ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

หัวเมืองขอมโบราณ หรือ หัวเมืองขอมอีสานใต้ ที่ทางการยุคนั้นเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็น “หัวเมืองเขมรป่าดง” ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2325-2427

ในปี พ.ศ.2325 หัวเมืองเขมรส่วนขึ้นต่อกรุงเทพฯ 10 เมือง

        ในจารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ตามพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระเชตุพน และในเอกสารตัวเขียนที่ใช้ในการติดต่อข้อราชการระหว่างไทยและกัมพูชาในช่วง พ.ศ. 2325-2427 (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงต้นรัชกาลที่ 5) มีชื่อหัวเมืองเขมรส่วนขึ้นต่อกรุงเทพฯ 10 เมืองได้แก่
        1. เมืองปัตบองหรือพระตะบอง หัวเมืองเขมรขึ้นกรมมหาดไทย
        2. เมืองนครเสียมราบหรือเสียมราฐ หัวเมืองเขมรขึ้นเมืองปัตบอง
        3. เมืองโตนด หัวเมืองเขมรขึ้นเมืองปัตบอง
        4. เมืองพนมศก หัวเมืองเขมรขึ้นเมืองปัตบอง
        5. เมืองระสือ หัวเมืองเขมรขึ้นเมืองปัตบอง
        6. เมืองสวายจิก หัวเมืองเขมรขึ้นเมืองปัตบอง
        7. เมืองศรีโสภณ หัวเมืองเขมรขึ้นเมืองปัตบอง
        8. เมืองมงคลบุรี หัวเมืองเขมรขึ้นเมืองปัตบอง
        9. เมืองพุทไธสมัน หัวเมืองเขมรขึ้นกรมมหาดไทย
      10. เมืองจงกน หัวเมืองเขมรขึ้นกรมมหาดไทย
        เป็นที่สังเกตว่าชื่อ หัวเมืองเขมรส่วนขึ้นต่อกรุงเทพฯ 10 เมือง เหล่านี้ จะระบุคำว่า เขมน หรือ เขมร ต่อท้ายไว้ด้วย ในขณะที่หัวเมืองขอมโบราณ หรือหัวเมืองขอมอีสานใต้ จำนวน 6 เมืองที่ทางการยุคนั้นเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็น หัวเมืองเขมรป่าดง และได้เหมารวมจัดเป็นเขมรด้วยนั้น ไม่ปรากฏคำว่า เขมร ต่อท้ายชื่อเมืองในจารึกดังกล่าว  ได้แก่ 
        1. เมืองขุขันธ์ หัวเมืองเขมรป่าดงขึ้นกรมมหาดไทย
        2. เมืองมโนไพร หัวเมืองเขมรป่าดงขึ้นเมืองขุขันธ์
        3. เมืองสังขะ หัวเมืองเขมรป่าดงขึ้นกรมมหาดไทย
        4. เมืองสุรินทร์ หัวเมืองเขมรป่าดงขึ้นกรมมหาดไทย
        5. เมืองศีร์ษะเกษ หัวเมืองเขมรป่าดงขึ้นกรมมหาดไทย
        6. เมืองเดชอุดม หัวเมืองเขมรป่าดงขึ้นกรมมหาดไทย



       พ.ศ. 2394 ในสมุดค่าธรรมเนียมและตำแหน่งเจ้าเมือง กรมการหัวเมืองไทยลาวเขมร จดหมายเหตุ ร.4 จ.ศ. 1213 (พ.ศ. 2394) เลขที่ 159 ระบุถึงหัวเมืองขอมโบราณ หรือหัวเมืองขอมอีสานใต้ ที่ทางการยุคนั้นเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็น หัวเมืองเขมรป่าดง และได้ถูกเหมารวมจัดเป็นเขมรด้วยนั้น ได้กล่าวระบุชื่อหัวเมืองเขมรป่าดงและตำแหน่งเจ้าเมืองไว้ดังนี้

        “...โคมใหญ่เป็นเมืองเดชอุดม พระศรีสุรเจ้าเมือง หลวงปลัด หลวงยกกระบัตร ขึ้นกรุงเทพฯ
        พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน
        พระยาสังขบุรีศรีนครอัฎจะ
        พระยาสุรินทรภักดีศรีปะไทยสมรร
        พระยาวิเศษภักดีเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ
        ...พระมโนจำนง เจ้าเมืองมโนไพร ขึ้นเมืองขุขันธ์

        ใ่นปี พ.ศ. 2402  ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.4) และช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.5) ถึง พ.ศ. 2427 หัวเมืองขอมโบราณ หรือ หัวเมืองขอมอีสานใต้ ที่ทางการยุคนั้นเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็น “หัวเมืองเขมรป่าดง” มี 6 เมืองได้แก่ เมืองเดชอุดม เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ เมืองศีร์ษะเกษ เมืองสุรินทร์ และเมืองมโนไพร   ดังเช่นในบัญชีสักเลก หัวเมือง จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 จ.ศ. 1221 (พ.ศ. 2402) เลขที่ 202 ระบุว่า

        "เจ้าพระยานครราชสีมาส่งหางว่าวเลก เมืองลาวฝ่ายตะวันออกและหัวเมืองเขมรป่าดงเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยกล่าวถึงจำนวนเลกหัวเมืองเขมรป่าดงปะปนกับจำนวนเลกหัวเมืองลาวไว้ทั้งสิ้น 6 หัวเมือง ได้แก่ เมืองเดชอุดม เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ เมืองศีร์ษะเกษ เมืองสุรินทร์ และเมืองมโนไพร..." 

        สำหรับการแต่งตั้งผู้ปกครองหัวเมืองส่วนขึ้นต่อกรุงเทพฯ จะกระทำเช่นเดียวกับ หัวเมืองต่าง ๆ ในสังกัดกรมมหาดไทย แต่ละหัวเมืองมักประกอบไปด้วยตำแหน่ง ดังนี้
        1. เจ้าเมืองหรือผู้สำเร็จราชการเมืองและคณะผู้ปกครองตำแหน่งอื่น ๆ ที่เรียกว่า “กรมการเมือง” เป็นผู้ดูแล ซึ่งบรรดาคณะผู้ปกครองเหล่านี้จะ ดำรงตำแหน่งไปจนได้รับพระราชทานเลื่อนตำแหน่ง ปลดจากตำแหน่ง หรือถึงแก่ชีวิต
        2. ปลัด เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่รองจากเจ้าเมืองหรือผู้สำเร็จราชการเมือง
        3. ยกกระบัตร เป็นตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดีหรือพระอัยการที่ประจำอยู่ตามหัวเมือง
        4. ผู้ช่วยราชการ เป็นตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าเมืองหรือผู้สำเร็จราชการซึ่งอาจมีหลายตำแหน่งต่อหนึ่งหัวเมืองขึ้นอยู่กับขนาดและความสำคัญของหัวเมืองนั้น ๆ 
        5. นอกจากนี้ยังมีกรมการเมืองที่ดูแลหัวเมืองตามหน้าที่ที่ได้รับมอบจากส่วนกลางอื่น ๆ เช่น “มหาดไทย” ดูแลพลเรือน “คลัง” มีอำนาจ หน้าที่เกี่ยวกับการเงินและภาษี “โกษา” ดูแลเกี่ยวกับการทูตและการต่างประเทศ “สัสดี” มีอำนาจ หน้าที่รวบรวมบัญชีเลก “แพ่ง” ดูแลเกี่ยวกับการฟ้องร้อง “เมือง” ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในเมือง “นา” ดูแลเกี่ยวกับค่านาการเกษตรน้ำฝนต้นข้าวในหัวเมือง “จางวางส่วยหรือนายกองส่วย” มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับกองส่วยให้ดำเนินการหาสิ่งของหรือจัดซื้อสิ่งของเป็นส่วยเข้าไปยัง กรุงเทพฯ ตามจำนวนปีหรือกำหนดเวลา เป็นต้น


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย