-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วันมาฆบูชา “โอวาทปาติโมกข์” หัวใจพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา "โอวาทปาติโมกข์" หัวใจพระพุทธศาสนา

          วันมาฆบูชา วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ "หัวใจพระพุทธศาสนา" ในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ “มาฆะ” เป็นชื่อเรียกของเดือน ๓ ส่วนคำว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓” ดังนั้น วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ในปีอธิกมาส) ถือเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” นับจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาเป็นเวลา ๙ เดือน
เมื่อถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๓ พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ครั้งนั้นได้มีพระอรหันต์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งแบ่งเป็นพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ รูป กับพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ ๒๕๐ รูป รวมทั้งสองคณะเป็น ๑,๒๕๐ รูป ได้พร้อมกันไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การมาประชุมใหญ่ของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ในสมัยพุทธกาล จึงเรียกเหตุการณ์ในคราวนั้นว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า “ความประชุมประกอบด้วยองค์ ๔" ในอรรถกถาทีฆนขสูตร ได้แสดงไว้ว่า องค์ ๔ คือ พระสาวกที่มาประชุมกันเป็นมหาสันนิบาต นั้นคือ
  • ๑. พระสงฆ์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันวนาราม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
  • ๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
  • ๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เหล่านั้น ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
  • ๔. วันเพ็ญเดือนมาฆะ คือวันเพ็ญกลางเดือน ๓ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อันเป็น“หัวใจของพระพุทธศาสนา” คือ “โอวาทปาติโมกข์” และ วันมาฆบูชา ในอีก ๔๕ พรรษา ต่อมาพระบรมศาสดาได้ทำการ “ปลงมายุสังขาร” ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ซึ่งการปลงมายุสังขารของพระบรมศาสดาในครั้งนี้ ก็ทำให้อีก ๓ เดือนต่อมา พระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในวันวิสาขบูชา
ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หรือ โอวาทปาติโมกข์
ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หรือ โอวาทปาติโมกข์

ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หรือ โอวาทปาติโมกข์

พระโอวาท หรือ โอวาทปาติโมกข์ นี้ ประมวลพระพุทธวาทะ ประมวลพระพุทธศาสนา ด้วยข้อความเพียง ๓ คาถากึ่ง ฉะนั้น พระโอวาทนี้จึงเป็นที่นับถือว่า แสดงหัวใจพระพุทธศาสนา ตามที่ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รวบรวมไว้ว่าดังนี้้
โอวาทปาติโมกข์ “หัวใจพระพุทธศาสนา”
  • “๏ สพฺพปาปสสฺ อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
  • ๏ กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำความดีให้ถึงพร้อม
  • ๏ สจิตฺต ปริโยทปน การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว”
เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระพุทธวาทะดังกล่าวแล้ว ก็ได้ตรัสต่อไปอีกหนึ่งคาถากึ่งว่า
  • “๏ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
  • ๏ นิพพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
  • ๏ ปพฺพชิโต  ปรูปฆาตี  สมโณ  โหติ  ปรํ วิเหฐยนฺโต“
  • ๏ สพฺพปาปสสฺ  อกรณํ
  • ๏ กุสลสฺสูปสมฺปทา
  • ๏ สจิตฺต ปริโยทปนํ
  • ๏ อนูปฆาโต
  • ๏ ปาติโมกฺเข จ สํวโร
  • ๏ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
  • ๏ ปนฺตญฺจ สยนาสํ
  • ๏ อธิจตฺเต จ อาโยโค
  • ๏ เอตํ  พุทธาน  สาสนํ”
  • “ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง
  • บรรพชิตคือนักบวช ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่  ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่
  • ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
  • การไม่ทำบาปทั้งปวง
  • การยังกุศลให้ถึงพร้อม
  • การทำจิตของตนให้ผ่องใส
  • นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
  • การไม่กล่าวร้าย ๑
  • การไม่ทำร้าย ๑
  • ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
  • ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑
  • ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑
  • การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
  • ธรรมหกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.”
พระโอวาทในข้อนี้ เป็นเหมือนคำอธิบายประกอบของโอวาทที่เป็นหลัก ๓ ข้อดังกล่าว มีข้อสังเกตคือในเวลานั้น พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยปาติโมกข์ ฉะนั้นที่ตรัสให้สำรวมในพระปาติโมกข์ จึงมีความหมายคือ ปาติโมกข์ที่เป็นตัวแบบฉบับ อันควรทีสมณะจะพึงปฏิบัติโดยทั่วไป พระโอวาททั้งหมดนี้เรียกว่า พระโอวาทปาติโมกข์ ปาติโมกข์ที่เป็นโอวาทพระพุทธเจ้า ได้ตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งนั้น จึงมิได้มุ่งที่จะอบรมให้ท่านบรรลุมรรคผล แต่ว่ามุ่งที่จะวางแนวพระพุทธศาสนา เบื้องต้นก็ชี้ถึง
วาทะของพระพุทธะ ๓ ข้อต่อมาก็วางหลักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างกว้าง ๆ ไว้ ๓ ข้อ และมีคำอธิบายประกอบอีกเล็กน้อย ท่านแสดงว่าในวันอุโบสถวันพระจันทร์เพ็ญ และวันพระจันทร์ดับ (วันพระข้างขึ้น ๑๕ ค่ำ และข้างแรม ๑๕ ค่ำ) พระพุทธเจ้าได้ประทับเป็นประธานหมู่พระสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ขึ้นด้วยพระองค์เองทุก ๑๕ วัน แปลว่า ทรงทำอุโบสถร่วมด้วยภิกษุสงฆ์แล้วก็เรียกว่า ปาริสุทธิอุโบสถ คือ เป็นอุโบสถที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงบริสุทธิ์ พระสงฆ์ก็บริสุทธิ์
จนถึงมีเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมามีเล่าไว้ในบาลีวินัย (วิ.จุลฺล. ๗/๒๘๓/๔๔๗-๘; ขุ.อุ. ๒๕/๑๕๐/๑๑๖.) ว่าพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลงมา จึงถึงเวลา ๑ ยาม พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนว่า ยามหนึ่งแล้วพระมานั่งรออยู่นานแล้ว ขอให้เสด็จลงทรงสวดปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๒ พระอานนท์ ก็ไปทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๓ พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง แต่ว่าในยามที่ ๓ นี้ ได้มีพระพุทธดำรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์ คือว่ามีพระทุศีลมาปนอยู่ด้วยพระโมคคัลลานะจึงได้เที่ยวตรวจดู เมื่อไปพบภิกษุที่ทุศีล ก็บอกให้ออกไปจากที่ประชุม ผู้นั้นก็ไม่ยอมออกไปต้องฉุดแขนออกไป แต่ก็สว่างเสียแล้ว พ้นเวลาที่จะทำอุโบสถก็เป็นอันว่า ในอุโบสถนั้นไม่ได้ทำ (การสวดปาติโมกข์) พระพุทธเจ้าจึงทรงปรารภเรื่องนี้ (วิ.จุลฺล. ๗/๒๙๒/๔๖๖) ตรัสให้พระสงฆ์ยกเอาพระวินัยที่ทรง บัญญัติขึ้นไว้ มาสวดเป็นปาติโมกข์แทน และให้พระสงฆ์สวดกันเองพระพุทธเจ้าไม่เสด็จมาทำอุโบสถร่วมด้วยอีกต่อไป
เพราะฉะนั้น จึงมีการยกเอาวินัยขึ้นสวดเป็นปาติโมกข์ทุก ๆ ๑๕ วัน สืบต่อมาจนบัดนี้ ปาติโมกข์ที่ยกเอาพระวินัยขึ้นสวดนี้ เรียกว่า วินัยปาติโมกข์ (ซึ่งก็คือ คัมภีร์รวมวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ ซึ่งต้องสวดทบทวนในที่ประชุมสงฆ์ หรือการลงอุโบสถทุกกึ่งเดือนในวันพระ)

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันมาฆบูชา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ทรงอธิบายเกี่ยวกับธรรมเนียมพิธีการมาฆบูชาไว้ว่า เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยจัดพิธีวันมาฆบูชามาก่อน จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้ทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆะบูรณมี เป็นวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
การประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อน ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้จัดให้มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็น เสร็จแล้วสวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่าง ๆเทศนาจบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์ ๓๐ รูป สวดรับ
การประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้างเช่น รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง หรือบางครั้งก็มิได้เสด็จออกเอง เพราะมักเป็นช่วงเวลาที่พอดีีกับการเสด็จประพาสหัวเมือง แต่หากวันดังกล่าวตรงกับช่วงที่เสด็จไปประพาสบางปะอิน หรือพระพุทธบาทพระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวัง
เดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ขยายออกไปให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔
เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาบรรจบในแต่ละรอบปี พุทธบริษัทจะร่วมกันประกอบศาสนพิธี ซึ่งการปฏิบัตินั้นจะดำเนินไปเช่นเดียวกับวันวิสาขบูชา แต่ในวันนี้พระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์
ที่มา :  - ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กราบถวายมุทิตาสักการะพระราชปริยัตยาทร

ขอเชิญชวนสาธุชน ร่วมกราบถวายมุทิตาสักการะพระราชปริยัตยาทร
วันที่ 7 ธันวาคม 2559 เวลา 14.30 น. 
ณ อาคารห้องประชุมโรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง 
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย