ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2567

พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือ ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกในยุคบั้นปลายกรุงศรีอยุธยา - กรุงธนบุรี (ตากะจะ - พุทธศักราช 2302 - 2321)

พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือ ตาสุ หรือ ตากะจะ
หรือ
หลวงแก้วสุวรรณ เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก
ในยุคบั้นปลายกรุงศรีอยุธยา - กรุงธนบุรี
(
ตาสุ หรือ ตากะจะ - พุทธศักราช ๒๓๐๒ - ๒๓๒๑)


“พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” เดิมชื่อ ตาสุ หรือ ตาไกร แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ตากัญจะฮฺ(ตากะจะ) เนื่องจากท่านเป็นนักรบรูปร่างสูงใหญ่  เป็นหัวหน้าชาวเขมรป่าดงแห่งหมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (ชุมชนดั้งเดิมเมืองขุขันธ์) ดังนั้น ตาสุ หรือ ตาไกร และ ตากัญจะฮฺ(ตากะจะ) เป็นชื่อเรียกคนเดียวกัน 
          ต่อมา"ตาสุ" ได้รับโปรดเกล้าฯบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงแก้วสุวรรณ"(เมื่อ พ.ศ.2302)
        "ตาไกร" เป็นชื่อเรียกท่าน ภายหลังจากท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ในรัชสมัยพระจ้าตากสิน แห่งกรุงธนบุรี ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระไกรภักดีศรีลำดวน" (พ.ศ.2306) และได้รับโปรดเกล้าฯบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาไกรภักดีศรีลำดวน"(พ.ศ.2321)
         "ตาสุ" บ้านเดิม ท่านอยู่บริเวณ บ้านตาสุ ต.ใจดี อ.ขุขันธ์ ห่างจากวัดลำภู ประมาณ 1 กิโลเมตร "การทำพิธีปรกพล" จึงต้องทำพิธี ที่วัดนี้  โดย "พระราชครูบัว"  พระยาไกรภักดีศรีลำดวนนับถือพระรูปนี้เป็นครูของท่าน  พระราชครูบัว  ท่านเป็นเจ้าอาวาส รูปที่ 4 (พ.ศ.2249-2321) ของวัดลำภู เป็นผู้จัดทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ให้
        ตาสุ หรือ ตาไกร หรือ ตากัญจะฮฺ(ตากะจะ) มีน้องชาย ชื่อ “เชียงขันธ์” ทั้งสองพี่น้องมีความเก่งกล้าทางเวทมนต์คาถาอาคมทางไสยศาสตร์  อยู่ยงคงกระพันลือเลื่อง เป็นที่รู้จักในกลุ่มหัวหน้าชาวเขมรป่าดงด้วยกัน โดยเฉพาะมีความเชี่ยวชาญในวิชาคชศาสตร์ ซึ่งใช้ในการจับช้างป่ามาฝึกใช้งาน และสามารถสื่อภาษากับช้างที่ได้ฝึกปรือมาแล้วเป็นอย่างดี ได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง กล่าวคือ 
ในปี พ.ศ. 2302 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หรือพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา (ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2301 — 7 เมษายน พ.ศ. 2310) ได้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน พระยาช้างเผือกได้แตกโรงหนีออกจากโรงช้างเตลิดเข้าป่าโดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ป่าเขตเทือกเขาพนมดงรัก “ตากะจะ” และ“เชียงขันธ์” พร้อมสหายซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงหมู่บ้านอื่นในละแวกใกล้เคียงกัน ซึ่งก็พอทราบข่าวการหนีมาของพระยาช้างเผือกอยู่ก่อนแล้ว เมื่อคณะผู้ติดตามร้องขอให้ช่วยเหลือจึงตอบรับอาสาออกติดตามพระยาช้างเผือก  จนสามารถจับได้และส่งมอบให้คณะผู้ติดตามพร้อมร่วมคณะนำพระยาช้างเผือกส่งกลับถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย  จึงมีความชอบได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงแก้วสุวรรณ” ตำแหน่งหัวหน้านายกองหมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ฐานะราชการขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา

  ปี พ.ศ. 2306 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าตากสิน  แห่งกรุงธนบุรี (ทรงครองราชย์ระหว่างวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325)   ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกฐานะหมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า  “เมืองขุขันธ์” โดยโปรดเกล้าฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ “หลวงแก้วสุวรรณ” เป็น “พระไกร” ในราชทินนาม “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” เปลี่ยนตำแหน่งนายกองเป็นตำแหน่ง “เจ้าเมืองขุขันธ์” ถือเป็นเจ้าเมือง ขุขันธ์ท่านแรกในยุคบั้นปลายกรุงศรีอยุธยา
            ปี พ.ศ. 2319 รัชสมัยพระเจ้าตากสิน แห่งกรุงธนบุรี ได้ทำสงครามกับลาว ด้วยเหตุที่เมืองจำปาสักลาวใต้ ได้ร่วมมือกับพระยานางรอง ยกพลเข้ามาทำการกวาดต้อนผู้คนในครัวเรือนที่เคยขึ้นต่อจำปาสัก แต่ต่อมาได้มาขึ้นต่อการปกครองของสยามประเทศในขณะนั้น สร้างความ ไม่พอพระทัยให้พระองค์เป็นอย่างยิ่ง จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจักรี (พระยศในขณะนั้น) ยกทัพไปปราบ จนสามารถจับพระยานางรองประหารชีวิตแล้ว จึงได้ร่วมกับพระยาสุรสีห์ฯ ยกทัพไปตีเมืองลาวใต้ ที่เมืองจำปาสัก เมืองอัตปือแสนปาง และเมืองสีทันดร เมื่อเสร็จศึกแล้วได้กวาดต้อนชาวลาวและเกลี้ยกล่อมชนพื้นเมืองให้มาขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์และ เมืองสังขะ เป็นจำนวนมาก
  ปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ทรงไม่พอพระทัยในการกระทำของเจ้าสิริบุญสาร เจ้าผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ที่ได้ให้พระสุโพธิ์ยกกองทัพไปจับพระวอ นำไปประหารชีวิต ถือเป็นการกระด้างกระเดื่อง ไม่ยำเกรงต่อพระราชอำนาจกรุงธนบุรี พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาจักรียกทัพไปปราบ โดยมีบัญชาให้ทัพจากเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์  และเมืองสังขะ  ยกทัพร่วมทำศึกในครั้งนี้ด้วย  ทัพจากเมืองขุขันธ์ โดยการนำทัพของ “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” (ตากะจะ หรือ หลวงแก้วสุวรรณ) และ “หลวงปราบ”  ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ (เชียงขันธ์) ในการทำศึกครั้งนี้ใช้เวลา 4 เดือน จึงสามารถชนะศึกและปราบปรามได้  แต่เจ้าสิริบุญสารหนีไปอยู่เมืองญวนได้ ส่วนเจ้านันทเสนผู้เป็นแม่ทัพถูกจับได้ และยังได้กวาดต้อนชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์  และเมืองอื่น ๆ  กลับกรุงธนบุรีด้วย

             การทำศึกสงครามครั้งนี้ ทัพจากเมืองขุขันธ์ได้รับการกล่าวขานและได้รับการยกย่องจากทัพส่วนกลางว่า ได้แสดงถึงความสามารถเก่งกาจกล้าหาญในการสงครามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “หลวงปราบ” (เชียงขันธ์) ได้รับสมญานามว่า  เป็นทหารเอกแห่งทัพจากเมืองขุขันธ์  เมื่อเสร็จศึกแล้ว  ครั้นยกทัพกลับหลวงปราบ ได้นำผู้คนชาวลาวเวียงจันทน์กลับมาเมืองขุขันธ์ จำนวนหลายครอบครัว (เชลย) ทั้งนี้โดยมีครอบครัวของนางคำเวียง ซึ่งเป็นหญิงหม้ายตระกูลขุนนางของเวียงจันทน์  ที่หลวงปราบนำมาและยกย่องให้เป็นภรรยาอีกด้วย  โดยมีลูกชายชื่อ “ท้าวบุญจันทร์” ติดแม่มาด้วย  ซึ่งหลวงปราบได้นำครอบครัว นางคำเวียง พร้อมครอบครัวบริวาร มาพำนักพักอาศัยอยู่ ณ  ที่บ้านบก เมืองขุขันธ์ (ปจุบันคือ บริเวณบ้านบก หมู่ที่ 13 ตำบลห้วยเหนือ  อำเภอขุขันธ์  จังหวัด ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เขียนนั่นเอง )
จากการที่กองทัพจากเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ได้ร่วมกับกองทัพหลวงส่วนกลางทำศึกครั้งนี้อย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ จึงมีความชอบได้ทรงโปรดเกล้าฯ   ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองทั้งสามขึ้นเป็นลำดับชั้น “พระยา” ทำให้ “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” (หลวงแก้วสุวรรณ หรือตากะจะ) มีบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ (หาใช่เจ้าเมืองศรีนครลำดวน ดังที่มีบางท่านกล่าวถึงไม่ เพราะคำว่า "ศรีนครลำดวน"เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งในบรรดาศักดิ์ของท่าน เท่านั้นเอง) 

อนึ่ง การทำศึกสงครามในครั้งนี้มีความหมายต่อประวัติศาสตร์ของเมืองขุขันธ์และสยามประเทศเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ หลังจากที่ชนะศึกและยกทัพกลับ นอกจากกองทัพไทย  จะกวาดต้อนผู้คนจากลาวเวียงจันทน์และจากเมืองอื่น ๆ กลับมาเมืองไทย  เป็นจำนวนมากแล้ว ยังได้นำเอาทรัพย์สินมีค่าอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะได้อัญเชิญองค์พระแก้วมรกต หรือองค์พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร  และองค์พระบางกลับมากรุงธนบุรี  ทูลถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วย (ต่อมาในปีพ.ศ.2408 สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้คืนองค์พระบางอัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ เมืองหลวงพระบางตามเดิมจนถึงปัจจุบัน) 
พระบาง แห่งเมืองหลวงพระบาง

ส่วนทัพจากเมืองขุขันธ์ ก็ได้อัญเชิญองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์เล็ก2 องค์ คือ  “องค์พระแก้วเนรมิต” และ “องค์พระครุฑ” โดยขอพระราชทานอนุญาตอัญเชิญให้ประดิษฐาน ณ เมืองขุขันธ์ เป็นองค์พระคู่บารมีเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านต่อๆ มา (ปัจจุบันองค์พระแก้วเนรมิตและองค์พระครุฑ ยังคงประดิษฐานอยู่ ณ วัดลำภู (รัมพนิวาส) หมู่ 4 ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขุขันธ์   ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 
ส่วนพระยาจักรี เมื่อชนะศึกสงครามปราบกบฎในครั้งนี้แล้วมีความชอบทรงโปรดเกล้าฯ  ปูนบำเหน็จความชอบโดยให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ “พระยาจักรี” ให้มีพระยศในบรรดาศักดิ์ราชทินนามเป็น “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”  

ในปี พ.ศ. 2321 นี้เอง หลังจาก “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่  1  ได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” แล้วได้ถึงแก่อนิจกรรม  พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ “หลวงปราบ หรือ เชียงขันธ์” ผู้น้องซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเมืองขุขันธ์  มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ สืบต่อไป 
พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตาสุ หรือ ตาไกร หรือ ตากะจะ) อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ 15 ปี  นับเป็นบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองขุขันธ์เป็นคนแรกในยุคบั้นปลายกรุงศรีอยุธยา
เพื่อรำลึก และหลอมรวมใจลูกหลานชาวขุขันธ์ ปัจจุบันชาวขุขันธ์ ได้สร้างอนุสาวรีย์ให้ท่านแล้วที่อำเภอขุขันธ์ คือ “อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน”  โดย ชาวอำเภอขุขันธ์ ได้จัดงานรำลึกถึงท่านอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีไปพร้อมๆกับงานเทศกาลแซนโฎนตาประจำปีของอำเภอขุขันธ์จังหวัดศรีสะเกษ

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลักเมืองขุขันธ์

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลักเมืองขุขันธ์ 

หลักเมืองขุขันธ์หลักแรก

หลักเมืองขุขันธ์หลักแรก อยู่บริเวณวัด รัมพนีวาส (วัดบ้านลำภู)
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 


            ศาลหลักเมืองขุขันธ์ สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยเมืองขุขันธ์เป็นรัฐอิสระ
ระหว่างปี พ.ศ.2112 - 2127 หลักเมืองขุขันธ์หลักแรก ตั้งอยู่บริเวณวัดรัมพนีวาส
(วัดบ้านลำภู)  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
            เมืองขุขันธ์ ชื่อเดิมคือ เมืองโคกขัณฑ์ เป็นเมืองอิสระ และมีเจ้าเมืองปกครองมาตั้งแต่ยุคขอมโบราณ เป็นเส้นทางผ่านของการสร้างปราสาท      หรือที่เรียกว่า
ราชมรรคา​​ของกษัตริย์ขอมสยามแห่งดินแดนที่ราบสูงผ่านไปยังเมืองพระนครหรือเมืองนครธมมาตั้งแต่โบราณกาล    มีหลักฐานปรากฎข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1  ณ ปราสาทพระวิหาร เมื่อมหาศักราช 959 / พ.ศ. 1580 / ค.ศ. 1037 เจ้าเมืองขุขันธ์ในยุคสมัยนั้นคือ  กมรแตงชคตศรีขัณฑเรศวร​   หรือ พระเจ้าชคตศรีขัณฑเรศวร
ครองเมืองสด๊กโคกขัณฑ์​     หมู่บ้านรำดวลตระพังสวาย (ស្រុកស្តុកគោកខណ្ឌ
 ភូមិរៜដួលត្រពាំងឝ្វា្យ) ตรงกับวันข้างขึ้น 3 ค่ำ เดือนมาฆมาส (เดือน 3) ซึ่งตรงกับ
วันจันทร์ที่ 14 เดือนมกราคม พุทธศักราช 1580
            สำหรับฤกษ์วันข้างขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 นั้น เป็นฤกษ์ที่ชาวขอมโบราณใช้ในการประกอบพิธีสมโภชน์การก่อสร้างปราสาท และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่มีความสำคัญของบ้านเมืองในอดีต​ ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์อันเป็นมงคลนี้ได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน  โดยเฉพาะชาวบ้านในอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งอำเภอใกล้เคียง และดินแดนแถบอีสานใต้นิยมใช้ฤกษ์อันดีงามนี้   ในพิธีเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน​(សែនតាស្រុក)ทุกหมู่บ้าน ​​​​​​​บุญประเพณีทำบุญก่อเจดีย์ข้าวเปลือก และพิธีสู่ขวัญข้าว (បុណ្យប្រពៃណី់ពូនភ្នំស្រូវ ឬហោវព្រលឹងស្រូវ) เพื่อถวายวัด หรือการหาบปุ๋ยคอกไปใส่ผืนนาเพื่อบำรุงดิน ตลอดจนการทำบุญบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับครอบครัวอีกด้วย
            ปี พ.ศ. 2013 - 2028 เมืองโคกขัณฑ์ อยู่ภายใต้การปกครองของ พระเจ้าศรีราชา รามาธิบดี (ព្រះបាទ ស្រីរាជាราชสำนักเขมรแห่งเมืองจตุรมุข (15ปี)
            พ.ศ. 2028 - 2047 เมืองโคกขัณฑ์ อยู่ภายใต้การปกครองของ พระเจ้าธรรมราชา (ព្រះបាទ ធម្មរាជា) แต่ในฐานะประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา (19 ปี)
            พ.ศ. 2047 - 2055 เมืองโคกขัณฑ์ อยู่ใต้การปกครองของ ราชสำนักเขมร
กรุงตวลบาสาน
(
រាជធានី ទួលបាសាន) ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของสยาม ตรงกับรัชสมัยพระศรีสุคนธบท​แห่งกรุงตวลบาสาน ​​(ព្រះស្រីសុគន្ធបទ​ ​ គ.ស.១៥០៤)​ เป็นระยะเวลา 8 ปี 
            พ.ศ. 2099 กองทัพจากเมืองโคกขัณฑ์หรือ เมืองขุขันธ์ ในอดีต  ได้ร่วมทัพกับ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991 – 2031 ตรงกับ สมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนกลาง) ทรงยกทัพไปตีเมืองละแวก
            พ.ศ. 2106 - 2112 เมืองขุขันธ์ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มหัวเมืองปักษ์ใต้ ของกรุงศรีอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง
            พ.ศ. 2112 - 2127 สมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช กรุงศรีอยุธยา เสียแก่ พระเจ้าบุเรงนอง ราชวงศ์ตองอู แห่งกรุงหงสาวดี เป็นเวลา 15 ปี  ดังนั้น  เมืองขุขันธ์ จึงมีสถานะเป็นรัฐอิสระ เป็นระยะเวลา 15 ปี 
            การก่อสร้างศาลหลักเมืองขุขันธ์หลักแรก จึงเกิดขึ้นในช่วงเมืองขุขันธ์ เป็นรัฐอิสระ โดยใช้แก่นไม้กันเกรา (ខ្លឹមដើ់មតាត្រាវ) ซึ่งถือเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์  แก่นไม้กันเกรา มีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือปลวก  มอด  และแมลง  ไม่เจาะกิน  แก่นไม้อยู่ได้ทนทาน   นอกจากนี้ แก่นไม้   กันเกรา ยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะได้อีกด้วย

                พบหลักเมืองขุขันธ์หลักแรก ที่สร้างด้วยแก่นไม้กันเกรา อยู่บริเวณวัดรัมพนีวาส (วัดบ้านลำภู) อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้จัดให้มีการบูรณะ เป็นศาลหลักเมือง ดังที่ปรากฏอยู่  ณ วัดรัมพนีวาส (วัดบ้านลำภู)  ในปัจจุบันนี้

ศาลหลักเมืองขุขันธ์  
หลักที่ 2


    ศาลหลักเมืองขุขันธ์ หลักที่ 2 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดกลาง ขุขันธ์ ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ    ศาลหลักเมืองนิยมสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมือง โดยสร้างขึ้นตอนโปรดเกล้าฯ ให้ ตาสุ หรือ ตาไกร หรือ ตากะจะ เป็น หลวงแก้วสุวรรณ  ยกพื้นที่หมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน  ขึ้นเป็นเมือง
ชื่อว่า "เมืองขุขันธ์" เมื่อ ปี พ.ศ. 2306
           หลักเมืองขุขันธ์ ชาวเมืองขุขันธ์ เรียก "อารักข์กลางเมือง
អារក្ខក្លាងមឿង หรือ "ตากลางเมืองតាក្លាងមឿង ซึ่งหมายถึง เทพารักษ์กลางเมือง หรือ เทพารักษ์ผู้รักษาเมือง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า "หลักเมือง" 
            ภายในศาลหลักเมือง มีเสาหลักเมือง ซึ่งโดยปกติเสาหลักเมือง ใช้แก่น
ไม้กันเกรา (
ខ្លឹមដើ់មតាត្រាវ) ซึ่งถือเป็นไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์
แก่นของไม้กันเกรา ปลวก มอด และ แมลง ไม่เจาะกิน แก่นไม้อยู่ได้ทนนาน
            นอกจากนี้ แก่นไม้กันเกรา ยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ได้อีกด้วย 
แต่เดิมเป็น
ศาลไม้หลังเล็กๆ ภายในศาลหลักเมืองเดิม มีเสาหลักเมือง สูงจากพื้นถึงยอด 140 ซม. มีก้อนหินเก่าแก่ 2 ก้อนตั้งอยู่สองข้าง และ
ต่อมาชาวขุขันธ์ ได้ร่วมกันสร้างอาคารคร่อมศาลขึ้นมาใหม่ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
นายอนุรัตน์ ลีธีระประเสริฐ นายอำเภอขุขันธ์ พร้อมด้วยประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์
ร่วมกันประกอบพิธีเซ่นไหว้หลักเมืองเก่าของเมืองขุขันธ์ หลักที่ 2
ในงานบุญประเพณีแซนโฎนตาอำเภอขุขันธ์ ประจำปี พ.ศ. 2556



ศาลหลักเมืองขุขันธ์  หลักที่ 3     
          ชาวเมืองขุขันธ์ เห็นว่า หลักเมืองเก่า อยู่ในพื้นที่วัดกลาง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ไม่เป็นเอกเทศและไม่สง่างามสมกับเมืองขุขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองที่เคยมีเจ้าปกครองเมือง และยังคงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน ไม่เคยเป็นเมืองร้างอย่างที่เมืองอื่นเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้   ดังนั้น
เมืองขุขันธ์ นามเดิม "เมืองโคกขัณฑ์" แล้วกร่อนมาเป็น "เมืองขุขันธ์" ในปัจจุบันนี้     
เคยดำรงคงอยู่ตั้งแต่พันกว่าปีมาแล้ว
          เพื่อให้ได้ศาลหลักเมืองใหม่ ที่สวยเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมือง สมกับเมืองขุขันธ์เป็นเมืองมาตั้งแต่โบราณกาลตลอดมาถึงวันนี้    จึงได้มีการวางศิลาฤกษ์เสาหลักเมืองใหม่    ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554 และทำพิธียกเสาเอก ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

          ต่อมาเมื่อวันที่  8 มกราคม  พ.ศ. 2562      ชาวขุขันธ์ได้ทำพิธีอัญเชิญเสาหลักเมือง
ขึ้นประดิษฐานบนแท่นหลักเมือง และทำพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองหลังใหม่ที่สง่างาม
และโดดเด่น ตั้งอยู่กลางเมืองขุขันธ์มาจนกระทั่ง บัดนี้

เรียบเรียง :
  
คณะกรรมการฝ่ายประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์
ลำดับเนื้อหา : ดร.วัชรินทร์  สอนพูด  ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
                         นายเทอดศักดิ์  เสริมศรี  ประธานคณะกรรมการวัดบ้านลำภู / ผู้ทรงคุณวุฒิ
                         นายนิติภูมิ  ขุขันธิน  
กรรมการ /ฝ่ายประวัติศาสตร์  สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
คำแปลภาษาอังกฤษ  :  ผศ.ดร.ปริง  เพชรล้วน 
                                         กรรมการ /ฝ่ายประวัติศาสตร์  สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
อักษรภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์  :  นายสุเพียร  คำวงศ์   เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ขอบคุณ :  
ภาพภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ณ ภายในอุโบสถพระแก้วเนรมิต
                   วัดบ้านลำภู  ตำบลใจดี  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ชนชาติพันธุ์ของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

         ชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมของเมืองขุขันธ์ ในอดีตประกอบด้วย 4 ชนชาติพันธุ์ ได้แก่ เขมร กูย(กวย) ลาว และเยอ แต่ต่อมาเมื่อทางการได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยแบ่งพื้นที่เดิมของเมืองขุขันธ์ออกเป็นเมือง( เมืองศีร์ษะเกษ ,เมืองมโนไพร หรือมลูไพร จ.พระวิหาร, เมืองอุทุมพรพิสัย(หรือบ้านกันตวด จ.พระวิหาร) , เมืองกันทรรักษ์(ตำบลห้วยลำแสนไพรอาบาล จ.พระวิหาร และเมืองเดชอุดม นอกจากนี้อาณาเขตของเมืองขุขันธ์ ในอดีต ยังครอบคลุมถึงเขตอำเภอเดชอุดม อำเภอบุณฑริก ซึ่งรวมพื้นที่ของอำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันนี้ด้วย ) จนวิวัฒน์ลงมาเป็นอำเภอในปัจจุบัน  จากข้อมูลผลการสำรวจชนชาติพันธุ์และการพูดภาษาถิ่นส่วนใหญ่ รายตำบลในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559 พบข้อมูล ดังนี้
ชาวเมืองขุขันธ์ ได้แก่ ชนชาติพันธุ์ ใดบ้าง ?
         เมืองขุขันธ์ ในปัจจุบันเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม  จากข้อมูลการสำรวจข้างต้น จะพบว่า ชนชาติพันธุ์หลักดั้งเดิมในอำเภอขุขันธ์ ส่วนใหญ่ ได้แก่ เขมร กูย และลาว  ซึ่งถ้าหากสำรวจนับจริงๆ แล้วประกอบด้วย 6 ชนชาติพันธุ์ ดังนี้
         – ชนชาติพันธุ์เขมร มีจำนวน 189 หมู่บ้าน
         – ชนชาติพันธุ์กูย มีจำนวน 45 หมู่บ้าน
         – ชนชาติพันธุ์ลาว มีจำนวน 42 หมู่บ้าน
         – ชนชาติพันธุ์เยอ พบอาศัยอยู่กับเขมร กูย และลาว
         – ชนชาติพันธุ์จีน และ ชนชาติพันธุ์แกว ซึ่งส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ในตัวอำเภอขุขันธ์และบางตำบลของอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ


       ชนชาติพันธุ์ ทั้ง 6 ชนชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาเนินนาน ซึ่งแต่ละชนชาติพันธุ์ก็มีแนวปฏิบัติในวิถีชีวิตการดำรงชีวิต ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่ชาวขุขันธ์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และหนึ่งในกิจกรรมงานบุญประเพณีอันแสดงออกถึงพลังแห่งความสมัครสมานสามัคคี และความกตัญญูของชาวเมืองขุขันธ์ คือ บุญประเพณีแซนโฎนตา ซึ่งจัดให้มีขึ้นในเดือน 10 ของทุกปี จนเป็นเทศกาลประจำปีของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

หมายเหตุ
ชนชาติพันธุ์กูย อำเภอขุขันธ์ แบ่งกลุ่มตามศัพท์สำเนียงพูดที่คล้ายกัน ออกเป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ๆ ดังนี้
1. กลุ่มกูยกระโพธิ์ (​ កួយកា័លពោធិ៍ )ได้แก่ ตำบลจะกง ,ตะเคียน ,ดองกำเม็ด,ตาอุด,ลมศักดิ์ ,กันทรารมย์ และหนองฉลอง
2. กลุ่มกูยปรือใหญ่​ ( កួយកោះពឺត ) ได้แก่ ตำบลปรือใหญ่ ,นิคมพัฒนา และศรีตระกูล

ผู้เรียบเรียง 
นายสุเพียร  คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์(29/4/2561)

คุ้มชุมชนดั้งเดิมเมืองขุขันธ์ มี 6 คุ้ม

ดังได้กล่าวเป็นเบื้องต้นแล้วว่า  ขุขันธ์เป็นเมืองเก่าแก่ทีมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  ในสมัยธนบุรี-กลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   เมืองขุขันธ์ประกอบด้วย  ชุมชนโดยรอบตัวเมืองขุขันธ์ จำนวนหลายคุ้มและหลายชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งจะขอกล่าวถึงที่สำคัญ  6  คุ้มชุมชน 

  1.  คุ้มชุมชนวัดกลาง ขุขันธ์( วัดอัมรินทราวาส)  ถือเป็นชุมชนเก่าแก่อยู่ใจกลางเมืองขุขันธ์  ประกอบด้วย  บ้านภูมิเหนือ บ้านภูมิใต้ และชาวตลาดขุขันธ์ ชุมชนวัดกลางจะมีวัดกลาง   เป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีทางศาสนา  มาจนถึงปัจจุบัน  ภาษาที่ใช้ จะเป็นภาษาถิ่นที่เป็นภาษาขอมขุขันธ์

  วัดกลาง ขุขันธ์ ก่อตั้งเมื่อ  ปี พ.ศ. 2429 สมัยที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (ปัญญา ขุขันธิน) เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 โดยมีพระรัตนโกศา (จันดี กาญจนเสริม) ปลัดเมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นพร้อมด้วยกรมการเมืองได้พร้อมใจกันสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแทนวัดบ้านบก ที่ใช้ประกอบพิธีมาก่อน ที่อยู่ห่างใจกลางเมืองขุขันธ์ไม่สะดวก เมื่อสร้างเสร็จก็ให้เรียกว่า “วัดกลาง” ทางราชการถือเอาวัดกลางเป็นวัดประจำเมืองและเป็นวัดที่พำนักของเจ้าคณะอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน วัดนี้จึงเป็นวัดใหญ่เจริญรุ่งเรืองกว่าวัดอื่นๆ รอบเมืองขุขันธ์ ปัจจุบัน บริเวณวัดกลางได้ตั้งโรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของลูกหลานชาวขุขันธ์ ทั้งภิกษุ  สามเณร  และฆราวาส  

  2.  คุ้มชุมชนวัดเขียนบูรพาราม เป็นชุมชนชาวเขมรอยู่ทางทิศตะวันออกของ  วัดกลาง  ประกอบด้วย  บ้านพราน  บ้านตะแบก  บ้านสะอาง  บ้านสนวน  ชุมชนนี้จะมี  วัดเขียนบูรพาราม  เป็นศูนย์รวมประกอบพิธีทางศาสนามาจนถึงปัจจุบัน และยังมีวัดสะอาง อีกวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นหลังวัดเขียน  แยกออกมาประกอบพิธีทางศาสนา  มีบ้านสนวน และชุมชนบ้านสะอาง
  
วัดเขียนบูรพาราม  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขุขันธ์ บูรณะและก่อสร้างเป็นวัดครั้งแรกเมื่อปี  พ.ศ. 2323  สมัยกรุงธนบุรี โดยมี พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (หลวงปราบ หรือเชียงขันธ์)  เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 2 แต่ท่านยังสร้างไม่เสร็จต้องมาถึงแก่อนิจกรรมไปก่อน  จึงทิ้งให้เป็นวัดร้าง  มีป่าดง ขึ้นปกคลุมขึ้นหนาทึบ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2425 สมัยที่ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าววัง ) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 8 (บุตรคนที่ 2 ของเชียงขัน) ร่วมกับ กรมการเมืองได้นำราษฎรบูรณะยกขึ้นเป็นวัดใหม่ ให้ชื่อว่า “วัดเขียนบูรพาราม“ จนถึงปัจจุบัน  

3. คุ้มชุมชนวัดเจ็กโพธิ์พฤกษ์  เป็นชุมชนเชื้อสายจีนดั้งเดิมของเมืองขุขันธ์  จึงได้เรียกชุมชนนี้ว่า  “บ้านเจ็ก”  ปัจจุบันชุมชนนี้แม้จะชื่อว่า  บ้านเจ็ก  แต่ประชากรพูดภาษาเขมรเป็นส่วนใหญ่  โดยมีวัดเจ็กเป็นศูนย์กลางประกอบพิธีทางศาสนา
 
วัดโพธิ์พฤกษ์ ( วัดเจ็ก ) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองขุขันธ์  ก่อสร้างเมื่อปี  พ.ศ.  2415  ตรงกับสมัยรัชกาลที่  5  สมัยเจ้าเมืองขุขันธ์  ท่านที่  8  (ท้าววัง ) โดยการร่วมมือร่วมใจกันของคนจีน ที่อพยพมาจากนครราชสีมา  กับชาวเขมรกลุ่มดั้งเดิมได้สร้างขึ้นเรียกชื่อว่า  “วัดเจ็กโพธิ์พฤกษ์” โดยเบื้องต้นได้นิมนต์พระจากวัดบกจันทร์นครไปประจำวัด
  
  4. คุ้มชุมชนวัดไทยเทพนิมิตร  เป็นชุมชนที่เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองและชนชั้นปกครองของเมืองขุขันธ์  ที่ตั้งอยู่ริมห้วยเหนือ  จึงเรียกชุมชนนี้อีกชื่อหนึ่งว่า  “บ้านห้วย” คนในชุมชนนี้จะใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น  เป็นส่วนใหญ่  ปัจจุบันก็ยังใช้ภาษาเขมร  

วัดไทยเทพนิมิตร  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองขุขันธ์  ทำการก่อสร้างเมื่อปี  พ.ศ.  2375  ตรงกับรัชกาลที่ 3  ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ  ให้หลวงเทพรักษา  คุมกำลังพลจากกรุงเทพฯ  มาตั้ง  ณ บริเวณนี้  2  ครั้ง  เพื่อมาเกณฑ์กำลังพลจากเมืองขุขันธ์  เมืองศรีสะเกษ  เมืองเดชอุดม  เมืองสุรินทร์  และเมืองสังขะ  เพื่อไปรบกับญวน  เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่กองทัพที่ได้ยกทัพมารวมพลบริเวณนี้ โดยได้นิมนต์พระภิกษุจากวัดบ้านบกจันทร์นคร ไปประจำวัด เดิมเรียกว่า “วัดไทย” ผู้สร้างคือ หลวงเทพรักษา ซึ่งเป็นคนไทยจากกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดความมีสิริมงคลมากขึ้น  ต่อมาจึงเรียกชื่อใหม่ว่า  “วัดไทยเทพนิมิตร”
  
  5.  คุ้มชุมชนวัดบก ( วัดจันทร์นคร )  สำหรับชุมชนนี้เป็นชุมชนที่แตกต่างจาก  4 ชุมชน  ที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากประกอบด้วย กลุ่มชนที่พูดภาษาเขมร  และชุมชนที่พูดภาษาลาว  เพราะประกอบด้วยประชากรอยู่ 2  คุ้ม  คือ  ชุมชนตะวันตกของวัด  เป็นชุมชนเก่าแก่จึงเรียกว่า  “บ้านเก่า” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  บ้านในวัง ภาษาเขมรเรียกคุ้มนี้ว่า “ซรกกะนงเวี็ยง”  หรือ  บ้านในวัง หรือ ซรกจ๊ะ เป็นคุ้มที่อยู่ของเจ้าเมืองขุขันธ์นั่นเอง  ชุมชนบ้านวังนี้จะพูดภาษาเขมร  มาจนถึงทุกวันนี้  

 
อีกคุ้มหนึ่ง คือ 6. คุ้มบ้านบก  บ้านแดง  ซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่เยื้อง ๆ ไปทางทิศใต้ของวัดคุ้มบ้านบกนี้จะพูดภาษาลาว  คล้าย ๆ ลาวเวียงจันทน์  มีประเพณีวัฒนธรรมคล้าย ๆ ลาวเวียงจันทน์  ทั้งนี้สืบเนื่องจากว่า  เป็นคุ้มบ้านเรือนที่  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (หลวงปราบ หรือเชียงขันธ์)  เมื่อครั้งที่ร่วมกับทัพส่วนกลางไปทำศึกสงครามที่ลาวเวียงจันทน์ เมื่อชนะศึกและยกทัพกลับ  ได้กวาดต้อนครอบครัวจากลาวเวียงจันทน์กลับมาด้วยเป็นจำนวนมาก หนึ่งในหลาย ๆ ครอบครัว  ที่กวาดต้อนกลับมา มีครอบครัว นางคำเวียง หม้ายสาวตระกูล ขุนนางและมีบุตรติดเป็นชาย  มาด้วย 1 คน ซึ่งหลวงปราบได้รับเลี้ยง  เป็นภรรยาและบุตร บุญธรรมพร้อมบริวาร โดยให้นำมาพำนักตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านบกนี้เอง ปัจจุบันเชื้อสายชาวลาวเหล่านี้ยังมีอยู่ทั้งที่บ้านบก บ้านแดง  บ้านโสน  และบ้านอาวอย ตราบเท่าทุกวันนี้  

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตเพื่อเป็นการยืนยันถิ่นฐานอันเป็นที่ตั้งและบรรพบุรุษเมืองขุขันธ์ว่า ชุมชนเมืองขุขันธ์ เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมหาได้ย้ายไปจากบ้านดวนใหญ่อย่างที่บางท่านเข้าใจไม่  ความจริง  เมืองขุขันธ์  ก็คือ  กลุ่มชนผู้สืบเชื้อสายชาวเขมรป่าดงที่มีถิ่นฐานอยู่แถบบริเวณเมืองขุขันธ์ ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้เอง  ภาษาก็ใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาเขมร และหากจะมีการย้ายที่ตั้งเมืองขุขันธ์ตามที่มีผู้กล่าวอ้างทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็น่าจะเป็นการเลื่อนที่ตั้งเมือง ไม่น่าจะเป็นการย้ายที่ตั้งเมืองอย่างแน่นอน แต่มีการเลื่อนที่ตั้งเมืองและหลักเมืองจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองขุขันธ์ในปัจจุบัน เลื่อนที่ตั้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็คือที่ตั้งหลักเมืองและที่ตั้งเมืองขุขันธ์ ในปัจจุบันนี้เอง อีกทั้ง  บ้านดวนใหญ่ไม่มีเหตุผลและหลักฐานใดๆ ในเชิงประวัติศาสตร์นำมาสนับสนุนคำกล่าวในการอ้างว่าเป็นที่ตั้งเมืองขุขันธ์มาก่อน  และอีก   ประการหนึ่งที่กล่าวว่า ตั้งบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (บ้านดวนใหญ่) เป็นเมืองชื่อว่า เมืองนครลำดวนนั้น ก็ยิ่งผิดเพี้ยนไปอย่างไร้เหตุผล ความจริงเมืองนครลำดวน ในพงศาวดาร ไม่มีปรากฏชื่อคำว่า “นครลำดวน หรือ ศรีนครลำดวน” แต่เป็นวลีหรือประโยคที่ประกอบเป็นสร้อยคำ ในบรรดาศักดิ์ ราชทินนามของเจ้าเมืองขุขันธ์เท่านั้น เช่น พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน และพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เป็นต้น 

จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับเมืองอื่นที่ยกฐานะและแต่งตั้งเจ้าเมืองในคราวเดียวกันก็ดี    ก็ใช้สร้อยคำต่อท้ายราชทินนามเช่นกันมิใช่ชื่อเมือง เช่น พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง   เจ้าเมืองสุรินทร์  พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ  เจ้าเมืองสังขะ  พระศรีนครเตา  เจ้าเมืองรัตนบุรี   จะเห็นว่า  ทั้งคำว่า  “ศรีณรงค์จางวาง”  “ศรีนครอัจจะ”  และ“ศรีนครเตา”  ก็มิได้เป็นชื่อเมืองแต่ประการใด    จึงเป็นการยืนยันว่า เมืองนครลำดวนไม่มี    การยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน เป็นเมืองนครลำดวน จึงเป็นคำกล่าวที่ขัดกับข้อเท็จจริง  การยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน เป็นเมือง เรียกว่า  “เมืองขุขันธ์” เป็นข้อเท็จจริงดังปรากฏในพงศาวดาร

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2567

เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองขุขันธ์อดีต-ปัจจุบัน

เรื่องราวเมืองขุขันธ์...เริ่มต้นที่ยุคขอมโบราณ คลิก 
บทที่ ๑ บทนำ : อาณาจักรโบราณที่เกี่ยวข้องกับเมืองขุขันธ์
อาณาจักรฟูนันอาณาจักรเจนละอาณาจักรกัมพูชา
ความสัมพันธ์ของขอม – ขุขันธ์
ขุขันธ์ชุมชนโบราณในราชมรรคาหรือชุมชนโบราณในเส้นทางสายปลายปราสาท
ที่ตั้งเมืองเมืองขุขันธ์ หรือเมืองโคกขัณฑ์ หรือเมืองโคกลำดวนในอดีต

บทที่ ๒ การตั้งเมืองขุขันธ์ และเมืองที่ขึ้นต่อการปกครองของเมืองขุขันธ์
- เมืองขุขันธ์สมัยอยุธยาตอนต้น
เมืองขุขันธ์สมัยอยุธยาตอนปลาย
เมืองขุขันธ์สมัยกรุงธนบุรี
เมืองขุขันธ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์ครั้งสำคัญ
การเปลี่ยนตำแหน่ง “เจ้าเมือง” เป็นตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการเมือง”
การยุบ "เมือง" เป็น “อำเภอ”
เตรียมการย้ายศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ ไปตั้งที่ เมืองศีร์ษะเกษ
เปลี่ยนชื่อ "เมืองขุขันธ์" เป็นชื่อ "จังหวัดขุขันธ์"
การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง พ.ศ. 2475
“จังหวัดขุขันธ์” ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “จังหวัดศีร์ษะเกษ”
คุ้มชุมชนดั้งเดิมเมืองขุขันธ์
การแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนตั้งเป็นเมืองเดชอุดม
การขอตั้งเมืองกันทรลักษ์และเมืองอุทุมพรพิสัย
การขอตั้งเมืองเมืองกันทรารมย์

บทที่ ๓ ผู้ปกครองเมืองขุขันธ์ในอดีต
ประวัติเจ้าเมืองขุขันธ์
ทำเนียบเจ้าเมือง และ ผู้ปกครองเมืองขุขันธ์ - จังหวัดศรีสะเกษ
ข้าหลวงประจำเมืองจากส่วนกลางมากำกับดูแลเมืองขุขันธ์
วงศ์ตระกูลเจ้าเมืองขุขันธ์(ผังเครือญาติหลัก)

บทที่ ๔ ประวัติการสร้างอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ)
ประวัติเมืองขุขันธ์โดยสังเขป
ประวัติพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ผู้สร้างเมืองขุขันธ์
วัตถุประสงค์ในการสร้างอนุสาวรีย์ฯ
ประวัติความเป็นมาการสร้างอนุสาวรีย์

บทที่ ๕ อำเภอขุขันธ์
ประวัติความเป็นมา
ลักษณะที่ตั้ง / อาณาเขตติดต่อ / ลักษณะภูมิประเทศ / พื้นที่การใช้ประโยชน์ / ประชากร/อาชีพ/รายได้
อำเภอขุขันธ์มีพื้นที่ติดกับกัมพูชาหรือไม่ ?
การปกครอง / สภาพทางเศรษฐกิจ / การคมนาคม
การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
ขอบเขตตำบลในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ทำเนียบผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอขุขันธ์

บทที่ ๖ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์

หมวดที่ ๑ การศาสนาและประวัติวัด
ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเมืองขุขันธ์ทั้ง ๘ วัด ดังนี้
- วัดเขียนบูรพาราม   (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
- วัดบกจันทร์นคร    (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
- วัดไทยเทพนิมิตร  (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
- วัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ์   (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
- วัดสะอางโพธิ์ญาณ    (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
- วัดกลาง ขุขันธ์  (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
- วัดบ้านแทรง   (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
วัดรัมพนีวาส(วัดบ้านลำภู)  (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
วัดอื่นๆ 
วัดโสภณวิหาร ต.กันทรารมย์ (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
- วัดจันทราปราสาท ต.ปราสาท (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)

หมวดที่ ๒ การศิลปะวัฒนธรรม
๑) โบราณสถาน ได้แก่
- ปราสาทตาเล็ง ต.ปราสาท (แวะเยี่ยมชมอัลบั้มภาพเพิ่มเติม)
ปราสาทตระเปียงยุม ต.จะกง
- ปราสาทพระจำรุง ต.ดองกำเม็ด
- ปราสาทกุด ต.ห้วยเหนือ
- โบสถ์วัดเขียนบูรพาราม
- เจดีย์ตาปราสาทบ้านแทรง
- ศาลหลักเมืองโบราณของเมืองขุขันธ์
- วิหารวัดโสภณวิหาร
สถูปคู่บรรจุอัฐิธาตุของบรรพชนเป็นรูปยอดบัว ณ วัดโสภณวิหาร
โบราณสถานอื่นๆ 
ปราสาททามจาน

๒)โบราณวัตถุ ได้แก่
- หลวงพ่อโตวัดเขียน
- องค์พระแก้วเนรมิต
- พระพุทธรูปยืน- ตู้พระธรรมวัดเจ็ก
- พระแผงไม้แกะสลัก
- ฐานศิวลึงค์

หมวดที่ ๓ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและการละเล่น
- ประเพณีแซนโฎนตาโดยสังเขป , สคริปต์โดยละเอียด
- คำกล่าวอัญเชิญเทวดาและดวงวิญญาณโฎนตาเมืองขุขันธ์ พ.ศ. 2556 , 2557
บุญปูนพนมโซร็ว(បុណ្យពូនភ្នំស្រូវ)
พิธีบนกมูจอ็อวเกรงเปรียด* หรือพิธีเผาศพปู่กล้วยของชาวบ้านในสังกัดวัดบ้านปรือคัน
- การเล่นแม่มด
- ท่ารำประกอบเพลงรำแม่มด 11 ท่า
- แกลจะเอง ตำบลปรือใหญ่
- ประเพณีก่อเจดีย์ทรายและสรงน้ำพระเดือน ๕
- การเล่นกันตรึม
- การละเล่นเจรียง
- การละเล่นอาไย
- การเล่นมโหรีปี่พาทย์
"ตาจุม"...ศิลปินเจรียงโบราณ

หมวดที่ ๔ ศิลปะหัตถกรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน
และผลิตภัณฑ์ OTOP อำเภอขุขันธ์
- ครุน้อยบ้านสะอาง
- ช่างเกวียนมืออาชีพ และเกวียนน้อยบ้านใจดี
- ผอบ หรือกะอูบใบตาลบ้านหนองก๊อก
- กระเป๋าใบเตยบ้านตาทึง และบ้านหนองทับ
- ผ้าลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ
- ลูกปะคบสมุนไพร
- กระบุง กับ กระเชอ
- ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านต่างๆ

หมวดที่ ๕ อักษรศาสตร์ ภาษา ตำราและใบลานเมืองขุขันธ์
ฉลองอัฐิ วัดปรือใหญ่
กำมวิบาก วัดลำภู
อนิสงสฺมุกขฺสุพทฺ วัดลำภู
ฉลองบิณฑ์ วัดตะเคียนบังอีง(พ.ศ.2532)
อนิสงสฺตำมฺโพธิพฤกสฺ วัดบ่อทอง
- สัพวฺทานเล็กแบบสมัยโบราณ วัดบ่อทอง
- อุปปฺคุตฉบับย่อ วัดบ่อทอง
ฉลองบิณฑ์ จากวัดบ่อทอง
- ฉลองเจติย์ ​วัดลำภู (16/11/2559)
ธมฺมเทสฺนาบุณฺยบิณ จากวัดบ้านแขว (18มกราคม 2559)
ธมฺมเทสฺนาคมฺพีร อุปฺปคต จากวัดบ้านแขว (18มกราคม 2559)
คัมภีร์ใบลานภาษาขอมชุดสุดท้ายที่ยังคงเหลืออยู่ที่วัดบกจันทร์นคร
- ตำรารักษาโรคของเมืองขุขันธ์ อายุกว่า 280 ปี จากตำบลกันทรารมย์
ตำราใบลานเสจฺกดียฺธํมฺมฌาน ขแส ๔ กัณฑ์ที่ 4 จากวัดทุ่งบังอีงวิหาร
- กรังสัตราโหราศาสตร์ขอมโบราณเมืองโคกขัณฑ์
สมุดบันทึกวิปัสนาสามเณรยูร ตายอ
ใบลานประวัติเมืองขุขันธ์ จารโดยบรรพบุรุษเมืองขุขันธ์ ก่อน พ.ศ.2460
- ทำเนียบผู้รู้/นักปราชญ์ผู้ปิดทองหลังตำราใบลานเมืองขุขันธ์
คำว่า "กาโงก" หรือ "กาโหงก" หมายถึงอะไร?
>> รายละเอียดเพิ่มเติมที่เวปไซต์



หมวดที่ ๖ คติเตือนใจ สำนวนสุภาษิต และคำพังเพยโบราณเมืองขุขันธ์

- "ผู้รู้ตกนรก คนโง่ขึ้นสวรรค์"
- "อยากเป็นปราชญ์ให้ขยัน โจงกระเบนมั่น หากินง่าย"

บทที่ ๗ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเมืองขุขันธ์
คณะติดตามช้างเผือกจากกรุงศรีอยุธยาผ่านมาถึงบ้านปราสาทสีเหลี่ยมโคกลำดวน
หัวหน้า “เขมรป่าดง” ได้บรรดาศักดิ์และตำแหน่ง
นายกองหมู่บ้านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ และยกฐานะชุมชนหมู่บ้านขึ้นเป็น “เมือง”
ความเดิมในการตั้งเมืองขุขันธ์
บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ก่อนที่จะยกฐานะมาเป็นเมืองขุขันธ์ อยู่ที่ไหน?
เมืองขุขันธ์ ในอดีต เมื่อ พ.ศ. 2460 นั้นไซร้กว้างใหญ่นักหนา
ตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์
การประหารชีวิตนักโทษ
ท้าวบุญจันทร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ
เสือยง หรือ ตังเคายง-ชุมโจรแห่งเมืองศรีสะเกษ
โรงฝิ่นเมืองขุขันธ์
ดาบประจำตำแหน่งเมืองขุขันธ์
กำแพงเมืองโบราณ
กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส
รัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสขัดแย้งกัน
เหตุการณ์ในเมืองขุขันธ์ครั้งไทยพิพาทย์อินโดจีน
โขนจังหวัดขุขันธ์
นามสกุลพระราชทานในเมืองขุขันธ์
การสำรวจสำมโนประชากรครั้งแรกของเมืองขุขันธ์
ต้นตาล ๙ ยอด ๙ พระยาแห่งเมืองขุขันธ์
การปฏิรูปการสื่อสารโทรเลขระหว่างขุขันธ์-เสียมเรียบ-นครจำปาศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2428
พระราชบัญญัติพระราชทานวิสุงคามสีมาที่เกี่ยวข้องกับขุขันธ์ในอดีต

บทที่ ๘  ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ
นายหอม  พฤกษา  ปราชญ์ชาวบ้านด้านศาสนพิธี อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ 
นายธีรัชพัฒน์  ย่อทอง อสม.ดีเด่น ระดับชาติ สาขาสุขภาพจิตชุมชน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘
"ตาจุม"...ศิลปินเจรียงภาษาขอมโบราณที่เหลือเพียงคนเดียวของอำเภอขุขันธ์
นายเจริญ ปรือปรัก ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมของจังหวัดศรีสะเกษ ประจำปี 2559

บทที่ ๙ เรื่องราวอื่นๆที่น่าสนใจในจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มาของคำว่า "อีสาน"
ที่มาของคำว่า "สุวรรณภูมิ"
- จารึกพระวิหาร 1 และจารึกพระวิหาร 2
- อักษรศิลาจารึกสมัยก่อนพระนคร - ปัจจุบัน
- ลายมือสวยคัดลอกอักษรโบราณก่อนสมัยพระนครและสมัยพระนคร
อักษรภาษาโบราณที่พบในดินแดนสุวรรณภูมิในช่วงพุทธศตวรรษที่10-24
- แบบเรียนหนังสือขอมไทย
- ประวัติศาสตร์กัมพูชา แต่ละยุคสมัยเรียกว่าอย่างไรบ้าง?
"เมืองเขมรป่าดง" เมื่อปี พ.ศ. 2379 ประกอบด้วย 13 เมือง
คำว่า "เขมรป่าดง" เมื่อปี พ.ศ. 2449
การตั้งเมืองราษีไศล (พ.ศ. 2424)
การตั้งเมืองชุมพลบุรี (พ.ศ. 2425)
การแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนตั้งเป็นเมืองเดชอุดม(พ.ศ.2388)
การตั้งเมืองศรีสะเกษ (พ.ศ. 2325)และยุบเมืองศรีสะเกษ (พ.ศ. 2450)
ปัญหาการเก็บภาษีจากหัวเมืองต่างๆ ในบริเวณอีสาน พ.ศ. 2373 - 2434
การตั้งบ้านกุดไผท หรือบ้านจารพัด และบ้านลำดวนเป็นเมือง (พ.ศ. 2412)
- การประกอบอาชีพของชาวอีสานในรอบ 12 เดือน เมื่อปี พ.ศ. 2427
ประเพณีต่างๆ ในรอบ 12 เดือนของชาวอีสาน เมื่อปี พ.ศ. 2439
- ประวัติหลวงพ่อโต วัดมหาพุทธาราม(วัดพระโต) จังหวัดศรีสะเกษ (ข้อมููลเพิ่มเติมรอการตรวจสอบ)
- ตามรอยพระยุคลบาท ร.9 เสด็จพระราชดำเนิน จ.ศรีสะเกษ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498
เพลงศรีสะเกษเมืองงาม (ร้องสด โดยคณะพอ.สว.ศรีสะเกษ)
คำว่า ส่วย ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นวาทะกรรมในอดีต

- หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงไทยกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976
ที่มาของคำว่า กระโพ กระโพธิ์ ที่เป็นชื่อหมู่บ้านตำบลแถบจังหวัดอีกสานใต้มีที่มาอย่างไร ?

วิถีชีวิตชาวกวย ที่ประเทศกัมพูชา มีความเหมือนหรือแตกต่างจากบ้านเราอย่างไร ?
- พระพุทธบาท ที่พบที่ตำบลส้มป่อย เป็นพระพุทธบาทจำลอง เมื่อปี พ.ศ. 2472 อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดขุขันธ์
บารมีพระพุทธรูปองค์พระจังหันอุ่น เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
- คำว่า "กำพงจาม" ที่ถูกต้องคือ "กำพงจำ" (พ.ศ. 2467/ ค.ศ.1924) คลิก

ภาคผนวก : เอกสารประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
- "พระสยามเทวาธิราช"...เทพผู้ปกปักรักษาราชอาณาจักรสยาม
- หอพระสมุดวชิรญาณ
- พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการฯก่อน พ.ศ. 2483 ข้อความในแพรแถบตอนล่างสุดเป็นอักษรขอม
พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๑
เพลง "รักเธอเสมอ" โดย พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเคยขับร้อง
การใช้ศักราชในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน : พ.ศ. ไทย กับ กัมพูชา ทำไมจึงต่างกัน ?
- ภาพถ่ายการศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดอุบลฯ(13ธันวาคม 2561) คลิก 

ภาคผนวก
- เหตุการณ์ที่สำคัญและเกี่ยวกับเมืองขุขันธ์ จังหวัดขุขันธ์ และอำเภอขุขันธ์ จากอดีตถึงปัจจุบัน
การชำระประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์
- ภาคผนวก ก บัญชีรายชื่อตำบล/หมู่บ้าน
- ภาคผนวก ข บัญชีผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อำเภอขุขันธ์
- ภาคผนวก ค ทำเนียบภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาอาชีพต่างๆ
- ภาคผนวก จ คำสั่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ “เมืองขุขันธ์”
- ภาคผนวก ฉ รายนามคณะกรรมการจัดทำหนังสือ “เมืองขุขันธ์”

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย