-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ที่มาของชื่อหมู่บ้านตรอย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

             อาจจะมีหลายคนหลายท่าน ที่เดินทางผ่านเข้ามาในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ แล้วมาเจอป้ายชื่อหมู่บ้าน บ.ตรอย ว่าคืออะไร ? และมีที่มาอย่างไร ?สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ มีคำตอบให้ท่านแล้วครับ ดังนี้

แผนที่หมู่บ้านตรอย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองฉลอง  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ
GPS:14.662475, 104.249812 พิกัด 14°39'44.9"N 104°14'59.3"E

           สำหรับที่มาของชื่อบ้านตรอย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นั้น มีที่มาจากคำภาษากูยถิ่นไทย แถบอำเภอขุขันธ์  ว่า "ตรอย" เป็นคำนามแปลว่า มะหาด หรือหาด ภาษาเขมรถิ่นไทย เรียกว่า "ซเปือร" ภาษาเขมรที่กัมพูชาเรียกว่า "សំព័រ"  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มักพบขึ้นชุกชุมในพื้นที่แห่งนี้ในอดีต ก่อนที่จะมีชาวบ้านโยกย้ายมาตั้งเป็นหมู่บ้านในปัจจุบัน

           ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ ตรอย หรือ มะหาด นั้น จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวจะหยาบและแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลออกแดงหนาแน่น มีน้ำยางสีขาว ใบ เดี่ยวเรียงแบบสลับระนาบเดียว รูปไข่หรือรูปขอบขนานขนาด 25-30 × 15-20 ซม. ปลายใบมน ฐานใบมนหรือแหลมกว้าง อาจเบี้ยวไม่สมมาตร ขอบใบเรียบหรือมีซี่จักเล็กน้อย ใบแก่สีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง ด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย เส้นใบข้าง 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องใบ ก้านใบยาว 1.4-3.3 ซม. มีขนแข็งสีเหลืองหนาแน่น มีหูใบเล็กบาง ขนาด 4-5 ซม. รูปหอกซึ่งหลุดร่วงเร็วและมีขนปกคลุมหนาแน่น กิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน หนา 3-6 มิลลิเมตร ไม่มีรอยแผลวงแหวน ดอกเป็นช่อกลมแน่นสีเหลืองหม่นถึงชมพูอ่อนแบบช่อกระจุก ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกตัวผู้กลม ช่อยาว 0.8-2 ซม. ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกตัวเมียรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน มีสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน กว้าง 0.8-1.2 เซนติเมตร ยาว 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาว 2.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ  ผลสดมีเนื้อ เป็นผลรวมรูปร่างบิดเบี้ยว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-8 ซม. ก้านผลยาว 1.2-3.8 ซม.สีเหลืองอ่อน หรือส้ม ผลแก่สีเหลืองปนน้ำตาล รูปร่างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผิวนอกมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เนื้อในสีเหลืองเข้มถึงสีชมพู มีเมล็ดรูปขอบขนาน หรือเกือบกลม สีน้ำตาลเทา จำนวนมาก ขนาด 1.2 ซม. พบทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าหินปูน ป่าคืนสภาพ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,300(-1,800) เมตร ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
           นอกจากนี้ ตรอย หรือมะหาด ยังมีคุณค่าทางสมุนไพรอีกด้วย   ในตำรายาไทย ผงจากแก่น โดยนำแก่นไม้ที่อายุ 5 ปีขึ้นไป มาสับแล้วนำไปต้มเคี่ยวกับน้ำ จนเกิดฟอง ช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้ง จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน นำไปย่างไฟให้เหลือง แล้วนำมาบดเป็นผง เรียกว่า “ผงปวกหาด” มีรสร้อนเมา นำมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน หรือใช้ละลายน้ำ ทาแก้ผื่นคัน แก่น รสร้อน ขับพยาธิตัวตืด แก้ลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้กษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เบื่ออาหาร แก้ลม ขับโลหิต ละลายเลือด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ต่างๆ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ประดงทุกชนิด แก้หอบหืด แก้เสมหะ ราก แก้ไข้ ขับพิษร้อนใน ขับพยาธิ แก้กษัยในเส้นเอ็น เปลือกต้น รสฝาด ใช้เคี้ยวกับหมากแทนสีเสียด เปลือกต้นสด สมาน ทาขับพยาธิ ต้มกินแก้ไข้ ขับพยาธิ ผลสุก รับประทานได้ รสหวานอมเปรี้ยว
            ประเทศอินเดีย และเนปาลใช้ เปลือกต้น ต้มน้ำทารักษาสิว ประเทศเนปาลใช้ ใบ เป็นอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มการขับน้ำนม

ขอบคุณที่มาของข้อมูล
- นายสำนวน ศรีมาศ อดีตกำนันตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- นายหล้า ศรีมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองฉลอง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559. ที่ลิงก์นี้ http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=187

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย