การเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก มีมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าพุทธศาสนาไปถึงยุโป กรีก ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ปรากฏหลักฐานว่า มีฝรั่งชาวกรีกมาบวชสมัยนั้นแล้ว ชื่อว่า พระธรรมรักขิต แต่พุทธศาสนามาได้รับความนิยมจริงๆ ในยุคล่าอาณานิคมเอเชีย โดยมีการขนวัตถุโบราณ ของสวย ของมีค่า คัมภีร์ ใบลาน ไปศึกษา หาความหมาย จนเกิดความสนใจในแง่เนื้อหาธรรมะ จึงทำให้พวกฝรั่งตะวันตกมีวิชา/แขนงหนึ่ง ที่เรียกว่า “พุทธศาสน์ศึกษา” เป็นการศึกษาพุทธศาสนาเชิงวิชาการ ไม่ใช่ในแง่ความเชื่อหรือศาสนา
ปี พ.ศ. 2373(ค.ศ.1830) เป็นช่วงที่มีการเริ่มขนหนังสือจากวัดเอเชีย ศึกษาภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาขอม ตลอดจนศึกษาคัมภีร์โบราณที่ขนจากซีกโลกตะวันออกไป มหาวิทยาลัยในยุโรปในสมัยนั้น เช่น อังกฤษ เริ่มสอนภาษาบาลีตั้งแต่ พ.ศ. 2424(ค.ศ.1881) มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ ในขณะนั้น ประเทศไทยตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ยังเป็นใบลานอยู่ หรือแม้แต่เยอรมันและออสเตรีย ก็มีการสอนภาษาบาลีแล้ว ซึ่งเริ่มมีการเรียนการสอนพุทธศาสน์ศึกษาในมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยนั้น แต่ในไทยการเรียนการสอนอยู่ภายใต้คณะปรัชญา/ศาสนา เพิ่งมาปรากฏคำว่า "พุทธศาสน์ศึกษา" เมื่อ 15-20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ฝรั่งใช้คำว่า "พุทธศาสน์ศึกษา" โดยตรง และศึกษาในเชิงวิชาการมานานแล้ว
ความต้องการอาจารย์สอนในยุโรปหรืออเมริกาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงหลังๆ มหาวิทยาลัยทั้งหลายต่างเห็นคุณค่าของศาสนามากขึ้น ยิ่งความคิดเรื่องศาสนศึกษาพัฒนาขึ้นในวงการศึกษา ทุกศาสนามีการเรียนการสอนขึ้น แต่ก็ขัดแย้งกับความเป็นจริงของสังคม ด้วยว่าพอวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าหรือมีความเจริญก้าวหน้าของโลก ศาสนาอื่นไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เช่น โลกร้อน โรคเครียดซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ศาสนาอื่นไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่ฝรั่งกลับมาเจอคำตอบในพุทธศาสนา ทำให้ในวงการศึกษา พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาที่ศึกษาแบบกว้างขวาง ไม่ได้ศึกษาในเชิง “ศาสน์” ไม่ได้ศึกษาในเชิงความเชื่อหรือปรัชญา แต่ศึกษาในเชิง “ศาสตร์” หรือองค์ความรู้ ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำและมหาวิทยาลัยทั่วไป ถ้าไม่มีการเรียนการสอนพุทธศาสนา ก็เสียรายได้และกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย เพราะทุกมหาวิทยาลัย นักศึกษาแสวงหาคอร์สนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยในอเมริกาเริ่มเปิดคอร์สพวกนี้ มีการวิจัย และเขียนตำรามากขึ้น
เพราะความขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ในพุทธศาสนา และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เขาได้ในภาษาที่เขารู้เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะบางทีพวกเราอาจมีความรู้ในทางพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีศิลปะในการถ่ายทอด และวิธีการถ่ายทอดติดรูปแบบไทยหรือเอเชีย ซึ่งระบบการศึกษาของฝรั่งรับไม่ได้ เราติดในแง่ศรัทธานำ แต่ฝรั่งไม่เอาศรัทธานำ เขาเอาศรัทธาเป็นตัวท้าย ศรัทธาเกิดขึ้นเอง หลังจากศึกษาจนเกิดผลสัมฤทธิ์แล้ว เขาเริ่มจากความสงสัยและความท้าทาย คือ มาจากปัญญา และเมื่อศึกษาแล้วปฏิบัติตามได้ จึงกลายเป็นความศรัทธาเกิดขึ้น เมื่อความต้องการมีมาก ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดคอร์สพุทธศาสน์ศึกษามากมาย เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด , มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด , มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ , มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็มีภาควิชาพุทธศาสน์ศึกษา และล่าสุดประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทในมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการจัดตั้งศูนย์ที่เจาะลึกเถรวาท และนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าในการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก
พุทธศาสนาเจริญในโลกตะวันตก
สาเหตุที่ศาสนาพุทธไปเจริญในต่างประเทศ เพราะเขาไม่ได้เรียนพุทธศาสนาเพื่อไปเป็น “พุทธ” ฝรั่งบอกว่าเรียนพุทธศาสนาเพื่อเป็น “คริสต์ที่ดี” เป็น “มุสลิมที่ดี” อย่างมุสลิม เขาบอกว่าเรียนพุทธศาสนาแล้วทำให้เป็นมุสลิมที่ดี พวกคริสต์เรียนพุทธศาสนา ก็เป็นคริสต์ที่ดี จนปัจจุบันในบริบทอเมริกาเกิดชื่อกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นว่า Jubu(Jewbu) หรือ Jewish Buddhist คือในแง่ของพิธีกรรมยังเป็นยิวอยู่ แต่วิธีคิดวิธีดำเนินชีวิตเป็นพุทธ เช่นเดียวกับในหมู่คริสต์ เกิดคำว่า ChristBu ในแง่พิธีกรรมก็ยังทำตามคริสต์ไป แต่การปฏิบัติหรือการคิดเป็นแบบพุทธ
ฝรั่งคิดว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญา?
หลายศาสนาเป็นแค่ปรัชญา แต่พุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา ความรู้วิทยาศาสตร์ยังขึ้นอยู่กับกาลเวลา แต่พุทธศาสนาเป็นสัจธรรมที่ไม่มีเงื่อนไขของกาลเวลา พิสูจน์ได้ตลอดเวลา ปฏิบัติได้ และเมื่อปฏิบัติแล้ว รู้ได้ด้วยตัวเอง ชาวตะวันตกตื่นเต้นกับพุทธศาสนามาก จึงมีการเรียนการสอนพุทธศาสนามาก แต่พวกเราชาวพุทธหรือชาวเอเชียพอเห็นเขาศึกษาก็ตื่นเต้น ฮือฮาว่าเขาจะมาเป็นพุทธ ซึ่งไม่ใช่ ที่เขาศึกษาไม่ได้จะไปเป็นชาวพุทธ แต่ศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน ฝรั่งใช้ทุกวิทยาการที่มีอยู่เพื่อพิสูจน์ ยิ่งพิสูจน์ยิ่งปฏิเสธไม่ออก ยิ่งพิสูจน์ยิ่งเจอเพชร เช่น เมื่อ 10 ปีก่อน องค์การอนามัยโลก(WHO) ศึกษาวิจัยทั่วโลกว่า พัฒนาการของโลกในอนาคตเป็นอย่างไร และมีโรคใดบ้าง เพื่อดักปัญหาได้ถูก ปรากฏว่าโรคร้ายแรงที่สุดในปีค.ศ.2020 ไม่ใช่มะเร็งหรือเอดส์ แต่กลายเป็นโรคเครียด เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ฝรั่งพยายามค้นคว้ายาเพื่อแก้ไข แต่พบว่า “ยา” รักษาโรคเครียดได้แค่ชั่วคราว เพราะความเครียดเกิดจากวิถีชีวิตที่เราสร้างขึ้น
ต่อมา ชาวตะวันตกที่ศึกษาพุทธศาสนา ก็เลยทดลองใช้วิธี “การเจริญสติ(mindfulness)” จนตอนนี้ทางการแพทย์พัฒนาขึ้นเรียกว่า “MBCT” หรือ “Mindfulness-based Cognitive Therapy” คือการบำบัดจิตบนพื้นฐานของการเจริญสติ หรือการบำบัดจิตแก้ไขเรื่องความเครียด ตอนนี้วงการแพทย์ใช้การเจริญสติเป็นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง พอทดลองด้วยการเจริญสติ ปรากฏว่าสามารถแก้ไขโรคต่างๆ หายเป็นปลิดทิ้ง ทั้งโรคจิต โรคเครียด โรคมะเร็ง สารพัดโรคหายหมด ด้วยเหตุนี้เขาจึงศึกษาลึกลงไปว่าทำไมแค่การนั่งสมาธิถึงสามารถแก้ไขในสิ่งที่ “ยา” แก้ไขไม่ได้ พบว่า “change your mind, change your brain” คือ ฝึกจิตแล้วเปลี่ยนสมองได้ ด้วยเหตุนี้ทางวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาคำว่า “จิต(mind)
ฝรั่งไม่มีคำว่า mind มีแต่ soul (อัตตา/ตัวตน) แต่พุทธศาสนาเชื่อว่า ไม่มีตัวตน แต่มีจิต(mind) ที่สามารถบังคับตัวตนให้เป็นไปในสิ่งที่เราต้องการได้ จิตเป็นสิ่งใหม่สำหรับฝรั่ง แต่ของเราพูดถึงจิตมากว่า 2,500 ปีแล้ว เรารู้ว่าตัวตน(soul)ดำเนินตามจิต พอฝรั่งมาเจอจิต คือการรับรู้ทางพุทธศาสนา นั่นคือ ใช้อายตนะไปกระทบกับสิ่งข้างนอกแล้วเราทำปฏิกิริยากับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจหรือมีตัว “ปัญญา” มาก ปฏิกิริยาต่อสิ่งนั้นก็ออกมาในทางฉลาด แต่ถ้าเราปัญญาน้อย เราก็จะกลายเป็นเหยื่อกับสิ่งที่มากระทบ นี่คือสิ่งที่พุทธศาสนาสอนมานานแล้ว
พุทธศาสนาจึงกลายเป็นวิชาพื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียน เมื่อเราถามนักศึกษาว่า “ทำไมพวกคุณถึงคลั่งวิชาพุทธศาสนากันมาก” เขาตอบว่า “วิชานี้ขาดไม่ได้เลย ถ้าขาดวิชานี้ ทำอะไรไม่ได้” ดังเช่น ฝรั่งที่เรียนวิชาเอกจิตวิทยา บอกว่าถ้าไม่ได้เรียนพุทธศาสนา เท่ากับไม่รู้เรื่องจิตวิทยาเลย ตอนนี้กลายเป็นว่านักศึกษาที่เรียนวิชาทางแพทย์ ก็ต้องมาเรียนวิชาพุทธศาสน์ศึกษานี้เป็นพื้นฐานก่อน ถ้าไม่ได้เรียน เท่ากับวิชาอื่นๆ ที่เรียนอยู่ไม่สมบูรณ์
โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในตะวันตกสอนพุทธศาสนากันหมด?
โรงเรียนรัฐในอเมริกาสอนกันหมด เช่น เวสโคสท์เฉพาะที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีโรงเรียนรัฐประมาณ 200-300 โรงเรียน ปรากฏว่า ทุกโรงเรียนสอนกันหมด เขาสอนเจริญสติ(mindfulness) ตั้งแต่ระดับอนุบาล แต่บางที่เกรงว่าผู้ปกครองจะเข้าใจผิดว่าจะไปล้างสมอง เลยเลี่ยงไปใช้คำว่า “secular mindfulnesss” เพราะถ้าใช้แค่คำว่า “mindfulness” ยังมีโทนศาสนา ฝรั่งจึงพยายามบอกผู้ปกครองว่าเป็น mindfulness ทางโลก ความจริงสอนเหมือนพุทธศาสนา เพียงแต่ถ้าไปบอกว่าเป็นพุทธศาสนา เขาจะคิดว่ามีความเชื่องมงายเข้าไปด้วย ฝรั่งเลยพยายามเลี่ยงตรงนี้ และถ้าใช้คำที่กว้างกว่านี้ คือ Mindful Awareness(สติสัมปชัญญะ) เพียงแค่สติ(ความจำ)อย่างเดียว ไม่พอ แต่ต้องมีเงาของสติ คือ สัมปชัญญะ(ความรู้ตัว ) ด้วย ก็ยิ่งจะดีมาก
การสอนในระดับอนุบาล วิธีการสอนให้เด็กนอน ครูเอาตุ๊กตาวางที่อก แล้วให้เด็กดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับตุ๊กตา เด็กเห็นว่าขยับขึ้นลงเมื่อเราหายใจเข้า-ออก คือของฝรั่งไม่ได้บอกว่าหายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” แต่ให้ดูสภาพตรงนั้น หรือให้ดูที่ท้อง คือเอาเวทนานุปัสสนามาพัฒนาให้เด็กเรียน หรือถ้าเด็กซน วิธีการสอนก็ให้เด็กนั่งล้อมวง ครูตีกลองแล้วบอกว่าถ้าหยุดเมื่อไร ที่เต้นอยู่ท่าไหนก็ต้องหยุดท่านั้น เด็กทุกคนก็เต้น แต่ในขณะเดียวกันหูฟัง แล้วพอหยุดเสียงกล้อง ก็หยุดในท่านั้น นี่คือการฝึกเรื่อง “รู้ตัว” หรือไม่ก็ให้เด็กนั่งวงล้อม ครูตีระฆังแล้วบอกว่าถ้าใครไม่ได้ยินก็ให้ยกมือขึ้น เราจะเห็นว่าเด็กแต่ละคนได้ยินเสียงไม่เท่ากัน ความละเอียดของเสียงระฆังที่ค่อยๆ หายไปของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เป็นการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ ฝึกให้เด็กจดจ่อโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการนั่งสมาธิ หลังเข้าคอร์ส มีการสัมภาษณ์พ่อแม่ว่าเด็กเป็นอย่างไรบ้าง พ่อแม่บอกว่าตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องของศาสนา เลยกลัว ไม่อยากให้ลูกเรียน แต่พอลูกได้เรียนแล้ว รู้สึกสุดยอดมาก อย่างตอนที่ทะเลาะกับสามี กลายเป็นลูกที่บอกว่าให้ไปนั่งสมาธิ หรือบางคราวลูกบอกว่า ‘อย่าโกรธ ให้นับหายใจ 1,2,3 แล้วจะหายโกรธ’ คือ กลายเป็นเด็กสอนพ่อแม่ในที่สุด นั่นเอง
ต่อมาเกิดวิชา Buddhism and Globalization คือ วิชาพุทธศาสนากับโลกาภิวัตน์ ยุคนั้นยังไม่เคยมีวิชานี้ แต่พอมาปี พ.ศ. 2546 - 2547(ค.ศ.2003-2004) วิชานี้มีอยู่ทั่วโลกแล้ว แต่ตอนนั้นยังเป็นวิชาใหม่ เป็นหลักสูตรพุทธศาสนาระดับสูง เป็นการประยุกต์พุทธศาสนา คือ มองโลกเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีผ่านเลนส์พุทธศาสนา....
|
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) |