-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การถวายสังฆทานทั่วไปและสังฆทานอุทิศ

สังฆทาน
      เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการถวายสังฆทาน จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง ดังนี้   การถวายสังฆทานนั้น สามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งปี เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ที่บ้านก็สามารถทำได้ โดยแจ้งแก่ทางวัดให้จัด พระสงฆ์ ไป รับสังฆทาน ตามจำนวนที่ต้องการถวาย หัวหน้าสงฆ์ หรือ เจ้าอาวาส ของวัดนั้น ก็จะจัดภิกษุรูปใดหรือหลายรูปไปรับก็ได้ ขอให้ผู้ที่จะถวายพึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของ สงฆ์ หรือเป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด ไม่ควรพึงเพ่งเล็งว่าเป็นพระรูปใดรูปหนึ่ง อาจจะเป็นพระรูปที่เราไม่รู้จัก หรือไม่ชอบก็ได้

      การถวายสังฆทานนี้ จะนำไปถวายที่วัดก็ได้มิใช่จะต้องไปที่วัดเสมอ พึงไปพบหัวหน้าสงฆ์หรือเจ้าอาวาส แจ้งความประสงค์ต้องการที่จะถวายสังฆทานจำนวนกี่รูป ท่านจะจัดภิกษุรูปใดก็ได้เป็นตัวแทนมารับตามจำนวนที่ต้องการถวาย หรือท่านจะเป็นผู้รับเองก็ได้


ขั้นตอนการถวายสังฆทาน      ในพิธีการถวาย พึงจุดธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม (ด้านซ้ายและขวาของ พระพุทธรูป หรือด้านขวาและซ้ายมือของเรา) อาจจะเชิญชวนทุกท่านกราบ 3 ครั้งก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อน แล้ว...
*** กล่าวคำบูชาพระรัตนะตรัยพร้อมกัน  และกราบพระอีกครั้งว่า

    “อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวังตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
    สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมังนะมะสามิ (กราบ)
    สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ” (กราบ)

*** แล้วอาราธนาศีล ว่า

     “มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
      ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
      ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ”

*** เสร็จแล้ว พระจะให้ศีล เราพนมมือกล่าวรับศีลจากพระ รับศีลจบแล้วตั้งนะโม...เพื่อเป็นการเคารพนบนอบต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า

     “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” 3 จบ

*** กล่าวคำถวายเครื่องไทยธรรม ถ้าจำไม่ได้หรือว่าไม่ได้ พระจะบอกให้ ว่าตามที่พระบอกให้ก็ได้ ทางที่ดีควรจะกล่าวคำถวายเอง โดยกล่าวดังนี้

     “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”

      โดยกล่าวคำแปลต่อ โดยกล่าวว่า

     “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ”

      เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จ พระจะกล่าวพร้อมกันว่า “สาธุ” แล้วเราเข้าไปประเคนเครื่องไทยธรรม ซึ่งจะนำมาวางอยู่ต่อหน้าพระสงฆ์ก่อนแล้ว เวลาประเคนถ้าประเคน 2 คน ก็จับเครื่องไทยธรรมนั้น ๆ ทั้ง 2 คน ยกให้สูงจากพื้นที่วางของ แล้วประเคนให้พระสงฆ์รับ หลังจากนั้นพระสงฆ์จะอนุโมทนา ตอนนี้เป็นตอนที่สำคัญที่สุดในการทำบุญเพื่ออุทิศให้กับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต้องมีสมาธิมีเจตนาแน่วแน่ในการทำบุญอุทิศ ซึ่งจะทำให้ได้อานิสงส์แรง พระจะสวดเป็นภาษาบาลีว่า

      “ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะนิโชติระโส ยะถา”

       พอพระเริ่มกล่าวคำว่า ยะถา วะริวะหา... เราก็เริ่มกรวดน้ำทันที (ให้รินน้ำลงในที่รองรับช้า ๆ เป็นสายน้ำอย่าให้ขาดสายจะดี) พร้อมกับกล่าวคำอุทิศส่วนบุญที่เราได้ทำในครั้งนี้ไปให้กับ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ทุกข์ก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุข ก็ให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้น หรือกล่าวคำกรวดน้ำเป็นภาษาบาลีอย่างย่อก็ได้ว่า

      “อิทังเม ญาติณังโหตุ สุขิตาโหตุ ญาตะโญ

       แปลว่า “ขอให้บุญนี้จงสำเร็จแก่บิดามารดา และญาติพี่น้องของข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอให้มีความสุขกายสุขใจ” ถ้าว่าไม่ได้หรือจำไม่ได้ ก็ให้กล่าวเป็นภาษาไทยอย่างเดียวก็ได้ แต่ต้องตั้งจิตอธิษฐานด้วยใจ อย่ากล่าวแต่ปากโดยใจมิได้จดจ่อกับสิ่งที่กล่าว

      เมื่อพระสวดคำว่า “จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะนิโชติระโส ยะถา” ก็ให้รินน้ำลงให้หมด ขณะนี้พระยังสวดต่ออีก เป็นการสวดให้พรแก่ตัวเราแล้ว ไม่ใช่การอุทิศส่วนบุญให้ผู้อื่น/สัตว์อื่น) เราก็นั่งพนมมือทำจิตใจให้อิ่มเอิบเบิกบานรับพรจากพระ เมื่อพระสวดจบก็เป็นอันเสร็จ พิธีถวายสังฆทาน อย่างสมบูรณ์

การถวายสังฆทานอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว
      การถวายสังฆทานเพื่ออุทิศแก่ผู้ตาย หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า มะตะกะภัต พิธีการต่าง ๆ ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการถวายสังฆทานทั่วไป จะต่างกันที่การกล่าวคำถวายเล็กน้อย ให้กล่าวคำถวายดังนี้

      “อิมานิ มะยัง ภันเต มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนภันเต ภิกขุสังโฆ
      อิมานิ มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง กาละกะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”

      แล้วกล่าวคำแปลภาษาไทยต่อ โดยกล่าวว่า

      “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย มะตะกะภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับ มะตะกะภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งผู้ที่มีญาติและไม่มีญาติ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว สิ้นกาลนานเทอญ

       เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว พระจะกล่าวพร้อมกันว่า “สาธุ” แล้วเราเข้าไปประเคนของเครื่องไทยธรรมซึ่งจะนำมาวางอยู่ต่อหน้าพระสงฆ์ก่อนแล้ว เวลาประเคนถ้าประเคน 2 คน ก็จับเครื่องไทยธรรมนั้นๆ ทั้ง 2 คน ยกให้สูงจากพื้นที่วางของ แล้ว ประเคน ให้พระสงฆ์รับ หลังจากนั้นพระสงฆ์จะอนุโมทนา ตอนนี้เป็นตอนที่สำคัญที่สุดในการทำบุญเพื่ออุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต้องตั้งใจมีเจตนาแน่วแน่ในการทำบุญ อุทิศ ซึ่งจะทำให้ได้อานิสงส์แรง ถ้าตั้งใจจริง เมื่อพระเริ่มกล่าวคำว่า

       “ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะนิโชติระโส ยะถา”

       พอพระเริ่มกล่าวคำว่า ยะถา วะริวะหา... เราก็เริ่ม กรวดน้ำ ทันที (ให้ รินน้ำ ลงในที่รองรับช้า ๆ เป็นสายน้ำอย่าให้ขาดสายจะดี) พร้อมกับกล่าวคำอุทิศส่วนบุญที่เราได้ทำในครั้งนี้ไปให้กับ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ครูบาอาจารย์ ญาติพี่น้องผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เจ้ากรรมนายเวรทุกภพทุกชาติ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีญาติด้วย โดยกล่าวคำกรวดน้ำเป็นภาษาไทยก็ได้ว่า

       “ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าได้กระทำในครั้งนี้ จงสำเร็จแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ครูบาอาจารย์ ญาติพี่น้องทั้งหลายของข้าพเจ้า เจ้ากรรมนายเวร รวมทั้งผู้ที่ไม่มีญาติ ที่ล่วงลับไปแล้วทุกภพทุกชาติ ด้วยเทอญ”

       เมื่อพระว่าถึง จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะนิโชติระโส ยะถา พอจบคำสุดท้ายว่า ยะถา ให้รินน้ำลงให้หมด ขณะนี้พระยังสวดต่อไปอีกเป็นการให้พรแก่ตัวเรา ไม่ใช่อุทิศบุญให้แก่ผู้อื่น/สัตว์อื่น เราก็พนมมือ ทำจิตใจให้อิ่มเอิบเบิกบาน ตอนนี้เรียกว่า รับพรจากพระ เมื่อพระสวดจบ เป็นอันเสร็จพิธีถวายสังฆทานอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย