ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปอเทือง ( Sunn hemp) หรือ ធ្មៃផ្កាលឿង /ทเม็ย-พกา-เลือง/ หรือบ้างก็เรียกว่า ស្នោគោក /ซโน*-โกก/

         ปอเทือง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sunn hemp มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crotalaria juncea เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ที่ใช้ปลูกทำปุ๋ยพืชสด

      ภาษาเขมรท้องถิ่นเมืองขุขันธ์ และแถบอีสานใต้ เรียกว่า​...

        ในภาษาเขมรที่กัมพูชา พบใช้ 2 คำ บ้างก็เรียกว่า ធ្មៃ /ทเม็ย*/ (ปอเทือง) หรือ ដើមធ្មៃ /เดอม*-ทเม็ย*/ (ต้นปอเทือง) หรือบ้างก็เรียกว่า ស្នោគោក /ซโน*-โกก/ (โสนโคก)  สำหรับพจนานุกรมพจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ สมเด็จพระสังฆราช(คณะมหานิกาย) ชวน ณาต โชตัญญาโณ ค.ศ. ๑๙๖๗ (พ.ศ. ๒๕๑๐) ได้นิยามไว้ว่า...
        ធ្មៃ ( ន. ) ឈ្មោះ​តិណជាតិ​ពួក​ក្រចៅ សំបក​ប្រើ​ធ្វើ​ខ្សែ​ជាប់​បាន​យូរ : ខ្សែ​ធ្មៃ​ប្រើ​ជាប់​បាន​យូរ ។ ...(4) (5) 

        ปอเทือง เป็นพืชบำรุงดิน ที่กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหลังทำนา เนื่องจากปลูกและดูแลง่าย ต้องการน้ำน้อย มีความชื้นเหลืออยู่ในพื้นดินเพียงเล็กน้อยก็เจริญเติบโตได้แล้ว และจะไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดเมื่อต้นอายุได้ 50-60 วัน การไถกลบปอเทืองลงในแปลงนาเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และทำให้ดินร่วนซุย ดินไม่เป็นกรดและสามารถอุ้มน้ำได้ดี รากของปอเทืองยังมีความสามารถตรึงธาตุไฮโตรเจน ซึ่งอยู่ในชั้นสูงของบรรยากาศมาเก็บไว้ที่ปมราก ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือยูเรียซึ่งมีราคาแพง สามารถประหยัดต้นทุนในการทำนา และผลผลิตเพิ่มขึ้น ...(1)


       ปอเทือง เป็นพืชตระกูลถั่ว ลักษณะเป็นไม้พุ่มความสูง 100 – 300 เซนติเมตร ลำต้นกลม ใบยาวเรียวแหลม ดอกสีเหลือง ฝักเป็นรูปทรงกระบอก เมล็ดคล้ายรูปไตสีน้าตาล ความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร มี 10 -20 เมล็ด / ฝัก


ประโยชน์ของปอเทือง ปุ๋ยพืชสด มีดังนี้

         1. เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน (น้ำหนักสด 2-7 ตัน/ไร่ = การใส่ปุ๋ยหมัก 800 - 2,800 กก./ไร่ )
         2.บำรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มธาตุไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักให้แก่พืช
         3.กรดที่เกิดจากผุผังของพืชปุ๋ยสดช่วยละลายธาตุอาหารในดินให้แก่พืชได้ดีมากยิ่งขึ้น
        4.ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและทาให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น เสมือนคลุกเคล้า/ฝังฟองน้ำจำนวนมากไว้ในดิน
       5.ทำให้ดินร่วนซุยสะดวกในการเตรียมดินและไถพรวน เพราะมีอินทรียวัตถุเข้าไปแทรกระหว่างเม็ดดิน
       6. ช่วยในการควบคุม ปราบหรือตัดวงจรวัชพืชบางชนิดได้เป็นอย่างดี พืชปุ๋ยสดที่แนะนำเจริญเติบโตเร็ว
       7. ลดการปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้มาก ใช้ในการเพิ่มธาตุอาหารเพื่อทาเกษตรอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       8.ลดอัตราการสูญเสียอันเกิดจากการชะล้าง รากช่วยเกาะยึดดิน ขณะที่ต้นช่วยคลุมดิน ลดการกระแทกเม็ดฝน
       9. เพิ่มผลผลิตของพืชให้สูงขึ้น เพราะกระบวนการใช้พืชปุ๋ยสดช่วยเพิ่มเติมความเหมาะสมหลายอย่างให้แก่ดิน ...(1)


การเตรียมดินและการปลูก มี 2 วิธี ดังนี้
1. ปลูกโดยไม่ต้องเตรียมดิน
    1.1 ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว ใช้เมล็ดพันธุ์ปอเทืองหว่าน 1 – 2 วัน จึงใช้รถเก็บเกี่ยวข้าว วิธีนี้จะสูญเสียเมล็ดพันธุ์มากจากการกลบของฟางข้าว
    1.2 หลังการเก็บเกี่ยวข้าว ใช้เมล็ดปอเทืองหว่าน ตามร่องรถเกี่ยวข้าว หรือกระจายฟางข้าวให้ทั่วแปลง หรือจะเก็บฟางข้าวไว้เลี้ยงสัตว์ วิธีนี้จะได้ใช้พื้นที่มากขึ้น

2. ปลูกโดยการเตรียมดิน ใช้รถไถขณะดินมีความชื้นอยู่ แล้วหว่านเมล็ดปอเทือง จะคราดกลบหรือไม่ก็ได้ ถ้าคราดกลบจะงอกได้สม่ำเสมอและเจริญเติบโตดี ...(2)

การดูแลรักษา
       หลังการหว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองแล้วประมาณ 3 – 5 วัน จะงอกโดยอาศัยความชื้นที่มีอยู่ในดิน ไม่ต้องให้น้ำ เมื่ออายุ 50 – 60 วัน ดอกเริ่มบานจากข้างล่างก่อน หลังดอกร่วงโรยจะติดฝักจากข้างล่างก่อนเช่นเดียวกัน ฝักจะแก่เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 120 – 130 วัน ศัตรูที่สำคัญได้แก่หนอนผีเสื้อจะเจาะฝักกินเมล็ดข้างใน ...(2)

การเก็บเกี่ยวผลผลิต มี 2 วิธี ดังนี้


         1. ใช้รถเกี่ยวข้าวเก็บเกี่ยว แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุนทั้งเจ้าของรถเกี่ยวคือ ลำต้นจะมีความแข็งเกิดความเสียหายต่อเครื่องจักรสำหรับเกษตรกรผลผลิตค่อนข้างต่ำจึงไม่คุ้มต่อการลงทุน
         2. ใช้เคียวเกี่ยวผึ่งแดดไว้  3 – 4 แดด นำมาใส่กระสอบแล้วทุบให้ฝักแตก หรือนำมากองบนผ้าใบ บนตาข่าย บนลานแล้วใช้รถย่ำในบริเวณแปลงนาได้เลย ผลผลิตเฉลี่ย 80 - 120 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 20 – 25 บาทต่อกิโลกรัม จำหน่ายให้สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดและเกษตรกรทั่วไป ...(2)

         สำหรับปีใดที่ประสบวิกฤติภัยแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ทำนาข้าวหรือปลูกพืชผลชนิดอื่นที่ต้องการใช้น้ำจำนวนมาก ก็คงต้องหาทางเลือกใหม่ เพราะผลผลิตที่เคยได้รับกลับไม่ได้เหมือนอย่างเคย ดังนั้น การปลูกพืชทางเลือกที่ทนแล้งจึงกลายมาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดของเกษตรกร และพืชที่น่าสนใจในเวลานี้ก็คือ ปอเทือง พืชที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรยามหน้าแล้ง


          เกษตรกรที่มีการปลูกปุ๋ยพืชสด โดยเฉพาะ ปอเทือง จะพบว่า รอบปีต่อไปในการปลูกข้าวหรือพืชเกษตรอย่างอื่นจะมีคุณภาพดีขึ้นและได้รับผลผลิตมากขึ้น ที่สำคัญอีกประการคือ ทำให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ถึงครึ่งหนึ่งจากที่ใช้ปกติ และหากมีการปลูกอย่างต่อเนื่อง 4-5 ปี ถึงขั้นอาจจะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลยก็ได้ ...(3)

          การปลูกปอเทืองเพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดิน  ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนการปลูกพืชหลัก แต่การปลูกปอเทือง ช่วงเดือน ตุลาคม ถึงเดือน ธันวาคม เหมาะสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะจะได้เมล็ดที่มีคุณภาพ หลังจากเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม ไถกลบต้นตอ ในการปลูก ปีที่ 1 – 2 การเจริญเติบโตไม่ดีนัก หลังจาก 5 ปี ปอเทืองจะเจริญสมบูรณ์ และข้าวที่ปลูกไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลย ดังนั้นนอกจากจะเป็นพืชบำรุงดินแล้วยังมีรายได้เสริม 2,000 – 3,000 บาท/ไร่ ...(2)

          และที่สำคัญ ถ้าปลูกปอเทืองในพื้นที่นั้นติดต่อกัน ประมาณ 5 ปี ควรมีการหยุดปลูกสักปีหนึ่ง ด้วยมีสาเหตุมาจาก จะมีปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ทำให้ธาตุอาหารในดินไม่สัมพันธ์กัน แต่หลังจากนั้นสามารถปลูกได้เหมือนเดิม ...(3)
 

           การปลูกปอเทืองนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กิโลกรัม คิดเป็นต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ อยู่ที่ประมาณ 100 กว่าบาทเท่านั้น และเมื่ออายุได้ 60 วัน สามารถไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดได้ จากการคำนวณพบว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ปริมาณปุ๋ยพืชสดถึง 5,000 กิโลกรัม หากเทียบเป็นปริมาณเนื้อปุ๋ยเคมีแล้ว จะอยู่ที่ 20-25 กิโลกรัม ...(3)

          นอกจากประโยชน์ของปอเทืองทางด้านการเกษตรแล้ว ยังได้ประโยชน์ในแง่ของการท่องเที่ยวอีกด้วย กล่าวคือ สามารถจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ผู้คนได้ไปเที่ยวชมความสวยงาม และถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ได้คล้ายๆ กับทุ่งทานตะวัน เพราะทุ่งปอเทืองก็มีความสวยงามไม่น้อยกว่ากันแต่อย่างใด   ด้วยเป็นพืชที่ให้ดอกสีเหลือง เมื่อปลูกเต็มพื้นที่จะให้ความสวยงามมากในช่วงออกดอก 

          อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น น่าจะมีการต่อยอด ทุ่งปอเทืองเมืองขุขันธ์บ้านเรา สำหรับปีหน้า พัฒนาและสนับสนุนให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนาบ้านเราเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น และในที่สุด...เราอาจจะได้ชมทุ่งปอเทืองที่สวยงามบานสะพรั่งไปทั้งเมืองก็เป็นได้

ที่มา :
(1)- https://www.youtube.com/watch?v=9iL86bhG9kM
(2)- https://www.gotoknow.org/posts/478988 
(3)-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1427528579
(4)http://dictionary.tovnah.com/?q=ធ្មៃ&btnG=Search&dic=all&criteria=start
(5) ดร.ปริง เพชรล้วน   “ធ្មៃផ្កាលឿង (ปอเทือง)  ដើមធ្មៃផ្កាលៀង(ต้นปอเทือง)...”

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บารมีพระพุทธรูปองค์พระจังหันอุ่น เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

ทัศนียภาพบริเวณด้านหน้าวัดพระพรหมรัตน์ จังหวัดเสียมเรียบ พระราชอาณาจักรกัมพูชา (ถ่ายเมื่อ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
            มูลเหตุที่พุทธบริษัทแต่สมัยโบราณได้สร้างองค์พระปางปรินิพพาน ประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถวัดพระพรหมรัตน์ แห่งเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ในช่วงปี พ.ศ.1900 - 2043 นั้น ได้มีเรื่องเล่าขานเป็นตำนานต่อๆกันมาว่า
พระพุทธรูปองค์พระจังหันอุ่น วัดพระพรหมรัตน์
จังหวัดเสียมเรียบ พระราชอาณาจักรกัมพูชา (ถ่ายเมื่อ 19 กรกฎาคม 2559) 



กาลครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้ว  มีพระเถระรูปหนึ่งมักจะนิมนต์ออกบิณฑบาตโปรดพุทธศาสนิกชนโดยทางเรือผ่านบึงโตนเลสาปไป-กลับระหว่างกรุงลงแวกกับชุมชนเมืองมหานครเก่า เมื่อกลับมาถึงบริเวณวัดแห่งนี้ในอดีต แม้จะวันเวลาจะผ่านข้ามมาหลายวันแล้ว แต่เมื่อพระเถระรูปนั้นเปิดฝาบาตรออก ปรากฏว่าจังหัน(ข้าวในบาตร)ที่พระคุณเจ้าได้ไปรับบิณฑบาตมายังคงมีไออุ่นพวยพุ่งหอมกรุ่นอยู่ตลอดเวลา เป็นที่อัศจรรย์ของผู้คนซึ่งได้พบเห็น  มหาชนในยุคนั้นจึงต่างพากันขานถวายพระนามว่า "พระคุณเจ้าจังหันอุ่น"

ต่อมาวันหนึ่ง ภายหลังจากที่พระคุณเจ้าจังหันอุ่น  กลับจากนิมนต์ไปบินฑบาตโดยทางเรือ ระหว่างทางได้มีปลาฉลามยักษ์โผล่หัวขึ้นมาและงับลำเรือแตกออกเป็นสองเสี่ยง  โดยส่วนแรกซึ่งเป็นด้านท้ายเรือได้ลอยไปถึงบริเวณซึ่งเป็นหน้าวัดบริบูรณ์  จังหวัดกำปงฉนัง ในปัจจุบัน  พุทธบริษัทที่นั่นจึงได้นำเอาไม้ลำเรือส่วนนี้มาสร้างเป็นองค์พระพุทธรูปในอริยบททรงประทับยืน  และอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหัวเรือได้ลอยน้ำรี่ออกมาอย่างรวดเร็ว และนำพาพระคุณเจ้าจังหันอุ่นมาถึงบริเวณหน้าวัดวัดพระพรหมรัตน์แห่งนี้ในอดีต โดยน้ำมิอาจเล็ดลอดเข้าสู่ลำเรือได้ทันแม้แต่เพียงหยดเดียว  เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่พุทธบริษัทในยุคนั้นยิ่งนัก จึงได้พากันนำเอาไม้ลำเรือมาสร้างเป็นพระพุทธรูปอริยาบทปรินิพพาน ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระพรหมรัตน์ เดิมทีจุดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์องค์นี้ จะอยู่ในระดับที่สูงมาก  แต่ในปัจจุบันจะสังเกตุพบว่า พระพุทธรูปองค์พระจังหันอุ่นนั้น ประดิษฐานในระดับที่ลึกลงไปกว่าระดับพื้นปกติของพระอุโบสถ ก็เนื่องจาก ตลอดระยะเวลาหนึ่งพันกว่าปี แผ่นดินแถบนี้มีการงอกพอกพูนสูงขึ้นเรื่อยๆมาทีละนิด  จึงทำให้เราเห็นองค์พระพุทธรูปจังหันอุ่น อยู่ในระดับที่ลึกกว่าพื้นปกติของพระอุโบสถในปัจจุบัน นั่นเอง

หากท่านมีความประสงค์เข้าไปเห็นและสัมผัสบารมีด้วยตัวท่านเอง และกราบไหว้ขอพรจากพระพุทธรูปจังหันอุ่น เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต เชิญท่านเข้าไปในพระอโบสถของวัดพระพรหมรัตน์ได้  โดยให้น้อมดวงจิตให้สงบนิ่งและทำจิตใจให้บริสุทธิ์  ผลานิสงส์จักบังเกิดแก่ท่านและจักทำให้ท่านประสบแต่ความสุขควาเจริญเป็นแน่แท้


สำหรับ ลำเรือสีทองที่อยู่ด้านหน้าวัดนี้ พระชาคโร  ต็อง-เตือม ได้ก่อสร้างไว้เพื่อเป็นที่ระลึก สำหรับให้มหาชนรุ่นหลังได้ทราบเกี่ยวกับความเป็นมาของวัด และที่มาของการสร้างพระพุทธรูปองค์พระจังหันอุ่น นั่นเอง


ที่มา : สุเพียร คำวงศ์ แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยจากป้ายประวัติของพระพุทธรูปองค์พระจังหันอุ่น วัดพระพรหมรัตน์ จังหวัดเสียมเรียบ พระราชอาณาจักรกัมพูชา(19 กรกฎาคม 2559)

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บิง บีง หรือเบง ?

         เมื่อเราท่านเดินทางจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ โดยผ่านทางหลวงหมายเลข 220 (สายศรีสะเกษ-ขุขันธ์)ลงมาทางทิศใต้ ประมาณ 43 กิโลเมตร ก็จะมาถึงสี่แยกบ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ อันเป็นถิ่นพระเกจิอาจารย์เลื่องชื่อของเมืองขุขันธ์ ด้านวัตถุมงคลเข้มขลัง เปี่ยมด้วยเมตตามหานิยม และประสิทธิดีทุกประการ คือ "พระครูปิยะเขมคุณ(หลวงปู่โป๊ะ)" ...

พระครูปิยะเขมคุณ (หลวงปู่โป๊ะ)
วัดบ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 
​​​​           สำหรับประวัติโดยสังเขปของวัดบ้านบิง  หมู่ที่ 2 ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ (เนื้อที่ตั้งวัด 9 ไร่ 1งาน 69 ตารางวา)  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 ได้รับพระราชทานราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2478 ในยุคที่ยังเป็นจังหวัดขุขันธ์ มีเจ้าอาวาสตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน 11 รูปดังนี้ 
           1. พระอธิการเปี่ยม(ไม่ทราบฉายา)
           2. พระอธิการล้อม แสงลอย
           3. พระอธิการหอม แสงลอย
           4. พระอธิการคูณ คันศร
           5. พระอธิการเปรี้ย บุญจูง
           6. พระอธิการปรึก งามพรม
           7. พระอธิการยัง อุปมัย
           8. พระอธิการบิน ไชยมาศ
           9. พระครูปิยเขมคุณ(หลวงปู่โป๊ะ)​ อดีตเจ้าคณะตำบลดองกำเม็ด
           10. พระอธิการพลอย ปัญฺญาพโล
           11. พระอธิการคำมี ปญฺญาวุฑโฒ เจ้าอาวาสปัจจุบัน (ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2551 เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2507)




วัดบ้านบ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอห้วยเหนือ ในยุคที่ยังเป็นจังหวัดขุขันธ์
ได้รับพระราชทานราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2478

แผนที่บ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

          เมื่อเอ่ยถึงชื่อของหมู่บ้านนี้ หลายท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า ชื่อของหมู่บ้านนี้มีความหมาย และมีที่มาอย่างไร ? ณ ที่เรามีคำตอบ...

ประวัติความเป็นมาของบ้านบิง
          บ้านบิง ตำบลตองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่อีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานคู่กับเมืองขุขันธ์ หมู่บ้านนี้ เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2144 มีอายุการก่อตั้งหมู่บ้าน ประมาณ 421 ปีมาแล้ว(นับถึงปี พ.ศ. 2565) สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านนั้น มาจากชื่อต้นไม้เนื่อแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งทราบจากคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าว่า พื้นที่บริเวณนี้ ในอดีตเคยมีต้นมะค่า ซึ่งเป็นต้นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งขึ้นชุกชุมเป็นจำนวนมาก  ซึ่งภาษาเขมรท้องถิ่นอีสานใต้ส่วนใหญ่ เรียกว่า ដើមបេង ออกเสียงว่า /เดิม*-เบง/ แต่สำหรับภาษาเขมรท้องถิ่นของหมู่บ้านแถบนี้ มักนิยมเรียกว่า ដើមប៊ីង​ ออกเสียงว่า /เดิม*-บีง/ ต่อมาทางการให้ตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นภาษาไทยเพื่อให้เรียกขานนามได้ง่าย จึงเพี้ยนเสียงมาเป็น “บ้านบิง” ในที่สุด และใช้ชื่อนี้เรียกชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน
ต้นบีง หรือต้นเบง(ต้นมะค่า) ที่ยืนต้นตระหง่านอยู่ ณ บริเวณลานกีฬาเอนกประสงค์ 
ใกล้ศาลปู่ตาของบ้านบิง หมู่ที่ 2 ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
....ที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ไว้ และทุกท่านสามารถแวะไปเยี่ยมชมของจริงได้
คำว่าต้นมะค่า เขียนเป็นภาษาเขมรตามแบบอักขรวิธีภาษาเขมรท้องถิ่นอีสานใต้

           ในพจนานุกรมภาษาเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ สมเด็จพระสังฆราช(คณะมหานิกาย) ชวน ณาต โชตัญญาโณ ค.ศ. ๑๙๖๗ (พ.ศ.๒๕๑๐) ได้ให้คำนิยามความหมายของต้นไม่มะค่า เป็นภาษาเขมรไว้ว่า បេង ( ន. ) ឈ្មោះ​ឈើ​ខ្លឹម​មួយ​ប្រភេទ ពួក​គ្រញូង, ពួក​ធ្នង់ : ក្ដារ​បេង, តុ​បេង ។ ​แปลว่า มะค่า (น.)ชื่อไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง จำพวกเดียวกับไม้พะยูง และไม้ประดู่ ตัวอย่างเช่น ក្ដារ​បេង(กระดานจากไม้มะค่า), តុ​បេង(โต๊ะทำจากไม้มะค่า) เป็นต้น
ขอบคุณที่มา : 
- ป้ายแนะนำข้อมูลหมู่บ้านและวัดบ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- พจนานุกรมภาษาเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ สมเด็จพระสังฆราช(คณะมหานิกาย) ชวน ณาต โชตัญญาโณ ค.ศ. ๑๙๖๗ (พ.ศ.๒๕๑๐).

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย