-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ขั้นตอนการสักการะพระบรมสารีริกธาตุ



1. เตรียมดอกไม้ธูปเทียน
2. ตั้งจิตใจให้เป็นสมาธิ กราบ 3 ครั้ง
3. ตั้ง "นะโม" 3 จบ แล้วสวดมนต์สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า 9 ประการ(นวคุณ) ดังนี้
    " อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
       วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
       อะนุตตะโร    ปุริสสะธัมมะสาระถิ 
       สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ
"
4. กล่าวบูชาคำบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้
   " อหัง วันทามิ ทูระโต   

     อหัง วันทามิ ธาตุโย
     อหัง วันทามิ สัพพะโส "
แล้วต่อด้วยการกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ดังนี้
    " อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ "
        (ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งต่อพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้)
     " อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามิ "
        (ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งต่อพระธรรม ด้วยเครื่องสักการะนี้)
     " อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามิ "
         (ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งต่อพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะนี้)
5. อธิษฐานจิตขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตแด่ตัวท่านเอง
    เสร็จแล้ววางเครื่องสักการะบูชาบนถาดรองเครื่องสักการะ
6. กราบ 3 ครั้ง...เป็นอันจบพิธีการ

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ขบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 เวลา 15.00 น. ณ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

              เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 เวลา 15.00 น. ขบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เคลื่อนขบวนออกจากวัดกลางอัมรินทราวาส นำโดยมีฝ่ายสงฆ์ คือพระรัตนากรวิสุทธิ์ รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และพระครูพิศิษฎ์ธรรมานุศาสก์ เจ้าคณะอำเภอขุขันธ์ ส่วนฝ่ายฆราวาสนำโดย นายอนุรัตน์ ลีธีระประเสริฐ นายอำเภอขุขันธ์ และส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนร่วมขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีลริเวณด้านหน้าลานอนุเสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก

               สำหรับให้ประชาชนผูมีจิตศรัทธาได้แวะเวียนมาสักการะ และร่วมทำบุญเนื่องในงานบุญผ้าป่าสมทบทุนในการก่อสร้างศาลหลักเมืองขุขันธ์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐาน ณ ยอดศาลหลักเมืองอำเภอขุขันธ์ ระหว่างวันที่ 20 - 24 พ.ค. 2556 และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ อันเป็นวาระสำคัญของชาวพุทธที่จะได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ จึงนับเป็นมหามงคลต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง....


ขอเชิญชวนท่านพุทธศาสนิกชนที่โชคดีที่ได้รับทราบข่าวดีนี้ แวะเวียนมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ได้ในช่วงระหว่างวันที่ 20 - 23 พฤษภาคม 2556 และวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2556 เวลา 10.39 น. จะมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดศาลหลักเมือง   อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

และในช่วงระหว่างวันดังกล่าวตรงกับช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชาแห่งโลก จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนแต่งกายด้วยชุดขาวปฏิบัติธรรม หรือเสื้อสีขาว ชุดสุภาพเข้าร่วมงาน และร่วมรับบุญโดยพร้อมเพรียงกัน...

                                             ภาพ/ข่าว... สุเพียร คำวงศ์
                                                  20 พฤษภาคม  2556


หมายเหตุ - ประมวลภาพขบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 เพิ่มเติม คลิกที่นี่เพื่อเยี่ยมชม

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระบรมสารีริกธาตุ(Relics of Buddha)

ความหมายของคำว่าพระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุสาวกสมัยพุทธกาล พระธาตุสาวกหลังกึ่งพุทธกาล 
 "พระบรมสารีริกธาตุ" คือ พระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มิได้เป็นคำที่ใช้เรียก พระธาตุของพระอรหันตสาวก หรือพระธาตุเจดีย์ต่างๆ (บางทีอาจใช้คำว่า "พระบรมธาตุ" หรือ "พระสารีริกธาตุ" แทนได้)
     "พระธาตุ" คือ กระดูก หรือ ส่วนของร่างกายต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โลหิต ฯลฯ ที่มีคุณลักษณะเป็นที่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป โดยมีลักษณะคล้าย ' ธาตุ ' ซึ่งหากมองโดย ไม่สังเกตให้ดีแล้ว ก็คล้าย กรวด หิน แก้ว เพชร ฯลฯ
     คำว่า พระบรมธาตุ และ พระธาตุ ยังอาจใช้หมายถึงพระสถูปเจดีย์ต่างๆได้อีกด้วย เช่น พระบรมธาตุไชยา พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุพนม ฯลฯ

ประเภทของพระบรมสารีริกธาตุ
..........เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุที่พบเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากอัฐิของบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามยังพบลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเหมือนกระดูกคนเช่นกัน เท่าที่พบเห็นได้ตามพระธาตุเจดีย์ทั่วไป หรือตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วโลก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 
        
          1. พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ "พระธาตุ"

        
           พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ พบมากในประเทศศรีลังกา ไทย จีน พม่า ฯลฯ มีลักษณะตรงหรือใกล้เคียงตามลักษณะที่ปรากฏใน อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ในประเทศไทยมีประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ ตามวัดต่างๆทั่วไป 


          2. พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ "กระดูกคน"

    
              พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ พบเฉพาะเขตโบราณสถานในประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษได้มอบให้แก่ประเทศไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และครั้งที่ 2 รัฐบาลได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน
*ในภาพเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดีย


พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่างๆ   
        อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายความพระสูตรทีฆนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้แบ่งลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
         
            1.นวิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นชิ้นเป็นอัน มิได้แตกย่อยลงไป มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) 1องค์ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 องค์        
        2.วิปฺปกิณฺณา ธาตุ
คือ พระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มิได้คงรูปร่างอยู่เป็นชิ้น แต่แตกย่อยลงเป็นเป็นจำนวนมาก กระจายไปประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆ


       ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ได้จำแนกลักษณะและขนาดของพระบรมสารีริกธาตุชนิด วิปฺปกิณฺณา ธาตุ ต่อไปอีกดังนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะภายนอก แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1. (สี)เหมือนดอกมะลิตูม (สีพิกุล)
[อรรถกถาบาลีว่าสุมนมกุลสทิสา]ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 6 ทะนาน
2. (สี)เหมือนแก้วมุกดาที่เจียระไนแล้ว (สีผลึก)
[อรรถกถาบาลีว่าโธตมุตฺตสทิสา]ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน
3. (สี)เหมือนจุณ หรือ ผงทองคำ (สีทองอุไร)  [อรรถกถาบาลีว่าสุวณฺณจุณฺณา] ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน

และเมื่อพิจารณาจากขนาด ท่านแบ่งได้เป็น 3 ขนาด (ดูเปรียบเทียบขนาดได้จากภาพประกอบ) ได้แก่

1.ขนาดเล็ก ประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด
[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า สพฺพขุทฺทกา ธาตุ สาสปวีชมตฺตา] *บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งมะลิตูม
2.ขนาดเขื่อง คือมีขนาดใหญ่ขึ้นมา ประมาณเมล็ดข้าวสารหักกึ่ง[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า มหาธาตุ มชฺเฌ ภินฺนตณฺฑุลมตฺตา]

*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งแก้วมุกดา
3.ขนาดใหญ่ คือมีขนาดใหญ่ที่สุด ประมาณเมล็ดถั่วเขียวผ่ากลาง*[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า อติมหตี มชฺเฌ ภินฺนมุคฺคามตฺตา]

*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งทองอุไร
ตำนานการเกิดพระบรมสารีริกธาตุ
             เหตุที่เกิดพระบรมสารีริกธาตุจำนวนมากขึ้นนั้น พระโบราณาจารย์อธิบายว่า เกิดจากพุทธประสงค์ ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน ดังต่อไปนี้

             โดยปกติที่พระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาว สามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง จะมีพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะรวมกันเป็นแท่งเดียว ดุจทองแท่งธรรมชาติ ซึ่งมหาชนในสมัยนั้นไม่สามารถแบ่งปัน นำไปประดิษฐานตามที่ต่างๆได้ จึงจำต้องสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ในที่แห่งเดียว ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระสมณโคดม) ทรงเล็งเห็นว่า พระองค์มีเวลาปฏิบัติพุทธกิจเพียง 45 ปี นับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ศาสนาของพระองค์ยังไม่แพร่หลาย และหมู่สัตว์ทั้งหลายเกิดมาไม่ทันสมัยพระองค์มีมากนัก หากได้อัฐิธาตุของพระองค์ไปอุปัฎฐากบูชา จะได้บุญกุศลเป็นอันมาก จึงทรงอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ แตกย่อยลงเป็น 3 สัณฐาน เว้นแต่ธาตุทั้ง 7 ประการ คือ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก)1 พระเขี้ยวแก้ว4 และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า)2 นอกจากนั้นให้กระจายไปทั่วทิศานุทิศ เพื่อยังประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั่วไป 

สถานที่ประดิษฐาน

พระบรมสารีริกธาตุ แบบที่กระจัดกระจายนั้น หลังจากได้ทำการแบ่งออกเป็น 8 ส่วน แยกย้ายไปประดิษฐานตามเมืองต่างๆ หลังจากถวายพระเพลิงแล้ว ตามตำนานกล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระ และ พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ร่วมกันกระทำ 'ธาตุนิธาน' คือการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่แบ่งออกไปนั้นกลับมาประดิษฐานรวมกันไว้ในที่แห่งเดียว เพื่อป้องกันการสูญหาย จากการศึกและสงคราม และในตอนท้ายของตำนานกล่าวว่า บุคคลผู้มาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกไปและกระทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ยิ่งใหญ่ ก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราช นั่นเอง
จากเนื้อความในพระปฐมสมโพธิกถา ได้มีการแจกแจงถึงสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แบบที่ไม่กระจัดกระจาย ทั้ง 7 ประการ สรุปได้ดังนี้




1. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ประดิษฐานอยู่ที่ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (บางตำรากล่าวว่า ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ประเทศศรีลังกา ในรัชสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัย)
2. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐานอยู่ที่ เมืองคันธารราฏฐ(แคว้นคันธาระ เป็นอาณาจักรในสมัยโบราณ กินอาณาเขตทางตอนเหนือของประเทศปากีสถาน และตะวันออกของประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน)
3. พระเขี้ยวแก้วเบื้องล่างขวา ประดิษฐานอยู่ที่ ณ ประเทศศรีลังกา
(เชื่อกันว่า เป็นพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีดาลาดามาลิกาวา เมืองเคนดี ในปัจจุบัน)
4. พระเขี้ยวแก้วเบื้องล่างซ้าย ประดิษฐานอยู่ที่ นาคพิภพ
5. พระรากขวัญขวา ประดิษฐานอยู่ที่ พระเกศจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (บางตำรากล่าวว่า ภายหลังได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังพระเจดีย์ถูปาราม ประเทศศรีลังกา)
6. พระรากขวัญซ้าย ประดิษฐานอยู่ที่ ทุสสเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก (ทุสสเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ ณ อกนิฏฐพรหมโลก ซึ่งเป็นภพภูมิหนึ่งในปัญจสุทธาวาส และเป็นชั้นสูงสุดของรูปพรหม)
7. พระอุณหิศ(กรอบหน้า) ประดิษฐาน ณ ทุสสเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก (บางตำรากล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระเป็นผู้เก็บรักษาไว้ และมอบแก่สัทธิวิหาริกสืบต่อกันมา ภายหลังพระมหาเทวเถระ จึงได้เป็นผู้อัญเชิญไปประดิษฐานยังประเทศศรีลังกา)
บูชาพระธาตุ  
พระบรมสารีริกธาตุ เป็นปูชนียวัตถุที่ทรงไว้ด้วยคุณค่า ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และ ศาสนา อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สูงค่า ควรแก่การเคารพบูชาอย่างสูงสุด หากท่านผู้ใดมีโอกาสได้เก็บรักษาไว้ ขอท่านจงบูชาด้วยความเคารพ เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุนั้นหาได้ยาก และยังเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดในไตรภพที่มนุษย์และเทวดาพึงสักการะ

ภาพวาดพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ศรีลังกา วิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
การจะบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้นก่อนอื่นต้องชำระล้างร่างกาย ทำจิตใจ ให้สะอาดผ่องใส จัดหาดอกมะลิใส่ภาชนะบูชา ตั้งสักการะ ณ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วจุดธูปและเทียน ตั้งใจให้เป็นสมาธิ กราบ 3 ครั้ง แล้วจึงตั้งนะโม 3 จบ กล่าวคำบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
คำกล่าวบูชาพระบรมสารีริกธาตุ มีอยู่มากมายทั้งภาษาบาลี และภาษาไทย แต่ที่พบเห็นกันอยู่โดยทั่วไป และกระทำได้โดยง่ายนั้นคือ
คำกล่าวพรรณนาพระบรมสารีริกธาตุ
" อะหัง วันทามิ ทูระโต
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิ สัพพะโส "
*คำกล่าวอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ก็สามารถนำมาใช้กล่าวบูชาได้เช่นกัน*

การบูชาพระธาตุนั้น นอกเหนือจากการบูชาด้วย "อามิสบูชา" เช่น การบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และ เครื่องหอมต่างๆแล้ว การบูชาด้วยการ "ปฏิบัติบูชา" ซึ่งเป็นวิธีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่นิยมปฏิบัติควบคู่ไปด้วย ในการบูชาซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุทั้งหลาย โดยทั่วไปนิยมปฏิบัติตามแนวอริยมรรค 8 ประการ สรุปโดยย่อได้แก่

1.การบูชาด้วยศีล ซึ่งศีลเป็นพื้นฐานและเป็นที่ตั้งมั่นแห่งการทำความดี เป็นเกราะป้องกันความชั่วทั้งปวง ไม่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทำให้เกิดความพร้อมต่อการปฏิบัติสมาธิ (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)

2.การบูชาด้วยสมาธิ ซึ่งการสวดมนต์ภาวนา นั่งสมาธิ ดูลมหายใจเข้า-ออก เป็นการฝึกความเข้มแข็งของจิต ให้มีกำลังในการพิจารณาหลักธรรมต่างๆได้ตามความเป็นจริง (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
3.การบูชาด้วยปัญญา คือการใช้ปัญญาพิจารณาหลักความเป็นจริง ตามหลักไตรลักษณ์ (สัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะ)

นอกจากนี้ การบูชาพระธาตุยังได้ประโยชน์ ในด้านเป็นอนุสติ 10 อีกด้วย ดังนี้คือ
           พุทธานุสติ คือ การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
                  (พระบรมสารีริกธาตุ)
           ธัมมานุสสติ คือ การระลึกถึงคุณของพระธรรม
                  (ธรรมที่ทำให้อัฐิกลายเป็นพระธาตุ)
           สังฆานุสสติ คือ การระลึกถึงคุณของพระสงฆ์
                  (พระสงฆ์สาวกธาตุ)
           สีลานุสสติ คือ การระลึกถึงศีลของตน
                  (ผลของศีลที่ทำให้อัฐิกลายเป็นพระธาตุ)
           จาคานุสติ คือ การระลึกถึงทานของตน
                 (ผลของทานที่ทำให้อัฐิกลายเป็นพระธาตุ)
           เทวตานุสสติ คือ การระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา       
                 (เทวดารักษาพระธาตุ)
           มรณานุสสติ คือ การระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตน
                (แม้พระอริยเจ้าก็ต้องตาย) 
           กายคตาสติ คือ ระลึกทั่วไปในกาย ให้เห็นว่าไม่งาม น่าเกลียด      
                (เมื่อตายแล้วก็เหลือเพียงกระดูก)
           อานาปานสติ คือ การระลึกถึงสติกำหนดลมหายใจเข้าออก         
                (ผลของสมาธิที่ทำให้อัฐิกลายเป็นพระธาต
ุ)
           อุปสมานุสสติ คือ การระลึกถึงคุณพระนิพพาน
                (แดนพระนิพพานที่พระอริยเจ้าได้ก้าวล่วง)


ขอบคุณที่มา : เวปไซต์พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระพุทธสาวก

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย