ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นามสกุลพระราชทานในเมืองขุขันธ์

ใต้เบื้องยุคลบาท  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้ทรงพระปรีชาญาณ ผู้ทรงพระกรุณาออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุล  และพระราชทานนามสกุลพระราชทานแก่มหาชนชาวสยามทุกคน
นามสกุลพระราชทานเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บทหนึ่ง   ของสยามประเทศ ซึ่งก่อนปี  พ.ศ. 2456 คนไทยยังไม่มีคำนำหน้าชื่อ และนามสกุลใช้ จนกระทั่งมาในรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลคนไทยขึ้น เพื่อพระราชทานนามสกุลให้แก่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่ขอพระราชทาน นามสกุลเรียกว่า “นามสกุลพระราชทาน” โดยทรงพระราชทานทั้งสิ้น  6,432 นามสกุล ซึ่งนามสกุลที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่ข้าราชบริพารที่มีตำแหน่งประจำหัวเมืองชั้นนอก มณฑลอิสานทรงโปรดพระราชทานทั้งสิ้น 378 นามสกุล
สำหรับเมืองขุขันธ์ (จังหวัดขุขันธ์) เป็นเมืองเก่าแก่อยู่ในฐานะเมืองหัวเมืองชั้นนอกที่สำคัญ  มีข้าราชบริพารที่มีตำแหน่งประจำจังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทาน 8 นามสกุล  ทำให้ทายาทผู้สืบเชื้อสายได้ใช้นามสกุลสืบต่อกันมา  อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ 
ทั้งนี้โดยที่พระองค์มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ  พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า   ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า ทรงพระราชดำริเห็นสมควรมีการบัญญัติวิธีจดทะเบียนคนเกิด  คนตายและทำการสมรสให้เป็นการมั่นคงชัดเจนสืบไปและวิธีจดทะเบียนย่อมอาศัยการสอบสวนตำหนิรูปพรรณสัณฐานบุคคลและเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใดให้ได้ความแม่นยำก่อนจึงทำได้  เพื่อให้ได้เป็นผลสำเร็จดังพระราชประสงค์นี้ทรงพระราชดำรัสว่า  บุคคลทุกคนต้องมีทั้งชื่อตัว  ชื่อสกุล  และวิธีขนานนามสกุลนั้นควรใช้ให้แพร่หลายทั่วทั้งประชาชนพลเมือง  ตลอดทั้งพระราชอาณาจักร จึงทรงโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น
นอกจากจะตรากฎหมายให้ราษฎรไทยมีนามสกุลใช้แล้ว  ยังทรงมีพระเมตตาขนานนามสกุลพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและผู้ที่กราบบังคม ทูลขอพระราชทานด้วย  เรียกว่า “นามสกุลพระราชทาน” และเมื่อได้อ่าน นามสกุลที่ได้ทรงพระราชทานแล้วจะเห็นว่ามีความหมายดี  ทั้งในทางประวัติศาสตร์ของตระกูล  และตำแหน่งหน้าที่การงานอาชีพ  มีความไพเราะทางภาษาศาสตร์  มีความกระทัดรัด  ทั้งภาษาเขียนและภาษาพูดเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ได้รับพระราชทานเป็นสิริมงคลและเป็นความเจริญงอกงามแก่วงศ์สกุลอย่างหาที่สุดมิได้  เป็นความภาคภูมิใจ         ของลูกหลานผู้สืบสกุลต่อๆ มา เป็นเกียรติยศสูงสุดแก่ วงศ์ตระกูลนั้นอย่างเช่น นามสกุล “ณ อยุธยา”นามสกุล “สิงห์เสนี”นามสกุล”สุจริตกุล”  นามสกุล “บุนนาค” นามสกุล “อิสรางกูร” นามสกุล “ณ หนองคาย”  นามสกุล “ณ ร้อยเอ็ด” นามสกุล “สุวรรณกูฎ”นามสกุล “เกตุสิริ”  นามสกุล “ศรีอุทุมพร” นามสกุล “ขุขันธิน” เป็นต้น 
ในปี พ.ศ. 2459 ตรงกับที่  หม่อมเจ้าถูกถวิล  สุขสวัสดิ์  ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการ “จังหวัดขุขันธ์”  มีผู้มีตำแหน่งประจำจังหวัดขุขันธ์  ได้ขอพระราชทานนามสกุลพระราชทานพอสืบค้นได้ดังนี้ 
- นามสกุลลำดับที่  2551  ผู้ขอพระราชทานคือ  อำมาตย์โทขุขันธ์เขตโกษินทร์ (เชื้อ)  ดำรงตำแหน่งพนักงานคลังจังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุล “จุลรังษี”
- นามสกุลลำดับที่ 2612 ผู้ขอพระราชทานคือ  รองอำมาตย์เอก กิมเส็ง ผู้พิพากษาจังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุล “กาญจนศิริ”
- นามสกุลลำดับที่ 1530 ผู้ขอพระราชทานคือ  หลวงศุภกิจวิเลขการ  หรือพระสุนทรพิพิธ (เชย) ปลัดจังหวัดขุขันธ์  มณฑลอุบลราชธานี ได้รับพระราชทานนามสกุล “มัฆวิบูลย์”
- นามสกุลลำดับที่ 5673 ผู้ขอพระราชทานคือ  ร้อยตำรวจตรี รุตน์  ตำแหน่งประจำกองตำรวจภูธร 3 จังหวัดขุขันธ์ ได้รับพระราชทาน นามสกุล “กิตติสัททานนท์”
- นามสกุลลำดับที่ 5672 ผู้ขอพระราชทานคือ ร้อยตำรวจโท ตาษ  ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองตำรวจภูธร 3 จังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุล “ถาวรเสถียร”
- นามสกุลลำดับที่  4847  ผู้ขอพระราชทานคือ  อำมาตย์ตรีเวชการบริรักษ์ (ศรี) ตำแหน่งแพทย์  จังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุล “วรสุมันต์”
- นามสกุลลำดับที่  4783  ผู้ขอพระราชทานคือ  อำมาตย์โท     พระพิชัยราชวงษา   (บุญมี)  กรมการพิเศษเมืองขุขันธ์  หรือ  พระอุทุมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมืองอุทุมพร  ได้รับพระราชทานนามสกุล “ศรีอุทุมพร”
- นามสกุลลำดับที่ 3565 ผู้ขอพระราชทานคือ  อำมาตย์ตรี  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์  ท่านที่ 9 (พ.ศ.2426 – 2440) ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ท่านแรก (พ.ศ. 2440 – 2450) และตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์ (พ.ศ. 2450 – 2470) ได้รับพระราชทานนามสกุล “ขุขันธิน”
นามสกุลดังกล่าวเป็นนามสกุลพระราชทานที่ยกตัวอย่างมาให้เห็นว่าเป็นนามสกุลที่ไพเราะและเหมาะสมยิ่ง ประการสำคัญเมื่อจะทรงพระกรุณาพระราชานามสกุลให้แก่ผู้ใด พระองค์จะพระราชทาน  พระราชหัตถเลขาไปยังหัวหน้านามสกุลเป็นผู้ขอพระราชทานโดยตรงยังความปราบปลื้มปิติให้แก่ผู้ได้รับพระราชทานอย่างล้นเกล้าฯ” ดังเช่น นามสกุล “สิงห์เสนี”  ทรงมีพระราชหัตถเลขาใจความว่า  

ถึงพระยาบุรีนวราษฎร์

พระยาบุรีนวราษฎร์  นามสกุลของเจ้าที่เจ้าขอมาให้ข้าตั้งนั้น   ข้าได้ใคร่ครวญดูแล้ว จริงอยู่ท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) นั้นเป็นคนแรกในนามสกุลของเจ้าที่ได้ทำชื่อเสียงไว้ในแผ่นดิน แต่ข้ารู้สึกว่า ถ้าจะคิดไปถึงความนิยมของคนโดยมากแล้ว  ท่านเจ้าอภัยราชาจะมีคนรู้จักน้อยกว่าท่านเจ้าพระยาบดินเดชา (สิงห์)  เพราะท่านพระยาบดินเดชา  นับว่าเป็นนักรบคนสำคัญของไทยเราคนหนึ่งซึ่งจะมีนามติดไปในตำนานของชาติ   อีกนาน  ข้าจึงเห็นว่าถ้าพวกเจ้าจะถือว่าเป็นสกุลแห่งท่านผู้นี้ก็ดูจะเป็นเกียรติยศดี  มีหน้ามีตาและพอจะอวดเขาได้ว่า  ต้นโคตรของเจ้าเป็นผู้หนึ่ง ซึ่งได้ช่วยรักษาเดชานุภาพแห่งพระเจ้าแผ่นดินไทยให้ดำรงมา เพราะฉะนั้น  ข้าขอให้นามสกุลของเจ้าว่า “สิงห์เสนี” (เขียนเป็น โรมันว่า “Sinhaseni”)  อันเป็นมงคลนาม
ขอให้สิงห์เสนี  จงมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปมั่นคงอยู่ในกรุงสยามนี้ ชั่วกัลปาวสาน
                                    (พระปรมาภิไธย)  วชิราวุธ

สำหรับนามสกุล  ขุขันธิน  ผู้ขอพระราชทาน คือ อำมาตย์ตรี  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 เป็นบุตร เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 8 (พระยา ขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน หรือท้าววัง)   มีศักดิ์เป็นหลานตากะจะและเชียงขันธ์ หรือ หลวงแก้วสุวรรณ          และหลวงปราบ  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 1 และท่านที่ 2 และเนื่องจาก    นามพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เป็นบรรดาศักดิ์ ราชทินนาม      ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตำแหน่งประจำเจ้าเมืองขุขันธ์ตั้งแต่เจ้าเมืองท่าน ที่ 1 จนมาถึงเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 โดยสืบทอดทางทายาทมาตั้งแต่ต้น  และเมืองขุขันธ์เป็นชื่อเมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ตั้งขึ้นมาก่อนเมือง  ใดๆ ในมณฑลอิสานใต้  อีกทั้งกองทัพเมืองขุขันธ์ได้ร่วมทำศึกสงคราม  กับกองทัพส่วนกลางหลายครั้งสร้างแสนยานุภาพให้แก่กองทัพสยามเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป พระองค์จึงทรงเห็นด้วยตามที่ขอพระราชทานนามสกุล   ในนามใช้ชื่อเมืองขุขันธ์  เป็นชื่อนามสกุลเจ้าเมืองขุขันธ์  ให้ชื่อเมืองขุขันธ์มีชื่ออยู่ในแผ่นดินไทยสืบไป  จึงทรงพระราชทานนามสกุล “ขุขันธิน”  เขียนเป็นอักษรโรมันว่า  “Khukhandhin”  สำหรับผู้สืบสายสกุลโดยตรงจากพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา)  ให้ใช้นามสกุลนี้ได้ทั้งสิ้น 

อนึ่งนามสกุลพระราชทานนั้น  เมื่อเขียนอักษรโรมันก็ต้องเขียนให้ถูกต้องตามที่พระราชทานไว้ด้วย  เช่น  นามสกุล  บุญนาค “Bunnag” นามสกุล  สุจริตกุล “Sucharitkul” เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม แรกๆ นั้นได้ทรงขนานนามสกุลโดยพระราชทาน  พระหัตถเลขาเป็นส่วนพระองค์แก่ข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด  และข้าราชบริพาร ชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ต่อมาข้าราชการหัวเมืองต่าง ๆ ขอพระราชทานมากขึ้น  จึงขอให้กรมอารักษ์เป็นผู้คิดขนานนามสกุลถวายก่อน แล้วจึงทรงโปรดเกล้าฯ  ตรวจแก้ไขให้ไพเราะเหมาะสมอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงพระราชทานให้แก่ผู้ขอเป็นรายๆ ไป  ทั้งนี้นามสกุลที่ได้พระราชทานและได้จดทะเบียนและประกาศ    ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  ถ้ามีบุคคลอื่นขอจดทะเบียนพ้องกับนามสกุล   ที่พระราชทานแล้ว  ห้ามมิให้เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนให้ นอกจาก  จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษเท่านั้น

ขอบคุณผู้เรียบเรียง : นิติภูมิ ขุขันธิน อดีตผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ




ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย