-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ครุน้อยบ้านสะอาง

ความเป็นมา
            “ครุ” เป็นภาชนะตักน้ำของชาวบ้านภาคอีสานซึ่งสานจากไม้ไผ่นำมาลงน้ำมันยางและชันสามารถกักเก็บน้ำได้ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของ “ครุ” ให้เล็กลง สามารถนำมาประดิษย์เป็นของที่ระลึกได้
            บ้านสะอาง หมู่ ๑๒  ตำบลห้วยเหนือ  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีฝีมือในการจักสานไผ่เป็นของใช้ได้หลายชนิด  โดยเฉพาะครุไม้ไผ่  ซึ่งมีความผูกพันกับชีวิตประจำวันของทุกคนในครอบครัว  เริ่มจากการสานครุไม้ไผ่ขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำ  ตักน้ำ  ใส่ปลา  มาตั้งแต่บรรพบุรุษ  และมีการผลิตทั้งเพื่อใช้ในครอบครัวและจำหน่ายในตลาดอำเภอขุขันธ์  หรือนำไปแลกข้าว  ต่อมาครุไม้ไผ่ขนาดใหญ่ขายยากเนื่องจากมีครุสังกะสีเข้ามาและ ราคาของ“ชัน”ที่ใช้ยาครุมีราคาแพงขึ้น (ปัจจุบันราคา ก.ก.ละ ๔๕ บาท)  ค่าใช้จ่ายในการสานครุใบใหญ่จึงสูงขึ้น ชาวบ้านจึงเลิกสานครุไม้ไผ่ ตั้งแต่นั้นมา

            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔  นายอุทิศ  ดวงจันทร์ (อดีตเป็นนายอำเภอปราสาท)  ได้ริเริ่มสาน “ครุ” ให้มีขนาดเล็กลงเป็นคนแรกเรียกว่า “ครุน้อย” และนำไปขายที่อำเภอขุขันธ์และขายได้ดี  เพื่อนบ้านเห็นว่ารายได้ในการขายครุน้อยเป็นรายได้ที่ดี  จึงเริ่มหัดทำและยึดเป็นอาชีพเสริมตลอดมา

            “ครุน้อย” อาจถือว่าเป็นเครื่องจักสานที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก  เพราะมีขนาดเล็กมากเท่าเม็ดกระดุมเสื้อเม็ดเล็ก  เพราะผู้สานจะต้องเหลาไม้ไผ่เท่ากับ เส้นผม  หรื่อเท่ากับเส้นด้าย  แล็วใช้ปลายนิ้วค่อย ๆ สอดให้เป็นรูปร่าง  จากนั้นเติมแต่งให้เป็นขา  และส่วนที่เป็น “หู”  แล้วนำไปชุบกับนำมันยาง  และชันก็จะได้ครุน้อยตามขนาดที่ต้องการ

วัสดุอุปกรณ์ การผลิต
          - ไม้ไผ่นวล  ไม้ไผ่สีสุก  ไม้ไผ่ลำมะลอก  ชนิดใดชนิดหนึ่ง
          - มีดโต้  ใช้ผ่าไม้ไผ่ให้เป็นชิ้น  มีดตอก  ใช้สำหรับเหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นตอกตามต้องการ
          - กรรไกร  สำหรับตัดขอบปากครุน้อยเมื่อสานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
          - เข็มสำหรับเขี่ยเส้นตอกที่สานให้เข้าลายตามที่ต้องการ
          - น้ำมันยาง  สำหรับทาครุก่อนจะนำไปลงชัน เพื่อให้ชันเกาะติด
          - ชัน  ช่วยให้ครุไม่เกิดรอยรั่ว  สามารถเก็บน้ำได้  มีวิธีการทำโดยนำน้ำมันยางมาคลุกเคล้ากับชันที่บดเป็นผงละเอียดแล้วนำไปยาอุดรูรั่วของครุที่จักสานด้วยไม้ไผ่

ขั้นตอนการผลิตและการเตรียมวัสดุอุปกรณ์
         ขั้นที่ ๑  นำไม้ไผ่มาจักเป็นเส้นตอกตามขนาดที่ต้องการ
         ขั้นที่ ๒  นำตอกที่ได้มาเหลาให้เกิดความบางตามต้องการ
         ขั้นที่ ๓  นำตอกที่บางตามต้องการแล้วนำมาจักเป็นเส้น
-  เส้นแบน  ใช้เนื้อไม้ไผ่  เพราะมีความอ่อนสามารถสานได้ง่าย  ไว้สำหรับสานครุ
-  เส้นแบบกลมใช้ตรงเปลือกไม้ไผ่ที่มีสีเขียวหรือที่เรียกว่าผิวไม้ไผ่  ไว้สำหรับม้วนตัวครุ (มีความแข็ง  ทำให้ครุมีรูปทรงที่สวยงาม)
         ขั้นที่ ๔  นำตอกแบนมาตัดแบ่งตามขนาดของครุ  เพื่อนำมาเริ่มต้นสานครุ
         ขั้นที่ ๕  เมื่อนำตอกเส้นกลมมาสานเริ่มตัวครุ  สานจนรอบแล้ว  ประมาณ  ๒ รอบ  ให้นำตอกแข็งมาขัดก้นครุ  ทำขวางกันทั้ง ๒ ด้าน
         ขั้นที่ ๖  เมื่อสานตัวครุได้ ประมาณ ๓ รอบ  ให้เริ่มหักมุมก้นครุด้วยลายขึ้น ๑ ลง ๓  ขึ้น๑ ลง ๓ ไปเรื่อย ๆ จนรอบตัวครุ
         ขั้นที่ ๗  เมื่อสานตัวครุได้ขนาดตามต้องการแล้วตัดขอบปากให้ตอกมีความเสมอกัน
         ขั้นที่ ๘  เมื่อตัดตอกมีความเสมอกันแล้ว  เริ่มสานขอบปากครุ  ด้วยตอกกลม ๔ เส้น  เริ่มต้นด้วยการ  ขึ้น ๓ ลง ๕ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ  ทำพร้อม ๆ กัน ทั้ง ๔ เส้น  จนได้ขนาดแล้วจึงตัดขอบปากออก
         ขั้นที่ ๙   เมื่อสานขอบปากเสร็จเรียบร้อยแล้วตัดตอกที่เหลือออกให้เรียบร้อย  จะได้ตัวครุที่สวยงาม
         ขั้นที่ ๑๐  เมื่อตัดปากเรียบร้อยแล้ว  นำตอกกลมมาใส่เป็นขาครุทั้ง 4 ข้าง
         ขั้นที่ ๑๑  เมื่อใส่ขาเรียบร้อยแล้ว เสียบ “งวง”  ที่จับก็ได้ตัวครุน้อยที่สมบูรณ์
         ขั้นที่ ๑๒  นำครุที่สานเรียบร้อยแล้ว  นำมาชุบน้ำมันยาง  โดยชุบให้ทั่วตัวครุ
         ขั้นที่ ๑๓  นำครุที่ชุบน้ำมันยางแล้วมาคลุกชัน  เพื่อกันรั่วแล้วนำไปผึ่งแดด  ให้แห้งแล้วนำไปล้างด้วยน้ำมันก๊าดแล้วขัดเงาด้วยการทาแล็กเกอร์

วิธีสานครุน้อย
         ขั้นที่ ๑ เริ่มจากการสาน ก้นครุ ก่อนโดยนำเอาตอกแบบที่ตัดไว้ตามขนาดที่ต้องการมาขึ้น ก้นครุ โดยใช้ตอกแบน ๓ เส้น  เป็นตัวยืนในการสาน  กับเส้นที่หนึ่งเริ่มสานขึ้น ๑ ลง ๑ ทำสลับกันกับตัวยืน ๓ เส้น  เส้นที่สองเริ่มสานลง ๑ ขึ้น1ทำสลับกันกับตัวยืน ๓ เส้น เช่นเดียวกับเส้นที่หนึ่ง ทำอย่างเส้นที่สองสลับกันไปจนครบ๑๑ เส้น

         ขั้นที่ ๒  นำตอกแบนมาสานต่อจากขั้นที่ ๑  โดยใช้ตอก ๑๑ เส้นเช่นเดียวกัน  โดยเส้นที่หนึ่งจะขึ้นต้นด้วย  ขึ้น ๒ ลง ๓ ขึ้น ๓  เส้นที่สองจะ  ลง ๑ ขึ้น ๒ ลง ๓

         ขั้นที่ ๓  นำตอกกลมมาสานเป็นตัวครุ  เริ่มต้นด้วย ขึ้น ๑ ลง ๓ ขึ้น ๓ ลง ๓ ขึ้น ๑ ลง ๓  ทำเช่นนี้จนรอบแล้วดึงเส้นยืน ๓ เส้นออก
          
ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบเป็นของตกแต่งบ้าน  ของใช้  ของที่ระลึก  เช่น  พวงกุญแจ  ดอกไม้  พวงผลไม้  เข็มกลัดติดเสื้อ ต่างหู แจกันดอกไม้   ของที่ระลึก  กรอบรูปพวงองุ่นฯลฯ  ทำให้มีลูกค้าสนใจ สามารถขายได้มากขึ้น  และถือเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้มาสู่ครอบครัวให้ชาวบ้านสะอาง หมู่ที่ ๑๒  ตำบลห้วยเหนือ  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นอย่างดี 

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย