ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2558

ประวัติหลวงพ่อโต วัดมหาพุทธาราม(วัดพระโต) จังหวัดศรีสะเกษ

             หลวงพ่อโต  ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่อโตวัดมหาพุทธารามปัจจุบันนี้   ในตำนานที่ค่อนข้างสอดคล้องกับประวัติศาสตร์เมืองศรีสะเกษ จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางเล่ากันว่า หลวงพ่อโตองค์จริงนั้น ถูกหุ้มอยู่ข้างใน เป็นพระพุทธรูปหินเขียว หรือหยกเขียว  ปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร) เดิมมีหน้าตักกว้างยาว ๒.๕๐ เมตร ต่อมากลัวว่าพวกมิจฉาชีพจะทำให้เสียหาย จึงมีผู้ศรัทธาหุ้มเสริมองค์จริงเข้าไปหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ มีขนาดหน้าตัก ๓.๕๐ เมตร ความสูงตั้งแต่พระเกศาลงมา ๖.๘๕ เมตร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ ได้มีการสร้างวิหารใหญ่ครอบซึ่งมีความกว้าง ๑๔.๐๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน


             
             ในขณะนี้ จึงพอที่จะสรุปได้ว่า มีการค้นพบหลวงพ่อโต ในสมัย พระพิเศษภักดี (หรือ ท้าวชม  พ.ศ. ๒๓๒๘ – ๒๓๖๘) เจ้าเมืองศรีสะเกษ ท่านที่ ๒ ย้ายเมืองมาตั้งใหม่ในสถานที่ที่เป็นจังหวัดศรีสะเกษปัจจุบัน และได้สร้างวัดพระโตเป็นวัดคู่เมืองศรีสะเกษขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ และนับถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๘) วัดพระโตมีอายุ ๒๓๐ ปี ฯ

             วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) ได้ชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษ ก็เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ เป็นปีที่เจ้าเมืองศรีสะเกษคนที่ ๒ พระวิเศษภักดี (หรือ ท้าวชม  พ.ศ. ๒๓๒๘ – ๒๓๖๘) ได้ย้ายเมืองศรีสะเกษ จากที่ตั้งเดิมบ้านโนนสามขาสระกำแพงมาตั้งที่บริเวณที่เป็นศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ในขณะที่สร้างเมืองนั้น มีคนไปพบหลวงพ่อโต ภายในใจกลางป่าแดง จึงได้อุปถัมภ์บำรุงโดยให้สร้างวัดขึ้นบริเวณที่พบหลวงพ่อโต ตั้งชื่อว่า “วัดพระโต" หรือ "วัดป่าแดง” ได้จัดหาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิมาปกครอง ก่อสร้างเสนาสนะที่จำเป็นต่าง ๆ และ เจ้าเมืองศรีสะเกษคนต่อ ๆ มาไม่ว่าจะเป็นพระวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) เจ้าเมืองศรีสะเกษ ท่านที่ ๓ ,พระวิเศษภักดี (โท) เจ้าเมืองศรีสะเกษ ท่านที่ ๔ เป็นต้น ก็ได้อุปถัมภ์เอาใจใส่บำรุงวัดพระโต เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษ ตลอดมา ตราบเท่าที่ศรีสะเกษได้กลายเป็นจังหวัด  ตามกฎหมายแบ่งเขตการปกครอง ซึ่งเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเจ้าเมืองใหม่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนต่างก็ให้ความเคารพยำเกรง เมื่อมาดำรงตำแหน่งใหม่ก็ถือเป็นประเพณีที่ต้องมาทำพิธีบูชาสักการะหลวงพ่อโตในวิหารก่อนเสมอ

             ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๑ คณะสงฆ์ศรีสะเกษซึ่งมีพระชินวงศาจารย์(มหาอิ่ม คณะธรรมยุติ)  ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ในขณะนั้น  ดำริจะเปลี่ยนชื่อ "วัดพระโต" หรือ "วัดป่าแดง" เป็น "วัดมหาพุทธวิสุทธาราม" แต่คณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ได้พิจารณาเห็นควรเพียงชื่อว่า "วัดมหาพุทธาราม" จึงได้ชื่อ "วัดมหาพุทธาราม" มาตั้งแต่บัดนั้น(ทั้งนี้ตามบันทึกของมหาประยูร วัดมหาพุทธาราม)

             ในขณะนั้น มีวัดเก่าแก่ที่มีอายุใกล้เคียงกัน รายล้อมวัดมหาพุทธารามอยู่ทุก ๆ ด้าน เหมือนเป็นปราการเฝ้าระวังของเมืองอยู่ ๕ วัด คือ
             ๑. วัดหลวงศรีสุมังค์ หรือวัดหลวงสุมังคลาราม พระอารามหลวงปัจจุบัน
             ๒. วัดท่าโรงช้าง ต่อมาได้ชื่อใหม่ว่า วัดท่าวิเศษกุญชร หรือวัดศรีมิ่งเมือง ปัจจุบัน
             ๓.  วัดท่าเหนือ ร้างมานานแล้ว ปัจจุบันเห็นแต่เพียงต้นโพธิ์ใหญ่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษเขตของวัดอยู่บริเวณฝั่งห้วยสำราญใกล้ ๆเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบัน
             ๔.  วัดเลียบ ร้างมานานเหมือนกัน ทางรัฐบาลเคยเช่าตั้งเป็นโรงไฟฟ้าอยู่คราวหนึ่ง ต่อมาจึงเป็นวัดเลียบบูรพาราม
             ๕.  วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม พระอารามหลวง ซึ่งเป็นวัดใหญ่อีกวัดหนึ่งที่มีความสำคัญในทางการปกครองสงฆ์มาจนถึงปัจจุบันนี้


            สรุปแล้ว  วัดมหาพุทธาราม เคยเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งมาก่อนเมืองศรีสะเกษ โดยเดิมเรียกว่า “วัดป่าแดง”  ภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดพระโต” ตามลักษณะของพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์แต่นั้นมา  และต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดมหาพุทธาราม” ในที่สุด และได้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างมาโดยลำดับ เคยเป็นวัดที่มีเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายมหานิกายปฏิบัติศาสนกิจหลายรูป และปัจจุบันวัดมหาพุทธาราม ได้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษด้วย ฯ

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

ที่มาของคำว่า สุวรรณภูมิ

             สุวรรณภูมิ แปลตามรูปศัพท์ว่า แผ่นดินทอง หรือดินแดนทอง แต่มีคำเฉพาะ ใช้เรียกมานานแล้วว่า แหลมทอง เป็นชื่อเรียกภูมิภาคอุษาคเนย์ หรือเอเชียฅะวันออกเฉียงใต้แต่ครั้งโบราณกาลราว 2,500 ปีมาแล้ว หมายถึงดินแดนอุดมสมบูรณ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยสัตว์กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและแร่ธาตุต่างๆ ทั้งเป็นหลักแหล่งของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ที่ล้วนเป็นเครือญาติทางสังคมวัฒนธรรมซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบรรพชนของคนไทยทุกวันนี้

             พจนานุกรมมติชน ได้อธิบายคำ สุวรรณ [สุ-วัน] น. ทอง. (ส. สวรุณ; บ. สุวณฺณ). ภูมิ 1, ภูมิ- [พูม, พู-มิ, พูม-มิ-] น. แผ่นดิน, ที่ดิน. ภูมิ 2 น. พื้นความรู้, ปัญญา. ภูมิ 3 ว. สง่า, ผึ่งผาย, องอาจ. สุวรรณภูมิ น. ดินแดนทองคำ

             สุวรรณภูมิ เป็นชื่อเก่าแก่ในคัมภีร์โบราณ เช่น มหาวงศ์พงศาวดารลังกา, ชาดกพุทธศาสนาในอินเดีย, และนิทานเปอร์เซียในอิหร่าน ฯลฯ เพราะชาวสิงหล (ลังกา) ชาวชมพูทวีป (อินเดีย) และชาวอาหรับ-เปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่เป็นนักเดินทางผจญภัย แลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของเครื่องใช้ ต่างพากันเรียกบริเวณอุษาคเนย์โบราณว่า สุวรรณภูมิ มาไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ส่วนซาวฮั่น (จีน) ยุคโบราณ เรืยกดินแดนนี้ว่า จินหลิน หรือ กิมหลิน มีความหมายเดียวกันกับชื่อสุวรรณภูมิ

             ฉะนั้น สุวรรณภูมิจึงไม่ใช่ชื่อรัฐ หรืออาณาจักร แต่เป็นชื่อดินแดนโดยรวมๆ บริเวณหมู่เกาะและแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ หรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน ที่ขนาบด้วย 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิคอยู่ทางด้านตะวันออก กับมหาสมุทรอินเดียอยู่ทางด้านตะวันตก ส่งผลให้ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ค้าขาย หรือ “จุดนัดพบ” ระหว่างโลกตะวันตก (หมายถึง อินโด-เปอร์เซีย-อาหรับ) กับ โลกตะวันออก (หมายถึง ฮั่น ) มีความมั่งคั่งและมั่นคง แล้วมีรัฐใหญ่ๆ เกิดขึ้นในยุคต่อๆ มา เช่น ทวารวดีศรีวิชัย, ทวารวดีศรีอยุธยา, ละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ จนถึงกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ ซึ่งได้ดึงดูดให้ผู้คนจากที่ต่างๆ ทุกทิศทางเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งจนทำให้เกิคความหลากหลายทางชาติพันธุ์สืบจนปัจจุบัน


             สุวรรณภูมิ คือนามอันเป็นมงคลที่คนแต่ก่อนยกย่องเป็นชื่อบ้านนามเมือง สืบเนื่องหลายยุคหลายสมัย ได้แก่ รัฐสุพรรณภูมิ (ราวหลัง พ.ศ. 1600) จนเป็นเมืองสุพรรณบุรี (ราวหลัง พ.ศ. 1800) และจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบัน รวมทั้งชื่ออำเภอ สุวรรณภูมิ ในจังหวัดร้อยเอ็่ด และยังเป็นชื่อของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 เป็นต้น

ที่มา  สุจิตย์ วงษ์เทศ.(2549).ชื่อบ้านนามเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ.กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.



ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย