-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เก็บตกเกร็ดประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์ฉบับย่อ จากภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ณ ภายในอุโบสถพระแก้วเนรมิต วัดบ้านลำภู ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ภาพที่ ๑
          พ.ศ. ๑๕๘๐/ ค.ศ. ๑๐๓๗  พระเจ้าชคต ศรีขัณฑเรศวร เมืองสด๊กโคกขัณฑ์ หมู่บ้านลำดวนตระพังสวายพระเจ้าอยู่หัว อัญ ศรีราชปติวรมัม ,    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กันต๊วนอัญศรีสูริยวรมัมเทพ , พระเจ้าชคตศรีพฤทเธศวร  ,    พระเจ้าชคตศรีสิขเรศวร      และศรีสุกรมก็อมแสดงชี       มาเข้าร่วมพิธีบวงสรวงเฉลิมฉลองการก่อสร้างปราสาทพระวิหาร เมื่อมหาศักราช ๙๕๙ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนมาฆมาส   ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม  พ.ศ. ๑๕๘๐/ ค.ศ. ๑๐๓๗

          Komrotang Chekud Srikhandhiresua a country of Sadok Kokhan, the village of Ramdual Tropeang Sawai, Preah Komrotang Ansri Reachpativoramum, Preach Bath Komrotang Kuntan An Sri Suraya Voramumtep, Komrotang Chekud Srisikaresua, Komrotang Chekud Sripruthesua, Srisukrom Komsatangshi held a ceremony of Preah Vihear castle construction on 3rd waxing moon,3rd month of 959 Shalivahana era, corresponding to January14,1580 BE.,1037 AD.

ภาพที่ ๒
          พ.ศ. ๑๖๕๖ / ค.ศ. ๑๑๑๓ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ หรือ พระเจ้าอยู่หัว อัญ บรมพิษณุโลก  ให้ช่างจารึกบน
ฝาผนังปราสาทนครวัดว่า  “ ข้าราชการฝ่ายพรานขมังธนู  พลเดินเท้าประจัญบาน ฝีตีนเร็วนำหน้า นี่  สยำกุก”
ซึ่งคำว่า    สยำกุก  คือเสียมโคก   หรือ เสียมโคกขัณฑ์    หรือ ชาวโคกขัณฑ์   หรือ ชาวขุขันธ์    สมัยนั้นนั่นเอง
       1656 BE./1113 AD.   The  King  Suyavaman 2   or   Komrotang  An  Borompitsanulok   ordered
the craftsmen to inscribe the story on the wall of Angkor Wat. The government employees, fast-moving hunters were Siamkuk. Those were Siamkuk. They were Siam Khukhan or Khukhan people  at that time.

ภาพที่ ๓
          พ.ศ. ๒๑๓๔ / ค.ศ. ๑๕๙๑ ตรงกับสมัยที่พระภิกษุประทา เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดบ้านลำภู เมืองโคกขัน คือชื่อเรียก เมืองขุขันธ์ในสมัยนั้น ได้ส่งกองทัพร่วมกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปรบกับสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แห่งกรุงละแวก และได้รับชัยชนะในปี  พ.ศ. ๒๑๓๗/ ค.ศ. ๑๕๙๔ 

          In 2134 BE./ 1591 AD. corresponding to the position of the Pratha monk, the abbot of Lamphu Temple, the ruler of Mueang Khukhan sent an army together with King Naresuan the Great to fight with King Boromracha IV, the Longvek king. King Naresuan the Great conquered the Longvek king in 2137 BE. / 1594 AD.

ภาพที่ ๔
       พ.ศ. ๒๓๐๒ / ค.ศ. ๑๗๕๙ ทองด้วงและบุญมา มหาดเล็กหลวง ได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าเอกทัศ ให้ตามหาพระยาช้างเผือกตกมัน  แตกโรงออกจากกรุงศรีอยุธยาเข้าสู่เขตเทือกเขาพนมดงเร็ก  โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ตากะจะ เชียงขันธ์ และหัวหน้าชาวเขมรป่าดงกลุ่มอื่นๆ
          2302 BE,1759 AD. Thongdoung and Boonma, the chamberlain, received a royal order from King Ekathat to catch Phaya Chang Pheak, the white elephant was in heat, and he fled from Ayutthaya into the forest of Phanom Dongrek Mountain. They were helped by Ta KaJa and Chieng Khan and other  jungle Khmer leaders.

ภาพที่  ๕
ทองด้วง บุญมา ตากะจะ และเชียงขันธ์ พร้อมด้วยหัวหน้าชาวเขมรป่าดง
ร่วมนำพระยาคชาธร ช้างเผือกแตกโรง  กลับกรุงศรีอยุธยา 

Thong Duong, Boonma, Ta Kaja, and Chieng Khan and the leaders of Forest Khmer 
brought Phaya Kachathorn, the white elephant returned to Krungsri Ayutthaya.

ภาพที่  ๖
พ.ศ. ๒๓๒๑ / ค.ศ. ๑๗๗๘  พระราชครูบัวทำพิธีปรกพลให้กองทัพตากะจะและเชียงขันธ์ 
ณ วัดลำภู เพื่อไปทำศึกที่เวียงจันทน์

2321 BE,1778 A.D. Phra Ratchakhru Bue performed a ceremony of Prokphon for
Takaja and  Chieng Khan Army at Wat Lamphu to fight in Vientiane.

ภาพที่  ๗
พ.ศ. 2321 / ค.ศ. ๑๗๗๘  กองทัพเมืองขุขันธ์   เมืองสังขะ    และเมืองสุรินทร์ 
ร่วมกับทัพหลวง    ไปทำศึกที่เวียงจันทน์
2321 BE. / 1778 AD. The army of Mueang Khukhan, Mueang Sangkha and Mueang Surin
with the Royal Army  went to war in Viengtiane.

ภาพที่  ๘
พ.ศ. ๒๓๒๑ / ค.ศ. ๑๗๗๘  ขบวนช้างอัญเชิญพระแก้วเนรมิต  มาถวายพระราชครูบัว
และพระแก้วมรกต พระบาง กลับกรุงธนบุรี
2321 BE. / 1778 AD. The procession of elephants invited Pra Kaew Neramit to offer 
Phra Ratchakhru Bue and the Emerald Buddha and Phrabang returned to Krungthonburi.


ภาพที่  ๙
ตากะจะ หรือ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน และ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ทั้ง 8 ท่าน คือ 
คุณตาเชียงขัน ท้าวบุญจันทร์  คุณตาทองด้วง  คุณตาท้าวใน  คุณตาท้าวนวน  
คุณตาท้าวกิ่ง คุณตาท้าววัง และคุณตาปัญญา ขุขันธิน
Takaja or Praya Krai Pakdi Srinakorn Lamduan and 8 of Praya Khukhan Pakdi Srinakorn Landuan namely,  Kunta Chiengkhan, Thao Boonchan, Kunta Thongdung, Kunta Thaonai, Kunta Thaonuan, Kunta Thao King, Kunta Thaowang and Kunta Panya Khukhandhin.

เรียบเรียง :  คณะกรรมการฝ่ายประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์
ลำดับเนื้อหา : ดร.วัชรินทร์  สอนพูด  ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
                         นายเทอดศักดิ์  เสริมศรี  ประธานคณะกรรมการวัดบ้านลำภู / ผู้ทรงคุณวุฒิ
                         นายนิติภูมิ  ขุขันธิน 
กรรมการ /ฝ่ายประวัติศาสตร์  สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
คำแปลภาษาอังกฤษ  :  ผศ.ดร.ปริง  เพชรล้วน 
                                         กรรมการ /ฝ่ายประวัติศาสตร์  สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
อักษรภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์  :  นายสุเพียร  คำวงศ์   เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ขอบคุณ :  
ภาพภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ณ ภายในอุโบสถพระแก้วเนรมิต
                   วัดบ้านลำภู  ตำบลใจดี  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2566

โขนเมืองขุขันธ์-จังหวัดขุขันธ์

        โขน เป็นศิลปะการแสดงที่โดดเด่นอีกประเภทหนึ่งของเมืองขุขันธ์   ที่มีลักษณะโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าที่หัวเมืองอื่นๆของไทยในอดีต   การแสดงโขนของเมืองขุขันธ์ (ก่อน พ.ศ. 2453 เรียกว่า ยุคเมืองขุขันธ์ และระหว่าง พ.ศ. 2453 - 2481 เรียกว่า ยุคจังหวัดขุขันธ์ ) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2426   กล่าวถึงคณะโขนของเมืองขุขันธ์  มีอยู่ ๒ คณะ  คือ

        1.โขนคณะของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน
(ท้าวปาน หรือปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 มีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านเก่า หรือบ้านคุ้มในวัง (ซรก-กนง-เวี๊ยง) พักอยู่คุ้มเดียวกับพระยาขุขันธ์ฯ อยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดบกจันทร์นครในปัจจุบัน   โขนคณะนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2426 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากการที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนนครลำดวน(ปัญญา ขุขันธิน) ได้นำครูโขนมาจากกรุงเทพฯและครูโขนจากกัมพูชาเข้ามาถ่ายทอดและฝึกหัดการแสดง เมื่อปี พ.ศ. 2426-2447 นักแสดงใช้ผู้ชายล้วน โดยมีบทพากย์ บทร้องเป็นภาษาเขมร และใช้ภาษาเขมรในการแสดงทั้งเรื่อง เนื่องจากเมืองขุขันธ์ในขณะนั้น มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในเนื้อเรื่องมากขึ้น


        2.โขนคณะของพระยาบำรุงบุระประจันต์  จางวาง หรือจันดี กาญจนเสริม เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450-2452 มีบ้านพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านห้วย  ทางทิศใต้ของวัดไทยเทพนิมิตรในปัจจุบัน  พักอยู่คุ้มเดียวกับพระยาบำรุงฯ มีคุณยายบัวแก้ว กาญจนเสริม(บุตรสาวของพระยาบำรุงฯ) หัวหน้าคณะเป็นผู้พากย์ และร้อง  รูปแบบการแสดงทั้งหมดมีลักษณะเช่นเดียวกับคณะของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 แตกต่างกันที่ใช้ภาษาไทยในการแสดง และสืบทอดมาถึงคุณยายบัวแก้ว กาญจนเสริม พ.ศ. 2452-ยุคครูบรรณ มากนวล 

        โขนทั้งสองคณะจะแสดงแต่เรื่องรามเกียรต์ โดยตัดเอาบางตอนในเรื่องรามเกียรติ์มาเป็นบทแสดง    ตัวละครทุกตัวจะแต่งด้วยเครื่องประดับ  ที่มีเพชร นิล จินดา  ประดับแพรวพราวไปทั้งตัว  มีหัวโขนตามลักษณะของตัวละครแต่ละตัว  มีเครื่องดนตรี ประกอบเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่  ส่วนฉากเป็นผ้าพื้นธรรมดาไม่มีลวดลาย  โรงแสดงปลูกเป็นโรงยาวยกพื้นสูงประมาณครึ่งเมตร  ปูด้วยกระดาน กั้นห้องเฉพาะห้องแต่ตัว หลังคามุงด้วยหญ้าคา   จะแสดงในโอกาสวันสำคัญต่างๆ  เช่น  เทศกาลปีใหม่ หรือมีงานจ้างไปแสดงในงานโกนจุกของลูกผู้มีอันจะกิน ส่วนมากจะแสดงในเวลากลางวัน มีครั้งหนึ่ง นายพุฒเทศ  กาญจนเสริม  สมัครผู้แทนราษฏรได้จ้างโขนของคุณยายบัวแก้ว ไปแสดงเพื่อหาเสียงบริเวณหนองปวงตึก   มีผู้มาชมจำนวนมาก  จูงลูกจูงหลานมาดู  คนที่อยู่ไกลก็จะขี่ม้ามาดู บ้างก็ขับเกวียน บรรทุกลูกหลานมาเต็มเล่มเกวียน ฝุ่นคลุ้งไปทั้งทุ่ง      ผลการหาเสียงในครั้งนั้น  ทำให้ นายพุฒเทศ   กาญจนเสริม  ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฏรคนแรกของขุขันธ์ และเป็นผู้แทนคนแรกของระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งท่านเป็นคนขุขันธ์โดยกำเนิด เป็นบุตรชายคนที่สองของพระยาบำรุงฯซึ่งเกิดจากภรรยาคนที่สองของท่าน  ถือเป็นเกียรติประวัติอันดีและเป็นที่ยินดีของชาวขุขันธ์ยิ่งนัก ส่วนผู้ที่มาดูโขนที่เป็นผู้หญิงก็จะแต่งกายด้วยผ้าถุงไหมสวยงามมาก  ประชันโฉมกัน  ห่มผ้าสะใบหรือตุ้มอกด้วยผ้าสะใบ  ใส่ตุ้มหูเงิน  ตุ้มหูทองแพรวพราว  มีกริยามารยาทที่เรียบร้อยสวยงาม  นั่งดูด้วยอาการสงบเสงี่ยม  เมื่อพอใจตัวละครก็จะร้องชมและปรบมือ  ผู้ชายก็จะนุ่งผ้าโสร่งไหมและผ้าขาวม้าไหม  ตามฐานะของตน



        เมื่อปี พ.ศ.  2511 -  2515  สืบเนื่องมาจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  ขณะนั้น คือ นายกำเกิง สุรการ ได้ให้ทางอำเภอขุขันธ์  ฝึกซ้อมการแสดงโขนเพื่อใช้แสดงในงานกาชาดประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ  และสืบเนื่องจากการที่นายบุญเลิศ จันทร อดีตครูใหญ่ในโรงเรียนขุขันธ์วิทยา(ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ได้ฝึกซ้อมนักเล่นโขน ตอนท้าวมาลีราชว่าความ เล่นรอบกองไฟในงานของโรงเรียนขุขันธ์วิทยา และนายศิริ ศิลาวัฒน์  อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านหัวเสือ(ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ที่ได้ฝึกซ้อมโขน ตอน พระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ และสังหารกุมภกรรณ โดยใช้เครื่องแต่งกายเท่าที่จะหาได้ไม่มีหัวโขนแต่ใช้หน้ากากปิดหน้าแทนนั้น  ทำให้ นายสม  ทัศศรี  นายอำเภอขุขันธ์   ได้รื้อฟื้นโขนขึ้น  โดยมอบหมายให้ อาจารย์ศิริ  ศิลาวัฒน์  ครูใหญ่โรงเรียนบ้านหัวเสือ (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ศึกษาธิการอำเภอ  คณะครูโรงเรียนขุขันธ์ และครูประชาบาลอำเภอขุขันธ์ ได้ฝึกซ้อมและนำไปแสดงในงานกาชาดประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ  โดยให้ นายศิริ ศิลาวัฒน์ จัดทำบทให้ผู้ฝึกซ้อม จำนวน 4 ตอน คือ
         1. ตอนกำเนิด พาลี สุครีพ หนุมาน
  
       2. ตอนทรพีฆ่าพ่อ และพาลีฆ่าทรพี
         3. ตอนหนุมานส่งข่าวนางสีดา และเผากรุงลงกา 
         4. ตอนพระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ และสังหารกุมภกรรณ
         บรรเลงประกอบการแสดงโดยวงปี่พาทย์บ้านหัวเสือ ได้รับการชื่นชมอย่างดียิ่ง มีผู้ชมสนใจไปชมการแสดงโขนของขุขันธ์แน่นขนัดทุกๆคืน ไปแสดงติดต่อกัน 3 ปี จึงเลิกไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง





ลักษณะการฝึกหัด
          มีการฝึกหัดเบื้องต้น ได้แก่ ตบเข่า ถองสะเอว ดัดมือ เต้นเสา ตีลังกา และการฝึกเข้าเรื่อง แต่ไม่มีการฝึกแม่ท่าหรือรำเพลงช้า เพลงเร็วเหมือนโขนกรุงเทพฯ

ลักษณะการแสดง
          ลักษณะการแสดงของโขนขุขันธ์ เป็นการแสดงที่ผสมผสานระหว่างการแสดงโขนกรุงเทพฯและโขนกัมพูชา โดยได้ปรับปรุงวิธีการแสดงให้เหมาะสมกับสังคมชาวขุขันธ์ โขนขุขันธ์ไม่มีบทพากษ์ มีแต่การเจรจาซึ่งเหมือนกับการพูดคล้องจองกัน ในการแสดงในยุคแรกใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมาใช้ทั้งชายและหญิงสามารถแสดงได้ทั้งตัวพระ นาง ยักษ์ ลิง บทที่ใช้มีลักษณะเป็นกลอนเลียนแบบกลอนบทละคร
ลักษณะการรบระหว่างยักษ์และลิง
           จะแตกต่างจากโขนกรุงเทพฯ คือ ใช้ท่ากระบี่กระบอง หรือ ท่าฟันดาบในการรบ ส่วนการขึ้นลอยจะมีการใช้ท่าขึ้นลอยหลังเพียงลอยเดียว
ลักษณะเครื่องแต่งกาย
           เครื่องแต่งกายจะแต่งยืนเครื่อง แต่ไม่วิจิตรงดงามอย่างโขนกรุงเทพฯ ลักษณะการปักจะใช้เลื่อมปักเป็นลวดลาย


วงดนตรีที่ใช้บรรเลง
           ใช้วงปี่พาทย์อีสานใต้ เพลงที่ใช้ในการแสดงมีลักษณะแปร่งหรือเพี้ยนกว่าเพลงโขนกรุงเทพฯ ลักษณะเพลงส่วนใหญ่จะออกไปทางเขมร แต่มีลูกตกบางเพลงอยู่ในทำนองเพลงไทย

            หลังจากปี พ.ศ. 2515  โขนขุขันธ์  ไม่ถูกนำมาแสดงให้ลูกหลานได้ชมอีกเลย  คงเหลือแต่ความทรงจำของผู้ที่เคยร่วมแสดงและผู้ชมที่มีอายุมากแล้ว  ส่วนเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย หัวโขนและหัวครู เครื่องดนตรีปี่พาทย์ก็กระจัดกระจายหายไปหมด   และยังแอบรออนุชนรุ่นหลังได้สืบสานให้คงอยู่คู่เมืองขุขันธ์ตลอดไป  ทั้งนี้ ได้มีนักเรียน นักศึกษาที่สนใจ จากกรมศิลปากร,วิทยาลัยนาฎศิลป์ต่างๆ มาขอเรียนท่าของตัวละครบางตัว เช่น ลิง,หณุมาณ   อยู่บ่อยๆ

           ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ร่วมกับโรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูลได้ทำการรื้อฟื้นการแสดงโขนขุขันธ์ขึ้นอีกครั้ง โดยใช้นักเรียนในชุมชนุมโขนขุขันธ์อนุบาลศรีประชานุกูล เป้นผู้แสดง มีคณะครู/บุคลากรในโรงเรียน และคุณครูผู้สอนที่เคยแสดงโขนเมื่อปี พ.ศ. 2511-2515 เป็นผู้ฝึกซ้อมร่วมด้วย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ และสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นสืบไป

เรื่องย่อรามเกียรติ์ ชุดยกรบ
ตอนหนุมานกล่องดวงใจและหย่าทัพ 
           ทศกัณฐ์ยกทัพรบกับพระรามแต่ทำอย่างไรก็ตามทศกัณฐ์ก็ไม่ตายจึงทูลว่าทศกัณฐ์ถอดดวงใจฝากไว้ที่ฤาษีโคบุตร หนุมานจึงอาสาไปนำกล่องดวงใจโดยให้องคตไปด้วยและทำทีขอให้ฤาษีโคบุตรช่วยพาไปถวายตัวจึงรับหนุมานไว้เป็นลูกบุญธรรม
        ฉากที่ 1 ทศกัณฐ์ว่าราชการ  มีความสงสัยว่าเหตุไฉนหนุมานถึงไม่เคยไหว้ตน หนุมานตอบว่าตนเองเกิดมาจากพระพาย การที่จะไหว้ใครต้องไหว้พระพายก่อน ซึ่งในกรุงลงกาไม่มีลมจึงไม่เคยได้ไหว้ ทศกัณฐ์ได้ถามถึงเรื่องการยกทัพไปรบกับพระรามหนุมานได้โอกาสที่จะแสดงตนว่ามีความจงรักภักดี จึงออกอุบายจะอาสาเป็นทัพหน้าไปตีเมืองเมืองพระราม ส่วนทศกัณฐ์ให้อยู่เป็นทับหลัง
  ฉากที่ 2 ตรวจพล มโหธรเตรียมกองทัพเพื่อรบกับฝ่ายพระราม(มโหธรเตรียมพล) หนุมานกับทศกัณฐ์ตรวจพล ทศกัณฐ์ชวนหนุมานออกรบ
     ฉากที่ 3 ยกรบ หนุมานอาสาล่วงหน้าไปก่อน แต่ไปแอบซุ่มกองทัพไว้ทางอื่นแล้วแอบไปเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์รบกับพระรามพลาดพลั้งเสียท่าให้กับพระราม โดนศรพระรามเข้าข้างชายโครงแต่ก็ไม่ตาย หนุมานปรากฏตัวขึ้นพร้อมกล่องดวงใจของทศกัณฐ์ประกาศจะมอบกล่องดวงใจให้กับพระราม สุดแท้แต่จะพิพากษาตัดสินชีวิตของทศกัณฐ์ เมื่อทศกัณฐ์เห็นกล่องดวงใจของตน จึงรู้ว่าหลงกลหนุมาน เกิดความโมโหเกรี้ยวกราดเป็นอย่างมากที่อุตส่าห์ยกเมืองยกสมบัติให้ แต่ต้องมาถูกหักหลัง จึงอ้อนวอนกล่องดวงใจคืน แต่หนุมานไม่ยอมให้ แถมด่าทอว่าโง่ที่หลงกลตัวเอง ให้มอบนางสีดาคืนแก่พระราม แล้วตัวเองจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ พระรามขอให้ทศกัณฐ์ทบทวนให้ดี ให้ยกทัพกลับ และมอบนางสีดากลับคืนมา แล้วจะไว้ชีวิต ทศกัณฐ์โกรธหนุมานมาก จึงทำการหย่าทัพ และยกทัพกลับไปแล้วจะขอมารบกันใหม่

ขอบพระคุณผู้เขียน :
อาจารย์บรรณ  มากนวล,2547. 
นายขวัญชัย  ไชยโพธิ์  ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2562.
ขอบพระคุณภาพประกอบ : นายณฐกร ประเสริฐ รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2563.
ผู้ตรวจ/ทาน/เรียบเรียง : นายสุเพียร  คำวงศ์,2556-2563.

สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ต้อนรับอาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษาและคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561 เวลา10.00 - 12.00 น. สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ได้มีโอกาสต้อนรับอาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษาและคณะจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการทำวิจัยและจัดทำข้อมูลโขนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ #โขนเมืองขุขันธ์ในอดีตเมื่อกว่า130 ปีที่ผ่านมา โดยมีนายขวัญชัย ไชยโพธิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


 





Reference: 

-โขนเมืองขุขันธ์ http://www.mueangkhukhanculturalcouncil.org/2013/09/blog-post_9503.html
- สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://www.tkri.tu.ac.th/

วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566

บุญประเพณีแซนโฎนตา สารทแห่งความกตัญญูของชาวอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ(โดยสังเขป)

บุญประเพณีแซนโฎนตา เป็นหนึ่งในรากเหง้าสำคัญทางวัฒนธรรมและเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวสยามแถบอีสานใต้     ซึ่งแสดงออกถึงความรักสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกในวงศาคณาญาติ  ที่ร่วมกันแสดงความกตัญญูต่อบรรพรุษของตน  ซึ่งในภาษาขอมอีสานใต้ เรียกว่า โฎนตา​ ​(ដូនតា)ทั้งที่ยังคงมีชีวิต และที่ได้ล่วงลับไปแล้ว    ซึ่งบุญประเพณีแซนโฎนตา นั้น เริ่มต้นขึ้นในเดือนสิบของทุกปีมาแต่โบราณกาลและตรงกับวันสารทไทยของทุกปี
            คำว่า​ "บุญ" ในใบลานภาษาขุขันธ์จาร ว่า បុន​ หรือ  បុណ្យ​ส่วนคำว่า “แซนโฎนตา” ในภาษาขอมขุขันธ์ เขียนว่า សែនដូនតា อ่านว่า /แซน-โดน-ตา/ ส่วนที่ฝั่งประเทศกัมพูชาเรียกว่า ភ្ជុំបិណ្ឌ​ อ่านว่า /ปจุม-เบ็น/ จริงๆก็คือประเพณีอันเดียวกัน เพียงแต่ใช้ศัพท์เรียกแตกต่างกัน หรือบางครั้งก็เอาคำศัพท์ทั้งสองคำมารวมกันเป็น បុណ្យភ្ជុំបិណ្ឌសែនដូនតា อ่านว่า /ปจุม-เบ็น-แซน-โดน-ตา/ ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้สามารถสื่อถึงความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

            សែន/ แซน / แปลว่า การเซ่นไหว้ การอุทิศ หรือบวงสรวง  ส่วนคำว่า ដូនតា หรือ “โฎนตา” แปลว่า ปู่ย่าตายาย ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือบรรพบุรุษญาติพี่น้องที่ได้ล่วงลับไปแล้ว นั่นเอง  โดยชาวบ้านจะจัดให้มีบุญประเพณีแซนโฎนตาขึ้นทุกปี  ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง วันแรม 14 หรือ 15 ค่ำเดือนสิบ  โดยเฉพาะชาวบ้านในแถบจังหวัดอีสานใต้ เช่น ศรีสะเกษ  สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ฯลฯ  ซึ่งบุตรหลาน และญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพหรือตั้งถิ่นฐานที่อื่นไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ทั่วทุกสารทิศ จะเดินทางกลับมารวมญาติ  และมาทำบุญที่บ้านเกิดเพื่อทำพิธีแซนโฎนตา  ร่วมกันทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้บรรพบุรุษ และญาติของตนเองที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  นอกจากนี้ ใน่ช่วงประเพณีแซนโฎนตา ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทำความดีตามหลักพระพุทธศาสนาด้วยการทำบุญ  บริจาคทาน  รักษาศีล และฟังพระธรรมเทศนา  อันจะส่งผลให้จิตใจแจ่มใสปราศจากความเศร้าโศก   และสะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวเครือญาติที่จะได้ขอขมาในสิ่งที่ได้กระทำล่วงเกินกัน  และสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน

       เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษในบุญประเพณีแซนโฎนตา หรือ ภาษาเขมร เรียกว่า ​“ซ็อมแณน แซนโฎนตา” ในภาษาขอมขุขันธ์ เขียนว่า សំណែនសែនដូនតា ซึ่งจะประกอบไปด้วยอาหารคาวหวาน  เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆ
       อาหารคาว  ได้แก่ ปลานึ่ง ปลาย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง  แกงวุ้นเส้น แกงกล้วย ลาบหมู  ต้มยำไก่และไก่นึ่ง ซึ่งเป็นไก่ทั้งตัวเอาเครื่องในออก
       อาหารหวาน ได้แก่ ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว หรือใบตอง ขนมเทียน ขนมนางเล็ด ขนมโกรจ(ขนมผลส้ม) ขนมฌูก(ขนมดอกบัว)  และข้าวกระยาสารท  
       เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำเปล่า และน้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ต่างๆ
       สำหรับ ผลไม้ ได้แก่ มะพร้าวอ่อน กล้วย ส้ม ละมุด พุทรา องุ่น เป็นต้น ผลไม้ที่สำคัญ ซึ่งขาดไม่ได้ในประเพณีนี้ก็คือ กล้วย นั่นเอง

   ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ประตูยมโลกจะเปิด และอนุญาตให้วิญญาณบรรพบุรุษเดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวบ้านจะพากันไปวัด  เพื่อประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเช่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังพระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา เป็นต้น   ในช่วง ๑ – ๒ วัน ก่อนจะถึงวันแรม ๑๔ - ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้เพื่อจัดทำพิธีแซนโฎนตาที่บ้าน รวมทั้งจัดทำอาหารคาวหวาน  เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆด้วย  แล้วรุ่งเช้าก็จะนำเอาไปทำบุญที่วัด และเป็นของฝากให้ญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้ชิดกัน เมื่อวิญญาณของบรรพบุรุษได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียนบุตรหลานบนโลกมนุษย์ พบเห็นข้าวปลาอาหาร ข้าวต้ม ขนมหวาน เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆที่ลูกหลานจัดเตรียมเซ่นไหว้ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อย่างอุดมสมบูรณ์ ต่างก็เกิดความปลื้มอกปลื้มใจ และรับเอาส่วนกุศลนั้นกลับไปด้วยและก่อนเดินทางกลับสู่ยมโลกเพื่อไปชดใช้กรรมที่ยังเหลืออยู่ โฎนตาเหล่านั้น ก็จะอำนวยอวยพรให้ลูกหลานประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ประสบความสำเร็จในชีวิต  ให้ทำมาค้าขึ้น และครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป

พระธรรมเทศนา ฉลองเบ็ณฑ์ (ឆ្លងបិណ្ឌ)
ภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์


 จังหวัดศรีสะเกษ โดยอำเภอขุขันธ์ ขอเชิญผู้สนใจทุกท่าน
ร่วมวัฒนธรรมบุญประเพณีแซนโฎนตา   ณ  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 
ได้ในระหว่างวันที่ตรงกับวันแรม  ๑  - ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี
หมายเหตุ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย