คำว่า "ขอม" เป็นคำเรียกของคนไทยที่อยู่ทางเหนือเช่น ไทลื้อ ในสิบสองปันนา ที่เรียกชาติเขมร หรือ กัมพูชา หรือชุมชนที่อยู่ด้านด้านทิศใต้ หรือ ผู้คนที่อยู่ตอนใต้ มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นคำที่เรียกเพี้ยนมาจากภาษาเขมรจากคำว่า "กรอม" เพราะคำว่า "กรอม" ในภาษาเขมร หมายถึง ข้างล่าง ด้านล่าง ด้านใต้ "กรอม" จึงใช้เรียกคนที่อยู่ตอนใต้ ด้านทิศใต้ จากอาณาจักรสุโขทัยลงมา ว่า “พวกกรอม” หมายถึง พวกชาวใต้ พวกผู้คนที่อยู่ทางด้านทิศใต้ คนเขมรเวลาออกเสียงคำว่า “กรอม” โดยทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ตั้งใจจะออกเสียงให้ถูกต้องแล้ว จะออกเสียงคำว่า “กรอม” เพี้ยนไปเป็นว่า “ขอม” คือออกเสียงพยัญชนะ ก เป็นพยัญชนะ ข และไม่ยอมรัวลิ้นพยัญชนะ ร คือ ตัว “กร” จะออกเสียงเพี้ยนเป็น “ข” ฉะนั้น คำว่า “ขอม” ตามสำเนียงภาษาเขมร ก็คือคำที่ออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า “กรอม” นี่เอง คนไทยจึงใช้คำว่าขอมเพื่อเรียกผู้คนที่อยู่ด้านทิศใต้กรุงสุโขทัยว่า พวกขอม หมายถึง ชาวใต้ ผู้คนที่อยู่ทางใต้ลงมา ตั้งแต่บัดนั้น เป็นที่เข้าใจว่า เขมร กัมพูชา ขอม ก็คือ คนพวกเดียวกัน โดยชาวเขมรเรียกตัวเองว่า ขะแมร์ คำว่า “ขอม” ตามพจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิต ซึ่งมีประกาศให้จัดทำขึ้นเมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2458 ในหน้า 96 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ขอม : “ ขะแมร์กนงบุราณสมัยเพรงนาย ” ว่า “ขอม” คือ คำที่ใช้เรียกชาวเขมรในสมัยโบราณห่างจากชายแดนไทยทางด้านอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 150 กิโลเมตร ในเขตจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ที่แห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของเมืองพระนคร ซึ่งมีปราสาทนครวัด นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นที่เกือบหนึ่งล้านตารางเมตร มีกำแพงล้อมรอบปราสาทนครวัดยาวถึง 1000 เมตร กว้าง 850 เมตร สันนิษฐานว่าใช้หินในการก่อสร้างรวมกว่า 600,000 ลบ.ม. ใช้ช้างไม่ต่ำกว่า 40,000 เชือก ประกอบกับปฏิมากรนับพัน และแรงงานนับแสนคนในการก่อสร้าง และขนหินจากพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร
ปราสาทนครวัด เกิดจากบัญชาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ( พ.ศ. 1656 -1695) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 พระราชอำนาจของพระองค์ ทำให้อาณาจักรขอมปกคลุมไปถึงที่ราบลุ่มเจ้าพระยา และยังแผ่ไปถึงอาณาจักรล้านช้าง ในประเทศลาว อาณาจักรจามปาในประเทศเวียดนาม รวมทั้งด้านทิศที่จดอาณาจักรศรีวิชัยของชวาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ( ครองราชย์ พ.ศ. 1724-1761 ) ทรงสร้างปราสาทพระขรรค์ จากจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ พระองค์ทรงสร้าง ธรรมศาลา หรือ “บ้านคนมีไฟ “ซึ่งนักโบราณคดีตีความว่า หมายถึงที่พักคนเดินทาง หรือผู้จาริกแสวงบุญ ในขณะเดียวกัน ก็สร้าง อโรคยาศาลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนควบคู่กันไปไปในตัว ตามเส้นทางเดินทุกสาย จากแว่นแคว้นที่ไกลสุด อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ พุ่งตรงมายังเมืองพระนคร ศูนย์กลางอาณาจักรขอม รวมทั้งสิ้น 120 แห่ง แต่ละแห่งจะห่างกันประมาณ 15 กม. ซึ่งเป็นระยะทางที่สามารถเดินทางถึงกันได้ในสมัยนั้นภายในระยะเวลา 1 วัน อโรคยาศาลา หรือ โรงพยาบาลชุมชน เป็นปราสาทขนาดเล็ก กว้าง 4 - 5 เมตร ยาว 14 -15 เมตร ห้องในสุดที่อยู่ใต้องค์ปราสาท ใช้เป็นหอพระ หรือ หอสวดมนต์ และประดิษฐาน "พระพุทธไภษัชคุรุไวทูรยประภา" (พระผู้เป็นเจ้าแห่งการรักษาโรคผู้ทรงมีประกายดุจแก้วไพทูรย์) ปางหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมารักษาโรคภัยไข้เจ็บของมนุษยโลก ซึ่งชาวพุทธฝ่ายมหายานในจีน และทิเบตเคารพสักการะมาตราบจนปัจจุบัน จำนวน อโรคยาศาลา 120 แห่ง ทั่วอาณาจักรขอมนั้น มีอยู่ 17 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างบนเส้นทาง(Ancient Khmer Highway)จากพระนครหลวง (นครธม) ผ่านปราสาทพนมรุ้ง มุ่งตรงไปยังปราสาทหินพิมาย ซึ่งในยุคนั้นเป็นชุมชนที่เจริญมาก่อนแล้ว อีกทั้งตลอดเส้นทางสายนี้ยังมีปราสาทที่สำคัญหลายแห่งตั้งอยู่ นับว่าเป็นเส้นทางสำคัญ ในสมัยอาณาจักรขอม ที่เป็น “ราชมรรคา “ หรือเส้นทางแห่งธรรมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งนี้ จุดที่นักโบราณคดีไทยสันนิษฐาน ว่า เป็นอโรคยาศาลา หรือ โรงพยาบาลชุมชน จุดแรกที่อยู่ในชายแดนไทยปัจจุบัน คือ กลุ่มปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ เพราะมีหลักฐานทางศิลาจารึกที่ค้นพบที่กลุ่มปราสาทแห่งนี้ มีข้อความกล่าวถึง การที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงรวบรวมแพทย์หลวง จัดสร้างสถานพยาบาลเพื่อขจัดโรคภัยของประชาชน ตรงกับข้อความในจารึกที่ปราสาทหินพิมาย สำหรับโรงพยาบาลชุมชน หรือ อโรคยาศาลา ที่ไกลที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ คือ ที่เมืองหาดทรายฟอง ประเทศลาว หรือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอาณาจักรขอม ใกล้กรุงเวียงจันทน์ในปัจจุบัน