ท่ารำประกอบเพลงแม่มด 11 ท่า
ได้รับความอนุเคราะห์จาก อ.ศักดิ์ศรี ถูกศรี ครูชำนาญการ
ร.ร.บ้านทะลอก ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ได้รับความอนุเคราะห์จาก อ.ศักดิ์ศรี ถูกศรี ครูชำนาญการ
ร.ร.บ้านทะลอก ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ความเป็นมาของเรือมมะม็วด
เรือมมะม็วด เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวศรีสะเกษ แถบอำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ และอำเภอภูสิงห์ ที่มีเชื้อสายเขมร เรียกว่า เรือมมะม็วด หรือ รำแม่มด มีลักษณะ คล้ายการทรงเจ้า เพราะเชื่อว่าเทพหรือผีนั้น มี 2 พวก คือ พวกที่อยากได้สิ่งของโดยให้คนจัดให้กับพวกที่คอยมาดูแลมนุษย์
เรือมมะม็วดจะทำขึ้นเมื่อผู้ป่วย ซึ่งรักษาโดยวิธีการปกติธรรมดาหรือรักษาที่โรงพยาบาล หรือแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย จึงต้องจัดพิธีกรรมเรือมมะม็วดขึ้น ส่วนดนตรีที่ใช้ประกอบมี แคน ซอ ขลุ่ย ฆ้องและกลอง ซึ่งต้องเป็นกลองทำจากดินเผา หนังกลองทำจากหนังตะกวด จากการสัมภาษณ์ยายเกวียน ใจนวน ชาวบ้านระกา ทราบว่า การหาสาเหตุ ของการป่วยต้องมีคน 2 กลุ่ม คือ ผู้เข้าทรงแล้วบอกว่าจะมีเทวดาขออยู่ด้วย คนนี้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ส่วนอีกกลุ่ม คือ คนถามหาสาเหตุของการเจ็บป่วยเมื่อรู้สาเหตุแล้ว ก็ถามต่อไปว่า จะให้ทำ อย่างไรจึงจะหาย ก็จะมีพิธีกรรม ดังนี้
ความเชื่อเกี่ยวกับเรือมมะม็วด
ชาวเขมรมีความเชื่อว่า คนทุกคนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองบุคคลนั้นอยู่ประจำในขณะมีชีวิตอยู่ซึ่งเรียกว่าเป็นครู หรือ “กรู” ในภาษาเขมร และเมื่อเสียชีวิตไปแล้ววิญญาณของบรรพบุรุษก็ยังวนเวียนอยู่เพื่อคอยปกป้องดู และลูกหลานของตน ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในการประกอบสัมมาอาชีพ ตามความเชื่อนี้ชนเผ่าเขมรจึงมีความเคารพและไม่ล่วงเกินต่อกันและกัน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการทำผิดต่อครูซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลอื่น รวมถึงมีความเคารพยำเกรงต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีจารีตการปฏิบัติที่แสดงออกถึงการระลึกถึงบุญคุณบรรพบุรุษอยู่เสมอ เช่น ก่อนการประกอบพิธีกรรมทุกอย่างของชนเผ่าเขมร ต้องมีการเซ่นไหว้เพื่อบอกกล่าวต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ก่อนลงมือทำนาในครั้งแรก งานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ รวมถึงการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ และทำทานแก่ผีที่ไม่มีญาติ เรียกว่า “สารทเขมร” หรือ ประเพณี “แซนโฏนตา” แปลว่าการเซ่นไหว้ต่อบรรพบุรุษ ซึ่งนับว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และจัดสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย
เมื่อมีคนในครอบครัวมีอาการป่วยหรือผิดปกติทางด้านร่างกายหรือจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่งญาติจะขอให้ร่างทรงทำนายว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วยซึ่งโดยมากแล้วร่างทรงก็จะบอกสาเหตุของอาการป่วยซึ่งเป็นเรื่องทางไสยศาสตร์และบางครั้งก็จะมีสาเหตุมาจากครูของบุคคลนั้น หรือบรรพบุรุษโกรธเคืองที่ลูกหลานละเลยไม่ให้ความเคารพนบถือ ไม่มีการแสดงออกถึงความยำเกรง หรือไม่สามัคคีกันในหมู่พี่น้อง ก็จะบันดาลให้บุคคลนั้นหรือหนึ่งในหมู่เครือญาติที่ร่างกายกำลังอ่อนแอ อยู่ในช่วงดวงไม่ค่อยดีเกิดความผิดปกติทางด้านจิตใจหรือการเจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกาย จากนั้นญาติของผู้ป่วยก็จะทำพิธีกรรมเรือมมะม็วดเพื่อเป็นการชุมนุมกันของบรรดาร่างทรงของครูและบรรพบุรุษร่ายรำถวายเพื่อขอขมาลาโทษ และถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการป่วย จากความเชื่อที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของพิธีกรรมเรือมมะม็วด ซึ่งถือปฏิบัติมาหลายชั่วอายุคน