ปี พ.ศ. 2424 พระวิเศษภักดี(บุญจันทร์) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ท่านที่ 3 ได้จมน้ำถึงแก่อนิจกรรม ขณะลงอาบน้ำที่ห้วยสำราญ ต่อหน้าบุตรภรรยาและบ่าวไพร่แต่ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ ในปีเดียวกันนี้ ภายหลังจากเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ท่านที่ 3 ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระภักดี (ท้าวโท) เป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เป็นท่านที่ 4 และหลังจากได้เข้ารับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษแล้ว ได้ทูลขอตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีก พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ตามที่ทูลขอ คือ ให้ยกฐานะ "บ้านโนนหินกอง" อยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ ขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า "เมืองราษีไศล" โดยโปรดเกล้าฯ ให้ พระพล (จันทร์ศรี) บุตรหลวงอภัย เป็น "พระประจนปัจนึก" ตำแหน่งเจ้าเมืองราษีไศล เป็นท่านแรก ให้หลวงแสง(จันทร์)น้องชายพระประจนปัจนึก เป็น "หลวงหาญศึกนาศ" เป็นปลัดเมือง ให้ท้าวคำเม๊ก บุตรพระประจนปัจนึก เป็น “หลวงพิฆาตไพรี” เป็นยกบัตรเมืองราษีไศล ขึ้นกับเมืองศีร์ษะเกษ
ในปี พ.ศ. 2431 พระอุปราชเมืองสุวรรณภูมิ ได้กล่าวโทษเจ้าเมืองมหาสารคาม เจ้าเมืองสุรินทร์ และเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ว่า ได้กระทำการอันมิชอบ คือ ได้ทำการแย่งชิงแบ่งเอาดินแดนที่เป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิบางส่วนไปตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ กล่าวคือ เมืองมหาสารคาม ได้เอาบ้านนาเลา ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองวาปีปทุม เมืองสุรินทร์ ได้เอาบ้านทัพค่าย ขอตั้งเป็นเมือง ชื่อว่า เมืองชุมพลบุรี ส่วนเมืองศีร์ษะเกษ ได้เอาบ้านโนนหินกอง ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองราษีไศล ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงทราบเรื่องแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าหลวงกำกับเมืองจำปาสัก และข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณอุบลราชธานี ร่วมคณะไปสอบสวน หาข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนได้คำสัตย์จริงดังที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิกล่าวโทษ แต่เนื่องจากพระองค์เห็นว่า การกระทำของเจ้าเมืองทั้งสาม ดังกล่าว ได้สำเร็จและล่วงเลย มานานแล้ว ยากที่จะรื้อถอนได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้คงความเป็นเมืองไว้ต่อไป
หมายเหตุ เหตุการณ์นี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเมืองขุขันธ์ แต่ขอลงบันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังที่เป็นชาวอำเภอราษีไศลได้ทราบ เพื่อจะได้สืบค้นประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นตนเองในลำดับต่อไป