-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เพลง สาวขุขันธ์


              ภาพในมิวสิควีดีโอเพลง สาวขุขันธ์ เป็นประมวลภาพเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ปรากฎการณ์พญานาค ที่อำเภอขุขันธ์  ต้นปาล์มที่อยู่บริเวณทิศเหนือของอนุสาวรีย์ตากะจะ  หรือพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก และอยู่ในบริเวณที่กำลังทำการก่อสร้างศาลหลักเมืองขุขันธ์ ในปัจจุบัน เป็นต้นปาล์มต้นที่ ๕ อยู่ทางทิศเหนืออนุสาวรีย์ตากะจะ...ได้แทงยอดออกมาจากลำต้น มีลักษณะแปลก คล้ายเศียรพญานาค ๙ เศียร เป็นที่แตกตื่นของชาวอำเภอขุขันธ์  และพื้นที่ใกล้เคียงแวะเวียนมาเยี่ยมชมกันอย่างไม่ขาดสาย สำหรับยอดรายรับจากตู้บริจาคบริเวณลานอนุเสาวรีย์ตากะจะ และที่ต้นปาล์มพญานาค ระหว่างวันที่ ๘ - ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 81,058.25บาท(แปดหมื่นหนึ่งพันห้าสิบแปดบาทยี่สิบห้าสตางค์.-)  ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เริ่มเกิดขึ้นภายหลังจากที่ชาวเมืองขุขันธ์ ได้จัดงาน "รำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี" อย่างยิ่งใหญ่ ในระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา

ต้นปาล์มต้นที่ ๕ (GPS :14.714538,104.198781)


การสำรวจสำมโนประชากรครั้งแรกของเมืองขุขันธ์

              ระหว่างปี  พ.ศ.  ๒๓๗๖–๒๓๘๒  เจ้าพระยาบดินทร์เดชา  เป็นแม่ทัพยกจากกรุงเทพฯและรวมทัพจากหัวเมืองชั้นนอกต่าง ๆ  รวม  ๔๐,๐๐๐  คน  ไปรบกับญวนในเขตเมืองกัมพูชา  การทำศึกครั้งนี้เมืองขุขันธ์ได้เกณฑ์ไพร่พลจำนวน  ๑,๕๐๐   คนไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพจากกรุงเทพฯอย่างแข็งขันโดย  หลวงเทพรักษาได้ยกพลมารวม  ณ  ที่ตั้ง  บริเวณวัดไทยเทพนิมิต   และให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา  (สิงห์  สิงหเสนีย์ ) จากกรุงเทพฯ  จัดทำบัญชี  "เขมรป่าดง"  เมืองขุขันธ์   ได้สำรวจชำระบัญชีชายฉกรรจ์ในครัวเรือนด้วย  คือ เป็นการสำรวจสำมโนประชากรครั้งแรกของเมืองขุขันธ์




การตั้งเมืองชุมพลบุรี (พ.ศ. 2425)

               ปี  พ.ศ.  ๒๔๒๕  ฝ่ายเมืองสุรินทร์  ได้มีผู้คนได้พร้อมใจกันสมัครใจอพยพครอบครัวเป็นจำนวนมาก  โดยอพยพข้ามไปตั้งบ้านเรือนอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ  มีบ้านทัพค่าย  เป็นต้น  เดือดร้อนถึงพระยาสุรินทร์ ฯ  จึงได้มีใบบอก ขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมืองและขอพระวิเศษราชา (ทองอิน)  เป็นเจ้าเมืองปกครอง ชื่อว่า "เมืองชุมพลบุรี"  โดยให้บรรดาศักดิ์  เจ้าเมืองใหม่ว่า  "พระฤทธิรณยุทธ"  แล้วโปรดเกล้าฯ  ให้ท้าวเพชร  เป็นปลัดเมือง  ให้ท้าวกลิ่นเป็นยกบัตรเมือง  ทั้ง ๒ คนเป็นพี่ชาย ของพระฤทธิรณยุทธ ( ทองอิน ) และให้ ท้าวนุด บุตรพระฤทธิรณยุทธ ( ทองอิน ) เป็นผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี  พร้อมกับได้โปรดเกล้าฯ ตั้ง นายปรางค์ บุตรพระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์  (ม่วง) เป็น พระสุรพินทนิคมนุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคมแทนคนเก่า ที่ถึงแก่กรรมที่ตำแหน่งยังว่างอยู

หมายเหตุ เหตุการณ์นี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเมืองขุขันธ์ แต่ขอลงบันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังที่เป็นชาวอำเภอราษีไศลได้ทราบ เพื่อจะได้สืบค้นประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นตนเองในลำดับต่อไป

การตั้งบ้านกุดไผท หรือบ้านจารพัด และบ้านลำดวนเป็นเมือง

              ปี  พ.ศ.  ๒๔๑๒  โปรดเกล้าฯ  ให้เกณฑ์คนเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์    เมืองสังฆะ  เมืองเดชอุดม  และเมืองศรีสะเกษ  ไปช่วยทำอิฐเพื่อทำการก่อสร้างกำแพงเมืองปราจีนบุรี  และในปีเดียวกันนี้ ทางฝ่ายเมืองสังฆะ  พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ  ได้เข้าเฝ้าฯ  กราบบังคมทูลขอพระกรุณาตั้งบ้านกุดไผท หรือบ้านจารพัดเป็นเมือง  ขอหลวงไชยสุริยา ( คำมี )  บุตรหลวงไชยสุริยวงศ์  กองนอก ไปเป็น  พระศรีขรภูมานุรักษ์  เจ้าเมืองให้ขึ้นต่อเมืองสังฆะ  ส่วนตำแหน่งปลัดและตำแหน่งยกบัตรเมืองสังฆะ  ในขณะนั้นว่าง  จึงตั้งพระสุนทรพิทักษ์  บุตรพระปลัดคนเก่าขึ้นเป็นปลัด และขอหลวงศรีสุราช ผู้หลานเป็นยกบัตรเมืองสังฆะ
  
             ส่วนทางฝ่ายเมืองสุรินทร์  พระยาสุรินทร์ฯ  เห็นว่า  พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ  ได้ขอบ้านกุดไผทเป็นเมืองศรีขรภูมิแล้ว  ก็เกรงว่าพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ คงจะขอบ้านลำดวนเป็นเขตแขวงด้วย  จึงมีใบบอกทูลขอตั้งบ้านลำดวนขึ้นเป็นเมือง  โดยให้พระไชยณรงค์ภักดี (นาก)  ปลัดเมืองสุรินทร์  เป็นเจ้าเมือง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ทรงโปรดเกล้าฯ  ตามขอ  โดยให้ยกบ้านลำดวน  ขึ้นเป็นเมือง  ชื่อเมืองสุรพินทนิคม ให้พระณรงค์ภักดี ปลัด (นาก) เป็นพระสุรพินทนิคมมานุรักษ์  เจ้าเมืองสุรพินทนิคม  โดยให้ขึ้นต่อเมืองสุรินทร์

หมายเหตุ เหตุการณ์นี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเมืองขุขันธ์ แต่ขอลงบันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังที่เป็นชาวอำเภอราษีไศลได้ทราบ เพื่อจะได้สืบค้นประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นตนเองในลำดับต่อไป

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การตั้งเมืองศีร์ษะเกษ(พ.ศ. 2325)และยุบเมืองศีร์ษะเกษ(พ.ศ. 2450)

     จากเหตุการณ์ที่ “พระไกร” ได้กล่าวหา เจ้าเมืองขุขันธ์ ในข้อหากบฏคบคิดร่วมกับญวน  จนเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 (หลวงปราบ) ถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์  เมื่อปี พ.ศ. 2325 ทำให้พระไกร(ลูกเลี้ยงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นท่านที่ 3 แทนนั้น ทำให้ท้าวอุ่น หรือพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นไม่พอใจ (ท้าวอุ่น เป็นบุตรตากะจะ มีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปราบ หรือเชียงขันธ์) อีกทั้งเกิดความระแวงเกรงกลัวว่าตัวท่านอาจจะไม่มีความปลอดภัย    ในชีวิตตนเองและครอบครัวในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์  จึงต้องตัดสินใจเดินทาง เข้ากรุงเทพฯ เพื่อกราบบังคมทูลขอแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนแยกตั้งเป็นเมืองใหม่ โดยกราบบังคมทูลขอแยกบ้านโนนสามขา สระกำแพง และทูลขอเป็นเจ้าเมืองด้วยตนเอง      พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงเห็นใจและเห็นว่ามีความชอบธรรมมีเหตุมีผล จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโนนสามขา สระกำแพง ขึ้นเป็น “เมืองศีร์ษะเกษ” และโปรดเกล้าฯให้พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น บุตรตากะจะ) ปลัดเมืองขุขันธ์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เป็นท่านแรกในราชทินนามใหม่ว่า “พระรัตนวงศา”  ว่าราชการขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา โดยมีเจ้าผู้ปกครองเมืองศีร์ษะเกษ ในตำแหน่งเจ้าเมืองศีร์ษะเกษสืบต่อกันมา จำนวน 5 ท่าน  
     พระรัตนวงศา (ท้าวอุ่น)  พ.ศ. 2325 – 2328
     •พระพิเศษภักดี (ท้าวชม ) พ.ศ. 2328 – 2368
     พระวิเศษภักดี  (ท้าวบุญจันทร์ ) พ.ศ. 2368 - 2424
     •พระวิเศษภักดี  (ท้าวโท ) พ.ศ. 2424 – 2440
     •พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า ) พ.ศ.  2440 –2447


           ในปี พ.ศ. 2431 พระอุปราชเมืองสุวรรณภูมิ ได้กล่าวโทษเจ้าเมืองมหาสารคาม  เจ้าเมืองสุรินทร์  และเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ (พระวิเศษภักดี หรือท้าวโท ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2424 – 2440) ว่า ได้กระทำการอันมิชอบ คือ ได้ทำการแย่งชิงแบ่งเอาดินแดนที่เป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิบางส่วนไปตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ กล่าวคือ เมืองมหาสารคาม ได้เอาบ้านนาเลา ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองวาปีปทุม เมืองสุรินทร์ ได้เอาบ้านทัพค่าย ขอตั้งเป็นเมือง ชื่อว่า เมืองชุมพลบุรี ส่วนเมืองศีร์ษะเกษ ได้เอาบ้านโนนหินกอง ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองราษีไศล ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงทราบเรื่องแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าหลวงกำกับเมืองจำปาสัก และข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณอุบลราชธานี ร่วมคณะไปสอบสวน   หาข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนได้คำสัตย์จริงดังที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิกล่าวโทษ   แต่เนื่องจากพระองค์เห็นว่า การกระทำของเจ้าเมืองทั้งสาม  ดังกล่าว ได้สำเร็จและล่วงเลย มานานแล้ว  ยากที่จะรื้อถอนได้  จึงทรงโปรดเกล้าฯ  ให้คงความเป็นเมืองไว้ต่อไป


           ข้อสังเกต พ.ศ. 2447–2450  ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองศีร์ษะเกษว่างและเมืองบริเวณขุขันธ์ ถูกยุบรวม (เมืองขุขันธ์  เมืองศรีสะเกษ  และเมืองเดชอุดม ) ทั้งสามถูกยุบรวมเป็นเมืองเดียวกันรวมเรียกว่า “เมืองขุขันธ์” (ใน พ.ศ.2450)  มีผลทำให้อำเภอทุกอำเภอที่ขึ้นต่อเมืองศีร์ษะเกษ เมืองเดชอุดม และขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ ให้ขึ้นและอยู่ในการปกครองเมืองขุขันธ์ทั้งสิ้น ดังนั้น ชื่อคำว่า เมืองศีร์ษะเกษได้เปลี่ยนและลดฐานะเป็นอำเภอศีร์ษะเกษ และชื่อคำว่า เมืองเดชอุดมได้เปลี่ยนและลดฐานะเป็นอำเภอกลางเดชอุดม ทำให้ชื่อของ "เมืองศีร์ษะเกษ" และชื่อของ "เมืองเดชอุดม" สิ้นสุดและสิ้นสภาพความเป็นเมืองตั้งแต่บัดนั้นมา  

คณะติดตามช้างเผือกจากรุงศรีอยุธยาผ่านมาถึงบ้านปราสาทสีเหลี่ยมโคกลำดวนเพื่อขอความร่วมมือตากะจะและเชียงขันธ์ช่วยค้นหาและจับช้าง

               ในปีพุทธศักราช 2302 ตรงกับรัชสมัยในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือ   สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ) ได้เกิดเหตุอันไม่คาดฝัน กล่าวคือ ได้มีพญาช้างเผือกแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ตกมัน แตกโรงช้างหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา เตลิดหนีไปทางทิศตะวันออกโดยผ่านดินแดนแถบเทือกเขาดงพญาไฟ มุ่งหน้าเข้าสู่เขตเทือกเขาพนมดงรัก  
                 
               พระเจ้าเอกทัศน์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สองพี่น้องซึ่งเป็นทหารเอกในสมัยนั้น คือ ทองด้วง กับ บุญมา(ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท)  คุมไพร่พลจำนวน ๓๐ คน ออกติดตามพญาช้างเผือก นำกลับกรุงศรีอยุธยา โดยคณะผู้ติดตามได้เดินทางถึงเมืองพิมาย เจ้าเมืองพิมายได้นำคณะผู้ติดตามไปพบและขอความร่วมมือช่วยเหลือจากหัวหน้าหมู่บ้านเขมรป่าดง  คือ เชียงสี  เชียงปุม  เชียงไชย และเชียงฆะ หรือ เชียงเกา  แต่ก็มิได้ข่าวคราวการหนีมาของพญาช้างเผือก แต่ประการใด  ดังนั้น หัวหน้าหมู่บ้านกลุ่มชนดังกล่าวจึงได้นำคณะผู้ติดตามไปพบเพื่อขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าเขมรป่าดงแห่งบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน คือ  "ตากะจะ  และเชียงขันธ์"  ระหว่างทางได้ผ่านชุมชนหนึ่งมีชาวบ้านได้นำมะกอกมาให้ทหารเอกสองพี่น้อง ไพร่พลและหัวหน้าหมู่บ้านชนชาวเขมรป่าดงที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันได้รับประทาน ทองด้วง (หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในอดีต)ได้ชมว่า มะกอกบ้านนี้รสหวานดียิ่งนัก จึงขนานนามบ้านนี้ว่า "บ้านกอกหวาน" ตั้งแต่นั้นมา(บ้านกอกหวาน เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลโพธิ์ศรี อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบัน) แล้วคณะติดตามพญาช้างเผือกก็เดินทางลัดเลาะผ่านทุ่งนายามหน้าแล้ง พบชาวบ้านกำลังใช้เสียมขุดดินหาปูจนเป็นหลุมมากมายบริเวณทุ่งนาแห่งนั้น  จึงได้ขนานนามบ้านนี้ว่า "บ้านหลุมปู" (หลายปีผ่านมา ชาวบ้านแถบนี้ เป็นชาวเขมรป่าดง พูดไทยได้ไม่ค่อยชัด และเมื่อมีผู้ผ่านไปมาถามว่า บ้านนี้ชื่อว่าบ้านอะไร ก็จะตอบด้วยภาษาไทยสำเนียงภาษาถิ่นเขมรปนไทยว่า "ลำปู" และออกเสียงเพี้ยนมาเป็นชื่อหมู่บ้านที่เป็นทางการในปัจจุบันว่า "บ้านลำภู" ในที่สุด)   คณะติดตามช้างได้เดินทางผ่านมาถึงอีกชุมชนหนึ่งซึ่งชาวบ้านได้นำน้ำที่ใสสะอาดมาคอยต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรี และให้ความร่วมมือด้วยดีช่วยบอกทางไปพบตากะจะ หัวหน้าชาวเขมรป่าดงแห่งหมู่บ้านประสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ท่านจึงชมว่า บ้านนี้ช่างใจดียิ่งนัก จึงขนานนามชื่อบ้านนี้ว่า "บ้านใจดี"  แล้วคณะก็ได้ออกเดินทางต่อระหว่างทางได้พบชาวเขมรป่าดงกลุ่มหนึ่งล้วนเป็นชายผู้สูงวัยกำลังถางป่าทำไร่ เมื่อคณะตามช้างเดินทางผ่านมาและมีไพร่พลติดตามมาเป็นจำนวนมากก็ตกใจกลัว ท่านยังไม่ทันได้ไต่ถามอะไรเลย พวกตาแก่เหล่านั้นก็พากันกลัวถูกจับตัว ก็พาวิ่งหนีหลบเข้าป่าในบริเวณนั้นไป จึงขนามนามบ้านป่าแถบนั้นว่า "บ้านตากลัว" (เรียกชื่อหมู่บ้านเพี้ยนต่อๆกันมาเป็นชื่อหมู่บ้านที่เป็นทางการปัจจุบันว่า "บ้านตาโคล" ในที่สุด)  ห่างจากบ้านตากลัวไปทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก คณะก็ได้พบร่องรอยของพญาช้างเผือกและโขลงช้างป่าแวะลงเล่นน้ำในบริเวณลำห้วยกลางป่าทึบ ซึ่งชาวบ้านเรียกชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นเขมรมาจนถึงปัจุจุบันว่า "อันล็วงตำเร็ยซอ" (บริเวณแอ่งน้ำที่ลึกสุดของลำห้วยบริเวณนั้น ที่ชาวบ้านเขมรป่าดงในสมัยนั้นเคยพบว่ามีพญาช้างเผือก และโขลงช้างป่าผ่านมาทางนี้ลงเล่นน้ำกันอยู่ที่นี่ก่อนจะมุ่งหน้าออกไปยังผืนป่าใหญ่แห่งภูเขาพนมดงรัก ซึ่งปัจจุบัน "อันล็วงตำเร็ยซอ" อยู่ระหว่างสองหมู่บ้าน คือบ้านตาโคล ตำบลใจดี กับ บ้านบิง  ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ หรืออยู่ตำแหน่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลดองกำเม็ด ปัจจุบัน ระยะทางประมาณ 430 เมตร )

แผนที่พิกัด "อันล็วงตำเร็ยซอ" (GPS : 14.761407, 104.190537)
ตำบลดองกำเม็ด  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

นายไพศาล  นนทะสรณ์  อายุ ๗๒ ปี(ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗) ราษฎรอาวุโสบ้านพะเยียว  ภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลใจดี  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
กำลังชี้จุดพิกัดของ "อันล็วงตำเร็ยซอ"


               กล่าวถึง ตากะจะ และเชียงขันธ์ เมื่อทราบว่ามีคณะติดตามช้างจากกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๔ ท่านกำลังเดินทางมุ่งหน้ามายังบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ต่างก็ดีใจยิ่งนัก และพากันขี่ช้างพลายตัวใหญ่ออกไปต้อนรับ ณ บริเวณป่าใกล้ๆ"อันล็วงตำเร็ยซอ"  ซึ่งระหว่างทางเป็นป่ารกมาก  หัวหน้าหมู่บ้านทั้งสองจึงได้พาลูกบ้านตัดไม้ถางป่าเพื่อทำเป็นทางเดิน และขณะกำลังถางป่ากันอยู่นั้น  ด้ามมีดของตากะจะก็ได้หลุดกระเด็นหลุดออกจากตัวมีด และหายไปในป่าบริเวณนั้น ตะกะจะได้สั่งให้ลูกบ้านช่วยกันค้นหาอย่างไรก็ไม่พบ จึงขนานนามบ้านแถบนั้นในภายหลังว่า "บ้านดองกำเม็ด" ตั้งแต่นั้นมา  
            
               เมื่อคณะติดตามช้างจากกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๔ ท่านได้พบกับตากะจะ และเชียงขันธ์ แล้วจึงได้ทราบว่ามีพญาช้างเผือกหนีผ่านเข้ามาในอาณาเขตพื้นที่ปกครองของหมู่บ้านปราสาทสี่เหลียมโคกลำดวน(ชื่อเรียกพื้นที่เมืองขุขันธ์ในอดีตก่อนปี พ.ศ. ๒๓๐๖)จริง 

               ตากะจะ  และเชียงขันธ์ ร่วมกับหัวหน้ากลุ่มชนเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่มชน จำนวน ๖ ท่าน  โดยมีตากะจะผู้มีอายุอาวุโสที่สุดเป็นหัวหน้าคณะผู้ประชุมวางแผนติดตามช้างเผือก ได้เตรียมเชือกปะกำคล้องช้าง หรือภาษาถิ่นเขมร เรียกว่า "เปรื๊อดปะกำจับตำเร็ย" และพากันทำพิธีเซ่นไหว้ศาลปะกำ และเป่าเสนงเกลเอาฤกษ์เอาชัย แล้วคณะหัวหน้าชาวเขมรป่าดงทั้ง 6 ท่านก็ขี่ช้างนำหน้าพาลูกบ้านเร่งรีบออกเดินทางค้นหาทันทีตามรอยโขลงช้างป่าไปเรื่อยๆ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน ก็พบพญาช้างเผือกอยู่รวมกับโขลงช้างป่า ณ ป่าทึบบริเวณเชิงเขาพนมดงรัก จึงพร้อมใจกันทำพิธีเพิกช้างป่า และสะกดพญาช้างเผือก โดยเสกก้อนหินขว้างไป ๘ ทิศ กระทืบเท้า ๓ ครั้ง ช้างป่าก็แตกตื่นหนีเข้าป่าไป  ส่วนพญาช้างเผือกถูกมนต์สะกดยืนส่ายงวงหมุนวนอยู่กับที่ จึงช่วยกันขี่ช้างล้อม และใช้เชือกปะกำคล้องจับพญาช้างเผือกได้ แล้วนำมามอบให้คณะผู้ติดตามนำพญาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยา  โดยหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง  ๖ ท่าน ได้ร่วมเดินทางกับคณะนำพญาช้างเผือกส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย  

               การที่หัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๖ ท่าน ได้ช่วยเหลือคณะผู้ติดตามจนสามารถจับพญาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนี้  สองพี่น้องหัวหน้าคณะผู้ติดตามได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ฯ ให้ทรงทราบถึงการติดตามจับพญาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนี้  ได้รับการช่วยเหลือจากหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๖ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ  จึงชื่นชมในคุณงามความดีที่หัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง  ๖  ได้มีต่อกรุงสยาม  จึงโปรดเกล้า ฯพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่หัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง  ๖  ท่าน ตามลำดับ  ดังนี้ 

               ๑. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  ตากะจะ   เป็น "หลวงแก้วสุวรรณ "
               ๒. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงขันธ์  เป็น  "หลวงปราบ "
               ๓. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงปุม  เป็น  "หลวงสุรินทร์ภักดี "
               ๔. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงฆะหรือ เชียงเกา เป็น "หลวงเพชร "
               ๕. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงสี    เป็น  "หลวงศรีนครเตา "
               ๖. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงไชย เป็น  "ขุนไชยสุริยงค์"

        โดยให้ทั้ง  ๖  เป็นนายกองฐานะรับราชการขึ้นกับเมืองพิมาย  โดยอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา   เป็นการมอบอำนาจแก่หัวหน้าหมู่บ้าน "เขมรป่าดง"  ควบคุมปกครองดูแลสมัครพรรคพวกและลูกบ้านตนเองเพื่อเตรียมการยกฐานะชุมชนหมู่บ้านขึ้นเป็นเมืองต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากภูมิปัญญาท้องถิ่น​ : นายไพศาล  นนทะสรณ์  อายุ ๗๒ ปี(ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗) ราษฎรอาวุโสบ้านพะเยียว  ตำบลใจดี  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

“จังหวัดขุขันธ์” ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “จังหวัดศรีสะเกษ” เมื่อ พ.ศ. 2481

ปี พ.ศ. 2481 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ชาวขุขันธ์จะต้องจดจำและจารึกเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกวาระหนึ่งคือ ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช  2481  ให้เปลี่ยนนาม  “อำเภอห้วยเหนือ” เป็นนาม “อำเภอขุขันธ์”  “อำเภอน้ำอ้อม”  เป็นนาม “อำเภอกันทรลักษ์” อำเภอคง  เป็นนาม  “อำเภอราษีไศล”  และเปลี่ยนนาม”อำเภอศรีสะเกษ”  เป็นนาม  “อำเภอเมืองศรีสะเกษ”  และเปลี่ยนนาม  “จังหวัดขุขันธ์” เป็นนาม  “จังหวัดศรีสะเกษ” 
จากการเปลี่ยนนาม “จังหวัดขุขันธ์” เป็นนาม “จังหวัดศรีสะเกษ” ในครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการในนามจังหวัดศรีสะเกษเป็นท่านแรกคือ พระศรีราชสงคราม(ศรี  สุขวาที ) ปี พ.ศ. 2481 – 2482 

         ปี พ.ศ. 2483 ( ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2483 – 3 มกราคม 2484) เกิดกรณีพิพาท ระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสโดยฝรั่งเศส ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนม  อำเภออรัญประเทศ  และส่งกองทหารเข้าโจมตีอำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม ช่องโจมบก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์  กองทัพบูรพาของไทย จึงรุกรบเข้าไปในเขตอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2484 ยึดด่านปอยเปต บุกไปเกือบถึงเมืองเสียมราฐ และศรีโสภณ ยึดนครจำปาสักได้ กองกำลังทหารตำรวจของจังหวัดเลย ยึดเมืองปากกายฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงกันข้ามเมืองหลวงพระบางได้ มีการทำสัญญาหยุดยิง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2484 โดยมีผู้แทนญี่ปุ่นเป็นฝ่ายไกล่เกลี่ยสงบศึก ฝ่ายไทยได้มีจังหวัดเพิ่มขึ้นหลายจังหวัดจากฝรั่งเศสคือ จังหวัดนครจำปาสัก จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดลานช้าง ซึ่งบางจังหวัดมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ จึงมีข้าราชการชาวศรีสะเกษ ที่รู้ภาษาเขมรไปอยู่ประจำทำงาน หลายคนไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ เมื่อมีการแบ่งเป็นเขตแดน ก็ไม่ได้กลับเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้ และมีทายาทอยู่ในตำแหน่งผู้ปกครองของกัมพูชาในระดับสูงก็ยังมีปรากฎอยู่

         ต่อมาในวันที่ 7 - 8 ธันวาคม 2484 เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังของไทยกับกองกำลังทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน และมีคำสั่งให้หยุดยิง เมื่อ เวลา 07.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นผลให้ไทยทำสัญญากับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นเหตุให้คนไทยส่วนหนึ่ง นำโดย ดร. ปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อกู้ชาติ โดยระดมชายฉกรรจ์ พร้อมทั้งข้าราชการบางส่วนทั่วประเทศ รวมทั้งจากจังหวัดศรีสะเกษไปฝึกอาวุธ มีการเตรียมการจัดทำสนามบิน เพื่อให้เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาลง เช่น ที่บริเวณศูนย์การศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ (ทุ่งสนามบิน) และที่บ้านสนามสามัคคี ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์


  ปี  พ.ศ. 2492  ย้ายที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย  ไปตั้งที่บ้านตำแย  ใกล้กับทางรถไฟ

ปี พ.ศ.2494 รัฐบาลไทยได้ส่งกองทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ฝ่ายที่ต่อต้านสงคราม ได้ก่อตั้งขบวนการสันติภาพสากลขึ้น เมื่อเดือนเมษายน 2494 เกิดกบฎสันติภาพในปลายปี 2495 และกบฎคอมมิวนิสต์  พ.ศ.  2502 – 2508 

ปี พ.ศ. 2498 แยกตำบลพราน ตำบลไพร และบางหมู่บ้านจากตำบลละทาย  อำเภอกันทรลักษ์  รวมกับ  5  ตำบลในอำเภอขุขันธ์  คือ  ตำบลขุนหาญ  ตำบลสิ  ตำบลบักดอง ตำบลกระหวัน  และตำบลกันทรอม  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอขุนหาญขึ้นกับอำเภอขุขันธ์  

ปี  พ.ศ. 2501  ตั้งกิ่งอำเภอขุนหาญ  เป็นอำเภอขุนหาญ  

           
ปี  พ.ศ. 2504  รวมตำบลกู่  ตำบลพิมาย  ตำบลหนองเชียงทูล  และตำบลสมอ ของอำเภอขุขันธ์  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอปรางค์กู่  

ปี  พ.ศ. 2505  ศาลโลกตัดสินให้ประเทศไทยยกปราสาทเขาพระวิหาร  ตำบลบึงมะลู  อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้ตกเป็นของประเทศกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของประเทศไทย การเสียเขาพระวิหารนับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ของโลก  เนื่องจากเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลโลก
  
ปี พ.ศ. 2506 ? มีการสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับราชอาณาจักรกัมพูชา  ยืนยันว่ากัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรสยาม 

ปี  พ.ศ.  2510 ?  มีการทำสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส  โดยพระเจ้ากรุงสยามทรงยอมรับว่ากัมพูชาเป็นเมืองอารักขาของฝรั่งเศส

ปี  พ.ศ.  2436  ราชอาณาจักสยามทำสนธิสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะแก่งต่าง ๆ  ให้กับฝรั่งเศส

ปี  พ.ศ. 2441 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์  เสด็จเขาพระวิหาร  ประทานนามว่า  “เทพพระวิหาร”  จารึกพระนาม “สรรพสิทธิ์”  ไว้ที่ประสาทด้านหลัง
  
วันที่ 13  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2447  ฝรั่งเศสทำสนธิสัญญากับราชอาณาจักรสยาม โดยราชอาณาจักรสยามยอมยกเมืองหลวงพระบางบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และเมืองมโนไพร  ดินแดนทางใต้ของภูเขาดงรักให้แก่ฝรั่งเศส  เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ( จันทบูร ) ที่ฝรั่งเศสยึดไว้
  
วันที่  24  มิถุนายน  พ.ศ. 2447  มีการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติม  โดยราชอาณาจักรสยามเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส  ระหว่างทะเลสาบและทะเลหลวง

วันที่ 23  มีนาคม  พ.ศ. 2450  มีการทำสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส  โดยราชอาณาจักรสยามยินยอมยกดินแดน พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้ฝรั่งเศส  เพื่อแลกเมืองด่านซ้าย  เมืองตราด  และเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดให้แก่สยาม

วันที่  30  มกราคม  พ.ศ. 2472  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชนุภาพ  นายกราชบัณฑิตสภา  ได้เสด็จปราสาทเขาพระวิหาร  มีเรสิดัง  กำปงธม  แต่งเครื่องแบบเต็มยศ  และนักโบราณคดีฝรั่งเศสมาคอยที่ริมบันไดขึ้นพระวิหาร  มีการชักธงฝรั่งเศสในกลางเขาพระวิหารด้วย  ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชนุภาพอย่างยิ่ง  (แต่ไทยก็มิได้แสดงความไม่พอใจเป็นทางการแต่ประการใด)


            วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2483 กรมศิลปากรของราชอาณาจักรไทยได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 หน้า 2527 - 8 และจัดให้หลวงศรี ซึ่งแต่งกายนุ่งขาวห่มขาวโกนผมจำศีลภาวนาที่ถ้ำขุนศรี เป็นผู้เฝ้ารักษาเขาพระวิหาร

ปี พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่นซึ่งทำสงครามอินโดจีนชนะฝรั่งเศส  ได้ยกดินแดนบางส่วนรวมทั้งเขาพระวิหารคืนแก่ไทย เป็นผลทำให้เกิดจังหวัดจำปาสัก จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม  ดินแดนเขาพระวิหารจึงไม่ต้องสงสัยว่าอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา และสมเด็จนโรดมสีหนุ เริ่มมีบทบาทในการเมืองในกัมพูชา  หลังสงครามโลกครั้งที่  2  

พ.ศ. 2492 ฝรั่งเศสและกัมพูชา คัดค้านอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือปราสาท     เขาพระวิหารอย่างเปิดเผยและประท้วงไทยไม่ให้ส่งคนไปรักษาเขาพระวิหาร หลังจากที่ไทยไม่ยอมรับข้อแนะนำของคณะกรรมการประนีประนอม ณ กรุงวอชิงตัน  สหรัฐอเมริกา เมื่อ  พ.ศ. 2490  ทำให้สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศเสื่อมทรามตลอดมา  

ปี  พ.ศ. 2501  กระทรวงโฆษณาการของกัมพูชา  พิมพ์เผยแพร่บทความสรุปว่า  ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของกัมพูชาตามอนุสัญญา  ฉบับวันที่ 13  กุมภาพันธ์  2447 อันได้รับการยืนยันจากสนธิสัญญา  วันที่ 23 มีนาคม  พ.ศ. 2450  สนธิสัญญานี้กลับบังคับใช้อีกตามข้อตกลง  ที่วอชิงตัน  เมื่อ  พ.ศ.  2489

          วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางชายแดนไทยด้านกัมพูชา รวม 6 จังหวัด อันได้แก่ จันทบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี สื่อมวลชนทั้ง 2 ประเทศมีการโจมตีกันยิ่งขึ้น

          วันที่ 1 ธันวาคม  พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับราชอาณาจักรไทย  หลังจากที่เจรจาด้วยสันติวิธีไม่ได้ผล
  
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลกัมพูชา  ได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ขอให้ศาลวินิจฉัยให้ราชอาณาจักรไทยถอนกำลังถืออาวุธออกจากบริเวณเขาพระวิหาร และขอให้ ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา
  
วันที่  4  ธันวาคม  พ.ศ.  2502  ราชอาณาจักรไทย  ประกาศขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานแห่งชาติอีกครั้งตามประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 4  ธันวาคม พ.ศ. 2502  กับทั้งมีแผนที่แสดงปราสาทเขาพระวิหารแนบท้ายด้วย   รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์อ้างข้อกำหนดในสนธิสัญญา  พ.ศ. 2447  ต้องใช้  สันปันน้ำอันเป็นเขตแดนธรรมชาติ  ซึ่งจะทำให้เขาพระวิหารเป็นของไทย  แต่กัมพูชา  อ้างแผนที่ที่มีการจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการผสมตามสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ซึ่งมีพลเอกหม่อมชาติ เดชอุดม  เป็นกรรมการฝ่ายไทย  และพันโทแบร์นารด  เป็นประธานกรรมการฝ่ายฝรั่งเศส  แล้วส่งให้ฝ่ายไทย 50 ฉบับ  พระเจ้าน้องยาเธอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยยอมรับเมื่อ พ.ศ. 2451  และได้ขอแผนที่ฉบับนี้เพิ่มเติมอีก  15  ฉบับ  เพื่อแจกเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทย  แสดงว่าฝ่ายไทยยอมรับแผนที่นี้  (อยู่ในสถานการณ์ภาระจำยอม)

          วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ( พลเอกประพาส จารุเสถียร) ได้กล่าวคำปราศรัยที่จำต้องสละอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร และทำการรื้อถอนทุกสิ่งออกนอกเขต รวมทั้งเคลื่อนย้ายเสาธงพร้อมธงชาติออกจากหน้าผาเป้ยตาดี ลงมาโดยไม่มีการ ลดธงจากยอดเสาแต่อย่างใด พื้นที่บริเวณเขาพระวิหารที่ได้เสียไปเป็นรูปห้าเหลี่ยมคางหมูพื้นที่ไม่เกิน 150 ไร่ และตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ชาวไทยได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวชมเขาพระวิหารได้ ทั้งนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่กัมพูชาตามอัตราและตามเวลาที่กำหนด

ปี  พ.ศ. 2506  ตั้งกิ่งอำเภอปรางค์กู่เป็น  อำเภอปรางค์กู่ 

ปี  พ.ศ. 2511 รวม 4 ตำบลของอำเภอขุขันธ์  คือ ตำบลไพรบึง  ตำบลปราสาทเยอ  ตำบลดินแดง  และตำบลสำโรงพลัน ตั้งเป็นกิ่งอำเภอไพรบึง

ปี  พ.ศ.  2514  รวม  3  ตำบลของอำเภอศรีสะเกษ  คือ  ตำบลยางชุมน้อย  ตำบลคอนกาม  และตำบลลิ้นฟ้า  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอยางชุมน้อย  

ปี  พ.ศ.  2518  ยกกิ่งอำเภอไพรบึง  เป็นอำเภอไพรบึง 

ปี พ.ศ. 2520  รวมตำบลเปาะ  ตำบลเสียว  ตำบลโดด  และตำบลหนองม้า  ของอำเภอ อุทุมพรพิสัยขึ้นเป็นกิ่งอำเภอบึงบูรพ์ รวมตำบลห้วยทับทัน  ตำบลเมืองหลวง  ตำบลกล้วยกว้าง และตำบลผักไหม ของอำเภออุทุมพรพิสัยตั้งเป็นกิ่งอำเภอห้วยทับทัน  และรวมตำบลโนนค้อ  ตำบลหนองกุง  ตำบลบก  และตำบลโพธิ์  ของอำเภอกันทรารมย์  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอโนนคูณ 

ปี พ.ศ. 2522  ยกกิ่งอำเภอยางชุมน้อย และแยกตำบลโดด ตำบลเสียว  และตำบลหนองม้า  ออกจากกิ่งอำเภอบึงบูรพ์กลับไปขึ้นกับอำเภออุทุมพรพิสัยตามเดิม
  
ปี  พ.ศ.  2523  กิ่งอำเภอบึงบูรพ์แยกตำบลเป๊าะออกเป็นตำบลบึงบูรพ์และมีการรวมตำบลศรีแก้ว  ตำบลพิงพวย  ตำบลตูม  และตำบลสระเยาว์ของอำเภอกันทรลักษ์  ตั้งเป็น  กิ่งอำเภอศรีรัตนะ

ปี  พ.ศ. 2529 ยกกิ่งอำเภอห้วยทับทันขึ้นเป็นอำเภอห้วยทับทัน และรวมตำบลน้ำเกลี้ยง  ตำบลเขิน  ตำบลตองปิด  และตำบลละเอาะ  ของอำเภอกันทรารมย์ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง 

ปี  พ.ศ. 2530  ยกกิ่งอำเภอโนนคูณขึ้นเป็นอำเภอโนนคูณ และรวมตำบลดวนใหญ่  ตำบลบุสูง  ตำบลบ่อแก้ว  และตำบลศรีสำราญของอำเภอเมืองศรีสะเกษ  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังหิน 

ปี  พ.ศ.  2532  กิ่งอำเภอศรีรัตนะ  ขึ้นเป็นอำเภอศรีรัตนะ  

ปี  พ.ศ. 2534 รวมตำบลห้วยติ๊กชู ตำบลละลม ตำบลโคกตาล  ตำบลห้วยตามอญ  ตำบลดงรัก  และตำบลตะเคียนราม  ของอำเภอขุขันธ์  เป็นกิ่งอำเภอภูสิงห์

ปี  พ.ศ.  2535  รวมตำบลตาโกน  ตำบลเมืองจันทร์  และตำบลหนองใหญ่  ของอำเภออุทุมพรพิสัย  ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเมืองจันทร์  

ปี  พ.ศ. 2536  รวมตำบลเสียว  ตำบลหนองงูเหลือม  ตำบลหนองยาง  ตำบลหนองหว้า  และตำบลท่าคล้อ ของอำเภอกันทรลักษ์  ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเบญจลักษ์

ปี  พ.ศ.  2537  ยกกิ่งอำเภอบึงบูรพ์ขึ้นเป็นอำเภอบึงบูรพ์  กิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยงเป็นอำเภอน้ำเกลี้ยง  และกิ่งอำเภอวังหิน  เป็นอำเภอวังหิน  และในปีเดียวกันนี้มีการรวมตำบลพยุห์   ตำบลตำแย ตำบลโนนเพ็ก  และตำบลพรหมสวัสดิ์ ของอำเภอเมืองศรีสะเกษ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอพยุห์ นอกจากนี้ยังมีการรวมตำบลเสียว  ตำบลโดด ตำบลหนองม้า  ตำบลอีเซ  และตำบลผือใหญ่  ของอำเภออุทุมพรพิสัยตั้งเป็นกิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ตั้งนามตามต้นโพธิ์เก่าในวัดโพธิ์ศรีสะอาด  บ้านปลาเดิด

ปี  พ.ศ.  2538  ยกกิ่งอำเภอภูสิงห์ เป็น อำเภอภูสิงห์  

ปี  พ.ศ.  2540  รวมตำบลกุง  ตำบลคลีกลิ้ง  ตำบลโจดม่วง และตำบลหนองบัวดงของอำเภอราษีไศล  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอศิลาลาด และในปีเดียวกันนี้  กิ่งอำเภอเบญจลักษ์  ถูกยกขึ้นเป็นอำเภอเบญจลักษ์  ยกกิ่งอำเภอพยุห์  ขึ้นเป็นอำเภอพยุห์  และยกกิ่งอำเภอเมืองจันทร์  เป็นอำเภอเมืองจันทร์

หมายเหตุ  อย่างไรก็ตาม หากจะย้อนอดีตหาเหตุผลแห่งการที่ต้องเปลี่ยนนามจังหวัดขุขันธ์  เป็นจังหวัดศรีสะเกษ ดูจะขาดเหตุผลที่จะกล่าวอ้าง  เพราะดังที่ทราบอยู่แล้วว่า  เมืองศรีสะเกษ  ก็แยกจากเมืองขุขันธ์บางส่วนมาตั้งเป็นเมือง เจ้าเมืองท่านแรกก็ไปจากปลัดเมืองขุขันธ์ คือ ท้าวอุ่น  หรือ  พระภักดีภูธรสงคราม  ซึ่งเป็นบุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( ตากะจะ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก (แต่มีบางท่านพยายามเบี่ยงเบนประวัติศาสตร์) และภายหลังคือ  ปี  พ.ศ. 2450  ก็ได้ยุบเมืองเดชอุดมและเมืองศรีสะเกษรวมเป็นเมืองเดียวกับเมืองขุขันธ์ เรียกว่า “เมืองขุขันธ์” ทำให้เมืองศรีสะเกษ  และเมืองเดชอุดมลดฐานะเป็นอำเภอเดชอุดม  และอำเภอศรีสะเกษ ดังนั้นแม้จะยกเหตุผลใด ๆ กล่าวอ้างนามคำว่า “จังหวัดขุขันธ์”  ก็น่าจะยังมีปรากฏ    เป็น “จังหวัดขุขันธ์”  เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ในปัจจุบันนามคำว่า ขุขันธ์ ยังมีปรากฏอยู่ในฐานะอำเภอขุขันธ์  อำเภอหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันเป็นอำเภอชั้นหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้พัฒนาเจริญก้าวหน้า เข้าสู่สังคมเมืองเต็มรูปแบบ คาดว่าคงจะได้แยก  อำเภอขุขันธ์  อำเภอขุนหาญ   อำเภอภูสิงห์  อำเภอปรางค์กู่  และอำเภอไพรบึง  ขอยกฐานะจัดตั้งเป็น  “จังหวัดขุขันธ์” ในอนาคตอันใกล้นี้น่าจะชอบด้วยเหตุผล

ข้อสังเกต  จะเห็นว่า  ในการเขียนประวัติจังหวัดศรีสะเกษ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม เนื้อหาสาระจะกล่าวถึงเมืองขุขันธ์  และจังหวัดขุขันธ์เป็นสาระสำคัญเป็นส่วนใหญ่  เมืองศรีสะเกษ มีเนื้อหาจะกล่าวถึงน้อยมาก ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้วจะเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับท่าน พระเทพวรมุนี  เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ  ที่กล่าวว่า งานการแสดงแสงสี พฤกษเทศวร  เป็นเทศกาลงานสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษไม่เห็นมีสาระใด ๆ เลย ที่เกี่ยวกับจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก็ไม่มีใครตอบและอธิบายได้ โดยส่วนตัวที่เห็นด้วยกับคำกล่าวของท่านอย่างยิ่ง  เพราะนอกจากจะไม่มีสาระที่เกี่ยวกับจังหวัดศรีสะเกษแล้ว ยังเป็นการลงทุนและสร้างความเดือดร้อนให้แก่หน่วยงานทางราชการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   เป็นสิ่งที่น่าทบทวน (ประวัติศาสตร์ควรนำข้อเท็จจริงมากล่าวการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นทรยศ  ต่อบรรพบุรุษและแผ่นดินเกิดอย่างไร้ความรับผิดชอบ ) 

การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง พ.ศ. 2475

            ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีประมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหาร   แห่งราชอาณาจักรสยาม โดยจัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาค ออกเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล  และหมู่บ้าน ให้จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร มีผลทำให้ภาคและมณฑลถูกยุบไป ในปีเดียวกันนี้ได้มีการปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกครั้ง โดยปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด ให้จังหวัดมีสถานะเป็นนิติบุคคล อำนาจบริหารที่มีอยู่กับกรมการจังหวัด    ให้เปลี่ยนมาเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหาร  ให้มีกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา
  
            ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก โดยเลือกทางอ้อม โดยการเลือกผู้แทนตำบล ไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง   ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2476 ปรากฏว่ามีผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ คนแรก คือ ขุนพิเคราะห์คดี ( อินทร์  อินตนัย) 

            ปี พ.ศ. 2478 มี  หลวงศรีราชรักษา (ผิว  ชาศรีรัฐ )  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์

เปลี่ยนชื่อ "เมืองขุขันธ์" เป็นชื่อ "จังหวัดขุขันธ์" เมื่อปี พ.ศ. 2459

ปี พ.ศ. 2459  เป็นปีเดียวกันนี้  เมื่อนามเมืองขุขันธ์  ได้เปลี่ยนเป็น  “จังหวัดขุขันธ์”    ซึ่งตรงกับปลายสมัยที่ อำมาตตรีหม่อมเจ้าถูกถวิล สุขสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ ท่านสุดท้าย  ในขณะนั้น มีข้าราชการที่เป็นข้าราชบริพารและมีตำแหน่งประจำจังหวัดขุขันธ์ ได้ขอ พระราชทานนามสกุล  ดังนี้  
  1. นามสกุลลำดับที่ 2551  ผู้ขอพระราชทาน  คือ  รองอำมาตย์โทขุขันธ์  เขตโกษินทร์ ( เชื้อ)  ขณะที่ขอดำรงตำแหน่ง  พนักงานคลังจังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “จุลรังษี”
  2.  นามสกุลลำดับที่ 2612  ผู้ขอพระราชทาน  คือ รองอำมาตย์เอก  กิมเส็ง ขณะที่ขอดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขุขันธ์ ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  “กาญจนศิริ”
  3.  นามสกุลลำดับที่  3536  ผู้ขอพระราชทาน  คือ  อำมาตย์ตรีพระยาขุขันธ์ภักดี - ศรีนครลำดวน  ( ปัญญา ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9   ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ท่านที่ 1 ขณะที่ขอท่านดำรงตำแหน่งที่ 3  คือ  กรมการพิเศษเมืองขุขันธ์  ได้รับพระราชทาน  นามสกุลว่า  “ขุขันธิน”
  4. นามสกุลลำดับที่ 4355  ผู้ขอพระราชทาน คือ นายหมู่ลูกเสือเอกสามัญ (บุญทัน)  ขณะที่ขอดำรงตำแหน่ง  ครูประจำโรงเรียนขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า   “ศิลาคุปต์”
  5. นามสกุลลำดับที่  4783  ผู้ขอพระราชทาน  คือ  อำมาตย์โทพระพิชัยราชวงศา     (บุญมี)  ขณะที่ขอดำรงตำแหน่ง  กรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  “ศรีอุทุมพร”
  6. นามสกุลลำดับที่  4847 ผู้ขอพระราชทาน  คือ  อำมาตย์ตรี  ขุนเวชการบริรักษ์ (ศรี)  ขณะที่ขอดำรงตำแหน่ง  แพทย์จังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  “วรสุมันต์”
  7. นามสกุลลำดับที่ 5672  ผู้ขอพระราชทาน  คือ ร้อยตำรวจโทดาษ ผู้บังคับการตำรวจภูธร 3 จังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “ถาวรเสถียร”
  8. นามสกุลลำดับที่ 5673  ผู้ขอพระราชทาน คือ ร้อยตำรวจตรี รุตน์ ตำแหน่งประจำกองตำรวจภูธร 3 จังหวัดขุขันธ์ ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “กิตติสัททานนท์”
  9. นามสกุลลำดับที่ 1550 ผู้ขอพระราชทาน คือ หลวงศุภกิจวิเลขการ (เชย) ปลัดจังหวัดขุขันธ์ (พ.ศ. 2456 -2459) มณฑลอุบลราชธานี , ( พระยาสุนทรพิพิธ ,พ.ศ. 2467) ได้รับพระราชทาน นามสกุลว่า   “มัฆวิบูลย์”
นามสกุลพระราชทานที่กล่าวถึงนี้  บางนามสกุล ปัจจุบันทายาทอาจไม่มีแล้ว  หรือมีอาจไปตั้งถิ่นฐานใหม่  ณ  ที่อื่น
          และในปี พ.ศ. 2459 นี่เอง ประวัติเมืองขุขันธ์ ต้องจารึกไว้เป็นสาระสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามคำว่า เมือง เป็น จังหวัด ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง เปลี่ยนเป็น ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ ดังนั้น เมืองขุขันธ์ จึงได้เปลี่ยนเป็น จังหวัดขุขันธ์ ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ เปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ตั้งแต่บัดนั้นมา แต่ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดขุขันธ์ ยังคงตั้งอยู่ ณ ที่อำเภอกลางศรีสะเกษ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ อำมาตตรี พระยาภักดีศรีสุนทรราช (ดิส โกมลบุตร ) ได้ดำรงตำแหน่งในนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ เป็นท่านแรก โดยใช้ดวงตราไปรษณียากร และดวงตราประทับใช้ในราชการ ซึ่งเดิมมีอักษรโดยใช้ชื่อ ขุขันธ์ ก็ยังใช้เหมือนเดิม แต่ให้ความหมายว่า จังหวัดขุขันธ์

เหตุการณ์การย้ายศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์(ศาลากลางเมืองขุขันธ์) ไปตั้งที่ เมืองศีร์ษะเกษ

      ปี พ.ศ. 2447 ได้มีการปรับปรุงเขตอำเภอ คือ ยุบอำเภอกันทรลักษ์ โดยแบ่งส่วนหนึ่งให้ไปรวมและขึ้นต่ออำเภออุทุมพรพิไสย ส่วนหนึ่งไปรวมกับอำเภอเมือง เมืองขุขันธ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันมิให้เป็นที่ซ่องสุมผู้คนของกลุ่มผู้ที่ยังรักและศรัทธาในตัว   ท้าวบุญจันทร์อยู่ และในปีเดียวกันนี้ พระยาบำรุงบุระประจันต์ จางวาง ข้าหลวงบริเวณกำกับขุขันธ์ ได้เริ่มวางแผนที่จะย้ายที่ทำการศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์  ไปตั้งอยู่ ณ  อำเภอกลางศีร์ษะเกษ

       ปี  พ.ศ. 2448  ได้มีการย้ายที่ทำการ อำเภอปจิมศีร์ษะเกษ ไปตั้งที่บ้านสำโรงใหญ่  ตำบลสำโรง  เรียกว่า  อำเภอสำโรงใหญ่

       ปี  พ.ศ.  2449  ได้ทำการย้ายอำเภออุทัยศีร์ษะเกษ  ไปตั้งที่บ้านหนองกก  ตำบลยาง

       ปลายปี พ.ศ. 2450 หลังจากที่ได้มีวางแผนที่จะย้ายศาลากลางเมืองขุขันธ์ มาตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2447 เป็นเวลา 3 ปี เห็นเป็นโอกาสที่เหมาะสมจึงได้ย้ายศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ มาตั้ง ณ   อำเภอศีร์ษะเกษ ด้วยเหตุผลประกอบเพียงว่า...

            1.หลังจากเมื่อ ปี พ.ศ.2443 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวง มหาดไทย  ปรับปรุงการปกครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดยคงจัดตั้งเป็นมณฑล  แต่แบ่งการปกครองเป็นเมืองบริเวณ  เมืองบริเวณขุขันธ์  ประกอบด้วย 3 เมือง ได้แก่ เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษ  และเมืองเดชอุดม  โดยมีพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี)  เป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองบริเวณ  

             ปลายปี พ.ศ. 2450 นี้เอง พระเจ้าอยู่หัวไปทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ปรับปรุงการปกครองอีกครั้ง  โดยให้มีการยกเลิกเมืองบริเวณ และยุบเมืองบางเมืองเป็นอำเภอ ยุบเมืองหลายเมืองเป็นเมืองเดียวกัน  จึงทำให้  เมืองบริเวณขุขันธ์ (เมืองขุขันธ์  เมืองศีร์ษะเกษ  และเมือง เดชอุดม)  ถูกยุบรวมกัน เรียกว่า “เมืองขุขันธ์”  โดยให้อำเภอต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อเมืองทั้ง 3 ให้ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ทั้งสิ้นทำให้เมืองศีร์ษะเกษ เมืองเดชอุดม สิ้นสภาพความเป็นเมืองตั้งแต่บัดนั้นมา โดยเมืองเดชอุดม เป็นอำเภอเดชอุดม  เมืองศีร์ษะเกษ  เป็น อำเภอศีร์ษะเกษ ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเดชอุดม  และผู้ว่าราชการเมืองศีร์ษะเกษได้สิ้นสุดไปด้วย

            ส่วนตำแหน่งข้าหลวงกำกับบริเวณขุขันธ์ เมื่อเมืองบริเวณถูกยุบรวมและยกเลิกเมืองบริเวณ ทำให้ตำแหน่งข้าหลวงกำกับบริเวณขุขันธ์  สิ้นสุดลงไปในเวลาเดียวกันนี้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี)  มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการ เมืองขุขันธ์ แทนผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ท่านเดิม คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน)     เมื่อพ้นจากตำแหน่ง   ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์แล้ว พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้รับตำแหน่งใหม่  คือ ตำแหน่งกรมการพิเศษเมืองขุขันธ์  และตำแหน่ง  กรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์ ในเวลาต่อมา ( พ.ศ. 2450 – 2460 )  ดังปรากฏในหลักฐาน  ทรงโปรดเกล้าฯ  พระราชทานนามสกุลแก่ อำมาตย์ตรีพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา)  ขณะดำรงตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์  มณฑลอุบลราชธานี  ปี พ.ศ. 2459 พระราชทานนามสกุลว่า “ขุขันธิน” (Khukhandhin)

            2. จากเหตุการณ์ที่ท้าวบุญจันทร์  ถูกกล่าวหาว่าก่อการกบฎ  และถูกปราบปรามจนเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม จากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้ราษฎรผู้ที่ยังรักและศรัทธาในตัวท้าวบุญจันทร์มาก่อน  ยังมีการซ่องสุมรวบรวมผู้คนเพื่อที่จะต่อต้านฝ่ายปกครอง เพื่อแก้แค้น  ให้แก่ท้าวบุญจันทร์ก็ยัง    มีอยู่โดยทั่วไป 
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้  เมืองขุขันธ์  ได้ให้ท้าวทิด  และท้าวชู  กรมการเมืองขุขันธ์ออกไปรักษาการณ์ทางด่านพระประสบ  เกิดความขัดแย้งไม่พอใจการบริหารงานราชการของเมืองขุขันธ์  จึงไม่ฟังการบังคับบัญชาจากเมืองขุขันธ์ เอาใจไปฝักใฝ่เข้าข้างฝรั่งเศส จนกระทั่งได้ยกกำลังเข้ายึดเอาเมืองมโนไพรได้  โดยที่ทางการไทยไม่สามารถจะจัดการใด ๆ ได้เลย

             ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ต้องย้ายศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ (ศาลากลางเมืองขุขันธ์) ไปตั้งอยู่ ณ   ที่อำเภอศีร์ษะเกษ  มีสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้ 

             1. การยุบรวมเมืองขุขันธ์  เมืองศีร์ษะเกษ  และเมืองเดชอุดม  รวมเป็นเมืองเดียวกัน  เรียกว่า “เมืองขุขันธ์” โดยมีพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี)  เป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์  และเนื่องจากที่ตั้งศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์  มีที่ตั้งติดกับชายแดนเขมรซึ่งอยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส     จึงเสี่ยงต่อการใช้อิทธพลของฝรั่งเศส  สร้างความไม่มั่นคงให้แก่เมืองขุขันธ์  ซึ่งมีผลต่อสยามประเทศด้วย  (ไทยต้องเสียเมืองพระตะบอง  เมืองเสียมราฐ  และเมืองศรีโสภณ  ให้แก่ฝรั่งเศส  พร้อมปราสาทเขาพระวิหารอีกด้วย)

             2.  จากเหตุการณ์ที่ท้าวบุญจันทร์ถูกกล่าวหาว่าก่อการกบฏและถูกปราบปราม     จนเสียชีวิต  แต่ราษฎรกลุ่มที่ยังฝักใฝ่และยังรักศรัทธาในตัวท้าวบุญจันทร์  ยังพยายามที่จะรวมตัวก่อการไม่สงบขึ้น  โดยต่อต้านฝ่ายปกครองทุกรูปแบบทำให้เหตุการณ์บ้านเมืองภายในเมืองขุขันธ์    อยู่ในภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจ  อาจจะเกิดการก่อกบฎขึ้นได้ทุกเมื่อ  เนื่องจากมีฝ่ายฝรั่งเศสให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
 

             3. เพื่อรองรับความเจริญที่จะมาพร้อม ๆ  กับการก่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ  นครราชสีมา  ศีร์ษะเกษ  และอุบลราชธานีในอนาคต

            ดังนั้น ปลายปี พ.ศ.  2450  จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ย้ายที่ตั้งศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์   ไปตั้ง ณ ที่อำเภอศีร์ษะเกษ  แต่ยังใช้ชื่อ ศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ เช่นเดิม (ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) โดยทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี)  ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ขุขันธ์ เป็นท่านที่ 2  ( พ.ศ.  2450 – 2452 )
           

การยุบ "เมือง" เป็น “อำเภอ”

ปี พ.ศ. 2443 โดยกระทรวงมหาดไทย  ได้ตรากฎกระทรวงเปลี่ยนชื่อ  มณฑล ทั้ง 4  มณฑล  ทำให้ชื่อในมณฑลภาคตะวันอกเฉียงเหนือเปลี่ยนไป  
-  มณฑลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ​​  เป็น  มณฑลอิสาน
-  มณฑลฝ่ายเหนือ  เป็น  มณฑลอุดร  

และในปี 2443  ปีเดียวกันนี้เอง  เช่นเดียวกันได้มีการตรากฎกระทรวงให้ยุบเมืองเล็ก ๆ ทั่วประเทศเป็นอำเภอ  จึงทำให้เมืองต่าง ๆ  เปลี่ยนสถานะเป็นอำเภอ  ตั้งแต่นั้นมา  เช่น  
-  เมืองราษีไศล  เปลี่ยนเป็น  อำเภอราษีไศล ขึ้นต่อเมืองศีร์ษะเกษ
-  เมืองอุทุมพรพิสัย  เปลี่ยนเป็น  อำเภออุทุมพรพิสัย  
-  เมืองกันทรลักษ์  เปลี่ยนเป็น  อำเภอกันทรลักษ์  
-  เมืองมโนไพร  เปลี่ยนเป็น  อำเภอมโนไพร  
-  เมืองกันทรารมย์  เปลี่ยนเป็น  อำเภอกันทรารมย์  
ทั้งนี้โดยให้ทั้ง  4  อำเภอ  ดังกล่าว  ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์  

จากการที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทำให้ยังคงสถานะเรียกชื่อเมืองอยู่เพียง 3 เมือง เท่านั้น ได้แก่ เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษ  และเมืองเดชอุดม 
โดยให้อำเภอกลางศีร์ษะเกษ  อำเภออุทัยศีร์ษะเกษ  และอำเภอปจิมศีร์ษะเกษ  ขึ้นต่อเมืองศีร์ษะเกษ  ทั้ง  3 อำเภอ  
อำเภอกลางเดชอุดม  อำเภออุทัยเดชอุดม และอำเภอปจิมเดชอุดม ให้ขึ้นต่อเมืองเดชอุดมทั้ง 3  อำเภอ  
ส่วนอำเภออุทุมพิสัย  อำเภอกันทรลักษ์  อำเภอมโนไพร และอำเภอกลางขุขันธ์  ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์  

ต่อมาในปีเดียวกันนี้เอง ได้มีการปรับปรุงระบบเมืองต่าง ๆ อีกครั้ง โดยเมืองที่ขึ้นกับมณฑลให้แบ่งเป็นเมืองบริเวณ โดยแต่งตั้งตำแหน่งข้าหลวงมากำกับเมืองบริเวณอีกชั้นหนึ่ง  ดูแลกำกับบริหารราชการเจ้าเมืองต่าง ๆ อีกชั้นหนึ่ง โดยให้รวมเมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษ และเมืองเดชอุดม  รวม  3  เมือง  รวมเรียกว่า  เมืองบริเวณขุขันธ์  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระรัตนโกษา (จันดี) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์ (อยู่ใต้บังคับบัญชาเจ้าเมืองขุขันธ์ ผู้เป็นบุตรเขย) ได้ดำรงตำแหน่งใหม่ เป็นตำแหน่งข้าหลวงกำกับบริเวณขุขันธ์ พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์ราชทินนามใหม่ เป็นพระยาบำรุงบุระประจันต์จางวาง ( ตำแหน่งสูงกว่า เจ้าเมืองขุขันธ์ ผู้เป็นบุตรเขย)   

จะเห็นว่า พระยาบำรุงบุระประจันต์จางวาง (จันดี) เมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระรัตนโกษา ตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์ ซึ่งมี พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา  ขุขันธิน )  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9  บังคับบัญชา แต่เมื่อมีตำแหน่งสูงกว่า  คือ  ตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์ ราชทินนาม พระยาบำรุงบุระประจันต์จางวาง  เป็นตำแหน่งที่สูงกว่า เจ้าเมืองและผู้ว่าราชการเมือง ที่เป็นเช่นนี้ได้ส่วนหนึ่งก็คือ พระยาบำรุงบุระประจันต์จางวาง  มีสถานะเป็นพ่อตาของ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) ต่างก็ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเมื่อมีการยกเลิกตำแหน่งข้าหลวงกำกับบริเวณเมืองขุขันธ์  ยุบรวมเมืองศีร์ษะเกษ เมืองเดชอุดม  และเมือง ขุขันธ์  เป็นเมืองเดียวกัน  เรียกว่า  “เมืองขุขันธ์”  ก็ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้  พระยาบำรุงบุระประจันต์  (จันดี)  เป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์    ส่วนพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) ที่เป็นผู้ว่าราชการ  เมืองขุขันธ์เดิม พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์  ก็ได้กราบทูลให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น กรมการพิเศษเมืองขุขันธ์  และกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์  ในเวลาต่อมา  

เพื่อให้เห็นถึงภาพรวม และฐานะความเป็นอยู่ของเมืองขุขันธ์ ในปี พ.ศ.2443 ซึ่งอยู่ในสมัยที่ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา  ขุขันธิน ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง (เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9) จากปี พ.ศ. 2440 – 2450  จึงขอคัดเอารายงานประจำปี 2443 ของเมืองขุขันธ์ ดังนี้ 

1.  ตำแหน่งลักษณะปกครอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในปี 119  ชายฉกรรจ์  ได้ส่งส่วยพระราชทรัพย์ของหลวง 15000 คน หญิงฉกรรจ์ 15200 คน  และเป็นคนชราพิการอีกรวมทั้งสิ้น  50003 คน ตำบล 54  ตำบล  หลังคาเรือน 3990  หลัง ผู้ร้ายย่องเบา 7  ราย  ผู้ร้ายทิ้งของกลาง ทั้ง 7  ราย  ได้รับเป็นสัจ  ผู้ร้ายปล้น  6  ราย  ให้การเป็นสัจ  

ในปี 119 นี้ ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระพิไชยสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์     พระพิไชยราชวงศา  ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์ และกรมการเมืองขุขันธ์  ออกจับโจรผู้ร้ายบริเวณเมืองขุขันธ์ โจรผู้ร้ายก็สงบเรียบร้อยลง
คนในโรงศาล  ปี  119  ความในศาลอำเภอเปรียบเทียบแล้ว 20  เรื่อง  ค้างอยู่  131  เรื่อง  ศาลในเมืองชำระความไปแล้ว ความอาญา  7  เรื่อง  ค้างอยู่  25  เรื่อง
การทำนา  ในปี 119  ปกติเหมือนเดิม  (118)  นาได้ผลเมล็ดข้าว 1 ใน 3  ส่วน   ราคาขาย  100 สัด เป็นเงิน 20  บาท  
การค้าเกิดขึ้นในเมืองขุขันธ์ จำหน่ายไปต่างเมือง เป็นหนังสัตว์ เขาสัตว์  ประมาณราคา  7642  บาท  สินค้าต่างเมือง  เข้ามาจำหน่ายประมาณ  24860  บาท  
  ผลประโยชน์แผ่นดิน  ปี  119  เก็บเงินได้  53118  บาท  48  อัฐ
  การศึกษา  ในปี 119  พระปลัดวัดจันทร์นคร  เป็นอาจารย์สอนนักเรียนที่โรงเรียนบำรุงนิมิตรพิทยาคม  มีนักเรียน 50 คน  ระเบียบวิชาสอน  พระญาณรักขิต  ผู้อำนวยการศึกษามณฑลอิสาน  ส่งแบบเรียนเร็วบทบวกให้มาสอน  
  การศาสนา  ในปี  119  มีอาราม  114  แห่ง  มีสงฆ์  11  แห่ง  ร้าง  13  แห่ง  จำนวนสงฆ์  585  รูป  สามเณร  687  รูป  ในปี  119  สร้างวัดขึ้นอีก  5  อาราม  วัดร้างไม่มี     พระสงฆ์เพิ่ม  129  รูป  สามเณรเพิ่ม  198  รูป  รวมสงฆ์เก่าใหม่  814  รูป  สามเณร  816  รูป  วัด  โรงสวดศาสนาอื่น  ไม่มี  สร้างโรงเรียนขึ้น  1  แห่ง 
  การโยธา  ทำถนนสี่กั๊ก  ยาว  20  เส้น  
  การโทรเลขได้ทำที่ออฟฟิตโทรเลขโดยเรียบร้อยประทับตรารูปเทวดาเป็นสำคัญว่า  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ (เปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์เป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์  ปี  พ.ศ. 2440  ซึ่งว่า พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ปัญญา  ขุขันธิน )  เจ้าเมืองท่านที่  9  ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ เป็นท่านแรก )

วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การขอตั้งเมืองราษีไศล พ.ศ. 2424

             ปี พ.ศ. 2424  พระวิเศษภักดี(บุญจันทร์)  เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ท่านที่ 3 ได้จมน้ำถึงแก่อนิจกรรม ขณะลงอาบน้ำที่ห้วยสำราญ ต่อหน้าบุตรภรรยาและบ่าวไพร่แต่ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้  ในปีเดียวกันนี้ ภายหลังจากเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ท่านที่ 3 ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้พระภักดี (ท้าวโท)  เป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เป็นท่านที่ 4  และหลังจากได้เข้ารับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษแล้ว ได้ทูลขอตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีก พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ตามที่ทูลขอ คือ ให้ยกฐานะ "บ้านโนนหินกอง" อยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ ขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า "เมืองราษีไศล"   โดยโปรดเกล้าฯ ให้ พระพล (จันทร์ศรี) บุตรหลวงอภัย เป็น "พระประจนปัจนึก" ตำแหน่งเจ้าเมืองราษีไศล  เป็นท่านแรก ให้หลวงแสง(จันทร์)น้องชายพระประจนปัจนึก เป็น "หลวงหาญศึกนาศ"  เป็นปลัดเมือง ให้ท้าวคำเม๊ก บุตรพระระจนปัจนึก เป็น “หลวงพิฆาตไพรี” เป็นยกบัตรเมืองราษีไศล  ขึ้นกับเมืองศีร์ษะเกษ

           ในปี พ.ศ. 2431 พระอุปราชเมืองสุวรรณภูมิ ได้กล่าวโทษเจ้าเมืองมหาสารคาม  เจ้าเมืองสุรินทร์  และเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ว่า ได้กระทำการอันมิชอบ คือ ได้ทำการแย่งชิงแบ่งเอาดินแดนที่เป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิบางส่วนไปตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ กล่าวคือ เมืองมหาสารคาม ได้เอาบ้านนาเลา ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองวาปีปทุม เมืองสุรินทร์ ได้เอาบ้านทัพค่าย ขอตั้งเป็นเมือง ชื่อว่า เมืองชุมพลบุรี ส่วนเมืองศีร์ษะเกษ ได้เอาบ้านโนนหินกอง ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองราษีไศล ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงทราบเรื่องแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าหลวงกำกับเมืองจำปาสัก และข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณอุบลราชธานี ร่วมคณะไปสอบสวน   หาข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนได้คำสัตย์จริงดังที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิกล่าวโทษ   แต่เนื่องจากพระองค์เห็นว่า การกระทำของเจ้าเมืองทั้งสาม  ดังกล่าว ได้สำเร็จและล่วงเลย มานานแล้ว  ยากที่จะรื้อถอนได้  จึงทรงโปรดเกล้าฯ  ให้คงความเป็นเมืองไว้ต่อไป

หมายเหตุ เหตุการณ์นี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเมืองขุขันธ์ แต่ขอลงบันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังที่เป็นชาวอำเภอราษีไศลได้ทราบ เพื่อจะได้สืบค้นประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นตนเองในลำดับต่อไป

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย