-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วัตถุประสงค์ในการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์

            อนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” (ตากะจะ) ตั้งอยู่  ณ  บริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของสนามหน้าที่ว่าการอำเภอขุขันธ์  อยู่ในเขตเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ   การเดินทางโดยรถยนต์ตามถนนสายศรีสะเกษ - ขุขันธ์  (220)  ระยะทาง  49  กิโลเมตร  และห่างจากถนนสายยุทธศาสตร์สายโชคชัย - เดชอุดม  (24) เป็นระยะทาง  7  กิโลเมตร

วัตถุประสงค์ในการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์
          ๑. เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของเมืองขุขันธ์และความดีของบรรพบุรุษ  สมัยนั้นมีเจ้าเมืองทั้งหมดกี่คนและมีใครบ้าง
          ๒. เพื่อต้องการเทิดทูนความกล้าหาญ  คุณงามความดีที่ท่านได้ก่อตั้งเมืองขุขันธ์ขึ้นมาเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเกียรติคุณของเจ้าเมืองขุขันธ์
          ๓. เป็นศูนย์รวมใจของชาวอำเภอขุขันธ์
          ๔. เป็นที่สักการะบูชาของชาวอำเภอขุขันธ์  และนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาได้กราบไหว้
          ๕. เสริมสร้างความสามัคคีของชาวอำเภอขุขันธ์ทุกคนให้เกิดความรักชาติ  รักแผ่นดินเกิด
          ๖. ให้เกิดความภาคภูมิใจในบ้านเกิด

วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประเพณีก่อเจดีย์ทรายและสรงน้ำพระเดือน 5

           พิธีก่อกองทรายและสรงน้ำพระพุทธรูปในเดือน ๕ นี้ หรือที่เรามักจะได้ยินชาวบ้านที่พูดภาษาท้องถิ่นเขมร(ขแมร์)เรียกว่า /ดัก-ปเรียะฮ*-แค-แจด/ หรือ /ดัก-ปเรียะฮ*-ซร็อง-ตึก-แค-แจด/ โดยเฉพาะแล้วเฒ่าแก่บ้าน  ทายกวัด  และผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ประชุมลูกหลานแจ้งให้ทราบทั่วกันว่า  ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๕ เป็นสรงน้ำพระพุทธรูปและก่อเจดีย์ทราย  ในทุกครัวเรือน  เฒ่าแก่หนุ่มสาว  ไปพร้อมกันที่วัดเวลาบ่าย  พระสงฆ์ท่านจำลงไปที่อุโบสถ  เป็นประธานในพิธี ชาวบ้านจะช่วยกันทำหลักปักในลานวัด  เป็นระยะ ๆ ห่างกันประมาณ ๓ เมตรต่อหลัก ปักประมาณ ๘ หลัก  หน้าอุโบสถ  เลือกเอาองค์ใดองค์หนึ่งประดิษฐานไว้ในหอสรง  แล้วแห่ไปรอบ ๆ อุโบสถ  แล้ววางไว้ตรงกลางหอสรง  แล้วพระสงฆ์จะนำเอาน้ำที่ประชาชนหาบไปในขณะนั้น  เทใส่บนค่างที่เตรียมไว้แล้ว  น้ำก็จะไหลไปตามรางลงไปรดพระพุทธรูปข้างล่างพระพุทธรูปเป็นใต้ถุนหอสรง  พวกเด็ก ๆ จะอาบเล่นกันสนุกสนาน  พวกขนทรายก็ขนไป
           พอสมควรแก่เวลาเฒ่าแก่จะบอกเลิกและกราบลาพระกลับบ้านกัน  ถ้าวันใดไม่ได้ขนทราย  ก็จะพากันไปเก็บดอกไม้ตามป่า  วันแรกไปทิศตะวันออก  ได้มาแล้วก็มาแห่รอบอุโบสถ  ถวายพระ  หนุ่มสาวก็สาดน้ำกันไป  ผู้ใดมีสะบ้าก็จะนำสะบ้าไปเล่นในลานวัด  แห่เก็บดอกไม้นี้เป็นขบวน  มีฆ้อง  โหม่ง  ฆ้องกระแต  และกลอง ฯลฯ  แล้วแต่จะหาได้  บรรเลงไปด้วย  แล้วตกแต่งกองทรายด้วยดอกไม้ให้สวยงาม  ตัดกระดาษเป็นธงปักตามเจดีย์และปักธูปเทียนจุดสวยงามประมาณ ๑  ทุ่ม  พระสงฆ์จะลงมาเจริญพระพุทธมนต์ทำพิธีอุปสมบทเจดีย์ทราย  ตามพิธีพราหมณ์  รุ่งเช้าขึ้นวันแรม ๑๔ ค่ำ  ชาวบ้านพร้อมเฒ่าแก่ก็จะนำอาหาร แล้วเข้าไปตักบาตรถวายพระสงฆ์  พระสงฆ์จะเทศนาอนิสงฆ์ก่อเจดีย์ทรายให้ญาติโยมฟัง  ได้เวลาพระสงฆ์ก็จะยกพระพุทธรูปกลับคืนยังอุโบสถ

เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์ครั้งสำคัญ

           ปี  พ.ศ.๒๔๘๑   ซึ่งขณะนั้นจังหวัดขุขันธ์  มีหลวงศรีราชารักษา ( ผิว  ชาตรีรัฐ )  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ   รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา   เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอ   พุทธศักราช   ๒๔๘๑  ซึ่งขณะนั้นมีนายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  เป็นนายกรัฐมนตรี  เห็นว่า  จังหวัดขุขันธ์มีที่ทำการศาลากลางจังหวัดอยู่ที่อำเภอกลางศรีสะเกษ  แต่มิได้ชื่อว่า  ศรีสะเกษ  ซึ่งเป็นนามเมือง  จึงมีการนำเสนอ ต่อสภาผู้แทนราษฏร์ ขอเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง ดังนี้
           พระราชกฤษฎีกา  เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอ    ปีพุทธศักราช  ๒๔๘๑
           มาตรา  ๓  ให้เปลี่ยนนามจาก  "จังหวัดขุขันธ์"  เป็นนาม   "จังหวัดศรีสะเกษ "
           มาตรา  ๔ ให้เปลี่ยนนามอำเภอต่อไปนี้เสียใหม่  คือ 
               - อำเภอกลางศรีสะเกษ  เป็นอำเภอเมืองศรีสะเกษ
               - อำเภอห้วยเหนือ  เป็น  อำเภอขุขันธ์ 
               - อำเภอน้ำอ้อม  เป็นอำเภอกันทรลักษ์ 
               - อำเภอคง  เป็น  อำเภอราษีไศล 
            ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์ชื่อเมืองเก่า  ซึ่งมีอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษไว้  หลังจากมีพระราชกฤษฏีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและมีการแยกเมืองใหญ่ออกเป็นหลายอำเภอดังที่กล่าวมาแล้ว  อำเภอขุขันธ์ จึงเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่นั้นเป็นมา

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมืองขุขันธ์สมัยกรุงธนบุรี

              ปี พ.. ๒๓๑๐  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เป็นเวลาไม่ถึงปี  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสามารถกอบกู้ อิสรภาพได้เอกราชคืนมา และทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมืองขุขันธ์ จึง ยังต้องขึ้นต่อเมืองพิมาย   ภายใต้พระราชอำนาจ พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงธนบุรี
      
              ปี พ.. ๒๓๑๔  พระยานางรอง  เจ้าเมืองนางรองคบคิดกับเจ้าเมืองจำปาศักด์ กระทำการกำเริบต่อขอบขันฑ์สีมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีฯ(ทองด้วง)  ยกทัพไปปราบ เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา โดยให้กองทัพไปจับตัวเจ้าเมืองนางรองได้  นำมาพิจารณาได้ความสัตย์จริง จึงประหารชีวิตเสีย และทราบว่า ทางเมืองจำปาศักดิ์ซ่องสุมไพร่พลอยู่ โดยรวมไพร่พลได้ประมาณ หมื่นเศษๆ  เมื่อทรงทราบจากการกราบบังคมทูล  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือไปสมทบกับเจ้าพระยาทั้ง 2 ตีได้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง  เมืองอัตปือ กวาดต้อนเอาชาวเมืองเหล่านั้น และได้เกลี้ยกล่อมให้มาอยู่ร่วมกับพลเมืองของกลุ่มเขมรป่าดง และขึ้นตรงกับเมืองขุขันธ์  เมืองสังฆะ และเมืองสุรินทร์ เป็นจำนวนมาก 

              ปี พ.. ๒๓๑๙   หลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ ( ทองด้วง ) และเจ้าพระยาสุรสีห์ ( บุญมา ) ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ เพราะพระเจ้าสิริบุญสาร ให้พระสุโพธิ์ยกทัพมาตีบ้านดอนมดแดง และจับพระวอประหารชีวิต  (ในประวัติเมืองอุบลฯ) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ยกทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา  โดยมีบัญชาให้ เจ้าเมืองขุขันธ์  เจ้าเมืองสุรินทร์  เจ้าเมืองสังฆะ ยกกำลังไปร่วมทำศึกในครั้งนี้ด้วย

             หลังจากปราบศึกเมืองเวียงจันทร์ และเมืองอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ( พระเจ้าตากสิน ) โปรดเกล้าฯ  บำเหน็จความชอบ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์แก่เจ้าเมืองขุขันธ์  เจ้าเมืองสุรินทร์  เจ้าเมืองสังฆะ จาก "พระ"  ขึ้นเป็น " พระยา" ในราชทินนามเดิม  ทั้ง  ๓  เมือง (เจ้าเมืองขุขันธ์  จึงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน )  การทำศึกสงครามในครั้งนี้ กำลังทหารเมืองทั้ง 3 ได้แสดงถึงความเก่งกล้าสามารถอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะหลวงปราบ ( เชียงขันธ์ ) ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์ ได้รับยกย่องว่าเป็นทหารเอกในศึกครั้งนี้ หลังเสร็จศึกแล้วได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทร์กลับมาด้วย  โดยกวาดต้อนอพยพให้มาตั้งหลักแหล่งมีถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่เมืองขุขันธ์ จำนวนมาก  เช่น บ้านสิ (พื้นที่ อ.ขุนหาญ) บ้านหมากเขียบ  บ้านก้านเหลือง ( อำเภอเมืองศรีสะเกษ ) บ้านบก บ้านโสน ( อำเภอขุขันธ์ ) นอกจากนี้แล้ว หลวงปราบ ( เชียงขันธ์ ) ยังได้รับเอา เจ้านางคำเวียง  หญิงหม้ายซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ผู้สูงศักดิ์จากเวียงจันทน์  เป็นภรรยา พร้อมมีลูกชายติดตามเจ้านางคำเวียง มาด้วย ( ท้าวบุญจันทร์  บุตรเลี้ยง ) โดยอพยพครอบครัวเจ้านางคำเวียงพร้อมบ่าวไพร่ จำนวนมากให้ไปพำนักอยู่  ณ บ้านบก (พื้นที่บริเวณบ้านบก หมู่ที่ ๑๓ ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) 

            ปี พ.ศ. ๒๓๒๑  พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( ตากะจะ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น " พระยา " ได้ไม่นานก็ถึงแก่อนิจกรรม  จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ " หลวงปราบ " (เชียงขันธ์ )   เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ สืบแทน เป็นท่านที่ ๒ และโปรดให้ท้าวอุ่น บุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ ) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม  ปลัดเมืองขุขันธ์

           ต่อมาพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( เชียงขันธ์ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๒  เห็นว่าที่ตั้งเมืองขุขันธ์ เดิม(บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน) ทิศทางสายน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่ดังกล่าว มีชัยภูมิไม่เหมาะกับการตั้งเมือง อีกทั้งต้องการที่จะให้เป็นไปตามที่พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ ) เจ้าเมืองคนที่ ๑ ได้เตรียมการไว้แล้ว  จึงได้เลื่อนที่ตั้งเมืองขุขันธ์จากบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน มาตั้ง ณ  บริเวณหนองแตระ โดยเรียกชื่อว่า “เมืองขุขันธ์”  เช่นเดิม ในการเลื่อนที่ตั้งเมืองมาตั้ง ณ ที่ บริเวณที่ใหม่ ที่เป็นชัยภูมิที่ดี และน้ำท่วมไม่ถึง โดยได้มีการฝังหลักเมืองตามประเพณีนิยม  ดังปรากฏอยู่ ณ มุมวัดกลาง ด้านทิศหรดี(ทิศตะวันตกเฉียงใต้)ในปัจจุบัน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองขุขันธ์เคารพสักการะมาจนถึงปัจจุบัน

เมืองขุขันธ์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

เมืองขุขันธ์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย


           เมืองขุขันธ์  ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.. ๒๓๐๒ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตรงกับรัชสมัยพระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือพระเจ้าเอกทัศน์  กษัตริย์องค์สุดท้าย   บริเวณที่ตั้งเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  ก่อนตั้งเป็นเมืองยังคงเป็นป่าดงพงพี  มีชุมชนชาวเขมร กูย หรือกวย อาศัยอยู่เป็นกลุ่มๆ มากบ้างน้อยบ้าง  กระจัดกระจาย อยู่ห่างกันระยะทางเดินเข้าหมู่บ้าน ๑ คืน ๒ คืนและ ๔-๕ คืนบ้าง  นักโบราณคดี มีความเห็นว่าดินแดนแถบนี้ ในอดีตบริเวณที่อยู่ในการปกครองของอาณาจักรขอมโบราณมาก่อน เพราะมีหลักฐานเป็นโบราณสถาน  เช่น  ปรางค์กู่ หรือปราสาทบ้านกู่ ปราสาทสมอ  ประสาทตาเล็ง  เป็นต้น

          เมืองขุขันธ์ในอดีตเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีอาณาเขตที่กว้างขวางมาก  คือ  มีอาณาบริเวณ ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเดชอุดม  อำเภอน้ำยืน  จังหวัดอุบลราชธานี และ เมืองมโนไพร ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน เมืองขุขันธ์ในอดีตเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญ จึงมีบทบาททางการเมืองการปกครองที่สำคัญเมืองหนึ่ง  เมื่อเริ่มตั้งเมืองให้ขึ้นต่อเมืองพิมาย  และต่อมาได้ยกฐานะให้ขึ้นต่อกรุงเทพมหานคร

          การปกครอง เมืองขุขันธ์ในอดีต  ปกครองแบบเมือง หัวเมืองชั้นนอก  โดยระบบ  "จตุสดมภ์ "   มีประชาชน ประกอบด้วย เผ่าชนเขมร  เผ่าชนกูยหรือกวย เผ่าชนลาว เนื่องด้วยในอดีตเผ่าชนต่างๆ มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว  ซึ่งเหตุผลการเคลื่อนย้ายก็แตกต่างกันไป    โดยอพยพเคลื่อนย้ายไปเป็นกลุ่มๆ  กลุ่มใหญ่บ้าง กลุ่มเล็กบ้าง  บางกลุ่มก็ตั้งเป็นชุมชนของเผ่าชนตนเอง  หรือ บางกลุ่มก็อพยพโยกย้ายไปสมทบกับกลุ่มชนเผ่าชนอื่นๆ ที่มีหลักแหล่งอยู่ก่อนแล้ว  อย่างไรก็ตามเพื่อยกฐานะเป็นเมือง จึงต้องรวมอยู่ในการปกครองเดียวกันซึ่งจะกล่าวถึง ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นต้นมา

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีนั้นได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางมาก  โดยครอบคลุมถึงอาณาจักรลาว และอาณาจักรกัมพูชา ในฐานะประเทศราช  อาณาจักรลาวมีศูนย์กลางปกครองที่นครเวียงจันทน์  ซึ่งในปี พ.. ๒๑๐๓ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้สร้างนครเวียงจันทน์ เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร ซึ่งกษัตริย์ของอาณาจักรลาวพระองค์นี้ เมื่อครั้งไทยทำศึกสงครามกับพม่า ได้ยกกองทัพมาช่วยไทยรบด้วย

          ปี พ.. ๒๒๕๗  ราชสำนักนครเวียงจันทน์  เกิดการแย่งชิงอำนาจการปกครองกันเอง ทำให้อาณาจักรลาว  เกิดการแตกแยก  ออกเป็น  ๓  ฝ่าย เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน คือ  อาณาจักรหลวงพระบาง  อาณาจักรเวียงจันทน์  และอาณาจักรจำปาศักดิ์ จากเหตุการณ์ แย่งอำนาจกันเองของอาณาจักรลาวในครั้งนี้ทำให้ชาวลาวกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำโดยราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ก  พร้อมด้วยภิกษุสามเณร และกลุ่มข้าทาสบริพารได้อพยพโยกย้ายหนีย้ายลงทางใต้  ผ่านทางพระธาตุพนมเลยลงไปจนถึงเมืองเขมร     ต่อมาได้อพยพเคลื่อนย้ายกลับมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองจำปาศักดิ์

          เมืองจำปาศักดิ์ เป็นเมืองเสมือนเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองอัตบือแสนแปง หรือแสนปาง  ต่างก็เป็นเมืองที่อยู่ในการปกครองของพวกลัวะข่า  ซึ่งขณะนั้นเมืองจำปาศักดิ์ ปกครองโดยนางแพง   มีบรรดาศักดิ์เป็น  " เจ้าหญิงลัวะข่า " ลูกผสมเป็นธิดาของนางเพา เจ้าหญิงลัวะข่าแท้ๆ กับเจ้าคำนางหรือเจ้านางคำ  ด้วยคุณงามความดีของเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ก นางแพงจึงมอบอำนาจการปกครองครองเมืองจำปาศักดิ์  ให้เจ้าราชครูหลวงด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ  เจ้าราชครูหลวงจึงได้อัญเชิญหน่อเชื้อพระวงศ์จากเวียงจันทน์   คือ  เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร  ขึ้นปกครอง  เมืองจำปาศักดิ์แทนนับแต่  .. ๒๒๖๑ - ๒๒๘๑

           การแยกเป็นเมืองอิสระ ของอาณาจักรลาวครั้งนี้ทำให้ทั้ง  ๓ เมือง เกิดการแย่งชิงการครอบครองเมืองต่อกัน  โดยต่างฝ่ายพยายามที่จะสะสมและสร้างแสนยานุภาพ ของเมืองตนเอง  เพื่อไว้ต่อสู้และป้องกันการรุกรานจากเมืองอื่น ทำให้วิถีความเป็นอยู่และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องระหว่าง ชาวเมืองจำปาศักดิ์กับชาวเมืองอัตปือที่มีอย่างแนบแน่น มีอันต้องเปลี่ยนแปลงไป  อันเนื่องจากกษัตริย์ลาวผู้ครองเมืองจำปาศักดิ์บีบคั้นบังคับให้เมืองอัตปือแสนปาง  ส่งช้าง  ม้า เพื่อสร้างกองทัพให้ได้ตามต้องการ  ทำให้ชาวเมืองอัตปือแสนปาง ประกอบด้วย เผ่าชนชาวกูยหรือกวย และเขมรบางส่วน ทนต่อการถูกบังคับไม่ไหว จึงได้อพยพโยกย้ายหนีข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่ง สมทบอยู่รวมกับ  เขมร และกูยหรือกวย ดั้งเดิมและบางส่วนได้รวมกลุ่มตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนของตนเอง  ตามบริเวณป่าดงดิบในดินแดนแถบอีสานใต้  อันได้แก่  พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์และบางส่วนของนครราชสีมา

          เมื่อเจ้าสร้อยศรีสุนทรพุทธากูร  ได้ปกครองเมืองจำปาศักดิ์แล้ว ต่อมาเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็กจึงขยายอำนาจโดยแต่งตั้งชาวลาวที่มีความรู้ความสามารถออกไปปกครอง เมืองลัวะข่าต่างๆ    ภายในเขตเมืองจำปาศักดิ์ เช่น  ส่งจารย์ฮวด เป็นเจ้าเมืองสี่พันดอน ให้ท้าวมั่น ปกครองเมืองสาละวัน    ให้จารย์แก้วปกครองเมืองสุวรรณภูมิ  เป็นต้น

          ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของเผ่าชนต่างๆ ไม่ว่า ลาว  เขมร  กูยหรือกวย  ต่างก็มีเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน  คือ เพื่อหาความเป็นอิสระและหาแหล่งที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์ในการตั้งถิ่นฐาน  โดยได้แยกย้ายกันตั้งหลักแหล่งเป็นกลุ่ม  บางกลุ่มตั้งชุมชนในกลุ่มของตนเองขึ้นใหม่  บางกลุ่มก็นำกลุ่มเข้าสมทบอยู่ร่วมกับชุมชนกลุ่มเขมรป่าดงดั้งเดิมที่สำคัญ ประกอบด้วย
        กลุ่มที่ ๑  มีหัวหน้า ชื่อ  " เชียงปุม " มีหลักแหล่งอยู่ที่บ้านเมืองที ( จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน )
       กลุ่มที่ ๒ มีหัวหน้าชื่อ " เชียงสี " มีหลักแหล่งอยู่ที่บ้าน กุดหวาย ( ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอรันตบุรี จังหวัดสุรินทร์ )
        กลุ่มที่ ๓  มีหัวหน้าชื่อ  ตาสุ หรือตากะจะ และเชียงขันธ์ มีหลักแหล่งอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน(บริเวณใกล้ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน หรือปราสาทกุด วัดบ้านเจ็ก อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน)
        กลุ่มที่ ๔  มีหัวหน้าชื่อ "เชียงฆะ" หรือ "เชียงเกา" มีหลักแหล่งอยู่บ้านอัจจะปะนึง ( อำเภอสังขะ ในปัจจุบัน )
        กลุ่มที่ ๕  มีหัวหน้าชื่อ "เชียงไชย"มีหลักแหล่งอยู่บ้านกุดไผทสิงขร (ปัจจุบันอยู่บริเวณพื้นที่ตำบลจาระพัด อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์)

           สำหรับกลุ่มชนต่างๆ ที่อพยพย้ายถิ่นไม่ว่าจะอพยพมาก่อน หรืออพยพมาหลังก็ตามต่างก็มีความผูกพันธ์กัน ในทางการประกอบอาชีพ และเชื้อสาย โดยเฉพาะกลุ่มชนชาวเขมร และกลุ่มชนชาวกูย หรือกวย  ต่างก็มีความชำนาญในการคล้องช้าง จับช้างป่า มาใช้งานทำการเกษตร หาของป่าบริโภค  ประกอบกับภูมิภาคแถบนี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์  จึงทำให้มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด เช่น ช้าง  เก้ง  กวาง ละมั่ง โคแดง  ฯลฯ ซึ่งเหมาะกับความถนัดในการที่จะประกอบอาชีพอย่างยิ่ง และเนื่องจากหัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงที่สำคัญทั้ง ๕  คน แม้จะแยกย้ายกันอยู่เป็นกลุ่มๆ คนละแห่งอย่างอิสระ   แต่ก็มีความผูกพันไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

            ในปีพุทธศักราช ๒๓๐๒ ตรงกับรัชสมัยในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือ   สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.. ๒๓๑๐ ) ได้เกิดเหตุอันไม่คาดฝัน กล่าวคือ ได้มีพระยาช้างเผือกแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ตกมัน แตกโรงช้างหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา เตลิดหนีไปทางทิศตะวันออกโดยผ่านดินแดนแถบเทือกเขาดงพญาไฟ เข้าสู่เขตเทือกเขาพนมดงเร็ก  พระเจ้าเอกทัศน์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สองพี่น้องซึ่งเป็นทหารเอกในสมัยนั้น  (ทองด้วง กับ บุญมา  หรือต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท)  คุมไพร่พลจำนวน ๓๐ คน ออกติดตามพระยาช้างเผือก นำกลับกรุงศรีอยุธยา โดยคณะผู้ติดตามได้เดินทางถึงเมืองพิมาย เจ้าเมืองพิมายได้นำคณะผู้ติดตาม ไปพบและขอความร่วมมือช่วยเหลือจากหัวหน้าหมู่บ้านเขมรป่าดง  คือ เชียงสี  เชียงปุม  เชียงไชย และเชียงฆะ หรือ เชียงเกา   แต่ก็มิได้ข่าวคราวการหนีมาของพระยาช้างเผือก แต่ประการใด  ดังนั้น หัวหน้าหมู่บ้านกลุ่มชนดังกล่าวจึงได้นำคณะผู้ติดตามไปพบเพื่อขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าเขมรป่าดง แห่งบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน คือ ตาสุ หรือ ตากะจะ  และเชียงขันธ์    จึงได้ทราบว่ามีพระยาช้างเผือกหนีมาอาศัยในเขตพื้นที่บริเวณเทือกเขาพนมดงรักจริง

          ตากะจะ และเชียงขันธ์ ร่วมกับหัวหน้ากลุ่มชนเขมรป่าดง กลุ่มชน โดยมีตากะจะผู้อาวุโสเป็นผู้ประชุมวางแผนแล้วสั่งลูกบ้านเตรียมตัวออกค้นหาโดยใช้เวลา วัน ก็สามารถจับพระยาช้างเผือกได้    ป่าเชิงเขาพนมดงรัก แล้วนำมามอบให้คณะผู้ติดตามนำส่งพระยาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยา  ได้ร่วมเดินทางกับคณะนำพญาช้างเผือกส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย 

          การที่หัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่ม ได้ช่วยเหลือคณะผู้ติดตามจนสามารถจับพระยาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนี้ สองพี่น้องหัวหน้าคณะผู้ติดตามได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ฯ ให้ทรงทราบถึงการติดตามจับพระยาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนี้  ว่าได้รับการช่วยเหลือจากหัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่ม เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ  จึงชื่นชมในคุณงามความดีที่หัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงที่ได้มีต่อกรุงศรีอยุธยา  จึงโปรดเกล้า ฯพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่หัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่ม ตามลำดับ  ดังนี้ 
๑. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  ตากะจะ   เป็น "หลวงแก้วสุวรรณ " และเชียงขันธ์  เป็น  "หลวงปราบ "
๒. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงปุม  เป็น  "หลวงสุรินทร์ภักดี "
๓. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงฆะหรือ เชียงเกา  เป็น  "หลวงเพชร "
๔. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงสี    เป็น  "หลวงศรีนครเตา "
๕. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงไชย เป็น  "ขุนไชยสุริยง"
        โดยให้หัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่ม เป็นนายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้านในฐานะรับราชการขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย โดยอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา  ยกเว้น “หลวงปราบ” น้องชายหลวงแก้วสุวรรณ  เป็นผู้ช่วยนายกองหัวหน้าชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน    เป็นการมอบอำนาจแก่นายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้านกลุ่มเขมรป่าดงควบคุมปกครองดูแลสมัครพรรคพวก และลูกบ้านตนเองเพื่อเตรียมการยกฐานะชุมชนหมู่บ้านขึ้นเป็นเมืองต่อไป  จากความกรุณาที่ได้รับโปรดเกล้าฯ  ในครั้งนี้ทำให้นายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้าน ทั้ง ๕ ชุมชนหมู่บ้าน มีความภาคภูมิใจและดีใจอย่างมาก   จึงตั้งใจที่จะรวบรวมพรรคพวกให้เข้าเป็นลูกบ้านให้มากที่สุด  และด้วยความเป็นผู้นำสามารถที่จะปกครองลูกบ้าน ให้อยู่ดี  มีสุข และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

           ในปี พ.ศ. ๒๓๐๖  ภายหลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้าน และได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้ชุมชนหมู่บ้าน เจริญก้าวหน้าพอสมควรแล้ว ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  จึงได้รวบรวมของป่า ได้แก่  งาช้าง  นอแรด  ขี้ผึ้ง  น้ำผึ้ง  ยางสน และ สิ่งของอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก  ร่วมกันนำกราบบังคมทูลเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ณ  กรุงศรีอยุธยา ต่างก็ได้กราบบังคมทูลถวายให้ทรงทราบถึงการปกครองดูแลหมู่บ้านชุมชนของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้านให้ทรงทราบถึงความเจริญก้าวหน้า   และเมื่อพระองค์ทรงทราบถึงความตั้งใจในการที่จะปรับปรุงชุมชนหมู่บ้าน การรวบรวมไพร่พลมีจำนวนอันสมควร และได้แสดงความจงรักภักดีเช่นนี้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะชุมชนหมู่บ้านขึ้นเป็นเมือง  และโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ผู้ปกครองชุมชนหมู่บ้านให้มีบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้น  ดังนี้
         ๑. ชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองขุขันธ์” (ชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน แท้ที่จริงก็คือเป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมแถบบริเวณพื้นที่ทางทิศเหนือของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนั่นเอง “บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน” ขณะนั้นหาใช่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านดวนใหญ่  อำเภอวังหิน  จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันแต่อย่างใด และเมื่อยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า  “เมืองขุขันธ์” หาใช่ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองศรีนครลำดวน” อย่างที่เข้าใจไม่  ดังหลักฐานในพงศาวดารระบุไว้) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงแก้วสุวรรณ” (ตากะจะ) ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์เป็นท่านแรก และต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นชั้น “พระยา” ในราชทินนาม “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” โดยมีที่ตั้ง “ศาลาว่าราชการอยู่ที่เมืองขุขันธ์”  ฐานะหัวเมืองชั้นนอก  ขณะนั้นขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
            ๒. โปรดเกล้าฯให้ชุมชนบ้านเมืองทีได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองประทายมันต์” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น  เมืองสุรินทร์) ทรงโปรดเกล้าฯให้ “หลวงสุรินทร์ภักดี”(เชียงปุม) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น  “พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” ตำแหน่งเจ้าเมืองประทายสมันต์  
           ๓. โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนบ้านอัจจะปนึง หรือบ้านโคกยาง ได้รับยกฐานะขึ้นเป็น "เมืองสังฆะ"  ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ “หลวงเพชร” (เชียงฆะ หรือ เชียงเกา)ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น  “พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ” ตำแหน่ง  “เจ้าเมืองสังฆะ” 
           ๔. โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนบ้านกุดหวาย ได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองรัตนบุรี” ทรงโปรดเกล้าฯให้ “หลวงศรีนครเตา” (เชียงสี) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระศรีนครเตา” ตำแหน่ง “เจ้าเมืองรัตนบุรี”
            ๕. โปรดเกล้าฯให้ชุมชนบ้านกุดไผทสิงขร(บ้านจารพัต ในปัจจุบัน) ซึ่งมี “ขุนไชยสุริยง”(เชียงไชย) ตำแหน่งนายกองนอก ขึ้นตรงต่อเมืองสังฆะ
         โดยให้ทั้ง ๔ เมือง(ขุขันธ์ สุรินทร์ สังขะและรัตนบุรี) ทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย ภายใต้พระราชอำนาจแห่งพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยา จากการได้ยกฐานะเป็นเมืองและได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพิเศษ เช่นนี้ ทำให้เจ้าเมืองทั้ง  ๔ ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง และต่างก็มีความตั้งใจในการที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เป็นระบบระเบียบขึ้น ให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ และปกครองบ้านเมืองโดยสุจริต  ยุติธรรม   สร้างความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป

บริเวณที่ตั้งของเมืองขุขันธ์ในอดีต

บริเวณที่ตั้งของเมืองขุขันธ์ในอดีต
คือ เมืองโคกขัณฑ์   โคกขัน   ขุขันธ์ หรือ เมืองโคกลำดวน
              ที่ตั้งของเมืองขุขันธ์โบราณ  หรือปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน  สันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณที่ตั้งของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนี้   เพราะพบแท่นโยนีลิงค์ หรือ ฐานโยนีทำด้วยศิลาแลง  กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณเมืองขุขันธ์ในปัจจุบันหลายแห่ง  แท่นโยนีลิงค์นี้เป็นรูปเคารพของชาวขอมโบราณที่นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย  ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากในพุทธศตวรรษที่ 12 - 14   แท่นโยนีลิงค์ในบริเวณเมือง ขุขันธ์พบอยู่บริเวณวัดเจ็ก ในตัวอำเภอขุขันธ์ปัจจุบัน ,ที่ปราสาทตาเล็ง  ศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุราว พ..1560–1630  , แท่นโยนีลิงค์ที่บ้านปราสาทใต้ห่างจากอำเภอขุขันธ์ปัจจุบัน ประมาณ 7 .. และปราสาทเก่าอยู่บริเวณตะวันออกโรงเรียนปรือใหญ่วิทยบัลลังก์   ปัจุจบันพระครูประกาศธรรมวัตร(หลวงพ่อสาย)  เจ้าอาวาสวัดบ้านตะเคียนราม  ได้สั่งเคลื่อนย้ายแท่นโยนีลิงค์ หรือ ฐานโยนี มาไว้ที่หน้าอุโบสถวัดบ้านตะเคียนราม อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
  
           นอกจากนี้  หลักฐานทางเอกสารได้กล่าวถึง  เมืองขุขันธ์  ว่าเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยโบราณ  เป็นทางผ่านของเส้นทางการสร้างปราสาท มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนัน (Funan)   อาณาจักรเจนละ (Zhenla) และ อาณาจักรขอม (Khmer) ในสมัยเมืองพระนคร คือ นครวัด นครธม  เป็นเส้นทางมิตรภาพระหว่างไทย กับกัมพูชา   ที่เดินทางไปมาหาสู่กันจากดินแดนแห่งทะเลสาบ  มายังภาคอีสานของประเทศไทยตลอดมา  หลักฐานทางเอกสารมีดังนี้

           1. เมืองขุขันธ์  เป็นคำที่ชาวขอมโบราณเรียกบริเวณที่ตั้งของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนี้ว่า เมือง  โคกขัณฑ์  ตามพจนานุกรมเขมร   ฉบับพุทธศาสนบัณฑิต  ซึ่งมีประกาศให้จัดทำขึ้นเมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม พ.. 2458  ในหน้า  1384   เรียกเมืองขุขันธ์   ว่า   เมืองโคกขัณฑ์    เมืองโคกขัณฑ์นี้  เป็นเมืองคู่กันกับ เมืองสุรินทร์   ซึ่งมีประชาชนส่วนใหญ่ยังพูดภาษาเขมรและรักษาขนบธรรมเนียมของตนเองอยู่    " ซรกโคกขัณฑ์ "  ในสำเนียงเขมร หรือ   เมืองขุขันธ์   เป็นชุมชนโบราณมานานนับพันปีแล้ว    คำว่า  ขุขันธ์    จึงมาจากคำว่า  "โคกขัณฑ์ " 
  ​​​            และได้เขียนเพี้ยนมาเป็นขุขันธ์ดังที่ปรากฏในปัจจุบันนี้     โคกขัณฑ์   เป็นดินแดนมีที่มีอาณาเขตกว้างขวาง   เป็นชุมชนหนึ่งที่เป็นทางผ่านของการเดินทางในเส้นทางของการสร้างปราสาทของกษัตริย์ขอมมาแต่โบราณ    ซึ่งต่อมาทางราชสำนักของไทยใช้เรียกผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนแถบนี้ว่า   เขมรป่าดง

          2. เมืองขุขันธ์  หรือ บริเวณขุขันธ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนี้  เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยโบราณ  ปรากฏหลักฐานใน   หนังสือประวัติศาสตร์เขมร   ภาคที่ 1-2 เขียน โดย  ตรึง   เงีย   หน้า 143 (ดูแผนที่ประกอบ) ปรากฏมีเมืองขุขันธ์  (เขตโคกขัน) เขียนเป็นภาษาเขมรตามอักขระว่า  โคกขัน  ในตอนต้นกรุงศรีอยุธยา  ก่อนกรุงละแวกแตก ในสมัยก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองละแวกได้  ซึ่งขณะนั้นกษัตริย์เขมรผู้ครองกรุงละแวก คือ พระจันทราชา  (ครองเมืองละแวก พ..2059 - 2109)
จากแผนที่ข้างบนนี้ ชาวกรุงละแวกในสมัยพระจันทราชา  (..2059 - 2109) เรียกว่า โคกขัน  
           3. ต่อมาชาวเขมรเรียกเมืองขุขันธ์  ว่า  ขุขันธ์ ดังเนื้อความตามแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชา  ในหนังสือ  ศิลปและวัฒนธรรม (Art &culture) วันที่ 01 มีนาคม พุทธศักราช 2546 (ปีที่ 24 ฉบับที่ 5)เขียนโดย ศานติ ภักดีคำ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร  (E-mail : webmaster@matichon.co.th Copyright  by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved. Design by Matichon Information Center)   ในการที่ไทยต้องคืนจังหวัดเสียมราฐ    พระตะบอง   ให้ฝรั่งเศสไป  ว่า 
"แผ่นดินเขมรได้กลับคืนมาสู่เขมร  ด้วยความช่วยเหลือของฝรั่งเศส  ในปี ค.. 1904  สยามคืน  สตึงเตรง  มลูไพร  และทนเลเพา  และในปี  ..1906  สยามคืนพระตะบอง และเสียมเรียบ  อีก  สยาม ได้  เมืองสุรินทร์  บุรีรัมย์  ขุขันธ์ " ...

           เมืองขุขันธ์  จึงเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุนานนับพันปีที่ชาวขอมโบราณ  ใช้เรียกบริเวณที่เป็นเมืองขุขันธ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนี้ว่า   เมือง โคกขัณฑ์   ซึ่งในเวลาต่อมาชาวเขมรในสมัยกรุงละแวกของพระจันทรราชา  (..2059 - 2109) เรียกว่า  เมือง  โคกขัน   และเขมรในรัฐอารักขาของฝรั่งเศส  ได้เรียกบริเวณที่เป็นอำเภอขุขันธ์ในปัจุบันนี้ว่า เมืองขุขันธ์

           เมืองขุขันธ์  มีเจ้าเมืองระดับ  พระยามาถึง 9 ท่าน     ตำแหน่ง พระยา” ใช้ธรรมเนียมของเขมร  ตำแหน่ง  ออกญา”  ที่เรียกว่า  สดาจ่กราญ่” “ออกญาหรือ พระยา มีอำนาจเด็ดขาด  สามารถสั่งประหารชีวิต  คนที่มีโทษถึงประหารได้   และมีดาบประจำตำแหน่งสำหรับใช้ประหารชีวิตนักโทษด้วย    เจ้าเมืองขุขันธ์ทุกท่านต่างก็ได้รับดาบประจำตำแหน่งเล่มนี้ทุกคน
         
           ที่ประหารชีวิตนักโทษในบริเวณเมืองโคกขัณฑ์ (ขุขันธ์)  อยู่ที่บริเวณโรงเรียนศรีประชานุกูลในปัจจุบัน (อนุบาลศรีประชานุกูล)  ระหว่างบ้านบกกับโรงเรียนขุขันธ์วิทยา  ซึ่งชาวเมืองโคกขัณฑ์(ขุขันธ์)เรียกบริเวณนี้ว่า  เวียลตาย  เวียล เป็นภาษาเขมร แปลว่า ทุ่ง   ท้องทุ่ง   ที่ราบโล่ง   ส่วนคำว่า  ตาย   เป็นภาษาไทย   แปลว่า สิ้นใจ  สิ้นชีวิต  สิ้นสภาพของการมีชีวิต   ดังนั้น คำว่า เวียลตาย  ก็คือบริเวณที่ใช้ประหารชีวิตนักโทษ  หรือ  ทุ่งที่ใช้ประหารนักโทษ   บางครั้งชาวบ้านก็ยังเรียกบริเวณนี้ว่า  บุหลวง คำว่า บุ (บุะ)  เป็นภาษาเขมร  หมายถึง  ไร่ที่ถูกทิ้งร้างไป  ป่าละมาะที่ถูกทิ้งร้างหลังจากที่ชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย  หลวง  เป็นคำไทย  หมายถึง  เป็นของรัฐบาล เป็นของทางราชการ  เขมรใช้คำนี้โดยเขียนตามไทย  ว่า หลวง  อ่านว่า   หลวง  ความหมายก็ตรงกับภาษาไทย    คำว่า  "บุหลวง" ก็คือ   ป่าละเมาะของทางราชการ  หรือ  ที่ดินหลวง  นั่นเอง   พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน และพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 2 - 9  เจ้าเมืองขุขันธ์ทั้ง   9  ท่าน   ได้ใช้บริเวณ เวียลตาย  หรือ  บุหลวง  เป็นสถานที่สำหรับใช้ประหารนักโทษที่ต้องโทษถึงประหารในบริเวณป่าละเมาะแห่งนี้มาตลอดมา   ในธรรมเนียมของเขมร   ผู้ที่ได้ตำแหน่ง  ออกญา ที่เรียกว่า สดาจ่ กราญ่ หรือ พระยา จะได้รับศาสตราวุธ และยุทโธปกรณ์  ดังต่อไปนี้
           ศาสตราวุธ     คือ     
      (1)พระขรรค์
      (2)ธนู
      (3) หน้าไม้
      (4) โนน  คล้ายหอก  แต่ปลายด้ามมีพู่
      (5) ดาบสั้น  ดาบยาว
      (6) พร้าด้ามยาว
      (7) หอกสั้น หอกยาว
      (8)พลอง
      (9)เขน
      (10)กริช
      (11)ปืนสั้น  ปืนยาว
ยุทโธปกรณ์  คือ
      (1)เสื้อเกราะ
      (2)เสื้อยันต์
      (3)ผ้ายันต์
      (4)ธงชาติ
      (5)ธงมหาราช
      (6)ธงชัย
      (7)กลองชัย
      (8)ฆ้องชัย
      (9)กลองแขก (จากประวัตศาสตร์เขมร ภาคที่ 1-2 โดย ตรึง เงีย หน้า หน้า 179 -180)

           เมืองขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ  ที่ขึ้นต้นด้วย  โคก  มีอยู่  3  เมือง   นครโคก  ใหญ่ๆ คือ    โคกทะโหลก    โคกตะแบง   และโคกลำดวน  หรือ   ที่เจ้าของชุมชนโบราณเรียกตัวเองว่า   โคกขัณฑ์  
ดังนี้
            (1)  โคกทะโหลก   เมืองหลวงของอาณาจักร ฟูนัน หรือ  อาณาจักร พนม ในราวพุทธศตวรรษที่ 6 จนถึงราว พ.. 1100  มีเมืองหลวงชื่อ    นอกอ  โคกทะโหลกแปลว่า  นครเนินต้นพอก ( โคก  เป็นภาษาเขมร   แปลว่า   ที่สูง   เนินสูง   ที่ราบสูง ,   ทะโหลก   แปลว่า ต้นพอก)   โคกทะโหลก     หมายถึง  บริเวณที่สูงที่มีต้นพอกขึ้นหนาแน่น      บริเวณที่ราบสูงที่มีต้นพอกขึ้นชุกชุม  บริเวณป่าสูงที่เต็มไปด้วยหมู่ต้นพอก  บริเวณเนินสูงที่เต็มไปด้วยหมู่ไม้จำพวกต้นพอก  โคกทะโหลก  เมืองนี้ตั้งอยู่แถบเมืองบาพนม ในจังหวัดเปรเวง  ในประเทศกัมพูชา  และจังหวัดออกแอ้ว  (Oc-Eo) ในประเทศเวียดนาม   อันเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเล  ตรงดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขง  ทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

            (2)  โคกตะแบง   เป็นบริเวณที่ตั้งปราสาทเกาะเกริ์  ในสมัยพระเจ้าไชยวรมันที่ 4  น้องเขยของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 .. 1471-1485  อยู่ในจังหวัดพระวิหารของกัมพูชาในปัจจุบันนี้    โคกตะแบง  หมายถึง  บริเวณเนินต้นตะแบง   เป็นบริเวณที่มีต้นตะแบงขึ้นชุกชุมบริเวณป่าสูงที่เต็มไปด้วยต้นตะแบง  ปราสาทเกาะเกริ์เข้าใจว่าเป็นปราสาทองค์เดียวในกัมพูชาที่สร้างเป็นรูปปิระมิด   ตัวปราสาทล้อมรอบด้วยปราสาทองค์เล็กจำนวนมาก  และในปราสาทองค์เล็กหลายองค์พบแท่นโยนีและศิวลิงค์ขนาดใหญ่มาก  เป็นศิวลิงค์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา

            (3) โคกลำดวน หรือบริเวณโคกขัณฑ์   เป็นชุมชนโบราณอยู่ในบริเวณที่ราบสูงเทือกเขาพนมดงเร็กกับภาคอีสานของไทย    โคก=เนิน  ที่ราบสูง     ขัณฑ์ = ดินแดน   โคกขัณฑ์     คือ  บริเวณที่ราบสูงเลยเทือกเขาพนมดงเร็กขึ้นมายังภาคอีสานของไทยในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนี้   ชุมชนโบราณแถบนี้ เจ้าของพื้นที่เรียกว่า   โคกลำดวน  อันเป็นบริเวณที่มีต้นลำดวนขึ้นอยู่โดยทั่วไป  เป็นบริเวณที่มีต้นลำดวนขึ้นชุกชุม เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงภูมิประเทศของเมืองหรือชุมชนดังกล่าว  จึงใช้คำว่า  ศรีนครลำดวนเป็นสร้อยต่อท้ายราชทินนามของเจ้าเมืองขุขันธ์ทั้ง 9 ท่าน  เพราะว่า เมืองขุขันธ์ หรือ แดนโคกลำดวน เป็นเมืองเก่าแก่มานานนับพันปีแล้ว

            ฉะนั้น  โคกลำดวน คือบริเวณที่ชาวชุมชนโบราณเรียกว่า  โคกขัณฑ์ ชาวกรุงละแวกในสมัยพระจันทราชา  (..2059 - 2109) เรียกว่า โคกขัน  และในเวลาต่อมาชาวชุมชนโคกลำดวนได้เรียกบริเวณ นี้ว่า  "โคกขัณฑ์"  ก็คือ บริเวณเมืองขุขันธ์ อันเป็นบริเวณที่ตั้งของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนี้  และเจ้าเมืองทั้ง 9 ท่าน  หรือ พระยาขุขันธ์ทั้ง 9 ท่าน  ก็ได้ปกครองบ้านเมืองในราชทินนาม “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน และพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน   อยู่ที่นี่ตลอดมา

ขอบพระคุณผู้เรียบเรียง : ดร.ปริง เพชรล้วน



ชุมชนโบราณในเส้นทางสายปราสาท หรือ ชุมชนโบราณในราชมรรคา

              เส้นทางสายปราสาท  หรือ ราชมรรคา  ที่เริ่มจากเมืองพระนคร  หรือ  นครวัดนครธม ของกษัตริย์ขอม โดยเฉพาะพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  (.. 1720  - 1762) ทรงสร้างแบ่งออกใหญ่ๆได้เป็น  3  ทาง  ดังนี้
              1.ทางด้านทิศเหนือ    จะมีปราสาทเรียงรายเหนือประเทศกัมพูชาในปัจจุบันขึ้นมาระหว่างสองฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของทางสายแม่น้ำโขงระหว่างภาคอีสานของไทย  และส่วนของประเทศลาวที่ไปจนถึงเวียงจันทน์
              2.ทางด้านทิศตะวันออก  จะมีปราสาทเล็ก ปราสาทใหญ่  เป็นระยะๆไปตลอดจนถึงดินแดนอาณาจักรจามปา  ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
              3.ทางด้านทิศตะวันตก   ผ่านปราสาทพนมรุ้ง  ในจังหวัดบุรีรัมย์   ปราสาทหินพิมาย   ในจังหวัดนครราชสีมา  ปราสาทสด็อกก๊อกทม ในจังหวัดสระแก้ว   ไปจนจดปราสาทต่างๆในจังหวัดกาญจนบุรี   จังหวัดเพชรบุรีในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7     การสร้างปราสาท        ทั้งปราสาทขนาดเล็กและปราสาทขนาดใหญ่ ในเส้นทางสายปราสาท  โดยเฉพาะ การสร้าง  ธรรมศาลา  หรือ  ที่พักคนเดินทาง   และ  อโรคยาศาลา   หรือ   โรงพยาบาล    จะมีการสร้างทุกระยะประมาณ   15  กิโลเมตร   เป็นระยะการเดินทางที่พอเหมาะในสมัยโบราณในสภาพที่ธรรมชาติยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์       ถ้าเดินทางเป็นหมู่คณะใหญ่ๆมีกองเกวียนจะใช้ระยะเวลา  1 วัน    ก็จะถึงที่พักคนเดินทาง หรือ บ้านคนมีไฟ  ถ้าเป็นคณะเล็กๆเดินทางอย่างเร่งรีบจะใช้เวลาประมาณ  6-8  ชั่วโมง      ถ้ามีการเร่งรีบพิเศษไปโดยสัตว์พาหนะเช่นม้า จะถึงบ้านพักคนเดินทางได้เร็วกว่านี้ในสมัยของกษัตริย์องค์นี้มีการสร้างปราสาทหินที่เรียกว่า ธรรมศาลา จากเมืองนครหลวงไปยังเมืองพิมาย  17  แห่ง      ระหว่างเมืองนครหลวงไปถึงจามปา  57  แห่ง  และมีหลักฐานว่า    ทรงสร้างปราสาทไว้เรียงรายตามราชมรรคามากกว่า     100  แห่งรูปแบบการสร้าง อโรคยาศาลา  หรือโรงพยาบาล     สร้างด้วยไม้แบ่งเป็นห้องๆ  มีแพทย์ประจำ  2  คน  ผู้ช่วยพยาบาล 6 คน ชาย  2  หญิง 4   ผู้รักษายา  2  คน   คนครัว  2  คน  คนเตรียมเครื่องสังเวยพระพุทธรูป 2  คน  พยาบาลชาย   14  คน  หญิง  6  คน   ทำหน้าที่ต้มและบดยาหญิง 2 คน มีหน้าที่ตำข้าว ขนาดของโรงพยาบาลรักษาคนไข้ได้เต็มที่ 66 คน   นอกจากห้องสำหรับคณะผู้รักษาพยาบาล  ยังมีห้องทำด้วยหินไว้ประดิษฐาน พระพุทธไภษัชคุรุ ไวทูรย์ประภา   โพธิสัตว์ผู้รักษาโรคที่ตำบลบักได    อำเภอกาบเชิง   จังหวัดสุรินทร์     มีปราสาทขนาดเล็กอยู่หลายแห่ง  แห่งแรกชื่อ  ปราสาทตาเมือน  ตัวปราสาทก่อสร้างด้วยศิลาแลง  มีมุขยาวยื่นออกไปทางทิศตะวันออก   มีประตูเข้า   2  ทาง   รูปแบบนี้   คือ ธรรมศาลา  หรือ ที่พักคนเดินทางแห่งต่อมาคือ ชื่อ ปราสาทตาเมือนโต๊ด     ตัวปราสาทหลักก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย  มีมุขยื่นและประตูเข้าทางทิศตะวันออก  ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ  นี่คือ  อโรคยาศาลา  หรือ โรงพยาบาล
ในบรรดาปราสาทหินเหล่านี้   มีจารึกสุโขทัยหลักหนึ่ง  เล่าถึงเรื่องที่น่าสนใจว่า ฟ้าเมืองยโสธรปุระ     ได้พระราชทานพระขรรค์ชัยศรี      พระนางศิขรมหาเทวี     และตำแหน่งกมรเตงอัญศรีบดินทราทิตย์   แด่พ่อขุนผาเมือง   เจ้าเมืองราด    กมรเตง  เป็นภาษาขอมโบราณ  เป็นคำ สรรพนาม  หมายถึง  พระเจ้า   พระเดชพระคุณ  อัญ  ข้าพเจ้า    กมรเตงอัญ   แปลว่า  พระเจ้าของข้าพเจ้า    พระเดชพระคุณของข้าพเจ้า   หรือ   พระเจ้าของข้าพระพุทธเจ้า    พระเดชพระคุณของข้าพระพุทธเจ้า จารึกสุโขทัยยังกล่าวถึงชื่อเมืองสำคัญ  เช่น  เมืองละโวทยปุระ  หมายถึงละโว้ หรือลพบุรี   สุววรรณปุระ  คือ   เมืองสุพรรณบุรี   เมืองสามภูกปัฏฏนะ  คือ เมืองเก่าบริเวณสระโกสินนารายณ์  อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  เมืองชัยราชบุรี  คือ เมืองราชบุรี  เมืองศรีชัย-สิงห์บุรี   คือปราสาทเมืองสิงห์   อยู่ในกาญจนบุรี    เมืองศรีชัยวัชรบุรี   อยู่เมืองเพชรบุรีเมืองในจารึกเหล่านี้  ยังพอมีหลักฐานปราสาทหินให้เห็นมากบ้างน้อยบ้าง  เข้าใจว่าเป็นเมืองในเครือข่ายถนนสายประวัติศาสตร์    (Ancient Khmer Highway)    ที่ในอดีตเคยเป็นถนนมิตรภาพที่ไทยและกัมพูชาใช้เป็นเส้นทางสัญจรสานไมตรีต่อกันสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งสิ้นขุขันธ์ชุมชนโบราณบนถนนมิตรภาพที่ไทยและกัมพูชาใช้สัญจรสานไมตรีต่อกันในอดีต
           เริ่มจากเมืองพระนคร     คือ  นครวัด   นครธม    ในจังหวัดเสียมราฐ ในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน  มาทางด้านทิศเหนือจะมีชุมชนโบราณ  ในเส้นทางสายปราสาทตามบริเวณใกล้เคียง  ที่มีการสร้างปราสาทเรื่อยตลอดเส้นทางจนถึงบริเวณแถวปราสาทวัดภู  ริมฝั่งแม่น้ำโขง   แคว้นจำปาสัก   ในประเทศลาว  และ  อโรคยาศาลา ที่ไกลที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ คือ  ที่เมืองหาดทรายฟอง  ประเทศลาว  ใกล้กรุงเวียงจันทน์ในปัจจุบันนั่นเอง
          จาก  ปราสาทนครวัด นครธม     หรือ    เมืองพระนคร    ในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา  ปัจจุบัน     ขึ้นมาทางด้านทิศเหนือ  จะเป็น ปราสาทบันทายศรี  ซึ่งเป็นปราสาทองค์เล็กที่มีภาพจำหลักสวยงามมาก    ถัดขึ้นมาทางเหนืออีก  ก็จะเป็นกลุ่มปราสาทองค์เล็กๆ  ในอำเภออันลงเวง และอำเภอ  ตระเปียงปราสาท จังหวัดอุดรมีชัย 
          ขึ้นมาฝั่งประเทศไทย    ตามช่องเขาต่างๆของเทือกเขาดงเร็กมาถึงอำเภอภูสิงห์   จังหวัดศรีสะเกษ           ก็จะมีปราสาทองค์เล็กๆกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆหลายที่  ปัจจุบันแทบไม่เหลือร่องรอยให้เห็น เนื่องจากมีผู้ลักลอบขุดเอาวัตถุโบราณไปขาย   ได้ทำลายปราสาทอันทรงคุณค่าให้สูญหาย ไปอย่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง   ที่ยังคงปรากฏให้เห็นในเขตอำเภอภูสิงห์  คือปราสาทองค์เล็กอยู่ทางด้านตะวันออกของโรงเรียนปรือใหญ่วิทยบัลลังก์    ประมาณ  500  เมตร   เหลือเศษหินให้เห็นว่าเป็นที่สร้างปราสาทเท่านั้น  ส่วนแท่นโยนีลึงค์ หรือ ฐานโยนี เจ้าอาวาสวัดบ้านตะเคียนราม  พระครูประกาศธรรมวัตร ได้ให้ลากไปไว้หน้าวัดบ้านตะเคียนรามในปัจจุบัน        ถัดขึ้นมาอีกก็เป็นปราสาทองค์เล็กที่บ้านปราสาทใต้   ตำบลนิคมพัฒนา   อำเภอขุขันธ์   ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันประมาณ  7  กิโลเมตร  ซึ่งยังเหลือแค่แท่นโยนีลึงค์  ส่วนใหญ่บริเวณที่สร้างปราสาทปราสาทแต่ละองค์จะพบแต่ฐานโยนี หรือโยนีลิงค์  เนื่องจากเป็นหินขนาดใหญ่ไม่สามารถขนย้ายไปได้สะดวก   ผู้ลักลอบขุดเอาไปขายก็จะได้ไปแต่ศิวลิงค์  เพราะเป็นท่อนศิลาขนาดเล็กกว่า  สามารถเคลื่อนย้ายไปได้สะดวก   ฐานโยนี หรือ โยนีลิงค์ นี้  คนปัจจุบันแถบนี้  เข้าใจว่าเป็นฐานประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นบัลลังก์ ประดิษฐานพระพุทธรูป  ด้วยความเข้าใจผิดจึงมักจะเรียกฐานโยนี หรือ โยนีลิงค์ว่า  บัลลังก์   ความจริงเป็นศิวลิงค์และฐานโยนี  หรือ
ปราสาทตาเล็งที่บ้านปราสาท ต.ปราสาท อ.ขุขันธ์          ทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่ปราสาทตาเล็ง
       ศิลปะขอมสมัยปาปวน พ.. 1593 –1693
โยนีนางอุมา  ซึ่งเป็นพระชายาขององค์พระศิวะ  เป็นรูปเคารพในศาสนาฮินดู  ลัทธิไศวนิกาย  ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากในบริเวณแถบนี้ ระหว่างพุทธสตวรรษที่ 12-14  ถัดไปทางด้านตะวันตกของอำเภอขุขันธ์ประมาณ  12  กิโลเมตร  ก็มีปราสาทตาเล็ง  เป็นศิลปเขมรแบบปาปวน  สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16  ปราสาทต่างๆเหล่านี้มีให้เห็นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปแทบทุกอำเภอของจังหวัดศรีสะเกษ
           เส้นทางสายปราสาทสายนี้ออกจากนครวัด นครธม  หรือ เมืองพระนคร  ผ่านมายังปราสาทบันทายศรี   ผ่านปราสาทต่างๆในบริเวณอำเภออันลงเวง  จังหวดอุดรมีชัยในกัมพูชาปัจจุบัน   ขึ้นมายังเทือกเขาพนมดงเร็กในประเทศไทย   มายังปราสาทต่างๆในเมืองโคกขัณฑ์ในอดีต  ที่เป็นอำเภอภูสิงห์  อำภอขุขันธ์  อำเภอปรางกู่   อำเภออุทุมพรพิสัยของจังหวัดศรีสะเกษ 
           อีกสายจะมาจากปราสาทเกาะเกริ์  ในจังหวัดพระวิหาร  ของกัมพูชา  มายังปราสาทต่างๆในอำเภอตระเปียงปราสาท  จังหวัดอุดรมีชัย ผ่านเทือกเขาดงเร็ก มายังประเทศไทย   มายังปราสาทต่างๆในบริเวณเมืองโคกขัณฑ์   หรือแดน  โคกลำดวน  บริเวณอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน  เช่น  ปราสาทตำหนักไทร  หรือปราสาททามจาน  ในอำเภอขุนหาญ  ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนักไทร ตำบลบักดอง จากอำเภอขุนหาญใช้เส้นทาง 2127 ไปอีกประมาณ 19 กม. ปราสาทตำหนักไทรมีลักษณะเป็นปรางค์เดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐ ส่วนกรอบประตูและทับหลังทำด้วยหินทราย บริเวณทางเข้ามีสิงห์จำหลักสองตัว  เหนือประตูทางเข้ามีทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16  และยังมีปราสาทต่างๆต่อมาอีกหลายองค์ติดต่อกันไปจนถึงปราสาทเขาพระวิหาร 

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย