พระเจ้าเอกทัศน์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สองพี่น้องซึ่งเป็นทหารเอกในสมัยนั้น คือ ทองด้วง กับ บุญมา(ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท) คุมไพร่พลจำนวน ๓๐ คน ออกติดตามพญาช้างเผือก นำกลับกรุงศรีอยุธยา โดยคณะผู้ติดตามได้เดินทางถึงเมืองพิมาย เจ้าเมืองพิมายได้นำคณะผู้ติดตามไปพบและขอความร่วมมือช่วยเหลือจากหัวหน้าหมู่บ้านเขมรป่าดง คือ เชียงสี เชียงปุม เชียงไชย และเชียงฆะ หรือ เชียงเกา แต่ก็มิได้ข่าวคราวการหนีมาของพญาช้างเผือก แต่ประการใด ดังนั้น หัวหน้าหมู่บ้านกลุ่มชนดังกล่าวจึงได้นำคณะผู้ติดตามไปพบเพื่อขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าเขมรป่าดงแห่งบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน คือ "ตากะจะ และเชียงขันธ์" ระหว่างทางได้ผ่านชุมชนหนึ่งมีชาวบ้านได้นำมะกอกมาให้ทหารเอกสองพี่น้อง ไพร่พลและหัวหน้าหมู่บ้านชนชาวเขมรป่าดงที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันได้รับประทาน ทองด้วง (หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในอดีต)ได้ชมว่า มะกอกบ้านนี้รสหวานดียิ่งนัก จึงขนานนามบ้านนี้ว่า "บ้านกอกหวาน" ตั้งแต่นั้นมา(บ้านกอกหวาน เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลโพธิ์ศรี อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบัน) แล้วคณะติดตามพญาช้างเผือกก็เดินทางลัดเลาะผ่านทุ่งนายามหน้าแล้ง พบชาวบ้านกำลังใช้เสียมขุดดินหาปูจนเป็นหลุมมากมายบริเวณทุ่งนาแห่งนั้น จึงได้ขนานนามบ้านนี้ว่า "บ้านหลุมปู" (หลายปีผ่านมา ชาวบ้านแถบนี้ เป็นชาวเขมรป่าดง พูดไทยได้ไม่ค่อยชัด และเมื่อมีผู้ผ่านไปมาถามว่า บ้านนี้ชื่อว่าบ้านอะไร ก็จะตอบด้วยภาษาไทยสำเนียงภาษาถิ่นเขมรปนไทยว่า "ลำปู" และออกเสียงเพี้ยนมาเป็นชื่อหมู่บ้านที่เป็นทางการในปัจจุบันว่า "บ้านลำภู" ในที่สุด) คณะติดตามช้างได้เดินทางผ่านมาถึงอีกชุมชนหนึ่งซึ่งชาวบ้านได้นำน้ำที่ใสสะอาดมาคอยต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรี และให้ความร่วมมือด้วยดีช่วยบอกทางไปพบตากะจะ หัวหน้าชาวเขมรป่าดงแห่งหมู่บ้านประสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ท่านจึงชมว่า บ้านนี้ช่างใจดียิ่งนัก จึงขนานนามชื่อบ้านนี้ว่า "บ้านใจดี" แล้วคณะก็ได้ออกเดินทางต่อระหว่างทางได้พบชาวเขมรป่าดงกลุ่มหนึ่งล้วนเป็นชายผู้สูงวัยกำลังถางป่าทำไร่ เมื่อคณะตามช้างเดินทางผ่านมาและมีไพร่พลติดตามมาเป็นจำนวนมากก็ตกใจกลัว ท่านยังไม่ทันได้ไต่ถามอะไรเลย พวกตาแก่เหล่านั้นก็พากันกลัวถูกจับตัว ก็พาวิ่งหนีหลบเข้าป่าในบริเวณนั้นไป จึงขนามนามบ้านป่าแถบนั้นว่า "บ้านตากลัว" (เรียกชื่อหมู่บ้านเพี้ยนต่อๆกันมาเป็นชื่อหมู่บ้านที่เป็นทางการปัจจุบันว่า "บ้านตาโคล" ในที่สุด) ห่างจากบ้านตากลัวไปทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก คณะก็ได้พบร่องรอยของพญาช้างเผือกและโขลงช้างป่าแวะลงเล่นน้ำในบริเวณลำห้วยกลางป่าทึบ ซึ่งชาวบ้านเรียกชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นเขมรมาจนถึงปัจุจุบันว่า "อันล็วงตำเร็ยซอ" (บริเวณแอ่งน้ำที่ลึกสุดของลำห้วยบริเวณนั้น ที่ชาวบ้านเขมรป่าดงในสมัยนั้นเคยพบว่ามีพญาช้างเผือก และโขลงช้างป่าผ่านมาทางนี้ลงเล่นน้ำกันอยู่ที่นี่ก่อนจะมุ่งหน้าออกไปยังผืนป่าใหญ่แห่งภูเขาพนมดงรัก ซึ่งปัจจุบัน "อันล็วงตำเร็ยซอ" อยู่ระหว่างสองหมู่บ้าน คือบ้านตาโคล ตำบลใจดี กับ บ้านบิง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ หรืออยู่ตำแหน่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลดองกำเม็ด ปัจจุบัน ระยะทางประมาณ 430 เมตร )
ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
นายไพศาล นนทะสรณ์ อายุ ๗๒ ปี(ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗) ราษฎรอาวุโสบ้านพะเยียว ภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ กำลังชี้จุดพิกัดของ "อันล็วงตำเร็ยซอ" |
กล่าวถึง ตากะจะ และเชียงขันธ์ เมื่อทราบว่ามีคณะติดตามช้างจากกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๔ ท่านกำลังเดินทางมุ่งหน้ามายังบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ต่างก็ดีใจยิ่งนัก และพากันขี่ช้างพลายตัวใหญ่ออกไปต้อนรับ ณ บริเวณป่าใกล้ๆ"อันล็วงตำเร็ยซอ" ซึ่งระหว่างทางเป็นป่ารกมาก หัวหน้าหมู่บ้านทั้งสองจึงได้พาลูกบ้านตัดไม้ถางป่าเพื่อทำเป็นทางเดิน และขณะกำลังถางป่ากันอยู่นั้น ด้ามมีดของตากะจะก็ได้หลุดกระเด็นหลุดออกจากตัวมีด และหายไปในป่าบริเวณนั้น ตะกะจะได้สั่งให้ลูกบ้านช่วยกันค้นหาอย่างไรก็ไม่พบ จึงขนานนามบ้านแถบนั้นในภายหลังว่า "บ้านดองกำเม็ด" ตั้งแต่นั้นมา
เมื่อคณะติดตามช้างจากกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๔ ท่านได้พบกับตากะจะ และเชียงขันธ์ แล้วจึงได้ทราบว่ามีพญาช้างเผือกหนีผ่านเข้ามาในอาณาเขตพื้นที่ปกครองของหมู่บ้านปราสาทสี่เหลียมโคกลำดวน(ชื่อเรียกพื้นที่เมืองขุขันธ์ในอดีตก่อนปี พ.ศ. ๒๓๐๖)จริง
ตากะจะ และเชียงขันธ์ ร่วมกับหัวหน้ากลุ่มชนเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่มชน จำนวน ๖ ท่าน โดยมีตากะจะผู้มีอายุอาวุโสที่สุดเป็นหัวหน้าคณะผู้ประชุมวางแผนติดตามช้างเผือก ได้เตรียมเชือกปะกำคล้องช้าง หรือภาษาถิ่นเขมร เรียกว่า "เปรื๊อดปะกำจับตำเร็ย" และพากันทำพิธีเซ่นไหว้ศาลปะกำ และเป่าเสนงเกลเอาฤกษ์เอาชัย แล้วคณะหัวหน้าชาวเขมรป่าดงทั้ง 6 ท่านก็ขี่ช้างนำหน้าพาลูกบ้านเร่งรีบออกเดินทางค้นหาทันทีตามรอยโขลงช้างป่าไปเรื่อยๆ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน ก็พบพญาช้างเผือกอยู่รวมกับโขลงช้างป่า ณ ป่าทึบบริเวณเชิงเขาพนมดงรัก จึงพร้อมใจกันทำพิธีเพิกช้างป่า และสะกดพญาช้างเผือก โดยเสกก้อนหินขว้างไป ๘ ทิศ กระทืบเท้า ๓ ครั้ง ช้างป่าก็แตกตื่นหนีเข้าป่าไป ส่วนพญาช้างเผือกถูกมนต์สะกดยืนส่ายงวงหมุนวนอยู่กับที่ จึงช่วยกันขี่ช้างล้อม และใช้เชือกปะกำคล้องจับพญาช้างเผือกได้ แล้วนำมามอบให้คณะผู้ติดตามนำพญาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยา โดยหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๖ ท่าน ได้ร่วมเดินทางกับคณะนำพญาช้างเผือกส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย
การที่หัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๖ ท่าน ได้ช่วยเหลือคณะผู้ติดตามจนสามารถจับพญาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนี้ สองพี่น้องหัวหน้าคณะผู้ติดตามได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ฯ ให้ทรงทราบถึงการติดตามจับพญาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนี้ ได้รับการช่วยเหลือจากหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๖ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงชื่นชมในคุณงามความดีที่หัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๖ ได้มีต่อกรุงสยาม จึงโปรดเกล้า ฯพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่หัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง ๖ ท่าน ตามลำดับ ดังนี้
๑. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ตากะจะ เป็น "หลวงแก้วสุวรรณ "
๒. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เชียงขันธ์ เป็น "หลวงปราบ "
๓. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เชียงปุม เป็น "หลวงสุรินทร์ภักดี "
๔. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เชียงฆะหรือ เชียงเกา เป็น "หลวงเพชร "
๕. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เชียงสี เป็น "หลวงศรีนครเตา "
๖. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เชียงไชย เป็น "ขุนไชยสุริยงค์"
โดยให้ทั้ง ๖ เป็นนายกองฐานะรับราชการขึ้นกับเมืองพิมาย โดยอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา เป็นการมอบอำนาจแก่หัวหน้าหมู่บ้าน "เขมรป่าดง" ควบคุมปกครองดูแลสมัครพรรคพวกและลูกบ้านตนเองเพื่อเตรียมการยกฐานะชุมชนหมู่บ้านขึ้นเป็นเมืองต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจากภูมิปัญญาท้องถิ่น : นายไพศาล นนทะสรณ์ อายุ ๗๒ ปี(ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗) ราษฎรอาวุโสบ้านพะเยียว ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ