จากข้อมูลการสืบค้นล่าสุด โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ คำว่า "ลำภู" เพื้ยนมาจากคำภาษาเขมรท้องถิ่นเมืองขุขันธ์โบราณว่า លំពូ/ลม-ปู/ เป็นชื่อเรียกต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางชนิดหนึ่ง ชื่อสามัญ: Cork Tree ชื่อวิทยาศาสตร์: Sonneratia caseolaris (L.) Engl. ชื่อวงศ์: SONNERATIACEAE ชื่อภาษาไทยเรียกว่า "ต้นลำพู" มักพบทั่วไปตามดินเลนริมแม่น้ำ หรือริมคลอง ที่มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงท่วมถึง ขึ้นได้ทั้งในน้ำจืด และน้ำกร่อย มีรากงอกขึ้นเหนือพื้นดิน ลำต้นสูง ๑๐-๒๕ เมตร ทรงพุ่ม กิ่งก้านห้อยย้อยลง ใบ เดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ขนานอย่างน้อย ๕ คู่ กว้าง ๐.๔ -๐.๖ เซนติเมตร ยาว ๐.๕-๑๑ เซนติเมตร รูปมนไข่ ปลายแหลม โคนใบสอบขอบเรียบ เนื้อหนาสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีอ่อน ดอก ออกเป็นช่อ ต้นลำพูในยามกลางคืนเป็นที่อาศัยของแมลงหิ่งห้อย สาเหตุที่หิ่งห้อยชอบเกาะบนต้นลำพู เนื่องจากต้นลำพูเป็นต้นไม้ใหญ่ มีพุ่มใบหนา และมีใบขนาดเล็ก ผิวเรียบ ไม่มีขน ทำให้ไม่ระคายเคืองต่อตัวหิ่งห้อย เหมาะสำหรับหิ่งห้อยที่โตเต็มวัยเกาะเพื่อผสมพันธุ์และเป็นที่ซึ่งเหมาะสำหรับตัวอ่อนอยู่อาศัยและอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้นลำพูจะอยู่เหนือ พื้นดินระดับที่แตกต่างกัน ทำให้น้ำท่วมไม่ถึง
ต้นลำพู ขึ้นตามริมหนองน้ำ หรือตามลำธารที่มีน้ำนิ่ง และ ในยามค่ำคืนเป็นที่อาศัยของหิ่งห้อย ส่องแสงกระพริบสวยงามยามราตรี |
ดอกของต้นลำพู |
ในอดีตเมื่อประมาณก่อน พ.ศ. 2503 พื้นที่แถบตำบลใจดี มีต้นไม้นี้ขึ้นอยู่ชุกชุม โดยเฉพาะบริเวณหนองกลาง ภาษาเขมรท้องถิ่นขุขันธ์เรียก ត្រពាំងកណ្ដាល /ตระ-เปียง-ก็อน-ดาลฺ/ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดลำภูในปัจจุบัน และแถบป่าด้านทิศตะวันออกของวัดลำภูก็พบมีบ้างประปราย แต่ต่อมาภายหลังชาวบ้านได้บุกแผ้วถางเพื่อทำไร่ทำนา ทำให้ต้นลำพู ถูกทำลายจนสูญพันธุ์ในที่สุด
ปัจจุบันยังพอมีหลักฐานที่ปรากฏหลงเหลืออยู่ให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดนี้ว่า มีอายุนับเป็นร้อยๆปี มีอยู่หลายอย่าง ดังนี้
1. พระธาตุเจดีย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ปราสาท 2 หลัง" เป็นพระธาติเจดีย์ศิลปะล้านช้าง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุโบสถวัดบ้านลำภูในปัจจุบัน สภาพของพระธาตุเจดีย์องค์แรก ซึ่งอยู่ใกล้อุโบสถที่สุด ปัจจุบันอยู่ในสภาพเก่าแก่ทรุดโทรมปรักหักพัง ยังคงเหลือให้เห็นแต่ส่วนฐานเท่านั้น ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์ที่สอง ซึ่งอยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกของพระธาตุเจดีย์องค์แรกนั้น ปัจจุบันยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์ ประมาณร้อยละ 80
สำหรับพระธาตุเจดีย์ทั้งสององค์นี้ เมื่อปี พ.ศ. 2546 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้สำรวจตรวจสภาพพระธาตุเจดีย์ โดยได้นำเอาก้อนอิฐจากพระธาตุเจดีย์ทั้งสององค์ไปทำการตรวจสอบอายุว่ามีความเก่าแก่มากน้อยเพียงใด จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้แจ้งให้ทางวัดทราบแล้วว่า องค์พระธาตุเจดีย์ทั้งสององค์นี้ มีอายุราวๆ 444 ปี(ขณะนั้นคำณวนอายุถึง ณ พ.ศ. 2546) คือพระธาตุเจดีย์ทั้งสององค์นี้ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2012 และทางการได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. เสมาหินเก่าแก่ สำหรับที่ตั้งของอุโบสถวัดลำภู แห่งนี้ ได้มีการเลื่อนที่ตั้งมาราว 3 ครั้งแล้ว จึงมาเป็นที่ตั้งปัจจุบัน เดิมบริเวณนี้เป็นเนินดินคล้ายเนินดินจอมปลวดขนาดใหญ่ มีต้นไม้และเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมอยู่หนาทึบ ตรงกลางมีต้นข่อยขนาดใหญ่ขึ้นเด่นเป็นสง่า ชาวบ้านในท้องถิ่นนี้เชื่อกันว่า เป็นเนินดินอาถรรพ์และศักดิ์สิทธิ์ เพราะได้มีเหตุการณ์แปลกๆปรากฏขึ้นหลายครั้ง เช่น วัวควายที่นำมาเลี้ยง หรือเล็ดลอดเข้ามาในบริเวณวัดจะไม่กล้าเข้ามากินหญ้าในบริเวณนี้ แต่ก็เคยมีวัวควายบางตัวเล็ดลอดเข้าไปหากินหญ้าและใบไม้บริเวณเนินดินแห่งนี้ จึงทำให้สัตว์เลี้ยงเหล่านั้น มีอันเป็นไปถึงตายทุกตัวโดยไม่ทราบสาเหตุของการตาย ถึงแม้จะมีการตรวจพิสูจน์ซากสัตว์ที่ตายว่ามีร่องรอยการถูกงูพิษกัด หรือถูกสัตว์อื่นทำร้าย ก็พบว่าไม่มี ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นเกิดความหวาดกลัว และเล่าขานเรื่องราวต่อๆกันมาว่า ให้ระมัดระวัง อย่าได้นำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงใกล้บริเวณดังกล่าว
ในเวลาต่อมา ได้มีพระธุดงค์ชาวเขมรซึ่งมีเวทย์มนต์คาถาอาคมแก่กล้ารูปหนึ่ง ได้ธุดงค์มาปักกลดนั่งกรรมฐานทำสมาธิ ใกล้ๆบริเวณพระธาตุทั้งสององค์เป็นเวลาหลายวัน และได้บอกกล่าวให้ชาวบ้านฟังว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์มีวัตถุอันล้ำค่าฝังอยู่ ก็ยิ่งทำให้เพิ่มหวาดกลัวให้กับชาวบ้านมากขึ้น จึงได้พากันปล่อยให้บริเวณเนินดินดังกล่าวรกร้างจนเป็นป่าทึบ ในที่สุด
ต่อมาราว พ.ศ. 2502 พระอธิการเรียบ เจ้าอาวาสวัดลำภู รูปที่ 14 (พ.ศ. 2502 -2507) และชาวบ้านได้ร่วมกันประกอบพิธีเข้าทรงอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าที่เจ้าทางให้ย้ายไปสถิตย์อยู่ ณ ที่ศาลเจ้าแห่งใหม่ ที่ชาวบ้านได้สร้างให้ ในบริเวณป่าต้นยางทางทิศเหนือของวัด เพื่อจะได้ตัดต้นไม้และถากถางปรับพื้นที่บริเวณรอบๆองค์พระธาตุเจดีย์ให้โล่งเตียน และสะดวกแก่การทำพิธีสักการะบูชากราบไหว้ ภายหลังจากที่ได้ตัดต้นไม้ออก และถากถางพื้นที่ดังกล่าวจนดูโล่งเตียนไปหมดแล้ว ก็คงเหลือแต่สภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า นับตั้งแต่นั้นมา วัวควายก็สามารถขึ้นไปกินหญ้าบริเวณดังกล่าวได้โดยไม่มีเหตุร้ายใดๆเกิดขึ้นดังเช่นแต่ก่อนอีกเลย สร้างความประหลาดใจให้ชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์มาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมา พ.ศ. 2507 เมื่อพระอธิการเสียม กิตติสาโร ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดรัมพนีวาสลำภู รูปที่ 15 (พ.ศ.2507-2521) ได้ประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้านในสังกัดวัดและตกลงกันว่าจะสร้างอุโบสถขึ้น เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจแทนศาลาการเปรียญหลังเก่าที่ทรดโทรมผุพัง เนื่องจากมีอายุการปลูกสร้างที่นานมาแล้ว ในข้อปรึกษาหารือครั้งแรกได้พากันวางผังที่จะสร้างอุโบสถหลังใหม่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ตั้งอุโบสถในปัจจุบัน และเมื่อวางผังเสร็จแล้วก็ได้ใช้แรงงานจากพระสงฆ์สามเณร ร่วมกับชาวบ้านขุดและขนย้ายดินจากบริเวณเนินดินที่ปรับโล่งเตียนดังกล่าวมาถมปรับระดับเพื่อก่อเป็นฐานในการสร้างอุโบสถ แต่พอขุดดินไปได้ระดับหนึ่งก็ปรากฏว่าได้ขุดพบวัตถุชิ้นหนึ่งเป็นหินสีเขียวใสผิวขรุขระมีความแข็งแรงมาก สร้างความตื่นเต้น และชวนให้เกิดความสงสัยกับชาวบ้านว่าเป็นหินอะไรกันแน่มาฝังอยู่ในบริเวณแห่งนี้ ต่างช่วยกันขุดเคลื่อนย้ายออกมาทำความสะอาด โดยใช้น้ำล้างดู ต่างพากันลงความเห็นว่า ไม่ใช่หินธรรมดา แต่เป็นใบเสมาหินเก่าแก่ที่ฝังอยู่ใต้เนินดิน นั่นเอง และเมื่อขุดต่อไปโดยทั่วทั้งเนินก็พบรวมใบเสมาหินอีก 4 ใบ โดยใบเสมาหินใบที่ 5 ถูกฝังอยู่ตรงกลางเนินดิน รวมกันทั้งสิ้น 5 ใบ จึงสันนิษฐานว่าเป็นใบเสมาที่ฝังไว้เป็นเขตวิสุงคามสีมาตั้งแต่ในอดีตแรกเริ่มตั้งวัดรัมพนีวาสลำภู เพื่อเป็นที่ประกอบสังฆกรรมต่างๆโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเขตที่กำหนดเอาไว้เพื่อเป็นแดนแห่งความสามัคคีแห่งสงฆ์นี้เองเรียกว่า "สีมา"
3. สิงห์คู่หินแกะสลักเก่าแก่ นอกจากจะขุดพบใบเสมาหินเก่าแก่แล้ว ระหว่างที่ขุดดินเพื่อขยายออกไปทางทิศตะวันออกซึ่งอยู่ระหว่างองค์พระธาตุเจดีย์เก่าแก่กับเขตที่พบใบเสมา ก็ได้ขุดพบสิงห์คู่หินแกะสลักเก่าแก่ จำนวน 2ตัว (มีรูปลักษณะคล้ายๆกับสิงห์คู่หินแกะสลักที่ชาวอำเภอภูสิงห์ให้ความเคารพนับถือ เรียกว่า "เจ้าพ่อสิงห์คู่" ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดบ้านโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน) แต่รูปร่างสง่างามมากและครบถ้วนสมบูรณ์กว่าที่สิงห์คู่ของอำเภอภูสิงห์ โดยสิงห์คู่หินแกะสลักต่างถูกวางให้ยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออกอีกด้วย จึงเป็นการยืนยันว่า สถานที่บริเวณเนินดินดังกล่าวนั้น เคยเป็นที่ตั้งของอุโบสถแต่เก่าก่อนอย่างแน่นอน
![]() ![]() |
สิงห์คู่หินแกะสลักที่ชาวอำเภอภูสิงห์ให้ความเคารพ หรือ "เจ้าพ่อสิงห์คู่" ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดบ้านโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน |
จากเหตุการณ์ตามที่ทางวัด และชาวบ้านได้ประสบเห็นโดยทั่วกันกันทั้งสองอย่างในช่วงนั้น กล่าวคือการขุดพบเสมาหิน และสิงห์คู่หินแกะสลักเก่าแก่ ในบริเวณเนินดินดังกล่าว จึงได้ปรึกษาหารือกันอีกครั้ง เพื่อเลื่อนผังที่จะสร้างอุโบสถหลังใหม่มาตรงบริเวณเนินดินที่เป็นที่ตั้งของอุโบสถเก่าแก่ โดยได้สร้างครอบบริเวณที่เป็นเนินดินที่พบใบเสมาทั้ง 5 ใบ และได้ขุดหลุมแล้วนำใบเสมาทั้งหมดฝังกลบไว้ที่จุดที่พบเดิมทุกจุดในที่สุด
บริเวณอาณาเขตที่ตั้งของวัดบ้านลำภู
วัดรัมพนีวาสลำภู(วัดบ้านลำภู) ตั้งอยู่บนพื้นที่ดอน มีเนื้อที่โดยประมาณ 20 ไร่ ในอดีตบริเวณรอบๆที่ตั้งของวัดดั้งเดิม จะมีต้นตาลจำนวนมากขึ้นเรียงราย กันเป็นทิวแถวดูแล้วสวยงามมาก มีร่องรอยเป็นคูน้ำเก่าล้อมโดยรอบ แต่ในปัจจุบันได้ถูกชาวบ้านไถกลบ และถมจนต้นเขินและกลายเป็นพื้นที่ทำนาชองชาวบ้านไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก เป็นที่ลุ่มเหมาะสำหรับการทำนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ สำหรับด้านทิศใต้ระหว่างบ้านลำภูกับบ้านใจดีมีหนองน้ำที่เรียกชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นเขมรว่า" ត្រពាំងកណ្តាល " อ่านว่า / ตรอ-เปียง-ก็อน-ดาล*/ แปลเป็นภาษาไทยว่า "หนองกลาง" ในปัจจุบันตื้นเขินใช้ทำนาข้าวได้
ในบริเวณวัดในอดีต นอกจากจะมีต้นตาลขึ้นเป็นทิวแถวจำนวนมากมายแล้ว ยังมีต้นไม้ที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา คือต้นโพธิ์ใหญ่ ขนาด 9 คนโอบอายุหลายร้อยปี จำนวน 4 ต้น สันนิษฐานว่า น่าจะปลูกขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดครั้งแรก แต่เป็นที่น่าเสียดาย ต้นโพธิ์ใหญ่ จำนวน 2 ต้นได้ถูกตัดโค่นลงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์


1. พระภิกษุประทา (พ.ศ.2134-2140)
2. พระภิกษุโพธิ์ (พ.ศ.2140-2191)
3. พระภิกษุแซม (พ.ศ.2191-2249)
4. พระราชครูบัว (พ.ศ.2249-2321)
5. พระภิกษุเปรียม (พ.ศ.2321-2354)
6. พระภิกษุนุช (พ.ศ.2354-2399)
7. พระภิกษุยิม (พ.ศ.2399-2425)
8. พระภิกษุเปียง (พ.ศ.2425-2448)
9. พระภิกษุบุญมา (พ.ศ.2448-2473)
10. พระอธิการคำ (พ.ศ.2473-2488)
11. พระอธิการพม (พ.ศ.2488-2493)
12. พระอธิการบุญเรือง กิตติสาโร (พ.ศ.2493-2499)
13. พระอธิการอุก (พ.ศ.2499-2502)
14. พระอธิการเรียบ (พ.ศ.2502-2507)
15. พระอธิการเสียม กิตติสาโร (พ.ศ.2507-2521)
16. พระอธิการเรียม (พ.ศ.2521-2532)
17. พระอธิการเรียบ สิริวัณโณ (พ.ศ.2532-2541)
18. พระอธิการสาน โชติปาโล (พ.ศ.2541-ปัจจุบัน)
