จากเหตุการณ์ที่ “พระไกร” ได้กล่าวหา เจ้าเมืองขุขันธ์ ในข้อหากบฏคบคิดร่วมกับญวน จนเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 (หลวงปราบ) ถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2325 ทำให้พระไกร(ลูกเลี้ยงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นท่านที่ 3 แทนนั้น ทำให้ท้าวอุ่น หรือพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นไม่พอใจ (ท้าวอุ่น เป็นบุตรตากะจะ มีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปราบ หรือเชียงขันธ์) อีกทั้งเกิดความระแวงเกรงกลัวว่าตัวท่านอาจจะไม่มีความปลอดภัย ในชีวิตตนเองและครอบครัวในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์ จึงต้องตัดสินใจเดินทาง เข้ากรุงเทพฯ เพื่อกราบบังคมทูลขอแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนแยกตั้งเป็นเมืองใหม่ โดยกราบบังคมทูลขอแยกบ้านโนนสามขา สระกำแพง และทูลขอเป็นเจ้าเมืองด้วยตนเอง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงเห็นใจและเห็นว่ามีความชอบธรรมมีเหตุมีผล จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโนนสามขา สระกำแพง ขึ้นเป็น “เมืองศีร์ษะเกษ” และโปรดเกล้าฯให้พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น บุตรตากะจะ) ปลัดเมืองขุขันธ์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เป็นท่านแรกในราชทินนามใหม่ว่า “พระรัตนวงศา” ว่าราชการขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา โดยมีเจ้าผู้ปกครองเมืองศีร์ษะเกษ ในตำแหน่งเจ้าเมืองศีร์ษะเกษสืบต่อกันมา จำนวน 5 ท่าน
•พระรัตนวงศา (ท้าวอุ่น) พ.ศ. 2325 – 2328
•พระพิเศษภักดี (ท้าวชม ) พ.ศ. 2328 – 2368
•พระวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์ ) พ.ศ. 2368 - 2424
•พระวิเศษภักดี (ท้าวโท ) พ.ศ. 2424 – 2440
•พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า ) พ.ศ. 2440 –2447
ในปี พ.ศ. 2431 พระอุปราชเมืองสุวรรณภูมิ ได้กล่าวโทษเจ้าเมืองมหาสารคาม เจ้าเมืองสุรินทร์ และเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ (พระวิเศษภักดี หรือท้าวโท ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2424 – 2440) ว่า ได้กระทำการอันมิชอบ คือ ได้ทำการแย่งชิงแบ่งเอาดินแดนที่เป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิบางส่วนไปตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ กล่าวคือ เมืองมหาสารคาม ได้เอาบ้านนาเลา ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองวาปีปทุม เมืองสุรินทร์ ได้เอาบ้านทัพค่าย ขอตั้งเป็นเมือง ชื่อว่า เมืองชุมพลบุรี ส่วนเมืองศีร์ษะเกษ ได้เอาบ้านโนนหินกอง ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองราษีไศล ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงทราบเรื่องแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าหลวงกำกับเมืองจำปาสัก และข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณอุบลราชธานี ร่วมคณะไปสอบสวน หาข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนได้คำสัตย์จริงดังที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิกล่าวโทษ แต่เนื่องจากพระองค์เห็นว่า การกระทำของเจ้าเมืองทั้งสาม ดังกล่าว ได้สำเร็จและล่วงเลย มานานแล้ว ยากที่จะรื้อถอนได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้คงความเป็นเมืองไว้ต่อไป
ข้อสังเกต พ.ศ. 2447–2450 ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองศีร์ษะเกษว่างและเมืองบริเวณขุขันธ์ ถูกยุบรวม (เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และเมืองเดชอุดม ) ทั้งสามถูกยุบรวมเป็นเมืองเดียวกันรวมเรียกว่า “เมืองขุขันธ์” (ใน พ.ศ.2450) มีผลทำให้อำเภอทุกอำเภอที่ขึ้นต่อเมืองศีร์ษะเกษ เมืองเดชอุดม และขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ ให้ขึ้นและอยู่ในการปกครองเมืองขุขันธ์ทั้งสิ้น ดังนั้น ชื่อคำว่า เมืองศีร์ษะเกษได้เปลี่ยนและลดฐานะเป็นอำเภอศีร์ษะเกษ และชื่อคำว่า เมืองเดชอุดมได้เปลี่ยนและลดฐานะเป็นอำเภอกลางเดชอุดม ทำให้ชื่อของ "เมืองศีร์ษะเกษ" และชื่อของ "เมืองเดชอุดม" สิ้นสุดและสิ้นสภาพความเป็นเมืองตั้งแต่บัดนั้นมา