-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อำนาจหน้าที่และภารกิจของสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอ

สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอ

๑. เป็นส่วนราชการประจำอำเภอทุกอำเภอ เป็นหน่วยงานภายในราชการบริหารส่วนภูมิภาค ของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มีฐานะเป็นหน่วยงานเทียบเท่าฝ่ายในสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ตามคำสั่งกระทรวงวัฒนธรรม ที่ ๗๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
     (ก) ประสานงานและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของกระทรวงในส่วนภูมิภาคของอำเภอ รวมทั้งดำเนินการประสาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในอำเภอ

     (ข) ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้ด้านการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในอำเภอ

     (ค) ประสานและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นในอำเภอ

     (ง) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมอำเภอสภาวัฒนธรรมตำบล รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่ดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในอำเภอ

     (จ) ปฏิบัติราชการตามกฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ ของนายอำเภอหรือตามที่ได้รับมอบหมาย

     (ฉ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย

๒. อำนาจหน้าที่ตามคำสั่งคำสั่งกระทรวงวัฒนธรรม ที่ ๗๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑ จำนวน ๖ ภารกิจ ดังนี้
ภารกิจที่ ๑
ประสานงานและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของกระทรวงในส่วนภูมิภาคระดับอำเภอ
รวมทั้งดำเนินการประสาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในอำเภอ
     ๑.๑ การจัดทำแผนพัฒนา แผนปฏิบัติการ แผนการตรวจและติดตาม งาน/โครงการงบประมาณโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในระดับอำเภอ/ อปท. กำหนดให้มี การเสนอความต้องการขึ้นมาจากชุมชน

     ๑.๒ ประสานเครือข่ายด้านวัฒนธรรม ในการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

     ๑.๓ งานประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกด้านงานวัฒนธรรมในชุมชน

     ๑.๔ ประสาน ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางรัฐพิธี และทางศาสนาพิธีในอำเภอ

     ๑.๕ งานบริการข้อมูลข่าวสารด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ๑.๖ การประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของกระทรวง

ภารกิจที่ ๒
ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในอำเภอ


     ๒.๑ จัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

     ๒.๒ ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์งานทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

     ๒.๓ โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน

     ๒.๔ พัฒนาข้อมูลสนเทศทางด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมในพื้นที่

     ๒.๕ ประสานให้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อาทิ ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอ/ตำบล

     ๒.๖ พัฒนาและสนับสนุนการปฏิบัติงานแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนาต่าง ๆ ในชุมชน ๒.๗ ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ด้านวิถีชีวิตชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ภารกิจที่ ๓
ประสานและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญา ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นในอำเภอ


     ๓.๑ ประสานส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงาน อนุรักษ์ สร้างสรรค์ พัฒนาและสืบสาน จารีตประเพณี ภูมิปัญญาไทยทางด้านศิลปวัฒนธรรม

     ๓.๒ ประสานจัดประชุมอบรม / สัมมนาด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถาน ในระดับอำเภอ

     ๓.๓ ประสานเชื่อมโยงภารกิจหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในกรณีที่ไม่มีหอจดหมายเหตุ แห่งชาติ ของกรมศิลปากรที่ตั้งอยู่

     ๓.๔ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาของท้องถิ่น ให้แก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป

     ๓.๕ การจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา

     ๓.๖ การจัดกิจกรรมส่งเสริมวิถีชีวิตตามหลักธรรมทางศาสนา อาทิ แข่งขันสวดมนต์หมู่ ทำนองสรภัญญะ การบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุ สามเณรภาคฤดูร้อน ฯลฯ

ภารกิจที่ ๔
ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมอำเภอ และสภาวัฒนธรรมตำบล รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่ดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในอำเภอ


     ๔.๑ การจัดทำแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการเครือข่ายสภาวัฒนธรรมอำเภอ / ตำบล

     ๔.๒ ส่งเสริมสนับสนุนจัดทำโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากเงินกองทุนส่งเสริม งานวัฒนธรรม

     ๔.๓ การดำเนินการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมอำเภอ / ตำบล

     ๔.๔ ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมอำเภอ / ตำบล แลเครือข่าย ทางวัฒนธรรม

     ๔.๕ ส่งเสริมสนับสนุนประสานงานการยกย่องเชิดชูเกียรติ และเผยแพร่ผลงานศิลปิน แห่งชาติ ผู้มีผลงานที่ดีเด่นทางวัฒนธรรม ปราชญ์ชุมชน และผู้ทำคุณประโยชน์ทางด้านศาสนา

ภารกิจที่ ๕
ปฏิบัติราชการตามกฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ ของนายอำเภอหรือตามที่ได้รับมอบหมาย

     ๕.๑ ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด

     ๕.๒ การดำเนินงานตามกฎหมายว่าด้วยสมาคม มูลนิธิ และองค์กรทางวัฒนธรรม

     ๕.๓ การดำเนินงานตามภารกิจ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ภารกิจที่ ๖
ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย


     ๖.๑ ดำเนินงานตามโครงการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

     ๖.๒ ดำเนินงานตามโครงการตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม

ที่มาของชื่อหมู่บ้านตรอย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

             อาจจะมีหลายคนหลายท่าน ที่เดินทางผ่านเข้ามาในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ แล้วมาเจอป้ายชื่อหมู่บ้าน บ.ตรอย ว่าคืออะไร ? และมีที่มาอย่างไร ?สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ มีคำตอบให้ท่านแล้วครับ ดังนี้

แผนที่หมู่บ้านตรอย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองฉลอง  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ
GPS:14.662475, 104.249812 พิกัด 14°39'44.9"N 104°14'59.3"E

           สำหรับที่มาของชื่อบ้านตรอย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นั้น มีที่มาจากคำภาษากูยถิ่นไทย แถบอำเภอขุขันธ์  ว่า "ตรอย" เป็นคำนามแปลว่า มะหาด หรือหาด ภาษาเขมรถิ่นไทย เรียกว่า "ซเปือร" ภาษาเขมรที่กัมพูชาเรียกว่า "សំព័រ"  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มักพบขึ้นชุกชุมในพื้นที่แห่งนี้ในอดีต ก่อนที่จะมีชาวบ้านโยกย้ายมาตั้งเป็นหมู่บ้านในปัจจุบัน

           ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ ตรอย หรือ มะหาด นั้น จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวจะหยาบและแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลออกแดงหนาแน่น มีน้ำยางสีขาว ใบ เดี่ยวเรียงแบบสลับระนาบเดียว รูปไข่หรือรูปขอบขนานขนาด 25-30 × 15-20 ซม. ปลายใบมน ฐานใบมนหรือแหลมกว้าง อาจเบี้ยวไม่สมมาตร ขอบใบเรียบหรือมีซี่จักเล็กน้อย ใบแก่สีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง ด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย เส้นใบข้าง 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องใบ ก้านใบยาว 1.4-3.3 ซม. มีขนแข็งสีเหลืองหนาแน่น มีหูใบเล็กบาง ขนาด 4-5 ซม. รูปหอกซึ่งหลุดร่วงเร็วและมีขนปกคลุมหนาแน่น กิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน หนา 3-6 มิลลิเมตร ไม่มีรอยแผลวงแหวน ดอกเป็นช่อกลมแน่นสีเหลืองหม่นถึงชมพูอ่อนแบบช่อกระจุก ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกตัวผู้กลม ช่อยาว 0.8-2 ซม. ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกตัวเมียรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน มีสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน กว้าง 0.8-1.2 เซนติเมตร ยาว 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาว 2.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ  ผลสดมีเนื้อ เป็นผลรวมรูปร่างบิดเบี้ยว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-8 ซม. ก้านผลยาว 1.2-3.8 ซม.สีเหลืองอ่อน หรือส้ม ผลแก่สีเหลืองปนน้ำตาล รูปร่างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผิวนอกมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เนื้อในสีเหลืองเข้มถึงสีชมพู มีเมล็ดรูปขอบขนาน หรือเกือบกลม สีน้ำตาลเทา จำนวนมาก ขนาด 1.2 ซม. พบทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าหินปูน ป่าคืนสภาพ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,300(-1,800) เมตร ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
           นอกจากนี้ ตรอย หรือมะหาด ยังมีคุณค่าทางสมุนไพรอีกด้วย   ในตำรายาไทย ผงจากแก่น โดยนำแก่นไม้ที่อายุ 5 ปีขึ้นไป มาสับแล้วนำไปต้มเคี่ยวกับน้ำ จนเกิดฟอง ช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้ง จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน นำไปย่างไฟให้เหลือง แล้วนำมาบดเป็นผง เรียกว่า “ผงปวกหาด” มีรสร้อนเมา นำมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน หรือใช้ละลายน้ำ ทาแก้ผื่นคัน แก่น รสร้อน ขับพยาธิตัวตืด แก้ลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้กษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เบื่ออาหาร แก้ลม ขับโลหิต ละลายเลือด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ต่างๆ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ประดงทุกชนิด แก้หอบหืด แก้เสมหะ ราก แก้ไข้ ขับพิษร้อนใน ขับพยาธิ แก้กษัยในเส้นเอ็น เปลือกต้น รสฝาด ใช้เคี้ยวกับหมากแทนสีเสียด เปลือกต้นสด สมาน ทาขับพยาธิ ต้มกินแก้ไข้ ขับพยาธิ ผลสุก รับประทานได้ รสหวานอมเปรี้ยว
            ประเทศอินเดีย และเนปาลใช้ เปลือกต้น ต้มน้ำทารักษาสิว ประเทศเนปาลใช้ ใบ เป็นอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มการขับน้ำนม

ขอบคุณที่มาของข้อมูล
- นายสำนวน ศรีมาศ อดีตกำนันตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- นายหล้า ศรีมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองฉลอง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559. ที่ลิงก์นี้ http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=187

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ขอบเขตตำบลในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

อำเภอขุขันธ์(Khukhan District) มี 22 ตำบล
  1. กฤษณา (krissana)
  2. กันทรารมย์ (kantararom)
  3. โคกเพชร (kokphet)
  4. จะกง (chakong)
  5. ใจดี (jaidees)
  6. ดองกำเม็ด (dongkummad)
  7. ตะเคียน (takean)
  8. ตาอุด (ta_ud)
  9. นิคมพัฒนา (nikhompattana)
  10. ปราสาท(Prasat) ***อยู่ระหว่างการประสานข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้อง
  11. ปรือใหญ่ (prueyai)
  12. ลมศักดิ์ (lomsak)
  13. ศรีตระกูล (sritragool)
  14. ศรีสะอาด (srisaart)
  15. สะเดาใหญ่ (sadowyai)
  16. สำโรงตาเจ็น (somrongtagen)
  17. โสน (sano)
  18. หนองฉลอง (nongchalong)
  19. ห้วยใต้ (huaitay)
  20. ห้วยสำราญ (huai_samran)
  21. ห้วยเหนือ (huayneua)
  22. หัวเสือ (huasua)

ขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก 
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดศรีสะเกษ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
224 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ 33000
โทรศัพท์ 045-814634 โทรสาร 045-814589 เว็บไซต์ http://www.dpt.go.th/sisaket/

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระพุทธบาท ที่พบที่ตำบลส้มป่อย เป็นพระพุทธบาทจำลอง ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2472 อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดขุขันธ์

พระพุทธบาทจำลอง ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

พระพุทธบาทจำลอง ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

          ตามความในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 46 หน้า 1381 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 แผนกกรมธรรมการ ได้มีประกาศ เรื่อง การปฏิสังขรณ์ศาลาพระพุทธบาทจำลอง  จังหวัดขุขันธ์  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งที่ของพักสงฆ์พระพุทธบาท บ้านเปือย หมู่ที่ ๗ ของตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล  จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน...

หมายเหตุ ขอลงบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังที่เป็นชาวอำเภอราษีไศล  จังหวัดศรีสะเกษ ได้ทราบ เพื่อจะได้สืบค้นประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นตนเองในลำดับต่อไป ว่าในอดีตเคยเกี่ยวข้องกันกับจังหวัดขุขันธ์ 

ของคุณที่มาของข้อมูลจาก :
- ข้อมูลภาพถ่ายจากเวปไซต์เทศบาลตำบลส้มป่อย http://sompoi.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/6/menu/138 ,ค้นข้อมูล ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2559.

- เวปไซต์ราชกิจจานุเบกษา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2472/D/1381.PDF

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วันมาฆบูชา (ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3)

              วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน ทุกปีถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง และได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง โดย วันมาฆบูชา ปี พ.ศ 2559 ตรงกับวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559

ความหมายของวันมาฆบูชา

          คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3

การกำหนดวันมาฆบูชา
          การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

ความสำคัญวันมาฆบูชาและประวัติวันมาฆบูชา
          ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์"แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
          ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่
          1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

          2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6

          4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

          และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ

          จาตุร แปลว่า 4
          องค์ แปลว่า ส่วน
          สันนิบาต แปลว่า ประชุม

          ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง
          ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์
ประวัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย

          พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า

          ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐ์จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
          เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึงและขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ

          ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง
          ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา

          นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา เป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกด้วย

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติในวันมาฆบูชา

          หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติคือ "โอวาทปาฏิโมกข์" ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้

หลักการ 3 คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ได้แก่
          1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

          2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)

          3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

          ซึ่งทั้ง 3 หลักการข้างต้น สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" นั่นเอง
อุดมการณ์ 4 ได้แก่
          1. ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
          2. ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น
          3. ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
          4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

วิธีการ 6 ได้แก่
          1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร
          2. ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
          3. สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
          4. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
          5. อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
          6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี

วันมาฆบูชา

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

          การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันมาฆบูชาคือ คือ ในตอนเช้า ควรไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ช่วงบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา เมื่อถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียน 3 รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่าง ๆ และรักษาศีล สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 

ข้อเสนอแนะการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันมาฆบูชา 


         กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว
          กิจกรรมที่ครอบครัวควรทำในวันมาฆบูชา อย่างเช่น การทำความสะอาดบ้าน จัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน ชักชวนครอบครัวไปทำบุญตักบาตร ฟังศีล ฟังธรรม บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรม รวมทั้งควรศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอน และความสำคัญของวันมาฆบูชาด้วย


          กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา

          ในสถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่ง โดยภายในสถานศึกษาควรมีการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา เช่น จัดนิทรรศการให้ความรู้ ประกวดเรียงความ ตอบปัญหาธรรมะ บรรยายธรรม หรือร่วมกันทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน บำเพ็ญกุศล อีกทั้งประกาศเกียรติคุณนักเรียนผู้ทำประโยชน์ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี


          กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน

          ควรประชาสัมพันธ์ในที่ทำงาน และจัดให้มีการบรรยายธรรม หรือร่วมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน ร่วมทำบุญ บำเพ็ญกุศลร่วมกัน


          กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม

          ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น วัด มูลนิธิ สมาคม สื่อมวลชน สนามบิน สถานีรถไฟ ฯลฯ ควรช่วยกันประชาสัมพันธ์ความสำคัญของวันมาฆบูชา อาจเป็นการพิมพ์เอกสารให้ความรู้ จัดให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ช่วยกันรณรงค์ให้เลิกอบายมุข แต่รณรงค์ให้ช่วยกันทำประโยชน์ต่อสังคมแทน อาจช่วยกันปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ ฯลฯ


 ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดกิจกรรมในวันมาฆบูชา

          พุทธศาสนิกชนจะมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักต่อความสำคัญของพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ และยังเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป

ขอบคุณที่มา :

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระไตรปิฎกฉบับการ์ตูน โดยแพทย์จุฬาฯ รุ่น ๑๗ เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกสู่การ์ตูนแอนิเมชั่น

พระไตรปิฎกฉบับการ์ตูน แพทย์จุฬาฯ รุ่น 17 เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกสู่การ์ตูนแอนิเมชั่น ความรู้ ธรรมะสอนใจ แล้วคุณจะรู้ว่า พระพุทธเจ้า สอนอะไรบ้าง ? อนุโมทนาบุญกับทีมงานผู้สร้างทุกท่าน แชร์ต่อ=บุญ


คลิกเดียว...ชมพระไตรปิฎกฉบับการ์ตูน 
โดยแพทย์จุฬาฯ รุ่น ๑๗ ตั้งแต่ตอนที่ ๑ - ๒๙

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ที่มาของชื่อบ้านบ่อทอง หมู่ที่ 7 ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

             ชื่อเดิมของ​ บ้านบ่อทอง หมู่ที่ 7 ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มาจากคำภาษาเขมรถิ่นไทย(ภาษาขอม) แถบอีสานใต้ ว่า
 
              อ่านออกเป็นเสียงภาษาเขมรถิ่นไทยว่า /บอ-ปัวะฮฺ/ เป็นชื่อของบึงมีลักษณะเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติขนาดเล็กซึ่งแยกออกมาจากลำห้วยสำราญ และมีมาตั้งแต่ในอดีตก่อนตั้งเป็นหมู่บ้าน ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยความเป็นบึงอยู่บ้าง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านบ่อทอง ในปัจจุบัน ซึ่งคนเฒ่าคนแก่เล่าต่อๆกันมาว่า บึง"บอปัวะฮฺ" นั้น เคยเป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศน์ และรอบๆบริเวณริมฝั่งบึงจะเป็นที่อาศัยของงูนานาชนิด ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก  


แผนที่หมู่บ้านบ่่อทอง หมู่ที่ 7 ตำบลปราสาท  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ
GPS:14.672087, 104.056125 พิกัด 14°40'19.5"N 104°03'22.1"E

           แต่ต่อมาในภายหลังเมื่อมีการตั้งเป็นหมู่บ้าน และทางการให้ตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นภาษาไทย  ด้วยความเข้าใจที่คาดเคลื่อนของชาวบ้านในรุ่นหลังจนถึงปัจจุบันซึ่งได้แปลความหมายของรากศัพท์คำเดิมเปลี่ยนไปจากความหมายเดิม โดยเข้าใจผิดว่า คำว่า "บอ" แปลว่า บ่(ไม่)  และคำว่า "ปัวะฮฺ" แปลว่า ท้อง  รวมเป็นคำเต็มว่า บ่อท้อง (ไม่ท้อง)  เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการถามว่าบ้านนี้ชื่อว่าอะไร คนเฒ่าคนแก่แถบตำบลปราสาทก็จะบอกเป็นคำสำเนียงเขมรถิ่นไทยพูดออกเสียงภาษาไทยอีสาน เป็นเสียงกลาง ๆ(เขมรพูดลาว) ซี่งไม่มีวรรณยุกต์กำกับว่า "บอทอง" เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการได้ยินดังนั้น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ให้ใหม่เป็นภาษาไทยที่ไพเราะ กว่าเดิมว่า "บ้านบ่อทอง" ในที่สุด และเรียกชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน


ภาพทัศนียภาพภายในบริเวณวัดบ่อทอง  หมู่ที่ 7
ตำบลปราสาท  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
กราบนมัสการขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก พระอธิการพิทยา อนุจาโร เจ้าอาวาสวัดบ่อทอง หมู่ที่ 7 ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ(8 กุมภาพันธ์ 2559.)

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน 276 หมู่บ้านในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ



ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย