ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

“จังหวัดขุขันธ์” ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “จังหวัดศรีสะเกษ” เมื่อ พ.ศ. 2481

ปี พ.ศ. 2481 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ชาวขุขันธ์จะต้องจดจำและจารึกเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกวาระหนึ่งคือ ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช  2481  ให้เปลี่ยนนาม  “อำเภอห้วยเหนือ” เป็นนาม “อำเภอขุขันธ์”  “อำเภอน้ำอ้อม”  เป็นนาม “อำเภอกันทรลักษ์” อำเภอคง  เป็นนาม  “อำเภอราษีไศล”  และเปลี่ยนนาม”อำเภอศรีสะเกษ”  เป็นนาม  “อำเภอเมืองศรีสะเกษ”  และเปลี่ยนนาม  “จังหวัดขุขันธ์” เป็นนาม  “จังหวัดศรีสะเกษ” 
จากการเปลี่ยนนาม “จังหวัดขุขันธ์” เป็นนาม “จังหวัดศรีสะเกษ” ในครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการในนามจังหวัดศรีสะเกษเป็นท่านแรกคือ พระศรีราชสงคราม(ศรี  สุขวาที ) ปี พ.ศ. 2481 – 2482 

         ปี พ.ศ. 2483 ( ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2483 – 3 มกราคม 2484) เกิดกรณีพิพาท ระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสโดยฝรั่งเศส ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนม  อำเภออรัญประเทศ  และส่งกองทหารเข้าโจมตีอำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม ช่องโจมบก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์  กองทัพบูรพาของไทย จึงรุกรบเข้าไปในเขตอินโดจีนของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2484 ยึดด่านปอยเปต บุกไปเกือบถึงเมืองเสียมราฐ และศรีโสภณ ยึดนครจำปาสักได้ กองกำลังทหารตำรวจของจังหวัดเลย ยึดเมืองปากกายฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงกันข้ามเมืองหลวงพระบางได้ มีการทำสัญญาหยุดยิง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2484 โดยมีผู้แทนญี่ปุ่นเป็นฝ่ายไกล่เกลี่ยสงบศึก ฝ่ายไทยได้มีจังหวัดเพิ่มขึ้นหลายจังหวัดจากฝรั่งเศสคือ จังหวัดนครจำปาสัก จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดลานช้าง ซึ่งบางจังหวัดมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ จึงมีข้าราชการชาวศรีสะเกษ ที่รู้ภาษาเขมรไปอยู่ประจำทำงาน หลายคนไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ เมื่อมีการแบ่งเป็นเขตแดน ก็ไม่ได้กลับเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้ และมีทายาทอยู่ในตำแหน่งผู้ปกครองของกัมพูชาในระดับสูงก็ยังมีปรากฎอยู่

         ต่อมาในวันที่ 7 - 8 ธันวาคม 2484 เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังของไทยกับกองกำลังทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน และมีคำสั่งให้หยุดยิง เมื่อ เวลา 07.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นผลให้ไทยทำสัญญากับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นเหตุให้คนไทยส่วนหนึ่ง นำโดย ดร. ปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อกู้ชาติ โดยระดมชายฉกรรจ์ พร้อมทั้งข้าราชการบางส่วนทั่วประเทศ รวมทั้งจากจังหวัดศรีสะเกษไปฝึกอาวุธ มีการเตรียมการจัดทำสนามบิน เพื่อให้เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาลง เช่น ที่บริเวณศูนย์การศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ (ทุ่งสนามบิน) และที่บ้านสนามสามัคคี ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์


  ปี  พ.ศ. 2492  ย้ายที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย  ไปตั้งที่บ้านตำแย  ใกล้กับทางรถไฟ

ปี พ.ศ.2494 รัฐบาลไทยได้ส่งกองทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ฝ่ายที่ต่อต้านสงคราม ได้ก่อตั้งขบวนการสันติภาพสากลขึ้น เมื่อเดือนเมษายน 2494 เกิดกบฎสันติภาพในปลายปี 2495 และกบฎคอมมิวนิสต์  พ.ศ.  2502 – 2508 

ปี พ.ศ. 2498 แยกตำบลพราน ตำบลไพร และบางหมู่บ้านจากตำบลละทาย  อำเภอกันทรลักษ์  รวมกับ  5  ตำบลในอำเภอขุขันธ์  คือ  ตำบลขุนหาญ  ตำบลสิ  ตำบลบักดอง ตำบลกระหวัน  และตำบลกันทรอม  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอขุนหาญขึ้นกับอำเภอขุขันธ์  

ปี  พ.ศ. 2501  ตั้งกิ่งอำเภอขุนหาญ  เป็นอำเภอขุนหาญ  

           
ปี  พ.ศ. 2504  รวมตำบลกู่  ตำบลพิมาย  ตำบลหนองเชียงทูล  และตำบลสมอ ของอำเภอขุขันธ์  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอปรางค์กู่  

ปี  พ.ศ. 2505  ศาลโลกตัดสินให้ประเทศไทยยกปราสาทเขาพระวิหาร  ตำบลบึงมะลู  อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้ตกเป็นของประเทศกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของประเทศไทย การเสียเขาพระวิหารนับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ของโลก  เนื่องจากเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลโลก
  
ปี พ.ศ. 2506 ? มีการสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับราชอาณาจักรกัมพูชา  ยืนยันว่ากัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรสยาม 

ปี  พ.ศ.  2510 ?  มีการทำสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส  โดยพระเจ้ากรุงสยามทรงยอมรับว่ากัมพูชาเป็นเมืองอารักขาของฝรั่งเศส

ปี  พ.ศ.  2436  ราชอาณาจักสยามทำสนธิสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะแก่งต่าง ๆ  ให้กับฝรั่งเศส

ปี  พ.ศ. 2441 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์  เสด็จเขาพระวิหาร  ประทานนามว่า  “เทพพระวิหาร”  จารึกพระนาม “สรรพสิทธิ์”  ไว้ที่ประสาทด้านหลัง
  
วันที่ 13  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2447  ฝรั่งเศสทำสนธิสัญญากับราชอาณาจักรสยาม โดยราชอาณาจักรสยามยอมยกเมืองหลวงพระบางบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และเมืองมโนไพร  ดินแดนทางใต้ของภูเขาดงรักให้แก่ฝรั่งเศส  เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี ( จันทบูร ) ที่ฝรั่งเศสยึดไว้
  
วันที่  24  มิถุนายน  พ.ศ. 2447  มีการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติม  โดยราชอาณาจักรสยามเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส  ระหว่างทะเลสาบและทะเลหลวง

วันที่ 23  มีนาคม  พ.ศ. 2450  มีการทำสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส  โดยราชอาณาจักรสยามยินยอมยกดินแดน พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้ฝรั่งเศส  เพื่อแลกเมืองด่านซ้าย  เมืองตราด  และเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดให้แก่สยาม

วันที่  30  มกราคม  พ.ศ. 2472  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชนุภาพ  นายกราชบัณฑิตสภา  ได้เสด็จปราสาทเขาพระวิหาร  มีเรสิดัง  กำปงธม  แต่งเครื่องแบบเต็มยศ  และนักโบราณคดีฝรั่งเศสมาคอยที่ริมบันไดขึ้นพระวิหาร  มีการชักธงฝรั่งเศสในกลางเขาพระวิหารด้วย  ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชนุภาพอย่างยิ่ง  (แต่ไทยก็มิได้แสดงความไม่พอใจเป็นทางการแต่ประการใด)


            วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2483 กรมศิลปากรของราชอาณาจักรไทยได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 หน้า 2527 - 8 และจัดให้หลวงศรี ซึ่งแต่งกายนุ่งขาวห่มขาวโกนผมจำศีลภาวนาที่ถ้ำขุนศรี เป็นผู้เฝ้ารักษาเขาพระวิหาร

ปี พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่นซึ่งทำสงครามอินโดจีนชนะฝรั่งเศส  ได้ยกดินแดนบางส่วนรวมทั้งเขาพระวิหารคืนแก่ไทย เป็นผลทำให้เกิดจังหวัดจำปาสัก จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม  ดินแดนเขาพระวิหารจึงไม่ต้องสงสัยว่าอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา และสมเด็จนโรดมสีหนุ เริ่มมีบทบาทในการเมืองในกัมพูชา  หลังสงครามโลกครั้งที่  2  

พ.ศ. 2492 ฝรั่งเศสและกัมพูชา คัดค้านอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือปราสาท     เขาพระวิหารอย่างเปิดเผยและประท้วงไทยไม่ให้ส่งคนไปรักษาเขาพระวิหาร หลังจากที่ไทยไม่ยอมรับข้อแนะนำของคณะกรรมการประนีประนอม ณ กรุงวอชิงตัน  สหรัฐอเมริกา เมื่อ  พ.ศ. 2490  ทำให้สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศเสื่อมทรามตลอดมา  

ปี  พ.ศ. 2501  กระทรวงโฆษณาการของกัมพูชา  พิมพ์เผยแพร่บทความสรุปว่า  ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของกัมพูชาตามอนุสัญญา  ฉบับวันที่ 13  กุมภาพันธ์  2447 อันได้รับการยืนยันจากสนธิสัญญา  วันที่ 23 มีนาคม  พ.ศ. 2450  สนธิสัญญานี้กลับบังคับใช้อีกตามข้อตกลง  ที่วอชิงตัน  เมื่อ  พ.ศ.  2489

          วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางชายแดนไทยด้านกัมพูชา รวม 6 จังหวัด อันได้แก่ จันทบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี สื่อมวลชนทั้ง 2 ประเทศมีการโจมตีกันยิ่งขึ้น

          วันที่ 1 ธันวาคม  พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับราชอาณาจักรไทย  หลังจากที่เจรจาด้วยสันติวิธีไม่ได้ผล
  
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลกัมพูชา  ได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ขอให้ศาลวินิจฉัยให้ราชอาณาจักรไทยถอนกำลังถืออาวุธออกจากบริเวณเขาพระวิหาร และขอให้ ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา
  
วันที่  4  ธันวาคม  พ.ศ.  2502  ราชอาณาจักรไทย  ประกาศขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานแห่งชาติอีกครั้งตามประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 4  ธันวาคม พ.ศ. 2502  กับทั้งมีแผนที่แสดงปราสาทเขาพระวิหารแนบท้ายด้วย   รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์อ้างข้อกำหนดในสนธิสัญญา  พ.ศ. 2447  ต้องใช้  สันปันน้ำอันเป็นเขตแดนธรรมชาติ  ซึ่งจะทำให้เขาพระวิหารเป็นของไทย  แต่กัมพูชา  อ้างแผนที่ที่มีการจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการผสมตามสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ซึ่งมีพลเอกหม่อมชาติ เดชอุดม  เป็นกรรมการฝ่ายไทย  และพันโทแบร์นารด  เป็นประธานกรรมการฝ่ายฝรั่งเศส  แล้วส่งให้ฝ่ายไทย 50 ฉบับ  พระเจ้าน้องยาเธอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยยอมรับเมื่อ พ.ศ. 2451  และได้ขอแผนที่ฉบับนี้เพิ่มเติมอีก  15  ฉบับ  เพื่อแจกเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทย  แสดงว่าฝ่ายไทยยอมรับแผนที่นี้  (อยู่ในสถานการณ์ภาระจำยอม)

          วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ( พลเอกประพาส จารุเสถียร) ได้กล่าวคำปราศรัยที่จำต้องสละอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร และทำการรื้อถอนทุกสิ่งออกนอกเขต รวมทั้งเคลื่อนย้ายเสาธงพร้อมธงชาติออกจากหน้าผาเป้ยตาดี ลงมาโดยไม่มีการ ลดธงจากยอดเสาแต่อย่างใด พื้นที่บริเวณเขาพระวิหารที่ได้เสียไปเป็นรูปห้าเหลี่ยมคางหมูพื้นที่ไม่เกิน 150 ไร่ และตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ชาวไทยได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวชมเขาพระวิหารได้ ทั้งนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่กัมพูชาตามอัตราและตามเวลาที่กำหนด

ปี  พ.ศ. 2506  ตั้งกิ่งอำเภอปรางค์กู่เป็น  อำเภอปรางค์กู่ 

ปี  พ.ศ. 2511 รวม 4 ตำบลของอำเภอขุขันธ์  คือ ตำบลไพรบึง  ตำบลปราสาทเยอ  ตำบลดินแดง  และตำบลสำโรงพลัน ตั้งเป็นกิ่งอำเภอไพรบึง

ปี  พ.ศ.  2514  รวม  3  ตำบลของอำเภอศรีสะเกษ  คือ  ตำบลยางชุมน้อย  ตำบลคอนกาม  และตำบลลิ้นฟ้า  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอยางชุมน้อย  

ปี  พ.ศ.  2518  ยกกิ่งอำเภอไพรบึง  เป็นอำเภอไพรบึง 

ปี พ.ศ. 2520  รวมตำบลเปาะ  ตำบลเสียว  ตำบลโดด  และตำบลหนองม้า  ของอำเภอ อุทุมพรพิสัยขึ้นเป็นกิ่งอำเภอบึงบูรพ์ รวมตำบลห้วยทับทัน  ตำบลเมืองหลวง  ตำบลกล้วยกว้าง และตำบลผักไหม ของอำเภออุทุมพรพิสัยตั้งเป็นกิ่งอำเภอห้วยทับทัน  และรวมตำบลโนนค้อ  ตำบลหนองกุง  ตำบลบก  และตำบลโพธิ์  ของอำเภอกันทรารมย์  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอโนนคูณ 

ปี พ.ศ. 2522  ยกกิ่งอำเภอยางชุมน้อย และแยกตำบลโดด ตำบลเสียว  และตำบลหนองม้า  ออกจากกิ่งอำเภอบึงบูรพ์กลับไปขึ้นกับอำเภออุทุมพรพิสัยตามเดิม
  
ปี  พ.ศ.  2523  กิ่งอำเภอบึงบูรพ์แยกตำบลเป๊าะออกเป็นตำบลบึงบูรพ์และมีการรวมตำบลศรีแก้ว  ตำบลพิงพวย  ตำบลตูม  และตำบลสระเยาว์ของอำเภอกันทรลักษ์  ตั้งเป็น  กิ่งอำเภอศรีรัตนะ

ปี  พ.ศ. 2529 ยกกิ่งอำเภอห้วยทับทันขึ้นเป็นอำเภอห้วยทับทัน และรวมตำบลน้ำเกลี้ยง  ตำบลเขิน  ตำบลตองปิด  และตำบลละเอาะ  ของอำเภอกันทรารมย์ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง 

ปี  พ.ศ. 2530  ยกกิ่งอำเภอโนนคูณขึ้นเป็นอำเภอโนนคูณ และรวมตำบลดวนใหญ่  ตำบลบุสูง  ตำบลบ่อแก้ว  และตำบลศรีสำราญของอำเภอเมืองศรีสะเกษ  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังหิน 

ปี  พ.ศ.  2532  กิ่งอำเภอศรีรัตนะ  ขึ้นเป็นอำเภอศรีรัตนะ  

ปี  พ.ศ. 2534 รวมตำบลห้วยติ๊กชู ตำบลละลม ตำบลโคกตาล  ตำบลห้วยตามอญ  ตำบลดงรัก  และตำบลตะเคียนราม  ของอำเภอขุขันธ์  เป็นกิ่งอำเภอภูสิงห์

ปี  พ.ศ.  2535  รวมตำบลตาโกน  ตำบลเมืองจันทร์  และตำบลหนองใหญ่  ของอำเภออุทุมพรพิสัย  ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเมืองจันทร์  

ปี  พ.ศ. 2536  รวมตำบลเสียว  ตำบลหนองงูเหลือม  ตำบลหนองยาง  ตำบลหนองหว้า  และตำบลท่าคล้อ ของอำเภอกันทรลักษ์  ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเบญจลักษ์

ปี  พ.ศ.  2537  ยกกิ่งอำเภอบึงบูรพ์ขึ้นเป็นอำเภอบึงบูรพ์  กิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยงเป็นอำเภอน้ำเกลี้ยง  และกิ่งอำเภอวังหิน  เป็นอำเภอวังหิน  และในปีเดียวกันนี้มีการรวมตำบลพยุห์   ตำบลตำแย ตำบลโนนเพ็ก  และตำบลพรหมสวัสดิ์ ของอำเภอเมืองศรีสะเกษ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอพยุห์ นอกจากนี้ยังมีการรวมตำบลเสียว  ตำบลโดด ตำบลหนองม้า  ตำบลอีเซ  และตำบลผือใหญ่  ของอำเภออุทุมพรพิสัยตั้งเป็นกิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ตั้งนามตามต้นโพธิ์เก่าในวัดโพธิ์ศรีสะอาด  บ้านปลาเดิด

ปี  พ.ศ.  2538  ยกกิ่งอำเภอภูสิงห์ เป็น อำเภอภูสิงห์  

ปี  พ.ศ.  2540  รวมตำบลกุง  ตำบลคลีกลิ้ง  ตำบลโจดม่วง และตำบลหนองบัวดงของอำเภอราษีไศล  ตั้งเป็นกิ่งอำเภอศิลาลาด และในปีเดียวกันนี้  กิ่งอำเภอเบญจลักษ์  ถูกยกขึ้นเป็นอำเภอเบญจลักษ์  ยกกิ่งอำเภอพยุห์  ขึ้นเป็นอำเภอพยุห์  และยกกิ่งอำเภอเมืองจันทร์  เป็นอำเภอเมืองจันทร์

หมายเหตุ  อย่างไรก็ตาม หากจะย้อนอดีตหาเหตุผลแห่งการที่ต้องเปลี่ยนนามจังหวัดขุขันธ์  เป็นจังหวัดศรีสะเกษ ดูจะขาดเหตุผลที่จะกล่าวอ้าง  เพราะดังที่ทราบอยู่แล้วว่า  เมืองศรีสะเกษ  ก็แยกจากเมืองขุขันธ์บางส่วนมาตั้งเป็นเมือง เจ้าเมืองท่านแรกก็ไปจากปลัดเมืองขุขันธ์ คือ ท้าวอุ่น  หรือ  พระภักดีภูธรสงคราม  ซึ่งเป็นบุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( ตากะจะ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก (แต่มีบางท่านพยายามเบี่ยงเบนประวัติศาสตร์) และภายหลังคือ  ปี  พ.ศ. 2450  ก็ได้ยุบเมืองเดชอุดมและเมืองศรีสะเกษรวมเป็นเมืองเดียวกับเมืองขุขันธ์ เรียกว่า “เมืองขุขันธ์” ทำให้เมืองศรีสะเกษ  และเมืองเดชอุดมลดฐานะเป็นอำเภอเดชอุดม  และอำเภอศรีสะเกษ ดังนั้นแม้จะยกเหตุผลใด ๆ กล่าวอ้างนามคำว่า “จังหวัดขุขันธ์”  ก็น่าจะยังมีปรากฏ    เป็น “จังหวัดขุขันธ์”  เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ในปัจจุบันนามคำว่า ขุขันธ์ ยังมีปรากฏอยู่ในฐานะอำเภอขุขันธ์  อำเภอหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันเป็นอำเภอชั้นหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้พัฒนาเจริญก้าวหน้า เข้าสู่สังคมเมืองเต็มรูปแบบ คาดว่าคงจะได้แยก  อำเภอขุขันธ์  อำเภอขุนหาญ   อำเภอภูสิงห์  อำเภอปรางค์กู่  และอำเภอไพรบึง  ขอยกฐานะจัดตั้งเป็น  “จังหวัดขุขันธ์” ในอนาคตอันใกล้นี้น่าจะชอบด้วยเหตุผล

ข้อสังเกต  จะเห็นว่า  ในการเขียนประวัติจังหวัดศรีสะเกษ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม เนื้อหาสาระจะกล่าวถึงเมืองขุขันธ์  และจังหวัดขุขันธ์เป็นสาระสำคัญเป็นส่วนใหญ่  เมืองศรีสะเกษ มีเนื้อหาจะกล่าวถึงน้อยมาก ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้วจะเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับท่าน พระเทพวรมุนี  เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ  ที่กล่าวว่า งานการแสดงแสงสี พฤกษเทศวร  เป็นเทศกาลงานสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษไม่เห็นมีสาระใด ๆ เลย ที่เกี่ยวกับจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก็ไม่มีใครตอบและอธิบายได้ โดยส่วนตัวที่เห็นด้วยกับคำกล่าวของท่านอย่างยิ่ง  เพราะนอกจากจะไม่มีสาระที่เกี่ยวกับจังหวัดศรีสะเกษแล้ว ยังเป็นการลงทุนและสร้างความเดือดร้อนให้แก่หน่วยงานทางราชการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   เป็นสิ่งที่น่าทบทวน (ประวัติศาสตร์ควรนำข้อเท็จจริงมากล่าวการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นทรยศ  ต่อบรรพบุรุษและแผ่นดินเกิดอย่างไร้ความรับผิดชอบ ) 

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย