ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กิจการไปรษณีย์โทรเลขของเมืองขุขันธ์ ได้เริ่มต้นมีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2428

          พบภาพเก่าในอดีตอีกหนึ่งภาพที่เกี่ยวข้องกับเมืองขุขันธ์ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งหากท่านใดเข้าไปประสานงานที่ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอขุขันธ์ เราจะพบรูปภาพเก่าในอดีตภาพหนึ่งที่ยังทรงคุณค่าคู่เมืองขุขันธ์ ติดอยู่ที่ผนังห้องด้านทิศตะวันออก ซึ่งก็มีหลายท่านถามกระผมมาว่า ภาพนี้คือภาพของท่านผู้ใด? และมีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับเมืองขุขันธ์ ? ซึ่งในที่สุด ทีมงานคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ใช้ภาพนี้เป็นต้นเรื่องในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล พบเรื่องราวที่สำคัญดังนี้
           สำหรับภาพเก่าในอดีตภาพนี้คือ พระฉายาลักษณ์ พระรูปของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระบิดาแห่งไปรษณีย์ไทย พระนามเดิมคือ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ภาณุพันธุ์” เป็นพระโอรสองค์ที่ 45 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2402 ทรงเป็นพระอนุชาร่วมครรโภทรเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 
          ตอนปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 สยามได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น มีสถานกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่นกงสุลอังกฤษ ซึ่งได้เปิดรับจดหมายที่ส่งไปติดต่อกับต่างประเทศ โดยใช้ตราไปรษณียากรของสหพันธรัฐมลายาและอินเดีย แล้วส่งไปประทับตราวันที่ที่สิงคโปร์ โดยฝากไปกับเรือสินค้าของอังกฤษ

        ในปี พ.ศ. 2418 สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงจัดทําหนังสือพิมพ์ข่าวรายวันชื่อว่า “หนังสือค้อตข่าวราชการ” หรือ “COURT” โดยจัดคนส่งหนังสือให้แก่สมาชิกทุกเช้า เมื่อไปส่งหนังสือให้สมาชิกคนไหน เขาสามารถฝากจดหมายกับคนส่งหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งไปหาสมาชิกคนอื่นๆได้ โดยจะติดแสตมป์และเขียนชื่อที่อยู่ผู้รับ-ผู้ส่งให้เรียบร้อย คนส่งหนังสือข่าวราชการ จึงนับเป็น บุรุษไปรษณีย์คนแรก และเริ่มมีการติดแสตมป์บนจดหมาย

        ต่อมาในปี พ.ศ.2426 รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชประสงค์ให้มีการไปรษณีย์และโทรเลขขึ้นในประเทศไทย ทรงเห็นว่ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มีพระทัยใส่ในเรื่องการไปรษณีย์ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชร่วมกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช จัดตั้ง กรมไปรษณีย์ และ กรมโทรเลข ขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 โดยทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขพระองค์แรก ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ได้ยุบทั้ง 2 กรมรวมเป็น กรมเดียวกันชื่อว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” นับว่ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงเป็นผู้บุกเบิกกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย
        พระองค์ทรงเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญยิ่ง ทรงมีพระปรีชาสามารถ และทรงมีพระอิจฉริยภาพหลากหลายด้าน กอปรกับการที่ทรงประกอบพระกรณียกิจถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง 3 รัชกาล ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
        สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ ถวายงานสนองเบื้องพระยุคคลบาทหลาด้าน ทั้งในกิจการทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการไปรษณีย์ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรกของประเทศ โดยทรงปรับปรุงกิจการไปรษณีย์ของสยามให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย ด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย พระองค์จึงได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณเป็น “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”
        สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต ขณะพระชันษา 69 พรรษา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

         และสำหรับคำถามที่สองที่ว่า ภาพนี้มีสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับเมืองขุขันธ์ ? คำตอบคือ เป็นภาพที่ทำให้ทราบว่ากิจการไปรษณีย์โทรเลข ได้เกิดขึ้นบ้านเมืองเราสมัยรัชกาลที่ 5 และเมืองขุขันธ์ ได้เริ่มต้นมีกิจการไปรษณีย์โทรเลข เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2428 ดังข้อมูลอ้างอิงจาก เสี้ยวหนึ่งในเส้นสายแห่งกาลเวลา(Timeline)เหตุการณ์ที่สำคัญและเกี่ยวกับเมืองขุขันธ์/ประเทศ/เมืองใกล้เคียง จังหวัดขุขันธ์ และอำเภอขขันธ์ จากอดีตถึงปัจจุบัน บนเวปๆไซต์สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ดังนี้

        ในปี พ.ศ. 2428 พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนวางสายโทรเลข จากเมืองจำปาสัก ถึงเมืองขุขันธ์ เชื่อมต่อไปถึงเมืองเสียมราฐ โดยมีบัญชาจาก พระยาอำมาตย์ข้าหลวงใหม่ เมืองจำปาสัก โดยตั้งและมอบหมายให้ ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ มีหนังสือบอกแจ้งไปยังเจ้าเมืองขุขันธ์ เจ้าเมืองสังขะ ให้เกณฑ์ไพร่พลไปตัดทางวางสาย โทรเลขจากเมืองขุขันธ์ ไปยังเมืองอุทุมพรพิสัย ตลอดไปยังเมืองมโนไพร ทั้งนี้โดยมีคำสั่งให้ ข้าหลวงพิชัยชาญยุทธ เป็นข้าหลวงประจำอยู่ที่เมืองมโนไพรด้วย

        ปี พ.ศ. 2430 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ส่งมิสเตอร์ อัลซอล ไลแมน ไปตรวจราชการที่เกี่ยวกับการตรวจ บำรุงรักษาทางสายโทรเลขระหว่างเมืองจำปาสักไปถึงเมืองขขันธ์ และจากเมืองขุขันธ์ ไปถึงเมืองเสียมราฐ แต่คณะตรวจราชการปฏิบัติภารกิจยังไม่เสร็จ ได้เกิดป่วยเป็นไข้ ถึงแก่กรรมที่เมืองขุขันธ์
        ปี พ.ศ. 2436 ทางกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดให้มิสเตอร์ โทมัสมาเมอร์ มิสเตอร์แมคคูลเลอร์ และ มิสเตอร์วิลเลี่ยมไปจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว ทั้งนี้ให้รวมถึงเมืองขุขันธ์ และเมืองศีร์ษะเกษ ไปจนถึงกรุงเทพฯ กำหนดการเดินไปรษณีย์โทรเลข อาทิตย์ละ 1 ครั้ง
        พ.ศ.2438 ในแผนที่ขนาดใหญ่ ของ Stanford's Library Map Of Asia พิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1895 ตรงกับ พ.ศ. 2438 รัชสมัย ร.5 ปรากฏชื่อ เมืองขุขันธ์ (Kukan เขียนแบบภาษาเยอรมัน หรือគោកខណ្ឌ เขียนเป็นภาษาเขมร) ณ พิกัดตำแหน่งที่ตั้งเดิมในปัจุบัน(อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) เคียงคู่กันกับ เมืองกันทรารมย์ ในอดีต บนแผนที่ทวีปเอเซีย ตรงกับที่ตั้งปัจจุบันคือตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ คลิก
        ปี พ.ศ.2450 มีประกาศกระทรวงโยธาธิการ แผนกกรมไปรษณีย์โทรเลข เรื่อง ยกเลิกโทรเลขที่ออฟฟิศเมืองขุขันธ์ให้คงมีแต่การใช้โทรศัพท์ ร.ศ.126 (28 ก.ค. 2450) คลิก

เรียบเรียง : 
ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2564.
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2564.

REFERENCE :
โรงเรียนการไปรษณีย์ - ศิษย์ปัจจุบัน.พระบิดาแห่งไปรษณีย์ไทย. Retrieved August 5, 2021, from Facebook.com website: https://m.facebook.com/postalschool/posts/1060180010723252/?locale=fr_FR

ศิลปวัฒนธรรม. (2021, June 13).13 มิถุนายน 2471 วันทิวงคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”. Retrieved August 6, 2021, from ศิลปวัฒนธรรม website: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_34021

‌สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์ Mueang Khukhan Cultural Council. (2013).ตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์. Retrieved August 5, 2021, from Mueangkhukhanculturalcouncil.org website: https://www.mueangkhukhanculturalcouncil.org/2014/08/blog-post_68.html


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย