-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลักเมืองขุขันธ์

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลักเมืองขุขันธ์ 

หลักเมืองขุขันธ์หลักแรก

            ศาลหลักเมืองขุขันธ์ สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยเมืองขุขันธ์เป็นรัฐอิสระ (พ.ศ. 2112 - 2127) หลักเมืองขุขันธ์หลักแรก อยู่บริเวณวัดรัมพนีวาส (วัดบ้านลำภู)  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

หลักเมืองขุขันธ์หลักแรก อยู่บริเวณวัด รัมพนีวาส (วัดบ้านลำภู)
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

            เมืองขุขันธ์ ชื่อเดิมคือ เมืองโคกขัณฑ์ เป็นเมืองอิสระ และมีเจ้าเมืองปกครองมาตั้งแต่ยุคขอมโบราณ เป็นเส้นทางผ่านของการสร้างปราสาท หรือ เรียกว่า ราชมรรคา​​ที่เริ่มจากเมืองพระนครหรือเมืองนครธม ของกษัตริย์ขอมโบราณผ่านมายังดินแดนที่ราบสูงของดินแดนสยามมาแต่โบราณกาล    มีหลักฐานปรากฎข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1  ณ ปราสาทพระวิหาร เมื่อ มหาศักราช 959 / พ.ศ. 1580 / ค.ศ. 1037 เจ้าเมือง คือ กมรแตงชคต  ศรีขัณฑเรศวร​ หรือพระเจ้าชคต ศรีขัณฑเรศวร ครองเมืองสด๊กโคกขัณฑ์​ หมู่บ้านรำดวลตระพังสวาย ( ស្រុកស្តុកគោកខណ្ឌ  ភូមិរំដួលត្រពាំងស្វាយ ) ตรงกับวันข้างขึ้น 3 ค่ำ เดือนมาฆมาส (เดือน 3) ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 14 เดือนมกราคม  พุทธศักราช 1580  สำหรับฤกษ์วันข้างขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 นั้น เป็นฤกษ์ที่ชาวขอมโบราณใช้ประกอบพิธีสมโภชน์การก่อสร้างปราสาท และสิ่งก่อสร้างอื่นๆที่มีความสำคัญของบ้านเมืองในอดีต​  ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์อันเป็นมงคลนี้ ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  ชาวบ้านในอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  รวมทั้งอำเภอใกล้เคียง และดินแถบอีสานใต้นิยมใช้ฤกษ์อันดีงามนี้ ในการประกอบพิธีเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน​(សែនតាស្រុក) ทุกหมู่บ้าน  ​​​​​​​​บุญประเพณีทำบุญก่อเจดีย์ข้าวเปลือก และพิธีสู่ขวัญข้าว(បុណ្យប្រពៃណីពូនភ្នំស្រូវ ឬ ហៅព្រលឹងស្រូវ​)  เพื่อถวายวัด  ​  การหาบปุ๋ยคอกไปใส่ผืนนาเพื่อบำรุงดิน ตลอดจนการทำบุญบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับครอบครัวอีกด้วย
            ปี พ.ศ. 2013 - 2018 เมืองโคกขัณฑ์ อยู่ภายใต้การปกครองของ พระเจ้าศรีราชา รามาธิบดี (ព្រះបាទ ស្រីរាជា)
            พ.ศ. 2028 - 2047 เมืองโคกขัณฑ์ อยู่ภายใต้การปกครองของ พระเจ้าธรรมราชา (ព្រះបាទ ធម្មរាជា) แต่ในฐานะประเทศราชของ กรุงศรีอยุธยา
            พ.ศ. 2047 - 2099 เมืองโคกขัณฑ์ อยู่ใต้การปกครองของ ราชสำนักเขมรกรุงตวลบาสาน (រាជធានី ទួលបាសាន)
            พ.ศ. 2099 พระมหาจักรพรรดิ ยกทัพไปตีเมืองละแวก  เมืองโคกขัณฑ์ จึงอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา อีกครั้งหนึ่ง
            พ.ศ. 2106 - 2112 เมืองขุขันธ์ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มหัวเมืองปักษ์ใต้ ของกรุงศรีอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง
            พ.ศ. 2112 - 2127 สมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช กรุงศรีอยุธยา เสียแก่ พระเจ้าบุเรงนอง ราชวงศ์ตองอู แห่งกรุงหงสาวดี เป็นเวลา 15 ปี  ดังนั้น  เมืองขุขันธ์ จึงมีสถานะเป็นรัฐอิสระ เป็นระยะเวลา 15 ปี 
            การก่อสร้างศาลหลักเมืองขุขันธ์หลักแรก จึงเกิดขึ้นในช่วงเมืองขุขันธ์ เป็นรัฐอิสระ โดยใช้แก่นไม้กันเกรา (ខ្លឹមដើមតាត្រៅ) ซึ่งถือเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์  แก่นไม้กันเกรา มีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือปลวก  มอด  และแมลง  ไม่เจาะกิน  แก่นไม้อยู่ได้ทนทาน   นอกจากนี้ แก่นไม้   กันเกรา ยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะได้อีกด้วย

                พบหลักเมืองขุขันธ์หลักแรก ที่สร้างด้วยแก่นไม้กันเกรา อยู่บริเวณวัดรัมพนีวาส (วัดบ้านลำภู) อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้จัดให้มีการบูรณะ เป็นศาลหลักเมือง ดังที่ปรากฏอยู่  ณ วัดรัมพนีวาส (วัดบ้านลำภู)  ในปัจจุบันนี้

ศาลหลักเมืองขุขันธ์  
หลักที่ 2


           ศาลหลักเมืองขุขันธ์ หลักที่ 2 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดกลางอัมรินทราวาส ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ    ศาลหลักเมืองนิยมสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมือง เข้าใจว่าสร้างขึ้นตอนโปรดเกล้าฯ ให้ ตาสุ หรือตาสุวรรณ หรือ ตากะจะ เป็น หลวงแก้วสุวรรณ ยกปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ณ บ้านเจ๊ก ต.ห้วยเหนือ จ.ศรีสะเกษ   ปัจจุบัน ขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า "เมืองขุขันธ์" เมื่อ ปี พ.ศ. 2306   
            หลักเมืองขุขันธ์ ชาวเมืองขุขันธ์ เรียก "อารักข์กลางเมือง" អារក្ខក្លាងមឿង หรือ "ตากลางเมืองតាក្លាងមឿង ซึ่งหมายถึง เทพารักษ์กลางเมือง หรือ เทพารักษ์ผู้รักษาเมือง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า "หลักเมือง"
            ภายในศาลหลักเมือง มีเสาหลักเมือง ซึ่งโดยปกติเสาหลักเมือง ใช้แก่นไม้กันเกรา ខ្លឹមដើមតាត្រៅ ซึ่งถือเป็นไม้มงคล ใช้ในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ แก่นไม้กันเกรา ปลวก มอด และ แมลง ไม่เจาะกิน แก่นไม้อยู่ได้ทนนาน  แก่นไม้กันเกรา ยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ได้อีกด้วย  แต่เดิมเป็นศาลไม้หลังเล็กๆ ภายในศาลหลักเมืองเดิม มีเสาหลักเมือง สูงจากพื้นถึงยอด 140 ซม. มีก้อนหินเก่าแก่ 2 ก้อนตั้งอยู่สองข้าง และต่อมาชาวขุขันธ์ ได้ร่วมกันสร้างอาคารคร่อมศาลขึ้นมาใหม่ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
นายอนุรัตน์ ลีธีระประเสริฐ นายอำเภอขุขันธ์ พร้อมด้วยประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์
ร่วมกันประกอบพิธีเซ่นไหว้หลักเมืองเก่าของเมืองขุขันธ์ หลักที่ 2
ในงานบุญประเพณีแซนโฎนตาอำเภอขุขันธ์ ประจำปี พ.ศ. 2556



ศาลหลักเมืองขุขันธ์  หลักที่ 3     
          ชาวเมืองขุขันธ์ เห็นว่า หลักเมืองเก่า อยู่ในพื้นที่วัดกลาง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ไม่เป็นเอกเทศและไม่สง่างามสมกับเมืองขุขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองที่เคยมีเจ้าปกครองเมือง และยังคงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน ไม่เคยเป็นเมืองร้างอย่างที่เมืองอื่นเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้   ดังนั้น เมืองขุขันธ์ นามเดิม "เมืองโคกขัณฑ์" แล้วกร่อนมาเป็น "เมืองขุขันธ์" ในปัจจุบันนี้      เคยดำรงคงอยู่     ตั้งแต่พันกว่าปีมาแล้ว
          เพื่อให้ได้ศาลหลักเมืองใหม่ ที่สวยเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมือง สมกับเมืองขุขันธ์เป็นเมืองมาตั้งแต่โบราณกาลตลอดมาถึงวันนี้    จึงได้มีการวางศิลาฤกษ์เสาหลักเมืองใหม่    ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554 และทำพิธียกเสาเอก ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

          ต่อมาเมื่อวันที่  8 มกราคม  พ.ศ. 2562      ชาวขุขันธ์ได้ทำพิธีอัญเชิญเสาหลักเมือง  ขึ้นประดิษฐานบนแท่นหลักเมือง และทำพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองหลังใหม่ที่สง่างามและโดดเด่น ตั้งอยู่กลางเมืองขุขันธ์มาจนกระทั่ง บัดนี้

เรียบเรียง :
  
คณะกรรมการฝ่ายประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์
ลำดับเนื้อหา : ดร.วัชรินทร์  สอนพูด  ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
                         นายเทอดศักดิ์  เสริมศรี  ประธานคณะกรรมการวัดบ้านลำภู / ผู้ทรงคุณวุฒิ
                         นายนิติภูมิ  ขุขันธิน  
กรรมการ /ฝ่ายประวัติศาสตร์  สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
คำแปลภาษาอังกฤษ  :  ผศ.ดร.ปริง  เพชรล้วน 
                                         กรรมการ /ฝ่ายประวัติศาสตร์  สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ 
อักษรภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์  :  นายสุเพียร  คำวงศ์   เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
ขอบคุณ :  
ภาพภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ณ ภายในอุโบสถพระแก้วเนรมิต
                   วัดบ้านลำภู  ตำบลใจดี  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย