-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือ ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก (ตากะจะ - พุทธศักราช ๒๓๐๒ - ๒๓๒๑)

พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือ ตาสุ หรือ ตากะจะ
หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกในยุคบั้นปลายกรุงศรีอยุธยา
(ตากะจะ - พุทธศักราช ๒๓๐๒ - ๒๓๒๑)


“พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” เดิมชื่อ ตาสุ หรือ ตาไกร แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ตากัญจะฮฺ(ตากะจะ) เนื่องจากท่านเป็นนักรบรูปร่างสูงใหญ่  เป็นหัวหน้าชาวเขมรป่าดงแห่งหมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (ชุมชนดั้งเดิมเมืองขุขันธ์) มีน้องชาย ชื่อ “เชียงขันธ์” ทั้งสองพี่น้องมีความเก่งกล้าทางเวทมนต์คาถาอาคมทางไสยศาสตร์  อยู่ยงคงกระพันลือเลื่อง เป็นที่รู้จักในกลุ่มหัวหน้าชาวเขมรป่าดงด้วยกัน โดยเฉพาะมีความเชี่ยวชาญและชำนาญ   ในวิชาคชศาสตร์ ใช้ในการจับช้างป่ามาฝึกใช้งานและสามารถ สื่อภาษากับช้างที่ได้ฝึกปรือมาแล้วเป็นอย่างดี ได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ดังปรากฏเป็นตำนานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ได้ศึกษามาถึงทุกวันนี้ กล่าวคือ 
ในปี พ.ศ. 2302 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน พระยาช้างเผือกได้แตกโรงหนีออกจากโรงช้างเตลิดเข้าป่าโดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ป่าเขตเทือกเขาพนมดงรัก “ตากะจะ” และ“เชียงขันธ์” พร้อมสหายซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงหมู่บ้านอื่นในละแวกใกล้เคียงกัน ซึ่งก็พอทราบข่าวการหนีมาของพระยาช้างเผือกอยู่ก่อนแล้ว เมื่อคณะผู้ติดตามร้องขอให้ช่วยเหลือจึงตอบรับอาสาออกติดตามพระยาช้างเผือก  จนสามารถจับได้และส่งมอบให้คณะผู้ติดตามพร้อมร่วมคณะนำพระยาช้างเผือกส่งกลับถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย  จึงมีความชอบได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงแก้วสุวรรณ” ตำแหน่งนายกองหมู่บ้านฐานะราชการ  ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา

  ปี พ.ศ. 2306 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกฐานะหมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า  “เมืองขุขันธ์” โดยโปรดเกล้าฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ “หลวงแก้วสุวรรณ” เป็น “พระไกร” ในราชทินนาม “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” เปลี่ยนตำแหน่งนายกองเป็นตำแหน่ง “เจ้าเมืองขุขันธ์” ถือเป็นเจ้าเมือง ขุขันธ์ท่านแรก 

ปี พ.ศ. 2319 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าตากสิน  แห่งกรุงธนบุรี ได้ทำสงครามกับลาว ด้วยเหตุที่เมืองจำปาสักลาวใต้ ได้ร่วมมือกับพระยานางรอง ยกพลเข้ามาทำการกวาดต้อนผู้คนในครัวเรือนที่เคยขึ้นต่อจำปาสัก แต่ต่อมาได้มาขึ้นต่อการปกครองของสยามประเทศในขณะนั้น สร้างความ ไม่พอพระทัยให้พระองค์เป็นอย่างยิ่ง จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจักรี (พระยศในขณะนั้น) ยกทัพไปปราบ    จนสามารถจับพระยานางรองประหารชีวิตแล้ว จึงได้ร่วมกับพระยาสุรสีห์ฯ ยกทัพไปตีเมืองลาวใต้    ที่เมืองจำปาสัก เมืองอัตปือแสนปาง และเมืองสีทันดร เมื่อเสร็จศึกแล้วได้กวาดต้อนชาวลาวและเกลี้ยกล่อมชนพื้นเมืองให้มาขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์และ  เมืองสังขะ เป็นจำนวนมาก  

  ปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ทรงไม่พอพระทัยในการกระทำของเจ้าสิริบุญสาร เจ้าผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ที่ได้ให้พระสุโพธิ์ยกกองทัพไปจับพระวอ นำไปประหารชีวิต ถือเป็นการกระด้างกระเดื่อง ไม่ยำเกรงต่อพระราชอำนาจกรุงธนบุรี พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาจักรียกทัพไปปราบ โดยมีบัญชาให้ทัพจากเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์  และเมืองสังขะ  ยกทัพร่วมทำศึกในครั้งนี้ด้วย  ทัพจากเมืองขุขันธ์ โดยการนำทัพของ “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” (ตากะจะ หรือ หลวงแก้วสุวรรณ) และ “หลวงปราบ”  ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ (เชียงขันธ์) ในการทำศึกครั้งนี้ใช้เวลา 4 เดือน จึงสามารถชนะศึกและปราบปรามได้  แต่เจ้าสิริบุญสารหนีไปอยู่เมืองญวนได้ ส่วนเจ้านันทเสนผู้เป็นแม่ทัพถูกจับได้ และยังได้กวาดต้อนชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์  และเมืองอื่น ๆ  กลับกรุงธนบุรีด้วย

             การทำศึกสงครามครั้งนี้ ทัพจากเมืองขุขันธ์ได้รับการกล่าวขานและได้รับการยกย่องจากทัพส่วนกลางว่า ได้แสดงถึงความสามารถเก่งกาจกล้าหาญในการสงครามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “หลวงปราบ” (เชียงขันธ์) ได้รับสมญานามว่า  เป็นทหารเอกแห่งทัพจากเมืองขุขันธ์  เมื่อเสร็จศึกแล้ว  ครั้นยกทัพกลับหลวงปราบ ได้นำผู้คนชาวลาวเวียงจันทน์กลับมาเมืองขุขันธ์ จำนวนหลายครอบครัว (เชลย) ทั้งนี้โดยมีครอบครัวของนางคำเวียง ซึ่งเป็นหญิงหม้ายตระกูลขุนนางของเวียงจันทน์  ที่หลวงปราบนำมาและยกย่องให้เป็นภรรยาอีกด้วย  โดยมีลูกชายชื่อ “ท้าวบุญจันทร์” ติดแม่มาด้วย  ซึ่งหลวงปราบได้นำครอบครัว นางคำเวียง พร้อมครอบครัวบริวาร มาพำนักพักอาศัยอยู่ ณ  ที่บ้านบก เมืองขุขันธ์ (ปจุบันคือ บริเวณบ้านบก หมู่ที่ 13 ตำบลห้วยเหนือ  อำเภอขุขันธ์  จังหวัด ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เขียนนั่นเอง )
จากการที่กองทัพจากเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ได้ร่วมกับกองทัพหลวงส่วนกลางทำศึกครั้งนี้อย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ จึงมีความชอบได้ทรงโปรดเกล้าฯ   ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองทั้งสามขึ้นเป็นลำดับชั้น “พระยา” ทำให้ “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” (หลวงแก้วสุวรรณ หรือตากะจะ) มีบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ (หาใช่เจ้าเมืองศรีนครลำดวน ดังที่มีบางท่านกล่าวถึงไม่ เพราะคำว่า "ศรีนครลำดวน"เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งในบรรดาศักดิ์ของท่าน เท่านั้นเอง) 

อนึ่ง การทำศึกสงครามในครั้งนี้มีความหมายต่อประวัติศาสตร์ของเมืองขุขันธ์และสยามประเทศเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ หลังจากที่ชนะศึกและยกทัพกลับ นอกจากกองทัพไทย  จะกวาดต้อนผู้คนจากลาวเวียงจันทน์และจากเมืองอื่น ๆ กลับมาเมืองไทย  เป็นจำนวนมากแล้ว ยังได้นำเอาทรัพย์สินมีค่าอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะได้อัญเชิญองค์พระแก้วมรกต หรือองค์พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร  และองค์พระบางกลับมากรุงธนบุรี  ทูลถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วย (ต่อมาในปีพ.ศ.2408 สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้คืนองค์พระบางอัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ เมืองหลวงพระบางตามเดิมจนถึงปัจจุบัน) 
พระบาง แห่งเมืองหลวงพระบาง

ส่วนทัพจากเมืองขุขันธ์ ก็ได้อัญเชิญองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์เล็ก2 องค์ คือ  “องค์พระแก้วเนรมิต” และ “องค์พระครุฑ” โดยขอพระราชทานอนุญาตอัญเชิญให้ประดิษฐาน ณ เมืองขุขันธ์ เป็นองค์พระคู่บารมีเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านต่อๆ มา (ปัจจุบันองค์พระแก้วเนรมิตและองค์พระครุฑ ยังคงประดิษฐานอยู่ ณ วัดลำภู (รัมพนิวาส) หมู่ 4 ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขุขันธ์   ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 
ส่วนพระยาจักรี เมื่อชนะศึกสงครามปราบกบฎในครั้งนี้แล้วมีความชอบทรงโปรดเกล้าฯ  ปูนบำเหน็จความชอบโดยให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ “พระยาจักรี” ให้มีพระยศในบรรดาศักดิ์ราชทินนามเป็น “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”  

ในปี พ.ศ. 2321 นี้เอง หลังจาก “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่  1  ได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” แล้วได้ถึงแก่อนิจกรรม  พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ “หลวงปราบ หรือ เชียงขันธ์” ผู้น้องซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเมืองขุขันธ์  มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ สืบต่อไป 
พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ) อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์  10 ปี  นับเป็นบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองขุขันธ์เป็นคนแรกในยุคบั้นปลายกรุงศรีอยุธยา
เพื่อรำลึก และหลอมรวมใจลูกหลานชาวขุขันธ์ ปัจจุบันชาวขุขันธ์ ได้สร้างอนุสาวรีย์ให้ท่านแล้วที่อำเภอขุขันธ์ คือ “อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน”  โดย ชาวอำเภอขุขันธ์ ได้จัดงานรำลึกถึงท่านอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีไปพร้อมๆกับงานเทศกาลแซนโฎนตาประจำปีของอำเภอขุขันธ์จังหวัดศรีสะเกษ


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย