู่พระทัย ( ทองด้วงและบุญมา) นำไพร่พลออกติดตามโดยได้รับการช่วยเหลือจาก ตากะจะ หรือตาไกร หัวหน้ากลุ่มชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนและเชียงขันธ์ ร่วมกับหัวหน้ากลุ่มชนชาวเขมรป่าดงที่ชำนาญการจับช้างคือ เชียงปุม แห่งบ้านเมืองที เชียงสี แห่งบ้านกุดหวาย เชียงฆะ แห่งบ้านอัจจะปะนึง และเชียงไชย แห่งบ้านจาระพัด ออกติดตามจนพบ สามารถจับพญาช้างเผือกได้ และตามคณะนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ ตากะจะหรือพระยาไกร เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ตำแหน่งนายกองหัวหน้าหมู่บ้านและเชียงขันธ์ เป็นหลวงปราบผู้ช่วย
              ปีพุทธศักราช ๒๓๐๖ โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ขึ้นเป็น เมืองขุขันธ์ โดย หลวงแก้วสุวรรณ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก
              ปีพุทธศักราช ๒๓๒๑ พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เมืองขุขันธ์ในอดีตมีผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ๙ คน ดังนี้
              ๑. พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือ ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก (ตากะจะ - พุทธศักราช ๒๓๐๒ - ๒๓๒๑)
              ๒. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๒(เชียงขันธ์ - พุทธศักราช ๒๓๒๑ - ๒๓๒๕)  
              ๓. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๓( ท้าวบุญจันทร์ - พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ๒๓๖๙)
              ๔. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๔( พระสังฆะบุรี หรือ ทองด้วง - พุทธศักราช ๒๓๗๑ - ๒๓๙๓)
              ๕. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๕( ท้าวใน - พุทธศักราช ๒๓๙๓)
              ๖. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๖( ท้าวนวน - พุทธศักราช ๒๓๙๓)
              ๗. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๗(ท้าวกิ่ง หรือ หลวงภักดีภูธรสงคราม พุทธศักราช ๒๓๙๔ - ๒๓๙๕)
              ๘. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๘(ท้าววัง - พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖)
              ๙. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๙(ท้าวปัญญา ขุขันธิน - พุทธศักราช ๒๔๒๖- ๒๔๔๐/ ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๕๐)ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามสกุล "ขุขันธิน")

- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์
- ปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ยุบเมืองศรีสะเกษและเมืองเดชอุดม โดยให้อำเภอที่ขึ้นกับเมืองทั้งสองไปขึ้นกับเมืองขุขันธ์
- ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ย้ายเฉพาะศาลากลางเมืองขุขันธ์ จากที่ตั้งเดิม(อำเภอเมืองขุขันธ์) ไปตั้งบริเวณศาลากลางเมืองศีร์ษะเกษ แต่ยังคงใช้ชื่อ ศาลากลางเมืองขุขันธ์ ส่วนพื้นที่อำเภอเมืองขุขันธ์ยังอยู่ที่ตั้งเดิม
- ปี พุทธศักราช ๒๔๕๙ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดขุขันธ์
- ปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองขุขันธ์ เป็น อำเภอห้วยเหนือ
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดศีร์ษะเกษ เปลี่ยนชื่อ อำเภอห้วยเหนือ เป็นชื่อ อำเภอขุขันธ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ประเทศของเราเดิมชื่อ ประเทศสยาม(Siam) 
เปลี่ยนชื่อมาเป็น ประเทศไทย (Thailand )


วีดิทัศน์ประวัติเมืองขุขันธ์โดยสังเขปที่กล่าวถึงเริ่มต้นจากวีรกรรมการตามจับช้าง
ในช่วงตอนปลายกรุงศรีอยุธยา  สำหรับเวอร์ชั่นที่เริ่มต้นจาก พ.ศ. 1580
ยุคเมืองมหานคร อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ...ครับ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย