-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พบข้อมูลการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอินฟลูเอนซา (Influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ระบาดที่จังหวัดขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2461

          เมื่อปี พ.ศ. 2461 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคที่จังหวัดขุขันธ์ เป็นหัวเมืองสำคัญหัวเมืองหนึ่งภายใต้การกำกับของมณฑลอุบล ซึ่งขณะนั้นประกอบด้วย 3 จังหวัด คือจังหวัดอุบล  จังหวัดขุขันธ์ และจังหวัดสุรินทร์  ได้เกิดโรคอินฟลูเอนซา ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอินฟลูเอนซา (Influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) แพร่กระจายไปทั่วราชอาณาจักรสยามทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองต่าง ๆ รวม 17 มณฑล  โดยเฉพาะที่จังหวัดขุขันธ์ ขณะนั้นมีจำนวนประชากรจากการสำรวจสำมะโนครัว เมื่อปี พ.ศ. 2461 จำนวนทั้งสิ้น 260,258 คน พบว่ามีราษฏรป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จำนวน 36,571ราย  และเสียชีวิต จำนวน 3,115 ราย

จากส่วนหนึ่งในเอกสารหลักฐานใน ร.6 น 7.11/2
เรื่อง ไข้หวัด (อินฟลูเอนซา) มีเรื่องแจกยา

ไวรัสไม่มีพรมแดนกั้น “โรคอินฟลูเอนซา” จากยุโรปสู่สยามประเทศ  “อินฟลูเอนซา” ร้ายยิ่งกว่าสงคราม
          โรคอินฟลูเอนซา (Influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 มีจุดเริ่มต้นในแถบยุโรป เมื่อคริสต์ศักราช 1918 หรือพุทธศักราช 2461 ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 โรคดังกล่าว   ได้แพร่ระบาดไปทั่วทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ทำให้มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตราว 20 - 50 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายเท่า สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ไม่ใช่เพราะว่ามีจุดเริ่มต้นในประเทศสเปน หากแต่สเปนเป็นประเทศที่เปิดเผยข้อมูลการเกิดโรคระบาดอินฟลูเอนซาเป็นประเทศแรก ส่วนแหล่งที่มาของโรคระบาดนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่ามาจากที่ใด

“อินฟลูเอนซา” สู่สยามประเทศ
           อินฟลูเอนซา จากยุโรปได้แพร่ระบาดมาถึงสยามประเทศ จากเอกสารจดหมายเหตุพบว่า ในช่วงเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2461 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้โทรเลขถึงเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า เกิดการระบาดของโรคอินฟลูเอนซาที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดสงขลา มีคนป่วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักโทษในเรือนจำ ข้าราชการ และตำรวจ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรี
ราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้

        โรคอินฟลูเอนซา แพร่กระจายไปทั่วราชอาณาจักรทั้งในเขตพระนคร และหัวเมืองต่าง ๆ รวม 17 มณฑล เช่น มณฑลมหาราฎร์ มณฑลนครไชยศรี มณฑลราชบุรี มลฑลกรุงเก่า มณฑลอุดร มณฑลอุบล มณฑลร้อยเอ็ด เป็นต้น
          โรคดังกล่าวเริ่มสงบลงเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2462 กระทรวงมหาดไทยจัดทำบัญชีสรุปจำนวนประชากรใน 17 มณฑล มีทั้งสิ้น 8,310,565 คน ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2,317,662 คน และเสียชีวิต 80,223 คน

เรียบเรียง : นายสุเพียร  คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2564.

REFERENCE :  
102 ปี จาก “อินฟลูเอนซา” สู่ “โคโรนาไวรัส” ในสยามประเทศ (EP.01). National Archives Of Thailand สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. Published 2019. Accessed July 25, 2021. https://www.nat.go.th/คลังความรู้/รายละเอียด/ArticleId/838/102.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย