ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

พ.ศ. 2433 เมืองขุขันธ์ เป็นหัวเมืองเอก ถูกจัดอยู่ในหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก

...เมื่อฝรั่งเศสสามารถเข้ายึดเวียดนามทั้งหมดได้ใน ปี พ.ศ. 2427 ทําให้หัวเมืองอีสานที่มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกและทิศใต้กับเวียดนาม อยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเข้าแทรกแซงและเข้ายึดครองดินแดนในภาคเหนือและอีสาน(1) ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดําริว่า การปกครองดินแดนหัวเมืองอีสานเท่าที่เป็นอยู่ยังห่างพระเนตรพระกรรณอยู่มาก ทั้งยังอยู่ห่างไกลความเจริญ และการปกครอง จึงต้องมีการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ คือ แบ่งหัวเมืองภาคอีสาน ออกเป็นกองๆ แล้วรวมหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา เข้าด้วยกันแบ่งออกเป็น 4 กองใหญ่มีข้าหลวงปกครองกองละ 1 คน โดยมีข้าหลวงใหญ่กํากับราชการอยู่ที่เมืองนครจําปาศักดิ์ 1 คน เพื่อทํานุบํารุงดูแลหัวเมืองให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น หัวเมืองที่แบ่งเป็น 4 กองใหญ่ มีดังนี้(2)

1. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก มีพระพิศณุเทพ (ช่วง) เป็นข้าหลวงเรียกว่าข้าหลวงประจําหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองนครจําปาศักดิ์ หัวเมืองนี้ประกอบด้วย เมืองเอก 11 เมือง และหัวเมืองโท ตรี จัตวา 26 เมืองที่ขึ้นกับหัวเมืองเอก โดยหัวเมืองเหล่านั้น ได้แก่ นครจําปาศักดิ์ เชียงแตง แสนปาง สีทันดร อัตปือ สารวัน คําทองใหญ่ สุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ และเดชอุดม โดยหัวเมืองเอกเหล่านี้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

2. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีพระยาราชเสนา (ทัด ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวงเรียกว่า ข้าหลวงประจําหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ประกอบด้วยหัวเมืองเอก 12 เมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และหัวเมืองโท ตรี จัตวา 29 เมืองขึ้นกับหัวเมืองเอก โดยหัวเมืองเอกประกอบด้วย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภูแล่นช้าง กมลาสัย เขมราฐ สองคอน ดอนดง ยโสธร นอง ศรีสะเกษ

3. หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ (จันทร์ อินทรกําแหง) เป็นข้าหลวง เรียกว่า ข้าหลวงประจําหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองหนองคาย ประกอบด้วยหัวเมืองเอก 16 หัวเมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และหัวเมืองโท ตรี จัตวา 38 หัวเมือง ขึ้นกับหัวเมืองเอก โดยหัวเมืองเอกประกอบด้วย หนองคาย เชียงขวาง บริคัณฑนิคม ชัยบุรี โพนพิสัย ท่าอุเทน นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กุมุทาสัย บุรีรัมย์ หนองหาร ขอนแก่น คําเกิด คําม่วน และหล่มศักดิ์

4. หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง มีพระพิเรนทรเทพ เป็นข้าหลวง เรียกว่า ข้าหลวงประจําหัวเมืองลาวฝ่ายกลาง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ประกอบด้วยหัวเมืองเอก 3 เมือง ได้แก่ เมืองนครราชสีมา ชนบท และภูเขียว ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และมีหัวเมืองโท ตรี จัตวาที่ขึ้นกับหัวเมืองเอกอีก 16 เมือง

        ข้าหลวงทั้ง 4 หัวเมือง มีหน้าที่บัญชาราชการและตัดสินความอุทธรณ์ หรือเร่งรัดส่วยอากร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ขึ้นตรงต่อพระยามหาอํามาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ข้าหลวงใหญ่ อยู่ ณ นครจําปาศักดิ์ พร้อมทั้งพระราชทานตราประจําชาติ สําหรับข้าหลวงทั้ง 4 กอง เป็นรูปอาร์มแผ่นดิน(3) ใช้ประทับเป็นสําคัญในหนังสือราชการด้วยแสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ ได้พยายามที่จะยืนยันถึงปริมณฑลทางอํานาจของตนในบริเวณอีสานอย่างชัดเจน ด้วยการจัดการปกครองหัวเมืองในบริเวณนี้ให้มีความกระชับ และเข้มงวดมากขึ้น อันถือเป็นความพยายามอย่างจริงจังอีกครั้งของชนชั้นนําสยามก่อนที่จะทําการปฏิรูปการปกครองครั้งสําคัญในปี พ.ศ. 2435
แผนที่เก่าเมืองสำคัญในภาคอีสานก่อน พ.ศ.2325
        จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น แสดงถึงความสัมพันธ์ทางอํานาจของกรุงเทพฯ ที่มีต่อบริเวณอีสานในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน จากที่มีความสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะของการส่งส่วย บรรณการ และการสักเลก รวมถึงอํานาจที่ผูกพันอยู่เพียงแต่การตั้งเจ้าเมืองและเจ้าประเทศราช ไปสู่การส่งตัวแทนจากส่วนกลางเข้ามาปกครองและควบคุมพื้นที่ทรัพยากร ในช่วงที่อิทธิของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้เข้ามา ทําให้ความพยายามของชนชั้นนำสยามในการแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอํานาจภายนอกดังกล่าว ด้วยการเข้ามาแสดงตัวเหนือพื้นที่อีสานอย่างชัดเจน

เอกสารอ้างอิง
(1) อุบล ลิ้มสุวรรณ. “ทัศนะของผู้ปกครองไทยที่มีต่อคําว่า “ลาว” ในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2453”. (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม,2537), หน้า 82.


(2) หม่อมอมรวงศ์วิจิตร.“พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน” ใน ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุด แห่งชาติ เล่ม 2 ภาคที่ 4,หน้า 295-297; เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน,พิมพ์ครั้งที่ 4(กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2546), หน้า 300-317. และไพฑูรย์ มีกุศล.การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 29-33.

(3) หม่อมอมรวงศ์วิจิตร.“พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน,” ใน ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 2 ภาคที่ 4, หน้า 297. ตราอาร์มแผ่นดินนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ยกเลิกตําแหน่งข้าหลวงใหญ่ ได้ให้ข้าหลวงต่างพระองค์เสด็จออกไปสําเร็จ ราชการแทนพระองค์ยังมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ตรานั้นจะบอกนามมณฑล และข้างล่างจะ ระบุว่า “ข้าหลวงต่างพระองค์” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นตราครุฑพ่าห์ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (เติม ประวัติศาสตร์อีสาน, หน้า 315.)

วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

เมื่อปี พ.ศ. 2427 เมืองขุขันธ์ ได้ช้างพังสีประหลาดช้าง๑ ช้างพังตาดำช้าง๑

        ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 ตอนที่ 11 เรื่อง ใบบอกหัวเมืองประกาศวันที่ 22 เมษายน พ. ศ. 2427 หน้า 98 ความว่า...กับพระยาศรีสิงหเทพ รับพระบรมราชานุญาตนำใบนำบอกเมืองขุขันธ์ ที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ณ วันพฤหัสบดี เดือนสี ขึ้นหกค่ำ ปีวอกฉศก(ตรวจสอบในปฏิทิน100ปีแล้วตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2427) มาลงราชกิจจานุเบกษาอีกฉบับ ๑

        ในใบบอกเมืองขุขันธ์ มีความว่า ข้าพระพุทธเจ้าพระอภัยภักดี ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองขุขันธ์ บอกเข้ามาฉบับหนึ่งว่า ณปีมเมียจัตวาศก พระยามหาอำมาตยาธิบดี  เมื่อเปนพระยาศรีสิงหเทพขึ้นไปจัดราชการเมืองนครจำปาศักดิ พระยาขุขันธ์ที่ถึงแก่กรรม(พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๘ คือท้าววัง หรือ พระวิชัย - พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖)มีบอก มายังพระยามหาอำมาตยเมืองเสียมราฐว่า พระยาขุขันธ์ ได้ช้างพังสีประหลาดช้าง๑ ช้างพังตาดำช้าง๑ จะควรทูลเกล้าฯถวายฤาประการใด พระยามหาอำมาตยกลับมาจากเมืองนครจำปาศักดิ พักอยู่ที่เมืองขุขันธ์ ได้ตรวจดูช้างสีประหลาดช้างตาดำแล้วเหนว่าควรจะทูลเกล้าฯถวายได้ ให้เลี้ยงปรนปรือไว้ให้เชื่องราบแล้ว  ให้คุมลงมาทูลเกล้าฯถวาย  บัดนี้ได้แต่งให้ท้าวปัญญาผู้ว่าราชการเมืองพระรัตนโกษาว่าที่ปลัด  คุมช้างพังสีประหลาด สูง ๓ สอกคืบ  ช้างพังตาดำสู่ง ๓ สอก ๔ นิ้ว ๒ ช้าง ลงมาขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ...




ภาพประกอบนี้เป็นภาพช้างเมืองขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2450
มิได้เป็นภาพช้างเมื่อปี พ.ศ. 2427แต่ประการใด แต่ลงประกอบไว้
เพื่อจะได้เปรียบเทียบรูปลักษณะช้างที่ใกล้เคียงในยุคนั้น
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 ตอนที่ 11 เรื่อง ใบบอกหัวเมือง ประกาศวันที่ 22 เมษายน พ. ศ. 2427 หน้า 98 คลิก

วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976

พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ.1895 และ พ.ศ. 1976
              พระอัยการอาญาหลวง ตราขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง เมื่อปีพุทธศักราช 1895 มีการบัญญัติเพิ่มเติมอีกหลายคราว โดยพระมหากษัตริย์พระองค์ต่างๆในภายหลัง พระอัยการอาญาหลวงยกเลิกไปในปี พ.ศ 2451 เมื่อใช้กฎหมายลักษณะอาญาหลวง ร.ศ. 127 รวมเวลาที่ใช้พระอัยการลักษณะอาญาหลวงถึง 556 ปี บทบัญญัติในพระอัยการลักษณะอาญาหลวง ส่วนใหญ่เป็นบทลงโทษข้าราชการที่ทุจริตที่ประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ นอกจากนี้ยังมีความผิดอื่นๆอีก 

การกำหนดโทษ 10 สถาน
              ในพระอัยการลักษณะอาญาหลวง  กำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดไว้ 10 สถานดังนี้
                1. ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาทว์ เอาลูกเมียฆ่าคนเป็นราชบาทว์ ทรัพย์สิ่งของเอาเข้าท้องพระคลังจนสิ้น
                2. ให้ตัดมือ ตัดเท้า จำใส่ตรุไว้โดยยถากรรม 
                3. ทวนด้วยลวดหนัง หรือไม้หวาย 1 ยก 2 ยก 3 ยก แล้วประจานจำใส่ตรุไว้เดือนหนึ่ง 2 เดือน 3 เดือน
                4. ให้ไหมจตุรคุณ(ปรับไหม 4 เท่า)แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง
                5. ให้ไหมตรีคุณและเอาตัวออกจากราชการ
                6. ให้ไหมตรีคุณแล้วประจาน 3 วัน 7 วันให้พ้นโทษ
                7. ให้ไหมลาหนึ่ง แล้วให้ใช้ของๆเขา
                8. ให้ตัดปากแหวะปากเอามะพร้าวห้าวยัดปาก
                9. ให้ภาคทัณฑ์บนไว้ 
                10. กฎอุเบกขาไว้(เรียกประกันทัณฑ์บน)
             โทษทั้ง 10 สถานนี้ ตุลาการเลือกลงแก่ผู้กระทำความผิดที่ร้ายแรงเพียงสถานหนึ่งสถานใดเท่านั้น ไม่ใช่ลงโทษทั้ง 10 สถานแก่ผู้กระทำความผิด ส่วนความผิดที่ร้ายแรงน้อยกว่ากฎหมายกำหนดโทษไว้เพียง 8 สถานบ้าง 7 สถานบ้าง ลดหลั่นกันไป

หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงไทย
แต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976

การห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าว
              การห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976 (ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ-ครั้งที่ 2 แห่งกรุงศรียุธยา เริ่มครองราช พ.ศ.1967 -สิ้นสุดราชกาล พ.ศ.1991 )มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมพระอัยการอาญาหวงห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าว พ.ศ. 1976 ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในช่วงนั้นคนต่างชาติเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาคงมีการตั้งถิ่นฐานครอบครัวและคลังสินค้ากันในกรุงศรีอยุธยา   จึงเป็นไปได้ที่อาจจะมีหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวบ้าง ด้วยความเป็นห่วงว่าหญิงชาวสยามจะเอาความลับเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองไปแจ้งให้กับสามีคนต่างด้าวทราบ  และเกรงว่าหญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างด้าวและบุตรที่เกิดในภายหลังจะเข้ารีตไปนับถือศาสนาอื่น  จึงมีตรากฎหมายเพิ่มเติมขึ้นมาว่า  “...และไพร่ฟ้าขอบขัณฑเสมาทุกวันนี้ประกอบด้วยราคะโทสะโมหะโลภะ  มิได้กลัวแก่บาปละอายแก่บาป  เห็นนานาประเทศฝารั่ง อังกริด วิลันดา คุลา ชวา มลายู แขก กวย แกว ประกอบด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก และไทมอญวันนี้ ยกลูกสาวหลานสาวให้เป็นเมียมิจฉาทิฐิถือผิดเป็นชอบแล้วละฝ่ายสัมมาทิฏฐิเสีย   แลบุตรอันเกิดมานั้นก็ถือเพศไปตามพ่อและพากันไปสู่อบายภูมิเสีย  แลมันจะเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งแก่นานาประเทศฟัง...จึงมีพระราชโองการ...ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบัญญัติไว้ว่า แต่นี้สืบไปเมื่อหน้าราษฎรข้าแผ่นดินชายหญิงไทยมอญ บมิยำบมิกลัวพระราชอาญาพระราชกำหนดกฎหมาย  เห็นพัสดุเข้าของเงินทองมิจฉาทิฐิอันมาค้าขายแต่นานาประเทศนอกด่านต่างแดน เลยยกลูกสาวหลานสาวให้เป็นเมียฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา ชวา มลายู อันต่างศาสนาและให้เข้ารีตอย่างมิจฉาทิฐินอกศาสนา  ท่านว่าผู้นั้นเป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดิน  แลมันเอาใจไปเผื่อแผ่แก่ปัจจามิตรข้าศึกศัตรูหมู่ร้าย   ให้ท่านลงโทษ 6 สถาน  อย่าให้ดูเป็นเยี่ยงอย่าง  เหตุใดจึงกล่าวดังนี้  เหตุว่าพ่อมันดั่งพืชหว่านลงเหนือแผ่นดิน จะเป็นพืชผลสืบไป  ฝ่ายพ่อมันลูกมันจะเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งนานาประเทศๆ มันรู้แล้ว มันจะคิดมาเบียดเบียนพระนครธานีขอบขัณฑเสมา พระพุทธศาสนาก็พลอยเศร้าหมองไป(พระอัยการอาญาหลวง บทที่ 13)
กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2209) วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์

ขอบคุณที่มา :
E-Book ม.รามคำแห่ง : รายวิชา LW103ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก (Thai Legal History and Major Legal System) บทที่ 9 : พระอัยการลักษณะอาญาหลวง

วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

การนับช่วงเวลาแบบจันทรคติ - สุริยคติ และกำหนดวันจัดงานเทศกาลบุญประเพณีแซนโฎนตาของอำเภอขุขันธ์ ปี 2561

การนับช่วงเวลาแบบจันทรคติ และแบบสุริยคติ

         ในการนับช่วงเวลาที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นการนับช่วงเวลาแบบกว้าง ๆ ไม่ได้มีการระบุเจาะจงเวลาที่แน่นอน แต่การนับช่วงเวลาแบบจันทรคติ และแบบสุริยคติ เป็นการนับช่วงเวลาที่มีการระบุเจาะจงเวลา

1. การนับช่วงเวลาแบบจันทรคติ เป็นการนับช่วงเวลาโดยยึดการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก ซึ่งเมื่อดวงจันทร์รอบโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม วันทางจันทรคติจึงเรียกว่า วันขึ้น วันแรม โดยดูจากลักษณะของดวงจันทร์

    ข้างขึ้น คือ ช่วงเวลาตั้งแต่หลังจากดวงจันทร์มืดสนิท และค่อย ๆ มองเห็นดวงจันทร์สว่างขึ้น จนกระทั่งมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ซึ่งกินเวลาทั้งหมด 15 วัน โดยนับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ
    ข้างแรม คือ ช่วงเวลาตั้งแต่หลังจากดวงจันทร์เต็มดวง และค่อย ๆ มองเห็นดวงจันทร์มืดลง จนกระทั่งมองเห็นดวงจันทร์มืดจนหมดดวง ซึ่งกินเวลาทั้งหมด 15 วัน โดยนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำ


     ส่วนการนับเดือนตามจันทรคติ จะเรียกชื่อเดือนแบบง่าย ๆ ดังนี้ เดือนอ้าย (เดือนหนึ่ง) เดือนยี่ (เดือนสอง) เดือนสาม เดือนสี่ เรื่อยไป จนถึงเดือนสิบสอง
      การนับช่วงเวลาแบบจันทรคติ เป็นการนับช่วงเวลาในสมัยก่อนของประเทศไทย(ก่อนวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัย รัชกาลที่ 3) ซึ่งจะพบได้ในการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น
ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ อัฐศก พม่าก็ยกทัพเข้าตีค่ายใหญ่บ้านบางระจันแตก ฆ่าคนเสียเป็นอันมาก บรรดาครอบครัวชายหญิงเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งคงเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น ตั้งแต่รบกันมาห้าเดือนจนเสียค่ายนั้น ไทยตายประมาณพันเศษ พม่าตายประมาณสามพันเศษ (จาก สารานุกรม ประวัติศาสตร์ไทย ของ ส.พลายน้อย)

      การนับช่วงเวลาแบบจันทรคตินั้น ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีใช้กันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันจัดงานบุญประเพณีของท้องถิ่น เช่น งานบุญประเพณีแซนโฎนตาของชาวอำเภอขุขันธ์ และชาวไทยแถบอีสานตอนใต้ ตรงกับวันแรม 14 - 15 ค่ำ เดือนสิบของทุกปี ซึ่่งต้องดูในปฎิทินสุริยคติที่ทางการประกาศว่าจะตรงกับวันที่และเดือนใดของปี พ.ศ.นั้นๆ

2. การนับช่วงเวลาแบบสุริยคติ เป็นการนับช่วงเวลาโดยยึดการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ซึ่งกินเวลาทั้งสิ้นประมาณ 365 วัน หรือ 1 ปี และใน 1 ปี มี 12 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม  ซึ่งการนับช่วงเวลาแบบสุริยคติ เป็นการนับเวลาที่นิยมใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการนับเวลาที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น
      - วันขึ้นปีใหม่ของปี พ.ศ. 2561 ตรงกับวันจันทร์ที่ 1 มกราคม
      - ในปี พ.ศ. 2561  วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม เป็นต้น


ประโชน์ของการเรียนรู้เกี่ยวกับการนับช่วงเวลาแบบจันทรคติ และแบบสุริยคติ
       การเรียนรู้เกี่ยวกับช่วงเวลามีประโยชน์อย่างมาก เพราะเราใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน ใช้ในการนัดหมายกัน และยังใช้ในการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์  และงานบุญประเพณีสำคัญในท้องถิ่นบ้านเรา ซึ่งในปฏิทินปัจจุบัน ก็จะบอกวันทางจันทรคติควบคู่กับวันทางสุริยคติ อยู่แล้ว

งานเทศกาลบุญประเพณีแซนโฎนตา ปี 2561 ควรจัดให้มีขึ้นในช่วงวันที่ใดจึงจะเหมาสมที่สุด?
       สำหรับเทศกาลบุญประเพณีแซนโฎนตาของชาวบ้านในอำเภอขุขันธ์ ปี 2561 นี้ นั้น วันแรม 14 - 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งชาวบ้านทุกครอบครัวจะมีการเซ่นไหว้และทำบุญใหญ่เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อดูตามปฏิทินปี 2561 แล้วจะพบว่าตรงกับวันที่ 8 - 9 ตุลาคม 2561(วันแรม 14 - 15 ค่ำ เดือนสิบ) ดังนั้น การจัดงานเทศกาลบุญประเพณีแซนโฎนตาของอำเภอขุขันธ์จะต้องจัดให้มีขึ้นก่อนวันที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทุกหลังคาเรือนในอำเภอขุขันธ์จัดทำพิธีฯกันที่บ้านเรือนของตน โดยปกติที่เคยปฏิบัติกันมาก่อนวันแรม 14-15 ค่ำ ประมาณ 3-4 วัน(ส่วนใหญ่ก็จะตรงกับวันแรม 10 - 12 ค่ำ เดือนสิบ) ดังนั้น ปีนี้ อำเภอขุขันธ์ จึงควรจัดให้มีงานเทศกาลบุญประเพณีแซนโฎนตา ในระหว่างวันที่ 4 - 7 ตุลาคม 2561...จึงจะเหมาะสมที่สุด...ครับ

        จุดมุ่งหมายสาคัญของเทศกาลบุญประเพณีแซนโฎนตาเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับ(เปรต) ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่า เดีอนสิบ เพื่อมายังโลกมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน ญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ในที่สุด  
        สรุปแล้ว ประตูนรกจะเปิดแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อให้โอกาสดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับ(เปรต)มาหาลูกหลานเป็นเวลา 15 วัน และประตูนรกจะปิดวันแรม15 ค่ำ ช่วง15วันนี้จึงเป็นเวลาเหมาะที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

เรียบเรียง : นายสุเพียร  คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ตรวจทาน :
- นายขวัญชัย ไชยโพธิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
- ดร.ปริง  เพชรล้วน  กรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ภาษา ตำราและคัมภีร์ใบลาน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย