ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วันมาฆบูชา “โอวาทปาติโมกข์” หัวใจพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา "โอวาทปาติโมกข์" หัวใจพระพุทธศาสนา

          วันมาฆบูชา วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ "หัวใจพระพุทธศาสนา" ในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ “มาฆะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๓ ส่วนคำว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓” ดังนั้น วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ในปีอธิกมาส) ถือเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” นับจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาเป็นเวลา ๙ เดือน
เมื่อถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๓ พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้นได้มีพระอรหันต์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งแบ่งเป็นพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ รูป กับพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ ๒๕๐ รูป รวมทั้งสองคณะเป็น ๑,๒๕๐ รูป ได้พร้อมกันไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การมาประชุมใหญ่ของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ในสมัยพุทธกาล จึงเรียกเหตุการณ์ในคราวนั้นว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า “ความประชุมประกอบด้วยองค์ ๔" ในอรรถกถาทีฆนขสูตร ได้แสดงไว้ว่า องค์ ๔ คือ พระสาวกที่มาประชุมกันเป็นมหาสันนิบาต นั้นคือ
  • ๑. พระสงฆ์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันวนาราม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
  • ๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
  • ๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เหล่านั้น ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
  • ๔. วันเพ็ญเดือนมาฆะ คือวันเพ็ญกลางเดือน ๓ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อันเป็น“หัวใจของพระพุทธศาสนา” คือ “โอวาทปาติโมกข์” และ วันมาฆบูชา ในอีก ๔๕ พรรษา ต่อมาพระบรมศาสดาได้ทำการ “ปลงมายุสังขาร” ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระบรมศาสดาในครั้งนี้ ก็ทำให้อีก ๓ เดือนต่อมา พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในวันวิสาขบูชา
ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หรือ โอวาทปาติโมกข์
ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หรือ โอวาทปาติโมกข์

ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หรือ โอวาทปาติโมกข์

พระโอวาท หรือ โอวาทปาติโมกข์ นี้ ประมวลพระพุทธวาทะ ประมวลพระพุทธศาสนา ด้วยข้อความเพียง ๓ คาถากึ่ง ฉะนั้น พระโอวาทนี้จึงเป็นที่นับถือว่า แสดงหัวใจพระพุทธศาสนา ตามที่ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รวบรวมไว้ว่าดังนี้้
โอวาทปาติโมกข์ “หัวใจพระพุทธศาสนา”
  • “๏ สพฺพปาปสสฺ อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
  • ๏ กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำความดีให้ถึงพร้อม
  • ๏ สจิตฺต ปริโยทปน การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว”
เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระพุทธวาทะดังกล่าวแล้ว ก็ได้ตรัสต่อไปอีกหนึ่งคาถากึ่งว่า
  • “๏ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
  • ๏ นิพพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
  • ๏ ปพฺพชิโต  ปรูปฆาตี  สมโณ  โหติ  ปรํ วิเหฐยนฺโต“
  • ๏ สพฺพปาปสสฺ  อกรณํ
  • ๏ กุสลสฺสูปสมฺปทา
  • ๏ สจิตฺต ปริโยทปนํ
  • ๏ อนูปฆาโต
  • ๏ ปาติโมกฺเข จ สํวโร
  • ๏ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
  • ๏ ปนฺตญฺจ สยนาสํ
  • ๏ อธิจตฺเต จ อาโยโค
  • ๏ เอตํ  พุทธาน  สาสนํ”
  • “ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง
  • บรรพชิตคือนักบวช ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่  ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่
  • ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
  • การไม่ทำบาปทั้งปวง
  • การยังกุศลให้ถึงพร้อม
  • การทำจิตของตนให้ผ่องใส
  • นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
  • การไม่กล่าวร้าย ๑
  • การไม่ทำร้าย ๑
  • ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
  • ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑
  • ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑
  • การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
  • ธรรมหกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.”
พระโอวาทในข้อนี้ เป็นเหมือนคำอธิบายประกอบของโอวาทที่เป็นหลัก ๓ ข้อดังกล่าว มีข้อสังเกตคือในเวลานั้น พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยปาติโมกข์ ฉะนั้นที่ตรัสให้สำรวมในพระปาติโมกข์ จึงมีความหมายคือ ปาติโมกข์ที่เป็นตัวแบบฉบับ อันควรทีสมณะจะพึงปฏิบัติโดยทั่วไป พระโอวาททั้งหมดนี้เรียกว่า พระโอวาทปาติโมกข์ ปาติโมกข์ที่เป็นโอวาทพระพุทธเจ้า ได้ตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งนั้น จึงมิได้มุ่งที่จะอบรมให้ท่านบรรลุมรรคผล แต่ว่ามุ่งที่จะวางแนวพระพุทธศาสนา เบื้องต้นก็ชี้ถึง
วาทะของพระพุทธะ ๓ ข้อต่อมาก็วางหลักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างกว้าง ๆ ไว้ ๓ ข้อ และมีคำอธิบายประกอบอีกเล็กน้อย ท่านแสดงว่าในวันอุโบสถวันพระจันทร์เพ็ญ และวันพระจันทร์ดับ (วันพระข้างขึ้น ๑๕ ค่ำ และข้างแรม ๑๕ ค่ำ) พระพุทธเจ้าได้ประทับเป็นประธานหมู่พระสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ขึ้นด้วยพระองค์เองทุก ๑๕ วัน แปลว่า ทรงทำอุโบสถร่วมด้วยภิกษุสงฆ์แล้วก็เรียกว่า ปาริสุทธิอุโบสถ คือ เป็นอุโบสถที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงบริสุทธิ์ พระสงฆ์ก็บริสุทธิ์
จนถึงมีเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมามีเล่าไว้ในบาลีวินัย (วิ.จุลฺล. ๗/๒๘๓/๔๔๗-๘; ขุ.อุ. ๒๕/๑๕๐/๑๑๖.) ว่าพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลงมา จึงถึงเวลา ๑ ยาม พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนว่า ยามหนึ่งแล้วพระมานั่งรออยู่นานแล้ว ขอให้เสด็จลงทรงสวดปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๒ พระอานนท์ ก็ไปทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๓ พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง แต่ว่าในยามที่ ๓ นี้ ได้มีพระพุทธดำรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์ คือว่ามีพระทุศีลมาปนอยู่ด้วยพระโมคคัลลานะจึงได้เที่ยวตรวจดู เมื่อไปพบภิกษุที่ทุศีล ก็บอกให้ออกไปจากที่ประชุม ผู้นั้นก็ไม่ยอมออกไปต้องฉุดแขนออกไป แต่ก็สว่างเสียแล้ว พ้นเวลาที่จะทำอุโบสถก็เป็นอันว่า ในอุโบสถนั้นไม่ได้ทำ (การสวดปาติโมกข์) พระพุทธเจ้าจึงทรงปรารภเรื่องนี้ (วิ.จุลฺล. ๗/๒๙๒/๔๖๖) ตรัสให้พระสงฆ์ยกเอาพระวินัยที่ทรง บัญญัติขึ้นไว้ มาสวดเป็นปาติโมกข์แทน และให้พระสงฆ์สวดกันเองพระพุทธเจ้าไม่เสด็จมาทำอุโบสถร่วมด้วยอีกต่อไป
เพราะฉะนั้น จึงมีการยกเอาวินัยขึ้นสวดเป็นปาติโมกข์ทุก ๆ ๑๕ วัน สืบต่อมาจนบัดนี้ ปาติโมกข์ที่ยกเอาพระวินัยขึ้นสวดนี้ เรียกว่า วินัยปาติโมกข์ (ซึ่งก็คือ คัมภีร์รวมวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ ซึ่งต้องสวดทบทวนในที่ประชุมสงฆ์ หรือการลงอุโบสถทุกกึ่งเดือนในวันพระ)

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันมาฆบูชา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ทรงอธิบายเกี่ยวกับธรรมเนียมพิธีการมาฆบูชาไว้ว่า เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยจัดพิธีวันมาฆบูชามาก่อน จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้ทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆะบูรณมี เป็นวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
การประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อน ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้จัดให้มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็น เสร็จแล้วสวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่าง ๆเทศนาจบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์ ๓๐ รูป สวดรับ
การประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้างเช่น รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง หรือบางครั้งก็มิได้เสด็จออกเอง เพราะมักเป็นช่วงเวลาที่พอดีีกับการเสด็จประพาสหัวเมือง แต่หากวันดังกล่าวตรงกับช่วงที่เสด็จไปประพาสบางปะอิน หรือพระพุทธบาทพระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวัง
เดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ขยายออกไปให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔
เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาบรรจบในแต่ละรอบปี พุทธบริษัทจะร่วมกันประกอบศาสนพิธี ซึ่งการปฏิบัตินั้นจะดำเนินไปเช่นเดียวกับวันวิสาขบูชา แต่ในวันนี้พระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์
ที่มา :  - ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กราบถวายมุทิตาสักการะพระราชปริยัตยาทร

ขอเชิญชวนสาธุชน ร่วมกราบถวายมุทิตาสักการะพระราชปริยัตยาทร
วันที่ 7 ธันวาคม 2559 เวลา 14.30 น. 
ณ อาคารห้องประชุมโรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง 
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คำกล่าวบูชาพระพุทธเจ้า อัญเชิญเทวดา และดวงวิญญาณโฎนตาเมืองขุขันธ์ ปี พ.ศ. 2559 (ฉบับ 3 ภาษา)

(ต้นฉบับภาษาเขมรโบราณเมืองขุขันธ์)


( ต้นฉบับแปลภาษาเป็นภาษาไทย )
สาธุ สาธุ สาธุ

พระผู้มีพระภาคเจ้า พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ประทานอนุญาตให้พระบาทพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธได้กระทำพิธีปุพพเปตพลี คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พิธีบุญนี้ คือสารทพิธี หรือพิธีแซนโฎนตา ที่พวกเรากำลังทำอยู่ในขณะนี้
ข้าพเจ้าขอกราบอัญเชิญ เทพบุตร เทพธิดา ที่รักษาคุ้มครอง ณ สถานที่แห่งนี้พร้อมด้วยพระอินทร์ พระพรหม พระยมราช ตลอดทั้งท่านท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ซึ่งสถิตอยู่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ได้แก่
พระบาท ธตรฐ ผู้ดูแลด้านบูรพาทิศ
พระบาทวิรุฬหก ผู้ดูแลด้านทักษิณทิศ
พระบาทวิรูปักษ์ ผู้ดูแลด้านปัจจิมทิศ
และพระบาทกุเวร หรือท้าวเวสสุวัณ ผู้ดูแลทิศอุดร
ขอกราบอัญเชิญ เทพารักษ์คุณตาคลังเมือง คุณตาประจำเมือง ซึ่งสถิตอยู่ในทิศทั้ง 8 พระแม่ธรณี ได้มาเป็นสักขีพยานในพิธีแซนโฎนตาของพวกเราในวันนี้
ณ วันนี้ลูกหลานเมืองขุขันธ์ พร้อมใจกันทำบุญใหญ่เพื่อบูชาคุณด้วยกระยาหารแด่คุณตาประจำเมือง คุณบิดา คุณมารดา พี่น้อง ลูกหลาน บรรดาญาติทุกถิ่นฐาน ขอให้สุขสำราญดังที่ใจปรารถนา
วันนี้ วันดี เวลางาม ลูกหลานเมืองขุขันธ์ได้พร้อมใจกันมาร่วมทำบุญ โดยมีท่าน
……………………………………………. ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธาน
……………………………………………. นายอำเภอขุขันธ์
นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีสะอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 21 ตำบล กำนันทั้ง 22 ตำบล ผู้ใหญ่บ้านทั้ง  276  หมู่บ้าน และลูกหลานชาวขุขันธ์ทุกสารทิศได้ตระเตรียมโภชนาหาร    จับก้อนข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นข้าวทิพย์เดือน 10 อันอุดมสมบูรณ์ มอบให้ปู่ย่า ตายาย เพื่ออุทิศส่วนบุญถึงญาติกาทั้งหลาย
ขอท่านปู่ย่า ตายาย ได้โปรดมารับเครื่องโภชนกระยา อันได้แก่ ขนมต่างๆ กล้วยสุก ข้าวต้ม อาหารคาวหวานทั้งหลาย ข้าว แกง อาหารเนื้อ หมู ปลา เป็ด ไก่ ผลไม้ เผือกมัน นานาชนิด หมากพลู พร้อมด้วยธูปเทียนเพื่อบูชา ปู่ย่า ตายายให้ได้รับประทานและบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ ให้อิ่มหนำสำราญอย่างที่ท่านปรารถนาทุกประการ
ขอกราบอัญเชิญพระยาขุขันธ์ทุกท่าน โดยมีตากะจะ ซึ่งภาษาไทยเรียกท่านว่า พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เป็นท่านแรก และพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนทั้ง     8 ท่าน ซึ่งได้แก่ คุณตาเชียงขัน ท้าวบุญจันทร์ คุณตาทองด้วง คุณตาท้าวใน คุณตาท้าวนวน คุณตาท้าวกิ่ง คุณตาท้าววัง ตลอดถึงคุณตาท้าวปาน หรือคุณตาปัญญา ขุขันธิน
พร้อมด้วยปู่ย่า ตายาย นายคลังเมือง ปู่ย่า ตายายประจำเมือง ที่อาศัยอยู่ทั่วดินแดน ภูเขา ลำเนาไพร ตามท้องไร่ ท้องนา ห้วยหนองคลองบึง พร้อมด้วยครอบครัวทุกถิ่นฐานซึ่งได้มาอยู่พร้อมกัน ณ สถานที่แห่งนี้หรืออยู่ ณ สถานที่แห่งใดในทุกสารทิศ
ขอท่านได้โปรดมาร่วมรับประทานอาหาร ภักษาหาร ผลาหารให้อิ่มหนำสำราญ เมื่อท่านได้รับประทานอิ่มหนำสำราญเป็นที่เบิกบานสำราญใจแล้ว ขอท่านได้โปรดอวยชัยให้พรให้ลูกหลานทั้งหลายได้มีความสุขกายสบายใจ อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ค้าขายได้กำไรงาม หากินร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมา ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยใดๆ อย่าได้มาเบียดเบียน ขอให้มีความสุขทั้งหมู่ชนและสัตว์ทั้งหลาย
ขอให้ลูกหลานเมืองขุขันธ์ คิดหวังสิ่งใดก็ขอให้สมหวังดังที่ใจปรารถนาทุกท่านทุกประการเทอญ
สาธุ สาธุ สาธุ
พระเจ้าพิมพิสาร ทรงขออนุญาตพระพุทธเจ้าทำพิธีปุพพเปตพลี
คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต ให้ทำได้


( ต้นฉบับแปลภาษาเป็นภาษาอังกฤษ )

Sadhu, Sadhu, Sadhu
Holy, the Lord Buddha, who gave permission to King Bimbisara, King of Magadha Empire to prepare the ceremony to give foods to those who passed away. And this ceremony that we call San Dhounta as we are doing now.

We are pleased and respectfully to invite gods to witness. They are male deity and goddess, the God Indra, god Brahma and the four Heavenly Kings are four gods on Cāturmahārājikakāyika, each of whom watches over one cardinal direction of the world.

Dhṛtarāṣṭra or Thao Thatarot, watches over the east direction.

Virūḍhaka   or Thao Wirunhok watches over the south direction.

Virūpākṣa or Thao Wirupak watches over the west direction.

Vaiśravaṇa a (Kubera) or Thao Kuwen or Wetsawan or Wetsuwan watches over the north direction.
Also, we are pleased and respectfully to invite Guardian angels, treasurers, grandfathers, grandmothers of Meuang Khukhan in the eight directions also the Earth goddess to witness our San Dhounta ceremony nowadays.
As of today, descendants of Meuang Khukhan are ready making merit in a big ceremony with every consumables to worship our grandfathers, grandmothers, fathers, mothers, brethrens, descendants those relatives who live everywhere to be happy with our offerings.
Today is very good day. The descendants of Meuang Khukhan are ready to make merit with
………………………………….Si sa ket Provincial Governor
………………………………….Khukhan District Officer

the mayor of Meuang Khukhan,the mayor of Si Sa-at, the 21 mayors of all communes, 22 commune headmen and 276 village headmen.

Your descendants have already prepared every plentiful consumables on the tenth of lunar month to offer grandfathers and grandmothers to dedicate and devote merit to all relatives.

We are happy to invite our grandfathers and grandmothers to receive consumables namely, desserts, various sweets, ripe many bananas, many kinds of mush, meat dishes and many candies, rices, fruits, taro, numerous eatable root crops, betel and betel nuts also incense stick and candle to worship our grandfathers and grandmothers to consume perfectly according to your wishes.

Today, we respectfully invite all nine leaders of Meuang Khukhan to participate San Dhounta ceremony. They are Praya Krai Pakdi Sinakorn Lamduan, as we always call him, Takaja, the first leader, Kunta Chiengkhan, Thao Boonchan, Kunta Thongdung, Kunta Thaonai, Kunta Thaonuan, Kunta Thao King, Kunta Thaowang also Kunta Pan or Kunta Panya Khukhandhin.

In addition, we also invite all our grandparents, the treasury officer and other relatives who live everywhere, in forest hills, according to on the farm fields, creeks, lagoons, canals, swamps, to come and consume plenty of consumables.

After all of you have had consumables happily, please bless us to be happy, to live long, to live in peace, to receive trading profit, to become wealthy, healthy, to have more plenty of fish and rice, to live without any illness and be happy both people and also animals.
Everything what descendants of Meuang Khukhan are thinking should receive in all respects.
Sadhu, Sadhu, Sadhu
พระเจ้าพิมพิสาร ทรงหลั่งน้ำ "ทักษิโณทก"
แปลว่า กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศล และอุทิศส่วนกุศล
ให้แก่พระญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
ภาพเขียนโดย ครูเหม เวชกร

กราบขอบพระคุณ : บรรพบุรุษครูบาอาจารย์เจ้าของตำราอัญเชิญดวงวิญญาณโฎนตาจากทุกตำบลในอำเภอขุขันธ์ ที่ทีมงานได้ศึกษาค้นคว้า และนำมาร้อยเรียงเป็นคำกล่าวอัญเชิญที่สมบูรณ์ สำหรับงานบุญประเพณีแซนโฎนตาทุกปี ของอำเภอขุขันธ์

ขอบคุณครูผู้ตรวจ/ทาน และแปลเป็นภาษาไทย-อังกฤษ : 
- ดร.ปริง เพชรล้วน คณะกรรมการฝ่ายพิธีกรรมงานแซนโฎนตา อำเภอขุขันธ์ ๒๕๕๙

ทีมงานผู้เรียบเรียง : 
- นายสุเพียร คำวงศ์ กรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
- นายเคลื่อน บุญเครือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต.กันทรารมย์
- นายธีรพัฒน์ ย่อทอง ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต.กันทรารมย์

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คำว่า "กาโงก" หรือ "กาโหงก" ในพื้นที่อำเภอภูสิงห์เชื่อมต่อกับอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ หมายถึงอะไร ?

           หลายท่านที่เป็นชาวขุขันธ์ ที่ได้เคยขับรถหรือสัญจรไปมาผ่านสี่แยกนาเจริญ ตำบลโสน ตามทางหลวงหมายเลข 24 มุ่งหน้ามาทางทิศตะวันออกผ่านสะพานข้ามห้วยแห่งหนึ่งก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ของตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ชื่อแปลกดี ที่ป้ายทางหลวงข้างถนนก่อนถึงสะพาน ปรากฏข้อความว่า "ห้วยกาโงก"
สะพานข้ามห้วยกาโงก หรือห้วยนกยูง บริเวณพื้นที่เขตรอยต่อ
อำเภอขุขันธ์ กับอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
และถ้าท่านเดินทางผ่านสี่แยกนาเจริญ ตำบลโสน มุ่งไปทางทิศเหนือ ก่อนที่เราจะเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านบ้านอาวอย ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จะมีสะพานข้ามห้วยแห่งหนึ่ง มีป้ายบอกชื่อไว้ว่า "ห้วยกาโหงก
   
          ผู้เขียนคิดว่าคงจะมีหลายท่าน อาจจะมีข้อสงสัยและกำลังค้นหาที่มาและความหมายของคำนี้กันอยู่ นะครับ


สะพานข้ามห้วยกาโหงก หรือห้วยนกยูง ในพื้นที่บ้านอาวอย ตำบลโสน
อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

คำว่า "กาโงก" หรือ "กาโหงก" คือ อะไรกันแน่ ?  
        จากที่ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม และสอบถามจากชาวบ้านที่เป็นผู้รู้ในพื้นที่ ทำให้ทราบว่า คำว่า "กาโงก" หรือ "กาโหงก เป็นคำที่ทางการถอดเสียงมาจากเสียงพูดคำภาษาเขมรโบราณในท้องถิ่นเมืองขุขันธ์ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน คือ อ่านออกเสียงว่า /kŋaok/  เป็นคำนาม ในที่นี้ อาจแปลได้ 2 ความหมาย ดังนี้ 
           ความหมายแรก แปลว่า นกยูง  หรือ นกยูงสีเขียว (อังกฤษ: Green peafowl; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo muticus มาจากภาษาละติน Pavo, นกยูง; muticus, เชื่อมต่อ หรือ ตัดทอน) จัดเป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ที่พบในป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สำหรับคำภาษาเขมรในประเทศกัมพูชาเรียกว่า សត្វ​ក្ងោក  เป็นคำนาม แปลว่า นกยูง 



           ความหมายที่สอง แปลว่า ต้นหางนกยูง  ในภาษาเขมรที่ใช้กันมาแต่โบราณในเมืองขุขันธ์ และแถบจังหวัดอีสานตอนใต้ คือ  สำหรับคำภาษาเขมรในประเทศกัมพูชาเรียกว่า ដើម​ក្ងោក  เป็นคำนาม แปลว่า ต้นหางนกยูง นั่นเอง
  
ต้นหางนกยูง
ดอกและใบของต้นหางนกยูง
ดอกของต้นหางนกยูง
            ผู้เขียน สันนิษฐานจากคำบอกเล่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นแถบนี้ ว่า พื้นที่แถบนี้ในอดีตที่ผ่านมา น่าจะเป็นป่าที่เคยพบว่ามีสัตว์ป่าประเภทนกยูง อยู่อาศัยอยู่กันเป้นจำนวนมาก นั่นเอง
           ดังนั้น คำว่า  นี้  จึงเป็นที่มาของคำเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ คือ บ้านนกยูง ซึ่งแปลมาจากรากศัพท์ภาษาเขมรท้องถิ่นดั้งเดิมที่เคยเรียกกันมาแต่ปู่ย่าตายายในยุคยุคก่อนหน้านี้  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น
ทัศนียภาพบริเวณด้านหน้าของวัดบ้านนกยูง
 อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ


          และนอกจากนี้ ยังเป็นชื่อเรียกของแหล่งน้ำที่เป็นสายใยเชื่อมพื้นที่เขตติดต่อกันของอำเภอขุขันธ์ กับ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เรียกว่า "ห้วยกาโงก" ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่บ้านนกยูง  ตำบลตะเคียนราม อำเภอภสิงห์ สิ้นสุดที่สะพานข้ามห้วยกาโหงก ที่บ้านอาวอย  ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งความยาวโดยประมาณ 6 กิโลเมตร  แต่ต่อมาลำห้วยจากสะพานข้ามห้วยกาโงก บริเวณเขตติดต่อกับอำเภอภูสิงห์  ถึงสะพานข้ามห้วยกาโหงก ที่บ้านอาวอย ตำบลโสน  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ถูกเรียกชื่อใหม่ในปัจจุบันว่า "ห้วยคด"  เพราะลำห้วยมีลักษณะโค้งคดเคี้ยวไปมา นั่นเอง


ห้วยคด ในปัจุบัน หรือ ห้วยกาโงก ในอดีต ก็คือชื่อเรียกห้วยเดียวกัน
   
           แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอสรุปเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ชื่อเรียก "ห้วยคด" ในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของห้วยกาโงก หรือ ห้วยกาโหงก  และห้วยกาโงก หรือ ห้วยกาโหงก ในปัจจุบันเป็นเพียงชื่อเรียกลำห้วยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลำห้วยตึกชู​ ​ซึ่งเป็นห้วยน้ำสายยาวที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ และอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ มาจนถึงปัจจุบัน...

ที่มา : สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ขอขอบคุณ ข้อมูลจากภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวบ้านอาวอย และชาวบ้านนกยูง ที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูล  และขอบคุณ คุณเศรษฐศักย์ ศรีบรรฎิษฐ ผู้ใหญ่บ้านอาวอยพัฒนา หมู่ที่ 21 ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษที่ช่วยประสานข้อมูลฯ , https://th.wikipedia.org/wiki/นกยูงไทย และขอบคุณท่าน ดร.ปริง เพชรล้วน ที่ช่วยเติมเต็มข้อมูลฯ

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ร.ศ. 129 หรือตรงกับ พ.ศ. 2453 ยุคจังหวัดขุขันธ์ และจังหวัดสุรินทร์ ประสบปัญหาฝนแล้งอย่างหนัก

           ในปีรัตนโกสินทร์ศก(ร.ศ.)129 หรือตรงกับ พ.ศ. 2453 ยุคจังหวัดขุขันธ์ และจังหวัดสุรินทร์ ประสบปัญหาฝนแล้งอย่างหนัก จนต้องมีประกาศจากทางการห้ามมิให้จำหน่ายหรือพาเข้า(คำศัพท์เดิมก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นคำว่า "ข้าว") ในจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดขุขันธ์ออกไปต่างเมือง เพราะทำนาได้ข้าวน้อย และเกรงราษฏรจะอดข้าว 

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เปิดผลการเสี่ยงทาย “พระโค-ผ้านุ่ง” ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี พ.ศ. 2559 ­นี้


          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระอ­งค์พร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ไปในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาพิธีท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุ­งขวัญเกษตรกร ถือเป็นวันสำคัญของเกษตรกรเนื่องจากเป็นวั­นเริ่มต้นของการไถหว่าน 

          เมื่อเจิมพระโคและคันไถแล้วทำการไถ และหว่านเมล็ดข้าวในลานแรกนาแล้ว ได้มีการนำของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ซึ่งในปีนี้ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า “น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี” ส่วนผลการเสี่ยงทายพระโคกินข้าว ข้าวโพด พยากรณ์ว่า “ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี” กินงา พยากรณ์ว่า "ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี" กินน้ำ กินหญ้าพยากรณ์ว่า “น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี" และกินเหล้า พยากรณ์ว่า “การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง”

         หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี เกษตรกร และประชาชนต่างเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวท­ี่พระยาแรกนาหว่านไว้ในลานแรกนา เพื่อนำไปผสมกับเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะใช้ไถ­หว่านในที่นาของตนเองเพื่อความเป็นสิริมงค­ล

ขอบคุณที่มา จาก SiamUpdates 

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

ขอเชิญผู้สนใจ.....จดแจ้งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรม

            ตามที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ เมื่่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสภาวัฒนธรรม จำนวน ๒ ฉบับ ทำให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ต้องจัดให้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สภาวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมอำเภอ สภาวัฒนธรรมตำบล สภาวัฒนธรรมเทศบาล สภาวัฒนธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การจัดตั้งสภาวัฒนธรรมดังกล่าว จะต้องมีการจดแจ้งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรม เมื่อผ่านกระบวนการจดแจ้งการเป็นเครือข่ายวัฒนธรรมแล้ว จะทำให้เครือข่ายนั้นๆ มีสภานภาพเป็นเครือข่ายวัฒนธรรม ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และจะเป็นเครือข่ายวัฒนธรรมที่ร่วมดำเนินการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมในแต่ละระดับต่อไป

           ดังนั้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ จึงประกาศและประชาสัมพันธ์ เชิญชวนหน่วยงาน กลุ่มองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้สมัครจดแจ้งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน - ๓๐ เมษายน ๒๕๕๙ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมเครือข่าย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โทร. ๐๒-๒๔๗๐๐๑๓ และ ๐๒-๒๔๗๐๐๒๘ ต่อ๑๐๔๗ ,๑๔๒๔ และยื่นใบสมัครได้ที่ สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอทุกอำเภอ หรือที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ (อาคารศาลาประชาคม) ถนนเทพา อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ๓๓๐๐๐ โทร.๐-๔๕๖๑-๗๘๑๑-๑๒ ตามแบบฟอร์มที่กำหนด

พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

"รักเธอเสมอ" โดย พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเคยขับร้อง


            พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเคยขับร้องเพลง "รักเธอเสมอ" ได้ไพเราะมาก ...ขอดวงพระวิญญาณพระองค์จงเสด็จสู่สวรรค์คาลัยเท­อญ ...

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความรู้พิธีการศาสนพิธี

การไหว้การกราบไหว้ 
           การไหว้  วันทนาหรือวันทา เป็นการแสดงความเคารพโดยประการพนมมือแล้วยกมือขึ้นทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงการไหว้แบบไทยแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามระดับของบุคคล
           ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธรูป พระธรรมพระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ ให้ประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว  ปลายนิ้วชี้แนบส่วนบนของหน้าผาก 
           ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณ และผู้มีอายุมาก เช่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ ให้ประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วชี้แนบระหว่างคิ้ว 
           ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่วไปที่เคารพนับถือหรือผู้ที่มีอายุมากกว่าเล็กน้อย ให้ประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศรีษะลง ให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วชี้แนบปลายจมูก สำหรับการไหว้ในระดับที่ ๓ นี้ จะใช้แสดงความเคารพผู้ที่มีอายุเท่ากัน หรือเพื่อนกันโดยยืนตรง ไหว้ไม่ต้องค้อมศีรษะ


กราบคน-กราบศพคน
(กราบโดยมือตั้งครั้งเดียว) 
จังหวะที่ ๑ นั่งพับเพียบพนมมือไหว้ขึ้น กรณีผู้ตายอาวุโสกว่าให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก กรณีผู้ตายอาวุโสเท่ากันหรือรุ่นราวคราวเดียวกันให้หัวแม่มือจรดปลายคาง 
จังหวะที่ ๒ กราบลงมือหมอบกราบครั้งเดียว มือตั้งกับพื้น หรือบนที่กราบ หน้าผากจรดสันมือ


การจุดเทียน-ธูปบูชาพระ 
๑. จุดเทียนเล่มขวาของพระพุทธรูป 
๒. จุดเทียนเล่มซ้ายของพระพุทธรูป 
๓. จุดธูป ๓ ดอกที่กระถางธูป 
แล้วกราบพระ 3 ครั้งแบบเบญจางคประดิษฐ์


สัญลักษณ์แห่งการบูชา 
ธูป บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า
เทียน บูชาพระธรรมและพระวินัย
ดอกไม้ บูชาพระสงฆ์


แนวปฏิบัติในการตั้งโต๊ะหมู่บูชา 
            การตั้งหรือไม่ตั้งโต๊ะหมู่บูชา อาจแบ่งออกได้หลายกรณีมีข้อควรปฏิบัติ ๓ แบบดังนี้ 
            ๑. การตั้งโต๊ะหมู่บูชา มีพระพุทธรูปธงชาติพระบรมฉายาลักษณ์ งานพิธีใดที่มุ่งให้ผู้เข้าร่วมพิธีสำนึกในสถาบันสูงสุดทั้ง ๓ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  งานพิธีนั้นควรตั้งโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูป  ธงชาติ  และพระบรมฉายาลักษณ์ เช่นงานพิธีต่างๆ ของโรงเรียน หรือสถาบัน  งานเปิดประชุมสัมมนา  งานมอบปริญญาบัตร  ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรต่างๆ
           ๒. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาซึ่งมีพระพุทธรูป ที่ไม่ต้องมีธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ 
           การตั้งโต๊ะหมู่บูชาซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ดังต่อไปนี้ 
           ๑) งานพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน หรือโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์มาในงาน เช่นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ 
          ๒) งานพิธีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เช่น พิธีวิสาขบูชา พิธีมาฆบูชา และอาสาฬหบูชา 
          ๓) งานพิธีที่มีจุดหมายเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น พิธีวางศิลาฤกษ์ พิธีเปิดอาคารสถานที่  งานมงคลสมรส  งานทำบุญอายุ  งานขึ้นบ้านใหม่ ถ้าเป็นราชการให้ถือตามข้อ ๑.
         ๓. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายสักการะ  ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินผ่าน หรือในวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ประชาชนถวายสักการะโดยจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาด้วยดอกไม้พุ่มเป็นแจกัน หรือกระทงดอกไม้  พร้อมด้วยธูปเทียนแพ ถ้าจัดหาได้ไม่ต้องจุดธูปเทียน แต่ขอให้มีพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานที่โต๊ะหมู่บูชา หรือพุ่มดอกไม้มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร หากไม่สามารถจะได้ เพียงดอกไม้อย่างเดียวก็ได้


การแต่งกายและการทำความเคารพในพิธีการ

       ๑. งานวันที่ 5 ธันวาคม 
             การแต่งกาย ข้าราชการชายหญิงแต่งตัวเต็มยศ  ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์บนกระเป๋า  เหรียญตราประดับใต้กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย   สวมหมวก กางเกงดำ  สวมสายสะพาย 
             การทำความเคารพ ข้าราชการชายหญิง ถ้าแต่งตัวเต็มยศทำความเคารพด้วยการวันทยหัตถ์  ถ้าไม่สวมหมวก ทำความเคารพด้วยการโค้งคำนับ 1 ครั้งประชาชนทั่วไป แต่งชุดสุภาพชุดสากล ชายโค้งคำนับ หญิงถอนสายบัว

      ๒. งานวันที่ 12 สิงหาคม
            การแต่งกาย  ข้าราชการชายหญิง แต่งตัวชุดปกติขาว ไม่มีป้ายชื่อ กรัดรังดุมประดับช่อชัยพฤกษ์ และแถบข้าราชการ ถ้ามีปีกร่ม หรือสัญลักษณ์อื่นๆให้ตกแต่งทางซ้ายเหมือนกับเหรียญตรา  
            การทำความเคารพ ข้าราชการชายหญิง ถ้าสวมหมวกทำความเคารพด้วยการวันทยหัตถ์   ถ้าไม่สวมหมวกทำความเคารพ ชายหญิงอยู่ในชุดปกติขาวโค้งคำนับ   ประชาชนทั่วไปชายโค้งคำนับ หญิงถอนสายบัว

     ๓. วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม
           การแต่งกาย ข้าราชการชายหญิง แต่งตัวเต็มยศหรือชุดปกติขาวหรือตามคำสั่ง ประดับช่อชัยพฤกษ์กลัดรังดุม และแถบข้าราชการ ประชาชนแต่งชุดสุภาพสากลนิยม 
          การแต่งกาย ข้าราชการหญิง แต่งตัวสวมหมวกใช้วันทยหัตถ์ไม่สวมหมวกชายโค้งคำนับ หญิงถอนสายบัว

    ๔. งานพระราชทานเพลิงศพ
          การแต่งกาย ข้าราชการชายหญิงแต่งชุดปกติขาวเหมือนกับงานอื่นประดับช่อชัยพฤกษ์ ไม่นิยมสวมหมวก เพราะงานเกี่ยวกับการไหว้พระ และเคารพสถานที่คือวัด  ไม่ประดับเหรียญตรา  ติดปลอกแขนไว้ทุกข์ด้านซ้าย กว้าง ๗ - ๑๐ เซนติเมตร ไม่ติดป้ายชื่อ 

         การทำความเคารพ หญิงชายโดยโค้งคำนับเหมือนกัน  ผู้มีเกียรติแต่งชุดดำ หรือสูทสากล ชุดสุภาพ การทำการทำความเคารพก็โค้งคำนับ ไม่นิยมถอนสายบัว

    ๕. งานฉลองตราตั้งสัญญาบัตรพัดยศ 
         การแต่งกาย  ข้าราชการชายหญิงแต่งชุดปกติขาว  ประดับช่อชัยพฤกษ์  กลัดรังดุม แถบข้าราชการ   ไม่นิยมสวมหมวก เพราะงานเกี่ยวกับการไหว้พระ และเคารพสถานที่คือวัด  
         การทำความเคารพ ใช้การยกมือไหว้เป็นสำคัญ
    
  ๖. งานรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
       การแต่งกาย   ข้าราชการชายหญิงแต่งชุดปกติขาว  ปิดรังดุมเรียบร้อย  เหลือที่ว่างช่อชัยพฤกษ์ และเหรียญตรา หรือแต่งตัวตามคำสั่ง
       การทำความเคารพ  ชายหญิงโค้งคำนับ หรือตามคำสั่ง

การใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติคู่กับธงอื่น หรือกับพระพุทธรูป และพระบรมรูป            ข้อ ๑ การใช้การชัก หรือการแสดงธงชาติคู่กับธงอื่น หรือร่วมกับธงอื่นที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธง ยกเว้นธงพระอิสริยยศ จะต้องไม่ต้องไม่ให้ธงชาติอยู่ในระดับต่ำกว่าธงอื่นๆ และโดยปกติให้จัดธงชาติอยู่ที่เสาธงแรกด้านขวา การใช้ธงชาติคู่กับธงอื่นในงานพิธีซึ่งมีแท่น หรือที่สำหรับประธานให้จัดธงชาติอยู่ด้านขวา และธงอื่นอยู่ด้านซ้าย
            ข้อ ๒ การใช้หรือชักธงชาติคู่กับธงอื่น  นอกจากที่กล่าวให้ปฏิบัติ ดังนี้ 
                  ๑) เมื่อร่วมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนค่ต้องให้ธงชาติอยู่ตรงกลาง 
                  ๒) เมื่อร่วมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคู่ต้องให้ธงชาติอยู่กลางด้านขวา

            ข้อ ๓ การใช้ธงชาติคู่กับพระพุทธรูป และพระบรมรูปในพิธีการต่างๆ เพื่อเป็นที่สักการะร่วมกันให้จัดตรงชาติอยู่ด้านขวาของพระพุทธรูป และจัดพระบรมรูปให้อยู่ด้านซ้าย

            ข้อ ๔ การใช้ธงชาติคลุมศพให้ใช้ในกรณีดังต่อไปนี้
                  ๑) ในพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพ หรือพิธีรดน้ำศพ
                  ๒) ในพิธีปลงศพตามประเพณีของทหารเรือ
                  ๓) ในระหว่างการเคลื่อนย้ายศพเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา

           ข้อ ๕ การใช้ธงชาติหีบศพ หรืออัฐิ ให้ใช้ดังกรณีต่อไปนี้
                 ๑) เมื่อเชิญ หรือเคลื่อนย้ายหีบศพ หรืออัฐิ เพื่อประกอบพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพ รดน้ำศพ หรือบำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนาวงเล็บ 
                  ๒) ในระหว่างการประกอบพิธีทางศาสนา ว
                  ๓) ในระหว่างการตั้งศพเพื่อรับพระราชทานเพลิงศพประกอบการฌาปนกิจ หรือเคลื่อนย้ายศพไปประกอบพิธีฝัง

           ข้อ ๖ การใช้ธงชาติคลุมศพหรือหีบศพ ปกติให้ใช้คลุมตามความยาวของธง โดยให้ด้านต้นของผืนธงอยู่ทางส่วนศีรษะของศพและจะต้องปฏิบัติไม่ให้เป็นการเสื่อมเสียเกียรติแก่ธง  ห้ามมิให้วางสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงบนธงชาติที่คลุมศพหรือหีบศพ เมื่อรับพระราชทานน้ำอาบศพ  บรรจุหรือฝังศพ  ประชุมเพลิงศพ ตอนเผาจริงให้เชิญธงชาติที่คลุมศพหรือหีบศพ พับเก็บให้เรียบร้อย โดยไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของธงสัมผัสพื้น

            ข้อ ๗ ผู้ได้รับพระราชทานโกศ หรือหีบหลวงประกอบเกียรติยศศพอยู่แล้ว  ถ้ามีสิทธิ์ที่จะใช้ธงชาติคลุมศพด้วย ให้กระทำได้โดยวิธีเชิญธงชาติ  ในสภาพที่พับเรียบร้อยใส่พานตั้งไว้เป็นเกียรติยศที่หน้าที่ตั้งศพเช่นเดียวกับการตั้งเครื่องยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์  แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ห้ามใช้ธงชาติ  หรือแถบสีธงชาติกลุ่มทับ หรือตกแต่งโกศ หรือหีบศพที่พระราชทานประกอบเกียรติยศศพ


การแต่งกายไปงานศพ
สำหรับสุภาพบุรุษ ให้เลือกแต่งกายตามรูปแบบของงานศพที่จะไปร่วมดังนี้ 
            ๑. แต่งเครื่องแบบราชการ ปกติขาวไว้ทุกข์หรือปกติกากีคอพับผ้าผูกคอ  สำหรับงานพระราชทานเพลิงเพลิงศพที่ทางราชการจัดซื้อและแต่งเครื่องแบบปกติ กากีคอพับผูกผ้าผูกคอ  สำหรับงานบำเพ็ญกุศล หรือฌาปนกิจศพที่ทางราชการจัดขึ้น            ๒. แต่งชุดไทยพระราชทานสีขาว หรือดำทั้งชุด หรือเสื้อสีขาว  กางเกงดำ  ไม่ติดแขนทุกข์
            ๓. แต่งชุดสากลสีขาว ดำ เทา  ผ้าผูกคอสีดำ  ติดแขนทุกข์

            ๔. แต่งชุดสุภาพ  กางเกงสีดำ เทา  เสื้อขาว  ผ้าผูกคอดำ  จะไม่ผูกก็ได้สำหรับงานศพสามัญชน

สำหรับสุภาพสตรี ก็ควรเลือกแต่งกายให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง และให้ถูกต้องตามรูปแบบของงานศพ ดังนี้
           ๑. สำหรับการแต่งเครื่องแบบราชการ ให้แต่งเหมือนสุภาพบุรุษสำหรับงานศพที่ทางราชการจัดขึ้น 
           ๒. แต่งชุดไทยสีดำ 
           ๓. แต่งชุดสุภาพ เช่น ผ้าซิ่นสีดำ  กระโปรงสีดำ ไม่ควรสั้นเกินไป เสื้อดำเป็นเสื้อที่ไม่เปิดไหล่  คอไม่กว้าง  กระเป๋า  รองเท้า ควรเป็นสีดำ  ไม่ควรใช้เครื่องประดับสีฉูดฉาด  ไม่ควรแต่งหน้าให้เหมือนกับจะไปงานราตรี  หรืองานมงคลสมรส

ความหมายของคำว่า "หมายรับสั่ง" "หมายกำหนดการ" และ "กำหนดการ"
"หมายรับสั่ง" เป็นหมายสั่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพระราชพิธีเป็นการภายใน  ตอนล่างของหมายเขียนว่า "ทั้งนี้ ให้จัดการตามวัน ตามรับสั่งยาให้ขาดเหลือ  ถ้าสงสัยให้ถามผู้รับสั่งโดยหน้าที่ราชการ"  แล้วลงชื่อผู้รับสั่ง ผู้สั่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"หมายกำหนดการ" เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธี โดยเฉพาะลักษณะของเอกสารจะต้องอ้างพระบรมราชองค์การคือ ขึ้นต้นด้วยข้อความว่า "นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการพระราชวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าสั่งว่า..."


"กำหนดการ"เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานโดยทั่วไปที่ทางราชการ หรือส่วนเอกชน จัดทำขึ้นเองแม้ว่างานนั้น จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องถึงเบื้องพระยุคลบาท เช่นงานที่เสด็จ กำหนดการทั้งสิ้นเช่น ขั้นตอนของงานสวนสนามสำแดงความสวามิภักดิ์ของทหารรักษาพระองค์ ก็ใช้ว่า กำหนดการ  เพราะงานนี้ไม่ใช่พระราชพิธีที่มีพระบรมราชโองการให้จัดขึ้น


คำถวายสังฆทาน (ประเภทสามัญ)

คำบาลี อิมานิ  มะยัง  ภันเต , ภัตตานิ , สะปะริวารานิ , ภิกขุ  สังฆัสสะ,   โอโณชะยามะ , สาธุ  โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ,  อิมานิ , ภัตตานิ , สะปะริวารานิ , ปะฏิคคัณหาตุ , อัมหากัง , ทีฆะรัตตัง , หิตายะ , สุขายะ ฯ   
         
คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ขอน้อมถวายภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้  แด่พระภิกษุสงฆ์  ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหาร  กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย  เพื่อประโยชน์และความสุข  แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย  สิ้นกาลนานเทอญ ฯ  


คำถวายสังฆทาน (ประเภทอุทิศให้ผู้ตาย)

คำบาลี  อิมานิ  , มะยัง   ภันเต , มะตะกะภัตตานิ , สะปะริวารานิ , ภิกขุสังฆัสสะ , โอโณชะยามะ ,  สาธุ  โน  ภันเต , ภิกขุสังโฆ อิมานิ , มะตะกะภัตตานิ , สะปะริวารานิ , ปะฏิคคัณหาตุ , อัมหากัญเจวะ , มาตาปิตุ , อาทีนัญจะ , ญาตะกานัง , กาละกะตานัง , ทีฆะรัตตัง , หิตายะ , สุขายะ  ฯ 

คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายมตกภัตตาหาร  กับทั้งบริวารเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์  ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับมตกภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย  เพื่อประโยชน์และความสุข  แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย  แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลายมีมารดาเป็นต้น  ผู้ทำกาละล่วงลับไปแล้วด้วย  สิ้นกาลนานเทอญ ฯ  

หมายเหตุ 
- ถ้ามีภัตตาหารอยู่ใกล้ ต่อหน้าพระสงฆ์ใช้คำว่า อิมานิ  , มะยัง   ภันเต...
- ถ้ามีภัตตาหารอยู่ไกล/ที่โต๊ะอาหาร ใช้คำว่า เอตานิ  , มะยัง   ภันเต...
- มีภัตตาหารอยู่ จะยกหรือไม่ยกก็ได้


ที่มา : คัดลอกเนื้อหามาจาก คู่มือพิธีการ การจัดกิจกรรมวันรวมพลังสรรค์สร้างเขตสุจริต ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต ๓ ปีพระพุทธศักราช ๒๕๕๗.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย