-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

บุญประเพณีแซนโฎนตา สารทแห่งความกตัญญูของชาวอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ(โดยละเอียด)

     อำเภอขุขันธ์    เป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ประกอบด้วยหลายชนชาติพันธุ์ได้แก่ชนชาติพันธุ์ขอม(เดิมเข้าใจผิดเป็นว่าเขมร) เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นชนชาติพันธุ์กูย/กวย  ลาว  เยอ  จีน และแกว ตามลำดับ ซึ่งต่างก็ได้ถือปฏิบัติขนบประเพณีเดียวกันในหลายเทศกาล ทั้งจารีต และประเพณีที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลทางศาสนา และระเบียบพิธีในการดำเนินชีวิตเพื่อความสงบสุข เป็นสิริมงคลเช่น พิธีสู่ขวัญบายศรี ให้แก่ลูกหลานญาติมิตรในโอกาสการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ เช่น การประกอบพิธีสู่ขวัญบายศรีให้แก่ลูกหลานในพิธีแต่งงาน พิธีอุปสมบทพิธีขึ้นบ้านใหม่ หรือการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น  ส่วนในด้านตรงข้ามนั้นหมายถึง ในกรณีที่ลูกหลานญาติมิตรได้ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงแทบเอาชีวิตไม่รอด หรือจากการป่วยหนัก หรือได้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหาร เป็นต้น ญาติผู้ใหญ่หรือบิดามารดาจะนิยมจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญให้ลูกหลาน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีและรับขวัญให้กำลังใจในโอกาสดังกล่าวเป็นการส่วนตัว
     ส่วนพิธีบำเพ็ญกุศลตามคติทางพระพุทธศาสนานั้น นอกจากจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ และตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรในเทศกาลประจำปีแล้ว   ในพิธีบุญแซนโฎนตา ก็เป็นอีกพิธีหนึ่งที่ลูกหลานชาวอำเภอขุขันธ์ รวมไปถึงอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงยังคงให้ความสำคัญยิ่ง ถึงแม้ตัวเองจะเดินทางไปประกอบอาชีพอยู่ห่างไกลเพียงใดก็จะต้องหาโอกาสกลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อไปร่วมพิธีนี้กับครอบครัวให้จงได้ แม้กาลเวลาและยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์เช่นในยุคปัจจุบันนี้ ก็หาได้ทำให้ความสำคัญของพิธีบุญแซนโฎนตาเสื่อมคลายลงไปได้ไม่ ลูกหลานรุ่นหลังกลับจะนำเอาระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในพิธีการนี้ได้เป็นอย่างดี เช่นการใช้โทรศัพท์นัดหมายเรียกเครือญาติที่อยู่ห่างไกล หรือสั่งการให้ญาติเตรียมการอย่างไร เป็นต้น และในบางครอบครัวบางตระกูลก็สามารถจัดบันทึกภาพกิจกรรมสำคัญในวันนี้ไว้ ให้ลูกหลานที่อยู่ไกลได้มีโอกาสรับรู้รับชมผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์(Social Media)ด้วย เรียกได้ว่า ระบบการสื่อสารสมัยใหม่ช่วยส่งเสริมให้ความสามารถรวมตัวกันได้ดียิ่งขึ้น และเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด หรือปลูกฝังค่านิยมประจำถิ่นประจำเผ่าได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 
             เทศกาลบุญประเพณีแซนโฎนตา อยู่ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ  ถึงวันแรม 14 ถึง 15 ค่ำเดือนสิบ ของทุกปี ซึ่งก็คือ ตรงกับวันสารทของพุทธศาสนิกชน นั้นเอง ต่างแต่ว่าพุทธศาสนิกชนอื่นนั้น จะให้ความสำคัญของวันนี้แค่การไปทำบุญที่วัดธรรมดาเท่าๆกับวันสำคัญทางศาสนาอื่น แต่ประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์ และอำเภอใกล้เคียงดังกล่าวแล้วนั้นจะถือว่าเป็นพิธีสำคัญมาก สำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัวแทบจะทุกครัวเรือนเลยทีเดียว ทั้งนี้ไม่ได้หมายรวมไปถึงประชากรบางส่วนที่ย้ายเข้าไปอยู่ในเขตพื้นที่ใหม่ ทั้งพ่อค้า และข้าราชการ หรือผู้ประกอบการอื่นที่เป็นคนต่างถิ่น ซึ่งถึงแม้จะไม่มีส่วนร่วมในการประกอบพิธี    แต่ก็สามารถใช้โอกาสนี้แสวงหาประโยชน์ด้วยการจัดหาสินค้าในเทศกาลมาจากจำหน่ายได้เป็นอย่างเป็นล่ำเป็นสันเลยทีเดียว

ที่มาของศรัทธาอันมั่นคง
           
            ในสมัยโบราณ ปูย่า ตายาย   จะให้ความเคารพนับถือพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งสำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด การใดที่จะเกี่ยวข้องกับวัดวาอาราม หรือกับพระภิกษุสงฆ์แล้วก็จะต้องจัดทำด้วยความพิถีพิถัน ประณีตเป็นพิเศษตามอัตภาพของตน เช่น การเตรียมอาหารที่จะนำไปวัด ปิ่นโตที่ทำความสะอาดดีแล้ว และจะนำมาตักอาหารใส่จะต้องมีภาชนะรองอีกทีหนึ่ง แล้วก็ตักข้าวปากหม้อ ตักแกงถ้วยแรก หรือน้ำพริก ผักต้ม ก็จะจัดด้วยความประณีตเรียบร้อย คัดแต่สิ่งที่ดีพิเศษลงสำรับเสร็จแล้วตั้งไว้ในที่สูงเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหลานหยิบยื่นสิ่งของข้ามไปมาอันจะเป็นบาปแก่ลูกหลานได้
        ในเทศกาลวันสารท หลังพิธีแซนโฎนตาแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นก็จะมีการเตรียมของไปใส่บาตรและเลี้ยงพระ ช่วงนี้จะมีพิธีชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลรวมกันทั้งหมู่บ้าน โดยลูกหลานจะนำปัจจัยใส่ซองพร้อมด้วยรายชื่อของบิดามารดาปู่ย่าตายายและญาติในตระกูล และญาติในสายตระกูลของตนเอง วางใส่พานจัดวางบนผ้าขาวที่ปูเตรียมไว้ด้านหน้าพร้อมด้วยสำรับกับข้าว ขนม ผลไม้ต่างๆ เมื่อผู้นำหมู่บ้านจับด้ายสายสิญจน์เรียบร้อยแล้วพระสงฆ์ก็จะสวดมาติกาบังสุกุลให้ จากนั้นผู้นำหมู่บ้านก็จะนำรายชื่อของญาติหรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วทั้งหลายออกมาจุดไฟใส่ลงในภาชนะ เช่น จาน หรือถาด เป็นต้น แล้วพระสงฆ์ก็จะกรวดน้ำลงบนเถ้ากระดาษรายชื่อที่เผาไฟแล้วนั้นอีกที่หนึ่ง หลังจากนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับเรื่องราวในเทศกาลวันสารทว่ามีความเป็นมาอย่างไรและทำไมจึงต้องทำ ไม่ทำไม่ได้หรือ ?

        
พระธรรมเทศนา ฉลองเบ็ณฑ์ (ឆ្លងបិណ្ឌ)
ภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์
            ใจความโดยสรุปจากพระคัมภีร์ ที่พระสงฆ์ท่านแสดงในเทศกาลแซนโฎนตา นั้นมีดังต่อไปนี้   อันมนุษย์ชาติทุกศาสนาทุกภาษาทั่วโลกนั้น   เมื่อแตกดับจิต และละสังขารไปแล้ว จิตวิญญาณก็จะถูกฉุดดึงไปตามอำนาจของกรรมที่ทุกคนได้กระทำไว้ก่อนตาย เมื่อทำดีมีบุญกุศลสะสมไว้มากจิตวิญญาณนั้นก็จะไป อุบัติในทิพยสถาน  ตามลำดับแห่งภพภูมิของตน แต่ก็มีเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายที่ถูกบาปอกุศล ฉุดรั้งไปสู่อบายภูมิ โดยไม่มีอำนาจใดทัดทานได้   จำนวนสัตว์นรกในอบายภูมิแต่ละขุมนั้น จึงมีมากมายมหาศาล แออัด ยัดเยียด เบียดเสียดกันอยู่ในท่ามกลางความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการลงทัณฑ์ของเหล่านายนิริยะบาลที่ไม่มีการยกเว้น หรือให้อภิสิทธิ์แก่ใครทั้งสิ้น
            กาลเวลา ในอเวจีมหานรกนั้น  นานนับเป็นอสงไขยกับกันเลยทีเดียว แต่ในรอบ 1 ปี นกษัตริย์ของโลกมนุษย์   พระยายมราชท่านจะอนุญาตให้นายนิรยบาล  ปล่อยสัตว์นรกทั้งหลายให้ขึ้นไปรับบุญกุศลจากลูกหลานญาติมิตรพี่น้องได้ 1 ครั้งในเดือน 10 นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนสิบ เป็นต้นไปจนถึงวันแรม 14 ถึง 15 ค่ำเดือนสิบ แล้วจึงค่อยให้กลับไปรับโทษในอเวจีมหานรกต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรม เหล่าสัตว์นรกทั้งหลายนี้เมื่อได้รับอนุญาตให้กลับไปหาลูกหลานญาติพี่น้องก็ดีใจ ความที่ต้องอดทนหิวโหยอยู่ในนรกเป็นเวลานาน เมื่อขึ้นมาเห็นข้าวปลาอาหาร ขนม นมเนย พร้อมด้วยผลไม้ เผือก มัน อุดมสมบูรณ์ที่ลูกหลานจัดเตรียมไว้ให้ก็มีความพึงพอใจและสมปรารถนา และแล้วเมื่อถึงกำหนดที่จะต้องกลับไปรับโทษต่อก็จะอำนวยพรให้ลูกหลานประสบแต่สิ่งที่ดีงาม มีสิริมงคลไพบูลย์พูนผล และห่างไกลจากสรรพยันตรายทั้งปวง

            ส่วนพวกที่ขึ้นมาแล้วเมื่อได้เที่ยวเดินหาตามบ้านเรือนของลูกหลานคนโน้นคนนี้ทั่วทุกคนแล้วก็ก็สอดส่ายสายตาลอดตามช่องประตูหน้าต่าง หรือ ตามรอยแยกช่องโหว่ของฝาผนังบ้านนั้นไม่เห็นลูกหลานตั้งสำรับเครื่องแซนโฎนตาไว้ต้อนรับก็เกิดความกำศรดโศก เสียใจด้วยความผิดหวัง แล้วก็เลยพาลพาโลโกรธเคืองให้บุตรหลานที่ใจจืดใจดำที่แม้จะเลี้ยงดูปู่ย่าตาทวดแค่สักปีละครั้งก็ทำไม่ได้ สัตว์นรกเหล่านี้ ก็จะลุแก่โทสะกล่าววาจาอันเป็นโทษ สาปแช่งบุตรหลานให้มีอันเป็นไป ให้ได้รับความเดือดร้อนนานาประการ ขาดแคลนในเครื่องอุปโภคบริโภค มีอุปสรรคขัดข้องในการดำเนินชีวิต จะคิดทำสิ่งใดก็มีแต่ความล้มเหลวจนกว่าจะสิ้นอายุไขดังนี้เป็นต้น
            เนื้อหาโดยสรุปจากพระคัมภีร์ที่พระสงฆ์ในช่วงเทศในในช่วงเทศกาลแซนโฎนตานี่เอง คือหัวใจของเรื่องราวความเป็นมาของประเพณีแซนโฎนตาที่ได้รับการถ่ายทอดสู่รุ่นหลานรุ่นหลังอย่างต่อเนื่องยาวนาน รุ่นต่อรุ่นตราบเท่าถึงทุกวันนี้ ซึ่งทั้งหมดก็คือกุญแจไขปริศนาที่ว่า “ทำอะไรเหมือนงมงาย ทำให้สิ้นเปลืองเปล่า ภูตผีปีศาจมีจริงทุกสิ่งล้วนสมุดเหลวไหลทั้งสิ้น” ปริศนาเหล่านี้ มีคำตอบจากลูกหลานที่ยังให้ความศรัทธาเชื่อถือในการพระคัมภีร์ทางศาสนาอย่างแน่วแน่มั่นคง อีกประการหนึ่งก็ยังให้ความเคารพรักเมตตาสงสารญาติหรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนั้นอย่างเต็มเปี่ยม เพราะเขาเหล่านั้นคิดง่ายๆว่า  ความสิ้นเปลืองทั้งหมดในวันนี้ 1 วันเพื่อญาติหรือบรรพบุรุษผู้น่าสงสารไม่ได้ทำให้ลูกหลานถึงกับล้มละลายอย่างแน่นอน เพราะทุกคนต่างยินดีและเต็มใจที่แสวงหาสิ่งที่ปู่ย่าตายายเคยชอบมาจัดเตรียมไว้อย่างเต็มที่ ภายหลังเมื่อส่งดวงวิญญาณเหล่านั้นกลับแล้วลูกหลานก็สามารถนำอาหารมาเลี้ยงดูร่วมรับประทานกันได้ถือว่าเป็นอาหารมงคลที่ปู่ย่าตายายมอบไว้ให้ลูกหลานพร้อมกับคำอวยพร

           ส่วนข้อที่ว่า “ไม่ทำไม่ได้หรือ?” ตอบว่า “ได้เหมือนกัน” ถ้าลูกหลานกลุ่มใดเห็นเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ สามารถทำจิตใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวหวาดระแวงว่า จะต้องคำสาปจากบรรพบุรุษอันจะพลอยทำให้ชีวิตไม่สงบสุข  ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของลูกหลานรุ่นใหม่ของแต่ละตระกูล ส่วนมากแล้วไม่กล้าเสี่ยงแม้ว่าจะมองไม่เห็นเป็นรูปธรรม เพราะอุบัติภัยในโลกมนุษย์นี้ มีให้เห็นอยู่ตลอดเวลาและรุนแรงร้ายกาจกว่าสมัยโบราณหลายเท่านัก ลูกหลานที่ต้องเดินทางไกลไปประกอบอาชีพเสี่ยงโชคยังต่างแดน ต่างจังหวัด ตามโรงงานอุตสาหกรรม รับจ้างทั่วไป หรือเสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตในทะเลมหาสมุทรก็มากมาย ล้วนต้องการขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็ขอให้มีช่องทางประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงชีวิตจุนเจือครอบครัวให้สามารถดำรงชีพอยู่จนมีโอกาสได้กลับมาพบกันในรอบปีของเทศกาลสารทอีกครั้ง ก็ถือว่าเป็นพรอันประเสริฐ สำหรับพวกเขา ถ้าจะถามว่า “แล้วสังคมได้สาระอะไรจากพิธีแซนโฎนตานี้บ้าง?” ก็ตอบได้ว่า สิ่งที่สังคมได้รับนั้นไม่สามารถจะประเมินได้โดยมาตราตวงวัดชนิดใดทั้งสิ้น ด้วยเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นในดวงจิตอันละเอียดอ่อนของลูกหลานเองพร้อมไปด้วยคุณลักษณะที่สังคมอื่นสัมผัสได้ยาก อาจจะมองผ่านเลยไปกลายเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ โดยแท้จริงนั้นสาระสำคัญของวิธีการนี้ได้สะท้อนให้เห็นคุณธรรมความกตัญญูรู้คุณของบรรพบุรุษในสายตระกูล ทั้งทางตรงและโดยอ้อม โดยตรง หมายถึง ผู้สืบทอดสายโลหิต โดยอ้อม หมายถึง ผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในภายหลัง เช่น ลูกเขยลูกสะใภ้ เป็นต้น นอกจากสังคมจะได้รับรู้ถึงคุณธรรมความกตัญญูที่ถูกปลูกฝังสืบทอดเชื่อมโยงมาอย่างเหนียวแน่นไม่ขาดสายแล้ว ยังมีคุณธรรมพิเศษควบคู่กันมาอีกคู่หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นคุณธรรมที่ค้ำจุนโลกคือความเมตตาสงสาร และความเวทนาอาทรห่วงใยไม่อยากให้บรรพบุรุษเหล่านั้นผิดหวังโศกเศร้าเสียใจ ความรู้สึกที่ดีงามเหล่านี้เองที่ผลักดันให้เกิดภาพรวม ตามที่ปรากฏในสายตาของสังคมท้าทายยุคสมัยและกาลเวลาอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงประกาศเอกราชเฉพาะตัวให้สังคมต้องยอมรับโดยไม่มีสิ่งใดมาสั่นคลอนได้ ดังนั้น เราจึงจะมองเห็นภาพเขาเหล่านั้นเข้าไปในเมือง เพื่อจับจ่ายซื้อหาสิ่งของต่างๆเตรียมไว้สำหรับพิธีแซนโฎนตา โดยเฉพาะกล้วย นั้นจะเป็นธัญพืชที่สำคัญที่เขาจะนำไปแปรรูปเป็นข้าวต้ม ขนมชนิดต่างๆ ประชาชนที่อยู่ตามหมู่บ้านที่ห่างไกลและมีฐานะยากจนไม่มีเงินทองที่จะซื้ออะไรได้นั้น อย่างน้อยก็ขอให้มีกล้วยน้ำว้าสุกสำหรับห่อข้าวต้มต่างๆใส่สำรับ พร้อมด้วยไก่ย่าง ปลาย่าง เคียงน้ำพริกถ้วยเล็กเท่านั้น ลูกหลานก็ยังพอใจจะทำให้บรรพบุรุษของตนได้ ซึ่งเมื่อถึงเทศกาลแซนโฎนตา จะมีรถขนกล้วยทุกชนิดบ่ายหน้าเข้าสู่ตลาดอำเภอขุขันธ์ อย่างมากมาย และต่อเนื่อง และพบว่า มีกล้วยนานาชนิด กองเป็นภูเขาเลากา แล้วยังขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอีกต่างหาก นั่นคือ สิ่งที่สังคมได้รับจากการสืบสานประเพณีนี้โดยตรง

ขั้นตอนพิธีการเซ่นไหว้โฎนตาและไปทำบุญที่วัด
วันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ 
          ชาวบ้านจะเริ่มทำขนม  ข้าวต้มต่างๆให้เรียบร้อย   รวมทั้งการจัดเตรียมอาหารที่ปู่ย่าตายายชอบ ก็จะจัดเตรียมซื้อเตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ ในสมัยก่อนนั้นทุกบ้าน จะต่างคนต่างทำของใครของมัน  แต่ปัจจุบันนี้สะดวกขึ้น  เพราะมีผู้รับทำขนม  ข้าวต้มต่างๆตามสั่งแต่ราคาจะแพงกว่าปกติ   เพราะแม่ค้าต้องทำส่งหลายราย จึงเรียกค่าแรงแพงเป็นพิเศษ  แต่ผู้สั่งก็ยังยินดีจ่าย  เพราะสะดวกกว่าทำเองหลายเท่านัก 



            ประเภทขนมต่างๆ ที่จะขาดไม่ได้  ได้แก่  ขนมเทียน ทั้งไส้เค็มและไส้หวาน    ไส้หวานจะต้องใช้มะพร้าวทึนทึก แต่ในปัจจุบันนี้บางคนก็ใช้ ถั่ว  เพราะสะดวกกว่า นอกจากนี้ก็มีขนมเข่ง  ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตรุษจีนด้วย   ในปัจจุบันนี้ก็มีขนมหลากหลายให้เลือกซื้อไปเพิ่มเติม ข้าวเม่า   ข้าวกระยาสารท  ก็ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน 
            ประเภทข้าวต้ม ได้แก่ ข้าวต้มหมู   ข้าวต้มกล้วย  ข้าวต้มด่าง  ข้าวต้มมะพร้าว(ใช้กะทิสดคลุกข้าวสารเหนียวที่แช่น้ำพอนิ่มเคล้าเกลือให้พอดีแล้วห่อด้วยใบมะพร้าว)
            ประเภทผลไม้  เผือก มัน  ได้แก่  กล้วยสุกชนิดต่างๆ  ทั้งกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่  กล้วยหอม  เผือกต้ม มันต้ม   ข้าวโพดต้ม  อ้อยควั่น  ส้มโอ  และผลไม้อื่นตามฤดูกาล  ในปัจจุบันนี้แม่ค้าได้จัดใส่ถุงรวมกันขายในราคาถุงละ 10 บาท  ก็ช่วยให้ความสะดวกแก่ผู้ที่มีเบี้ยน้อยหอยน้อย ได้มีโอกาสซื้อหาผลไม้ต่างๆไปเพื่อใส่สำรับแซนโฎนตาของตนด้วย
             ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำให้ครบถ้วนบริบูรณ์

วันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ 
      พอเช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันประกอบพิธี เจ้าบ้านจะเตรียมปูลาดอาสนะด้วยที่นอนนุ่มปูทับด้วยผ้าขาว   แล้วจัดวางเครื่องบัดพลีบำบวงทุกอย่างที่เตรียมไว้ให้เรียบร้อยเป็นหมวดหมู่ นับตั้งแต่ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียวใส่ขันใบใหญ่ ตั้งไว้เป็นประธานข้างประตูทางเข้า  จะมีขันใส่น้ำลอยกลีบดอกไม้สำหรับปู่ย่าตายายจะได้ล้างหน้าล้างตา   ล้างมือ  ล้างเท้า แล้วสวมใส่ผ้าผ่อนตามสบายที่ลูกหลานจัดใส่พานเตรียมไว้ให้ พร้อมด้วยเครื่องหอมกระแจะจันทน์ เช่น น้ำอบไทยแป้งหอม  และขมิ้นผง  เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมี สร้อยถนิมพิมพาภรณ์ ให้ท่านเลือกประดับตามอัธยาศัย  ถัดจากนั้นไปก็จะเป็นข้าวต้ม   ขนม   ผลไม้  และสำรับกับข้าวครบเครื่อง    ส่วนเครื่องดื่มนานาชนิดพร้อมด้วยแก้วนั้นจะตั้งเรียงไว้หน้า   ซึ่งจะมีทั้งดีกรีอ่อนแก่ตามรถตามรสนิยมของลูกหลานเองด้วย  เพราะลูกหลานเตรียมตัวเป็นลูกศิษย์ของโฎนตาอย่างเต็มที่   และถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกในครอบครัว ลูกหลาน หรือพี่พี่น้องน้องจะมีโอกาสได้พบหน้ากันพร้อมหน้าพร้อมตากันสักครั้ง  ที่จะได้ร่วมรับประทานทานอาหาร และกินดื่มร่วมกัน  ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ทำให้หัวหน้าครอบครัว และลูกหลานทุกคน มีความสุขมีความสบายใจ  อิ่มใจและปลื้มใจเป็นพิเศษ


          เมื่อตั้งเครื่องเซ่นไหว้พร้อมแล้ว   ในช่วงที่รอเวลาก็จะมีลูกหลานที่เกี่ยวดอง ทยอยนำข้าวปลา ขนมนมเนยมาร่วมไหว้ปู่ย่าตายายด้วย  ของเซ่นไหว้ก็จะยิ่งอุดมสมบูรณ์ตามจำนวนสมาชิกในแต่ละครอบครัวแต่ละตระกูล  สำหรับในหมู่บ้านตำบลที่ห่างออกไปโดยรอบของอำเภอขุขันธ์ ลูกหลานก็จัดเตรียมอาหารคาว หวาน และจัดวางสำรับเซ่นไหว้ทั้งหมดลงในกระเฌอ(កញ្ជើ) และต้องนำกระเฌอจูนโฎนตา(កញ្ជើជូនដូនតា) หรือกระเฌอเบ็ณฑ์ (កញ្ជើបិណ្ឌ)ไปส่งที่บ้านพ่อแม่ของตน​ หรือบรรพบุรุษ เรียกว่า​  จูนกัญเจอเบ็ณฑ์ (ជូនកញ្ជើបិណ្ឌ)

         พอถึงเวลา 17.00 น.  ผู้เป็นประธานของตระกูลก็จะเรียกชุมนุมลูกหลานให้มานั่งพร้อมหน้ากัน แล้วประธานก็จะจุดธูปเทียนปักที่เชิงเทียน   ส่วนธูปจำนวนหนึ่งก็ปักตามเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆจนครบ   จากนั้นประธานก็นำลูกหลาน กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยพร้อมๆกัน   เมื่อจบคำบูชาพระรัตนตรัยแล้ว   ประธานก็ตั้งนะโม 3 จบแล้วสวดชุมนุมเทวดาให้ท่านลงมารับทราบเป็นสักขีพยานในการพิธีแซนโฎนตาของลูกหลานในครั้งนี้   พร้อมทั้งอนุโมทนาสาธุในมุทิตาจิตอันยิ่งใหญ่ของลูกหลานในครั้งนี้ ถัดจากนั้นผู้เป็นประธานก็จะเริ่มรินน้ำสะอาดลงในภาชนะเป็นปฐม พร้อมทั้งกล่าวอัญเชิญดวงวิญญาณของปู่ย่าตาทวดทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วทุกคนโดยระบุชื่อและนามสกุล  สำหรับคณะญาติที่นั่งแวดล้อมก็จะช่วยกันเรียกขานเท่าที่จะจำชื่อได้ ส่วนที่จำชื่อไม่ได้ก็จะระบุบรรพบุรุษรวมเรียกว่า โฎนตา  ซึ่งหมายถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วทุกรุ่นทุกวัย  นั่นเอง  ญาติๆที่มาร่วมพิธีก็จะผลัดเปลี่ยนกันเข้ากรวดน้ำพร้อมทั้งกล่าวเชิญ “โฎนตา” ให้มารับเครื่องสักการะบูชาทั้งหลาย ที่ลูกหลานได้ตกแต่งไว้ให้โดยทั่วกัน    พร้อมทั้งพรรณาชื่อของผลไม้  อาหารคาวหวานต่างๆ ที่ปู่ย่าตายายเคยชอบ  ว่าลูกหลานได้ตระเตรียมไว้ให้แล้วอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ขอเชิญโฎนตาทุกท่านได้เข้ามารับรู้รับทราบและรับเอาเป็นสมบัติทิพย์ของทุกท่านให้อิ่มเอมเปรมปรีดาสมความปรารถนาของทุกท่านเถิด
      การกรวดน้ำ ในพิธีตอนนี้จะเป็นพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงคล้ายๆกันกับการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล หลังจากการทำบุญทั่วไป  นั่นเอง   แต่เป็นการเรียกชื่อจำเพาะเจาะจงให้ญาติ   หรือบรรพบุรุษเหล่านั้นได้มารับเครื่องกระยาหารทั้งปวงจากลูกหลานโดยตรงเท่านั้น    การกรวดน้ำลงภาชนะหน้าเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีนี้  จะทำประมาณ 2 - 3 ครั้ง โดยประมาณว่าญาติแต่ละคนต่างก็เดินทางมาจากคนละทิศคนละทาง หรือจะคนละภพภูมิ ระยะทางใกล้ไกลไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น  ลูกหลานจึงจะต้องเรียกเชิญอีก 2 - 3 ครั้ง เพื่อไม่ให้ผู้ที่เดินทางมาถึงทีหลังเพื่อนเกิดความเก้อเขินกระดากอาย      ก็คงจะอนุมานเอาจากการดำเนินชีวิตของคนเราในโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน เป็นบรรทัดฐานนั้นเอง    จากนั้นก็จะทิ้งช่วงระยะหนึ่ง กะว่าโฎนตาอิ่มหนำสำราญทั่วหน้ากันแล้ว    จึงกรวดน้ำอีกครั้ง เป็นการลาสำหรับ  บอกให้ปู่ย่าตายายล้างมือ  ล้างปาก  เคี้ยวหมาก   สูบบุหรี่ให้สบายอกสบายใจแล้วจึงค่อยตามลูกหลานไปวัด    เพื่อรับศีลและฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้น ก็ถอยสำรับกับข้าวลงมาเลี้ยงดูกันเอง
            สำหรับตอนเย็นของวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ เจ้าบ้าน หรือผู้ปกครอง จะต้องเตรียมสิ่งที่ต้องใช้ในพิธีภาคกลางคืน อีก 2 รายการดังนี้
        1. บายเบ็ณฑ์ (បាយបិណ្ឌ /หรือ បាយបិន) โดยเย็บกระทงเล็กๆ ประมาณ 10 - 20 กระทงใส่สิ่งของทุกชนิด ที่รับประทานได้เตรียมไว้อีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้  ก็เย็บกระทงใบใหญ่สัก 2 ใบ  บรรจุขนม  ผลไม้  หมากพลู  บุหรี่ และภาชนะใส่น้ำไปตั้งไว้นอกบ้าน หรืออาจจะใช้ไม้กระดานแผ่นเล็กๆ ตอกติดกับไม้ที่เป็นหลักหรือจะวางบนต้นไม้ก็ได้ สำหรับผีที่ไม่มีญาติแล้วจุดเทียนธูป บอกกล่าวเชิญชวนให้เข้ามาดื่มกินโภชนาอาหารต่างๆให้อิ่มหมีพีมัน  อย่าได้น้อยอกน้อยใจเลย เมื่ออิ่มหนำสำราญแล้วก็ให้ไปวัดรับศีลฟังธรรม และอำนวยอวยพรให้ลูกหลานมีความสุขความเจริญ มีความวัฒนาถาวร สืบไป  หรืออะไรทำนองนี้   ซึ่งสุดแท้แต่จะสรรหาถ้อยคำที่เป็นมงคลที่เราต้องการ   อีกนัยหนึ่งก็คือ เราอวยพรให้ตัวเรา  นั่นเอง

           2. บายบัตตบูร หรือเบิดตะโบร(បាយបត្តបូរ) หรือบายตะเบิดตะโบร (បាយតបិត្តបូរ)​ โดยจัดของลงภาชนะอีกใบหนึ่ง อาจจะใช้ชาม หรือกะละมังใบขนาดย่อมก็ได้ โดยจัดให้มีถ้วยใบหนึ่งใส่ไว้ตรงกลางเย็บกรวยด้วยใบตอง ข้างในกรวยใส่ข้าวเหนียวนึ่งหรือต้มสุกแล้วปิดปากกรวยด้วยเงินเหรียญ   สมัยแต่ก่อนเป็นเหรียญ 1 บาทปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 5 บาท 10 บาท ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป   แล้วนำกรวยวางลงในถ้วย   ยอดกรวยคล้องด้วยผ้าฝ้าย 1 ใจ รอบๆถ้วยที่ใส่กรวยก็จัดวางกล้วยน้ำว้าสุก 1 หวี ข้าวต้มด่าง 1 พวง ข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มอื่นๆ พร้อมด้วยขนมในพิธีอีกอย่างละ 2 - 4 อัน และที่ขาดไม่ได้คืออาหารแห้ง  เช่น  ไก่ย่าง  ปลาหรือหมูย่าง แล้วแต่ใส่ลงไปด้วย 2 รายการนี้เตรียมไว้ให้เรียบร้อย ตั้งแต่ตอนเย็นก่อนไปวัด
 


          ในตอนเย็น และตกดึกสงัด(ประมาณ 02.00 น.) ของวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ   หัวหน้าครัวเรือนหรือผู้ปกครองก็จะพาลูกลูกหลานมาจับ “บายเบ็ณฑ์” ก็คือข้าวเหนียวสุก 1 ถ้วยที่ หัวหน้าครอบครัวได้เตรียมไว้ บรรจงจับข้าวเหนียวสุขเป็นก้อนเล็กๆใส่ลงในกระทงเล็กๆที่เตรียมไว้ให้ทุกคน โดยการขานชื่อญาติที่ล่วงลับไปแล้วทุกชื่อ พร้อมๆไปกับการหยิบข้าวเหนียวลงไปในกระทงทุกครั้ง  สำหรับเด็กๆก็เพียงแต่ให้จับข้าวใส่ลงในกระทง แล้วให้ผู้ใหญ่เรียกชื่อแทน   ระหว่างนั้น ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้ปกครอง ก็จะกรวดน้ำบอกกล่าวอีกครั้งหนึ่ง   ให้ปู่ย่าตายายทั้งหลายมารับเอาผลานิสงฆ์ที่ลูกหลานได้ตั้งใจจัดทำให้ในครั้งนี้โดยทั่วกัน  เมื่อท่านได้รับแล้ว  ก็ขอให้ท่านจงอำนวยอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดีมีชัย   ปราศจากภัยพิบัติอันตรายทั้งปวง   จะประกอบกิจการงานใดก็ขอให้เจริญรุ่งเรือง    ปราศจากปัญหาอุปสรรค จะย่าตราไปทางทิศใดทั้งใกล้และไกลก็ขอให้ปลอดภัยในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อเทอญฯ

สำหรับกลางคืนของวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ เวลาประมาณ ตี 4 - 5 ก่อนจะเข้าสู่เช้าวันใหม่ คือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ หรือเบ็ณฑ์ธม (បិណ្ឌធំ) หรือภาษาไทยเรียก วันสารทใหญ่ ... 
         เมื่ออวยพรลูกหลานเสร็จแล้วก็ให้ไปวัดอีกครั้งหนึ่งเพื่อแห่ข้าวกระยาสารท หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า บายบัตตบูร หรือเบิดตะโบร(បាយបត្តបូរ) หรือบายตะเบิดตะโบร (បាយតបិត្តបូរ)​  และบายเบ็ณฑ์ (បាយបិណ្ឌ /หรือ បាយបិន)  พร้อมลูกหลานในตอนตี 4 - 5 ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จะก็จะได้ยินบ้านใกล้เรือนเคียงกู่เรียกกันเกรียวกราว  แล้วต่างก็ประคองภาชนะทั้งสองอย่างที่เตรียมไว้แล้วนั้นไปวัด   โดยไม่ลืมที่จะเรียกโฎนตา ตามไปวัดด้วย ว่า “โมเยอ โฎนตา เติว เวือต เติววา…..” 


       เมื่อไปถึงพร้อมหน้ากันแล้ว ประธานในพิธีก็จะประกาศบอกเริ่มพิธี   ทุกคนก็จะจุดเทียนปักในภาชนะของตน ไหว้พระรับศีลแล้วก็ทำพิธีประทักษิณด้วยการประคองภาชนะของตนแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วจึงถวายพระสงฆ์เฉพาะสิ่งของที่อยู่ในภาชนะนั้น    


       ส่วนกระทงเล็กๆ 20 - 30 กระทงนั้น เมื่อพระสวดมาติกาบังสุกุลและอนุโมทนาให้แล้วก็จะนำกลับไปใส่ตามหัวไร่ปลายนา  เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารต่อไป 
       หลังจากนั้นก็กลับมาเตรียมข้าวปลาอาหารไปใส่บาตรเลี้ยงพระที่วัด  ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของพิธี ในช่วงนี้ทางวัดเองก็จัดให้มีการสวดมาติกาบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้อดีตเจ้าอาวาสผู้มีคุณูปการต่อหมู่บ้าน ต่อชุมชนร่วมกับบรรพบุรุษท่านอื่นด้วยในคราวเดียวกัน  
        หลังจากเสร็จพิธีแล้ว   ก็จะเริ่มใส่บาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรตามลำดับ     ต่อจากนั้น พระสงฆ์ก็จะแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับความเป็นมาของเทศกาลสารท ตลอดจนอานิสงส์และโทษของการ จัดทำและไม่ได้จัดทำตามข้อตามที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นโดยสรุปแล้วในหัวข้อที่มาของศรัทธาอันมั่นคง เมื่อจบการแสดงธรรมเทศนาแล้วญาติโยมถวายปัจจัยไทยธรรมพระสงฆ์  แล้วพระสงฆ์ก็อนุโมทนาเป็นอันเสร็จพิธีการทางพระศาสนาเพียงเท่านี้    แต่ทางบ้านจะยังไม่เครื่องเซ่นไหว้ในวันนั้น    ผู้เฒ่าผู้แก่บอกให้ตั้งไว้ก่อนสัก 1 - 2 วันอ้างว่า ปู่ย่าบางท่าน  มาถึงหลังเพื่อนอาจจะยังต้องการข้าวปลาอาหารอยู่ก็ให้รอไปก่อน 



        หลังจากครบวันเวลาแล้วลูกหลานก็เตรียมส่งโฎนตากลับบ้าน   โดยการจัดกับข้าวธรรมดาเซ่นบอกให้ปู่ยาตายายกลับสู่สถานที่อยู่โดยให้นำเอาโรคาพยาธิต่างๆไปด้วย   ทิ้งไว้แต่ความเป็นสิริมงคล   ความสุข  ความเจริญวัฒนาถาวรให้แก่ลูกหลาน   แล้วก็นำเอาเสบียงอาหารส่วนหนึ่งใส่ลงในเรือให้ปู่ย่าตายายนำติดตัวไปด้วย   จากนั้น  จึงนำไปลอยน้ำตรงที่มีน้ำไหล   ส่วนเรือนั้นใช้กาบกล้วยหักมุมหัวท้ายคล้ายกระทงแล้วกรึงด้วยสลักไม้ไผ่  จัดทำหุ่นสมมุติวางไว้หัวท้ายแทน “โฎนตา” ก่อนจะปล่อยเรือลงน้ำก็จะจุดธูปเทียนปักไว้กลางลำเรือบอกกล่าว “โฎนตา” ให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ แล้วค่อยกลับมาพบลูกหลานใหม่ในปีต่อไปเป็นอันเสร็จพิธีการ“แซนโฎนตา”  โดยสมบูรณ์แต่เพียงเท่านี้

หมายเหตุ คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีแซนโฎนตา
พิธี  น. งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคลเป็นต้น เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา (ป., ส. วิธิ)​ ตรงกับคำภาษาขอมว่า ពិធី​​ อ่านว่า /ปิ-ที/


ขนบ  [ขะหฺนบ] น. แบบอย่าง, แผน, ระเบียบ (เป็นคำยืมจากภาษาขอมว่า ខ្នប់ อ่านว่า / คน็อบ /​​ แปลว่า  สิ่งที่อยู่ในห่อ/หีบห่อ ที่หมก)


ธรรมเนียม [ขะหฺนบทำ-] น. แบบอย่างที่นิยมกันมา ตรงกับคำภาษาขอมว่า ទំនៀម อ่านว่า /ตม-เนียม/  มักเขียนประกอบกันกับคำว่าขนบ เป็น “ขนบธรรมเนียม” ตรงกับคำภาษาขอมว่า ទំនៀមទម្លាប់​ อ่านว่า /ตม-เนียม-ตม-เลือบ/


ประเพณี  น. จารีตประเพณีที่วางเป็นระเบียบแบบแผนไว้แล้ว​ ตรงกับคำภาษาขอมว่า ប្រពៃណី​ อ่านว่า /ปรอ-เป็ย-นี/


จารีต [-รีด] น. ประเพณีที่ถือสืบต่อกันมานาน (ป. จาริตฺต; ส.​จาริตฺร)
ตรงกับคำภาษาขอมว่า​ ទំនៀមទម្លាប់​ อ่านว่า /ตม-เนียม-ตม-เลือบ/


จารีตประเพณี น. ประเพณีที่นิยมและประพฤติกันสืบมา ถ้าฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว ตรงกับคำภาษาขอมว่า​ ទំនៀមទម្លាប់ប្រពៃណី​ อ่านว่า /ตม-เนียม-ตม-เลือบ-ปรอ-เป็ย-นี​ /


แซน ก. ใส่โภชนาหารอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ หรือใส่กระยาบูชาเพื่อเซ่นไว้แล้วกล่าวบทสวดอ้อนวอนดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ หรือภูตผีปีศาจ ตรงกับคำภาษาขอมว่า​ សែនอ่านว่า /แซน​ /
โฎนตา น. ย่ายายและปู่ตา , บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ในคำภาษาขอมพบใช้ 2 คำ ได้แก่ คำว่า​ ដូនតាอ่านว่า /โดน-ตา​ /  และ បុព្វបុរស อ่านว่า /บุบ-เปียะ-โบะ-เราะฮฺ​ / น.บรรพบุรุษ
แซนโฎนตา น. การกระทำพลีกรรมสำหรับบุพเปรตซึ่งเป็นผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว สำหรับในทางพระพุทธศาสนาใช้พิธีกรรมการทำบุญทักษิณานุปทานกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลส่งไปให้บุพเปรตเหล่านั้น ส่วนลัทธิอื่นๆนอกเหนือจากพระพุทธศาสนา ใช้วิธีเซ่นกรวดน้ำส่งไปให้  ในคำภาษาขอมพบใช้ 3 คำ ได้แก่ คำว่า​ សែនដូនតា​ อ่านว่า /แซน-โดน-ตา​ / , បុព្វ​បេត​ពលី อ่านว่า /บุบ-เปียะ-เป-ตะ-ปลี​ /  และ បុណ្យភ្ជុំបិណ្ឌ​ อ่านว่า /บน-พจุม-เบ็น​ / บางครั้งอาจพบใช้คำ2 คำมารวมเข้าด้วยกันว่า បុណ្យភ្ជុំបិណ្ឌសែនដូនតា เป็นต้น

ฎาร น. หมายถึง การทำบุญอย่างหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา จัดเป็นบุญทักษิณานุปทาน ​โดยทายกจะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์สวดสตฺตบฺปกรณาภิธมฺม และติโรกุฑฺฑสูตฺร แล้วก็จะมีการทำบุญตักบาตร ต่อจากนั้นก็จะมีพิธีอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้บุพเปตบุคคลที่ได้ล่วงลับไปอยู่ยังปรโลกแล้ว ตรงกับคำในภาษาขอมขุขันธ์บ้านเรา ซึ่งจะออกเสียงพยัญชนะท้าย ร รัวๆ ว่า / ดาร*/ ตัวอย่างคำ เช่น ធ្វើបុណ្យដារ (ทำบุญฎาร) , និមន្តលោកដារ(นิมนต์พระสวดฎาร) เป็นต้น หรือจะอธิบายสั้นๆให้เข้าใจง่ายว่า ฎาร คือ ทำบุญอุทิศ/ทักษิณานุปทาน หรือ บังสุกุล ให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จัดเป็นพลีกรรมอย่างหนึ่ง เรียกว่า ปุพเปตพลี

บิณฑ น. ก้อนข้าว. (ป., ส. ปิณฺฑ) ,การปั้นเป็นก้อน,การเลี้ยงชีวิต ชนชาวขอมขุขันธ์ส่วนใหญ่ ใช้คำนี้เพื่อเรียก วิธีการทำกุศลทานอย่างหนึ่งตามประเพณีของท้องถิ่น ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำเดือนภัทรบทหรือภาษาขอมขุขันธ์ เรียก ខែបិណ្ឌ​ หรือ ខែបិន อ่านว่า /แค-เบ็น/ แปลว่า เดือนสิบ ถึงวันแรม 14/หรือ15ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งในช่วงนี้ ชาวบ้านทุกคนในท้องถิ่นอีสานใต้บ้านเรา ต่างพากันไปรวมตัวกันเพื่อทำบุญที่วัดมิได้ขาด ในคำภาษาขอมและภาษาเขมรพบใช้ได้แก่ คำว่า​ កាន់បិណ្ឌ​ อ่านว่า /กัน-เบ็น​ / ,ដាក់បិណ្ឌ​ อ่านว่า /ดัก-เบ็น​ / และ បាយបិណ្ឌ /หรือ បាយបិន​ อ่านว่า /บาย-เบ็น/​ เป็นต้น

             งานบุญประเพณีแซนโฎนตานั้น เป็นกิจกรรมหลักในช่วงเทศกาลสารทชาวขอมอีสานใต้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ
​​​        1) เบ็ณฑ์ตู๊จ (បិណ្ឌតូច​)​ หรือ วันสารทเล็ก ตรงกับวันขึ้น 14 หรือ 15 ค่ำเดือน 10 จะเป็นเพียงการการนำข้าว​ ของไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลบรรพบุรุษโฎนตาที่วัด ไม่มีการเซ่นผีปู่ตาที่บ้าน
       ​​ 2) เบ็ณฑ์ธม(បិណ្ឌធំ)​ หรือ วันสารทใหญ่ ตรงกับวันแรม 14 หรือ 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ชาวบ้านทุกครอบครัว ต้องมีการแซนไหว้บรรพบุรุษโฎนตาที่บ้าน และไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลบรรพบุรุษโฎนตาที่วัดใกล้บ้านกันทุกครอบครัวทุกปีมิได้ขาด

บายบตตฺบูร (ในภาษาขอมเขียนว่า បាយបត្តបូរ --บตตฺบูร - บา.,สํ) หรือภาษาขอมท้องถิ่นอีสานใต้ปัจจุบันต่างออกเสียงเพี้ยนมาเป็นคำว่า บายตะเบิดตะโบร (បាយតបិត្តបូរ)​ หรือ เบิตตะโบรฺ(បើតត្បូរ) คือ ข้าวที่ทายกทายิกาประเคนบำรุงพระภิกษุสงฆ์เพิ่มเติม​ เพราะเกรงว่าพระภิกษุสงฆ์ขาดแคลนภัตตาหารสำหรับฉัน เราสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ข้าวสำหรับทำบุญอุทิศให้วิญญาณบุพเปรตซึ่งได้ละจากโลกนี้ไปยังปรโลกแล้ว สำหรับภาษาขอมขุขันธ์บ้านเรา บางท่าน ให้คำนิยามคำนี้สั้นๆว่า “อาหารสำหรับถวายพระ” หรือ “ข้าวกระยาสารท” ก็ถือเป็นอันว่าพูดถึงเรื่องเดียวกัน สำหรับบายตะเบิดตะโบร ที่ชาวบ้านเรามักนิยมทำกันในปัจจุบัน คือ มีข้าวเหนียวนึ่ง หรือข้าวจ้าวหุงใส่ถ้วย เอาน่องไก่ย่างปักตรงกลาง ใช้กรวยใบตองครอบ ปักเทียน 1 เล่ม ใส่ปัจจัยเป็นเงินทำบุญลงไปตามความศรัทธา

បាយបិណ្ឌ /หรือ បាយបិន อ่านว่า /บาย-เบ็น/​ ​​​ ในสำหรับภาษาขอมขุขันธ์บ้านเราก็คือ ข้าวและอาหารสำหรับเซ่นอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้เปรตทั้งที่เป็นญาติของเรา หรือไม่ใช่ญาติของเราเพื่อให้ได้มารับเอาส่วนกุศลที่เราได้อุทิศ   บางท่าน ให้คำนิยามคำนี้สั้นๆว่า “ข้าวและสำรับเครื่องเซ่นไหว้อุทิศให้บรรพบุรุษ”


    สำหรับสาระสำคัญซึ่งเป็นที่มาของบายเบ็ณฑ์(បាយបិណ្ឌ /หรือ បាយបិន) นั้น ในตอนเย็น และตกดึกสงัด(ประมาณ 02.00 น.) ของวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ   หัวหน้าครัวเรือนหรือผู้ปกครองก็จะพาลูกลูกหลานมาจับ “บายเบ็ณฑ์ ”(បាយបិណ្ឌ /หรือ បាយបិន) ก็คือข้าวเหนียว​สุก หรือข้าวสุก 1 ถ้วยที่ หัวหน้าครอบครัวได้เตรียมไว้ บรรจงจับข้าวเหนียว​สุก หรือข้าวสุก เป็นก้อนเล็กๆ ใส่ลงในกระทงเล็กๆที่เตรียมไว้ให้ทุกคน โดยการขานชื่อญาติที่ล่วงลับไปแล้วทุกชื่อ พร้อมๆไปกับการหยิบข้าวเหนียว​สุก หรือข้าวสุกลงไปในกระทงทุกครั้ง  สำหรับเด็กๆก็เพียงแต่ให้จับข้าวเหนียว​สุก หรือข้าวสุกใส่ลงในกระทง แล้วให้ผู้ใหญ่เรียกชื่อแทน   ระหว่างนั้น ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้ปกครอง ก็จะกรวดน้ำบอกกล่าวอีกครั้งหนึ่ง   ให้ปู่ย่าตายายทั้งหลายมารับเอาผลานิสงฆ์ที่ลูกหลานได้ตั้งใจจัดทำให้ในครั้งนี้โดยทั่วกัน  เมื่อท่านได้รับแล้ว  ก็ขอให้ท่านจงอำนวยอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดีมีชัย   ปราศจากภัยพิบัติอันตรายทั้งปวง   จะประกอบกิจการงานใดก็ขอให้เจริญรุ่งเรือง    ปราศจากปัญหาอุปสรรค จะย่าตราไปทางทิศใดทั้งใกล้และไกลก็ขอให้ปลอดภัยในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อเทอญ

ผู้เรียบเรียง :
- นางจันทร จันทรชิต บ้านเลขที่ 456 หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 33140 โทร.(045-671152)
- นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ภาพประกอบจาก : นายบูรณะ โพธิ์อุดม เพจชุมชนฅนบ้านขนุน
พิมพ์และตรวจทาน :​ นายสุเพียร คำวงศ์  เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ โทร.098-5869569

บุญประเพณีแซนโฎนตา สารทแห่งความกตัญญูของชาวอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ(โดยสังเขป)

บุญประเพณีแซนโฎนตา เป็นหนึ่งในรากเหง้าสำคัญทางวัฒนธรรมและเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวสยามแถบอีสานใต้     ซึ่งแสดงออกถึงความรักสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกในวงศาคณาญาติ  ที่ร่วมกันแสดงความกตัญญูต่อบรรพรุษของตน  ซึ่งในภาษาขอมอีสานใต้ เรียกว่า โฎนตา​ ​(ដូនតា)ทั้งที่ยังคงมีชีวิต และที่ได้ล่วงลับไปแล้ว    ซึ่งบุญประเพณีแซนโฎนตา นั้น เริ่มต้นขึ้นในเดือนสิบของทุกปีมาแต่โบราณกาลและตรงกับวันสารทไทยของทุกปี
            คำว่า​ "บุญ" ในใบลานภาษาขุขันธ์จาร ว่า បុន​ หรือ  បុណ្យ​ส่วนคำว่า “แซนโฎนตา” ในภาษาขอมขุขันธ์ เขียนว่า សែនដូនតា อ่านว่า /แซน-โดน-ตา/ ส่วนที่ฝั่งประเทศกัมพูชาเรียกว่า ភ្ជុំបិណ្ឌ​ อ่านว่า /ปจุม-เบ็น/ จริงๆก็คือประเพณีอันเดียวกัน เพียงแต่ใช้ศัพท์เรียกแตกต่างกัน หรือบางครั้งก็เอาคำศัพท์ทั้งสองคำมารวมกันเป็น បុណ្យភ្ជុំបិណ្ឌសែនដូនតា อ่านว่า /ปจุม-เบ็น-แซน-โดน-ตา/ ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้สามารถสื่อถึงความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

            សែន/ แซน / แปลว่า การเซ่นไหว้ การอุทิศ หรือบวงสรวง  ส่วนคำว่า ដូនតា หรือ “โฎนตา” แปลว่า ปู่ย่าตายาย ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือบรรพบุรุษญาติพี่น้องที่ได้ล่วงลับไปแล้ว นั่นเอง  โดยชาวบ้านจะจัดให้มีบุญประเพณีแซนโฎนตาขึ้นทุกปี  ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง วันแรม 14 หรือ 15 ค่ำเดือนสิบ  โดยเฉพาะชาวบ้านในแถบจังหวัดอีสานใต้ เช่น ศรีสะเกษ  สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ฯลฯ  ซึ่งบุตรหลาน และญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพหรือตั้งถิ่นฐานที่อื่นไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ทั่วทุกสารทิศ จะเดินทางกลับมารวมญาติ  และมาทำบุญที่บ้านเกิดเพื่อทำพิธีแซนโฎนตา  ร่วมกันทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้บรรพบุรุษ และญาติของตนเองที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  นอกจากนี้ ใน่ช่วงประเพณีแซนโฎนตา ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทำความดีตามหลักพระพุทธศาสนาด้วยการทำบุญ  บริจาคทาน  รักษาศีล และฟังพระธรรมเทศนา  อันจะส่งผลให้จิตใจแจ่มใสปราศจากความเศร้าโศก   และสะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวเครือญาติที่จะได้ขอขมาในสิ่งที่ได้กระทำล่วงเกินกัน  และสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน

       เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษในบุญประเพณีแซนโฎนตา หรือ ภาษาขอมขุขันธ์ เรียกว่า ​“ซ็อมแณน แซนโฎนตา”  เขียนว่า សំណែនសែនដូនតា ซึ่งจะประกอบไปด้วยอาหารคาวหวาน  เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆ
       อาหารคาว  ได้แก่ ปลานึ่ง ปลาย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง  แกงวุ้นเส้น แกงกล้วย ลาบหมู  ต้มยำไก่และไก่นึ่ง ซึ่งเป็นไก่ทั้งตัวเอาเครื่องในออก
       อาหารหวาน ได้แก่ ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว หรือใบตอง ขนมเทียน ขนมนางเล็ด ขนมโกรจ(ขนมผลส้ม) ขนมฌูก(ขนมดอกบัว)  และข้าวกระยาสารท  
       เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำเปล่า และน้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ต่างๆ
       สำหรับ ผลไม้ ได้แก่ มะพร้าวอ่อน กล้วย ส้ม ละมุด พุทรา องุ่น เป็นต้น ผลไม้ที่สำคัญ ซึ่งขาดไม่ได้ในประเพณีนี้ก็คือ กล้วย นั่นเอง

   ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ประตูยมโลกจะเปิด และอนุญาตให้วิญญาณบรรพบุรุษเดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวบ้านจะพากันไปวัด  เพื่อประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเช่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังพระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา เป็นต้น   ในช่วง ๑ – ๒ วัน ก่อนจะถึงวันแรม ๑๔ - ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้เพื่อจัดทำพิธีแซนโฎนตาที่บ้าน รวมทั้งจัดทำอาหารคาวหวาน  เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆด้วย  แล้วรุ่งเช้าก็จะนำเอาไปทำบุญที่วัด และเป็นของฝากให้ญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้ชิดกัน เมื่อวิญญาณของบรรพบุรุษได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียนบุตรหลานบนโลกมนุษย์ พบเห็นข้าวปลาอาหาร ข้าวต้ม ขนมหวาน เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆที่ลูกหลานจัดเตรียมเซ่นไหว้ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อย่างอุดมสมบูรณ์ ต่างก็เกิดความปลื้มอกปลื้มใจ และรับเอาส่วนกุศลนั้นกลับไปด้วยและก่อนเดินทางกลับสู่ยมโลกเพื่อไปชดใช้กรรมที่ยังเหลืออยู่ โฎนตาเหล่านั้น ก็จะอำนวยอวยพรให้ลูกหลานประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ประสบความสำเร็จในชีวิต  ให้ทำมาค้าขึ้น และครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป

พระธรรมเทศนา ฉลองเบ็ณฑ์ (ឆ្លងបិណ្ឌ)
ภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์


 จังหวัดศรีสะเกษ โดยอำเภอขุขันธ์ ขอเชิญผู้สนใจทุกท่าน
ร่วมวัฒนธรรมบุญประเพณีแซนโฎนตา   ณ  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 
ได้ในระหว่างวันที่ตรงกับวันแรม  ๑  - ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี
หมายเหตุ

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2567

กำแพงเมืองขุขันธ์ในสมัยโบราณ

         การสร้างเมืองแต่โบราณ    เมื่อได้สร้างเมืองเสร็จ  ก็จะสร้างค่าย  คู  ประตู  หอรบ  และที่สำคัญก็คือ  กำแพงเมือง  เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะมารุกราน  สมัยนั้น เมืองขุขันธ์ คือ เมืองในเส้นทางการเดินทัพที่จะต้องเดินทางผ่านก่อนไปยังเมืองนครราชสีมา  กล่าวคือต้องผ่านเมืองขุขันธ์  สังขะ  สุรินทร์  และบุรีรัมย์ตามลำดับ  ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อ  ปี  พ.ศ. 2369  (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 3)  เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์เป็นกบฏจะยกทัพไปตีกรุงเทพมหานคร  ได้บัญชาให้เจ้าราชบุตร  แห่งนครจำปาศักดิ์  ได้นำทัพเข้าตีเมืองขุขันธ์แตก  ขณะนั้นเมืองขุขันธ์ตรงกับสมัยของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวบุญจันทน์)  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ 3

         สำหรับกำแพงเมืองขุขันธ์ในอดีตนั้น  นับตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ไม่เคยเห็นซากกำแพงเมืองที่ก่อด้วยอิฐตามที่เข้าใจเลย  จะมีก็แต่คูเมืองซึ่งล้อมรอบเขตเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์ทั้งสี่ด้าน   ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่า  ถนนคูเมือง  ซึ่งแต่ละด้านกว้างยาวด้านละเท่า ๆ กัน

          ประมาณปี พ.ศ. 2503  นายดี  สุขแจ้ง  อดีตกำนันตำบลห้วยเหนือ  สมัยนั้นท่านได้เกณฑ์ชาวบ้านทุกหมู่บ้านในเขตตำบลห้วยเหนือ  พัฒนาขุดแต่งถนนคูเมืองตามสภาพเดิม  เมื่อขุดลึกลงไปพอประมาณ   ทางฝั่งทิศใต้ของเขตเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์  ทางเข้าหมู่บ้านภูมิใต้ก็จะพบซากอิฐเรียงรายเป็นบางส่วนไปจนถึงหน้าวัดเขียน  ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่าเป็นทางเดินของพระยาขุขันธ์ไปนมัสการหลวงพ่อโตวัดเขียนบูรพาราม  จะเท็จจริงอย่างไรเป็นการเล่าต่อ ๆ กันมาเท่านั้น

          ปัจจุบันถนนคูเมืองรอบเมืองขุขันธ์ไม่ได้เหลือร่องรอยของคูเมืองให้ได้เห็นอีก  เนื่องจากความเจริญของบ้านเมืองถนนคูเมืองได้กลายเป็นถนนลาดยางไปแล้วในที่สุด

ขอบพระคุณผู้เขียน :
นายนพคุณ  ภักดีทวนทอง,2547.
ผู้ตรวจ/ทาน : นายสุเพียร  คำวงศ์,2556.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย