ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บิง บีง หรือเบง ?

         เมื่อเราท่านเดินทางจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ โดยผ่านทางหลวงหมายเลข 220 (สายศรีสะเกษ-ขุขันธ์)ลงมาทางทิศใต้ ประมาณ 43 กิโลเมตร ก็จะมาถึงสี่แยกบ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ อันเป็นถิ่นพระเกจิอาจารย์เลื่องชื่อของเมืองขุขันธ์ ด้านวัตถุมงคลเข้มขลัง เปี่ยมด้วยเมตตามหานิยม และประสิทธิดีทุกประการ คือ "พระครูปิยะเขมคุณ(หลวงปู่โป๊ะ)" ...

พระครูปิยะเขมคุณ (หลวงปู่โป๊ะ)
วัดบ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 
​​​​           สำหรับประวัติโดยสังเขปของวัดบ้านบิง  หมู่ที่ 2 ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ (เนื้อที่ตั้งวัด 9 ไร่ 1งาน 69 ตารางวา)  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 ได้รับพระราชทานราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2478 ในยุคที่ยังเป็นจังหวัดขุขันธ์ มีเจ้าอาวาสตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน 11 รูปดังนี้ 
           1. พระอธิการเปี่ยม(ไม่ทราบฉายา)
           2. พระอธิการล้อม แสงลอย
           3. พระอธิการหอม แสงลอย
           4. พระอธิการคูณ คันศร
           5. พระอธิการเปรี้ย บุญจูง
           6. พระอธิการปรึก งามพรม
           7. พระอธิการยัง อุปมัย
           8. พระอธิการบิน ไชยมาศ
           9. พระครูปิยเขมคุณ(หลวงปู่โป๊ะ)​ อดีตเจ้าคณะตำบลดองกำเม็ด
           10. พระอธิการพลอย ปัญฺญาพโล
           11. พระอธิการคำมี ปญฺญาวุฑโฒ เจ้าอาวาสปัจจุบัน (ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2551 เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2507)




วัดบ้านบ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอห้วยเหนือ ในยุคที่ยังเป็นจังหวัดขุขันธ์
ได้รับพระราชทานราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2478

แผนที่บ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

          เมื่อเอ่ยถึงชื่อของหมู่บ้านนี้ หลายท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า ชื่อของหมู่บ้านนี้มีความหมาย และมีที่มาอย่างไร ? ณ ที่เรามีคำตอบ...

ประวัติความเป็นมาของบ้านบิง
          บ้านบิง ตำบลตองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่อีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานคู่กับเมืองขุขันธ์ หมู่บ้านนี้ เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2144 มีอายุการก่อตั้งหมู่บ้าน ประมาณ 421 ปีมาแล้ว(นับถึงปี พ.ศ. 2565) สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านนั้น มาจากชื่อต้นไม้เนื่อแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งทราบจากคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าว่า พื้นที่บริเวณนี้ ในอดีตเคยมีต้นมะค่า ซึ่งเป็นต้นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งขึ้นชุกชุมเป็นจำนวนมาก  ซึ่งภาษาเขมรท้องถิ่นอีสานใต้ส่วนใหญ่ เรียกว่า ដើមបេង ออกเสียงว่า /เดิม*-เบง/ แต่สำหรับภาษาเขมรท้องถิ่นของหมู่บ้านแถบนี้ มักนิยมเรียกว่า ដើមប៊ីង​ ออกเสียงว่า /เดิม*-บีง/ ต่อมาทางการให้ตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นภาษาไทยเพื่อให้เรียกขานนามได้ง่าย จึงเพี้ยนเสียงมาเป็น “บ้านบิง” ในที่สุด และใช้ชื่อนี้เรียกชื่อหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน
ต้นบีง หรือต้นเบง(ต้นมะค่า) ที่ยืนต้นตระหง่านอยู่ ณ บริเวณลานกีฬาเอนกประสงค์ 
ใกล้ศาลปู่ตาของบ้านบิง หมู่ที่ 2 ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
....ที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ไว้ และทุกท่านสามารถแวะไปเยี่ยมชมของจริงได้
คำว่าต้นมะค่า เขียนเป็นภาษาเขมรตามแบบอักขรวิธีภาษาเขมรท้องถิ่นอีสานใต้

           ในพจนานุกรมภาษาเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ สมเด็จพระสังฆราช(คณะมหานิกาย) ชวน ณาต โชตัญญาโณ ค.ศ. ๑๙๖๗ (พ.ศ.๒๕๑๐) ได้ให้คำนิยามความหมายของต้นไม่มะค่า เป็นภาษาเขมรไว้ว่า បេង ( ន. ) ឈ្មោះ​ឈើ​ខ្លឹម​មួយ​ប្រភេទ ពួក​គ្រញូង, ពួក​ធ្នង់ : ក្ដារ​បេង, តុ​បេង ។ ​แปลว่า มะค่า (น.)ชื่อไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง จำพวกเดียวกับไม้พะยูง และไม้ประดู่ ตัวอย่างเช่น ក្ដារ​បេង(กระดานจากไม้มะค่า), តុ​បេង(โต๊ะทำจากไม้มะค่า) เป็นต้น
ขอบคุณที่มา : 
- ป้ายแนะนำข้อมูลหมู่บ้านและวัดบ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- พจนานุกรมภาษาเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ สมเด็จพระสังฆราช(คณะมหานิกาย) ชวน ณาต โชตัญญาโณ ค.ศ. ๑๙๖๗ (พ.ศ.๒๕๑๐).

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย