-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

รู้หรือไม่ ทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) เพื่ออะไร?

         บุญปูนพนมโซร็ว​(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณภายหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวรวบรวมผลผลิตจากการทำนาของชาวบ้านในพื้นที่ของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีความเห็นพ้องพร้อมใจกัน และจัดให้มีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า บุญปูนพนมโซร็ว (បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) ซึ่งเป็นคำภาษาเขมร ตรงกับภาษาไทยว่า บุญประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก ซึ่งพิธีทำบุญนี้ จัดให้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรนั้น ข้อมูลที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านล่างนี้คือคำตอบ


ปูนพนมโซร็ว ของชาวบ้านพุทธบริษัทในสังกัดวัดบ้านแขว
ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

         จากการสอบถามและรวบรวมข้อมูลจากปราชญ์ผู้รู้ในหมู่บ้านหลายหมู่บ้านในอำเภอขุขันธ์ ท่านบอกว่า การทำบุญปูนพนมโซร็ว (បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) นี้ ตามที่ปู่ย่าตายายบ้านเราพาทำต่อๆกันมา อาจสรุปได้ว่ามีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ดังนี้
         ประการที่ 1 ทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)นำไปจัดถวายอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่วัดวาอารามประจำหมู่บ้านหรือตำบลของตนเอง
              ประการที่ 2 สำหรับนำมาสนับสนุนเป็นปัจจัยเสริมสร้างและซ่อมแซมวัดวาอาราม และสาธารณประโยชน์ร่วมกันของพุทธบริษัทในสังกัดวัด เป็นต้นว่า การซ่อมแซมถนนที่ชำรุด เป็นต้น

         ประการที่ 3 เพื่อระลึกถึงคุณพระแม่โพสพที่ได้เลี้ยงมนุษย์โลก และขอขมาโทษที่เราได้ฟาดตี เหยียบย่ำในการนวดข้าว หรือความพลาดพลั้งต่างๆทั้งที่เราเจตนาและเราไม่เจตนาต่อท่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้านในอำเภอขุขันธ์ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่และถูกส่งต่อสู่รุ่นลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ข้าวเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์มีบุญคุณต่อมนุษย์ และเชื่อว่าข้าวมีเทพธิดาที่ชื่อว่า แม่โพสพ ประจำอยู่ ซึ่งจะคอยพิทักษ์รักษาข้าวและดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของข้าวในนา ใครที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อข้าวก็จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง มีความสุขสมบูรณ์ ดังนั้น  ชาวนาจะไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการไม่เคารพต่อแม่โพสพ   หรือทำให้แม่โพสพเสียขวัญ  ชาวนาจึงให้ความเคารพบูชาและกตัญญูรู้คุณแม่โพสพ โดยการทำพิธีต่าง ๆ ในแต่ละช่วงของการเพาะปลูก เพราะถ้าไม่ทำ อาจจะบันดาลให้ไม่มีข้าว และก่อเกิดความอดอยากได้
          
         ประการที่ 4 เพื่อเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านพุทธบริษัทในหมู่บ้านและตำบล อันจะนำมาซึ่งความเข็มแข็ง และความสงบสุขในภาพรวมต่อไป

               ในภาพนี้ คือ ภาพความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านที่มาร่วมกันทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)ที่วัด แต่ในบางหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีหลายคุ้มบ้านอาจแยกกันทำเป็นคุ้มก็ได้ สำหรับข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมาร่วมทำบุญ ส่วนใหญ่นำมาตามกำลังศรัทธาของแต่ละครอบครัว มิได้มีการกำหนดว่าต้องมากหรือน้อยเท่าใด แต่ก็อาจจะมีบ้าง บางหมู่บ้านที่มีการกำหนดปริมาณข้าวเปลือกที่จะนำมาร่วมกันทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) นอกจากนี้ ชาวบ้านเรา ยังได้ร่วมกันทำบุญด้วยการรวบรวมเงินกันเพื่อเป็นปัจจัยถวายทำนุบำรุงวัดและพระพุทธศาสนาอีกด้วย
    
          ตามที่ได้มีโอกาสออกไปร่วมกิจกรรมทำบุญกับชาวบ้านหลายหมู่บ้าน  พบว่า พิธีบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) บ้านเรา ไม่ค่อยมีพิธีรีตองอะไรยุ่งยากเท่าไรนัก 
          ตอนเช้า ชาวบ้านพุทธบริษัทบ้านเรา ก็จะนำข้าวเปลือกมาเทกองรวมกัน หรือบรรจุใส่กระสอบนำมาวางกองลงในจุดหมายที่เดียวกันและพูนให้สูงขึ้นคล้ายภูเขา (ភ្នំ) หนึ่งลูก จึงเป็นที่มาและเรียกต่อๆกันมาว่า พนมโซร็ว(ភ្នំស្រូវ)  
           พอถึงเวลาตอนเย็น ชาวบ้านทุกหลังคาเรือน   ก็จะส่งตัวแทนครอบครัวมาร่วมกันฟังพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และเมื่อเข้าสู่เช้าวันใหม่ถัดมา ชาวบ้านเราก็จะนำจังหันเช้ามาประเคนพระภิกษุสงฆ์ ฟังพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาฉลองศรัทธาบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)  มีกิจกรรมทำบุญตักบาตรร่วมกัน และรับพรจากพระภิกษุสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคงในชีวิตต่อไป 
           เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้ว ก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว  ซึ่งสมัยก่อน ชาวบ้านจะกระทำที่ลานนาหรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก  หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง และอัญเชิญขวัญข้าว และแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลในครอบครัว เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีจึงค่อยแยกย้ายกันกลับบ้าน

    
    

เรียบเรียงโดย : นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ขอบคุณภาพจาก : วัดบ้านแขว ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
หมายเหตุ หากมีข้อผิดพลาด หรือข้อมูลเติมเต็มให้สมบูรณ์ ขอได้โปรดช่วยส่งข้อมูลมาแจ้งให้ผู้เรียบเรียงได้เพิ่มเติมเนื้อหานี้ให้สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไป ขอขอบพระคุณมากครับ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย