-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คุ้มชุมชนดั้งเดิมเมืองขุขันธ์ มี 6 คุ้ม

ดังได้กล่าวเป็นเบื้องต้นแล้วว่า  ขุขันธ์เป็นเมืองเก่าแก่ทีมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  ในสมัยธนบุรี-กลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   เมืองขุขันธ์ประกอบด้วย  ชุมชนโดยรอบตัวเมืองขุขันธ์ จำนวนหลายคุ้มและหลายชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งจะขอกล่าวถึงที่สำคัญ  6  คุ้มชุมชน 

  1.  คุ้มชุมชนวัดกลาง ( วัดอัมรินทราวาส)  ถือเป็นชุมชนเก่าแก่อยู่ใจกลางเมืองขุขันธ์  ประกอบด้วย  บ้านภูมิเหนือ บ้านภูมิใต้ และชาวตลาดขุขันธ์ ชุมชนวัดกลางจะมีวัดกลาง   เป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีทางศาสนา  มาจนถึงปัจจุบัน  ภาษาที่ใช้ จะเป็นภาษาถิ่นที่เป็นภาษาเขมร

  วัดกลาง อัมรินทราวาส ก่อตั้งเมื่อ  ปี พ.ศ. 2429 สมัยที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (ปัญญา ขุขันธิน) เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 โดยมีพระรัตนโกศา (จันดี กาญจนเสริม) ปลัดเมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นพร้อมด้วยกรมการเมืองได้พร้อมใจกันสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแทนวัดบ้านบก ที่ใช้ประกอบพิธีมาก่อน ที่อยู่ห่างใจกลางเมืองขุขันธ์ไม่สะดวก เมื่อสร้างเสร็จก็ให้เรียกว่า “วัดกลาง” ทางราชการถือเอาวัดกลางเป็นวัดประจำเมืองและเป็นวัดที่พำนักของเจ้าคณะอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน วัดนี้จึงเป็นวัดใหญ่เจริญรุ่งเรืองกว่าวัดอื่นๆ รอบเมืองขุขันธ์ ปัจจุบัน บริเวณวัดกลางได้ตั้งโรงเรียนขุขันธ์ราษฎร์บำรุง เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของลูกหลานชาวขุขันธ์ ทั้งภิกษุ  สามเณร  และฆราวาส  

  2.  คุ้มชุมชนวัดเขียนบูรพาราม เป็นชุมชนชาวเขมรอยู่ทางทิศตะวันออกของ  วัดกลาง  ประกอบด้วย  บ้านพราน  บ้านตะแบก  บ้านสะอาง  บ้านสนวน  ชุมชนนี้จะมี  วัดเขียนบูรพาราม  เป็นศูนย์รวมประกอบพิธีทางศาสนามาจนถึงปัจจุบัน และยังมีวัดสะอาง อีกวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นหลังวัดเขียน  แยกออกมาประกอบพิธีทางศาสนา  มีบ้านสนวน และชุมชนบ้านสะอาง
  
วัดเขียนบูรพาราม  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขุขันธ์ บูรณะและก่อสร้างเป็นวัดครั้งแรกเมื่อปี  พ.ศ. 2323  สมัยกรุงธนบุรี โดยมี พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (หลวงปราบ หรือเชียงขันธ์)  เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 2 แต่ท่านยังสร้างไม่เสร็จต้องมาถึงแก่อนิจกรรมไปก่อน  จึงทิ้งให้เป็นวัดร้าง  มีป่าดง ขึ้นปกคลุมขึ้นหนาทึบ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2425 สมัยที่ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าววัง ) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 8 (บุตรคนที่ 2 ของเชียงขัน) ร่วมกับ กรมการเมืองได้นำราษฎรบูรณะยกขึ้นเป็นวัดใหม่ ให้ชื่อว่า “วัดเขียนบูรพาราม“ จนถึงปัจจุบัน  

3. คุ้มชุมชนวัดเจ็กโพธิ์พฤกษ์  เป็นชุมชนเชื้อสายจีนดั้งเดิมของเมืองขุขันธ์  จึงได้เรียกชุมชนนี้ว่า  “บ้านเจ็ก”  ปัจจุบันชุมชนนี้แม้จะชื่อว่า  บ้านเจ็ก  แต่ประชากรพูดภาษาเขมรเป็นส่วนใหญ่  โดยมีวัดเจ็กเป็นศูนย์กลางประกอบพิธีทางศาสนา
 
วัดโพธิ์พฤกษ์ ( วัดเจ็ก ) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองขุขันธ์  ก่อสร้างเมื่อปี  พ.ศ.  2415  ตรงกับสมัยรัชกาลที่  5  สมัยเจ้าเมืองขุขันธ์  ท่านที่  8  (ท้าววัง ) โดยการร่วมมือร่วมใจกันของคนจีน ที่อพยพมาจากนครราชสีมา  กับชาวเขมรกลุ่มดั้งเดิมได้สร้างขึ้นเรียกชื่อว่า  “วัดเจ็กโพธิ์พฤกษ์” โดยเบื้องต้นได้นิมนต์พระจากวัดบกจันทร์นครไปประจำวัด
  
  4. คุ้มชุมชนวัดไทยเทพนิมิตร  เป็นชุมชนที่เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองและชนชั้นปกครองของเมืองขุขันธ์  ที่ตั้งอยู่ริมห้วยเหนือ  จึงเรียกชุมชนนี้อีกชื่อหนึ่งว่า  “บ้านห้วย” คนในชุมชนนี้จะใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น  เป็นส่วนใหญ่  ปัจจุบันก็ยังใช้ภาษาเขมร  

วัดไทยเทพนิมิตร  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองขุขันธ์  ทำการก่อสร้างเมื่อปี  พ.ศ.  2375  ตรงกับรัชกาลที่ 3  ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ  ให้หลวงเทพรักษา  คุมกำลังพลจากกรุงเทพฯ  มาตั้ง  ณ บริเวณนี้  2  ครั้ง  เพื่อมาเกณฑ์กำลังพลจากเมืองขุขันธ์  เมืองศรีสะเกษ  เมืองเดชอุดม  เมืองสุรินทร์  และเมืองสังขะ  เพื่อไปรบกับญวน  เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่กองทัพที่ได้ยกทัพมารวมพลบริเวณนี้ โดยได้นิมนต์พระภิกษุจากวัดบ้านบกจันทร์นคร ไปประจำวัด เดิมเรียกว่า “วัดไทย” ผู้สร้างคือ หลวงเทพรักษา ซึ่งเป็นคนไทยจากกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดความมีสิริมงคลมากขึ้น  ต่อมาจึงเรียกชื่อใหม่ว่า  “วัดไทยเทพนิมิตร”
  
  5.  คุ้มชุมชนวัดบก ( วัดจันทร์นคร )  สำหรับชุมชนนี้เป็นชุมชนที่แตกต่างจาก  4 ชุมชน  ที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากประกอบด้วย กลุ่มชนที่พูดภาษาเขมร  และชุมชนที่พูดภาษาลาว  เพราะประกอบด้วยประชากรอยู่ 2  คุ้ม  คือ  ชุมชนตะวันตกของวัด  เป็นชุมชนเก่าแก่จึงเรียกว่า  “บ้านเก่า” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  บ้านในวัง ภาษาเขมรเรียกคุ้มนี้ว่า “ซรกกะนงเวี็ยง”  หรือ  บ้านในวัง หรือ ซรกจ๊ะ เป็นคุ้มที่อยู่ของเจ้าเมืองขุขันธ์นั่นเอง  ชุมชนบ้านวังนี้จะพูดภาษาเขมร  มาจนถึงทุกวันนี้  

 
อีกคุ้มหนึ่ง คือ 6. คุ้มบ้านบก  บ้านแดง  ซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่เยื้อง ๆ ไปทางทิศใต้ของวัดคุ้มบ้านบกนี้จะพูดภาษาลาว  คล้าย ๆ ลาวเวียงจันทน์  มีประเพณีวัฒนธรรมคล้าย ๆ ลาวเวียงจันทน์  ทั้งนี้สืบเนื่องจากว่า  เป็นคุ้มบ้านเรือนที่  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (หลวงปราบ หรือเชียงขันธ์)  เมื่อครั้งที่ร่วมกับทัพส่วนกลางไปทำศึกสงครามที่ลาวเวียงจันทน์ เมื่อชนะศึกและยกทัพกลับ  ได้กวาดต้อนครอบครัวจากลาวเวียงจันทน์กลับมาด้วยเป็นจำนวนมาก หนึ่งในหลาย ๆ ครอบครัว  ที่กวาดต้อนกลับมา มีครอบครัว นางคำเวียง หม้ายสาวตระกูล ขุนนางและมีบุตรติดเป็นชาย  มาด้วย 1 คน ซึ่งหลวงปราบได้รับเลี้ยง  เป็นภรรยาและบุตร บุญธรรมพร้อมบริวาร โดยให้นำมาพำนักตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านบกนี้เอง ปัจจุบันเชื้อสายชาวลาวเหล่านี้ยังมีอยู่ทั้งที่บ้านบก บ้านแดง  บ้านโสน  และบ้านอาวอย ตราบเท่าทุกวันนี้  

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตเพื่อเป็นการยืนยันถิ่นฐานอันเป็นที่ตั้งและบรรพบุรุษเมืองขุขันธ์ว่า ชุมชนเมืองขุขันธ์ เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมหาได้ย้ายไปจากบ้านดวนใหญ่อย่างที่บางท่านเข้าใจไม่  ความจริง  เมืองขุขันธ์  ก็คือ  กลุ่มชนผู้สืบเชื้อสายชาวเขมรป่าดงที่มีถิ่นฐานอยู่แถบบริเวณเมืองขุขันธ์ ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้เอง  ภาษาก็ใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาเขมร และหากจะมีการย้ายที่ตั้งเมืองขุขันธ์ตามที่มีผู้กล่าวอ้างทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็น่าจะเป็นการเลื่อนที่ตั้งเมือง ไม่น่าจะเป็นการย้ายที่ตั้งเมืองอย่างแน่นอน แต่มีการเลื่อนที่ตั้งเมืองและหลักเมืองจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองขุขันธ์ในปัจจุบัน เลื่อนที่ตั้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็คือที่ตั้งหลักเมืองและที่ตั้งเมืองขุขันธ์ ในปัจจุบันนี้เอง อีกทั้ง  บ้านดวนใหญ่ไม่มีเหตุผลและหลักฐานใดๆ ในเชิงประวัติศาสตร์นำมาสนับสนุนคำกล่าวในการอ้างว่าเป็นที่ตั้งเมืองขุขันธ์มาก่อน  และอีก   ประการหนึ่งที่กล่าวว่า ตั้งบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (บ้านดวนใหญ่) เป็นเมืองชื่อว่า เมืองนครลำดวนนั้น ก็ยิ่งผิดเพี้ยนไปอย่างไร้เหตุผล ความจริงเมืองนครลำดวน ในพงศาวดาร ไม่มีปรากฏชื่อคำว่า “นครลำดวน หรือ ศรีนครลำดวน” แต่เป็นวลีหรือประโยคที่ประกอบเป็นสร้อยคำ ในบรรดาศักดิ์ ราชทินนามของเจ้าเมืองขุขันธ์เท่านั้น เช่น พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน และพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เป็นต้น 

จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับเมืองอื่นที่ยกฐานะและแต่งตั้งเจ้าเมืองในคราวเดียวกันก็ดี    ก็ใช้สร้อยคำต่อท้ายราชทินนามเช่นกันมิใช่ชื่อเมือง เช่น พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง   เจ้าเมืองสุรินทร์  พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ  เจ้าเมืองสังขะ  พระศรีนครเตา  เจ้าเมืองรัตนบุรี   จะเห็นว่า  ทั้งคำว่า  “ศรีณรงค์จางวาง”  “ศรีนครอัจจะ”  และ“ศรีนครเตา”  ก็มิได้เป็นชื่อเมืองแต่ประการใด    จึงเป็นการยืนยันว่า เมืองนครลำดวนไม่มี    การยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน เป็นเมืองนครลำดวน จึงเป็นคำกล่าวที่ขัดกับข้อเท็จจริง  การยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน เป็นเมือง เรียกว่า  “เมืองขุขันธ์” เป็นข้อเท็จจริงดังปรากฏในพงศาวดาร

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย