-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

การใช้ศักราชในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน : พ.ศ. ไทย กับ กัมพูชา ทำไมจึงต่างกัน ?

           พุทธศักราช (พ.ศ.) ประเทศไทยเริ่มใช้พุทธศักราชในหมู่คณะสงฆ์ ก่อนที่รัชกาล 6 จะโปรดเกล้าฯให้นำมาใช้แทน ร.ศ. ปีพุทธศักราชของไทย ถือกำเนิดโดยให้วันปรินิพพานเป็นปี พ.ศ. 0 แต่ที่ประเทศศรีลังกา พม่า ลาว และกัมพูชา นับ พ.ศ.มากกว่าประเทศไทยไป 1 ปี กล่าวคือ นับเอาวันปรินิพพานเป็นปีที่ 1 นั่นเอง

           คริสต์ศักราช (ค.ศ.) เริ่มนับเอาตั้งแต่ปีที่พระเยซูคริสต์เกิดเป็น ค.ศ. 1 ซึ่งเวลานั้น พ.ศ. มีมาแล้วนับได้ 543 ปี ดังนั้นวันคริสต์มาสในปี 2001 จึงครบรอบวันสมภพ 2000 ปี โดยมีวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่

           มหาศักราช (ม.ศ.) หรือที่ชาวอินเดียเรียกว่า ศกาพทะ หรือ ศาลิวาหนกาล แปลว่า ปีของชาวศกะ (Scythian) เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเจ้าศาลิวาหนะ หรือบางตำนานเรียกว่า พระเจ้ากนิษกะ แห่งศกราชวงศ์ ทรงมีชัยชนะเหนือแคว้นโดยรอบ เป็นมหาศักราชที่ 1 มีวิธีการนับวันเดือนปีจะเป็นไปตามสุริยคติ โดยวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เกิดหลังพุทธศักราช 621 ปี
           จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นการนับเดือนปีเป็นแบบทางจันทรคติ เริ่มนับ จ.ศ. 1 เมื่อปี พ.ศ. 1182 โดยนับเอาวันที่พระบุพโสระหัน สึกออกจากการเป็นพระมาเพื่อชิงราชบัลลังก์เป็นวันแรกของศักราช ในสมัยโบราณถือตามสุริยคติ (คัมภีร์สุริยยาตร์) ใช้วันเถลิงศก (ปัจจุบันตกราว 16 เมษายน) เป็นวันปีใหม่ แต่ต่อมาเนื่องจากเดือน 5 ไทยเราจะไปตรงกับเดือนจิตรามาสอันเป็นเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติทางชมพูทวีป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าให้ถือตามจันทรคติ คือใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติและให้เป็นวันเปลี่ยนนักษัตรด้วย แต่ยังคงเปลี่ยนปีจุลศักราชในวันเถลิงศก
           รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 108 โดยถือเอาปีที่ตั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง เป็นปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 และใช้อยู่จนถึง ร.ศ. 131 เป็น ร.ศ. สุดท้าย หรือเพียง 23 ปี ก็เลิกใช้ไป เพราะเห็นว่าไม่สะดวกในการอ้างอิงปีในประวัติศาสตร์ เช่น กล่าวว่า ไทยเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปีที่ 15 ก่อน ร.ศ. เป็นต้น

           ปัจจุบันนี้ มีเพียง ประเทศไทย ประเทศเดียวเท่านั้น ที่ใช้ปีพุทธศักราชในทางราชการ และเป็นปีในทางศาสนาควบคู่ไปด้วย โดยเปลี่ยนพุทธศักราชในวันแรกของเดือนมกราคม

           ศรีลังกา ใช้ปีคริสตศักราช เป็นปีราชการ และใช้ปีพุทธศักราช เป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันวิสาขบูชา

           พม่า ใช้ปีจุลศักราชหรือเมียนม่าศักราช เป็นปีราชการ และใช้ปีพุทธศักราช เป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันวิสาขบูชา แต่ในสื่อสิ่งพิมพ์และความนิยมของประชาชน จะใช้จุลศักราชควบคู่กับคริสตศักราช

           ลาว ใช้ปีคริสตศักราช เป็นปีราชการ และใช้ปีพุทธศักราช เป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันสงกรานต์

           กัมพูชา ใช้ปีคริสตศักราช เป็นปีราชการ และใช้ปีพุทธศักราช เป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันสงกรานต์




           สรุปแล้ว การเริ่มต้นนับ พ.ศ.ของประเทศไทย จะไม่เหมือนกันกับที่ประเทศเพื่อนบ้าน(ประเทศศรีลังกา  พม่า ลาว และประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะที่กัมพูชา ซึ่งเริ่มต้นนับตั้งแต่ภายหลังวันที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 1 วัน กล่าวคือ หลังวันขึ้น 15 ค่ำเดือนหก ซึ่งก็ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนหก)  เพราะประเทศไทย จะเริ่มนับ พ.ศ. 1 ภายหลังจากวันที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี นั่นคือ ปีแรกนับเป็น พ.ศ. 0 (ศูนย์) เมื่อครบ 1 ปี จึงเริ่มนับ พ.ศ. 1 นั่นเอง

เกณฑ์การเปรียบเทียบศักราชต่างๆเพื่อเทียบเป็นปีพุทธศักราช
1. ถ้าพบว่าเป็น "มหาศักราช" ให้เอา 621 บวก
2. ถ้าพบว่าเป็น "จุลศักราช" ให้เอา 1181 บวก
3. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชรัตนโกสินทร์" ให้เอา 2324 บวก
4. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชจุฬามณี" หรือ " ศักราชกฏหมาย" ให้เอา 258 ลบ ผลลัพธ์เป็นจุลศักราช แล้วจึงเปลี่ยน "จุลศักราช" เป็น พุทธศักราช
5. ถ้าพบว่าเป็น " คริสตศักราช" ให้เอา 543 บวก

ขอบคุณที่มา : 
- ความรู้เรื่องศักราชที่ใช้ในหนังสือไทย (สนง.วัฒนธรรมแห่งชาติ)
- ภาพประกอบจากเฟสบุก Cheng Nary

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

ชนชาติพันธุ์ของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

         ชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมของเมืองขุขันธ์ ในอดีตประกอบด้วย 4 ชนชาติพันธุ์ ได้แก่ เขมร กูย(กวย) ลาว และเยอ แต่ต่อมาเมื่อทางการได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยแบ่งพื้นที่เดิมของเมืองขุขันธ์ออกเป็นเมือง( เมืองศีร์ษะเกษ ,เมืองมโนไพร หรือมลูไพร จ.พระวิหาร, เมืองอุทุมพรพิสัย(หรือบ้านกันตวด จ.พระวิหาร) , เมืองกันทรรักษ์(ตำบลห้วยลำแสนไพรอาบาล จ.พระวิหาร และเมืองเดชอุดม นอกจากนี้อาณาเขตของเมืองขุขันธ์ ในอดีต ยังครอบคลุมถึงเขตอำเภอเดชอุดม อำเภอบุณฑริก ซึ่งรวมพื้นที่ของอำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันนี้ด้วย ) จนวิวัฒน์ลงมาเป็นอำเภอในปัจจุบัน ทำให้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วยชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมเหลืออยู่เพียง 3 ชนชาติพันธุ์ ได้แก่ เขมร กูย(กวย) และลาว ดังในข้อมูลผลการสำรวจชนชาติพันธุ์และการพูดภาษาถิ่นส่วนใหญ่ รายตำบลในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559 ดังนี้


ชาวเมืองขุขันธ์ ได้แก่ ชนชาติพันธุ์ ใดบ้าง ?

         เมืองขุขันธ์ ในปัจจุบันเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ชนชาติพันธุ์ในอำเภอขุขันธ์ส่วนใหญ่ ได้แก่ เขมร กูย และลาว ซึ่งเป็นชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม  แต่ถ้าสำรวจนับจริงๆ แล้วประกอบด้วย 6 ชนชาติพันธุ์ ดังนี้
         – ชนชาติพันธุ์เขมร มีจำนวน 189 หมู่บ้าน
         – ชนชาติพันธุ์กูย มีจำนวน 45 หมู่บ้าน
         – ชนชาติพันธุ์ลาว มีจำนวน 42 หมู่บ้าน
         – ชนชาติพันธุ์เยอ พบอาศัยอยู่กับเขมร กูย และลาว
         – ชนชาติพันธุ์จีน และ ชนชาติพันธุ์แกว ซึ่งส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ในตัวอำเภอขุขันธ์และบางตำบลของอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

       ชนชาติพันธุ์ ทั้ง 6 ชนชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาเนินนาน ซึ่งแต่ละชนชาติพันธุ์ก็มีแนวปฏิบัติในวิถีชีวิตการดำรงชีวิต ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่ชาวขุขันธ์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และหนึ่งในกิจกรรมงานบุญประเพณีอันแสดงออกถึงพลังแห่งความสมัครสมานสามัคคี และความกตัญญูของชาวเมืองขุขันธ์ คือ บุญประเพณีแซนโฎนตา ซึ่งจัดให้มีขึ้นในเดือน 10 ของทุกปี จนเป็นเทศกาลประจำปีของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ


หมายเหตุ
ชนชาติพันธุ์กูย อำเภอขุขันธ์ แบ่งกลุ่มตามศัพท์สำเนียงพูดที่คล้ายกัน ออกเป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ๆ ดังนี้
1. กลุ่มกูยกระโพธิ์ (​ កួយកា័លពោធិ៍ )ได้แก่ ตำบลจะกง ,ตะเคียน ,ดองกำเม็ด,ตาอุด,ลมศักดิ์ ,กันทรารมย์ และหนองฉลอง
2. กลุ่มกูยปรือใหญ่​ ( កួយកោះពឺត ) ได้แก่ ตำบลปรือใหญ่ ,นิคมพัฒนา และศรีตระกูล

ผู้เรียบเรียง 
นายสุเพียร  คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์(29/4/2561)

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

ศาลจังหวัดขุขันธ์ เคยมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2458 ในรัชสมัย ร.6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ขอบคุณภาพถ่ายจากหน้าเวปฯศาลจังหวัดศรีสะเกษ
http://www.sskc.coj.go.th/
        ศาลจังหวัดขุขันธ์ เคยถูกตั้งขึ้นครั้งแรก และเริ่มรับฟ้องบังคับอรรถคดีตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2458 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีอำนาจรับฟ้องพิพากษาคดีแพ่งและดีอาญาได้ตลอดอาณาเขตในท้องที่ได้ ตามพระธรรมนูญศาลหัวเมือง รัตนโกสินทรศก 127 โดยมีนายกิม เสง เนติบัณฑิตเป็นผู้พิพากษา และนายช่วง เป็นผู้พิพากษารอง (1) 
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๕๐ 
        แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2481 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 มีการเปลี่ยนนาม โดยให้เปลี่ยนนามจังหวัดขุขันธ์ เป็นจังหวัด ศีร์ษะเกษ ตามพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 ซึ่งเน้นเปลี่ยนแต่นามจังหวัดขุขันธ์ เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น จังหวัดอื่นๆนอกนั้นเปลี่ยนแต่นามอำเภอบางแห่ง(2) 

       และเมื่อได้มีการเปลี่ยนนามจังหวัดขุขันธ์ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2481 จึงได้มีประกาศกระทรวงยุตติธรรม เรื่องเปลี่ยนนามศาลจังหวัดขุขันธ์ เป็นศาลจังหวัดศีร์ษะเกษ ในที่สุด(3) ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ศาลจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน ก็คือ ศาลจังหวัดขุขันธ์ในอดีต นั่นเอง
บริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอขุขันธ์เมื่อปี พ.ศ. 2483
ขณะกำลังมีการจัดงานประเพณีสำคัญของอำเภอขุขันธ์

เอกสารอ้างอิง
(1) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 32 หน้า 148 วันที่ 8 สิงหาคม 2458 ประกาศตั้งศาลจังหวัดขุขันธ์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/A/148.PDF
(2) พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/A/658.PDF
(3) ประกาศกระทรวงยุตติธรรม เรื่องเปลี่ยนนามศาลจังหวัดขุขันธ์ เป็นศาลจังหวัดศีร์ษะเกษ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/2831.PDF

หมายเหตุ
- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์
- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ย้ายเฉพาะศาลากลางเมืองขุขันธ์ จากที่ตั้งเดิม(อำเภอเมืองขุขันธ์) ไปตั้งบริเวณศาลากลางเมืองศีร์ษะเกษ แต่ยังคงใช้ชื่อ ศาลากลางเมืองขุขันธ์  ส่วนพื้นที่อำเภอเมืองขุขันธ์ยังอยู่ที่ตั้งเดิม
- ปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ยุบเมืองศรีสะเกษและเมืองเดชอุดม โดยให้อำเภอที่ขึ้นกับเมืองทั้งสองไปขึ้นกับเมืองขุขันธ์

- ปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ ประกาศตั้งศาลจังหวัดขุขันธ์ ในเมืองขุขันธ์ ก่อนเปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์ เป็น จังหวัดขุขันธ์

- ปี พุทธศักราช ๒๔๕๙ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดขุขันธ์

- ปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองขุขันธ์ เป็น อำเภอห้วยเหนือ คลิก
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดศีร์ษะเกษ เปลี่ยนชื่อ อำเภอห้วยเหนือ เป็นชื่อ อำเภอขุขันธ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ประเทศของเราเดิมชื่อ ประเทศสยาม เปลี่ยนชื่อมาเป็น ประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482/ค.ศ.1939 (หรือ 78 ปีมาแล้ว นับถึงปี พ.ศ. 2560) รัฐบาลของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (ต่อมาสถาปนาเป็นจอมพล ป. ซึ่งเป็นปีกขวาของ “คณะราษฎร” และเป็นผู้พัฒนาให้เกิด “ระบอบอํามาตยาธิปไตย/อํานาจนิยมอันมีบรรดาจอมพล และพลเอกเป็นผู้นํา”) ได้ประกาศ “รัฐนิยม” ให้เปลี่ยนนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย และ Siam เป็น Thailand” โดยให้เหตุผลด้วยหลักการของ “ลัทธิเชื้อ-ชาตินิยม” ว่า “รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมให้ใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชน” ...


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย