ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2566

โขนเมืองขุขันธ์-จังหวัดขุขันธ์

        โขน เป็นศิลปะการแสดงที่โดดเด่นอีกประเภทหนึ่งของเมืองขุขันธ์   ที่มีลักษณะโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าที่หัวเมืองอื่นๆของไทยในอดีต   การแสดงโขนของเมืองขุขันธ์ (ก่อน พ.ศ. 2453 เรียกว่า ยุคเมืองขุขันธ์ และระหว่าง พ.ศ. 2453 - 2481 เรียกว่า ยุคจังหวัดขุขันธ์ ) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2426   กล่าวถึงคณะโขนของเมืองขุขันธ์  มีอยู่ ๒ คณะ  คือ

        1.โขนคณะของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน
(ท้าวปาน หรือปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 มีบ้านพักอยู่ในหมู่บ้านเก่า หรือบ้านคุ้มในวัง (ซรก-กนง-เวี๊ยง) พักอยู่คุ้มเดียวกับพระยาขุขันธ์ฯ อยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดบกจันทร์นครในปัจจุบัน   โขนคณะนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2426 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากการที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนนครลำดวน(ปัญญา ขุขันธิน) ได้นำครูโขนมาจากกรุงเทพฯและครูโขนจากกัมพูชาเข้ามาถ่ายทอดและฝึกหัดการแสดง เมื่อปี พ.ศ. 2426-2447 นักแสดงใช้ผู้ชายล้วน โดยมีบทพากย์ บทร้องเป็นภาษาเขมร และใช้ภาษาเขมรในการแสดงทั้งเรื่อง เนื่องจากเมืองขุขันธ์ในขณะนั้น มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในเนื้อเรื่องมากขึ้น


        2.โขนคณะของพระยาบำรุงบุระประจันต์  จางวาง หรือจันดี กาญจนเสริม เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450-2452 มีบ้านพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านห้วย  ทางทิศใต้ของวัดไทยเทพนิมิตรในปัจจุบัน  พักอยู่คุ้มเดียวกับพระยาบำรุงฯ มีคุณยายบัวแก้ว กาญจนเสริม(บุตรสาวของพระยาบำรุงฯ) หัวหน้าคณะเป็นผู้พากย์ และร้อง  รูปแบบการแสดงทั้งหมดมีลักษณะเช่นเดียวกับคณะของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 แตกต่างกันที่ใช้ภาษาไทยในการแสดง และสืบทอดมาถึงคุณยายบัวแก้ว กาญจนเสริม พ.ศ. 2452-ยุคครูบรรณ มากนวล 

        โขนทั้งสองคณะจะแสดงแต่เรื่องรามเกียรต์ โดยตัดเอาบางตอนในเรื่องรามเกียรติ์มาเป็นบทแสดง    ตัวละครทุกตัวจะแต่งด้วยเครื่องประดับ  ที่มีเพชร นิล จินดา  ประดับแพรวพราวไปทั้งตัว  มีหัวโขนตามลักษณะของตัวละครแต่ละตัว  มีเครื่องดนตรี ประกอบเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่  ส่วนฉากเป็นผ้าพื้นธรรมดาไม่มีลวดลาย  โรงแสดงปลูกเป็นโรงยาวยกพื้นสูงประมาณครึ่งเมตร  ปูด้วยกระดาน กั้นห้องเฉพาะห้องแต่ตัว หลังคามุงด้วยหญ้าคา   จะแสดงในโอกาสวันสำคัญต่างๆ  เช่น  เทศกาลปีใหม่ หรือมีงานจ้างไปแสดงในงานโกนจุกของลูกผู้มีอันจะกิน ส่วนมากจะแสดงในเวลากลางวัน มีครั้งหนึ่ง นายพุฒเทศ  กาญจนเสริม  สมัครผู้แทนราษฏรได้จ้างโขนของคุณยายบัวแก้ว ไปแสดงเพื่อหาเสียงบริเวณหนองปวงตึก   มีผู้มาชมจำนวนมาก  จูงลูกจูงหลานมาดู  คนที่อยู่ไกลก็จะขี่ม้ามาดู บ้างก็ขับเกวียน บรรทุกลูกหลานมาเต็มเล่มเกวียน ฝุ่นคลุ้งไปทั้งทุ่ง      ผลการหาเสียงในครั้งนั้น  ทำให้ นายพุฒเทศ   กาญจนเสริม  ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฏรคนแรกของขุขันธ์ และเป็นผู้แทนคนแรกของระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งท่านเป็นคนขุขันธ์โดยกำเนิด เป็นบุตรชายคนที่สองของพระยาบำรุงฯซึ่งเกิดจากภรรยาคนที่สองของท่าน  ถือเป็นเกียรติประวัติอันดีและเป็นที่ยินดีของชาวขุขันธ์ยิ่งนัก ส่วนผู้ที่มาดูโขนที่เป็นผู้หญิงก็จะแต่งกายด้วยผ้าถุงไหมสวยงามมาก  ประชันโฉมกัน  ห่มผ้าสะใบหรือตุ้มอกด้วยผ้าสะใบ  ใส่ตุ้มหูเงิน  ตุ้มหูทองแพรวพราว  มีกริยามารยาทที่เรียบร้อยสวยงาม  นั่งดูด้วยอาการสงบเสงี่ยม  เมื่อพอใจตัวละครก็จะร้องชมและปรบมือ  ผู้ชายก็จะนุ่งผ้าโสร่งไหมและผ้าขาวม้าไหม  ตามฐานะของตน



        เมื่อปี พ.ศ.  2511 -  2515  สืบเนื่องมาจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  ขณะนั้น คือ นายกำเกิง สุรการ ได้ให้ทางอำเภอขุขันธ์  ฝึกซ้อมการแสดงโขนเพื่อใช้แสดงในงานกาชาดประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ  และสืบเนื่องจากการที่นายบุญเลิศ จันทร อดีตครูใหญ่ในโรงเรียนขุขันธ์วิทยา(ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ได้ฝึกซ้อมนักเล่นโขน ตอนท้าวมาลีราชว่าความ เล่นรอบกองไฟในงานของโรงเรียนขุขันธ์วิทยา และนายศิริ ศิลาวัฒน์  อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านหัวเสือ(ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ที่ได้ฝึกซ้อมโขน ตอน พระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ และสังหารกุมภกรรณ โดยใช้เครื่องแต่งกายเท่าที่จะหาได้ไม่มีหัวโขนแต่ใช้หน้ากากปิดหน้าแทนนั้น  ทำให้ นายสม  ทัศศรี  นายอำเภอขุขันธ์   ได้รื้อฟื้นโขนขึ้น  โดยมอบหมายให้ อาจารย์ศิริ  ศิลาวัฒน์  ครูใหญ่โรงเรียนบ้านหัวเสือ (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ศึกษาธิการอำเภอ  คณะครูโรงเรียนขุขันธ์ และครูประชาบาลอำเภอขุขันธ์ ได้ฝึกซ้อมและนำไปแสดงในงานกาชาดประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ  โดยให้ นายศิริ ศิลาวัฒน์ จัดทำบทให้ผู้ฝึกซ้อม จำนวน 4 ตอน คือ
         1. ตอนกำเนิด พาลี สุครีพ หนุมาน
  
       2. ตอนทรพีฆ่าพ่อ และพาลีฆ่าทรพี
         3. ตอนหนุมานส่งข่าวนางสีดา และเผากรุงลงกา 
         4. ตอนพระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ และสังหารกุมภกรรณ
         บรรเลงประกอบการแสดงโดยวงปี่พาทย์บ้านหัวเสือ ได้รับการชื่นชมอย่างดียิ่ง มีผู้ชมสนใจไปชมการแสดงโขนของขุขันธ์แน่นขนัดทุกๆคืน ไปแสดงติดต่อกัน 3 ปี จึงเลิกไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง





ลักษณะการฝึกหัด
          มีการฝึกหัดเบื้องต้น ได้แก่ ตบเข่า ถองสะเอว ดัดมือ เต้นเสา ตีลังกา และการฝึกเข้าเรื่อง แต่ไม่มีการฝึกแม่ท่าหรือรำเพลงช้า เพลงเร็วเหมือนโขนกรุงเทพฯ

ลักษณะการแสดง
          ลักษณะการแสดงของโขนขุขันธ์ เป็นการแสดงที่ผสมผสานระหว่างการแสดงโขนกรุงเทพฯและโขนกัมพูชา โดยได้ปรับปรุงวิธีการแสดงให้เหมาะสมกับสังคมชาวขุขันธ์ โขนขุขันธ์ไม่มีบทพากษ์ มีแต่การเจรจาซึ่งเหมือนกับการพูดคล้องจองกัน ในการแสดงในยุคแรกใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมาใช้ทั้งชายและหญิงสามารถแสดงได้ทั้งตัวพระ นาง ยักษ์ ลิง บทที่ใช้มีลักษณะเป็นกลอนเลียนแบบกลอนบทละคร
ลักษณะการรบระหว่างยักษ์และลิง
           จะแตกต่างจากโขนกรุงเทพฯ คือ ใช้ท่ากระบี่กระบอง หรือ ท่าฟันดาบในการรบ ส่วนการขึ้นลอยจะมีการใช้ท่าขึ้นลอยหลังเพียงลอยเดียว
ลักษณะเครื่องแต่งกาย
           เครื่องแต่งกายจะแต่งยืนเครื่อง แต่ไม่วิจิตรงดงามอย่างโขนกรุงเทพฯ ลักษณะการปักจะใช้เลื่อมปักเป็นลวดลาย


วงดนตรีที่ใช้บรรเลง
           ใช้วงปี่พาทย์อีสานใต้ เพลงที่ใช้ในการแสดงมีลักษณะแปร่งหรือเพี้ยนกว่าเพลงโขนกรุงเทพฯ ลักษณะเพลงส่วนใหญ่จะออกไปทางเขมร แต่มีลูกตกบางเพลงอยู่ในทำนองเพลงไทย

            หลังจากปี พ.ศ. 2515  โขนขุขันธ์  ไม่ถูกนำมาแสดงให้ลูกหลานได้ชมอีกเลย  คงเหลือแต่ความทรงจำของผู้ที่เคยร่วมแสดงและผู้ชมที่มีอายุมากแล้ว  ส่วนเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย หัวโขนและหัวครู เครื่องดนตรีปี่พาทย์ก็กระจัดกระจายหายไปหมด   และยังแอบรออนุชนรุ่นหลังได้สืบสานให้คงอยู่คู่เมืองขุขันธ์ตลอดไป  ทั้งนี้ ได้มีนักเรียน นักศึกษาที่สนใจ จากกรมศิลปากร,วิทยาลัยนาฎศิลป์ต่างๆ มาขอเรียนท่าของตัวละครบางตัว เช่น ลิง,หณุมาณ   อยู่บ่อยๆ

           ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ร่วมกับโรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูลได้ทำการรื้อฟื้นการแสดงโขนขุขันธ์ขึ้นอีกครั้ง โดยใช้นักเรียนในชุมชนุมโขนขุขันธ์อนุบาลศรีประชานุกูล เป้นผู้แสดง มีคณะครู/บุคลากรในโรงเรียน และคุณครูผู้สอนที่เคยแสดงโขนเมื่อปี พ.ศ. 2511-2515 เป็นผู้ฝึกซ้อมร่วมด้วย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ และสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นสืบไป

เรื่องย่อรามเกียรติ์ ชุดยกรบ
ตอนหนุมานกล่องดวงใจและหย่าทัพ 
           ทศกัณฐ์ยกทัพรบกับพระรามแต่ทำอย่างไรก็ตามทศกัณฐ์ก็ไม่ตายจึงทูลว่าทศกัณฐ์ถอดดวงใจฝากไว้ที่ฤาษีโคบุตร หนุมานจึงอาสาไปนำกล่องดวงใจโดยให้องคตไปด้วยและทำทีขอให้ฤาษีโคบุตรช่วยพาไปถวายตัวจึงรับหนุมานไว้เป็นลูกบุญธรรม
        ฉากที่ 1 ทศกัณฐ์ว่าราชการ  มีความสงสัยว่าเหตุไฉนหนุมานถึงไม่เคยไหว้ตน หนุมานตอบว่าตนเองเกิดมาจากพระพาย การที่จะไหว้ใครต้องไหว้พระพายก่อน ซึ่งในกรุงลงกาไม่มีลมจึงไม่เคยได้ไหว้ ทศกัณฐ์ได้ถามถึงเรื่องการยกทัพไปรบกับพระรามหนุมานได้โอกาสที่จะแสดงตนว่ามีความจงรักภักดี จึงออกอุบายจะอาสาเป็นทัพหน้าไปตีเมืองเมืองพระราม ส่วนทศกัณฐ์ให้อยู่เป็นทับหลัง
  ฉากที่ 2 ตรวจพล มโหธรเตรียมกองทัพเพื่อรบกับฝ่ายพระราม(มโหธรเตรียมพล) หนุมานกับทศกัณฐ์ตรวจพล ทศกัณฐ์ชวนหนุมานออกรบ
     ฉากที่ 3 ยกรบ หนุมานอาสาล่วงหน้าไปก่อน แต่ไปแอบซุ่มกองทัพไว้ทางอื่นแล้วแอบไปเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์รบกับพระรามพลาดพลั้งเสียท่าให้กับพระราม โดนศรพระรามเข้าข้างชายโครงแต่ก็ไม่ตาย หนุมานปรากฏตัวขึ้นพร้อมกล่องดวงใจของทศกัณฐ์ประกาศจะมอบกล่องดวงใจให้กับพระราม สุดแท้แต่จะพิพากษาตัดสินชีวิตของทศกัณฐ์ เมื่อทศกัณฐ์เห็นกล่องดวงใจของตน จึงรู้ว่าหลงกลหนุมาน เกิดความโมโหเกรี้ยวกราดเป็นอย่างมากที่อุตส่าห์ยกเมืองยกสมบัติให้ แต่ต้องมาถูกหักหลัง จึงอ้อนวอนกล่องดวงใจคืน แต่หนุมานไม่ยอมให้ แถมด่าทอว่าโง่ที่หลงกลตัวเอง ให้มอบนางสีดาคืนแก่พระราม แล้วตัวเองจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ พระรามขอให้ทศกัณฐ์ทบทวนให้ดี ให้ยกทัพกลับ และมอบนางสีดากลับคืนมา แล้วจะไว้ชีวิต ทศกัณฐ์โกรธหนุมานมาก จึงทำการหย่าทัพ และยกทัพกลับไปแล้วจะขอมารบกันใหม่

ขอบพระคุณผู้เขียน :
อาจารย์บรรณ  มากนวล,2547. 
นายขวัญชัย  ไชยโพธิ์  ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2562.
ขอบพระคุณภาพประกอบ : นายณฐกร ประเสริฐ รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์,2563.
ผู้ตรวจ/ทาน/เรียบเรียง : นายสุเพียร  คำวงศ์,2556-2563.


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย