ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

การใช้ศักราชในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน : พ.ศ. ไทย กับ กัมพูชา ทำไมจึงต่างกัน ?

           พุทธศักราช (พ.ศ.) ประเทศไทยเริ่มใช้พุทธศักราชในหมู่คณะสงฆ์ ก่อนที่รัชกาล 6 จะโปรดเกล้าฯให้นำมาใช้แทน ร.ศ. ปีพุทธศักราชของไทย ถือกำเนิดโดยให้วันปรินิพพานเป็นปี พ.ศ. 0 แต่ที่ประเทศศรีลังกา พม่า ลาว และกัมพูชา นับ พ.ศ.มากกว่าประเทศไทยไป 1 ปี กล่าวคือ นับเอาวันปรินิพพานเป็นปีที่ 1 นั่นเอง

           คริสต์ศักราช (ค.ศ.) เริ่มนับเอาตั้งแต่ปีที่พระเยซูคริสต์เกิดเป็น ค.ศ. 1 ซึ่งเวลานั้น พ.ศ. มีมาแล้วนับได้ 543 ปี ดังนั้นวันคริสต์มาสในปี 2001 จึงครบรอบวันสมภพ 2000 ปี โดยมีวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่

           มหาศักราช (ม.ศ.) หรือที่ชาวอินเดียเรียกว่า ศกาพทะ หรือ ศาลิวาหนกาล แปลว่า ปีของชาวศกะ (Scythian) เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเจ้าศาลิวาหนะ หรือบางตำนานเรียกว่า พระเจ้ากนิษกะ แห่งศกราชวงศ์ ทรงมีชัยชนะเหนือแคว้นโดยรอบ เป็นมหาศักราชที่ 1 มีวิธีการนับวันเดือนปีจะเป็นไปตามสุริยคติ โดยวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เกิดหลังพุทธศักราช 621 ปี
           จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นการนับเดือนปีเป็นแบบทางจันทรคติ เริ่มนับ จ.ศ. 1 เมื่อปี พ.ศ. 1182 โดยนับเอาวันที่พระบุพโสระหัน สึกออกจากการเป็นพระมาเพื่อชิงราชบัลลังก์เป็นวันแรกของศักราช ในสมัยโบราณถือตามสุริยคติ (คัมภีร์สุริยยาตร์) ใช้วันเถลิงศก (ปัจจุบันตกราว 16 เมษายน) เป็นวันปีใหม่ แต่ต่อมาเนื่องจากเดือน 5 ไทยเราจะไปตรงกับเดือนจิตรามาสอันเป็นเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติทางชมพูทวีป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าให้ถือตามจันทรคติ คือใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติและให้เป็นวันเปลี่ยนนักษัตรด้วย แต่ยังคงเปลี่ยนปีจุลศักราชในวันเถลิงศก
           รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 108 โดยถือเอาปีที่ตั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง เป็นปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 และใช้อยู่จนถึง ร.ศ. 131 เป็น ร.ศ. สุดท้าย หรือเพียง 23 ปี ก็เลิกใช้ไป เพราะเห็นว่าไม่สะดวกในการอ้างอิงปีในประวัติศาสตร์ เช่น กล่าวว่า ไทยเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปีที่ 15 ก่อน ร.ศ. เป็นต้น

           ปัจจุบันนี้ มีเพียง ประเทศไทย ประเทศเดียวเท่านั้น ที่ใช้ปีพุทธศักราชในทางราชการ และเป็นปีในทางศาสนาควบคู่ไปด้วย โดยเปลี่ยนพุทธศักราชในวันแรกของเดือนมกราคม

           ศรีลังกา ใช้ปีคริสตศักราช เป็นปีราชการ และใช้ปีพุทธศักราช เป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันวิสาขบูชา

           พม่า ใช้ปีจุลศักราชหรือเมียนม่าศักราช เป็นปีราชการ และใช้ปีพุทธศักราช เป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันวิสาขบูชา แต่ในสื่อสิ่งพิมพ์และความนิยมของประชาชน จะใช้จุลศักราชควบคู่กับคริสตศักราช

           ลาว ใช้ปีคริสตศักราช เป็นปีราชการ และใช้ปีพุทธศักราช เป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันสงกรานต์

           กัมพูชา ใช้ปีคริสตศักราช เป็นปีราชการ และใช้ปีพุทธศักราช เป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันสงกรานต์




           สรุปแล้ว การเริ่มต้นนับ พ.ศ.ของประเทศไทย จะไม่เหมือนกันกับที่ประเทศเพื่อนบ้าน(ประเทศศรีลังกา  พม่า ลาว และประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะที่กัมพูชา ซึ่งเริ่มต้นนับตั้งแต่ภายหลังวันที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 1 วัน กล่าวคือ หลังวันขึ้น 15 ค่ำเดือนหก ซึ่งก็ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนหก)  เพราะประเทศไทย จะเริ่มนับ พ.ศ. 1 ภายหลังจากวันที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี นั่นคือ ปีแรกนับเป็น พ.ศ. 0 (ศูนย์) เมื่อครบ 1 ปี จึงเริ่มนับ พ.ศ. 1 นั่นเอง

เกณฑ์การเปรียบเทียบศักราชต่างๆเพื่อเทียบเป็นปีพุทธศักราช
1. ถ้าพบว่าเป็น "มหาศักราช" ให้เอา 621 บวก
2. ถ้าพบว่าเป็น "จุลศักราช" ให้เอา 1181 บวก
3. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชรัตนโกสินทร์" ให้เอา 2324 บวก
4. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชจุฬามณี" หรือ " ศักราชกฏหมาย" ให้เอา 258 ลบ ผลลัพธ์เป็นจุลศักราช แล้วจึงเปลี่ยน "จุลศักราช" เป็น พุทธศักราช
5. ถ้าพบว่าเป็น " คริสตศักราช" ให้เอา 543 บวก

ขอบคุณที่มา : 
- ความรู้เรื่องศักราชที่ใช้ในหนังสือไทย (สนง.วัฒนธรรมแห่งชาติ)
- ภาพประกอบจากเฟสบุก Cheng Nary

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย