การสร้างเมืองแต่โบราณ เมื่อสร้างเมืองเสร็จ ก็จะสร้างค่าย คู ประตู หอรบ และที่สำคัญก็คือ กำแพงเมือง เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะมารุกราน สมัยนั้น เมืองขุขันธ์ คือ เส้นทางหนึ่งที่จะต้องเดินทางผ่านก่อนจะถึง นครราชสีมา คือ ต้องผ่านขุขันธ์ สังขะ สุรินทร์ ตามลำดับ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อ ปี พ.ศ. 2369 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็กพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์เป็นกบฏจะยกทัพไปตีกรุงเทพมหานคร ได้บัญชาให้เจ้าราชบุตร แห่งนครจำปาศักดิ์ ได้นำทัพเข้าตีเมืองขุขันธ์แตก เพื่อจะเดินทัพต่อไปยังเมือง สังขะ สุรินทร์ และนครราชสีมาตามลำดับ ขณะนั้นเมืองขุขันธ์ตรงกับสมัยของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวบุญจันทน์) เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ 3
สำหรับกำแพงเมืองขุขันธ์ในอดีตนั้น นับตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ไม่เคยเห็นซากกำแพงเมืองที่ก่อด้วยอิฐตามที่เข้าใจเลย จะมีก็แต่คูเมืองซึ่งล้อมรอบเขตเทศบาลห้วยเหนือทั้งสี่ด้าน ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่า ถนนคูเมือง ซึ่งแต่ละด้านกว้างยาวด้านละเท่า ๆ กัน
ประมาณปี พ.ศ. 2503 นายดี สุขแจ้ง อดีตกำนันตำบลห้วยเหนือ สมัยนั้นท่านมีอำนาจมาก ได้เกณฑ์ชาวบ้านทุกหมู่บ้านในเขตตำบลห้วยเหนือ พัฒนาขุดแต่งถนนคูเมืองตามสภาพเดิม เมื่อขุดลึกลงไปพอประมาณ ทางฝั่งทิศใต้ของเขตเทศบาล ทางเข้าหมู่บ้านภูมิใต้ก็จะพบซากอิฐเรียงรายเป็นบางส่วนไปถึงหน้าวัดเขียน ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่าเป็นทางเดินของพระยาขุขันธ์ไปนมัสการหลวงพ่อโตวัดเขียนบูรพาราม จะเท็จจริงอย่างไรเป็นการเล่าต่อ ๆ กันมาเท่านั้น
ปัจจุบันถนนคูเมืองรอบเมืองขุขันธ์ไม่ได้เหลือร่องรอยของคูเมืองให้ได้เห็นอีก เนื่องจากความเจริญของบ้านเมืองถนนคูเมืองได้กลายเป็นถนนลาดยางไปแล้วในที่สุด
ขอบพระคุณผู้เขียน : นายนพคุณ ภักดีทวนทอง,2547.
ผู้ตรวจ/ทาน : นายสุเพียร คำวงศ์,2556.