ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ที่มาของคำว่า "อีสาน"

             คำว่า อีสาน มีรากจากภาษาสันสกฤต สะกดว่า อีศาน หมายถึง นาม พระศิวะ ผู้เป็นเทพดาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (เคยใช้มาแล้วเมื่อราว หลัง พ.ศ. 1000 ยุคเขมรโบราณในชื่อรัฐว่า อีศานปุระ และชื่อพระราชาว่า อีศานวรรมัน) แต่คำบาลีเขียนอีสาน ฝ่ายไทยยืมรูปคำจากบาลีมาใช้ หมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คำว่าตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่หมายตรงกับคำอีสาน) เริ่มใช้เป็นทางการ สมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2442 ในชื่อ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ ยังหมายเฉพาะลุ่มนํ้ามูลถึงอุบลราชธานี จัมปาสัก ฯลฯ  รวมความแล้วใครก็ตามที่มีถิ่นกำเนิด หรือมีหลักแหล่งอยู่ทางภาค ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (จะโดยเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่เมื่อไร ก็ตาม) ถ้าถือตัวว่าเป็น คนอีสาน หรือ ชาวอีสาน อย่างเต็มอกเต็มใจ และอย่างองอาจ ก็ถือเป็นคนอีสานเป็นชาวอีสานทั้งนั้น




             ดังนั้น "คนอีสาน" หรือ "ชาวอีสาน" จึงไม่ใช่ชื่อของเชื้อชาติเฉพาะ แต่เป็นชื่อ สมมติเรียกกลุ่มคนหลายหลากมากมายในดินแดนอีสาน และเป็นชื่อเรียกอย่าง กว้างๆ รวมๆ ตั้งแต่อดีตสืบจนปัจจุบัน


ที่มา  สุจิตย์ วงษ์เทศ.(2549).ชื่อบ้านนามเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ.กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.



วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558

" นายธีรัชพัฒน์ ย่อทอง" อสม.ดีเด่น ระดับชาติ สาขาสุขภาพจิตชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2558

           นายธีรัชพัฒน์ ย่อทอง อาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับชาติ สาขาสุขภาพจิตชุมชน ปัจจุบันอายุ 43 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 101 หมู่ที่ 11 บ้านโพนใหญ่ ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ สมรสกับนางนิตยา ย่อทอง มีบุตรชาย 1 คน ประกอบอาชีพเกษตรกร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก กศน.อำเภอขุขันธ์ ดำรงตำแหน่ง อสม.บ้านโพนใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 รวมระยะเวลาปฏิบัตงาน 10 ปี



           นายธีรัชพัฒน์ ย่อทอง อาสามัครผู้ทุ่มเท เสียสละ อุทิศตนเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของชาวบ้าน และเปี่ยมด้วยความเมตตากับชาวบ้านทุกคนที่ประสบปัญหาความทุกข์ใจ โดยได้ริเริ่มก่อตั้ง คณะจิตอาสา "หน่วยกู้ใจ" หรือ "ชมรมเลียเปรียะ ตำบลกันทรารมย์" เพื่อให้คำปรึกษา เสริมพลัง และเยียวยาจิตใจของคนในชุมชน จนชาวบ้านในตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบสมญานามให้ว่า "ผู้นำทางจิตวิญญาณของหมู่บ้าน" ที่นำความสงบสุขสู่ชุมชนอย่างแท้จริง




           นวัตกรรมเด่นของ นายธีรัชพัฒน์ ย่อทอง ประกอบด้วย "บทเลียเปรียะ" (លាព្រះ) ซึ่งเป็นบทสวดมนต์พื้นบ้านทำนองสารภัญญะท้องถิ่นเขมร ที่มีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การแก้ไขดวงนพเคราะห์ และการสู่ขวัญให้แก่ผู้ป่วย โดย นายธีรัชพัฒน์ ย่อทอง ได้พาคณะจิตอาสา "หน่วยกู้ใจ" ออกไปดูแลให้บริการแก่ผู้ป่วยถึงที่บ้าน โดยเฉพาะกรณีของผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ป่วยติดเตียง คณะจิตอาสา "หน่วยกู้ใจ" ก็จะพากันเตรียมชุมชน และร่วมกันสวดมนต์ "บทเลียเปรียะ" (លាព្រះ) เพื่อเยียวยา เสริมพลังใจ และขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้แก่ผู้ป่วย และหลังจากนั้นก็จะทำพิธีสู่ขวัญผูกแขนแก่ผู้ป่วย และญาติให้มีกำลังใจที่จะช่วยดูแลกันและกันแบบประคับประคองกันไปอย่างมีความสุข และนอกจากนี้ ยังได้นำ "บทเลียเปรียะ" (លាព្រះ) มาจัดทำเป็นไฟล์เสียง หรือแผ่นซีดี เพื่อแจกจ่ายให้ญาติของผู้ป่วยเหล่านั้น นำไปเปิดให้ผู้ป่วยฟัง เพื่อผ่อนคลาย และทดแทนการไปวัดฟังธรรม ภายหลังจากที่เขาเหล่านั้นได้ป่วยแล้ว และไม่สามารถเดินทางไปวัดได้ ให้ได้ยินและได้ฟังเสียงบทสวดมนต์เป็นการทดแทน และนอกจากนี้ยังได้ใช้ "กลิ่นสมุนไพรบำบัด" ร่วมด้วย โดยเลือกนำสมุนไพรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น อันได้แก่ ใบหนาด ว่าน และไพลชนิดต่างๆ ที่มีสรรพคุณในการบำบัดโรค ป้องกันและขับไล่สิ่งชั่วร้ายมิให้มาแผ้วพาน หรือเบียดเบียนการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วย



           สำหรับในกรณีของผู้ป่วยระยะสุดท้าย คณะจิตอาสา "หน่วยกู้ใจ" ก็จะพากันไปทำพิธีขอขมาลาโทษเจ้ากรรมนายเวร และอกุศลกรรมทั้งปวงให้แก่ผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อให้คลายจากทุกข์ หมดกังวล มีความพร้อมที่จะนำดวงจิตอันบริสุทธิ์ไปสู่สุขคติด้วยอาการสงบ ส่วนญาติก็สามารถที่จะทำใจยอมรับกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้         



           นอกจากนี้ คณะจิตอาสา "หน่วยกู้ใจ" ของตำบลกันทรารมย์ ยังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การร่วมเป็นคณะทำงานจัดลำดับพิธีการ และโฆษกงานศพในหมู่บ้าน และชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย เพื่อช่วยเยียวยาจิตใจของญาติซึ่งได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป

           จากการประเมินผลการปฏิบัติงานของ คณะจิตอาสา "หน่วยกู้ใจ" ตำบลกันทรารมย์ ซึ่งนำโดย นายธีรัชพัฒน์ ย่อทอง พบว่า ชาวบ้านทุกหมู่บ้านในตำบลกันทรารมย์ต่างให้การยอมรับด้วยดี  โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยติดเตียงมีระดับความเจ็บปวดลดลง ผู้ป่วยและครอบครัวมีความพึงพอใจ และมีความสุขกับการได้รับการดูแลแบบประคับประคองด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ นับว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ยอดเยี่ยม มีความสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิต และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง


"บทเลียเปรียะ" ภูมิปัญญาเยียวยาจิต
สร้างชีวิตเสริมพลังใจผู้สิ้นหวัง
"หน่วยกู้ใจ" พร้อมดูแลและรับฟัง
รวมพลังสุขภาพดีวิถีชุมชน
           ด้วยความสามารถและผลงานที่โดดเด่น ของ นายธีรัชพัฒน์ ย่อทอง ทำให้อำเภอขุขันธ์ ได้เชิญร่วมสืบสานงานประเพณีแซนโฏนตา เพื่อกล่าวอัญเชิญดวงวิญญาณโฎนตา ซึ่งเป็นงานประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชนทุกเผ่าในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้จัดขึ้นทุกปีในช่วงวันแรม 14-15 ค่ำ เดือน 10 นับว่าเป็นประเพณีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้สืบทอดต่อๆกันมาตั้งแต่โบราณกาล



           และรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ "อาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่น ระดับชาติ สาขาสุขภาพจิตชุมชน" ประจำปี พ.ศ. 2558



"หน่วยกู้ใจ"จิตอาสามุ่งมั่นงานในวันนี้
ชุมชนมีสุขภาพดีโดยถ้วนหน้า
ร่วมกันดูแลด้วยหัวใจใฝ่เยี่ยวยา
จึงนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างงดงาม


วีดิทัศน์แนะนำ...
นายธีรัชพัฒน์ ย่อทอง
อสม.ดีเด่น ระดับชาติ สาขาสุขภาพจิตชุมชน 
ประจำปี พ.ศ. 2558 
ความภาคภูมิใจของชาวอำเภอขุขันธ์ 
และชาวจังหวัดศรีสะเกษ

เรียบเรียงโดย : สุเพียร คำวงศ์(11 มีนาคม 2558)

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย