ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

ที่มาของคำว่า สุวรรณภูมิ

             สุวรรณภูมิ แปลตามรูปศัพท์ว่า แผ่นดินทอง หรือดินแดนทอง แต่มีคำเฉพาะ ใช้เรียกมานานแล้วว่า แหลมทอง เป็นชื่อเรียกภูมิภาคอุษาคเนย์ หรือเอเชียฅะวันออกเฉียงใต้แต่ครั้งโบราณกาลราว 2,500 ปีมาแล้ว หมายถึงดินแดนอุดมสมบูรณ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยสัตว์กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและแร่ธาตุต่างๆ ทั้งเป็นหลักแหล่งของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ที่ล้วนเป็นเครือญาติทางสังคมวัฒนธรรมซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบรรพชนของคนไทยทุกวันนี้

             พจนานุกรมมติชน ได้อธิบายคำ สุวรรณ [สุ-วัน] น. ทอง. (ส. สวรุณ; บ. สุวณฺณ). ภูมิ 1, ภูมิ- [พูม, พู-มิ, พูม-มิ-] น. แผ่นดิน, ที่ดิน. ภูมิ 2 น. พื้นความรู้, ปัญญา. ภูมิ 3 ว. สง่า, ผึ่งผาย, องอาจ. สุวรรณภูมิ น. ดินแดนทองคำ

             สุวรรณภูมิ เป็นชื่อเก่าแก่ในคัมภีร์โบราณ เช่น มหาวงศ์พงศาวดารลังกา, ชาดกพุทธศาสนาในอินเดีย, และนิทานเปอร์เซียในอิหร่าน ฯลฯ เพราะชาวสิงหล (ลังกา) ชาวชมพูทวีป (อินเดีย) และชาวอาหรับ-เปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่เป็นนักเดินทางผจญภัย แลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของเครื่องใช้ ต่างพากันเรียกบริเวณอุษาคเนย์โบราณว่า สุวรรณภูมิ มาไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ส่วนซาวฮั่น (จีน) ยุคโบราณ เรืยกดินแดนนี้ว่า จินหลิน หรือ กิมหลิน มีความหมายเดียวกันกับชื่อสุวรรณภูมิ

             ฉะนั้น สุวรรณภูมิจึงไม่ใช่ชื่อรัฐ หรืออาณาจักร แต่เป็นชื่อดินแดนโดยรวมๆ บริเวณหมู่เกาะและแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ หรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน ที่ขนาบด้วย 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิคอยู่ทางด้านตะวันออก กับมหาสมุทรอินเดียอยู่ทางด้านตะวันตก ส่งผลให้ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ค้าขาย หรือ “จุดนัดพบ” ระหว่างโลกตะวันตก (หมายถึง อินโด-เปอร์เซีย-อาหรับ) กับ โลกตะวันออก (หมายถึง ฮั่น ) มีความมั่งคั่งและมั่นคง แล้วมีรัฐใหญ่ๆ เกิดขึ้นในยุคต่อๆ มา เช่น ทวารวดีศรีวิชัย, ทวารวดีศรีอยุธยา, ละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ จนถึงกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ ซึ่งได้ดึงดูดให้ผู้คนจากที่ต่างๆ ทุกทิศทางเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งจนทำให้เกิคความหลากหลายทางชาติพันธุ์สืบจนปัจจุบัน


             สุวรรณภูมิ คือนามอันเป็นมงคลที่คนแต่ก่อนยกย่องเป็นชื่อบ้านนามเมือง สืบเนื่องหลายยุคหลายสมัย ได้แก่ รัฐสุพรรณภูมิ (ราวหลัง พ.ศ. 1600) จนเป็นเมืองสุพรรณบุรี (ราวหลัง พ.ศ. 1800) และจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบัน รวมทั้งชื่ออำเภอ สุวรรณภูมิ ในจังหวัดร้อยเอ็่ด และยังเป็นชื่อของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 เป็นต้น

ที่มา  สุจิตย์ วงษ์เทศ.(2549).ชื่อบ้านนามเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ.กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.



ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย