-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

รู้หรือไม่ ทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) เพื่ออะไร?

         บุญปูนพนมโซร็ว​(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณภายหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวรวบรวมผลผลิตจากการทำนาของชาวบ้านในพื้นที่ของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีความเห็นพ้องพร้อมใจกัน และจัดให้มีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า บุญปูนพนมโซร็ว (បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) ซึ่งเป็นคำภาษาเขมร ตรงกับภาษาไทยว่า บุญประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก ซึ่งพิธีทำบุญนี้ จัดให้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรนั้น ข้อมูลที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านล่างนี้คือคำตอบ


ปูนพนมโซร็ว ของชาวบ้านพุทธบริษัทในสังกัดวัดบ้านแขว
ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

         จากการสอบถามและรวบรวมข้อมูลจากปราชญ์ผู้รู้ในหมู่บ้านหลายหมู่บ้านในอำเภอขุขันธ์ ท่านบอกว่า การทำบุญปูนพนมโซร็ว (បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) นี้ ตามที่ปู่ย่าตายายบ้านเราพาทำต่อๆกันมา อาจสรุปได้ว่ามีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ดังนี้
         ประการที่ 1 ทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)นำไปจัดถวายอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่วัดวาอารามประจำหมู่บ้านหรือตำบลของตนเอง
              ประการที่ 2 สำหรับนำมาสนับสนุนเป็นปัจจัยเสริมสร้างและซ่อมแซมวัดวาอาราม และสาธารณประโยชน์ร่วมกันของพุทธบริษัทในสังกัดวัด เป็นต้นว่า การซ่อมแซมถนนที่ชำรุด เป็นต้น

         ประการที่ 3 เพื่อระลึกถึงคุณพระแม่โพสพที่ได้เลี้ยงมนุษย์โลก และขอขมาโทษที่เราได้ฟาดตี เหยียบย่ำในการนวดข้าว หรือความพลาดพลั้งต่างๆทั้งที่เราเจตนาและเราไม่เจตนาต่อท่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้านในอำเภอขุขันธ์ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่และถูกส่งต่อสู่รุ่นลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ข้าวเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์มีบุญคุณต่อมนุษย์ และเชื่อว่าข้าวมีเทพธิดาที่ชื่อว่า แม่โพสพ ประจำอยู่ ซึ่งจะคอยพิทักษ์รักษาข้าวและดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของข้าวในนา ใครที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อข้าวก็จะทำให้เกิดความมั่งคั่ง มีความสุขสมบูรณ์ ดังนั้น  ชาวนาจะไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการไม่เคารพต่อแม่โพสพ   หรือทำให้แม่โพสพเสียขวัญ  ชาวนาจึงให้ความเคารพบูชาและกตัญญูรู้คุณแม่โพสพ โดยการทำพิธีต่าง ๆ ในแต่ละช่วงของการเพาะปลูก เพราะถ้าไม่ทำ อาจจะบันดาลให้ไม่มีข้าว และก่อเกิดความอดอยากได้
          
         ประการที่ 4 เพื่อเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านพุทธบริษัทในหมู่บ้านและตำบล อันจะนำมาซึ่งความเข็มแข็ง และความสงบสุขในภาพรวมต่อไป

               ในภาพนี้ คือ ภาพความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านที่มาร่วมกันทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)ที่วัด แต่ในบางหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีหลายคุ้มบ้านอาจแยกกันทำเป็นคุ้มก็ได้ สำหรับข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมาร่วมทำบุญ ส่วนใหญ่นำมาตามกำลังศรัทธาของแต่ละครอบครัว มิได้มีการกำหนดว่าต้องมากหรือน้อยเท่าใด แต่ก็อาจจะมีบ้าง บางหมู่บ้านที่มีการกำหนดปริมาณข้าวเปลือกที่จะนำมาร่วมกันทำบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) นอกจากนี้ ชาวบ้านเรา ยังได้ร่วมกันทำบุญด้วยการรวบรวมเงินกันเพื่อเป็นปัจจัยถวายทำนุบำรุงวัดและพระพุทธศาสนาอีกด้วย
    
          ตามที่ได้มีโอกาสออกไปร่วมกิจกรรมทำบุญกับชาวบ้านหลายหมู่บ้าน  พบว่า พิธีบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ) บ้านเรา ไม่ค่อยมีพิธีรีตองอะไรยุ่งยากเท่าไรนัก 
          ตอนเช้า ชาวบ้านพุทธบริษัทบ้านเรา ก็จะนำข้าวเปลือกมาเทกองรวมกัน หรือบรรจุใส่กระสอบนำมาวางกองลงในจุดหมายที่เดียวกันและพูนให้สูงขึ้นคล้ายภูเขา (ភ្នំ) หนึ่งลูก จึงเป็นที่มาและเรียกต่อๆกันมาว่า พนมโซร็ว(ភ្នំស្រូវ)  
           พอถึงเวลาตอนเย็น ชาวบ้านทุกหลังคาเรือน   ก็จะส่งตัวแทนครอบครัวมาร่วมกันฟังพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และเมื่อเข้าสู่เช้าวันใหม่ถัดมา ชาวบ้านเราก็จะนำจังหันเช้ามาประเคนพระภิกษุสงฆ์ ฟังพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาฉลองศรัทธาบุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)  มีกิจกรรมทำบุญตักบาตรร่วมกัน และรับพรจากพระภิกษุสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคงในชีวิตต่อไป 
           เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้ว ก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว  ซึ่งสมัยก่อน ชาวบ้านจะกระทำที่ลานนาหรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก  หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง และอัญเชิญขวัญข้าว และแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลในครอบครัว เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีจึงค่อยแยกย้ายกันกลับบ้าน

    
    

เรียบเรียงโดย : นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ขอบคุณภาพจาก : วัดบ้านแขว ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
หมายเหตุ หากมีข้อผิดพลาด หรือข้อมูลเติมเต็มให้สมบูรณ์ ขอได้โปรดช่วยส่งข้อมูลมาแจ้งให้ผู้เรียบเรียงได้เพิ่มเติมเนื้อหานี้ให้สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไป ขอขอบพระคุณมากครับ

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อำเภอขุขันธ์ และตำบลทั้ง 22 ตำบลเป็นอักษรโรมัน(Roman Script)

อำเภอขุขันธ์ AMPHOE KHUKHAN
จังหวัดศรีสะเกษ CHANGWATSI SA KET

            อำเภอขุขันธ์ ตั้งอยู่ที่ ละติจูด ๑๔° ๔๒´.๘ เหนือ ลองจิจูด ๑๐๔° ๑๒´.๑ ตะวันออก อาณาเขตทางทิศเหนือติดต่อกับ อ.วังหิน ทิศตะวันออกติดต่อกับ อ.ไพรบึง และ อ.ขุนหาญ ทิศใต้ติดต่อกับ อ.ภูสิงห์ ทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.บัวเชด อ.สังขะ อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ และ อ.ปรางค์กู่
      การคมนาคมจากจังหวัดไปอำเภอ โดยทางหลวงหมายเลข ๒๒๐ (ศรีสะเกษ-ขุขันธ์) ระยะทาง ๔๙ กม.
      ขุขันธ์ เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มีชื่อบ้านนามเมืองในอดีตที่เป็นภาษาเขมรโบราณว่า
ស្រុកស្តុកគោកខណ្ឌ ភូមិរំដួលត្រពាំ្ងឝ្វា្យ และมีวิวัฒน์มาเป็น គោកខណ្ឌ គោកខាន់ ​ และเมืองขุขันธ์ 
            ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อมีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด  เมืองขุขันธ์ จึงเปลี่ยนเป็น จังหวัดขุขันธ์
            ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง ได้ให้ จังหวัดขุขันธ์ เปลี่ยนชื่อเป็น จังหวัดศีร์ษะเกษ
     อำเภอขุขันธ์มี ๒๒ ตำบล คือ 
                ๑. ห้วยเหนือ              Huai Nuea
                ๒. กฤษณา                Kritsana   
                ๓. กันทรารมย์           Kanthararom
                ๔. โคกเพชร              Khok Phet
                ๕. จะกง                    Chakong                  
                ๖. ใจดี                       Chai Di 
                ๗. ดองกำเม็ด            Dong Kam Met
                ๘. ตะเคียน                Takhian
                ๙. ตาอุด                    Ta Ut
                ๑๐. นิคมพัฒนา         Nikhom Phatthana
                ๑๑. ปรือใหญ่             Prue Yai
                ๑๒. ปราสาท             Prasat
                ๑๓. ลมศักดิ์                Lom Sak
                ๑๔. ศรีตระกูล           Si Trakun
                ๑๕. ศรีสะอาด           Si Sa-at
                ๑๖. สะเดาใหญ่         Sadao Yai
                ๑๗. สำโรงตาเจ็น     Samrong Ta Chen
                ๑๘. โสน                    Sano
                ๑๙. หนองฉลอง       Nong Chalong
                ๒๐. ห้วยใต้                Huai Tai
                ๒๑. ห้วยสำราญ       Huai Samran      
                ๒๒. หัวเสือ                Hua Suea
REFERENCE :
1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.ชื่อจังหวัด อำเภอ ตำบล เขต และแขวง. Accessed August 21, 2021.https://www.orst.go.th/royin/iwfm_table.asp?a=36&i=0040002104011001%2F63ERK0503006
2. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย.ขุขันธ์. Accessed August 21, 2021. https://gazetteer.orst.go.th

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กิจการไปรษณีย์โทรเลขของเมืองขุขันธ์ ได้เริ่มต้นมีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2428

          พบภาพเก่าในอดีตอีกหนึ่งภาพที่เกี่ยวข้องกับเมืองขุขันธ์ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งหากท่านใดเข้าไปประสานงานที่ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอขุขันธ์ เราจะพบรูปภาพเก่าในอดีตภาพหนึ่งที่ยังทรงคุณค่าคู่เมืองขุขันธ์ ติดอยู่ที่ผนังห้องด้านทิศตะวันออก ซึ่งก็มีหลายท่านถามกระผมมาว่า ภาพนี้คือภาพของท่านผู้ใด? และมีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับเมืองขุขันธ์ ? ซึ่งในที่สุด ทีมงานคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ใช้ภาพนี้เป็นต้นเรื่องในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล พบเรื่องราวที่สำคัญดังนี้
           สำหรับภาพเก่าในอดีตภาพนี้คือ พระฉายาลักษณ์ พระรูปของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระบิดาแห่งไปรษณีย์ไทย พระนามเดิมคือ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ภาณุพันธุ์” เป็นพระโอรสองค์ที่ 45 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2402 ทรงเป็นพระอนุชาร่วมครรโภทรเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 
          ตอนปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 สยามได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น มีสถานกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่นกงสุลอังกฤษ ซึ่งได้เปิดรับจดหมายที่ส่งไปติดต่อกับต่างประเทศ โดยใช้ตราไปรษณียากรของสหพันธรัฐมลายาและอินเดีย แล้วส่งไปประทับตราวันที่ที่สิงคโปร์ โดยฝากไปกับเรือสินค้าของอังกฤษ

        ในปี พ.ศ. 2418 สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงจัดทําหนังสือพิมพ์ข่าวรายวันชื่อว่า “หนังสือค้อตข่าวราชการ” หรือ “COURT” โดยจัดคนส่งหนังสือให้แก่สมาชิกทุกเช้า เมื่อไปส่งหนังสือให้สมาชิกคนไหน เขาสามารถฝากจดหมายกับคนส่งหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งไปหาสมาชิกคนอื่นๆได้ โดยจะติดแสตมป์และเขียนชื่อที่อยู่ผู้รับ-ผู้ส่งให้เรียบร้อย คนส่งหนังสือข่าวราชการ จึงนับเป็น บุรุษไปรษณีย์คนแรก และเริ่มมีการติดแสตมป์บนจดหมาย

        ต่อมาในปี พ.ศ.2426 รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชประสงค์ให้มีการไปรษณีย์และโทรเลขขึ้นในประเทศไทย ทรงเห็นว่ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มีพระทัยใส่ในเรื่องการไปรษณีย์ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชร่วมกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช จัดตั้ง กรมไปรษณีย์ และ กรมโทรเลข ขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 โดยทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขพระองค์แรก ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ได้ยุบทั้ง 2 กรมรวมเป็น กรมเดียวกันชื่อว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” นับว่ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงเป็นผู้บุกเบิกกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย
        พระองค์ทรงเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญยิ่ง ทรงมีพระปรีชาสามารถ และทรงมีพระอิจฉริยภาพหลากหลายด้าน กอปรกับการที่ทรงประกอบพระกรณียกิจถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 3 รัชกาล ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
        สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ ถวายงานสนองเบื้องพระยุคคลบาทหลาด้าน ทั้งในกิจการทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการไปรษณีย์ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรกของประเทศ โดยทรงปรับปรุงกิจการไปรษณีย์ของสยามให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย พระองค์จึงได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณเป็น “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”
        สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต ขณะพระชันษา 69 พรรษา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

         และสำหรับคำถามที่สองที่ว่า ภาพนี้มีสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับเมืองขุขันธ์ ? คำตอบคือ เป็นภาพที่ทำให้ทราบว่ากิจการไปรษณีย์โทรเลข ได้เกิดขึ้นบ้านเมืองเราสมัยรัชกาลที่ 5 และเมืองขุขันธ์ ได้เริ่มต้นมีกิจการไปรษณีย์โทรเลข เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2428 ดังข้อมูลอ้างอิงจาก เสี้ยวหนึ่งในเส้นสายแห่งกาลเวลา(Timeline)เหตุการณ์ที่สำคัญและเกี่ยวกับเมืองขุขันธ์/ประเทศ/เมืองใกล้เคียง จังหวัดขุขันธ์ และอำเภอขขันธ์ จากอดีตถึงปัจจุบัน บนเวปๆไซต์สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ดังนี้

        ในปี พ.ศ. 2428 พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนวางสายโทรเลข จากเมืองจำปาสัก ถึงเมืองขุขันธ์ เชื่อมต่อไปถึงเมืองเสียมราฐ โดยมีบัญชาจาก พระยาอำมาตย์ข้าหลวงใหม่ เมืองจำปาสัก โดยตั้งและมอบหมายให้ ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ มีหนังสือบอกแจ้งไปยังเจ้าเมืองขุขันธ์ เจ้าเมืองสังขะ ให้เกณฑ์ไพร่พลไปตัดทางวางสาย โทรเลขจากเมืองขุขันธ์ ไปยังเมืองอุทุมพรพิสัย ตลอดไปยังเมืองมโนไพร ทั้งนี้โดยมีคำสั่งให้ ข้าหลวงพิชัยชาญยุทธ เป็นข้าหลวงประจำอยู่ที่เมืองมโนไพรด้วย

        ปี พ.ศ. 2430 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ส่งมิสเตอร์ อัลซอล ไลแมน ไปตรวจราชการที่เกี่ยวกับการตรวจ บำรุงรักษาทางสายโทรเลขระหว่างเมืองจำปาสักไปถึงเมืองขขันธ์ และจากเมืองขุขันธ์ ไปถึงเมืองเสียมราฐ แต่คณะตรวจราชการปฏิบัติภารกิจยังไม่เสร็จ ได้เกิดป่วยเป็นไข้ ถึงแก่กรรมที่เมืองขุขันธ์
        ปี พ.ศ. 2436 ทางกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดให้มิสเตอร์ โทมัสมาเมอร์ มิสเตอร์แมคคูลเลอร์ และ มิสเตอร์วิลเลี่ยมไปจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว ทั้งนี้ให้รวมถึงเมืองขุขันธ์ และเมืองศีร์ษะเกษ ไปจนถึงกรุงเทพฯ กำหนดการเดินไปรษณีย์โทรเลข อาทิตย์ละ 1 ครั้ง
        พ.ศ.2438 ในแผนที่ขนาดใหญ่ ของ Stanford's Library Map Of Asia พิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1895 ตรงกับ พ.ศ. 2438 รัชสมัย ร.5 ปรากฏชื่อ เมืองขุขันธ์ (Kukan เขียนแบบภาษาเยอรมัน หรือគោកខណ្ឌ เขียนเป็นภาษาเขมร) ณ พิกัดตำแหน่งที่ตั้งเดิมในปัจุบัน(อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) เคียงคู่กันกับ เมืองกันทรารมย์ ในอดีต บนแผนที่ทวีปเอเซีย ตรงกับที่ตั้งปัจจุบันคือตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ คลิก
        ปี พ.ศ.2450 มีประกาศกระทรวงโยธาธิการ แผนกกรมไปรษณีย์โทรเลข เรื่อง ยกเลิกโทรเลขที่ออฟฟิศเมืองขุขันธ์ให้คงมีแต่การใช้โทรศัพท์ ร.ศ.126 (28 ก.ค. 2450) คลิก

เรียบเรียง : 
ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2564.
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2564.

REFERENCE :
โรงเรียนการไปรษณีย์ - ศิษย์ปัจจุบัน.พระบิดาแห่งไปรษณีย์ไทย. Retrieved August 5, 2021, from Facebook.com website: https://m.facebook.com/postalschool/posts/1060180010723252/?locale=fr_FR

ศิลปวัฒนธรรม. (2021, June 13).13 มิถุนายน 2471 วันทิวงคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”. Retrieved August 6, 2021, from ศิลปวัฒนธรรม website: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_34021

‌สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์ Mueang Khukhan Cultural Council. (2013).ตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์. Retrieved August 5, 2021, from Mueangkhukhanculturalcouncil.org website: https://www.mueangkhukhanculturalcouncil.org/2014/08/blog-post_68.html

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พบข้อมูลการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอินฟลูเอนซา (Influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ระบาดที่จังหวัดขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2461

          เมื่อปี พ.ศ. 2461 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคที่จังหวัดขุขันธ์ เป็นหัวเมืองสำคัญหัวเมืองหนึ่งภายใต้การกำกับของมณฑลอุบล ซึ่งขณะนั้นประกอบด้วย 3 จังหวัด คือจังหวัดอุบล  จังหวัดขุขันธ์ และจังหวัดสุรินทร์  ได้เกิดโรคอินฟลูเอนซา ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอินฟลูเอนซา (Influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) แพร่กระจายไปทั่วราชอาณาจักรสยามทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองต่าง ๆ รวม 17 มณฑล  โดยเฉพาะที่จังหวัดขุขันธ์ ขณะนั้นมีจำนวนประชากรจากการสำรวจสำมะโนครัว เมื่อปี พ.ศ. 2461 จำนวนทั้งสิ้น 260,258 คน พบว่ามีราษฏรป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จำนวน 36,571ราย  และเสียชีวิต จำนวน 3,115 ราย

จากส่วนหนึ่งในเอกสารหลักฐานใน ร.6 น 7.11/2
เรื่อง ไข้หวัด (อินฟลูเอนซา) มีเรื่องแจกยา

ไวรัสไม่มีพรมแดนกั้น “โรคอินฟลูเอนซา” จากยุโรปสู่สยามประเทศ  “อินฟลูเอนซา” ร้ายยิ่งกว่าสงคราม
          โรคอินฟลูเอนซา (Influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 มีจุดเริ่มต้นในแถบยุโรป เมื่อคริสต์ศักราช 1918 หรือพุทธศักราช 2461 ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 โรคดังกล่าว   ได้แพร่ระบาดไปทั่วทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ทำให้มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตราว 20 - 50 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายเท่า สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ไม่ใช่เพราะว่ามีจุดเริ่มต้นในประเทศสเปน หากแต่สเปนเป็นประเทศที่เปิดเผยข้อมูลการเกิดโรคระบาดอินฟลูเอนซาเป็นประเทศแรก ส่วนแหล่งที่มาของโรคระบาดนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่ามาจากที่ใด

“อินฟลูเอนซา” สู่สยามประเทศ
           อินฟลูเอนซา จากยุโรปได้แพร่ระบาดมาถึงสยามประเทศ จากเอกสารจดหมายเหตุพบว่า ในช่วงเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2461 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้โทรเลขถึงเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า เกิดการระบาดของโรคอินฟลูเอนซาที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดสงขลา มีคนป่วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักโทษในเรือนจำ ข้าราชการ และตำรวจ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรี
ราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้

        โรคอินฟลูเอนซา แพร่กระจายไปทั่วราชอาณาจักรทั้งในเขตพระนคร และหัวเมืองต่าง ๆ รวม 17 มณฑล เช่น มณฑลมหาราฎร์ มณฑลนครไชยศรี มณฑลราชบุรี มลฑลกรุงเก่า มณฑลอุดร มณฑลอุบล มณฑลร้อยเอ็ด เป็นต้น
          โรคดังกล่าวเริ่มสงบลงเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2462 กระทรวงมหาดไทยจัดทำบัญชีสรุปจำนวนประชากรใน 17 มณฑล มีทั้งสิ้น 8,310,565 คน ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2,317,662 คน และเสียชีวิต 80,223 คน

เรียบเรียง : นายสุเพียร  คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2564.

REFERENCE :  
102 ปี จาก “อินฟลูเอนซา” สู่ “โคโรนาไวรัส” ในสยามประเทศ (EP.01). National Archives Of Thailand สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. Published 2019. Accessed July 25, 2021. https://www.nat.go.th/คลังความรู้/รายละเอียด/ArticleId/838/102.

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วาระการประชุมของสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ครั้งที่ 2/2564

 การประชุมคณะกรรมการบริหาร

สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ครั้งที่ 2 / 2564
วันที่ 17 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564
ณ ห้องออนไลน์คอนเฟอเรนซ์ 
สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

โดย
สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ครบรอบ 983 ปี เมืองขุขันธ์ อัพเดทล่าสุด(15 พฤศจิกายน 2563)


ระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการบริหาร
สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ครั้งที่ 2 / 2564
วันที่ 17 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องออนไลน์คอนเฟอเรนซ์  สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
*************************

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานหรือเลขานุการแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.1 เรื่อง...(ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ)...
    1.1.1 พี่น้องชาวอำเภอขุขันธ์ และสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  ยินดีต้อนรับ นายอรรถพล อรรคบุตร นายอำเภอขุขันธ์(คนใหม่) ด้วยความยินดียิ่ง 

ที่ประชุม...........................................

1.1.2 วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ดร.วัชรินทร์  สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ  โดยมีประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอ เครือข่ายวัฒนธรรม  เข้าร่วมประชุม  และผู้ทรงคุณวุฒิ  ผู้นำศาสนาคริสต์ ผู้นำศาสนาอิสลาม  ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมสังเกตการณ์ ณ ห้องประชุมศรีพฤทเธศวร ชั้น๕ ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ  โดยที่ประชุมมีมติให้ นายวิทยา วิรารัตน์ ดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ อีก ๑ สมัย (วะระ ๓ ปี) เป็นสมัยที่ ๓ 
       ทั้งนี้ การจัดประชุมดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดศรีสะเกษ อย่างเคร่งครัด

ที่ประชุม...........................................

    1.1.3 หนังสือรับรองจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ เกี่ยวกับการได้รับคัดเลือกเป็น กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๗ และกฎกระทรวงกำหนดที่มา คุณสมบัติหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา จำนวนกรรมการและสมาชิก วาระการดำรงตำแหน่ง การพันจากตำแหน่ง การประชุมการบริหารจัดการ และการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๕ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

ที่ประชุม...........................................

1.2 เรื่อง...(เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ แจ้งที่ประชุมทราบ)
    1.2.1 หนังสือรับรองจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ เกี่ยวกับการได้รับคัดเลือกเป็น กรรมการสภาวัฒนธรรม ระดับอำเภอ ตำบลและเทศบาลตำบล ที่ผ่านมา ...สัปดาห์หน้า หนังสือรับรองฯ ทุกระดับของอำเภอขุขันธ์ จะถูกส่งมาให้ที่เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ เพื่อส่งต่อให้ทุกท่านเป็นเก็บหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป
ที่ประชุม...........................................

ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว
3.1 เรื่อง...(ไม่มี)...

3.2 เรื่อง...(ไม่มี)...

ที่ประชุม...........................................

ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเสนอเพื่อทราบ
4.1 เรื่อง...(ไม่มี)...

4.2 เรื่อง...(ไม่มี)...

ที่ประชุม...........................................

ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา
5.1
จัดงานวันแม่ ปี ๒๕๖๔ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

      ตามที่ สภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ สมาคมจังหวัดศรีสะเกษ และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ กำหนดจัดงานวันแม่ ปี ๒๕๖๔ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดทูนและเผยแพร่พระเกียรติคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิดิ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพิธีมอบประกาศเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติแม่ตัวอย่าง ประจำปี ๒๕๖๔ จำนวน ๒๒ ราย โดยกำหนดจัดขึ้นในที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ พระวิหารหลวงพ่อโต วัดมหาพุทธาราม (พระอารามหลวง) ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วยนี้

      ในการนี้ สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ขอความร่วมมือสภาวัฒนธรรม เทศบาลตำบล และสภาวัฒนธรรมตำบลทุกตำบลพิจารณาสรรหาแม่ตัวอย่างละ ๑ ราย ส่งรายชื่อให้สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ภายในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาสรรหาเป็นตัวแทนของอำเภอขุขันธ์ ต่อไป


ที่มา : ที่ สวธ.ศก 28/2564  ลว 7 ก.ค. 2564 เรื่อง การสรรหาแม่ตัวอย่าง ประจำปี 2564


ที่ประชุม...........................................

ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องอื่น(ถ้ามี)
6.1 เรื่อง...

6.2 เรื่อง...

ที่ประชุม...........................................

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

วาระการประชุมของสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ครั้งที่ 1 / 2564

การประชุมคณะกรรมการบริหาร
สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ครั้งที่ 1 / 2564
วันที่ 1 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564
ณ ห้องประชุมอาคารส่งเสริมสุขภาพ ชั้นที่ 2 
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอขุขันธ์

โดย
สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ครบรอบ 983 ปี เมืองขุขันธ์ อัพเดทล่าสุด(15 พฤศจิกายน 2563)
ดาวน์โหลดระเบียบวาระการประชุม สวธ.ขข.1 / 2564(ฉบับย่อ) คลิก


ระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการบริหาร
สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ครั้งที่ 1 / 2564
วันที่ 1 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมอาคารส่งเสริมสุขภาพ ชั้นที่ 2
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอขุขันธ์
*************************

ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานหรือเลขานุการแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.1 เรื่อง...(ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ)...
1.1.1 นายสุริยา  บุตรจินดา นายอำเภอขุขันธ์ เชิญชวนชาวอำเภอขุขันธ์ทุกคน ฉีดวัคซึนป้องกันโควิด-19
เรียน   พี่น้องชาวอำเภอขุขันธ์ทุกท่าน 
      ด้วยขณะนี้  สถานการณ์โรคติดเชื้อ covid-19 มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่ซึ่งติดเชื้อได้ง่าย เร็วและมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ที่ผ่านมาแม้เราจะมีมาตรการป้องกันโรคกันเป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ แต่ก็ช่วยให้ลดการเกิดโรคได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่สามารถที่จะเอาชนะโรคนี้ได้ การฉีดวัคซีนจึงเป็นอาวุธที่สำคัญ และเป็นความหวังเดียวในขณะนี้ที่เราจะเอาชนะโรคนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  แต่การฉีดวัคซีนจะได้ผลทุกๆคนต้องร่วมแรงร่วมใจฉีดวัคนกันฉีดให้มากที่สุดอย่างน้อย 70% ของชาวอำเภอขุขันธ์ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในการปกป้องคนของอำเภอขุขันธ์เรา   
     ผมจึงขอเชิญชวนและวิ่งวอนให้ชาวอำเภอขุขันธ์ทุกคน ได้สมัครใจร่วมรับวัคซีนในครั้งนี้อย่างทั่วถึง จะเป็นวัคซีนยี่ห้ออะไรก็ถือว่ามีคุณภาพดีและปลอดภัยทั้งหมด ขอให้ฉีดได้เร็วและทั่วถึงให้มากที่สุด เพราะ วัคซีนจะช่วยลดการติดเชื้อ และหากมีการติดเชื้อก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคทำให้เราไม่ป่วยหนักและเสียชีวิตได้  
        หากชาวอำเภอขุขันธ์ช่วยกัน...อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า...เราจะเอาชนะโรคนี้ได้  ถึงตอนนั้น บรรยากาศเก่าๆที่มีความสุขของพวกเรา  ก็จะกลับคืนมา...เราจะถอดหน้ากากอนามัยออกพร้อมกัน เราจะไปท่องเที่ยวไปพบปะญาติพี่น้องได้อย่างสบายใจ คนทำมาค้าขายก็จะค้าขายได้ดีขึ้น งนสังสรรค์รื่นเริง งานประเพณีต่างๆของเราที่เคยทำมาก็จะกลับมาเหมือนเดิม  ความสุขนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยความร่วมมีอร่วมใจของชาวอำเภอขุขันธ์ทุกคน ผมขอจึงขอเชิญชวนชาวอำเภอขุขันธ์ทุกคน ฉีดวัคซึนป้องกันโควิด-19 ในครั้งนี้อย่างทั่วถึงทุกคนด้วยครับ.. ขอบคุณครับ 
                                นายสุริยา  บุตรจินดา
                                   นายอำเภอขุขันธ์

1.2 เรื่อง...(เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ แจ้งที่ประชุมทราบ)

1.2.1 แนะนำสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 

เวปไซต์ www.mueangkhukhanculturalcouncil.org
เพจเฟสบุก @KHUKAN.KKDC หรือ https://www.facebook.com/KHUKAN.KKDC
ข้อบังคับของสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ คลิก
วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2563
วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ได้รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2563


ที่ประชุม...........................................

1.2.2 แนะนำ รักษาการแทน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
   นายสุเพียร  คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ รักษาการแทน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์(31 ธันวาคม 2563 -ปัจจุบัน) 

ที่มา : 
ที่ ศก ๐๐๓๑/๐๓๗๖ ลว 15 ม.ค. 2564 เรื่อง ขยายระยะเวลาการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรม - ข้อบังคับสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙

หมายเหตุ กรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ชุดเดิม
เริ่มดำรงตำแหน่ง 
ประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ 

พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๒  (ตาม ข้อบังคับสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  พุทธศักราช  ๒๕๕๙ ข้อที่8 ความว่า ...ในกรณีที่ประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ พ้นจากตําแหน่งตามวาระ หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ขึ้นใหม่ ให้ประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อดําเนินงานต่อไป จนกว่าประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ )

สืบเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติกล่าวคือมีการระบาดของโรคโควิด 19  และมีประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง ขยายระยะเวลาการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  ทำให้กรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ชุดเดิม ยังคงดำรงตำแหน่งมาจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2563 รวมเป็นระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งฯ 4 ปี 3 เดือน 10 วัน (ตามข้อบังคับสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  พุทธศักราช  ๒๕๕๙ ข้อที่8 ความว่า ...และในกรณีที่ประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ พ้นจากตําแหน่งตามวาระ และมีเหตการณ์ไม่ปกติที่ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ขึ้นใหม่ได้  ในห้วงระยะเวลาดังกล่าวได้     และมีประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง การประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมชุดใหม่  ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ให้เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  ซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้น  รักษาการแทนในตําแหน่ง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์   เพื่อดําเนินงานต่อไป    จนกว่าประธานหรือกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ )

1.2.3 
กิจกรรมเข้าร่วมงานมหกรรมรากวัฒนธรรม ของดีบ้านฉัน เนื่องในงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี ๒๕๖๔  ระหว่างวันที่ 17 - 21 มีนาคม 2564
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  รักษาการแทน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ เป็นตัวแทนกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ประสานงานและจัดกิจกรรมเข้าร่วมงานมหกรรมรากวัฒนธรรม  ของดีบ้านฉัน เนื่องในงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี ๒๕๖๔  ระหว่างวันที่ 17 - 21 มีนาคม 2564 ณ ลานประกวดด้านหน้าเวทีการกลางสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ

สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ขอขอบคุณกลุ่มทอผ้าลายลูกแก้ว บ้านนิคมเขต7  ตำบลนิคมพัฒนา  นำโดย นางสริด วงษ์ขันธ์ และคณะ ตัวแทนจากสภาวัฒนธรรมตำบลนิคมพัฒนา ที่ได้เข้าร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและกิจกรรมสาธิตทำอาหารพื้นถิ่นในนามตัวแทนอำเภอขุขันธ์

อาหารพื้นถิ่นอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ ที่นำเสนอประจำปีนี้ คือแกงไก่ใส่ขนุน សម្លខ្ទិះខ្នុរសាច់មាន់  Chicken Curry with Young Jackfruit ก็ได้รับความสนใจและได้รับคำชื่นชมว่า รสชาติอร่อยถูกปาก และขายได้จนเกลี้ยงหม้อ...จนเหลือไว้เพียงถ้วยเดียวไว้ให้กรรมการมาตรวจประเมิน...เท่านั้น

สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ขอขอบคุณ กลุ่มพานบายศรีบ้านยาง หมู่ที่ 7 ตำบลลมศักดิ์  นำโดย นางสวิน พันแก่น และนางคูณ สุภารัตน์  โดยมีคุณครูณัฐพล พันแก่น พนักงานขับรถที่ได้พาคณะทำพานบายศรีเข้าร่วม การประกวดทำพานใบศรีใบตอง ในนามตัวแทนอำเภอขุขันธ์

สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ขอขอบคุณ กลุ่มแส่วผ้าบ้านยาง หมู่ที่ 7 ตำบลลมศักดิ์  ที่ได้เข้าร่วมการประกวดแส่วผ้า  ในนามตัวแทนอำเภอขุขันธ์ วันนี้มาประกวดแส่วผ้า / ប៉ាក់ក្បាច់ក្បូរ​ /ปัก-กบัจ*-กโบร*/ ได้ลำดับที่ 2 ของจังหวัดศรีสะเกษ

สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  ขอขอบคุณ คณะนักเรียนและคุณครู จาก โรงเรียนบ้านปรือใหญ่  อำนวยการแสดงโดย นายเอกภักดิ์ วังคะพันธ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปรือใหญ่ ที่ได้จัดรายการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชื่อชุดการแสดง  การแสดงศิลปะวัฒนธรรม : เรื็อมแซนโฎนตา   และ การสาธิตพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน ในนามตัวแทนอำเภอขุขันธ์ 
1.2.4 กิจกรรมดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เนื่องใน #วันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี พุทธศักราช 2564 มาจัดที่ #โบราณสถานปราสาทตาเล็ง ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 
       อำเภอขุขันธ์ โดย สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ขอขอบคุณสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา โดย กลุ่มโบราณคดี ที่ได้นำจัดกิจกรรมดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เนื่องใน #วันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี พุทธศักราช 2564 มาจัดที่ #โบราณสถานปราสาทตาเล็ง ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ท่านขวัญศรัญธิดา  เรืองนภัครสกุล ปลัดอำเภอขุขันธ์ ท่านสุบรรณ์ นันทชาติ นายก อบต.ปราสาท ท่านสุเพียร คำวงศ์ รักษาการประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการรพ.สต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ตำบลปราสาท ตลอดจน ราษฎรในพื้นที่ตำบลปราสาท ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด  
       ขอขอบคุณ #สภาวัฒนธรรมตำบลปราสาท  #โรงเรียนบ้านปราสาท และ #ชมรมผู้สูงอายุตำบลปราสาท ที่ได้จัดรายการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ร่วมแสดงในพิธีเปิด จำนวน 3 ชุดการเเสดง ได้เเก่ 1. ระบำอัปสรา  2. การขับร้องเพลงภาษาพื้นบ้าน เเละ 3. รำอันเร ทำให้กิจกรรมในพิธีเปิดฯ มีความงดงาม และเเสดงออกถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวตำบลปราสาทที่อยู่อาศัยคู่กับโบราณสถานปราสาทตาเล็งมาหลายชั่วอายุคน นอกเหนือจากกิจกรรมทำความสะอาดโบราณสถานเเล้ว อบต.ปราสาท และชาวบ้านตำบลปราสาท ได้เพิ่มเติมกิจกรรม ได้แก่ การตักบาตรร่วมกันตอนเช้า พิธีบวงสรวงปราสาท เเละสรงน้ำพระ จึงทำให้กิจกรรมในวันนี้สมบูรณ์เเละเป็นที่น่าจดจำมากยิ่งขึ้น




ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว
2.1 เรื่อง...(ไม่มี)...

2.2 เรื่อง...(ไม่มี)...

ที่ประชุม...........................................

ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว
3.1 เรื่อง...(ไม่มี)...

3.2 เรื่อง...(ไม่มี)...

ที่ประชุม...........................................

ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเสนอเพื่อทราบ
4.1 
จังหวัดศรีสะเกษ ใช้ผ้าลายลูกแก้ว เป็น ผ้าลายอัตลักษณ์ศรีสะเกษ
        จังหวัดศรีสะเกษ สืบค้นผ้าอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ใช้ ผ้าลายลูกแก้ว เป็น ผ้าลายอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ภาษาเขมรขุขันธ์ เรียก ក្រណាត់កែប្ប​​ #กรอนัตแก็บ บ้างก็เรียก កន្សែងកែប្ប​ #กนฺแซงแก็บ  ภาษากูยตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ เรียก អិកកែប្ប #เอ็กแก็บ  ภาษากูยตำบลจะกง เรียก #ฉิกแก๊บ  ภาษาลาวศรีสะเกษ เรียก #ผ้าเหยียบลายลูกแก้ว

4.2 ลายปักแส่วอัตลักษณ์อำเภอขุขันธ์  The Uniqueness Khukhan of Embroidery  #ក្បាច់រចនាស្រុកគោកខណ្ឌ
        นายสุริยา บุตรจินดา นายอำเภอขุขันธ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอขุขันธ์  ร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ สนับสนุน ส่งเสริมให้กลุ่มทอผ้าของอำเภอขุขันธ์ ได้นำเอา #อัตลักษณ์ของอำเภอขุขันธ์ คือ #เกวียนน้อย #คุรุน้อยและ #ดอกลำดวนแดง มาปักแส่ว บน #ผ้าอัตลักษณ์อำเภอขุขันธ์
         #กลุ่มปักแส่วผ้าบ้านตรอย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ โดยนางวีระยา ศรีมาศ ประธานกลุ่ม ได้ #ปักแส่วลวดลายเชิงเทียน ซึ่งมีฐานเชิงเทียนเป็นลายจักสาน คั่นด้วยลายโซ่ แล้วเพิ่ม #ลายล้อเกวียนด้านล่าง ปิดด้วย #โซ่คล้อง ๒ เส้น  มี #เกวียนน้อย #ดอกลำดวนแดงในคุรุน้อย ซึ่งทางกลุ่มได้ปักแส่วลวดลายให้สวยงาม ตามความต้องการของลูกค้า และประชาสัมพันธ์อำเภอขุขันธ์ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น ผ่านลายผ้าซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอขุขันธ์ ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้กลุ่มทอผ้าและประชาชนทั่วไป ร่วม #ออกแบบผ้าอัตลักษณ์อำเภอขุขันธ์ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และสร้างความภาคภูมิใจใน #ภูมิปัญญาของคนขุขันธ์
#อะไรๆก็ดีที่ขุขันธ์💦💦

ที่ประชุม...........................................

4.3 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ  และสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ จะดําเนินการรวบรวมและจัดทําข้อมูล ปราชญ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ.2564 

            ด้วยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะดําเนินการรวบรวมและจัดทําข้อมูล ปราชญ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามรายการที่ได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึงปัจจุบัน เพื่อจัดทําเป็นบัญชีปราชญ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติและส่งเสริม บทบาทของปราชญ์ท้องถิ่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และสร้างเครือข่ายความ ร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาครัฐ 

           ในการนี้ จังหวัดศรีสะเกษ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ และสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  จึงขอความอนุเคราะห์กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและกรรมการสภาวัฒนธรรมระดับตำบลในพื้นที่ของอำเภอขุขันธ์ สํารวจข้อมูลปราชญ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และชุมชนให้การ ยอมรับอย่างเป็นที่ประจักษ์ ตามรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้ขึ้นบัญชีแล้ว ตามลิงก์และQR-Codeด้านล่างนี้ โดยจัดทําข้อมูลตามแบบสํารวจปราชญ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งจัดส่ง ข้อมูลภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔  นี้

 แบบสำรวจมรดกภูมิปัญญาและปราชญ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. ๒๕๖๔ คลิก  หรือใช้โทรศัพท์ส่องQR-Code ด้านล่างนี้

หมายเหตุ บัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ของจังหวัดศรีสะเกษ คลิก
ที่มา : 
ที่ ศก ๐๐๓๑/ว ๑๕๙๒ ลว 15 มี.ค. 2564 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์สํารวจปราชญ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา
5.1 การประชุมปรึกษาหารือ เพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรม ในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ปี พ.ศ. 2564 -2566


          ตามที่ นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมชี้แจงและระดมความคิดสภาวัฒนธรรมทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ - ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ได้มอบทิศทางการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี ๒๕๖๔ ใน ๒ ด้านใหญ่คือ อาหาร และผ้าไทย และได้กำหนดกรอบระยะเวลา ในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมชุดใหม่ เพื่อดำรงตำแหน่งแทนชุดเก่าที่ครบวาระ ๓ ปี  ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓  และที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น   เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙(COVID – 19)  กำลังแพร่ระบาดในหลายพื้นที่  จึงส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้

            อธิบดีสวธ.เผยต่อว่า เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสดังกล่าว ตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จึงออกประกาศขยายระยะเวลาการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมในแต่ละระดับ (เฉพาะในส่วนภูมิภาค) ดังนี้
๑. สภาวัฒนธรรมตำบล สภาวัฒนธรมเทศบาล และสภาวัฒนธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม - ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ (คณะกรรมการไม่เกิน ๒๑ คน)
๒. สภาวัฒนธรรมอำเภอ ระหว่างวันที่ ๑๕ มีนาคม - ๑๕ เมษายน  ๒๕๖๔  (คณะกรรมการไม่น้อยกว่า ๑๕ คน และไม่เกิน ๓๙ คน)
๓. สภาวัฒนธรรมจังหวัด ระหว่างวันที่ ๑ - ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ (คณะกรรมการไม่น้อยกว่า ๑๙ คน และไม่เกิน ๕๑ คน)
๔. สภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔
        ขณะนี้ เลขานุการสภาวัฒนธรรม รก.แทนประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ได้รวบรวมเอกสารแบบบันทึกการปรึกษาหารือการคัดเลือกกรรมการสภาวัฒนธรรม  แบบบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาวัฒนธรรม  และแบบสำรวจความคงอยู่และสถานภาพการเป็นองค์กรเครือข่ายวัฒนธรรมฯ เพื่อส่งให้วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ รับรองการได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวฒนธรรมตำบล และเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ และลงนามประกาศแต่งตั้งต่อไป  
       และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙(COVID–19)  ซึ่งโรคดังกล่าว ได้ทวีความรุนแรงและแพร่ระบาดไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นระลอกที่ ๓  ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ของอำเภอขุขันธ์  จึงส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ตามกำหนดเวลา จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้มีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  ในวันนี้ วันอังคารที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ในลำดับไป

หมายเหตุ
พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ คลิก

กฎกระทรวงกำหนดที่มา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา จำนวนกรรมการและสมาชิก วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม การบริหารจัดการ และการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๕ คลิก

กฎกระทรวงจัดตั้งสภาวัฒนธรรมเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๕๕ คลิก


และเอกสารที่เกี่ยวข้อง :

๑. ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง ขยายระยะเวลาการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อคลิก

๒. แบบบันทึกการปรึกษาหารือการคัดเลือกกรรมการสภาวัฒนธรรม คลิก
๓. แบบบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาวัฒนธรรม  คลิก

๔. แบบสำรวจความคงอยู่และสถานภาพการเป็นองค์กรเครือข่ายวัฒนธรรมฯ คลิก

๕. การจัดตั้งสภาวัฒนธรรม คลิก

๖. กรอบแนวทางการจัดตั้งสภาวัฒนธรรม คลิก


ติดต่อสอบถาม/ประสานงาน : นายสุเพียร  คำวงศ์  เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ โทร. 098-5869569


ที่มา : ที่ ศก 0031/ว0376 ลว 15 ม.ค. 2564 เรื่อง ขยายระยะเวลาการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรม

ที่ประชุม...........................................

ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องเงินอื่น(ถ้ามี)
6.1 เรื่อง...

6.2 เรื่อง...

ที่ประชุม...........................................

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย