-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976

พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ.1895 และ พ.ศ. 1976
              พระอัยการอาญาหลวง ตราขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง เมื่อปีพุทธศักราช 1895 มีการบัญญัติเพิ่มเติมอีกหลายคราว โดยพระมหากษัตริย์พระองค์ต่างๆในภายหลัง พระอัยการอาญาหลวงยกเลิกไปในปี พ.ศ 2451 เมื่อใช้กฎหมายลักษณะอาญาหลวง ร.ศ. 127 รวมเวลาที่ใช้พระอัยการลักษณะอาญาหลวงถึง 556 ปี บทบัญญัติในพระอัยการลักษณะอาญาหลวง ส่วนใหญ่เป็นบทลงโทษข้าราชการที่ทุจริตที่ประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ นอกจากนี้ยังมีความผิดอื่นๆอีก 

การกำหนดโทษ 10 สถาน
              ในพระอัยการลักษณะอาญาหลวง  กำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดไว้ 10 สถานดังนี้
                1. ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาทว์ เอาลูกเมียฆ่าคนเป็นราชบาทว์ ทรัพย์สิ่งของเอาเข้าท้องพระคลังจนสิ้น
                2. ให้ตัดมือ ตัดเท้า จำใส่ตรุไว้โดยยถากรรม 
                3. ทวนด้วยลวดหนัง หรือไม้หวาย 1 ยก 2 ยก 3 ยก แล้วประจานจำใส่ตรุไว้เดือนหนึ่ง 2 เดือน 3 เดือน
                4. ให้ไหมจตุรคุณ(ปรับไหม 4 เท่า)แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง
                5. ให้ไหมตรีคุณและเอาตัวออกจากราชการ
                6. ให้ไหมตรีคุณแล้วประจาน 3 วัน 7 วันให้พ้นโทษ
                7. ให้ไหมลาหนึ่ง แล้วให้ใช้ของๆเขา
                8. ให้ตัดปากแหวะปากเอามะพร้าวห้าวยัดปาก
                9. ให้ภาคทัณฑ์บนไว้ 
                10. กฎอุเบกขาไว้(เรียกประกันทัณฑ์บน)
             โทษทั้ง 10 สถานนี้ ตุลาการเลือกลงแก่ผู้กระทำความผิดที่ร้ายแรงเพียงสถานหนึ่งสถานใดเท่านั้น ไม่ใช่ลงโทษทั้ง 10 สถานแก่ผู้กระทำความผิด ส่วนความผิดที่ร้ายแรงน้อยกว่ากฎหมายกำหนดโทษไว้เพียง 8 สถานบ้าง 7 สถานบ้าง ลดหลั่นกันไป

หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงไทย
แต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976

การห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าว
              การห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976 (ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ-ครั้งที่ 2 แห่งกรุงศรียุธยา เริ่มครองราช พ.ศ.1967 -สิ้นสุดราชกาล พ.ศ.1991 )มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมพระอัยการอาญาหวงห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าว พ.ศ. 1976 ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในช่วงนั้นคนต่างชาติเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาคงมีการตั้งถิ่นฐานครอบครัวและคลังสินค้ากันในกรุงศรีอยุธยา   จึงเป็นไปได้ที่อาจจะมีหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวบ้าง ด้วยความเป็นห่วงว่าหญิงชาวสยามจะเอาความลับเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองไปแจ้งให้กับสามีคนต่างด้าวทราบ  และเกรงว่าหญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างด้าวและบุตรที่เกิดในภายหลังจะเข้ารีตไปนับถือศาสนาอื่น  จึงมีตรากฎหมายเพิ่มเติมขึ้นมาว่า  “...และไพร่ฟ้าขอบขัณฑเสมาทุกวันนี้ประกอบด้วยราคะโทสะโมหะโลภะ  มิได้กลัวแก่บาปละอายแก่บาป  เห็นนานาประเทศฝารั่ง อังกริด วิลันดา คุลา ชวา มลายู แขก กวย แกว ประกอบด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก และไทมอญวันนี้ ยกลูกสาวหลานสาวให้เป็นเมียมิจฉาทิฐิถือผิดเป็นชอบแล้วละฝ่ายสัมมาทิฏฐิเสีย   แลบุตรอันเกิดมานั้นก็ถือเพศไปตามพ่อและพากันไปสู่อบายภูมิเสีย  แลมันจะเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งแก่นานาประเทศฟัง...จึงมีพระราชโองการ...ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบัญญัติไว้ว่า แต่นี้สืบไปเมื่อหน้าราษฎรข้าแผ่นดินชายหญิงไทยมอญ บมิยำบมิกลัวพระราชอาญาพระราชกำหนดกฎหมาย  เห็นพัสดุเข้าของเงินทองมิจฉาทิฐิอันมาค้าขายแต่นานาประเทศนอกด่านต่างแดน เลยยกลูกสาวหลานสาวให้เป็นเมียฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา ชวา มลายู อันต่างศาสนาและให้เข้ารีตอย่างมิจฉาทิฐินอกศาสนา  ท่านว่าผู้นั้นเป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดิน  แลมันเอาใจไปเผื่อแผ่แก่ปัจจามิตรข้าศึกศัตรูหมู่ร้าย   ให้ท่านลงโทษ 6 สถาน  อย่าให้ดูเป็นเยี่ยงอย่าง  เหตุใดจึงกล่าวดังนี้  เหตุว่าพ่อมันดั่งพืชหว่านลงเหนือแผ่นดิน จะเป็นพืชผลสืบไป  ฝ่ายพ่อมันลูกมันจะเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งนานาประเทศๆ มันรู้แล้ว มันจะคิดมาเบียดเบียนพระนครธานีขอบขัณฑเสมา พระพุทธศาสนาก็พลอยเศร้าหมองไป(พระอัยการอาญาหลวง บทที่ 13)
กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2209) วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์

ขอบคุณที่มา :
E-Book ม.รามคำแห่ง : รายวิชา LW103ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก (Thai Legal History and Major Legal System) บทที่ 9 : พระอัยการลักษณะอาญาหลวง

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย