ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมืองขุขันธ์สมัยกรุงธนบุรี

              ปี พ.. ๒๓๑๐  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เป็นเวลาไม่ถึงปี  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสามารถกอบกู้ อิสรภาพได้เอกราชคืนมา และทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมืองขุขันธ์ จึง ยังต้องขึ้นต่อเมืองพิมาย   ภายใต้พระราชอำนาจ พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงธนบุรี
      
              ปี พ.. ๒๓๑๔  พระยานางรอง  เจ้าเมืองนางรองคบคิดกับเจ้าเมืองจำปาศักด์ กระทำการกำเริบต่อขอบขันฑ์สีมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีฯ(ทองด้วง)  ยกทัพไปปราบ เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา โดยให้กองทัพไปจับตัวเจ้าเมืองนางรองได้  นำมาพิจารณาได้ความสัตย์จริง จึงประหารชีวิตเสีย และทราบว่า ทางเมืองจำปาศักดิ์ซ่องสุมไพร่พลอยู่ โดยรวมไพร่พลได้ประมาณ หมื่นเศษๆ  เมื่อทรงทราบจากการกราบบังคมทูล  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือไปสมทบกับเจ้าพระยาทั้ง 2 ตีได้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง  เมืองอัตปือ กวาดต้อนเอาชาวเมืองเหล่านั้น และได้เกลี้ยกล่อมให้มาอยู่ร่วมกับพลเมืองของกลุ่มเขมรป่าดง และขึ้นตรงกับเมืองขุขันธ์  เมืองสังฆะ และเมืองสุรินทร์ เป็นจำนวนมาก 

              ปี พ.. ๒๓๑๙   หลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ ( ทองด้วง ) และเจ้าพระยาสุรสีห์ ( บุญมา ) ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ เพราะพระเจ้าสิริบุญสาร ให้พระสุโพธิ์ยกทัพมาตีบ้านดอนมดแดง และจับพระวอประหารชีวิต  (ในประวัติเมืองอุบลฯ) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ยกทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา  โดยมีบัญชาให้ เจ้าเมืองขุขันธ์  เจ้าเมืองสุรินทร์  เจ้าเมืองสังฆะ ยกกำลังไปร่วมทำศึกในครั้งนี้ด้วย

             หลังจากปราบศึกเมืองเวียงจันทร์ และเมืองอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ( พระเจ้าตากสิน ) โปรดเกล้าฯ  บำเหน็จความชอบ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์แก่เจ้าเมืองขุขันธ์  เจ้าเมืองสุรินทร์  เจ้าเมืองสังฆะ จาก "พระ"  ขึ้นเป็น " พระยา" ในราชทินนามเดิม  ทั้ง  ๓  เมือง (เจ้าเมืองขุขันธ์  จึงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน )  การทำศึกสงครามในครั้งนี้ กำลังทหารเมืองทั้ง 3 ได้แสดงถึงความเก่งกล้าสามารถอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะหลวงปราบ ( เชียงขันธ์ ) ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์ ได้รับยกย่องว่าเป็นทหารเอกในศึกครั้งนี้ หลังเสร็จศึกแล้วได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทร์กลับมาด้วย  โดยกวาดต้อนอพยพให้มาตั้งหลักแหล่งมีถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่เมืองขุขันธ์ จำนวนมาก  เช่น บ้านสิ (พื้นที่ อ.ขุนหาญ) บ้านหมากเขียบ  บ้านก้านเหลือง ( อำเภอเมืองศรีสะเกษ ) บ้านบก บ้านโสน ( อำเภอขุขันธ์ ) นอกจากนี้แล้ว หลวงปราบ ( เชียงขันธ์ ) ยังได้รับเอา เจ้านางคำเวียง  หญิงหม้ายซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ผู้สูงศักดิ์จากเวียงจันทน์  เป็นภรรยา พร้อมมีลูกชายติดตามเจ้านางคำเวียง มาด้วย ( ท้าวบุญจันทร์  บุตรเลี้ยง ) โดยอพยพครอบครัวเจ้านางคำเวียงพร้อมบ่าวไพร่ จำนวนมากให้ไปพำนักอยู่  ณ บ้านบก (พื้นที่บริเวณบ้านบก หมู่ที่ ๑๓ ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) 

            ปี พ.ศ. ๒๓๒๑  พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( ตากะจะ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น " พระยา " ได้ไม่นานก็ถึงแก่อนิจกรรม  จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ " หลวงปราบ " (เชียงขันธ์ )   เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ สืบแทน เป็นท่านที่ ๒ และโปรดให้ท้าวอุ่น บุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ ) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม  ปลัดเมืองขุขันธ์

           ต่อมาพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( เชียงขันธ์ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๒  เห็นว่าที่ตั้งเมืองขุขันธ์ เดิม(บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน) ทิศทางสายน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่ดังกล่าว มีชัยภูมิไม่เหมาะกับการตั้งเมือง อีกทั้งต้องการที่จะให้เป็นไปตามที่พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ ) เจ้าเมืองคนที่ ๑ ได้เตรียมการไว้แล้ว  จึงได้เลื่อนที่ตั้งเมืองขุขันธ์จากบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน มาตั้ง ณ  บริเวณหนองแตระ โดยเรียกชื่อว่า “เมืองขุขันธ์”  เช่นเดิม ในการเลื่อนที่ตั้งเมืองมาตั้ง ณ ที่ บริเวณที่ใหม่ ที่เป็นชัยภูมิที่ดี และน้ำท่วมไม่ถึง โดยได้มีการฝังหลักเมืองตามประเพณีนิยม  ดังปรากฏอยู่ ณ มุมวัดกลาง ด้านทิศหรดี(ทิศตะวันตกเฉียงใต้)ในปัจจุบัน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองขุขันธ์เคารพสักการะมาจนถึงปัจจุบัน


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย